ใยตาล : หัตถกรรม

          ใยตาล หรือ ใยโหนด คือเส้นใยที่ได้จากโคนทางตาลโตนดตั้งแต่ส่วนที่ทางเริ่มแยกออกเป็น ๒ แฉก คล้ายปีกนก ถึงสุดโคนทางซึ่งโอบรัดติดอยู่กับลำต้น ชาวภาคใต้เรียกทางตาลโตนดส่วนนี้ว่า “กาบโหนด” และเนื่องจากลักษณะของกาบโหนดแยกถ่างออกคล้ายขากรรไกร ชาวบ้านจึงเรียกกาบโหนดแต่ละคู่ของแต่ละทางว่า “๑ ขาไตร” จะเลือกเอาแต่ทางของตาลต้นหนุ่ม โดยนำเอากาบส่วนดังกล่าวมาทุบแล้วดึงเอาเส้นใย กาบโหนดแต่ละอันจะมีเส้นใย ๓ สีคละปนกัน คือ สีขาว น้ำตาล และดำ สีเหล่านี้ต่างกันตามความอ่อนแก่ของเส้นใย มีความเหนียวและทนทานต่างกัน เหมาะที่จะเลือกใช้จักสานตามประโยชน์ใช้สอยและประดิษฐ์ลายตามธรรมชาติของสี เรียกเครื่องจักสานที่ทำด้วยใยตาลว่า “หัตถกรรมใยตาล”

          ภาคใต้เป็นแหล่งที่มีต้นตาลโตนดมากแหล่งหนึ่ง โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ราบทางฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชุมพรเรื่อยมาจนถึงปัตตานี ต้นตาลขึ้นได้ดีตามท้องทุ่งทั่วไป โดยชาวบ้านนิยมปลูกกันตามคันนาเป็นส่วนมาก ในท้องที่บางแห่งมีต้นตาลมากเป็นพิเศษและกระจายอยู่ทั่วไป เช่น ในบริเวณอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ด้วยความหนาแน่นของต้นตาลปรากฏในหลายท้องที่เช่นนี้ทำให้ชาวใต้ทั่วไปโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในท้องที่นั้น ๆ รู้จักเอาส่วนต่าง ๆ ของต้นตาลมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางและสืบต่อกันเรื่อยมาไม่ว่าจะเป็นลำต้น ผล ใบ ราก เมล็ด ทางตาล ใยตาล ฯลฯ (ดู ตาลโตนด) จนกลายเป็นวัฒนธรรมชาวบ้านหลายลักษณะซึ่งน่าสนใจไม่น้อย ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะการใช้ประโยชน์จาก “ใยตาล” ในลักษณะของ “หัตถกรรมใยตาล” เท่านั้น

          ชาวบ้านภาคใต้รู้จักนำเอาใยตาลมาใช้ประโยชน์ช้านานแล้วแต่ในระยะแรก ๆ มักเป็นการใช้ประโยชน์อย่างง่าย ๆ เช่น ใช้ฟั่นเชือกเพื่อล่ามวัวและควาย ทำแส้ปัดแมลง ทำไม้กวาด ทำชุดดักปลา ผูกร้อยสิ่งของ เป็นต้น ส่วนที่นำมาใช้เป็นวัสดุหลักในการจักสานเป็นเครื่องใช้รูปแบบต่าง ๆ ก็มีอยู่บ้าง ซึ่งเป็นเพียงการทำเพื่อใช้เองในครอบครัวเท่านั้น แต่ก็ไม่ค่อยประณีตและไม่นิยมกันนัก ผู้ทำเองก็ยังขาดความรู้เกี่ยวกับกรรมวิธีที่เหมาะสมในการเอาเส้นใยออกจากกาบตาล การเตรียมใยตาลเพื่อจักสานและการจักสาน ต่อมาเมื่อสินค้าประเภทหัตถกรรมจักสานด้วยเส้นใยหรือวัสดุธรรมชาติเป็นที่รู้จักและนิยมกันมากขึ้น ตลอดจนหน่วยราชการบางหน่วยก็เริ่มให้ความสนใจที่จะส่งเสริมหัตถกรรมใยตาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นหน่วยงานแรกที่มีโครงการส่งเสริมหัตถกรรมประเภทนี้ขึ้นอย่างจริงจังที่อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา (ซึ่งได้กล่าวถึงการส่งเสริมของสถาบันนี้อย่างสังเขปต่อไป) จึงทำให้ชาวบ้านเริ่มสนใจกันอย่างจริงจังและมีความรู้และความสามารถในการผลิตหัตถกรรมประเภทนี้ดีขึ้นเป็นลำดับ การผลิตเพื่อใช้ในครอบครัวกลายมาเป็นการผลิตเพื่อจำหน่าย จนทำให้ “หัตถกรรมใยตาล” เป็นที่รู้จักและแพร่หลายกว้างขวางขึ้น ขั้นตอนการผลิตหัตถกรรมประเภทนี้เกิดจากการผสมผสานความรู้ที่สืบต่อกันมาแต่เดิมกับความรู้ใหม่ที่ได้จากการสังเกตและทดลองจนเป็นกรรมวิธีที่จะสืบทอดกันต่อ ๆ ไป

