สงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัย

สงขลานครินทร์มหาวิทยาลัย



มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของภาคใต้ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๐ และจัดตั้งโดยพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยปี พ.ศ.๒๕๑๑ มีฐานะเป็นกรม สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย

ความเป็นมา

          ความริเริ่มในการตั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๕๐๔ โดยรัฐบาลสมัยนั้นเห็นว่า เยาวชนในภาคใต้ที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมเป็นจำนวนมากต้องไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ มาเลเซีย ปีนัง และสิงคโปร์ อันเป็นการยากลำบาก อนึ่ง หากจะเร่งรัดพัฒนาภาคใต้ก็จำเป็นต้องพัฒนาการศึกษา จึงควรจะได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นในภาคใต้ ในครั้งนั้นกรมการปกครองได้ทำโครงการเสนอตั้งมหาวิทยาลัยที่ทุ่งนเรนทร์ ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๖ พันเอกถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและประธานคณะกรรมการพัฒนาภาคใต้สมัยนั้นได้นำเรื่องราวการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอีก พร้อมกันนั้นคณะกรรมการพัฒนาภาคใต้ได้กำหนดหลักการเกี่ยวกับการตั้งมหาวิทยาลัยดังนี้

๑. ศูนย์กลางของมหาวิทยาลัยควรตั้งอยู่ในเขต ๔ จังหวัดภาคใต้ ในพื้นที่ตำบลรูสมิแล อำเภอเมืองปัตตานี ทั้งนี้เพราะปัตตานีเคยเป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์ เมื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาแล้วสามารถจะฟื้นฟูให้เมืองเจริญรุ่งเรืองได้ในอนาคต และจะเป็นแหล่งกลางในการที่จะเชื่อมโยงจังหวัดใกล้เคียง เช่น ยะลา นราธิวาส สตูล รวมทั้งประชาชนจังหวัดปัตตานีมีความกระตือรือร้นใคร่จะให้มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ ได้แสดงความจำนงมอบที่ดินให้กับทางราชการเพื่อการจัดตั้งมหาวิทยาลัย จำนวน ๕๔ ไร่ ในท้องที่ตำบลรูสมิแล
๒. การสร้างมหาวิทยาลัยควรใช้หลักกระจายส่วนต่าง ๆ มิใช่ให้คณะต่าง ๆ มาตั้งอยู่ในแหล่งเดียวกัน เพราะหลายจังหวัดก็มีความต้องการให้มหาวิทยาลัยไปตั้งอยู่

คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๘ ได้ลงมติรับหลักการ กรมโยธาเทศบาล (ในขณะนั้น) ได้เริ่มดำเนินการออกแบบอาคารและลงมือสำรวจพื้นที่ที่จะสร้างเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๘ ในคราวแรกคณะกรรมการจะให้ศูนย์ที่จังหวัดปัตตานีเป็นที่ตั้งของคณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่เมื่อศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบการดำเนินการก่อสร้างมหาวิทยาลัย ท่านได้ไปสำรวจสถานที่ ได้พิจารณาด้วยเหตุผลหลายประการว่า สถานที่ดังกล่าวไม่เหมาะที่จะตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์เพราะพื้นที่เป็นดินชายเลน มีชั้นเลนหนาริมทะเล อาจจะทำให้เกิดปัญหาว่าตัวอาคารจะสามารถทนทานต่อเครื่องจักรที่หนักและมีความสั่นสะเทือนมากได้หรือไม่ ไอน้ำเค็มจะทำให้เครื่องมือเครื่องใช้ทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นสนิทเสียง่าย และมีอายุการใช้งานน้อยกว่าปกติ พร้อมกันนั้นก็ได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่บริเวณเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา เพราะมีโครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้นที่นั่น พบว่ามีปัญหาการขาดแคลนน้ำ จึงได้ไปสำรวจสถานที่แหล่งใหม่ พบว่ามีพื้นที่ที่มีอาณาเขตกว้างขวางพร้อมที่จะขยายได้อยู่ไม่ไกลตัวเมืองหาดใหญ่ ซึ่งทราบว่าเป็นที่ดินของคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร จึงได้ไปเจรจา คุณหญิงหลงฯ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จำนวน ๖๙๐ ไร่ เพื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัย ดังนั้นคณะกรรมการจึงได้จัดศูนย์การศึกษาของมหาวิทยาลัยออกเป็น ๒ ศูนย์ คือ

