ทำข้าวไร่

        การทำข้าวไร่ เป็นอาชีพของ คนที่ไม่มีที่นา จึงทำข้าวไร่แทนการทำนา ในเมื่อบ้านเมืองยังคงมีที่ว่างพอ จึงสามารถที่จะเลือกหาสถานที่ได้ตามความต้องการ จึงมักจะมีการทำกันเพียง ๑-๒ ปี แล้วก็ทิ้งสถานที่ไปหาที่ ๆ จะทำใหม่ จึงเรียกกันว่าทำไร่เลื่อนลอย

        ฤดูสำหรับที่ชาวไร่เลือกทำไร่เพื่อให้เกิดผลิตผลตามที่ต้องการนั้น ขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศของแต่ละสถานที่เป็นสำคัญ แต่ส่วนใหญ่ในภาคใต้ที่อาศัยมรสุมตะวันตกจะเริ่มลงมือถางป่าเพื่อทำไร่กันในราว เดือนอ้ายหรือไม่เกินเดือนยี่ ถ้าหากการทำไร่ในป่าที่เป็นป่าอ่อนซึ่งภาษาถิ่นเรียกกันว่า “ป่าไส” จะยืดเวลาได้ไม่เกินเดือน ๓ หากเลือกเวลาผิดตามความนิยมแล้วจะพบกับอุปสรรคเรื่องดินฟ้าอากาศ ทั้งผลิตผลที่ตามมาก็ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องด้วยศัตรูของต้นข้าวจะมาก เป็นเรื่องที่ต้องเพิ่มภาระเข้าอีกต่อหนึ่ง

        การเลือกหาสถานที่ ผู้ที่จะทำข้าวไร่จะพิจารณาเลือกสถานที่โดยคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้ คือ

        (ก) ความสะดวกในการที่จะไปจัดการทำ

        (ข) คาดว่าผลิตผลที่ทำแล้วจะได้มาก

        (ค) ความปลอดภัยในการที่จะทำตลอดเวลาที่ทำ

        (ง) สถานที่ที่ไม่มีสัตว์ป่าที่เป็นภัยต่อข้าว เช่น ช้างป่า ลิง กวาง

        (จ) สถานที่ที่ไม่เป็นโทษแต่เป็นคุณ คือจะต้องหลีกเลี่ยงดินที่เป็นทรายมาก ดินที่มีปุ๋ยน้อย อันนี้ชาวไร่โบราณใช้วิธีสังเกตจากดินไม่ค่อยมีหญ้างอก ดินที่มีหญ้าคามาก ดินที่มีไม้ส้านขึ้น ดินที่มีลูกรังมาก ดินลายเสือ ดินที่สงสัยว่าเป็นที่อยู่ของปีศาจหรือเทวดา นางไม้ ประเภทดินที่มีลักษณะหรือเกี่ยวข้องกับสิ่งที่กล่าวมานี้ชาวไร่จะไม่พึงประสงค์ แต่นิยมเลือกที่ที่เป็นดินร่วนอยู่ในป่าดงที่มีต้นไม้สูงใหญ่มานานปี ดินประเภทนี้หญ้าจะรบกวนน้อย ยิ่งได้ใกล้กับธารน้ำยิ่งดีมากขึ้นอีก

        การเตรียมเครื่องมือ  เมื่อแน่ใจว่าจะเอาสถานที่ใดทำไร่สำหรับปีนี้แล้ว ก็เตรียมเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับที่จะใช้ทำไร่ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีติดต่อมาจากปีก่อน ๆ แล้ว หากขาดตกบกพร่องก็จะเตรียมเพิ่มเติมให้เป็นปัจจุบัน เพราะเครื่องมือบางชิ้นหาไม่ง่ายสำหรับชาวไร่ประเภทนี้ เครื่องมือสำหรับชาวไร่ที่จำเป็นคือ

        (ก) มีดพร้า ๑-๒ เล่ม

        (ข) ขวานที่ใช้โค่นไม้ ถ้าให้เหมาะควรจะมีขวานธรรมดาและขวานสำหรับเจาะได้ลึก (ขวานปลี) อย่างละเล่ม