          การเอาเส้นใยจากกาบตาล

          . การคัดเลือกและคัดกาบตาล ในการตัดกาบตาลจะต้องเลือกเอากาบของต้นตาลหนุ่มที่มีความสมบูรณ์เต็มที่ ตาลหนุ่มจะมีอายุประมาณ ๕-๑๕ ปีซึ่งสูงประมาณ ๑-๕ เมตร ดังที่กีย์ เทรบุยล์ (Guy Trebuil) นักวิจัยชาวฝรั่งเศส กล่าวไว้ในงานวิจัยเรื่อง “ระบบการปรับปรุงที่ดินเพื่อการเกษตรและวิวัฒนาการในช่วงเวลาที่เพิ่งล่วงมาของสทิงพระ” ว่า ตาลโตนดอายุ ๕-๖ ปี ลำต้นจะสูงเพียง ๑ เมตร หลังจากระยะนี้จะเป็นระยะยืดตัวจะสูงขึ้นปีละ ๓๐ เซนติเมตร ดังนั้นอายุตาล ๑๐-๑๕ ปีจะสูงเพียง ๔-๕ เมตร ส่วนความสมบูรณ์ของตาลดูที่ความอวบอ้วนของลำต้น โคนทาง ตลอดจนดูลักษณะทั่วไปเช่นพืชชนิดอื่น ๆ ต้นตาลหนุ่มและสมบูรณ์จะให้เส้นใยได้มาก เป็นเส้นใยที่มีความยาวไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป และมีสีถึง ๓ สี คือเส้นใยสีดำอยู่บริเวณส่วนหลังของกาบ (ด้านที่กาบโค้งลงซึ่งผิวกาบเป็นสีดำหรือน้ำตาล) เส้นใยสีน้ำตาลอยู่ถัดมากลาง ๆ กาบ และเส้นใยสีขาวอยู่บริเวณด้านหน้ากาบ (ด้านที่กาบโค้งขึ้นซึ่งผิวกาบเป็นสีขาวหรือขาวแกมเหลืองอ่อน) นอกจากจะดูอายุและความสมบูรณ์ของต้นตาลแล้วเมื่อจะตัดเอากาบก็ต้องดูความสมบูรณ์ของแต่ละกาบเป็นพิเศษด้วย โดยพิจารณาถึงความใหญ่และยาวของกาบเป็นสำคัญ ต้นตาลต้นหนึ่ง ๆ จะตัดกาบที่สวย ๆ เหมาะจะเอาเส้นใยได้ประมาณ ๓-๕ ขาไตร กาบที่ตัดได้จะมีความยาวประมาณ ๑.๕-๒.๕ ฟุตทั้งนี้ขึ้นกับความสมบูรณ์ของกาบดังกล่าวแล้ว

