ทะเลสาบสงขลา

สภาพทั่วไปของทะเลสาบสงขลา

         ทะเลสาบสงขลา เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดสงขลาและจังหวัดพัทลุง ในตำแหน่งลองจิจูด ๑๐๐ องศา ๔ ลิปดาตะวันออก และละติจูด ๗ องศา ๕ ลิปดาเหนือ ปากทะเลสาบติดต่อกันกับอ่าวไทยในเขตอำเภอเมืองสงขลา และอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ระดับน้ำลึกประมาณ ๑-๒ เมตร ลักษณะตอนกลางเป็นที่ลุ่มต่ำคล้ายท้องกระทะ มีลำคลองหลายสายไหลลงทะเลสาบแห่งนี้ ความเค็มของน้ำมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งนี้เนื่องจากน้ำมีการผสมกับน้ำทะเลที่เอ่อเข้ามาเป็นระยะ ๆ

         ทะเลสาบสงขลามีพื้นที่ประมาณ ๑,๐๔๒.๖ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๖๕๐,๓๗๕ ไร่ ความกว้างจากทิศตะวันตกไปตะวันออก ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ส่วนความยาวจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ ประมาณ ๗๕ กิโลเมตร แบ่งออกเป็น ๓ ตอน คือ ทะเลสาบตอนล่าง ทะเลสาบตอนบน และทะเลน้อย

         ทะเลสาบตอนล่าง มีพื้นที่ ๑๘๕.๘ ตารางกิโลเมตร ความลึกโดยเฉลี่ย ๑.๕ เมตร แหล่งน้ำตอนนี้มีลักษณะเป็นน้ำเค็มและน้ำกร่อย มีอาณาเขตตั้งแต่ช่วงปากทะเลสาบไปจนถึงช่องแคบปากรอ

         ทะเลสาบตอนบน หรือที่เรียกกันว่าทะเลหลวง มีพื้นที่ประมาณ ๘๒๙.๖ ตารางกิโลเมตร ความลึกโดยเฉลี่ย ๒ เมตร ปริมาณน้ำประมาณ ๑,๑๘๐ ล้านลูกบาศก์เมตร (ในเดือนมีนาคม) ในแหล่งน้ำส่วนนี้ตอนเหนือสุดจะเป็นน้ำจืดตั้งแต่เขตอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ลงมาจนถึงช่องแคบปากรอเป็นน้ำกร่อย

         ทะเลน้อย เป็นแหล่งน้ำที่อยู่คนละส่วนกับทะเลสาบ แต่มีลำคลองน้ำจืดสายหนึ่งเชื่อมต่อแหล่งน้ำทั้งสองเข้าด้วยกัน มีเนื้อที่ประมาณ ๒๗.๒ ตารางกิโลเมตร ความลึกโดยเฉลี่ย ๑.๕ เมตร ปริมาณน้ำประมาณ ๔๔ ล้านลูกบาศก์เมตร (ในเดือนมีนาคม) เป็นทะเลสาบน้ำจืดมีพืชน้ำนานาชนิดขึ้นทั่วไป รอบ ๆ เป็นป่าพรุผืนใหญ่เรียกกันว่า “พรุควนเคร็ง” มีพื้นที่ถึง ๑๙๕,๕๔๕ ไร่ อยู่ในเขตรอยต่อของจังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา และจังหวัดนครศรีธรรมราช

         ลักษณะทางนิเวศวิทยาของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ จะมีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละตอน ทั้งนี้เพราะพื้นที่และดินฟ้าอากาศแตกต่างกัน น้ำในทะเลสาบก็เปลี่ยนแปลงทดแทนกันได้รวดเร็ว เนื่องจากมีลำคลองส่งน้ำจืดมาหล่อเลี้ยงมากมาย และมีลักษณะเป็นทะเลสาบเปิดมีทางออกติดต่อกับอ่าวไทย ดังนั้นทะเลสาบตอนเหนือสุดและทะเลน้อยจึงมีลักษณะเป็นน้ำจืด ความเค็มของน้ำจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับจนถึงปากทะเลสาบ

         เนื่องจากปริมาณน้ำจืดเกือบทั้งหมดที่ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา มาจากลำคลองหลายสายในเขตจังหวัดพัทลุงและสงขลาลงสู่ทะเลสาบตอนบนและตอนกลาง ดังนั้นปริมาณน้ำจืดจากทะเลสาบที่ไหลลงสู่อ่าวไทยจะมีปริมาณมากน้อยเท่าใดจึงขึ้นกับปริมาณน้ำจืดในลำคลองต่าง ๆ ซึ่งมีแหล่งสำคัญ คือ น้ำฝน ปริมาณฝนตกในบริเวณโดยรอบทะเลสาบสงขลา ซึ่งมีผลอย่างยิ่งต่อปริมาณน้ำจืดในทะเลสาบสงขลา