        (ค) จอบดายหญ้าหรือไกรสำหรับดายหญ้า มากน้อยตามจำนวนคน

        (ง) ไม้สัก (ไม้ตำดินให้เป็นรูสำหรับปลูกข้าว) ๑ คู่

        (จ) กระบอกน่ำ (กระบอกที่ใช้กรอกข้าวที่ใช้ปลูกและปิดรูหลุม) ตามความจำเป็น

        (ฉ) ไม้หฺมฺรูน (ไม้ที่ใช้กระจายกองไฟ) ตามความจำเป็น

        (ช) แกะเกี่ยวข้าวและกระสอบ กะจง สาแหรก ไม้คาน ตามความจำเป็น

        ขั้นดำเนินการทำไร่ ในเมื่อตัดสินใจว่าจะต้องเอาสถานที่ใดสำหรับทำไร่แล้ว จะต้องไปหาหมอชาวบ้านให้ดูวันที่จะไปเริ่มทำไร่ให้ หากไม่ได้รับความสะดวกในการที่จะดำเนินการ หมอชาวบ้านก็จะดูตำราห่วงหรือดูวันจม วันฟู ให้เริ่มทำงานในการที่ไปหาหมอให้ดูวันให้นี้จะต้องนำหมาก ๑ คำ ไปส่งให้หมอ แล้วบอกความประสงค์ให้หมอทราบ หมากคำนี้เป็นเครื่องบูชาครูของหมอ หลังจากที่ตั้งครูแล้วหมอก็กิน เมื่อได้วัน เวลา จากคำบอกเล่าของหมอแล้วรอวันเวลาที่จะไปประกอบพิธีเริ่มทำไร่

        เมื่อถึงวันที่กำหนดไว้ ก็เตรียมหมาก ๑ คำ พลู ๑ ใบ ธูป ๑ ดอก เทียน ๑ เล่ม นำไปยังสถานที่ที่จะทำไร่ในปีนั้น เมื่อไปถึงก็เลือกเอาสถานที่ที่เหมาะสำหรับทำพิธีขอที่จากเจ้าที่ ส่วนใหญ่จะเลือกเอาริมทางที่คนเดินไปมาเห็นได้ชัดเจน วางหมากพลูจุดธูปจุดเทียน นั่งประนมมือแล้วกล่าวขึ้นมีใจความว่า เดชะ นางธรณี กรุงพาลี เจ้าที่ เจ้าทาง เจ้าป่า เจ้าดง นายดำเจ้าดิน นายอินเจ้าป่า เจ้าห้วย เจ้าหนอง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสถานที่นี้ รู้จักชื่อบ้างไม่รู้จักชื่อบ้าง พระอิศวรได้สร้างแผ่นดินไว้ให้มนุษย์ทำมาหากินเพื่อที่จะได้อยู่ ทำบุญให้ทาน ท่านเป็นผู้รักษา เราต้องการที่ที่นี้ทำไร่ข้าวกินชั่วคราว ขอให้ท่านรับเอาเครื่องบวงสรวงเล็กน้อยที่จัดมาในวันนี้ เมื่อรับเอาเครื่องบวงสรวงแล้ว เราจะขอที่ ทำมาหากินในที่นี้ท่านจะว่าอย่างไร เมื่อเสร็จแล้วก็จัดการเริ่มแผ้วถางพอเป็นพิธี ในราว ๑๐-๒๐ ตารางเมตรในที่ ๆ ถางเตียนไว้นี้ให้ใช้ไม้ปักพาดเป็นราว แล้วใช้ไม้ตะขอเกี่ยวไว้ที่ราว จำนวนไม้ขอเท่ากับจำนวนข้าวที่จะใช้เป็นข้าวปลูกคิดเป็นปีบหรือถัง (ดู เครื่องหมายบอกเจตจำนง) เกี่ยวราวไว้ให้คนมองเห็นได้ชัดเจนเมื่อเดินทางผ่านเป็นเสร็จพิธี

