ธารโต, อำเภอ

ประวัติความเป็นมา

         ดินแดนแห่งนี้เดิมอยู่ในเขตการปกครองของตำบลแม่หวาด อำเภอบันนังสตา ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้จัดตั้งเป็นทัณฑสถาน หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ รุ่นเดียวกับทัณฑสถานเกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล เพื่อกักขังนักโทษการเมืองและนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ที่จัดส่งมาจากทั่วประเทศ เรียกขานทัณฑสถานแห่งนี้ว่า “นรกธารโต” กรมราชทัณฑ์ได้ประกาศยุบเลิกทัณฑสถานแห่งนี้เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ กรมประชาสงเคราะห์จึงได้จัดตั้งนิคมสร้างตนเองธารโต และพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันร่องรอยบางอย่างของทัณฑสถานธารโตยังปรากฏอยู่ เช่น โรงครัว โรงนอน โซ่ตรวน และนักโทษในอดีตที่ปักหลักทำมาหากินอยู่ในพื้นที่อีกหลายคน

         แต่เดิมชาวบ้านท้องถิ่นเรียกบริเวณนี้ว่า “ไอร์กือดง” เป็นภาษามลายูมาจากคำว่า “ไอร์” มีความหมายว่า น้ำ ลำธาร “กือดง” หมายถึง พืชมีพิษสกุลเดียวกับตำแย หมามุ่ย คำว่าธารโตเป็นชื่อที่กรมราชทัณฑ์ตั้งขึ้นตามลักษณะสภาพภูมิประเทศในขณะนั้น คือ มีลำธารสายใหญ่ไหลผ่าน ปัจจุบันได้เปลี่ยนสภาพเป็นทะเลสาบธารโต ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้า แหล่งท่องเที่ยว และแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญ

         เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๘ กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอธารโต โดยกำหนดพื้นที่ตำบลแม่หวาดของอำเภอบันนังสตาทั้งหมด เป็นเขตกิ่งอำเภอธารโตและเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๔ ได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ โดยมีนายสวิน วุฒิภูมิ เป็นนายอำเภอคนแรก

สภาพทั่วไป

         อำเภอธารโต ขึ้นกับจังหวัดยะลา มีพื้นที่ทั้งหมด ๖๔๘ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๔๒๒,๐๐๐ ไร่ คิดเป็นร้อยละ ๑๕.๔๐ ของพื้นที่ทั้งจังหวัดยะลา ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดยะลา ห่างจากตัวจังหวัด ๖๐ กิโลเมตร

อาณาเขต

         ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา

         ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเบตง จังหวัดยะลา

         ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอศรีสาคร และอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส

         ทิศตะวันตก ติดต่อรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย

         อำเภอธารโตแบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๔ ตำบล ๓๖ หมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบไปด้วย เทศบาล ๑ แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล ๔ แห่ง ตำบลต่าง ๆ ในอำเภอธารโต ได้แก่ ตำบลธารโต ตำบลคีรีเขต ตำบลบ้านแหร และตำบลแม่หวาด

         จำนวนประชากร ณ วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ อำเภอธารโตมีประชากรทั้งสิ้น ๑๙,๒๐๒ คน เป็นชาย ๑๐,๐๒๓ คน เป็นหญิง ๙.๑๗๙ คน ความหนาแน่นของประชากร ๓๐ คนต่อตารางกิโลเมตร ประชากรนับถือศาสนาอิสลามร้อยละ ๖๔ นับถือศาสนาพุทธร้อยละ ๓๖

         ที่อำเภอธารโตมีชาวพื้นเมืองดั้งเดิมอยู่พวกหนึ่งเรียกว่า “เงาะ” หรือ “ซาไก” หมู่บ้านซาไกมีสมาชิกประมาณ ๑๕-๓๐ ครัวเรือน มีอาชีพทางทำไร่ หาของป่า ปัจจุบันชาวซาไกกลุ่มนี้มีความเจริญมากขึ้น เด็ก ๆ เข้าเล่าเรียนในโรงเรียนมากขึ้น ผู้ใหญ่ชาวซาไกก็สัมพันธ์กับสังคมภายนอกมากขึ้น