         รอบ ๆ ทะเลสาบจะมีฝนตกโดยเฉลี่ยประมาณ ๔๐๐ มิลลิเมตรต่อเดือน (ตุลาคม-ธันวาคม) ปริมาณฝนตกน้อยที่สุดในช่วงฤดูแล้ง (กุมภาพันธ์-เมษายน) ประมาณ ๗๐ มิลลิเมตรต่อเดือน ดังนั้น ปริมาณน้ำจืดในทะเลสาบจะมีปริมาณมากที่สุดในฤดูฝนและน้อยที่สุดในฤดูแล้ง ส่วนช่วงเวลาที่เหลือเป็นเวลาที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนมรสุมมีฝนตกปานกลางประมาณ ๑๐๐ มิลลิเมตรต่อเดือน แหล่งหรือที่มาของน้ำในทะเลสาบมีด้วยกัน ๓ ลักษณะคือ ในรูปของน้ำฝนที่ตกลงสู่ทะเลสาบโดยตรง น้ำท่า และน้ำใต้ดิน เนื่องจากทะเลสาบสงขลาตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศ จึงมีโอกาสที่จะรับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ปริมาณฝนโดยเฉลี่ยในพื้นที่แถบนี้ค่อนข้างสูง โดยมีปริมาณฝนตกหนักในเดือนตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม และน้อยที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ปริมาณฝนของทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกโดยเฉลี่ยประมาณ ๒,๐๐๐ มิลลิเมตรต่อปี หรือคิดเป็นปริมาณฝนที่ตกลงสู่ทะเลสาบโดยตรงประมาณ ๒,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

         ฝนที่ตกลงสู่พื้นดินในที่ต่าง ๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำนั้น เมื่อดินดูดซึมไว้เต็มที่แล้ว น้ำที่เหลือส่วนหนึ่งก็จะไหลผ่านไปบนพื้นผิวดินลงสู่ที่ลุ่ม แม่น้ำลำคลองและไหลลงสู่ทะเลสาบในรูปของน้ำท่าอีกไม่น้อยกว่าปีละ ๑,๘๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีทุกปี อีกส่วนหนึ่งนั้นก็ยังมีแหล่งน้ำใต้ดินซึ่งเกิดจากการไหลของน้ำผิวดิน หรือน้ำท่าลงไปเก็บขังอยู่ใต้ผิวดิน น้ำใต้ดินนี้จะค่อย ๆ ไหลลงสู่ทะเลสาบมากน้อยเป็นไปตามฤดูกาล แต่มีปริมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับแหล่งที่มาจากน้ำฝนและน้ำท่า จนอาจถือได้ว่าไม่มีอิทธิพลโดยตรงต่อปริมาณน้ำในทะเลสาบแต่อย่างใด ในด้านความจุของน้ำในทะเลสาบนั้นมีอยู่โดยเฉลี่ยประมาณ ๑,๖๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำที่ระเหยไปจากทะเลสาบตลอดปีเฉลี่ยประมาณ ๗๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร

         ทะเลสาบสงขลามีความลึกประมาณ ๑.๕-๒.๕ เมตรตลอดทั้งปี โดยความลึกในแต่ละเดือนของ ๒ ปี (พ.ศ. ๒๕๒๐ และ พ.ศ. ๒๕๒๑) มีความแตกต่างกันในบางเดือน ทะเลสาบตอนล่างจะลึกที่สุด ส่วนทะเลสาบตอนกลางจะตื้นที่สุด โดยมีค่าความลึกสูงสุดถึง ๙.๐๙ เมตร และตื้นที่สุด ๐.๕๔ เมตร

         ระดับน้ำขึ้นน้ำลงในทะเลสาบสงขลาค่อนข้างแคบแตกต่างอยู่ระหว่าง ๕๐ เซนติเมตร การไหลของน้ำในทะเลสาบสงขลาขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงสู่ทะเลสาบอย่างมากดังกล่าวแล้วข้างต้น Limpadanai (ค.ศ.๑๙๗๗) อ้างถึงข้อมูลจากกรมเจ้าท่าพบว่าปริมาณน้ำทั้งหมดที่ไหลออกจากทะเลสาบ สงขลาลงสู่อ่าวไทย ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ มีจำนวน ๑๒.๐๔๕ ล้านลูกบาศก์เมตร ด้วยอัตราไหลระหว่าง ๐-๒,๕๔๕ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากการไหลในอัตรานี้ เขาพบว่าจะทำให้อัตราการตื้นเขินของทะเลสาบสงขลาช้าลงกว่าที่ควรจะเป็น แต่ในเดือนมีนาคม กรกฎาคม กันยายน และตุลาคม ซึ่งน้ำจืดในทะเลสาบมีปริมาณน้อย ขบวนการกลับกันจะเกิดขึ้น คือ น้ำทะเลจากอ่าวไทยจะไหลเข้าสู่ทะเลสาบสงขลา จำนวน ๒,๑๖๔, ๑๕๔, ๑,๓๒๘ และ ๙๕๘ ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้มีการพัดพาตะกอน ๙๓,๔๔๔ ตัน เข้ามาภายในทะเลสาบสงขลา

         ทะเลสาบสงขลาเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็มติดต่อกัน เป็นแหล่งทำการประมง และให้อาหารโปรตีนแก่ชุมชนโดยรอบที่อุดมสมบูรณ์มาแต่โบราณ

         หลักฐานแผนที่ลึกลงไปถึง พ.ศ. ๒๒๒๙ (ค.ศ.๑๖๘๖) ซึ่งเป็นสมัยที่ชาวฝรั่งเศสได้เดินทางเข้ามาในพระราชอาณาจักรและได้จัดทำแผนที่อาณาจักรสยามขึ้นในปี พ.ศ. ๒๒๒๙ แสดงให้เห็นถึงเกาะ Pulo Tantalam ยังแยกเป็นเกาะเล็กเกาะน้อย จำนวน ๕ เกาะด้วยกัน โดยมีเกาะใหญ่ที่สุดอยู่ทางทิศเหนือของหมู่เกาะ อยู่นอกฝั่งเมืองลิกอร์ออกไปมีชื่อในแผนที่ว่า I.Goete Inficos และหมู่เกาะขนาดเล็กลงมาจำนวน ๔ เกาะ อยู่ทางใต้ใกล้กับเมือง Singora (Office of the Prime Minister, Thailand, 1979)

