ฤๅษี
วัฒนธรรมภาคใต้ที่มีฤๅษีเกี่ยวข้องอยู่ด้วยค่อนข้างเด่นชัด ได้แก่ วัฒนธรรมพื้นบ้าน ๔ สาขาคือ วรรณกรรมท้องถิ่น นิทานพื้นเมือง จิตรกรรมและประติมากรรม และการละเล่นพื้นเมือง
ฤๅษีในวรรณกรรมท้องถิ่น
วรรณกรรมท้องถิ่นที่มีฤๅษีเป็นตัวสำคัญของเรื่อง มักเป็นวรรณกรรมที่รับมาจากอินเดีย เช่น เรื่องพระรถเมรี (รถเสน) มโนหรานิบาต (พระสุธน) เป็นต้น บุคลิกลักษณะของฤๅษีในกลุ่มนี้ผสมผสานระหว่างนักบำเพ็ญเพียรเพื่อแสวงหาโมกขธรรมตามลัทธิต่าง ๆ ในอินเดียสมัยโบราณ เช่น พวกดาบส (ผู้บำเพ็ญตบะ คือการเผากิเลส) โยคี (ผู้ปฏิบัติตามลัทธิโยคะ หรือบำเพ็ญสมาธิ) ชฎิล (นักพรต ผู้มีผมมุ่นเป็นชฎา) เป็นผู้บำเพ็ญพรตอยู่ในป่าหรือพวกชีไพร จนมีความสามารถพิเศษอาจ “เข้าฌาน” (เล็งฌาณ) หยั่งรู้หรือกำหนดรู้กรรมและวิบากของมนุษย์และสัตว์ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต และเป็นอาจารย์ผู้สำเร็จ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “สิทธาจารย์” สิ่งที่สำเร็จอันหนึ่งก็คือ วิทยาคุณในเชิงปาฏิหาริย์มีคาถาวิเศษ เช่น วิชาล่องหนหายตัว ชุบชีวิต เนรมิตกาย เป็นต้น และด้วยความสามารถดังกล่าว จึงมักประสิทธิประสาทวิทยายุทธให้แก่ตัวเอกของเรื่องเพื่อเอาชนะฝ่ายอธรรม ส่วนใหญ่จะยืนอยู่ข้างฝ่ายธรรมะจนมักลืมอุเบกขาธรรม
ฤๅษีในนิทานพื้นเมือง
ฤๅษีที่ปรากฏในนิทานพื้นเมืองของภาคใต้มี ๒ ประเภท คือ
๑) ฤๅษีที่มีลักษณะภาพรวมเหมือนกับฤๅษีในวรรณกรรมท้องถิ่นดังได้กล่าวมาแล้ว มักปรากฏในนิทานที่ต้นแบบเป็นวรรณกรรมแล้วกลายเป็นเรื่องเล่า จึงทำให้บุคลิกปลีกย่อยของฤๅษีสะท้อนลักษณะของนักบวชนักบุญในสังคมมากขึ้นตามธรรมชาติของวัฒนธรรมมุขปาฐะ เพราะผู้เล่าอาจสอดเสริมบุคลิกตามค่านิยมของตน บทบาทในการเกื้อกูลช่วยเหลือของฤๅษีในนิทานจะพบว่ามีกว้างขวางกว่าฤๅษีในวรรณกรรม เช่น ศิษย์ของฤๅษีในนิทานพื้นเมือง มีทั้งที่เป็นลูกท้าวพระยามหากษัตริย์ ชนสามัญ จนกระทั่งยาจกเข็ญใจ วิชาที่ประสิทธิประสาทให้ก็กว้างขวางกว่า การแก้ปัญหาหรือประสาทพรมีได้แม้กระทั่งเรื่องส่วนตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ช่วยคนให้หายหัวล้าน (ดู หัวล้านนอกครู : นิทาน)
๒) ฤๅษีในมุขล้อเลียน ปรากฏในนิทานเชิงตลก เอาฤๅษีไปปนกับนิทานประเภทตาเถนยายชี ถือเป็นฤๅษีทุศีล เช่น ประสิทธิ์ประสาทพรนอกรีตนอกรอย ให้ตัวละครตัวอื่นล้อเลียน หรือประพฤติผิดทางเพศ เป็นต้น สาเหตุที่ทำให้ฤๅษีมีบุคลิกเช่นนี้อาจเกิดจากมุ่งให้ตลกโปกฮาเป็นสำคัญ หรืออาจล้อเลียนนักบวชทุศีลในสังคมและส่วนหนึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากฤๅษีประเภททุศีลในหนังตะลุง เป็นที่น่าสังเกตว่านิทานพื้นเมืองบางเรื่องนำเอาบุคลิกของฤๅษีประเภทนี้ไปสวมให้ “หลวงพ่อ” (คำนี้ชาวใต้ส่วนใหญ่เรียกว่า “พ่อหลวง” หมายถึงพระภิกษุที่มีอายุคราวพ่อขึ้นไป) หรือ “หลวงตา” ก็มี