        หลังจากขอสถานที่ทำกินตามพิธีแล้ว ในคืนวันนั้นก่อนที่จะนอนให้ตั้งสติ ให้ระลึกถึงสิ่งต่าง ๆ ที่อาราธนาไว้แล้วเมื่อไปทำการขอที่ทำไร่ เมื่อตื่นเช้าขึ้นมาก็พยายามทบทวนดูว่าในคืนที่ผ่านมานี้ได้ฝันว่าอย่างไรบ้าง หากไปขอกันหลาย ๆ คน ก็ถามกันดูเล่ากันฟังแล้วก็ตีความหมายของความฝันว่าจะไปทำไร่ในสถานที่นั้น ๆ จะได้รับอนุญาตจากเจ้าที่ที่บวงสรวงหรือไม่ (ส่วนใหญ่แล้วจะได้) มีข้อที่จะต้องปฏิบัติอะไรบ้างในการที่ไปทำไร่ที่นั้น มักแปลความหมายของความฝันไปในลักษณะที่ทำได้ แต่จะต้องมีเงื่อนไขบังคับก่อนหรือเงื่อนไขบังคับหลัง หรือทั้ง ๒ อย่าง เช่น เมื่อเสร็จแล้วขอกินไก่ขาว หรือกินไก่ทั้งขน หรือขอกินเครื่องบวด (ขนมขาวดำ) หรือทั้ง ๒ อย่างเช่นเมื่อก่อนที่จะลงมือทำขอกินอย่างหนึ่ง เมื่อเสร็จแล้วขอกินอย่างหนึ่งดังนี้เป็นต้น บางครั้งเกี่ยวด้วยข้อที่ผู้ทำจะต้องปฏิบัติ เช่น ห้ามการถ่ายอุจจาระลงในสถานที่ ๆ กำหนดให้ห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องในบริเวณที่ ๆ กำหนดไว้ ผู้ที่จะทำไร่ก็จะต้องรับเงื่อนไขที่ตีความหมายของความฝันออกมาโดยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อผ่านขั้นตอน ๆ นี้แล้วก็เตรียมทำการถางป่า

        การถางป่าเมื่อก่อนถือเป็นงานสำหรับผู้ชาย ผู้หญิงเพียงแต่ให้ความสะดวกในเรื่องจัดข้าวห่อ หรือเตรียมอาหารให้ผู้ชายเท่านั้น ระยะแรก ๆ มักจะเดินทางกลับบ้านหลังจากที่ทำงานตกตอนเย็นในวันหนึ่ง ๆ ตื่นเช้าหลังจากที่รับประทานอาหารเช้าแล้วก็นำมีดพร้าและข้าวห่อไปทำงาน ก่อนจะรับประทานอาหารเที่ยงทุก ๆ ครั้ง มีธรรมเนียมที่จะต้องปฏิบัติกัน เช่น ก่อนที่จะรับประทานอาหารทุก ๆ ครั้งจะต้องแบ่งอาหารที่ติดตัวไปรับประทานนั้นบวงสรวงเจ้าที่เจ้าป่าก่อนเสมอ ในการที่ทำการถางป่านี้ใช้มีดพร้าสับฟันไม้เล็ก ๆ ที่พอจะฟันได้ด้วยมีดพร้า จะต้องฟันตอสั้น ๆ กิ่งขอไม้ที่ล้มลงแล้วจะต้องสับย่อยให้ยุบแน่นพอสมควรเพื่อประโยชน์ในการเผา ในบริเวณที่ทำการถางป่านี้หากไปพบเห็นสิ่งต่อไปนี้คือ ไม้ไผ่ที่แตกออกเป็น ๒ ปาง (ไม้ไผ่ขาคีม) ต้นไม้ตะเคียนใหญ่ ๆ ต้นไม้ตะลุมพอใหญ่ ๆ หรือสิ่งอื่นใดที่สงสัยว่าเป็นสถานที่ที่อยู่ที่เล่นของผี สิ่งที่ตีความหมายออกมาจากความฝันด้วย ดินปลวกที่มีรอยวัวป่าเลียกิน ภาษาถิ่นเรียกว่า “ป่อง” หรือ “โป่ง” ในแอ่งน้ำที่มีรอยสัตว์ป่าลงแช่ปลัก ภาษาถิ่นเรียกว่า “ตราบ” หรือ “ปราบ” ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนแต่มีผีเป็นเจ้าของที่ ใครจะไปแตะต้องง่าย ๆ ไม่ได้หากไม่มีความรู้ในทางไสยศาสตร์ที่เชื่อว่าจะป้องกันตัวได้ นอกจากสิ่งที่กล่าวมาแล้วอย่างอื่น ๆ ก็มีไปตามความเชื่อถือของท้องถิ่น