         รายงานการวิจัยสนองพระราชประสงค์เรื่องนครศรีธรรมราช ของสภามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (พ.ศ.๒๕๔๐) สรุปได้ว่าบริเวณพรุควนเคร็งเคยเป็นจุดผ่านของเส้นทางน้ำสายในระหว่างนครศรีธรรมราช-พัทลุง-สงขลา ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ เป็นเส้นทางที่มีพ่อค้าและเรือเดินทะเลของชาวจีนผ่านเข้าออกและมีหลักฐานว่า

         จนถึง พ.ศ.๒๓๙๓ มีผู้เดินทางจากนครศรีธรรมราชไปยังพัทลุง และสงขลาโดยใช้เส้นทางน้ำสายนี้ คือ เอฟ เอ นีล (F.A. Neale) ได้บรรยายว่า เดินทางผ่านขนอมท่ามกลางสภาพลมดี แล่นใบตรงไปทางขวาเพื่อเข้าไปยังช่องแคบระหว่างนครศรีธรรมราชและเกาะทันทาเลม ที่บางแห่งค่อนข้างอันตรายด้วยมีโขดหิน แต่คนนำร่องเคยเดินทางผ่านมาก่อนด้วยเรือเล็กจึงได้อาสาเป็นผู้นำเรือผ่านเข้าไป ทิวทัศน์สองข้างนั้นน่าชม ที่ฝั่งเมืองนครศรีธรรมราชเห็นทิวเขาสูงใหญ่เด่นสง่า ซึ่งตรงกันข้ามกับอีกฟากที่เป็นที่ลุ่มอันอุดมสมบูรณ์ของเกาะทันทาเลม จากนั้นจะถึงปากน้ำเมืองพัทลุงและราว ๔ โมงเย็นเราก็มาถึงนอกเมืองสงขลา” 

         จากบทความของ ดร. กี เทรบุยส์และคณะ ได้ชี้ให้เห็นความเป็นไปของช่องแคบดังกล่าวนี้ที่บันทึกโดยนักเดินทางต่างประเทศ อีก ๔๗ ปีต่อมาหลังจากการเดินเรือของนีล คือเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ Waryngton Smith ได้พยายามใช้เส้นทางนี้เช่นกัน แต่เรือเดินสมุทรผ่านไม่ได้

         การตกตะกอนบริเวณดังกล่าวคงเปลี่ยนสภาพปากคลองระโนดจนเกิดชายฝั่งทะเลปิดกั้นให้ห้วงน้ำระหว่างเกาะ Tantalem กับแผ่นดินตอนใต้ของเมืองนครศรีธรรมราชกลายเป็นทะเลสาบอย่างสมบูรณ์หลังจาก Neale เคยเดินทางผ่านไม่นานนัก ดังจะเห็นได้จากพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ที่ทรงบันทึกไว้เมื่อคราวเสด็จสงขลาในปี พ.ศ.๒๔๒๗ ปรากฏว่าบริเวณนี้เรียกกันว่าทะเลสาบแล้ว ดังข้อความว่า ร่องที่จะตัดไปทะเลสาบ ต้องออกจากแหลมเขาเขียวไปตามทะเลสาบ ถึงปากคลองปากรอ เป็นคลองช่องแคบที่จะไปออกทะเลสาบพัทลุง ปากคลองปากรอนั้นกว้างประมาณ ๕ เส้น ในลำคลองไปถึงทะเลสาบพัทลุงประมาณ ๔๐๐ เส้น แต่ในทะเลสาบสงขลานี้ ตั้งแต่เขาเขียวไปถึงคลองปากรอประมาณ ๔๐๐ เส้น คิดตามกว้างประมาณ ๒ ศอก ร่องกว้างประมาณ ๒๐-๓๐ วา นอกนั้นน้ำประมาณศอกทั้งสิ้น เวลาน้ำขึ้นน้ำลงประมาณศอกเศษ มีหาดทรายกลางทะเลผุดหลายแห่ง เวลาน้ำมากเดือน ๑๒ เดือนอ้ายน้ำท่วมตลิ่ง น้ำในทะเลสาบถึง ๔ ศอก น้ำจืดตลอดทะเลสาบแล แม่น้ำตลอดออกมาจนถึงเรือจอดที่อ่าวเมืองสงขลา

         จากหลักฐานดังกล่าวแล้ว น่าจะเป็นไปได้ว่าเดิมทะเลสาบสงขลายังมีลักษณะเป็นอ่าวขนาดใหญ่ที่ติดต่อกับอ่าวไทย โดยมีเกาะขนาดใหญ่กว้างกั้นปากอ่าวอยู่ ทำให้อ่าวดังกล่าวมีลักษณะคล้ายแม่น้ำขนาดใหญ่ทอดตัวจากเมืองนครศรีธรรมราชเดิมผ่านเมืองพัทลุงไปยังเมืองสงขลาทางด้านใต้ มีทางติดต่อกับอ่าวไทยทางตอนเหนือของอ่าวบริเวณเมืองนครศรีธรรมราช (หรือบริเวณอำเภอปากพนังในปัจจุบัน) และติดต่อกับอ่าวไทยทางด้านใต้บริเวณเมืองสงขลา

