ขุนธำรงพันธุ์ภักดี (ธำรง วัฒนายากร) เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของจังหวัดปัตตานี ได้ทำประโยชน์อย่างกว้างขวางทั้งด้านการศึกษา การสาธารณูปโภค การศาสนา และการพัฒนาด้านอื่น ๆ ให้แก่จังหวัดนี้ในฐานะที่เป็นผู้บริหารระดับท้องถิ่น คือเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองนี้
ขุนธำรงพันธุ์ภักดี เดิมชื่อซุ่นจ่าย วัฒนายากร เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๑ ที่บ้านเลขที่ ๒๕/๑ ถนนอาเนาะรู ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี เป็นบุตรคนโตของนายฉุ้นฮวด และนางเป้าเลี่ยง วัฒนายากรหรือแม่ดี (นางเป้าเลี่ยง เป็นบุตรีของหลวงสุนทรสิทธิโลหะซึ่งเป็นพี่ชายร่วมบิดามารดาของพระจีนคณานุรักษ์ และเป็นหลานของหลวงสำเร็จกิจกรจางวางซึ่งเป็นต้นตระกูลคณานุรักษ์ และตระกูลตันธนวัฒน์) มีน้องร่วมบิดามารดา ๖ คน
ขุนธำรงพันธุ์ภักดี กำเนิดมาในตระกูลคหบดีที่พรั่งพร้อมอุดมสมบูรณ์ทั้งทรัพย์สินเงินทองและญาติมิตรสหาย มีอุปนิสัยซื่อตรง เฉลียวฉลาด มีความกตัญญูต่อบุพการี ได้รับการศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนวัดตานีนรสโมสร หรือวัดบางน้ำจืด โดยศึกษาที่ศาลาในวัดที่พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีพระบรมราชโองการให้พระจีนคณานุรักษ์เป็นผู้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และใช้เป็นโรงเรียนสำหรับกุลบุตรกุลธิดาในเมืองปัตตานี ซึ่งมีข้อความจารึกไว้ในแผ่นศิลาจารึกอยู่ที่ฝาผนังพระอุโบสถของวัดตานีนรสโมสรจนกระทั่งทุกวันนี้
ต่อมาเมื่อ นายทอง คุปตาสา (ซึ่งต่อมาได้เป็นพระยาพิบูลพิทยาพรรค) มาจัดการศึกษาแผนใหม่ขึ้นที่มณฑลปัตตานี โดยได้มาก่อตั้งโรงเรียนเบญจมราชูทิศขึ้น ขุนธำรงพันธุ์ภักดีก็ได้มาศึกษาต่อที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศด้วย นอกจากนี้ก็ยังศึกษาภาษาจีนจนอ่านออกเขียนได้คล่องแคล่ว และภายหลังได้ไปศึกษาต่อที่ปีนัง ในประเทศมลายู (มาเลเซีย) ด้วยเหตุนี้ขุนธำรงพันธุ์ภักดีจึงมีความรู้แตกฉานทั้งภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ
ขุนธำรงพันธุ์ภักดี ได้ช่วยงานของบิดามารดาด้วยดีมาตลอดตั้งแต่เยาว์วัย ทั้งยังช่วยดูแลน้อง ๆ ทั้งชายและหญิงจนเป็นที่เคารพรักของน้อง ๆ ทุกคนตลอดมา ท่านได้สมรสกับนางสาวสร้อยทอง คณานุรักษ์ บุตรีคนที่ ๒ ของขุนพิทักษ์รายา ซึ่งเป็นบุตรของพระจีนคณานุรักษ์ (ขุนพิทักษ์รายาเป็นน้องชาย ร่วมบิดามารดาของขุนจำเริญภักดี) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ ซึ่งขณะนั้นทั้งขุนธำรงพันธุ์ภักดีและนางสาวสร้อยทองต่างก็มีอายุเท่ากัน คือ มีอายุ ๑๗ ปี และทั้งสองยังเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกันอีกด้วย เพราะมารดาของขุนธำรงพันธุ์ภักดี (คือนางเป้าเลี่ยง) เป็นบุตรีของหลวงสุนทรสิทธิโลหะ ซึ่งเป็นพี่ชายร่วมบิดามารดาของจีนคณานุรักษ์ และพระจีนคณานุรักษ์เป็นปู่ของนางสาวสร้อยทอง