         สภาพภูมิประเทศ อำเภอธารโต มีพื้นที่ทั้งหมดเป็นภูเขาสูงแบบลูกคลื่นลอนลึกถึงลอนตื้นสลับซับซ้อนระดับความสูงเฉลี่ย ๓๐๐-๕๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และมียอดเขาที่สูงกว่า ๑,๐๐๐ เมตร อยู่หลายแห่ง และมีทะเลสาบเป็นเนื้อที่ประมาณ ๒๓,๗๕๐ ไร่

         สภาพภูมิอากาศของอำเภอธารโต เป็นแบบมรสุมเมืองร้อน แบ่งออกเป็น ๒ ฤดูกาล คือ ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม และฝนจะตกชุกที่สุดในช่วงเดือนตุลาคม ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยประมาณ ๓๔ องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดประมาณเดือนธันวาคม เฉลี่ยประมาณ ๒๑ องศาเซลเซียส

         ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของอำเภอธารโต คือ ป่าไม้ มีเนื้อที่ป่าไม้ประมาณ ๒๔๑,๓๐๐ ไร่ ได้แก่ ป่าบาลา-ฮาลา ตำบลแม่หวาด เป็นป่าไม้พระนามาภิไธยในองค์สมเด็จฯ พระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ มีเนื้อที่ ๑๖๒,๔๓๕ ไร่ ป่าสงวนร้อยละ ๒๐ ของนิคมสร้างตนเองธารโต คลุมทั้ง ๔ ตำบล มีเนื้อที่ ๔๓,๐๐๐ ไร่ ป่าสงวนร้อยละ ๒๐ ของนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ (กือลอง) ตำบลแม่หวาด เนื้อที่ ๗,๘๐๕ ไร่ และป่าสงวนร้อยละ ๒๐ ของนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ (เบตง) ตำบลแม่หวาด เนื้อที่ ๒๖,๐๐๐ ไร่

 แหล่งน้ำ

         น้ำฝน ฝนตกมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายนประมาณ ๙๑๒ มิลลิเมตร ฝนตกน้อยที่สุดประมาณ ๓๕ มิลลิเมตร ฝนตกรวมโดยเฉลี่ย ๑,๘๐๐ มิลลิเมตรต่อปี

         อ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลาง หรือทะเลสาบธารโต เดิมคือแม่น้ำปัตตานี ซึ่งเป็นลำน้ำหลักไหลผ่านอำเภอรวมความยาว ๒๘ กิโลเมตร เมื่อการไฟฟ้าสร้างฝายพื้นที่ดังกล่าวเป็นอ่างเก็บน้ำ เนื้อที่ประมาณ ๒๓,๗๕๐ ไร่ มีลำคลองสาขาจำนวน ๘ สาย ความยาว ๑๖๘ กิโลเมตร ได้แก่ คลองแม่หวาด คลองโต๊ะโมะ คลองฮารา เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่มีสภาพเป็นธารน้ำลงมาจากภูเขา มีโขดหิน และหินลำธารตลอดสาย มีปริมาณน้ำมากในช่วงฤดูฝน น้ำน้อยในฤดูแล้ง

         ฝายขนาดเล็ก มีกระจัดกระจายอยู่ตามหมู่บ้าน จำนวน ๒๕ แห่ง นอกจากนี้ยังมีฝายขนาดจิ๋วเรียกว่าฝายชาวบ้าน ซึ่งเป็นการกั้นลำธารทดน้ำจากภูเขาแบบง่าย ๆ เพื่อนำน้ำไปใช้ในการเกษตรและอุปโภคบริโภค

         ประปาภูเขา เป็นการนำน้ำจากฝายขนาดเล็กมาใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค เพื่อจ่ายน้ำให้กับส่วนราชการต่าง ๆ และชุมชนตลาดธารโตซึ่งส่วนอำเภอเป็นผู้รับผิดชอบ

         บ่อบาดาล บ่อน้ำตื้น ไม่สามารถดำเนินการขุดเจาะได้เนื่องจากสภาพพื้นดินเป็นหินดินดาน