         ประมาณปี พ.ศ. ๒๒๒๙ เกาะขนาดใหญ่ กำลังแปรสภาพเกิดขึ้นเป็นหมู่เกาะที่ประกอบด้วยเกาะขนาดเล็ก ๔ เกาะ (อยู่ติดกับเมืองสงขลา) และเกาะขนาดใหญ่ ๑ เกาะ (ติดกับเมืองนครศรีธรรมราชเดิม) ซึ่งต่อมาในเวลาประมาณก่อน พ.ศ. ๒๔๐๐ เกาะทั้ง ๕ ได้รวมกันเป็นเกาะขนาดใหญ่เกาะเดียวอันอาจจะเกิดจากการตื้นเขินของตะกอนปากแม่น้ำที่ไหลมาทับถมบริเวณปากอ่าวและการทับถมได้เกิดต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ จนในระหว่าง พ.ศ.๒๓๘๓ ถึงประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๐ ทำให้หัวเกาะทางทิศเหนือได้ติดต่อกับแผ่นดินใหญ่บริเวณอำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร อำเภอเชียรใหญ่ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอระโนด ของจังหวัดสงขลา โดยเหลือเพียงลุ่มน้ำปากพนังแทรกตัวอยู่ตรงกลางแทนอ่าวเดิมทางตอนเหนือ ทำให้เกิดเป็นสภาพของทะเลสาบสงขลา ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

         ทะเลสาบสงขลาเป็นที่สนใจของนักวิชาการหลายสาขา และผู้รักธรรมชาติโดยทั่วไป นอกจากนี้ทะเลสาบสงขลายังเป็นบริเวณที่เด่นจุดหนึ่งของประเทศที่เป็นแหล่งน้ำใหญ่ที่สุดที่มีการรวมของน้ำทะเลและน้ำจืด ซึ่งมีสภาพทางนิเวศวิทยาทั้งน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็มอยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน (Limpadanai, 1977) ทะเลสาบสงขลายังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชุมชนที่อยู่รอบ ๆ โดยเป็นแหล่งอาหารโปรตีนและแหล่งทำมาหากินของประชากรไม่น้อยกว่า ๗,๕๐๐ ครอบครัวที่อาศัยทรัพยากรจากทะเลสาบทั้งพืชและสัตว์ และเป็นประโยชน์ทางอ้อมแก่ประชากรไม่น้อยกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ครอบครัว

         ลักษณะทางนิเวศน์ของทะเลสาบสงขลา จัดเป็นระบบนิเวศน์เปิด ประกอบด้วยส่วนทะเลสาบสงขลาซึ่งติดต่อกับอ่าวไทย ทะเลหลวงตอนล่าง ทะเลหลวงตอนบนและทะเลน้อย โดยมีพื้นที่ผิวน้ำ ๑๘๕.๘, ๓๕๙.๗, ๔๖๙.๙ และ ๒๗.๒ ตารางกิโลเมตร ตามลำดับ (เทสโก้และคณะ, ๒๕๓๗) ทะเลสาบสงขลาบริเวณใกล้ปากน้ำมีลักษณะเป็นน้ำเค็ม ทะเลหลวงตอนล่างเป็นน้ำกร่อยค่อนข้างเค็ม ในขณะที่ทะเลหลวงตอนบนมีสภาพเป็นน้ำจืด ความเป็นกรด ด่างของน้ำอยู่ในระดับเป็นกลาง และมีการรุกตัวของน้ำเค็มเป็นครั้งคราวในฤดูแล้ง สำหรับทะเลน้อยซึ่งอยู่เหนือสุดติดต่อกับพรุควนเคร็ง มีสภาพเป็นน้ำจืด ความเป็นกรดด่างของน้ำค่อนข้างต่ำ มีพืชน้ำหลายชนิดขึ้นกระจายอยู่ทั่วไป นอกจากนี้แล้วบริเวณเกาะหนู เกาะแมว มีลักษณะที่เป็นเกาะในทะเล พบปะการังบางชนิด พืชน้ำทะเลตลอดจนชนิดของสัตว์น้ำที่แตกต่างจากทะเลสาบสงขลา (ไพโรจน์และคณะ,๒๕๓๙) ในทะเลสาบสงขลา ส่วนที่แคบที่สุดอยู่ที่คลองหลวง บริเวณบ้านปากรอ ซึ่งเชื่อม ติดต่อระหว่างทะเลหลวงตอนล่างและทะเลสาบสงขลา ความกว้างของคลองหลวงประมาณ ๓๐๐ เมตร ลึกประมาณ ๖ เมตร คลองหลวงทำหน้าที่ตามธรรมชาติ คือเป็นส่วนที่กีดขวางไม่ให้น้ำเค็มรุกล้ำเข้าไป ยังต้นเหนือน้ำได้สะดวกและเป็นส่วนที่กีดขวางไม่ให้น้ำจืดและน้ำกร่อยจากด้านเหนือไหลออกสู่ทะเลสาบสงขลาเร็วเกินไป (สุภาพร, ๒๕๓๗) ดังนั้นในช่วงฤดูฝนทะเลหลวงทั้งสองตอนจะเกิดสภาพน้ำท่วมบริเวณ นอกจากนี้การขึ้นลงของระดับน้ำทะเลยังมีอิทธิพลต่อความเค็มของน้ำและการตกตะกอนสะสมในทะเลสาบสงขลา ลักษณะทางกายภาพของระบบทะเลสาบสงขลา พอสรุปได้ดังนี้