          การทุบกาบเอาเส้นใย   เอากาบตาลที่เลือกตัดได้ไปแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ ๓-๕ คืน เพื่อให้กาบพองตัว แล้วนำมาทุบด้วยท่อนไม้ขนาดพอสมควร มักเป็นไม้กลมหรือลบเหลี่ยม โดยมีไม้ท่อนโต ๆ อีกท่อนหนึ่งเป็นไม้รองทุบ ในการทุบกาบตาลเพื่อเอาเส้นใยมีหลักสำคัญอยู่ ๓ ประการคือ (๑) ต้องทุบตามความยาวของกาบ เพราะถ้าทุบขวางกาบจะทำให้เส้นใยที่รวมตัวอยู่ในกาบมีโอกาสหักได้ง่าย (๒) เริ่มทุบจากโคนกาบ (ส่วนของกาบที่อยู่ชิดกับลำต้นซึ่งเป็นส่วนที่โตและหนากว่าปลายกาบอีกด้านหนึ่ง) เพราะจะทำให้กาบแตกตัวได้ง่าย แล้วจึงค่อยทุบที่ส่วนอื่นของกาบ หรือทุบกลับไปกลับมาตามความเหมาะสม และ (๓) การทุบกาบของตาลหนุ่มต้องเริ่มทุบทางด้านหลังกาบ โดยทุบแรง ๆ หลายครั้งจนกาบเริ่มแตกแล้วจึงเบามือลง แล้วพลิกกาบด้านหน้าทุบสลับกันบ้างเป็นครั้งคราว การทุบกาบด้านหน้าจะกระทำอย่างระมัดระวังไม่แรงและบ่อยครั้งเหมือนทุบหลังกาบ ทั้งนี้เพราะเส้นใยสีดำและสีน้ำตาลซึ่งเป็นเส้นใยที่แข็งจะรวมตัวอยู่แน่นที่หลังกาบถึงกลาง ๆ กาบตามลำดับ ส่วนที่บริเวณหน้ากาบเป็นเส้นใยสีขาวซึ่งยังอ่อน ถ้าถูกทุบแรงๆ หรือทุบมากครั้งจะทำให้เส้นใยสีขาวใช้การไม่ได้นอกเสียจากว่าจะเป็นกาบตาล จากต้นที่มีอายุเกินวัยนี้ (เกิน ๑๕ ปีขึ้นไปโดยประมาณ) เส้นใยสีขาวจะแก่และแข็งตัวมากขึ้น แต่กาบของต้นตาลอายุขนาดนี้ไม่นิยมใช้กันนัก

          ในการทุบกาบตาลเพื่อเอาเส้นใยมาใช้ประโยชน์ในการจักสานนั้น ผู้ทุบจะทุบพอให้กาบแตกสามารถดึงเอาเส้นใยได้ง่าย ชาวบ้านเรียกว่า “ทุบพอช้ำ” เมื่อทุบได้ที่แล้วก็ลอกเอาผิวชั้นหน้าของกาบออกก่อน แล้วจึงดึงเอาเส้นใยตามต้องการ

          การเตรียมเส้นใยตาลเพื่อใช้จักสาน

          เส้นใยที่เพิ่งดึงออกมาจากกาบตาลยังไม่สามารถนำไปใช้จักสานได้ทันทีทันใด จึงต้องมีการเอาเส้นใยเหล่านั้นมาทำให้มีลักษณะเหมาะสมที่จะใช้จักสานได้ ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