๑. ศูนย์จังหวัดปัตตานี ให้เป็นที่ตั้งของคณะศึกษาศาสตร์ เพื่อผลิตครูปริญญา ใช้สอนในจังหวัดภาคใต้ ในขณะเดียวกันก็มีโครงการจัดตั้งโรงเรียนสาธิต เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาในภาคใต้ให้สูงขึ้น
๒. ศูนย์จังหวัดสงขลา ให้เป็นศูนย์ที่ตั้งของคณะวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์และคณะอื่น ๆ

พร้อมกับการก่อสร้างมหาวิทยาลัยที่ศูนย์จังหวัดปัตตานี มหาวิทยาลัยก็ได้เปิดรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์รุ่นแรก จำนวน ๕๐ คน ในปีการศึกษา ๒๕๑๐ โดยใช้อาคารเรียนที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ เป็นที่เรียน และได้เดินทางมาเรียนที่หาดใหญ่เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๔ คณะศึกษาศาสตร์เปิดรับนักศึกษาครั้งแรกในปีการศึกษา ๒๕๑๑ โดยฝากเรียนที่เดียวกันคือที่มหาวิทยาลัยมหิดล

           คณะกรรมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยภาคใต้ได้พิจารณาเห็นว่า เพื่อให้สถาบันการศึกษาแห่งนี้เป็นศูนย์รวมด้านจิตใจของประชาชนชาวไทย และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ต่อไป จึงได้นำความขึ้นกราบทูลขอพระราชทานชื่อมหาวิทยาลัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “สงขลานครินทร์” ใช้ภาษาอังกฤษว่า “Prince of Songkhla University” และพระราชทานตราของมหาวิทยาลัยซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๖ ตอนที่ ๘๙ วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๑๕๑๒ เป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ ประกอบด้วยจักรกับตรีศูล ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎมีอักษรย่อ มอ. (ไขว้) เบื้องล่างของภาพมีอักษร ชื่อ “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์”

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๔๐)

         มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กำหนดโครงสร้างและรูปแบบการบริหารไว้แต่แรกที่จะเป็นมหาวิทยาลัยหลายวิทยาเขต ซึ่งแต่ละวิทยาเขตจะทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตบัณฑิตและศูนย์กลางทางวิชาการ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้ขยายวิทยาเขตการศึกษาไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในภาคใต้แล้ว จำนวน ๕ แห่ง คือ วิทยาเขตหาดใหญ่ ปัตตานี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และตรัง มีลักษณะเป็นวิทยาเขตสมบูรณ์แล้ว ๒ แห่ง คือ วิทยาเขตหาดใหญ่และวิทยาเขตปัตตานี สำหรับโครงการจัดตั้งวิทยาเขตภูเก็ต สภามหาวิทยาลัยให้ความเห็นชอบ ในคราวประชุมครั้งที่ ๑๗๐ (๗) /๒๕๓๕ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี และโครงการจัดตั้งวิทยาเขตตรังได้รับอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๓๙ ในโครงการขยายวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยสถาบันในส่วนภูมิภาค เป็น ๒ ใน ๑๑ แห่ง ที่ได้รับการอนุมัติเป็นวิทยาเขตสารสนเทศ

เจตนารมณ์ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ขึ้นเป็นแห่งแรกในภาคใต้ก็เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยจึงดำเนินพันธกิจหลักในเป้าประสงค์ ๓ ประการ คือสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ/มีความเป็นสากลและมีพลวัตในสังคมวิชาการนานาชาติ/เป็นที่พึ่งของท้องถิ่น สามารถชี้นำสังคมได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ จึงกำหนดนโยบายให้พื้นที่แต่ละวิทยาเขตมีจุดเน้นในการพัฒนาวิชาการ ดังนี้