         พื้นที่ผิวน้ำ (ทะเลสาบ) ๑,๐๔๒.๖ ตารางกิโลเมตร

         ความลึกเฉลี่ย ๑-๒ เมตร

         ความลึกสูงสุดบริเวณคลองหลวง ๖ เมตร

         ความยาวของทะเลสาบทิศเหนือ

         จรดทิศใต้ ๗๕ กิโลเมตร

         ความกว้างของทะเลสาบทิศตะวันออก

         จรดทิศตะวันตก ๒๐ กิโลเมตร

         (เทสโก้และคณะ, ๒๕๓๗)

ลักษณะทางอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยา

         อุณหภูมิของอากาศในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีค่าค่อนข้างสูงตลอดปี ค่าพิสัยระหว่าง ๒๓.๘-๓๑.๕ เซลเซียสโดยมีค่าเฉลี่ย ๒๗.๕ เซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยร้อยละ ๗๙.๐ พิสัย ร้อยละ ๖๕.๖-๙๒.๐ (สิริและคณะ, ๒๕๒๘) ความเร็วลมโดยเฉลี่ย ๖.๗ นอต สูงสุดในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ประมาณ ๘-๑๐ นอต ซึ่งเป็นระยะมรสุมตะวันออก ปริมาณฝนตกชุกในเดือนตุลาคม-ธันวาคม มากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน จำนวนวันที่ฝนตก เฉลี่ยต่อปี ๑๑๐.๘-๑๑๗.๔ วัน ต่ำสุด ๕๖.๔ วัน และสูงสุด ๑๙๕.๔ วัน (เทสโก้และคณะ, ๒๕๓๗) ปริมาณน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเลสาบต่อปีประมาณ ๗,๘๓๐ ล้านลุกบาศก์เมตร เป็นปริมาณฝน ๒,๓๖๐ ล้านลูกบาศก์เมตร จากลุ่มน้ำทะเลสาบ ๕,๔๗๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำที่ไหลออกจากทะเลสาบลงสู่อ่าวไทยประมาณ ๕,๖๘๐ ล้านลูกบาศก์เมตร โดยความจุของตัวทะเลสาบมีเพียง ๑,๖๘๑ ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง ระดับน้ำขึ้นน้ำลงมีผลกระทบเฉพาะบริเวณทะเลสาบสงขลาระยะห่างจากปากทะเลสาบประมาณ ๗ กิโลเมตร (สิริและคณะ, ๒๕๒๘) ในฤดูมรสุม ตะวันออกสภาพน้ำท่วมเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นประจำ ในบริเวณรอบทะเลสาบ ปกติเกิดในช่วงมีพายุที่ทำให้ฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน น้ำจะท่วมสูงขึ้นถึง ๐.๖๐-๑.๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง บางปีท่วมถึง ๒.๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (เทสโก้และคณะ, ๒๕๓๗) ในฤดูแล้ง ปริมาณน้ำจืดและฝนน้อยลง น้ำเค็มจะรุกตัวเข้าสู่ทะเลหลวงและทะเลน้อย ความเค็มสูงขึ้นถึง ๖ ส่วนใน ๑,๐๐๐ ส่วน (ณรงค์และคณะ, ๒๕๒๙) ในฤดูฝน น้ำในทะเลหลวงจะไหลผ่านคลองหลวงออกสู่อ่าวไทยทางปากทะเลสาบ ความเร็วของน้ำโดยเฉลี่ย ๐.๒๓ เมตรต่อวินาที วัดที่ปากรอ (สุภาพร, ๒๕๓๗) กระแสน้ำในทะเลสาบนอกจากได้ รับอิทธิพลจากน้ำจืดในฤดูฝนแล้ว น้ำขึ้นน้ำลงก็มีส่วนทำให้เกิดกระแสน้ำในทะเลสาบสงขลา โดยพบว่ากระแสน้ำแรงที่สุดที่วัดได้บริเวณท่าเทียบประมงสงขลามีค่า ๑.๒ เมตรต่อวินาที ขณะน้ำขึ้นและค่อย ๆ ช้าลงเมื่อไหลลึกเข้าไปในทะเลสาบ (Sirimontaporn, et.al., 1983),

         คุณภาพน้ำและตะกอน คุณภาพของน้ำในทะเลสาบได้มีการศึกษาข้อมูลโดยหน่วยงานราชการหลายแหล่ง เช่น กรมประมง กรมชลประทาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวโดยสรุปดังนี้

         การนำไฟฟ้า (Electrical Conductivity) น้ำในทะเลสาบมีค่าการนำไฟฟ้าระหว่าง ๓๘-๖๘,๓๕๐ ไมโครโอมห์ต่อเซนติเมตร บริเวณทะเลน้อยมีค่าต่ำสุดโดยเฉลี่ย ๔๖๒ ไมโครโอมห์ต่อเซนติเมตร บริเวณหัวเขามีค่าสูงสุดเฉลี่ย ๔๒,๕๔๘ ไมโครโอมห์ต่อเซนติเมตร โดยทั่วไปค่าการนำไฟฟ้าของน้ำมีค่าสูงในเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม และต่ำสุดระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม เนื่องจากฤดูฝนค่าความเค็มของน้ำในทะเลสาบลดลง (เทสโก้และคณะ, ๒๕๓๗)