          การขูดขุย ใยตาลที่ได้จากการทุบกาบดังกล่าวแล้วจะมีขุยเกาะติดอยู่มาก จะต้องเอาขุยนี้ออกเสียก่อน ชาวบ้านเรียกขั้นนี้ว่า “การขูดขุย” ก่อนจะขูดขุย มักจะเอาเส้นใยเหล่านั้นไปตากแดดเสียก่อน โดยตากไว้ประมาณ ๑ ชั่วโมงในขณะที่แดดจ้า เพื่อให้เส้นใยหมาด ๆ ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้มีความเหนียวมากขึ้น หลังจากนั้นเอามาแช่น้ำไว้ราว ๕-๑๐ นาทีเพื่อให้ขุยพองตัวจะได้ง่ายต่อการขูดขุย ในระยะแรก ๆ ชาวบ้านใช้มีดขูดทีละเส้น ซึ่งทำให้เสียเวลามาก ต่อมาจึงหาวิธีการขูดครั้งละหลาย ๆ เส้นที่นิยมใช้กันในปัจจุบันมี ๒ วิธีคือ วิธีหนึ่งเอาไม้ไผ่มาผ่าให้มีลักษณะอย่างไม้ตับเอาใยตาลครั้งละประมาณ ๗-๑๐ เส้น สอดเข้าระหว่างตับแล้วชักหลายครั้งจนหมดขุย อีกวิธีหนึ่งใช้แผ่นฝอยขัดหม้อ โดยเอาใยตาลครั้งละเท่า ๆ วิธีแรกสอดระหว่างพับของแผ่นฝอยแล้วชักหลายครั้งจนหมดขุยเช่นกัน หลังจากใช้วิธีหนึ่งดังกล่าวแล้วอาจเอาแต่ละเส้นมาพิจารณาเพื่อเก็บขุยอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

          การต้มด้วยสารส้ม หลังจากขูดขุยที่เส้นใยแล้ว บางคนจะเอาเส้นใยไปต้มด้วยสารส้ม ประมาณ ๓๐ นาที โดยเชื่อว่าสารส้มจะช่วยรักษาสีของเส้นใยและช่วยให้เส้นใยมีความเหนียวทนทานมากขึ้น แต่บางคนจะต้มเฉพาะเส้นใยสีขาวเท่านั้น อย่างไรก็ตามการเอาเส้นใยต้มด้วยสารส้มไม่ถือเป็นขั้นตอนสำคัญ บางคนจึงไม่ปฏิบัติ โดยเฉพาะในช่วงหลัง ๆ มาไม่ค่อยนิยมกันมากขึ้น เพราะเป็นที่ประจักษ์ชัดกันโดยทั่วไปแล้วว่าใยตาลมีความเหนียวทนทานเป็นพิเศษอยู่แล้ว

          การชักเรียดและขูดเส้นใย การเตรียมเส้นใยทั้ง ๒ วิธีนี้จัดไว้อยู่ในขั้นเดียวกันได้ เพราะเป็นการปรับแต่งเส้นใยให้มีขนาดและลักษณะเหมาะที่จะนำไปใช้จักสานได้ทันที อาจใช้เพียงวิธีใดวิธีหนึ่งหรือใช้ทั้ง ๒ วิธีก็ได้ ในช่วงแรก ๆ ที่นิยมจักสานหัตถกรรมใยตาลเพื่อจำหน่าย ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้วิธีชักเรียด (ดู ชักเรียดเพื่อทำให้เส้นใยมีขนาดตามต้องการและเสมอกันตลอดเส้น บางคนเล่าว่าในการชักเรียดใยตาลนี้ จะชักเรียดเฉพาะเส้นใยสีดำหรือสีน้ำตาลเท่านั้น เพราะเส้นใยเหล่านี้มักมีขนาดไม่เสมอกันตลอดเส้น ส่วนเส้นสีน้ำตาลอ่อนและเส้นสีขาวจะมีขนาดเสมอกันตลอดเส้น จึงไม่นิยมเอามาชักเรียด หลังจากชักเรียดแล้วบางคนจะเอาไปใช้จักสานเลย แต่บางคนจะขูดเส้นเสียก่อนใช้จักสาน โดยการใช้สันมีดขูดทีละเส้น เพื่อให้เส้นใยมีความนิ่มและแบนลงเล็กน้อยสะดวกในการใช้จักสาน แต่มาในระยะหลัง ๆ ไม่ค่อยนิยมการชักเรียดใยตาลกัน เพราะใยตาลมีความแข็งและเหนียวมาก ทำให้รูแป้นชักเรียดกว้างออกเร็วมาก ซึ่งต่างกับการชักเรียดย่านลิเพา ในปัจจุบันชาวบ้านจึงหาวิธีปรับใช้เส้นใยตาลที่เป็นเส้นกลมตามธรรมชาติ ซึ่งปรากฏว่าสามารถใช้ได้ดีและเหมาะกับรูปแบบไม่น้อย จึงนิยมใช้กันทั่วไป ส่วนการขูดเส้นใยให้อ่อนนิ่มยังคงมีอยู่บ้าง