        ความเชื่ออื่น ๆ ในเมื่อเริ่มทำไร่มีมาก เช่น เมื่อผู้ชายไปทำงานคนที่อยู่ทางบ้านจะนั่งขวางประตูบ้านไม่ได้ ภรรยาอยู่ที่บ้านจะคบชู้สู่ชายไม่ได้ ทั้งหมดนี้จะเป็นอันตรายแก่ผู้ที่ไปทำงาน สำหรับผู้ที่ไปทำงานห้ามพูดจาทะลึ่งซึ่งกันและกัน ห้ามผิวปากในป่า (เสือจะมาหา) ห้ามเป่าปี่ (ผีถือว่าด่า) มีเสียงคนเรียกถ้าไม่แน่ใจว่าเป็นใครหรือไม่เห็นตัวห้ามขานรับ ถ้าหากได้ยินเสียงแปลก ๆ ห้ามทักทาย เมื่อเริ่มลงมือทำไร่ ห้ามตัดผมและเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดทำงานจนกว่าจะเสร็จการทำไร่ (กลัวผีจะแปลกและจะแกล้งให้ไม้ล้มทับตาย) ทั้งหมดนี้เป็นข้อปฏิบัติที่จะต้องถือเคร่งครัด ช่วงระยะก่อนที่จะได้ทำการปลูกข้าว

        หลังจากที่ทำการถางไม้ขนาดที่ถางด้วยมีดพร้าหมดแล้ว ขั้นต่อไปก็เป็นเรื่องการโค่น หมายถึงการโค่นไม้ขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถถางด้วยมีดพร้าได้ (ดู โค่นไม้

        มีประเพณีอันหนึ่งที่ถือสืบต่อกันมาคือ ถ้าเป็นวันธรรมสวนะจะต้องหยุดถางป่าทำไร่เพื่อไปวัดทำบุญ หลังจากที่ทำการโค่นป่าแล้ว ต้องสับฟันกิ่งไม้ที่ทำการโค่นลงแล้วให้ยุบแน่นเหมาะที่ไฟจะติดได้ดี ซึ่งชาวไร่เรียกงานตอนนี้ว่า “ตรำพา” หลังจากที่ทำการตรำพาทั่ว ๆ ไปจนเป็นที่พอใจแล้วก็หยุดการทำไร่ติดต่อกันชั่วระยะหนึ่ง เพื่อรอโอกาสให้กิ่งไม้และใบไม้แห้งผุลงบ้าง ภาษาชาวไร่เรียกงานตอนนี้ว่า “ตากพา”

        หลังที่ทำการตากพาเป็นเวลาที่สมควรจะเผาได้ก็จะจัดการเผา หากการตากพาเวลาสั้นเกินก็เผาไม่ค่อยไหม้เป็นเหตุที่ลำบากกับการที่จะทำในขั้นต่อ ๆ ไป หากการตากพานานวันเกินไปฝนจะเป็นอุปสรรคในการเผาเรื่องนี้ชาวไร่มักจะเผาป่าในระยะเดือน ๔ ข้างแรม หรือไม่ก็สังเกตดาวว่าวตอนหัวค่ำ หากดาวว่าวเริ่มคล้อยบ่ายเอียงไปเล็กน้อยก็จะต้องจัดการเผาไร่ที่ตากพาไว้ หากช้ากว่าระยะนี้อาจจะเข้าระยะฝนตก การเผาจะไม่บังเกิดผลตามต้องการ ก่อนจะทำการจุดเผาไร่ที่ตากพาไว้ ชาวไร่จะใช้เวลาก่อน ๓ วัน เดินตะโกนรอบไร่ความว่า ผึ้งกา (กิ้งก่าจิ้งจก คางคก จิ้งเหลน มด  แมลง งู เงี้ยว เขี้ยว ตะเข็บ สัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ที่อยู่ในป่าแห่งนี้ขอให้รีบหลีกออกเสีย เราจะทำการเผาป่าใน ๓ วันที่จะถึงนี้ เมื่อทำการเดินตะโกนไปรอบ ๆ ไร่แล้วก็เว้นระยะไว้ตามเวลาที่เดินตะโกนไปเป็นการแสดงออกถึงความเมตตาและกรุณาต่อสัตว์ เพราะมีความกลัวเกรงต่อบาปกรรมที่จะเกิดขึ้นโดยการหาความสุขให้กับตัว ในระยะ ๓ วัน  ที่เว้นไว้นี้ชาวไร่จะกวาดใบไม้ทางทิศใต้ลมให้เตียนเป็นทางเดินเรียกว่า “ล่องไฟ” เพื่อจะได้วิ่งช่วยไม่ให้ไฟติดลุกลามออกนอกขอบเขตที่ต้องการเป็นการป้องกันไฟไหม้ป่า