         ความเค็มของน้ำทะเลสาบมีความผันแปรมาก ตั้งแต่น้ำจืดจนถึงน้ำเค็มขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ปริมาณน้ำฝน น้ำท่าที่ไหลลงสู่ทะเลสาบและระยะทางห่างจากปากทะเลสาบ โดยทั่วไป บริเวณตอนเหนือของทะเลสาบหรือทะเลน้อย เป็นน้ำจืดมีสภาพความเป็นกรด ด่างของน้ำต่ำระหว่าง ๔.๐-๕.๘ (สุรศักดิ์และคณะ, ๒๕๓๖) ถัดลงมาบริเวณทะเลหลวงตอนบนเป็นน้ำจืดที่มีค่าความเป็นกรดด่างของน้ำระหว่าง ๖.๕-๗.๗ ในบางปีที่ แล้งจัดน้ำทะเลจะรุกตัวเข้าถึงบริเวณนี้ทำให้ความเค็มสูงขึ้นถึง ๓-๖ ส่วนใน ๑,๐๐๐ ส่วน (ณรงค์และคณะ, ๒๕๒๙) ทะเลหลวงตอนล่าง มีสภาพเป็นน้ำกร่อย ความเค็มระหว่าง ๔.๕ ส่วนใน ๑,๐๐๐ ส่วน บริเวณใต้สุดหรือทะเลสาบสงขลามีสภาพเป็นน้ำเค็ม ได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้นน้ำลง ความเค็มค่อนข้างสูง เฉลี่ย ๑๕.๐ ส่วนใน ๑,๐๐๐ ส่วน (ไภษัชย์และเพราพรรณ, ๒๕๒๗) และ บริเวณปากทะเลสาบรวมเกาะหนู เกาะแมว มีสภาพน้ำที่ความเค็มระหว่าง ๒๒.๘-๓๔.๐ ส่วนใน ๑,๐๐๐ ส่วน(ไภษัชย์และคณะ, ๒๕๒๗)

         ความโปร่งแสง (Transparency) มีค่าระหว่าง ๐.๑๕-๒.๑๐ เมตร บริเวณทะเลหลวงตอนบนมีค่า ความโปร่งแสงต่ำ เนื่องจากลมมรสุม คลื่นลมแรง ทำให้น้ำขุ่นอยู่เสมอ ส่วนบริเวณอื่นมีค่าความโปร่ง แสงสูงกว่า ค่าเหล่านี้ถือว่าเป็นสภาพปกติของแหล่งน้ำทั่วไป (เทสโก้และคณะ, ๒๕๓๗)

         ปริมาณสารแขวนลอยในน้ำ ในปี พ.ศ.๒๕๒๙ บริเวณทะเลหลวงตอนบนมีค่าปริมาณสารแขวนลอย เฉลี่ย ๗๐.๐ มิลลิกรัมต่อลิตร ๒๔.๐ และ ๔๖.๖ มิลลิกรัมต่อลิตรในทะเลหลวงตอนล่างและทะเลสาบสงขลาตามลำดับ (สิริและคณะ, ๒๕๒๙)

         ความเป็นกรดด่างของน้ำ ค่าความเป็นกรดด่างของในทะเลสาบระหว่าง ๔.๐-๘.๖ บางพื้นที่ในทะเลสาบมีสภาพเป็นกรด โดยเฉพาะบริเวณทะเลน้อยบางฤดูความเป็นกรดด่างของน้ำลดลงเหลือเพียง ๔ เนื่องจากอิทธิพลของน้ำจากพรุควนเคร็ง ความเป็นกรด ด่างของน้ำจะค่อย ๆ สูงขึ้นตามระยะทางลงมาทางใต้จนถึงปากทะเลสาบสงขลา มีค่าเฉลี่ย ๗.๙๘ เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเล (สุภาพร, ๒๕๓๗)

         ความกระด้างของน้ำ ความกระด้างของน้ำในทะเลสาบมีค่าตั้งแต่ ๑๐-๗,๑๓๕ มิลลิกรัมต่อลิตร จุดที่ความกระด้างน้อยคือบริเวณทะเลน้อยแล้วค่อย ๆ สูงขึ้นสูงสุดที่ปากทะเลสาบสงขลาโดยมีค่าเฉลี่ย ๔,๘๘๗ มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าความกระด้างนอกจากผลของแคลเซียม แมกนีเซียมแล้ว ความกระด้างส่วนหนึ่งได้จากเกลือโซเดียมด้วย (เทสโก้และคณะ, ๒๕๓๗)

         อัลคาลินิตี้ มีค่าระหว่าง ๐-๒๐๒.๒ มิลลิกรัมต่อลิตร โดยเฉพาะตอนเหนือของทะเลสาบมีค่าอัลคาลินิตี้เฉลี่ยต่ำกว่า ๔๐ มิลลิกรัมต่อลิตร อัลคาลินิตี้ส่วนหนึ่งสูญเสียไปเพราะทำปฏิกิริยากับน้ำที่เป็น กรดจากพรุควนเคร็ง (เทสโก้และคณะ, ๒๕๓๗)

         ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำ มีค่าระหว่าง ๔.๑-๘.๔ มิลลิกรัมต่อลิตร แสดงว่าปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อออกซิเจนที่ละลายน้ำอยู่ในภาวะที่เหมาะสม ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ได้แก่ อัตราการสังเคราะห์แสง อุณหภูมิของน้ำ ความเร็วกระแสน้ำ คลื่นลมในทะเลสาบ เป็นต้น (เทสโก้และคณะ, ๒๕๓๗)