วิทยาเขตหาดใหญ่  เน้นสาขาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประกอบด้วย ๑๒ คณะ ๒ สำนัก ๒ ศูนย์ ๑ โครงการ ทำหน้าที่หลักด้านการเรียน การสอน การวิจัย และบริการวิชาการ มีการเปิดสอนหลักสูตรต่ำกว่าปริญญาตรี/ปริญญาตรี/ประกาศนียบัตรบัณฑิต/ปริญญาโทและปริญญาเอกหรือเทียบเท่า รวมทั้งหมด ๙๙ สาขาวิชา โดยแบ่งเป็นคณะวิชา สำนัก ศูนย์และสถาบันดังนี้

คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ คณะเภสัชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะศิลปศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย สำนักงานอธิการบดี สำนักวิจัยและพัฒนา ศูนย์คอมพิวเตอร์ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ โครงการจัดตั้งสถาบันทรัพยากรชายฝั่ง เนื่องจากมีการจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและภารกิจหลักด้านการบริการวิชาการแก่สังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จึงมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาทางด้านสาธารณสุขในภาคใต้ โดยมีโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลทันตกรรม ซึ่งมีสถานที่ตั้งอยู่ในวิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นแหล่งบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยและเป็นศูนย์กลางการบริการวิชาการและศึกษาค้นคว้าวิจัยทางการแพทย์ มีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้

โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

โรงพยาบาลสงขลานครินทร์เป็นหน่วยงานเทียบเท่าภาควิชา สังกัดคณะแพทยศาสตร์ เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๕ ด้วยการให้บริการผู้ป่วยเพียง ๑๐๐ เตียง ปัจจุบันพัฒนาขึ้นเป็น ๗๐๓ เตียง ให้บริการรักษาผู้ป่วยนอกได้วันละประมาณ ๑,๕๐๐ คน จัดบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีอาการหนักหรือโรคซับซ้อน รับส่งต่อผู้ป่วยหนักจากสถานพยาบาลในพื้นที่ภาคใต้ และภารกิจหลักที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การจัดระบบบริการให้ตอบสนองต่อการผลิตแพทย์

ในปีงบประมาณ ๒๕๓๙ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้ทำการเปิดอาคาร “พระบรมราชชนก” ซึ่งเป็นอาคาร ๖ ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ ๑๕,๕๐๘ ตารางเมตร เป็นอาคารรับผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินที่มีเครื่องมือแพทย์อันทันสมัย ขยายเตียงผู้ป่วยในได้เพิ่มขึ้นจำนวน ๓๒ เตียง ให้บริการทั้งผู้ป่วยหนัก หรือโรคซับซ้อนทั้งที่เดินทางมาเองและส่งต่อมาจากสถานพยาบาลอื่น ๆ ใน ๑๔ จังหวัดภาคใต้ และประชาชนจากภาคอื่น ๆ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง มีจำนวนผู้ใช้บริการเป็นผู้ป่วยนอกทั้งสิ้น ๔๑๑,๒๙๖ ราย ผู้ป่วยใน ๒๒,๕๓๕ ราย ผู้ป่วยผ่าตัด ๑๔,๑๙๗ ราย ผู้ป่วยฉุกเฉิน ๘,๗๙๔ ราย ผู้ป่วยมะเร็ง ๑,๖๖๔ ราย และมีอัตราการครองเตียงร้อยละ ๘๕.๗๕ ผู้ป่วยคลินิกนอกเวลาราชการ ๕,๖๘๔ ราย ผู้ป่วยประกันสังคมในสังกัด ๒๒,๒๑๓ ราย โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้จัดระบบสังคมสงเคราะห์ให้การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยฐานะยากจนเป็นจำนวนผู้ป่วยนอก ๘,๔๒๕ ราย ผู้ป่วยใน ๓,๖๒๖ ราย มีวงเงินสงเคราะห์ปีละ ๕๓ ล้านบาท และให้การรักษาผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์และผู้ป่วยจากแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

