วจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย), พระยา
อำมาตย์เอกพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) เป็นผู้เคยรับราชการเกี่ยวข้องกับเมืองไชยามาตั้งแต่เป็นผู้ช่วยราชการเป็นปลัด และเป็นผู้ว่าราชการเมืองไชยาเป็นเวลานานหลายสิบปี ได้สร้างผลงานที่เกี่ยวกับภาคใต้ไว้มาก
พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) เป็นบุตรพระศรีราชสงคราม (ปาน) ปลัดเมืองไชยากับนางพุ่มซึ่งเป็นธิดาของพระยาชุมพร (ซุย) เกิดที่เมืองไชยา เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ แรม ๑๒ ค่ำ ปีมะโรง ฉศก พ.ศ. ๒๓๘๗ เติบโตขึ้นที่เมืองไชยาในระยะที่ตัวเมืองตั้งอยู่ที่ตำบลพุมเรียงใกล้ปากน้ำเมืองไชยา ซึ่งตรงกับตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วไปรับใช้ฝึกหัดทำราชการอยู่ในสำนักสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) ในระยะที่ยังเป็นสมุหพระกลาโหม ภายหลังจึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งเป็นที่หลวงราชานุชิต (ขำ) ผู้ช่วยราชการเมืองไชยาตอนปลายรัชกาลที่ ๔
ตอนต้นรัชกาลที่ ๕ ในปี พ.ศ.๒๔๑๒ เมื่อมีอายุประมาณ ๒๕ ปี ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นที่พระศรีราชสงคราม (ขำ) ปลัดเมืองไชยา รับราชการในตำแหน่งนี้อยู่นานถึง ๑๐ ปี มีความดีความชอบมากจากการไปช่วยปราบปรามพวกอั้งยี่จีนทางหัวเมืองชายฝั่งตะวันตก ซึ่งก่อความวุ่นวายขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๑๙ จึงได้รับพระราชทานเลื่อนยศขึ้นเป็นพระยาวิชิตภักดี (ขำ) ผู้ว่าราชการเมืองไชยาในปี พ.ศ.๒๔๒๐ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทิพยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๕ เป็นบำเหน็จความชอบในปี พ.ศ.๒๔๒๒ ในระยะที่รับราชการเป็นผู้ว่าราชการเมืองไชยา ได้มีโอกาสทำความดีความชอบหลายครั้ง จึงได้รับพระราชทานบำเหน็จความชอบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปี พ.ศ.๒๔๒๙ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มัณฑนาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๓ และในปี พ.ศ.๒๔๓๓ ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา
ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ รัฐบาลได้ประกาศรวมเมืองกำเนิดนพคุณชุมพร หลังสวน ไชยา และกาญจนดิษฐ์ เพื่อจัดตั้งเป็นมณฑลชุมพร ในขณะนั้นข้าราชการในเมืองต่าง ๆ ทางภาคใต้ต่างเข้าใจกันว่าพระยาวิชิตภักดี (ขำ) คงจะได้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลชุมพรหรือไม่ก็มีตำแหน่งอื่นที่สูง ๆ ขึ้นไป เพราะเป็นเจ้าเมืองไชยาที่ได้ตามเสด็จอย่างใกล้ชิดได้สนองพระกรุณาในพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่พอพระราชหฤทัยหลายครั้ง และมีความสนิทสนมชอบพอกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมากเป็นพิเศษอีกด้วย แต่เหตุการณ์กลับตรงกันข้าม เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๙ ว่า “...