พันธุ์พืชและสัตว์น้ำในทะเลสาบ

         แพลงค์ตอนพืช มีความชุกชุมมากทั้งชนิดและปริมาณในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ชนิดที่พบ มากคือ Chaetoceros และ Nitzschia ทั้งในบริเวณทะเลสาบสงขลาและทะเลหลวง ระยะเดือนมีนาคมถึง มิถุนายน พบ Chaetoceros และ Rhizosolenia ในทะเลสาบสงขลา พบ Pediastrum, Spirulina และ Surirella ในทะเลหลวงรูปแบบการเปลี่ยนแปลงทดแทนที่ของแพลงค์ตอนในทะเลสาบสงขลา สามารถอธิบายได้เป็น ๓ คาบในหนึ่งปี คือ คาบที่แพลงค์ตอนน้ำจืดเด่น ประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ความหลาหลายของชนิดลดเหลือเพียง ๒๘ สกุล โดยมีสาหร่ายสีเขียวและสาหร่ายสีน้ำเงิน แกมเขียวเป็นกลุ่มที่มีมากทั้งชนิดและปริมาณ เช่น Scenedesmus, Eudorima, Rhomedium และ Merismopedia เป็นต้น ความเค็มของน้ำลด ต่ำลงเหลือเพียง ๐-๔ ส่วนใน ๑,๐๐๐ ส่วน ทั้งทะเลสาบ คาบที่มีความหลากหลายสูง เป็นช่วงเปลี่ยนฤดูกาลจากปลายฤดูฝนเป็นฤดูร้อนหรือช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ความเค็มของน้ำสูงขึ้นเป็น ๒-๒๐ ส่วนใน ๑,๐๐๐ ส่วน แพลงค์ตอนน้ำจืดลดจำนวนลง ขณะเดียวกันไดอะตอม, ไดโนเฟก เจลเลต และแพลงค์ตอนน้ำเค็มอื่น ๆ จะค่อย ๆ เพิ่มทั้งจำนวนชนิดและปริมาณคาบนี้จะมีความหลากหลาย ของชนิดสูงถึง ๖๒ สกุล คาบที่ไดอะตอมทะเลเป็นกลุ่มเด่น ในช่วงฤดูแล้งระยะเวลา ๗-๘ เดือน ความเค็มของน้ำสูงขึ้น มากกว่า ๒๕ ส่วนใน ๑,๐๐๐ ส่วน ไดอะตอมมีมากทั้งชนิดและปริมาณ ส่วนกลุ่มอื่น ๆ มีน้อยกว่า ความหลาก หลายของชนิด ๓๓-๓๕ สกุล(เสาวภา และAruga, 2537)

         แพลงค์ตอนสัตว์ พบในส่วนทะเลสาบสงขลามี ๑๒ ไฟลัม ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ โปรโตซัว มี ๒๑ สกุล โรติเฟอร์ ๑๘ สกุล Arthropod หลายชนิดรวมทั้ง กุ้ง ปู หอย เป็นต้น แพลงต์ตอนสัตว์มีการแพร่กระจายอย่างสม่ำเสมอ ยกเว้น Lueifer และ Acetes พบบริเวณปากทะเลสาบสงขลา มีปริมาณมากกว่าบริเวณอื่น ๆ มวลชีวภาพของแพลงค์ตอนสัตว์ผันแปรตามฤดูกาลสูงสุดใน ฤดูฝน มีค่า ๑๙-๒๔ x ๑๐๖ ตัวต่อลูกบาศก์เมตร การศึกษาแพลงค์ตอนในทะเลสาบพบว่าปริมาณฝนและน้ำทะเลเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งชนิดและปริมาณ (เสาวภา และ Aruga, 2537)

         พืชน้ำจืดและหญ้าทะเล พื้นที่ผิวน้ำของทะเลสาบ มีพืชน้ำหลายประเภทขึ้นปกคลุมอยู่ประกอบ ด้วย พืชลอยน้ำ พืชพ้นน้ำ และพืชใต้น้ำ พืชน้ำเหล่านี้มีผลต่อความสมดุลของระบบนิเวศน์ ใน ทะเลน้อยพบพืชน้ำ ๔๗ ชนิด เป็นพวกลอยน้ำ ๖ ชนิด พวกมีรากและใบลอยน้ำ ๓ ชนิด พวกจมอยู่ในน้ำ ๑๑ ชนิด และพวกลำต้นโผล่พ้นน้ำอีก ๒๗ ชนิด ที่พบทั่วไปคือผักตบชวา บัวสาย บัวหลวง สาหร่ายหางกระรอก สาหร่ายข้าวเหนียว จอก จอกหูหนู เป็นต้น (สุรศักดิ์และคณะ, ๒๕๓๖ ; Choethip, 1984) ทะเลหลวงพบพืชน้ำที่มีรากยึดดิน และใบลอยปริ่มน้ำที่ชุกชุม เช่น ดีปรีน้ำ สาหร่ายหนาม สาหร่าย หางกระรอก เป็นต้น (Choethip, 1984) บริเวณทะเลสาบสงขลาซึ่งมีน้ำค่อนข้างเค็ม พบสาหร่ายผมนาง หญ้าทะเล สกุล Halodule และ Halophila  การเปลี่ยนแปลงชนิด และปริมาณของพืชน้ำในแต่ละพื้นที่ได้รับอิทธิพลจากความเค็มของน้ำ ความเป็นกรด-ด่างของน้ำ (เสาวภา และ Aruga, 2537)