โรงพยาบาลทันตกรรม

โรงพยาบาลทันตกรรมเป็นหน่วยงานที่เทียบเท่าภาควิชา สังกัดคณะทันตแพทยศาสตร์ เริ่มเปิดดำเนินการในปี พ.ศ.๒๕๒๙ ให้บริการรักษาโรคในช่องปากแก่ประชาชนทั่วไป และเป็นที่ฝึกงานทางคลินิกของนักศึกษา รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการศึกษา วิจัย และพัฒนาทางเทคโนโลยีคลินิก เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะโรคในช่องปากแห่งเดียวในภาคใต้ มีการให้บริการการป้องกันและรักษาอย่างครบวงจร เปิดบริการทั้งภายในและภายนอกเวลาราชการ

โครงการจัดตั้งฝ่ายทันตสาธารณสุขชนบทภาคใต้

โครงการจัดตั้งฝ่ายทันตสาธารณสุขชนบทภาคใต้เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กับประเทศเดนมาร์ก มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงสุขภาพในช่องปากของประชาชนในภาคใต้ โดยเฉพาะเขตชนบทให้ดีขึ้นและเพื่อพัฒนาทันตสาธารณสุข โดยความร่วมมือของบุคลากรคณะทันตแพทย์ร่วมกับฝ่ายทันตสาธารณสุขจังหวัดในภาคใต้ มีระยะเวลา ๕ ปี (ปี พ.ศ.๒๕๓๖-๒๕๔๐)

วิทยาเขตปัตตานี เน้นสาขาวิชาทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ประกอบด้วย ๔ คณะ ๒ สำนัก ๑ โครงการจัดตั้ง มีหลักสูตรที่เปิดสอน ๕๘ สาขาวิชาในระดับปริญญาตรี/ประกาศนียบัตรบัณฑิตและระดับบัณฑิตศึกษา มีคณะวิชา สำนักและโครงการจัดตั้งดังนี้

คณะศึกษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาลัยอิสลามศึกษา สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง สำนักวิทยบริการ โครงการจัดตั้งสถาบันวัฒนธรรมศึกษา (เดิมชื่อโครงการจัดตั้งสถาบันศิลปะและวัฒนธรรม)

โครงการจัดตั้งวิทยาเขตภูเก็ต เน้นสาขาวิชาทางด้านอุตสาหกรรมโรงแรมและการท่องเที่ยว โดยมีวิทยาลัยชุมชนภูเก็ต และโครงการจัดตั้งคณะการจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยว ทำหน้าที่หลักเฉพาะงานการเรียนการสอน การวิจัยและพัฒนาอาจารย์ มีการเปิดสอนหลักสูตรต่ำกว่าปริญญาตรี ๖ หลักสูตร และได้ปรับปรุงหลักสูตรประกาศนียบัตรเป็นหลักสูตรอนุปริญญา ๖ หลักสูตร และจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิตสาขาการจัดการโรงแรม รวมทั้งหมด ๗ สาขาวิชา

โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี เน้นการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับสาขาวิชาทางด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการแปรรูป ได้เปิดสอนในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี โดยใช้โปรแกรมการสอนที่วิทยาลัยชุมชนภูเก็ตดำเนินการเปิดสอนอยู่แล้วรับนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตร นอกจากนี้คณะศึกษาศาสตร์ได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทภาคสมทบที่สุราษฎร์ธานี ๒ สาขา คือ สาขาการบริหารการศึกษา และสาขาประถมศึกษา และเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนเป็นวิทยาเขตสารสนเทศ โดยเชื่อมโยงกับวิทยาเขตปัตตานีในฐานะแม่ข่ายอยู่ระหว่างดำเนินการในปี พ.ศ.๒๕๔๐ นี้ และในปี พ.ศ.๒๕๔๑ เริ่มเปิดสอนระดับปริญญาตรีในสาขาการจัดการอุตสาหกรรม และสาขาผลิตกรรมชีวภาพ