          การย้อมสีเส้นใย เส้นใยตาลที่นำมาใช้ในการจักสานแต่เดิมมาไม่มีการย้อมสีแต่อย่างใด คงใช้เส้นใยที่มีสีตามธรรมชาติ ๓ สีดังกล่าวแล้ว มาระยะหลังจึงมีการทดลองเอาเส้นใยเหล่านี้ไป ย้อมสีบ้าง ส่วนมากใช้สีที่ใช้ย้อมผ้า ซึ่งอาจผสมผสานกับกรรมวิธีอย่างอื่นด้วย สีที่ย้อม เช่น สีเหลือง ชมพู เขียว ฟ้า ฯลฯ แต่ปรากฏว่า การย้อมสีตามกรรมวิธีของชาวบ้านไม่ได้ผลนัก จึงไม่เป็นที่นิยมกันและเลิกรากันไป หันมานิยมใช้เส้นใยสีธรรมชาติเช่นเดิม

          การจักสานใยตาล

          หลังจากเตรียมเส้นใยตามขั้นตอนต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ก็นำเอาเส้นใยเหล่านั้นมาจักสานเป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ เท่าที่ทำอยู่ขณะนี้ เช่น ตะกร้า หมวก กระเป๋าถือ กล่องกระดาษเช็ดมือ ที่รองแก้ว เป็นต้น หรือที่เรียกรวม ๆ กันว่า “หัตถกรรมใยตาล” หัตถกรรมใยตาลจะต้องมี “ใยตาล” เป็นวัสดุหลัก คืออาจใช้เฉพาะใยตาล หรือถ้าใช้วัสดุอื่น ๆ ด้วยก็ได้ แต่ต้องเป็นเพียงวัสดุเสริม เช่น ไม้ไผ่ หวาย หรือแม้กระทั่งย่านลิเพา เป็นต้น

          อุปกรณ์ที่ใช้ในการจักสานใยตาลก็เหมือน ๆ กับที่ใช้ในการจักสานย่านลิเพา ด้วยวัสดุธรรมชาติทั้ง ๒ ชนิดนี้เมื่อนำมาใช้จักสานจะมีวิธีการคล้ายกันมาก อุปกรณ์ที่สำคัญ เช่น เหล็กหมาด (ขนาดเท่าเหล็กก้านร่ม ยาวราว ๔-๖ นิ้ว ปลายแหลม) หรือเข็มถัก เส้นลวด เชือกหรือไนลอน (ขนาดเล็ก) ที่ตัดเล็บ กาว ไม้กระดานฉลุ น้ำมันขัดเงา เป็นต้น ตลอดจนพวกวัสดุที่ใช้เป็นตัวเสริมในการจักสานดังกล่าวแล้ว อุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้ประกอบหรือเสริมเป็นส่วนหนึ่งของหัตถกรรมใยตาลตามความจำเป็นแต่ละรูปแบบ เช่น หวายใช้ทำโครงและสายตะกร้า กระดานฉลุใช้ทำก้นตะกร้าและก้นกระเป๋าถือ เชือกหรือไนลอนใช้ผูกโครง เป็นต้น ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการจักสานจริง ๆ ที่ใช้กันมากมีเหล็กหมาดหรือเข็มถักซึ่งใช้เป็นตัวนำเส้นใยสอดขึ้นลง และที่ตัดเล็บซึ่งใช้สำหรับตัดปลายเส้นใยตาลที่เหลือจากการสอดถักมิให้โผล่ชี้จนดูน่าเกลียด เพื่อจะได้ใช้เส้นใยเส้นอื่นเข้ามาต่อและสานต่อไป