        เมื่อกำหนดวันเผาป่าและเตรียมพร้อมที่จะทำการเผา ชาวไร่มักจะวานเพื่อนมาคอยช่วยเหลืออยู่บ้างเพื่อว่าจะได้ช่วยกันยับยั้งไฟเมื่อออกนอกทิศทาง เวลาที่ชาวไร่เลือกทำการเผามักจะเป็นหลังเที่ยงวันเล็กน้อย เวลานี้ชาวไร่เรียกว่า “เงาลอดขอน” คือ เงาของขอนเริ่มจะคล้อยเลยขอนไปทางทิศตะวันออกหรือประมาณ ๑๕.๐๐ นาฬิกา การจุดไฟครั้งแรกที่จะต้องเริ่มจุดเป็นระยะ ๆ โดยใช้คบเพลิงเดินจุดทางทิศใต้ของลม ทั้งนี้เพื่อที่จะให้ไฟลุกลามไปช้า ๆ มีวิธีสังเกตว่าการเผาไหม้ดีมากน้อยเท่าไร โดยที่อาศัยสีของควันไฟ หากควันไฟสีขาวการเผาไหม้จะไม่ดี หากควันไฟสีดำหรือค่อนข้างจะดำก็แสดงว่าการเผาไหม้ดี หลังจากที่ทำการเผาไร่แล้วจะทิ้งระยะไว้รอให้ฝนเริ่มตก

        ในระยะที่กำลังคอยฝนนี้ เพื่อไม่ให้เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ชาวไร่จะใช้ผักบางชนิด ปลูกและหว่านไว้ก่อน เช่น ผักกาด ผักขม ผักเสี้ยน ผักชีล้อม บางคนก็ปลูกข้าวโพดลงไว้ด้วย หรือไม่ก็เป็นบวบ บอน ถั่ว มะเขือ สิ่งเหล่านี้เมื่อได้รับฝนเพียงเล็กน้อยในครั้งแรกก็สามารถที่จะงอกขึ้นมาได้ โดยที่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรดน้ำดายหญ้าให้

        เมื่อฝนเริ่มตกในราวเดือน ๗ ชาวไร่ก็เริ่มทำไร่ต่อ การทำไร่ในตอนนี้จะมีสมาชิกในครอบครัวเท่าที่จะช่วยกันได้ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เด็กเล็กเด็กใหญ่จะไปปรากฏตัวอยู่ในไร่ด้วยกัน เพราะงานในตอนนี้เด็กก็พอมีทางช่วยกันทำได้ เครื่องมือในการใช้ทำไร่ตอนนี้มีมีดพร้า ขวาน เรียกงานตอนนี้ว่า “เก็บปรน” งานที่ทำก็มีการเก็บไม้ที่ไฟไหม้ไม่หมดไปรวมกันเผาใหม่ โดยมากจะเก็บไปรวมเผาบนจุดที่ไฟไหม้ไม่ดีพอ เช่น บนตอไผ่หรือที่เรียกตามภาษาชาวไร่ว่า “ดิบ” หลังจากเผาไหม้เป็นถ่านไฟแล้วใช้เครื่องมืออย่างหนึ่งที่กล่าวแล้วคือ “ไม้หฺมฺรูน” ลากดันกองถ่านกระจายออกทางทิศที่มีหญ้ามาก ๆ หลังจากเก็บปรนทั่ว ๆ ไปแล้ว ก็เริ่มดายหญ้านำไปรวมเผาในลักษณะปรนอีกครั้ง เมื่อผ่านงานตอนนี้แล้วพื้นไร่จะเตียนไม่มีหญ้า จะเห็นก็แต่ตอไม้ที่เกะกะเท่านั้น ถึงตอนนี้ชาวไร่ก็สามารถที่จะตัดผมเปลี่ยนผ้าชุดใหม่ได้ ถึงตอนนี้ก็มีประเพณีที่จะต้องถือเพิ่มขึ้นอีกสำหรับทุก ๆ คนที่เข้าไปในบริเวณไร่ คือ ห้ามใช้มีดพร้าหรือขวานสับฟันติดไว้ที่ตอไม้ในไร่ เพราะถ้าทำเช่นนี้เชื่อกันว่าจะเกิดอุบัติเหตุ ตอไม้จะตำเท้า ห้ามขึ้นขย่มขอนหรือไม้ในไร่ ห้ามลากไม้หรือหวายเข้าในเขตบริเวณไร่ เพราะเชื่อกันว่าทำเช่นนี้ช้างป่าจะเข้ากินพืชในไร่ ห้ามพูดหมิ่นประมาทพวกสัตว์ต่อไปนี้คือ เสือ ช้าง ลิง ซึ่งเชื่อกันว่าหากพูดแล้ว สัตว์เหล่านั้นจะมาทำร้ายคนและพืช เพราะสัตว์เหล่านี้มีปีศาจคอยดูแลรักษา การที่กระทำดังนั้นจะเป็นเหตุให้ปีศาจที่รักษาอยู่โกรธเคืองจะบันดาลให้สัตว์นั้นมาทำร้ายเอาได้