โครงการจัดตั้งวิทยาเขตตรัง เน้นการเรียนการสอนด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมบริหารรวมทั้งเทคโนโลยีที่ใช้ประกอบในเชิงธุรกิจและการจัดการ ปัจจุบันเปิดสอนหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิตสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ปีการศึกษา ๒๕๔๐ เริ่มใช้ระบบการเรียนการสอนทางไกลโดยมีการถ่ายทอดสัญญาณทางไกลจากวิทยาเขตหาดใหญ่ในฐานะแม่ข่ายไปยังโครงการจัดตั้งวิทยาเขตตรัง

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีการแบ่งส่วนราชการดังนี้

๑. สำนักงานอธิการบดี เป็นหน่วยงานบริหารส่วนกลางของมหาวิทยาลัย มีหน้าที่บริหารงานทั่วไป ควบคุมดูแลบุคลากรและดำเนินกิจกรรมของส่วนราชการในมหาวิทยาลัย
๒. คณะ/วิทยาลัย/วิทยาลัยชุมชน เป็นหน่วยงานดำเนินงานทางด้านวิชาการ ในด้านการเรียนการสอน และผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ ทั้งทางด้านวิชาการ สังคมและคุณธรรม
๓. บัณฑิตวิทยาลัย ทำหน้าที่ประสานงาน และควบคุมมาตรฐานทางวิชาการ ดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาให้เป็นไปตามนโยบายของมหาวิทยาลัย
๔. สำนัก เป็นหน่วยงานส่งเสริม สนับสนุน และบริการวิชาการ
๕. สถาบัน เป็นหน่วยงานเพื่อการวิจัยและบริการวิชาการ

มหาวิทยาลัยได้กระจายการศึกษาไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในภาคใต้ ๕ วิทยาเขต มีพื้นที่เพื่อใช้ในการเรียนการสอน การวิจัยและอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น ๑๑,๗๘๙ ไร่ มีจำนวนอาคารรวมทั้งสิ้น ๕๙๒ หลัง คิดเป็นพื้นที่ ๗๗๐,๔๑๔ ตารางเมตร มีรายละเอียดดังนี้

วิทยาเขตหาดใหญ่

๑.๑ วิทยาเขตหาดใหญ่ ตั้งอยู่ที่ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ ๑,๗๐๖ ไร่ มีจำนวนอาคารทั้งหมด ๓๓๗ หลัง คิดเป็นพื้นที่ ๖๑๓,๘๗๖ ตารางเมตร จำแนกเป็นอาคารเรียน/ปฏิบัติการบริหาร ๕๒ หลัง อาคารที่พัก ๒๐๓ หลัง และอาคารอื่น ๆ ๘๒ หลัง
๑.๒ สถานีวิจัยเทพา ตั้งอยู่ที่ตำบลเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ ๘๐๐ ไร่ มีจำนวนอาคาร ๕ หลัง คิดเป็นพื้นที่ ๑,๑๙๘ ตารางเมตร
๑.๓ สถานีวิจัยคลองหอยโข่ง ตั้งอยู่ที่คลองหอยโข่ง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ ๕๐๐ ไร่ มีจำนวน ๕ หลัง คิดเป็นพื้นที่ ๙๕๔ ตารางเมตร
๑.๔ สถานีวิจัยท่าเชียด ตั้งอยู่ที่อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง มีพื้นที่ ๖๗ ไร่ มีจำนวน ๖ หลัง คิดเป็นพื้นที่ ๕๗๐ ตารางเมตร
๑.๕ สถานีปฏิบัติการสัตวศาสตร์ ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองทราย อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ ๕๐๐ ไร่ มีจำนวนอาคาร ๔ หลัง คิดเป็นพื้นที่ ๕๗๐ ตารางเมตร
๑.๖ ศูนย์วิจัยและทดสอบวัสดุและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ตั้งอยู่ที่ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ ๑๐ ไร่
๑.๗ สถานีวิจัยและตรวจสอบนิเวศวิทยาทะเลสาบสงขลา ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง มีพื้นที่ ๒๐๐ ไร่