การที่จะต้องตั้งในชั้นนี้ก็คือเลือกตัวข้าหลวง (มณฑลชุมพร) ข้าพระพุทธเจ้าได้พิเคราะห์ดูข้าหลวงในท้องที่ เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าพระยาไชยา (ขำ) เป็นแหลมอยู่กว่าคนอื่น แต่กระนั้นก็ดีแต่ในกระบวนวิ่งเต้นกับค้าขายที่จะจัดการบ้านเมือง ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่แน่ใจในความสามารถและเกรงจะขบพระยาหลังสวน (คอซิมเต็ก) ไม่แตก...” สมุหเทศาภิบาลของมณฑลชุมพรคนแรกจึงกลายเป็นพระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง) คนในตระกูล ณ ระนอง ซึ่งมีความมั่งคั่งและใกล้ชิดกับอังกฤษที่ปีนัง พร้อมทั้งเป็นที่โปรดปรานของราชสำนักและเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมากไม่น้อยกว่าพระยาวิชิตภักดี (ขำ) ข้อกล่าวอ้างที่มีน้ำหนักและพอจะรับฟังได้ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพในเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในประวัติพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์ขึ้นเพื่อจัดพิมพ์แจกในงานปลงศพพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๘ ตามที่ธิดาและบุตรของพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) ได้กราบทูลขอร้อง ดังความว่า “...เวลานั้นข้าราชการหัวเมืองปักษ์ใต้โดยมากพากันเข้าใจว่าพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) คงจะได้เป็นเทศาฯ ว่าการมณฑลหรือตำแหน่งอื่นที่มียศใหญ่ยิ่งขึ้นไปด้วยเป็นผู้ตามเสด็จใกล้ชิดพระองค์ ทั้งได้คุ้นเคยชอบพอกับข้าพเจ้ามาแต่ก่อน แต่พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) เองไม่ได้มุ่งหมายเช่นนั้นเลย ได้แสดงให้ข้าพเจ้าเข้าใจแต่แรกว่า ได้เคยศึกษาแต่วิธีราชการอย่างเก่า แลเกี่ยวพัวพันอยู่ในการค้าขาย การทำภาษีอากรทั้งอายุก็มากเสียแล้ว เกรงจะทำการในน่าที่ไม่ได้ทันความต้องการของทางราชการ ที่จะจัดเปลี่ยนแปลงใหม่ ขอให้ใช้สอยแต่ในการอย่างใด ๆ ซึ่งเห็นว่าจะทำให้เป็นประโยชน์ได้จริง...” ดังนั้นพระยาวิชิตภักดี (ขำ) จึงยังคงเป็นผู้ว่าราชการเมืองไชยาต่อไป แต่ได้รับการชดเชยให้มีเกียรติศักดิ์ศรีสูงขึ้น โดยระยะแรกให้ไปเป็นผู้ว่าการเมืองกาญจนดิษฐ์เพิ่มขึ้นอีกเมืองหนึ่ง หลังจากเจ้าเมืองคนก่อนมีความผิดถูกสั่งพักราชการระยะหลังได้มีการโอนท้องที่ต่าง ๆ จากเมืองกาญจนดิษฐ์ นครศรีธรรมราช และตะกั่วป่า มาขึ้นกับเมืองไชยา จนกลายเป็นเมืองใหญ่มีพื้นที่มากที่สุดในขณะนั้น คือเท่ากับจังหวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน
ในปี พ.ศ.๒๔๔๒ การจัดราชการในมณฑลชุมพรโดยเฉพาะในเมืองไชยาได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นสมัยใหม่มากขึ้น ขณะนั้นพระยาวิชิตภักดี (ขำ) อายุได้ ๕๕ ปี มีความรู้สึกว่าการที่จะปฏิบัติราชการในตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองตามระบบใหม่นั้น เหลือกำลังไม่สามารถสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เต็มหน้าที่ราชการ พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเป็นพระยาวรวุฒิวิเศษฤทธิ์ (ขำ) จางวางเมืองไชยา รับราชการในเมืองไชยาต่อมาอีกประมาณ ๗ ปี ในปี พ.