        งานไร่เมื่อผ่านขั้นตอนมาถึงตอนนี้แล้วก็จัดการปลูกข้าว ซึ่งภาษาชาวไร่เรียกว่า “น่ำข้าว” (ดู น่ำข้าว

        หลังจากที่ได้ทำการน่ำล่วงไปแล้วต้องคอยเฝ้าดู เพราะตอนนี้จะมีพวกนกเขามาขุดกินข้าวที่ปลูกไว้ เจ้าของไร่ต้องคอยไล่อยู่จนกว่าข้าวจะงอกพ้นระยะที่นกเขาจะขุดกินได้ นอกจากนกเขาแล้ว ไก่ป่าก็เป็นศัตรูอันสำคัญในช่วงนี้ เจ้าของไร่จะต้องตื่นเช้ากลับเย็นจนกว่าจะหมดเวลาหากินของสัตว์พวกนี้

        การดูแลรักษาข้าวไร่ เมื่อข้าวเริ่มจะงอกยาวขึ้น ระยะนี้ข้าวจะเริ่มเป็นโรค เจ้าของไร่ก็ต้องคอยเอาใจใส่แก้ไขตามหลักวิชาของชาวไร่

        โรคของข้าวในไร่ที่มักจะรู้จักกันดีในหมู่ชาวไร่มี

        (ก) โรคพยาธิหัวหมัด จะมีลักษณะใบข้าวเริ่มตายลงมาจากปลายใบลงมาถึงโคนใบ โรคชนิดนี้มักจะเกิดเป็นหย่อม ๆ ในหมู่ข้าว หากไม่ทำการแก้ให้หายข้าวก็จะไม่ออกรวง วิธีแก้โรคนี้ ชาวไร่โบราณนิยมไปหาหมอชาวบ้านเล่าอาการของโรคให้หมอฟัง หมอจะเสกน้ำมนต์ด้วยคาถา “ปัดพยาธิ”ให้เจ้าของไร่ก็นำน้ำมนต์มาพรมต้นข้าวที่เป็นโรค วิธีนี้ปรากฏว่าได้ผล แม้ปัจจุบันก็ยังมีชาวไร่นิยมใช้กันอยู่

        (ข) พยาธิใบหมาก ลักษณะใบข้าวจะเริ่มเหลืองเป็นจุด ๆ ถ้าแก้ไม่ตกข้าวจะไม่เจริญ หากปล่อยไว้จนข้าวออกรวงเมล็ดข้าวจะลีบเป็นส่วนมาก วิธีการที่ชาวไร่แก้ไขโรคนี้ใช้ใบของหมากนำไปปักไว้บริเวณที่ข้าวเป็นโรคปรากฏว่าได้ผล แม้ในปัจจุบันก็ยังนิยมใช้กัน