วิทยาเขตปัตตานี

๒.๑ วิทยาเขตปัตตานี ตั้งอยู่ที่ตำบลรูสมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี มีพื้นที่ ๙๐๔ ไร่ มีจำนวนอาคารทั้งหมด ๑๗๐ หลัง คิดเป็นพื้นที่ ๑๑๖,๐๑๔ ตารางเมตร จำแนกเป็นอาคารเรียน/ปฏิบัติการ/บริหาร ๓๒ หลัง อาคารที่พัก ๑๓๐ หลัง และจำนวนอาคารอื่น ๆ ๑๐ หลัง
๒.๒ หมู่บ้านเยาวชนสงขลานครินทร์ ตั้งอยู่ที่ตำบลรูสมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี มีพื้นที่ ๓๔ ไร่ มีจำนวนอาคารทั้งหมด ๘ หลัง คิดเป็นพื้นที่ ๑,๐๗๑ ตารางเมตร
๒.๓ ศูนย์อาคารโภชนาการและการพัฒนาชนบทภาคใต้ ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองเปียะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ ๑๒ ไร่ มีจำนวนอาคารทั้งหมด ๘ หลัง คิดเป็นพื้นที่ ๑,๗๐๙ ตารางเมตร
๒.๔ อุทยานการศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตั้งอยู่ที่ตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ ๕ ไร่ มีจำนวนอาคาร ๒ หลัง คิดเป็นพื้นที่ ๓๓๓ ตารางเมตร
๒.๕ สถานีวิจัยและฝึกงานเทคโนโลยีเกษตร ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าธง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา มีพื้นที่ ๔๙๐ ไร่

โครงการจัดตั้งวิทยาเขตภูเก็ต

๓.๑ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตภูเก็ต ตั้งอยู่ที่อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต มีพื้นที่ ๑๙๗ ไร่ มีจำนวนอาคารทั้งหมด ๑๙ หลัง คิดเป็นพื้นที่ ๑๙,๘๒๒ ตารางเมตร
๓.๒ วิทยาลัยชุมชนภูเก็ต ตั้งอยู่ที่สะพานหิน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต มีพื้นที่ ๔ ไร่ มีจำนวนอาคารทั้งหมด ๑๐ หลัง คิดเป็นพื้นที่ ๓,๗๕๙ ตารางเมตร
๓.๓ ศูนย์การศึกษาด้านทรัพยากรชายฝั่งและทะเลลึก ตั้งอยู่ที่อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา มีพื้นที่ ๑,๒๔๐ ไร่

โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี

๔.๑ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่ที่เขาท่าเพชร อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีพื้นที่ ๔๔๐ ไร่
๔.๒ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งและอุตสาหกรรมการประมง ตั้งอยู่ที่ทุ่งไสไช ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่ ๔,๐๐๐ ไร่

โครงการจัดตั้งวิทยาเขตตรัง

๕.๑ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตตรัง ระยะแรกมีสำนักงานชั่วคราวอยู่ที่ โรงเรียนเทศบาลวัดมัชฌิมภูมิ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างที่ตำบลควนปริง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง มีพื้นที่ ๖๘๖ ไร่