         องค์ประกอบชนิดของสัตว์น้ำเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล โดยทั่วไปองค์ประกอบชนิดสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาเป็นกลุ่มปลาแป้น (Leiognathidae) ปลาไส้ตัน (Engraulididae) ปลาบู่ (Gobiidae) และจำพวกกุ้ง ปู และกั้ง (ไพโรจน์และคณะ, ๒๕๓๗) ทะเลหลวงตอนล่างพบกลุ่มปลาหลังเขียว (Clupeidae) ปลาบู่ ปลาแป้น ปลาตะเพียน (Cyrinidae) และจำพวกกุ้ง ปู และกั้ง นอกจากนี้ยังพบ กลุ่มปลาตัก (Exocoetidae) ทะเลหลวงตอนบน พบกลุ่มปลาหลังเขียว ปลากดทะเล (Ariidae) ปลาตะเพียน ปลาตักและกุ้งก้ามกราม (Macrobrachium rossenbergii) ทะเลน้อย พบกลุ่มปลาสำคัญ ได้แก่ ปลาสลาด (Notopteridae) ปลาหมอช้างเหยียบ (Nandidae) ปลาเนื้ออ่อน (Silulidae) ปลาแขยง (Bagridae) และปลาไหล (Monopteridae) ปลาตะเพียนและปลาซิว (Raborinae) มีความชุกชุมรองลงมา (ไพโรจน์และคณะ, ๒๕๒๘ ; สุรศักดิ์และคณะ, ๒๕๓๖) นอกจากนี้แล้วบริเวณเกาะหนู เกาะแมว ซึ่งมีระบบนิเวศน์ที่แตกต่างออกไป พบปลาในกลุ่มสลิดหิน (Pomacentridae) ปลานกขุนทอง (Labridae) ปลากะพงแดง (Lutjanidae) ปลากะรัง (Serranidae) เป็นส่วนใหญ่ (ไพโรจน์และคณะ, ๒๕๓๙ )

         การทำการประมงในทะเลสาบสงขลา ดำเนินการแบบเพื่อยังชีพ โดยมีชนิดของเครื่องมือประมงที่พบได้ทั่วไปประมาณ ๑๘ ชนิด ที่สำคัญ คือ ข่าย อวนล้อม ลอบยืน เบ็ดราว แห ไซ และแนด เป็นต้น รายละเอียดการจับสัตว์น้ำของเครื่องมือแต่ละชนิดมีดังนี้


           ประสิทธิภาพของเครื่องมือโดยเฉลี่ย จำแนกเป็นชนิดดังนี้ ข่าย มีประสิทธิภาพในการจับสัตว์น้ำ ได้ ๑.๕ กิโลกรัมต่อชั่วโมง ขนาดของข่าย กว้าง ๒.๕ เมตร ยาว ๑๐๐ เมตร ขนาดช่องตา ๔.๕ เซนติเมตร อวนล้อม กว้าง ๒.๕ เมตร ยาว ๑๐๐ เมตร ขนาดช่องตา ๑.๐ เซนติเมตร มีประสิทธิภาพ ๑.๔ กิโลกรัมต่อชั่วโมง ลอบยืน ขนาด ๕๐ x ๑๐๐ x ๑๘๐ เซนติเมตร สามารถจับสัตว์น้ำได้ ๐.๒ กิโลกรัมต่อชั่วโมง เบ็ดราว ยาว ๑๐๐ เมตร มีประสิทธิภาพ ๐.๓ กิโลกรัมต่อชั่วโมง แห ขนาด ๔.๗ เมตร ขนาดตา ๓.๕ เซนติเมตร จับ ได้ ๐.๓ กิโลกรัมต่อชั่วโมง ไซ ๐.๓ กิโลกรัมต่อชั่วโมง และแนด ๑.๒ กิโลกรัมต่อชั่วโมง ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ รวม ๑๒,๒๙๒.๖ ตันต่อปี แยกเป็นผลจับจากทะเลสาบสงขลา ๒,๔๔๓.๗ ตัน ทะเลหลวง ๘,๘๖๒.๙ ตัน และทะเลน้อย ๙๔๕.๙ ตัน และมีผลจับเฉลี่ยต่อครอบครัว ๑,๑๘๖.๒ กิโลกรัมต่อปี บริเวณรอบทะเลสาบสงขลามีหมู่บ้านที่ประกอบอาชีพประมง รวม ๑๕๐ หมู่บ้าน โดยกระจายอยู่ในทะเลสาบสงขลา ๔๓ หมู่บ้าน บริเวณทะเลหลวง ๙๙ หมู่บ้าน และทะเลน้อย ๘ หมู่บ้าน จำนวนครัว เรือน ชาวประมงที่อาศัยอยู่รอบทะเลสาบทั้งหมด ๑๐,๓๖๓ ครอบครัว จาก ๑๘,๖๓๖ ครอบครัว คิดเป็นร้อยละ ๕๕.๖ โดยกระจายอยู่บริเวณทะเลสาบสงขลา ๒,๙๗๒ ครอบครัว ทะเลหลวง ๖,๕๗๑ ครอบครัว และทะเลน้อย ๘๒๐ ครอบครัว (สิริและคณะ, ๒๕๒๘) (ไพโรจน์ สิริมนตาภรณ์, อังสุนีย์ ชุนหปราณ)

ชื่อคำ : ทะเลสาบสงขลา
หมวดหมู่หลัก : ธรรมชาติ ชีวิต และสิ่งแวดล้อม
หมวดหมู่ย่อย : ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม
ชื่อผู้แต่ง : ไพโรจน์ สิริมนตาภรณ์, อังสุนีย์ ชุนหปราณ
เล่มที่ : ๗
หน้าที่ : ๓๔๖๘