ถึงแม้ว่าท่านทั้งสองจะสมรสกันตั้งแต่ยังเยาว์ แต่ก็สามารถครองเรือนด้วยความราบรื่นเป็นสามีภรรยาตัวอย่างที่สามารถสร้างตัวสร้างฐานะให้มีชื่อเสียงในด้านอาชีพและสังคมจนเป็นที่ยอมรับนับถือของทางราชการและประชาชนทั่วไปทั้งในเมืองปัตตานี และเมืองใกล้เคียงในสมัยนั้น ตลอดมาจนสิ้นอายุขัย ขุนธำรงพันธุ์ภักดี และคุณสร้อยทอง มีบุตรธิดาทั้งสิ้น ๑๒ คน คือ
๑. บุตรชายหัวปีที่ถึงแก่กรรมตั้งแต่เยาว์วัย
๒. นายสารัตถ์ วัฒนายากร
๓. นายภิญโญ วัฒนายากร
๔. นายจำเริญ วัฒนายากร
๕. นายมงคล วัฒนายากร
๖. นายสมพร วัฒนายากร
๗. นางสาวโสภาพันธุ์ วัฒนายากร ต่อมาได้สมรสกับเรือเอกนายแพทย์สืบสาย สุวรรณจินดา ร.น. อดีตนายกเทศมนตรีเมืองยะลา
๘. ด.ญ.วิไลพันธ์ วัฒนายากร (ถึงแก่กรรมตั้งแต่เยาว์วัย)
๙. นายสวัสดิ์ วัฒนายากร
๑๐. นายวิโรจน์ วัฒนายากร
๑๑. พ.ต.อ.นายแพทย์วิบูลย์ วัฒนายากร
๑๒. พ.ต.อ.วิวัฒน์ วัฒนายากร
ขุนธำรงพันธุ์ภักดีได้บวชเป็นพระภิกษุสงฆ์เมื่อมีอายุครบ ๒๑ ปี ในปี พ.ศ.๒๔๖๒ ที่วัดตานีนรสโมสร ซึ่งเป็นวัดที่ท่านได้รับการศึกษาชั้นต้นนั่นเอง (เดิมวัดนี้มีชื่อว่า วัดบางน้ำจืด แต่พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทาน นามใหม่เป็น “วัดตานีนรสโมสร” ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๓๑) ท่านบวชอยู่ ๑ พรรษา
จากการที่ท่านเป็นนักบริหารธุรกิจคนสำคัญของเมืองปัตตานีในสมัยนั้น อีกทั้งยังได้ช่วยเหลือสังคมด้วยดีเสมอต้นเสมอปลาย ท่านจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พระราชทานราชบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนธำรงพันธุ์ภักดี” กรมการพิเศษของจังหวัดปัตตานีเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๓ ถือศักดินา ๔๐๐ เป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูลสืบมา
ในปี พ.ศ.๒๔๗๔ ขุนธำรงพันธุ์ภักดี ได้ตั้งโรงไฟฟ้าขึ้นที่เมืองปัตตานี อีกทั้งยังได้ทำเหมืองแร่ดีบุกที่ตำบลถ้ำทะลุ ที่ตำบลบะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ปัจจุบันเรียกว่าเหมืองแร่ลาบู ซึ่งกิจการทุกอย่างยังคงดำเนินการอยู่ ยกเว้นกิจการไฟฟ้าได้โอนให้รัฐบาลรับไปดำเนินการ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘
ท่านและภรรยาเห็นความสำคัญของการศึกษาเสมอมาจึงได้ซื้อโรงเรียนดรุณศึกษาที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ให้นายภิญโญ วัฒนายากร บุตรชายดำเนินกิจการจนถึงทุกวันนี้
ขุนธำรงพันธุ์ภักดี ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลให้เป็นสมาชิกสภาเทศบาล เมื่อครั้งมีการเปลี่ยนแลปงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยถึง ๒ สมัย คือ สมัยแรกเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองปัตตานีเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๓ โดยมีขุนเจริญวรเวช (นายแพทย์เจริญ สืบแสง) เป็นนายกเทศมนตรี และน้อยเขย คือ นายอนันต์ คณานุรักษ์ เป็นเทศมนตรีจนหมดวาระใน พ.ศ.๒๔๘๗ และในสมัยที่ ๒ ก็ได้รับความไว้วางใจให้เป็นสมาชิกสภาเทศบาล เมืองปัตตานีอีกในปี พ.ศ.๒๔๘๗ จนหมดวาระในปี พ.ศ.