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ดำเนินงานด้านการจัดการศึกษาถึงปัจจุบัน มีคณะที่เปิดทำการสอน ๑๕ คณะ ๑ โครงการจัดตั้ง ๒ วิทยาลัยชุมชน มีภาควิชาที่จัดการสอนทั้งหมด ๙๐ ภาควิชา และได้เปิดสอนในหลักสูตรต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับต่ำกว่าปริญญาตรีจนถึงระดับปริญญาเอก รวมทั้งสิ้น ๑๗๗ สาขาวิชา บางหลักสูตรมิได้เปิดสอนทุกปี สำหรับปีการศึกษา ๒๕๔๐ มีหลักสูตรที่เปิดสอนจำนวน ๑๖๔ สาขาวิชา เป็นหลักสูตรที่เปิดสอนที่วิทยาเขตหาดใหญ่ ๙๙ สาขาวิชา วิทยาเขตปัตตานี ๕๘ สาขาวิชา โครงการจัดตั้งวิทยาเขตภูเก็ต ๗ สาขาวิชา โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ๕ สาขาวิชา (เป็นหลักสูตรระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ๓ สาขาวิชา ซึ่งเป็นสาขาวิชาของวิทยาลัยชุมชนภูเก็ต และหลักสูตรระดับปริญญาโทภาคสมทบของคณะศึกษาศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี ๒ สาขาวิชา) โครงการจัดตั้งวิทยาเขตตรัง ๑ สาขาวิชา (เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี คณะวิทยาการจัดการ วิทยาเขตหาดใหญ่)

จากนโยบายของมหาวิทยาลัยที่จะกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้แก่นักเรียน มหาวิทยาลัยจึงดำเนินการรับนักศึกษาใน ๓ ลักษณะคือ

๑. การรับนักศึกษาโดยวิธีการสอบคัดเลือก ซึ่งดำเนินการโดยทบวงมหาวิทยาลัย (สอบรวม) เป็นการรับนักศึกษาเพื่อเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี ตามระเบียบการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาสถาบันอุดมศึกษา โดยรับร้อยละ ๕๐ ของจำนวนนักศึกษาที่จะรับทั้งหมดในแต่ละปี
๒. การรับนักศึกษาโดยวิธีการคัดเลือก ซึ่งดำเนินการโดยมหาวิทยาลัย (สอบตรง) เป็นการรับนักศึกษาเพื่อเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีและหลักสูตรประกาศนียบัตรตามระเบียบการสอบคัดเลือกของนักเรียนในภาคใต้ รับร้อยละ ๕๐ ของจำนวนนักศึกษาที่จะรับทั้งหมดในแต่ละปี
๓. การรับนักศึกษาโดยวิธีต่าง ๆ เช่น การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนใน ๑๔ จังหวัดภาคใต้ ตามโครงการพิเศษต่าง ๆ เช่น การรับนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลาม การรับนักเรียนคณิตศาสตร์โอลิมปิก การรับนักศึกษาตามโครงการคุรุทายาท การรับนักศึกษาตามโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) และการรับนักเรียนมัธยมปลายที่มีการเรียนดีเลิศจากโรงเรียนในภาคใต้

นอกจากการผลิตบัณฑิตตามแผนการรับนักศึกษาในแต่ละปีตามแผนปกติแล้ว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ปฏิบัติภารกิจพิเศษเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลและทบวงมหาวิทยาลัยในการเร่งรัดและสนับสนุนการผลิตบัณฑิตสาขาขาดแคลน โดยเข้าร่วมโครงการผลิตบัณฑิตในสาขาขาดแคลนตามมติคณะรัฐมนตรีใน ๙ สาขาวิชา ได้แก่

