ธำรง รุจนพันธ์

         นายธำรง รุจนพันธ์ เป็นศิลปินในสาขาทัศนศิลป์ (Visual Arts) ของจังหวัดนราธิวาส มีความรู้ความชำนาญในการเขียนภาพด้วยสีน้ำมัน ถ่ายภาพ ถ่ายทำภาพยนตร์ และการปั้น โดยเป็นผู้มีความเห็นเกี่ยวกับงานศิลปะสาขานี้ว่าเด็ก ๆ ควรจะฝึกหัดการปั้นและการเขียนภาพโดยการแสดงออกทางจิต ให้เห็นว่าตัวเรา สังคมรอบตัวเรา ตลอดจนประเทศไทยของเราเจริญมากน้อยเพียงไร และเป็นคนมีนิสัยชอบอยู่อย่างง่าย ๆ แต่มีความมุ่งมั่นในงานของตนเองมาก และชอบทำงานเพื่อบริการสังคมโดยไม่คำนึงถึงค่าตอบแทนเป็นส่วนใหญ่

         นายธำรง เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๔ ที่ตำบลศรีเกิด อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง เป็นบุตรของนายเจ็กซิ และนางบัวคำ ซิหลิม ได้รับการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนบุญวาสน์ แล้วเข้าเรียนในโรงเรียนพุทธศาสนา อำเภอเมืองลำปาง หลังจากนั้นจึงเข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญกรุงเทพฯ สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ แล้วเข้าเรียนภาษาจีนที่โรงเรียนยุหมิ๋น เป็นเวลา ๑ ปีครึ่ง และไปเรียนต่อที่โรงเรียนจีนาน แห่งเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศสาธารณะรัฐประชาชนจีน เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาแล้วก็เข้าเรียนต่อใน Sinwha Art Academy ที่เมืองเดียวกันโดยมีหลักสูตร ๔ ปี แต่นายธำรงเรียนเพียง ๓ ปี ก็สำเร็จ และได้รับประกาศนียบัตรวิชาวาดเขียน สาขาศิลปะแบบยุโรป และเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ แล้วสมรสกับนางสาวสุจิต อมรศักดิ์ ที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ มีบุตรชาย ๒ คน หญิง ๑ คน รวม ๓ คน

         ความรู้และความสามารถพิเศษของนายธำรง ได้แก่ การเล่นดนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวโอลิน เพราะเคยเรียนวิชานี้มาจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเคยร่วมเล่นกับวงดนตรีสากลหลายวง และเคยสอนศิษย์ไว้หลายคน นอกจากนี้ยังมีความสนใจเพิ่มเติม จึงได้ทำการศึกษาทางไปรษณีย์จากสถาบันแห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาจนได้รับประกาศนียบัตรสาขาวิชาการถ่ายทำภาพยนตร์จาก The Motion Picture Institute Of The U.S.A Inc., แห่งรัฐมิชิแกน เมื่อปี ค.ศ. 1957 และได้รับอนุปริญญาทางด้านการสงวนหนังสัตว์จาก The Northwestern School of Taxidermy ในปีเดียวกัน

         ประสบการณ์ในการทำงาน คือ เคยเป็นครูสอนวิชาวาดเขียนในโรงเรียนและสถาบันต่าง ๆ ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศสาธารณะรัฐประชาชนจีน เป็นเวลา ๒ ปี เป็นครูสอนวิชาวาดเขียนและการฝีมือตามโรงเรียนต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่าง ๆ หลายปี ตั้งร้านถ่ายรูปชื่อ “ลำปางอาร์ต” ที่จังหวัดลำปาง และ “ไทยอาร์ต” ที่จังหวัดนราธิวาส พร้อมทั้งรับเขียนภาพหวัด ๆ (Sketch) เขียนภาพสีน้ำมัน และรับถ่ายทำภาพยนตร์เสียงในฟิล์มในงานพิธีต่าง ๆ ตลอดจนการถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณา เคยเข้าทำงานที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ในตำแหน่งผู้ชำนาญการของแผนกโฆษณาจนถึง พ.ศ. ๒๕๑๗ หลังจากนั้นจึงออกมาประกอบอาชีพส่วนตัวด้วยการเขียนภาพสีน้ำมันไว้จำหน่ายและบริจาคเพื่อการกุศล โดยตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเลขที่ ๓ ถนนจำรูญนรา อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส จนกระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑ แต่ไม่มีใครดำเนินการสืบต่องานที่ได้ทำมาแล้วและงานที่จะทำต่อไป นอกจากผู้ที่เคยรับความรู้จากการสอนวิชาวาดเขียนให้แก่นักเรียนในโรงเรียน และสถาบันต่าง ๆ ที่นายธำรงเคยเป็นครูและเคยสอนการเขียนภาพด้วยสีน้ำมันให้แก่ชาวอเมริกันบางคนที่มีความสนใจและมาขอเรียนกับนายธำรงเท่านั้น

         ตัวอย่างผลงานบางอย่างที่นายธำรงได้ทำไว้ เช่น

         ด้านการเขียนภาพ ได้แก่ พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระราชวงศ์ ซึ่งเขียนด้วยสีน้ำมัน แล้วทูลเกล้าฯ ถวาย รวม ๘ ครั้ง และมอบให้แก่สถาบันตลอดจนบุคคลระดับผู้นำต่าง ๆ หลายภาพ นอกจากนี้ก็ได้แก่ การรับจ้างเขียนภาพโดยยึดเป็นอาชีพมาตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงวัยชรา และเขียนภาพสีน้ำมันประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมพื้นบ้านภาใต้ในด้านต่าง ๆ แสดงไว้ที่บ้านพักเป็นจำนวนมาก เช่น ผลไม้พื้นเมือง วิถีดำเนินชีวิตของชาวใต้ ภาพประเพณีพื้นเมือง เป็นต้น

         ด้านการถ่ายทำภาพยนตร์ เคยเป็นผู้ชำนาญการของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเวลา ๗ ปี และได้ถ่ายทำภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม รายการ “สองข้างทางรถไฟ” ให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และได้ถ่ายทำข่าวสารคดีในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลระหว่างทีมพนักงานอาวุโสของการรถไฟแห่งประเทศไทย กับทีมพลร่มหญิงในรายการ “วัวแก่กับหญ้าอ่อน” นอกจากนี้ได้ถ่ายทำภาพยนตร์ส่วนตัวโดยการประพันธ์เรื่องเอง ถ่ายทำและกำกับการแสดงด้วยตนเองหลายเรื่อง เช่น เรื่องทะโมนไพร บุหงาตันหยง อ่าวเพชฌฆาต เป็นต้น นอกจากนี้เคยถ่ายทำสารคดีให้แก่ KGMB TV. แห่งเมืองโฮโนลูลู รัฐฮาวาย และได้รับการยกย่องโดย Auricon Professional cameras & Equipment

         ด้านการถ่ายภาพ เป็นช่างถ่ายภาพทั้งขาว-ดำ และภาพสีให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นจำนวนมาก และได้เปิดร้านถ่ายรูปเพื่อยึดถือเป็นอาชีพมาตั้งแต่วัยหนุ่มจนกระทั่งวัยชรา (นเรศ ศรีรัตน์)

ชื่อคำ : ธำรง รุจนพันธ์
หมวดหมู่หลัก : โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และการเมืองการปกครอง
หมวดหมู่ย่อย : ประวัติบุคคล
ชื่อผู้แต่ง : นเรศ ศรีรัตน์
เล่มที่ : ๗
หน้าที่ : ๔๐๑๕