ณ ตะกั่วทุ่ง, ตระกูล

ณ ตะกั่วทุ่งตระกูล 



          นามสกุล ณ ตะกั่วทุ่ง” พระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่อำมาตย์โทพระราชภักดี (หร่าย) ยกกระบัตรมณฑลปัตตานีในคราวเสด็จประพาสมณฑลปัตตานี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ิต้นตระกูล ณ ตะกั่วทุ่ง ชื่อท่านเหล็ก เป็นชาวกรุงศรีอยุธยา ได้มารับราชการอยู่ในกองทัพกรุงธนบุรี (เล่าสืบกันมาในสกุลว่าท่านเหล็กมีความสัมพันธ์เป็นญาติกับพระเจ้ากรุงธนบุรี และพระเจ้าหลานเธอเจ้านราสุริยวงศ์) ตามประชุมพงศาวดารภาค ๒ ว่าท่านเหล็กเป็นลูกมอญชาวกรุง (กรุงศรีอยุธยา) เป็นมอญเก่า ซึ่งอพยพมากับพระยาเกียรติ พระยารามและพระมหาเถรคันฉ่อง เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพ

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกกองทัพมาตีเมืองนครศรีธรรมราช เจ้านราสุริยวงศ์ได้เป็นแม่ทัพมาในกองทัพด้วย ท่านเหล็กได้ติดตามโดยเสด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและเจ้านราสุริยวงศ์มาด้วย เมื่อก๊กเจ้าพระยานคร (หนู) เสียเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านราสุริยวงศ์ครองเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองประเทศราช แล้วสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ยกกองทัพกลับกรุงธนบุรี ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานคร (หนู) และเจ้าพัฒน์บุตรเขยกลับไปกรุงธนบุรีด้วย ท่านเหล็กคงอยู่รับราชการกับเจ้านราสุริยวงศ์ ต่อมาได้สมรสกับท่านนุ้ยบุตรข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อนายขุนดำ

          เจ้านราสุริยวงศ์ครองเมืองนครศรีธรรมราชได้ ๖ ปี ก็ประชวรถึงแก่พิราลัย ทางกรุงธนบุรีได้แต่งตั้งเจ้าพระยานคร (หนู) กลับมาครองเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อเจ้าพระยานคร (หนู) ชราทุพพลภาพก็โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานคร (พัฒน์) ครองเมืองนครศรีธรรมราชแทน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๒ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกย่องเจ้าพระยานคร (พัฒน์) ขึ้นเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานคร (น้อย) มาครองเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งนั้นท่านเหล็กคงถึงแก่กรรมไปแล้ว ครอบครัวของเจ้านราสุริยวงศ์ไปกรุงธนบุรีหมดแล้ว ท่านขุนดำคงขาดผู้อุปการะคงเหลือแต่มารดา จึงได้บวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดประตูขาว (ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช) อยู่จนได้เป็นเจ้าอธิการวัดประตูขาวนั้น เมื่อรัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานคร (น้อย) มาครองเมืองนครศรีธรรมราช พระอธิการขุนดำได้ลาสิกขาออกมารับราชการในเจ้าพระยานคร (น้อย) ได้เป็นที่หลวงพิพิธสมบัติตำแหน่งเสมียนตราเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งนั้นเมืองถลางร้างมาแต่ในรัชกาลที่ ๒ ด้วยพม่ามาตีเมืองปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๕๒ จึงรวบรวมราษฎรมาตั้งเมืองพังงาขึ้นที่ฝั่งทะเล เพราะเมืองถลางเป็นเกาะรักษายาก โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานคร (น้อย) ดูแลรักษาเกาะถลางตลอดมา ในสมัยนั้นเจ้าพระยานคร (น้อย) ให้หลวงพิพิธสมบัติ (ขุนดำ)ไปเป็นผู้เก็บส่วยดีบุกอยู่ที่เกาะถลาง ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ เข้าใจว่าเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้กลับตั้งเมืองถลางขึ้นอีก หลวงพิพิธสมบัติจึงได้เป็นที่พระตะกั่วทุ่ง ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วทุ่งและโปรดเกล้าฯ เลื่อนเป็นพระยาโลหะภูมิพิสัยในภายหลังท่านผู้นี้ได้สร้างวัดมาตุคุณารามขึ้นที่เมืองตะกั่วทุ่ง เพื่อเป็นที่ฌาปนกิจศพมารดา คือท่านนุ้ย (มีผู้กล่าวว่าเมื่อสร้างวัดนี้ให้ชื่อว่า วัดมาตุคุณกษิราราม แปลว่าวัดสร้างขึ้นเพื่อทดแทนคุณค่าน้ำนมมารดา แต่มาตัดเสียภายหลังว่า วัดมาตุคุณาราม) เมื่อพระยาโลหะภูมิพิสัย (ขุนดำ) ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว พระยาบริสุทธิโลหะภูมินทราธิบดี (ถิน) บุตรพระยาโลหะภูมิพิสัย (ขุนดำ)ได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วทุ่งแทนพระยาบริสุทธิโลหะภูมินทราธิบดี (ถิน) กับพระเพ็ชร์คีรีศรีพิชัยสงคราม (เหม็น) ปลัดเมืองผู้เป็นน้องชายได้ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณคูหาขึ้นเป็นวัดประจำเมือง ได้บรรจุอัฐิมารดาและคุณยายไว้ด้วย ต่อมาวัดนี้เป็นที่เก็บอัฐิของสกุล ณ ตะกั่วทุ่งด้วย

           เมื่อพระยาบริสุทธิโลหะภูมินทราธิบดี (ถิน) ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ท่านอ่อนบุตรได้เป็นพระบริสุทธิโลหะภูมินทราธิบดี ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วทุ่งแทนในปลายรัชกาลที่ ๔ จนเมื่อพระบริสุทธิโลหะภูมินทราธิบดี ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว หลวงภูเบศร์ (เสือ ณ ตะกั่วทุ่ง) ผู้ช่วยราชการได้เป็นผู้รั้งเมืองแทน แต่ได้ถึงแก่กรรมก่อนได้โปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ว่าราชการเมือง ทางราชการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งท่านกล่อมบุตรเจ้าพระยานคร (น้อย) มาเป็นผู้ว่าราชการเมือง ได้เป็นพระบริสุทธิโลหะภูมินทราธิบดี ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ พระองค์ทรงเห็นว่าบุคคลในตระกูลนี้ ได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วทุ่งติดต่อกันมาถึง ๓ ชั่วคน จึงได้พระราชทานนามสกุล “ณ ตะกั่วทุ่ง” เขียนเป็นอักษรโรมันว่า “NA TAKUATOUNG” ให้แก่อำมาตย์โทพระราชภักดี (หร่าย) ยกกระบัตรมณฑลปัตตานีผู้เป็นบุตรพระพิมลสมบัติ (ทอง) และพระยาพิมลสมบัติ (ทอง) เป็นบุตรพระยาบริสุทธิโลหะภูมินทราธิบดี (ถิน) 

ชื่อคำ : ณ ตะกั่วทุ่ง, ตระกูล
หมวดหมู่หลัก : โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และการเมืองการปกครอง
หมวดหมู่ย่อย : ประวัติบุคคล
ชื่อผู้แต่ง : ถวิล ณ ตะกั่วทุ่ง
เล่มที่ : ๕
หน้าที่ : ๒๒๘๘