        (ค) ตัวเพลี้ย พยาธิมีลักษณะที่มองเห็นเป็นตัวหนอน กินและดึงใบของข้าว ทำให้การเจริญของข้าวชะงัก วิธีแก้ไขใช้กิ่งไม้อย่างหนึ่งเรียกว่า “ไม้ค่างเต้น” นำไปปักในบริเวณที่โรคระบาดปรากฏว่าได้ผล ในปัจจุบันนี้ชาวไร่ที่ไม่นิยมใช้ยาปราบศัตรูพืชยังคงนิยมใช้กันทั่วไป

        งานสำคัญชิ้นหนึ่งของการทำไร่ข้าว ที่เจ้าของไร่จะต้องระดมกำลังเท่าที่มีอยู่ช่วยกันทำคือ การดายหญ้าที่กำลังงอกแย่งอาหารของข้าว นอกจากหญ้าชนิดต่าง ๆ แล้วก็เป็นจำพวกกิ่งและใบไม้ที่แตกงอกจากตอไม้ เจ้าของไร่ก็ต้องคอยปลิดหักออกไม่ให้แย่งอาหารของข้าวได้ เรียกว่า “ทำหญ้าข้าว” ในระยะนี้หากมีการพบเห็นว่าข้าวต้นใดตายหรือไม่งอกจะต้องจัดการแบ่งจากกอที่มีมากต้นมาปลูก งานนี้มักจะจัดทำในวันที่เชื่อกันว่าจะมีฝนตก งานตอนนี้ชาวไร่เรียกว่า “ซ่อมข้าว”

        เมื่อข้าวเริ่มตั้งท้องจะออกรวงศัตรูของข้าวก็เพิ่มขึ้น คือ พวกสัตว์ป่า ได้แก่ ลิง ซึ่งมี ๓ ชนิดด้วยกันคือ ลิงเล็ก ลิงเสน ลิงหางกง (หรือหางกังหรือนาคบุตร) ลิงทั้ง ๓ ชนิดนี้มีจำนวนเป็นฝูง ๆ ซึ่งแต่ละฝูงอาจมีจำนวน ๓๐-๔๐ ตัว หากเผลอให้ลิงพวกนี้เข้าฉีกท้องข้าวกินเพียงชั่วโมงเดียว ความเสียหายก็มาก ศัตรูของข้าวประเภทสัตว์ป่าจะเพิ่มชนิดขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ช้าง กวาง หมูป่า ไก่ป่า นกทุกชนิดที่กินพืชเป็นอาหาร หนู ปลวก กระรอก กระแต ตอนนี้ชาวไร่จะทิ้งไร่ไม่ได้ ชาวไร่จะปลูกขนำขึ้นกลางไร่ เรียกว่า “หนำเฝ้านก” หรือ “หนำนก” เจ้าของไร่จะต้องผลัดเปลี่ยนกันอยู่ประจำ กลางวัน อาจเป็นเด็กหรือผู้หญิง ตกค่ำคืนมักเป็นผู้ชาย วิธีการที่ชาวไร่ใช้ในระยะนี้มี

        (ทำแร่ง หรือ ทำแล่ง คือการนำสิ่งที่จะเกิดเสียงได้ง่าย เช่น ปี๊บเก่า ๆ ที่ไม่ใช้แล้วผูกไม้ทำเป็นลูกตีไว้ด้านใน นำไปแขวนให้ปากคว่ำห้อยไว้ตามจุดที่สงสัยว่าอาจมีสัตว์ออกมาทำอันตรายข้าวได้ แล้วผูกเชือกโยงมาที่หอคอยหรือขนำเฝ้านก เมื่อถึงคราวจะใช้ก็กระตุกเชือกแร่งก็ดัง เกิดเสียงไล่สัตว์ให้หนีไป

        (ทำกับ ใช้ไม้ไผ่ทั้งลำตัดเป็นท่อน ๆ ขนาดท่อนละประมาณ ๒ เมตร ผ่าให้แตกออก ๒ ซีกเพียงครึ่งท่อนที่สุดของรอยแตกที่เกิดจากการผ่า บากให้เป็นซี่ฟากขนาดประมาณ ๑ ฟุตทั้ง ๒ ข้าง ช่วงบนยังคงเป็นรูปเดิม ใช้เชือกผูกที่ตำแหน่งที่เป็นซี่ฟาก นำไปปักเอาส่วนที่ไม่แตกลงกับพื้นโยงสายมารวมกันที่หนำนก เมื่อเห็นสัตว์มาจะกินข้าว ก็ดึงสายเชือกให้กับดังขึ้น สัตว์ก็จะหนีไป