          การจักสานใยตาลอาจใช้โครงหรือเบ้า หรือไม่ใช้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบที่จะจักสาน ที่ใช้เบ้า เช่น หมวก ตะกร้า กระเป๋าถือบางลักษณะ กล่องกระดาษเช็ดมือ เป็นต้น เบ้าที่ใช้ส่วนมากทำด้วยไม้นุ่นหรือไม่ก็ใช้เบ้าสำเร็จรูปที่เป็นวัสดุต่าง ๆ ที่ใช้โครง เช่น ตะกร้าบางลักษณะ กระเป๋าถือบางลักษณะ เป็นต้น โครงที่ใช้ส่วนมากทำด้วยไม้ไผ่ หวายหรือกระดานฉลุ ส่วนที่ไม่ใช้โครงและเบ้าเลยมีอยู่น้อยเช่น ที่รองแก้ว ที่กลัดเสื้อ เข็ดขัด เป็นต้น วิธีการจักสานใยตาลก็คล้าย ๆ กับการจักสานด้วยวัสดุอื่น ๆ ทั่วไป โดยเฉพาะการจักสานด้วยย่านลิเพา เพราะใยตาลและย่านลิเพาเป็นวัสดุจักสานที่มีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกันมาก (ดู ย่านลิเพา : หัตถกรรมแต่ใยตาลเป็นเส้นกลม แข็ง และสั้นกว่าย่านลิเพามาก ก่อนใช้ใยตาลจักสาน บางคนจึงเอาเส้นใยชุบน้ำให้เส้นนิ่มเสียก่อน และในขณะจักสานก็ต้องต่อเส้นใยอยู่ตลอดเวลา ส่วนการที่จะเลือกใช้เส้นใยสีอะไรจักสาน จะเริ่มต้นและจักสานต่อไปอย่างไร ตลอดจนจะเล่นลายอะไรขึ้นอยู่กับรูปแบบหัตถกรรม ความพอใจและความสามารถของผู้จักสาน เมื่อจักสานเสร็จแล้วอาจทาน้ำมันชักเงาเพื่อความสวยงามอีกครั้งหนึ่ง

          การส่งเสริมหัตถกรรมใยตาล

          ได้กล่าวมาแล้วว่า ต้นตาลเป็นพืชที่มีมากในภาคใต้แห่งหนึ่งจนถือได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่งของภูมิภาคนี้ แต่ในช่วงเวลายาวนานที่ผ่านมา ชาวบ้านรู้จักนำเอาใยตาลมาใช้ประโยชน์กันน้อยมากเมื่อเทียบกับการใช้ประโยชน์จากส่วนอื่น ๆ ของต้นตาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังไม่ค่อยรู้จักนำเอาใยตาลมาใช้ประโยชน์ในการจักสานเป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ ทำให้เป็นการสูญเสียทรัพยากรและเศรษฐกิจไม่น้อย การนำเอาใยตาลมาใช้ประโยชน์ทางด้านนี้เพิ่งตื่นตัวสนใจและนิยมกันจริงจังเมื่อไม่นานมานี้เอง จึงควรจะได้รับการส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง

          สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นหน่วยงานแรกที่ริเริ่มโครงการส่งเสริมหัตถกรรมใยตาลขึ้นอย่างจริงจัง โดยเลือกสถานที่ดำเนินการที่อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ให้ชื่อโครงการนี้ว่า “โครงการส่งเสริมหัตถกรรมใยตาล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา” ทั้งนี้ด้วยพิจารณาถึงความเหมาะสมหลายประการ เช่น บริเวณอำเภอสทิงพระเป็นแหล่งที่มีต้นตาลมากแหล่งหนึ่งในภาคใต้ ชาวสทิงพระส่วนหนึ่งมีวิถีอาชีพผูกพันอยู่กับการใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของต้นตาลและรู้จักใช้ใยตาลในการจักสานอยู่บ้างแล้ว เส้นทางคมนาคมสะดวกต่อการติดต่อประสานงานและดำเนินการ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการเริ่มโครงการนี้สถาบันฯ ได้คำนึงถึงปัญหาต่าง ๆ หลายด้าน จึงกำหนดให้โครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่องระยะยาว กำหนดเวลาถึง ๓ ปี คือตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๒๘ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ชาวบ้านรู้จักนำเอาใยตาลซึ่งเป็นวัสดุที่มีมากในท้องถิ่นมาใช้จักสานอย่างมีความรู้และทักษะดีขึ้น และคาดหวังว่าหลังจากสิ้นโครงการนี้แล้วชาวบ้านที่เข้ารับการส่งเสริมจะมีความสามารถสูงในการจักสานใยตาล และสามารถรวมตัวกันได้ในลักษณะของสหกรณ์หัตถกรรมใยตาลในโอกาสต่อไป ทั้งจะเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับงานด้านนี้แก่แหล่งอื่น ๆ ด้วย การดำเนินตามโครงการในปีแรกซึ่งมีลักษณะเชิงทดลองได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจำนวน ๑๑,๐๐๐ บาท ในปีที่ ๒ ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาลจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท และในปีที่ ๓ ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากมูลนิธิเอเชียจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และจากรัฐบาลอีก ๓๐,๐๐๐ บาท จากการส่งเสริมตามโครงการนี้ทำให้ชาวอำเภอสทิงพระมีความตื่นตัวสนใจ และมีความรู้ความสามารถในการจักสานหัตถกรรมใยตาลมากขึ้น สามารถผลิตผลงานออกมาจนหัตถกรรมใยตาลเป็นที่รู้จักและนิยมกันกว้างขวางขึ้น อย่างไรก็ตามปัญหาต่าง ๆ ยังคงมีอยู่ไม่น้อย และยังคงต้องส่งเสริมให้มีการพัฒนาฝีมือกันต่อไปอีก ดังนั้นเมื่อสิ้นโครงการในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ แล้ว สถาบันฯ จึงจะได้ดำเนินโครงการนี้ต่อไปอีก๑ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากมูลนิธิเอเชียจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท

          หลังจากสถาบันทักษิณคดีศึกษาได้เริ่มโครงการนี้ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ และชาวบ้านได้ผลิตผลงานออกสู่ตลาดจนหัตถกรรมใยตาลเริ่มเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางแล้ว หน่วยงานต่าง ๆ ก็เริ่มหันมาสนใจที่จะให้การส่งเสริมหรือสนับสนุนการส่งเสริมหัตถกรรมประเภทนี้มากขึ้น เช่น ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคใต้ ได้ให้ความร่วมมือต่อโครงการนี้ โดยได้จัดส่งใยตาลจำนวนหนึ่งไปให้ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมวิเคราะห์ และให้ทางกรมช่วยออกแบบรูปแบบหัตถกรรมนี้บางรูปแบบเพื่อนำมาทดลองทำด้วย ทางอำเภอต่าง ๆ หลายอำเภอในบริเวณใกล้เคียงได้เริ่มส่งเสริมหัตถกรรมนี้ขึ้นในอำเภอนั้น และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ สถาบันทักษิณคดีศึกษาก็ได้ไปส่งเสริมหัตถกรรมนี้ขึ้นที่ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาอีกด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นนิมิตดีที่จะช่วยกันส่งเสริมให้หัตถกรรมใยตาลได้พัฒนาและเป็นที่นิยมกันแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันหัตถกรรมใยตาลยังมีปัญหาอยู่ไม่น้อย ปัญหาที่สำคัญ คือปัญหาด้านรูปแบบและด้านตลาด ซึ่งทุกฝ่ายควรจะได้สนใจกันอย่างจริงจังต่อไป (พรศักดิ์ พรหมแก้ว)

ชื่อคำ : ใยตาล : หัตถกรรม
หมวดหมู่หลัก : ศิลปกรรม
หมวดหมู่ย่อย : กระบวนการผลิตงานช่าง และงานฝีมือ
ชื่อผู้แต่ง : พรศักดิ์ พรหมแก้ว
เล่มที่ : ๑๓
หน้าที่ : ๗๒๖๘