๑. สาขาวิศวกรรมศาสตร์ โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีให้เพิ่มการรับนักศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๓๒-๒๕๓๔ รับนักศึกษาตามโครงการนี้เพิ่มจากนักศึกษาปกติประมาณปีละ ๑๑๐-๑๓๐ คน
๒. สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรับนักศึกษาเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๓๙-๒๕๔๘ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๘ ภุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๙ ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ ตลอดโครงการรับนักศึกษาได้ ๒,๖๕๖ คน
๓. สาขาวิชาคณิตศาสตร์ รับนักศึกษาเพิ่มตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๓๘-๒๕๔๔ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๖ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังคนสาขาคณิตศาสตร์ โดยในปี พ.ศ.๒๕๓๙ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รับเพิ่มรวม ๔๐ คน
๔. สาขาวิชาคอมพิวเตอร์รับนักศึกษาเพิ่มในปีการศึกษา ๒๕๔๐ (สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์) สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ตลอดโครงการนักศึกษารวม ๙๔๕ คน
๕. สาขาวิชาอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยได้ร่วมผลิตบัณฑิตในสาขาอุตสาหกรรมเกษตรตามนโยบายของรัฐบาล (พ.ศ.๒๕๓๗-๒๕๔๑)
๖. สาขาวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยได้รับนักศึกษาตามโครงการผลิตแพทย์เพิ่มของประเทศ (พ.ศ.๒๕๓๖-๒๕๔๔) โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะรับนักศึกษาเพิ่มปีละ ๓๐ คน
๗. สาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์ รับนักศึกษาเพิ่มตามมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๓๒-๒๕๓๘ โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะรับนักศึกษาทันตแพทย์ปีละประมาณ ๕๐ คน
๘. สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาอาจารย์สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ ๑๔ ปี (พ.ศ.๒๕๓๖-๒๕๔๙) ซึ่งทบวงมหาวิทยาลัยมีเป้าหมายที่จะผลิตเภสัชกรเพื่อบรรเทาความขาดแคลนเภสัชกร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้เข้าร่วมดำเนินงานในโครงการพัฒนาอาจารย์ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๖ โดยได้รับทุนศึกษาต่อต่างประเทศเพื่อผลิตอาจารย์สาขาเภสัชศาสตร์ปีละ ๓ คน
๙. สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยได้ร่วมผลิตบัณฑิตเพิ่มในสาขาพยาบาลศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพยาบาลตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๓๖-๒๕๔๒

ปีการศึกษา ๒๕๔๐ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีจำนวนนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น ๑๓,๐๔๘ คน เป็นวิทยาเขตหาดใหญ่ ๘,๖๑๑ คน วิทยาเขตปัตตานี ๓,๖๘๐ คน โครงการจัดตั้งวิทยาเขตภูเก็ต ๓๐๙ คน โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ๓๕๙ คน และโครงการจัดตั้งวิทยาเขตตรัง ๘๙ คน จำแนกตามระดับการศึกษาเป็นระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ๒๙๕ คน ระดับปริญญาตรี ๑๐,๘๕๗ คน (ปริญญาตรี ๔-๖ ปี ๑๐,๔๘๔ คน ปริญญาตรีต่อเนื่อง ๓๗๓ คน) และระดับสูงกว่าปริญญาตรี ๑,๘๙๖ คน

ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีบุคลากรรวมทั้งสิ้น ๖,๑๒๒ คน (ไม่รวมลูกจ้างชั่วคราว) ประกอบด้วยข้าราชการ ๔,๔๘๖ คน ลูกจ้างประจำ ๑,๖๓๖ คน ข้าราชการสาย ก หรือสายอาจารย์ มีทั้งหมด ๑,๔๒๘ คน ส่วนใหญ่คือร้อยละ ๕๓.๒๙ มีคุณวุฒิในระดับปริญญาโทร้อยละ ๒๕.๙๘ มีคุณวุฒิระดับปริญญาเอกร้อยละ ๒๐.๗๓ มีคุณวุฒิระดับปริญญาตรีมีตำแหน่งเป็นอาจารย์มากที่สุด ๙๒๘ คน ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ๓๘๐ คน รองศาสตราจารย์ ๑๑๖ คน และศาสตราจารย์ ๒ คน

ข้าราชการสาย ข หรือผู้ช่วยทางวิชาการ มีจำนวน ๑,๓๓๐ คน ข้าราชการสาย ค หรือสายที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานบริหารและธุรการ จำนวน ๑,๗๒๘ คน 


ชื่อคำ : สงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัย
หมวดหมู่หลัก : โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และการเมืองการปกครอง
หมวดหมู่ย่อย : ประวัติสถานที่ สิ่งของ และเครื่องมือเครื่องใช้
ชื่อผู้แต่ง : อมรา ศรีสัจจัง
เล่มที่ : ๑๕
หน้าที่ : ๗๕๘๘