         การคมนาคม มีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๑๐ สายยะลา-เบตง ระยะทาง ๖๐ กิโลเมตร เป็นถนนลาดยางตลอดทาง

         เส้นทางคมนาคมระหว่างอำเภอ-หมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นถนนดินลูกรังตัดผ่านเลียบไหล่เขาสูงชัน สลับซับซ้อนและทุรกันดาร ฤดูฝนน้ำจากภูเขาจะไหลกัดเซาะ ทำให้ถนนชำรุดไม่สามารถสัญจรไปมาได้ในบางหมู่บ้าน

         เศรษฐกิจและอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่มีรายได้จากเกษตรกรรม พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ยางพารา ลองกอง ทุเรียน การเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่เป็น โค สุกร แพะ แกะ เป็ด ไก่ นอกจากนี้มีการทำประมงน้ำจืด ของราษฎรรอบ ๆ ทะเลสาบธารโต

         อำเภอธารโตมีโครงการบำรุงพันธ์ปลาโดยปล่อยพันธุ์ปลาลงในทะเลสาบธารโตปีละ ๕๐,๐๐๐ ตัวทุกปี

         วัฒนธรรม ประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ ของอำเภอธารโตเป็นเหมือนอย่างภาคใต้ทั่ว ๆ ไป มีทั้งวัฒนธรรมอันเนื่องด้วยพุทธศาสนาและศาสนาอิสลามผสมผสานด้วยคติความเชื่อดั้งเดิม

สถานที่สำคัญ

         หมู่บ้านซาไก อยู่ที่หมู่ที่ ๓ ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต ห่างจากตัวอำเภอประมาณ ๗ กิโลเมตร ตามเส้นทางยะลา-เบตง และอยู่ห่างจากถนนใหญ่ลึกเข้าไปกลางขุนเขาประมาณ ๔ กิโลเมตร เป็นที่อยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองที่เรียกกันว่า “เงาะ” หรือ “ซาไก” ชนเผ่าดั้งเดิม ที่ดำรงชีวิตด้วยการหาของป่า มีความชำนาญในด้านสมุนไพรและเป่าลูกดอกล่าสัตว์ บ้านเรือนของซาไกเดิมสร้างด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงจาก มีประมาณ ๑๕-๓๐ หลังคาเรือน กรมประชาสงเคราะห์ได้พัฒนาหมู่บ้านแห่งนี้ โดยรวบรวมชาวซาไกมาอาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน จำนวน ๒๑ ครอบครัว ๕๒ คน (ข้อมูลปี พ.ศ.๒๕๔๘) มีการจัดสร้างบ้านที่ดีขึ้น ปลูกยางพาราพันธุ์ดีให้ ๓๐๐ไร่ เด็กชาวซาไกได้เรียนรู้และมีการศึกษาที่ดีขึ้นจากการเข้าไปสอนหนังสือของครูจากอำเภอ ชาวซาไกที่หมู่บ้านนี้ทุกคนจะใช้นามสกุล “ศรีธารโต” ซึ่งเป็นนามสกุลพระราชทานจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราช-ชนนี

         ทะเลสาบธารโต เป็นผลผลิตจากการสร้างเขื่อนบางลาง ทำให้พื้นที่กว้างใหญ่บริเวณเหนือเขื่อนกลายเป็นทะเลสาบสีครามบนภูเขาสูง ขณะนี้อำเภอธารโตได้ดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวล่องเรือแพชมทะเลบนภูเขาแห่งนี้

         น้ำตกต่าง ๆ ในพื้นที่เขตอำเภอส่วนใหญ่เป็นภูเขาจึงมีน้ำตกที่สวยงามหลายแห่งสวยงามเหมาะที่จะส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ดังมีรายชื่อต่อไปนี้