๒๔๙๒ ซึ่งในช่วงหลังของสมัยนั้นมีนายอนันต์ คณานุรักษ์ผู้เป็นน้องเขย ซึ่งเป็นเทศมนตรีได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกเทศมนตรีแทนในปี พงศ.๒๔๙๐ และช่วงที่นายอนันต์ คณานุรักษ์ น้องชายคนโตเป็นนายกเทศมนตรีนั้น นายดิเรก คณานุรักษ์ น้องเขยคนที่ ๕ ได้เป็นเทศมนตรีด้วย และในสมัยต่อมาคือในปี พ.ศ.๒๔๙๒ นายดิเรก คณานุรักษ์ ก็เป็นนายกเทศมนตรี ต่อมาติดต่อกันอีก ๕ สมัย จนถึงรุ่นหลาน คือ นายเติมศักดิ์ คณานุรักษ์ บุตรของนายอนันต์ คณานุรักษ์ เป็นหลานของนายดิเรก คณานุรักษ์ และเป็นหลานของนางสาวดวงเดือน วัฒนายากร ด้วย ได้เป็นต่อมาจนถึงปัจจุบัน นายสมพร วัฒนายากร ซึ่งเป็นบุตรชายของขุนธำรงพันธุ์ภักดีก็ได้รับความไว้วางใจเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองปัตตานีหลายสมัยเหมือนกับบิดา จนแทบกล่าวได้ว่าตระกูลวัฒนายากรและตระกูลคณานุรักษ์ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาล และประชาชนชาวปัตตานีให้เป็นผู้นำท้องถิ่นติดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน
ขุนธำรงพันธุ์ภักดีและคุณสร้อยทอง ผู้เป็นภรรยาเป็นผู้ที่อุทิศตนมั่นคงต่อพระพุทธศาสนา ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาตลอดอายุขัย กล่าวคือ ได้ร่วมสร้างพระไตรปิฎก สร้างพระประธานประดิษฐานไว้ที่อุโบสถต่าง ๆ หลายแห่ง และยังได้สร้างถาวรวัตถุให้แก่พระพุทธศาสนาหลายอย่าง เช่น สร้างอุโบสถวัดวชิรปราการ ตำบลโกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ร่วมสร้างพระอุโบสถวัดคูหาภิมุข (วัดถ้ำ) จังหวัดยะลา ร่วมสร้างพระอุโบสถวัดพุทธภูมิ อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ได้สร้างช่อฟ้าเอก พระอุโบสถ วัดโคกสมานคุณ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงยกช่อฟ้าเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๐) ได้สร้างศาลาการเปรียญวัดตานีนรสโมสร เป็นอาคาร ๒ ชั้น ขนาดใหญ่ ซึ่งงดงามและใช้ประโยชน์ได้อเนกประสงค์ได้สร้างหอระฆัง ๒ ชั้น ที่วัดตานีนรสโมสร ได้สร้างหน้าบันพระอุโบสถ ได้สมทบทุนสร้างอุโบสถ ศาลาการเปรียญและโรงเรียนปริยัติธรรม วัดนพวงศาราม อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี และได้สมทบทุนสร้างศาลาสันติสุข ศาลเจ้าเล่งจูเกียง (เจ้าแม่หลิมกอเหนี่ยว) อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี นอกจากนี้ยังได้ช่วยเหลือกิจการด้านการศึกษา การรักษาพยาบาลและสิ่งสาธารณกุศลอื่น ๆ อีกมากมาย
ด้วยความจงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างยิ่งท่านได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินที่ตำบลน้ำดำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จำนวน ๕๐๐ ไร่ โดยเสด็จพระราชกุศลในการปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชน ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ท่านไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายโฉนดที่ดินดังกล่าวตามเจตนารมณ์ เพราะท่านได้ถึงแก่กรรมเสียก่อนด้วยโรคชรา เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๓ รวมอายุได้ ๘๓ ปี (มัลลิกา คณานุรักษ์)