        กับนี้บางท้องถิ่น เช่น อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียกว่า “แร่ง” หรือ “แล่ง” ด้วย

        (ทำแพ้ว หรือ แพว ทำโดยใช้ใบไม้ เช่น ใบหวาย ใบหมาก ผูกให้มีลักษณะคล้ายคน หากมีเสื้อผ้าขาด ๆ ที่ไม่ใช้แล้วก็สวมให้แพวหรือหุ่นนี้ได้บ้างก็ยิ่งเป็นการดี นำไปแขวนไว้ในที่ ๆ นกหรือสัตว์ออกมากินข้าว การทำงานของแพ้วไม่ต้องใช้สายโยงมาที่หอคอย เมื่อลมพัดแพ้วหรือหุ่นนี้จะมีท่าทางไหว ๆ คล้ายกับตะเพิด นกหรือสัตว์อื่นก็กลัว

        (ใส่สาบ หมายถึงนำสิ่งที่มีกลิ่นซึ่งทำให้สัตว์บางชนิดได้กลิ่นแล้วหนีไปวางไว้

        เชื่อกันว่าหากมีสัตว์มากัดกินข้าวอย่าได้ออกชื่ออาฆาตหรือใช้คำพูดสบประมาทต้องพูดกล่าวแต่ถ้อยคำที่ดี ๆ หรือปรารภในลักษณะขอร้อง

        ถ้าหากหมูป่ามากินข้าวให้บนบานเจ้าที่ให้ช่วยคุ้มกันรักษาพร้อมกับให้ทานบนว่า หลังจากเกี่ยวข้าวเรียบร้อยแล้วจะบวงสรวงเซ่นไหว้ด้วยสิ่งใดก็ระบุไป เมื่อผ่านพ้นไปแล้วหากเห็นผลก็ต้องแก้บนกันจริง ๆ มิฉะนั้นเชื่อว่าจะเกิดโทษ

        หากตัวหนูป่าจำนวนมากมากัดกินข้าวในไร่ ชาวไร่จะบน “ท้าวเจ็ดหมูน” ให้ช่วยยับยั้งอย่าปล่อยให้หนูมากัดกินข้าว โดยการบนบานจะตั้งเครื่องบวงสรวงหลังจากที่ได้เกี่ยวข้าวล่วงไปแล้ว

        หากตัวปลวกกัดกินข้าวไร่ ชาวไร่จะบนบาน “ท้าวเจ็ดคุก” ขอให้ช่วยยับยั้งตัวปลวกกัดกินข้าว โดยสัญญาจะเซ่นสรวงด้วยเครื่องบูชาหลังจากเกี่ยวข้าวแล้วเช่นกัน

        หากลิงป่าลงกินข้าว ชาวไร่จะบนบาน “พระยาชมภู”

        หากช้างป่าเข้ากินข้าวในไร่ จะเป็นช้างตัวเดียวหรือช้างทั้งโขลงก็ตาม ชาวไร่จะบนบาน “หมอเฒ่าเจ้าช้าง” ทานบนที่หมอเฒ่าเจ้าช้างรับต่างกับพวกอื่น ๆ คือจะต้องบนให้กินข้าวต้ม ๑ หาม หลังจากที่เกี่ยวข้าวผ่านไปแล้ว (เมื่อเวลาแก้บนชาวไร่จะต้มข้าวเพียงถ้วยเดียวแล้วช่วยกันหามไปแก้บน)

        เมื่อรวงข้าวเริ่มสุกก่อนการเก็บเกี่ยวจะต้องทำพิธีรวบขวัญข้าวเสียก่อน (ดู รวบขวัญข้าวและเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวหมดไร่แล้ว จึงจะเกี่ยวที่ข้าวขวัญเป็นอันเสร็จการเก็บเกี่ยว (สนิท พลเดช) 

ชื่อคำ : ทำข้าวไร่
หมวดหมู่หลัก : เศรษฐกิจ และวิทยาการ
หมวดหมู่ย่อย : เกษตรกรรม การเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ การชลประทาน
ชื่อผู้แต่ง : สนิท พลเดช
เล่มที่ : ๗
หน้าที่ : ๓๗๕๙