ศ.๒๔๔๙ ตำแหน่งพระยาวจีสัตยารักษ์ ผู้กำกับการถือน้ำในกรุงว่างลงจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเป็นพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายนปีเดียวกัน หลังจากนั้นก็ต้องเข้าไปอยู่ประจำในกรุงเทพมหานคร จึงได้ขายบ้านที่ตำบลพุมเรียงเมืองไชยาให้แก่ทางราชการเป็นเงิน ๘,๐๐๐ บาท เพื่อใช้เป็นที่ว่าการเมืองและตั้งศาลขึ้นที่เมืองไชยาต่างหากอีกแห่งหนึ่งนอกจากที่บ้านดอน
พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) เป็นบุคคลที่มีร่างกายแข็งแรงมาโดยตลอด ท่านได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคลมปัจจุบันเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๗ มีอายุได้ ๗๐ ปี หลังจากมีการปลงศพในกรุงเทพมหานครแล้ว ธิดาและบุตรได้นำอัฐิของพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) ไปบรรจุไว้ ณ สุสานของตระกูลศรียาภัย ที่ตำบลพุมเรียง เมืองไชยาเก่า ซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี
พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) มีบุตร ๕ คน เป็นหญิง ๒ คน และชาย ๓ คน คือ ชื่น ศรียาภัย พระยาประชุมพลขันธ์ (ขัน) นายจวน นายเขต และนางเฉลิม คุณความดีที่พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) สร้างไว้มีมากมาย ทั้งที่เป็นคุณประโยชน์ต่อตนเอง ญาติ มิตรสหาย และประเทศชาติโดยส่วนรามซึ่งในที่นี้จะนำมากล่าวรวม ๆ กันไปดังนี้
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวถึงอัธยาศัยไมตรีของพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) ไว้ในประวัติที่ทรงเรียบเรียงขึ้นเพื่อระลึกถึงคุณูปการของพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) ว่า “...พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) เป็นผู้มีอัธยาไศรยโอบอ้อมอารี รู้จักที่จะสมาคมบุคคลได้ทุกชั้นบันดาศักดิ์ ตั้งแต่เจ้านายลงไปจนกระทั่งถึงราษฎร เจ้านายที่ทรงคุ้นเคย แลทรงพระเมตตาแก่พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) จึงมีมาก ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยที่เป็นมิตรสหายชอบพอกับพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) ก็มากกว่ามาก ผู้ซึ่งอัตภาพเพียงเช่นพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) แลสามารถจะมีผู้คนชอบพอมากถึงเพียงนั้น ก็เพราะผู้อื่นเขาเห็นว่าทรงคุณความดีจึงไม่มีความรังเกียจ อันนี้เป็นหลักฐานที่อาจจะกล่าวได้โดยแน่นอน ไม่ต้องเกรงคำคัดค้านของผู้หนึ่งผู้ใดถ้าว่าตามความสามารถส่วนตัวตามที่ข้าพเจ้าทราบ พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) มีคุณวุฒิหลายอย่าง ดีในทางอัธยาไศรยแลสนทนาอย่างหนึ่ง ชำนาญการค้าขายอย่างหนึ่ง ชำนาญคชกรรมตั้งแต่กระบวนการจับ กระบวนการฝึกหัด ตลอดจนขับขี่ช้างได้ด้วยตนเองอย่างหนึ่ง และเป็นช่างอย่างดีในการเหลาเรือมาดด้วยอีกอย่างหนึ่ง...”
พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) ได้ลงทุนร่วมกับพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ฟัก โชติกเสถียร) หลวงเจริญราชธน และหลวงบำรุงราชากรณ์ ผูกขาดทำอากรรังนกในเขตเมืองไชยาชุมพร หลังสวน รวมไปถึงเมืองปรานบุรี เป็นเวลานานถึง ๑๗ ปี ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๒๔-๒๔๔๑ โดยเสียค่าประมูลปีละหลายหมื่นบาท จึงนับว่าเป็นธุรกิจที่สำคัญ เพราะต้องคอยตรวจตราดูแลการทำรังนกในเกาะต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ เป็นต้นว่า เกาะวัวหลับ เกาะวัวจิ๋ว ในหมู่เกาะอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย และเกาะง่าม เกาะลังกาจิ๋ว ในเขตอำเภอเมืองชุมพร ท่านพบและคุ้นเคยกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๓๑ ที่เมืองชุมพรก็เนื่องจากไปดูแลเรื่องภาษีรังนกนี้เอง
พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) ยังเป็นบุคคลที่ชำนาญในเรื่องเกี่ยวกับท้องที่ในหัวเมืองปักษ์ใต้และการเดินทางทั้งทางบกและทางเรือ พยานหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้มีหลายครั้งเป็นต้นว่าในปี พ.ศ.๒๔๓๑ ได้ลงเรือเป็นผู้นำทางท่องเที่ยวทางทะเลร่วมกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ พระยาชลยุทธโยธินทร์ (เดอร์วิชลิว) พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด ศิริสัมพันธ์) และนายทหารอีก ๒-๓ คน ไปเที่ยวเกาะพะงัน เกาะสมุย เมืองนครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี มีผลดีต่อพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) เป็นอย่างมากที่สามารถรับใช้เจ้านายและข้าราชการชั้นสูงในส่วนกลางครั้งนั้น อีกปีต่อมาคือปี พ.ศ.๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายทะเลตะวันตก จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) ตามเสด็จในฐานะมัคคุเทศก์ หลังจากนั้นเมื่อมีการเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ทุกครั้ง ตลอดจนเสด็จไปสิงคโปร์และชวา ก็โปรดเกล้าฯ ให้พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) โดยเสด็จไปทุกครั้ง จึงเป็นบุคคลที่คุ้นเคยใกล้ชิดพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ใช้สอยในราชการต่าง ๆ ถึงกับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นข้าหลวงพิเศษลงไปยังเมืองกลันตันและตรังกานูในปี พ.ศ.๒๔๓๓
เมื่อมีการตรวจทางเพื่อสร้างทางรถไฟสายใต้ นายช่างใหญ่อยากจะไปตรวจทางให้ตลอด จึงขอตัวผู้ชำนาญท้องที่จากกระทรวงมหาดไทย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อยังเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงออกปากวานให้พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) ซึ่งในขณะนั้นเข้าไปพำนักอยู่ในกรุงเทพมหานครแล้วลงไปเดินสำรวจทางพร้อมกับนายช่างใหญ่ จากมณฑลปัตตานีขึ้นมาถึงเมืองเพชรบุรี ซึ่งต้องเดินทางบกอย่างลำบากตรากตรำเป็นเวลานานเกือบ ๒ เดือน ความวิริยะอุตสาหะและอดทนเช่นนี้ได้สร้างความเคารพนับถือ และเกรงอกเกรงใจให้แก่เจ้านายระดับสูงในกรุงเทพมหานครเป็นอย่างมาก นับเป็นบารมีที่พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) ได้สร้างสมขึ้นมาจนประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง
จุดสูงสุดในชีวิตราชการของพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) ที่ได้อุตส่าห์สร้างสมไว้ก็คือ การสร้างเรือมาด ๑ ลำน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือเรือมาดยอดไชยา ซึ่งนับได้ว่าเป็นเรือมาดที่ดีที่สุดในประเทศในขณะนั้น เพราะทรงใช้เป็นเรือพระที่นั่ง และได้ทรงพระราชนิพนธ์โคลงชมเรือมาดดังกล่าวโดยทรงเปรียบเทียบไว้ว่า
รถเร็วเรือว่องน้ำ เรือนสบาย
เมียชื่ออีกสหาย ร่วมไว้
ไปไหนฤจะวาย ความสุข
เรือยอดไชยาใช้ ชอบต้องตามแผนฯ
ถึงแม้ว่าชีวิตและสรรพสิ่งต่าง ๆ ที่พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) ได้สร้างสมกระทำไว้จะหมดไปตามกาลเวลาก็ตาม แต่ความดีที่พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) ได้ประพฤติปฏิบัติขณะที่มีชีวิตอยู่ก็ยังเป็นเครื่องหมายของคนดีที่จารึกในความทรงจำของคนทั่วไปจนทุกวันนี้