         น้ำตกธารโต ตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ ตำบลธารโต เป็นน้ำตกขนาดใหญ่สูง ๙ ชั้น มองเห็นเป็นทางน้ำไหลลดหลั่นลงมาจากภูเขาสูง มีแอ่งน้ำสามารถเล่นน้ำได้ โดยรอบร่มรื่นไปด้วยป่าไม้ที่สมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้ที่น่าสนใจมากมาย รวมทั้งต้นไม้ประจำจังหวัดยะลา คือ ต้นศรียะลา หรือ อโศกเหลือง ซึ่งจะออกดอกสีเหลืองสวยงามในราวเดือนกุมภาพันธ์

         น้ำตกละอองรุ้ง เป็นน้ำตกที่ตั้งอยู่ระหว่างเขตติดต่ออำเภอธารโตและอำเภอเบตง น้ำตกนี้เกิดจากสายน้ำที่ไหลแรงจากยอดเขาตกลงมากระทบก้อนหินเบื้องล่าง เกิดเป็นละอองน้ำฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ จะดูสวยงามมากยามต้องแสงแดดและเกิดเป็นสายรุ้งสีสวยอันเป็นที่มาของชื่อน้ำตกนั่นเอง

         น้ำตกฮาลาซะห์ อยู่ในเขตหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติบางลางที่ บล.๒ (โต๊ะโม๊ะ) น้ำตกมีความสูงประมาณ ๑๐๐ เมตร รอบ ๆ บริเวณน้ำตกยังเหมาะแก่การเฝ้าดูนกเงือก และชมใบไม้สีทอง รวมถึงการเดินป่าชมธรรมชาติ

         น้ำตกผาแดง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๘ ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา

         น้ำตกคอกช้าง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา

         น้ำตกไทยพัฒนา ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลคีรีเขต อำเภอธารโต จังหวัดยะลา

         ถ้ำธารลอด ถ้ำธารลอดเกิดจากลำธารที่ไหลมาจากน้ำตกธารโตไหลเข้าไปในถ้ำและลอดใต้ภูเขาที่บ้านปะลัสสะนิง หมู่ที่ ๒ ตำบลธารโต และมาทะลุเขาอีกด้านหนึ่งที่ถ้ำกระแซง เขตพื้นที่อำเภอบันนังสตา มีลักษณะเป็นถ้ำใหญ่ยาวประมาณ ๓ กิโลเมตร และมีถ้ำแยกต่าง ๆ อีกหลายแห่งบางช่วงจะมีปล่องทะลุยอดเขามีหินงอกหินย้อยสวยงาม

         อุโมงค์ จคม. (โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา) ตั้งอยู่ที่บ้านวังไทร หมู่ที่ ๒ ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา เหมาะแก่การเดินป่าท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ชมความงามตามธรรมชาติของพันธุ์ไม้นานาพันธุ์ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นเตรียมการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สะดวกยิ่งขึ้น

         หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๗,๙ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๖ ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา เป็นหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งเป็นอดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) หมู่บ้านแห่งนี้อยู่ในความอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ มีสถานที่ท่องเที่ยวอยู่หลายแห่ง เช่น น้ำตกจุฬาภรณ์พัฒนา ๙ ฟาร์มเลี้ยงกวาง เรือนเพาะชำกล้าไม้นานาพันธุ์ การล่องแพ ตกปลา และท่องป่าดงดิบ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้จัดสร้างรีสอร์ท อาคาร ห้องประชุม ห้องอาหาร เพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยว

         ผลิตภัณฑ์ส่งเสริมในอำเภอที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปลาส้ม ผลิตภัณฑ์กาแฟโบราณ

         อำเภอธารโตมีคำขวัญว่า “ธรรมชาติหุบเขา ชนเผ่าซาไก อดีตคุกใหญ่ เพลินใจทะเลงาม” (มาโนชญ์ บุญญานุวัตร, ทีปวิท พงศ์ไพบูลย์)

ชื่อคำ : ธารโต, อำเภอ
หมวดหมู่หลัก : โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และการเมืองการปกครอง
หมวดหมู่ย่อย : ประวัติสถานที่ สิ่งของ และเครื่องมือเครื่องใช้
ชื่อผู้แต่ง : มาโนชญ์ บุญญานุวัตร, ทีปวิท พงศ์ไพบูลย์
เล่มที่ : ๗
หน้าที่ : ๔๐๑๑