ฤๅษีที่ปรากฏในจิตรกรรมและประติมากรรม
ภาพฤๅษีในจิตรกรรมและประติมากรรมภาคใต้ มักสะท้อนบุคลิกลักษณะและคตินิยมสอดคล้องกับที่พรรณนาไว้ในวรรณกรรมกล่าวคือ มักแสดงอิริยาบถการบำเพ็ญเพียร เจริญสมาธิ ถือศีลภาวนา ถ้าอยู่ในอาการนั่งมักอยู่ในลักษณะนั่งสมาธิค่อนไปทางบำเพ็ญทุกรกิริยา จนรูปร่างซูบผอม อาจเห็นซี่โครงมีเครารกเรื้อย หลับตา หรือเหลือบตาลงต่ำและสมถะ ถ้าอยู่ในอาการยืนมักถือไม้เท้าหลังโก่งแบบคนชรา และมักสะพายย่าม การครองผ้ามักทำเป็นคากรองหรือครองหนังเสือ (สีเหลืองมีจุดสีดำ) ทรงผมเป็นอย่างรูปฤๅษีของหนังตะลุงผสมกับคติพวกชฎิล คือทรงผมคล้ายผ้าโพก ลักษณะคล้ายรังนกกระจาบที่หงายปากรังขึ้นเป็นยอด ประติมากรรมรูปฤๅษี ส่วนมากจะมีพวงประคำแขวนคอสำหรับนับในการบริกรรมภาวนา ฤๅษีที่เป็นประติมากรรม มักสร้างไว้ตามถ้ำตามคติที่ว่าฤๅษีจะบำเพ็ญพรตตามป่าตามเขา ส่วนเครื่องนุ่งห่มของฤๅษีมักทำเป็นคากรองหรือครองหนังเสือ (สีเหลืองมีจุดสีดำ) ทรงผมมีก ทำเป็นกระหมวดมุ่น หรือมุ่นเป็นชฎาก็มี ที่เป็นจิตรกรรมมักเขียนให้นั่งในอาศรม หรือบรรณศาลา
ฤๅษีในการละเล่นพื้นเมือง
การละเล่นพื้นเมืองของภาคใต้ที่มีฤๅษีเป็นองค์ประกอบสำคัญคือหนังตะลุง เพราะหนังตะลุงทุกคณะบูชาฤๅษีเป็นบรมครูของตน เมื่อเริ่มเล่นหนังทุกคืนต้องเชิดรูปฤๅษีเป็นรูปแรกอันถือเป็นขนบในการแสดง จะละเว้นมิได้ (ดู ออกฤๅษี) นอกจากนั้นในเนื้อเรื่องที่แสดงก็อาจมีฤๅษีเป็นตัวสำคัญของเรื่องและบางเรื่องอาจมีฤๅษีทุศีลเป็นตัวประกอบหรือตัวตลก
ฤๅษีที่อยู่ในเนื้อเรื่องของหนังตะลุงมักเป็นสิทธาจารย์ ผู้คงแก่เรียนทำนองเดียวกับฤๅษีในวรรณกรรมมักเรียกว่าฤๅษีตาไฟทรงวิทยาคุณอย่างพราหมณ์ และทรงคุณธรรมอย่างพุทธ ประสมประสานกัน บทบาทที่ปรากฏเด่นชัด คือ
๑) คอยค้ำจุนฝ่ายธรรมะและขจัดอธรรม มีทั้งผู้ที่ปรารถนาจะให้ช่วยเหลือเกื้อกูลเป็นฝ่ายเข้ามาหาและฤๅษีเองเจตนาจะช่วยโดยอ้างว่า เป็นเงื่อนไขของวิบากกรรมในชาติก่อนที่จะต้องช่วยเหลือ วิธีช่วยเหลือ เช่น ช่วยชุบชีวิตให้กลับคืน ช่วยบอกความจริงเมื่อถูกหลอกลวงด้วยอุบายจะยังผลให้ถึงแก่ชีวิต ช่วยถอนพิษร้ายจากอาวุธของศัตรู ช่วยถอนคำสาป ช่วยชี้แนะทางเดินเพื่อให้พ้นอันตรายและถึงจุดหมาย ช่วยแก้ปริศนาและบอกอุบาย เป็นต้น
๒) ทำหน้าที่ประสิทธิประสาทวิทยาคุณ เช่น ให้สามารถล่องหนหายตัว เนรมิตกายได้ มีคาถาอาคมป้องกันตัว ศิษย์ที่สอนมีทั้งหญิงและชาย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์สูง และผู้ติดตาม ถ้าเป็นเพศชายความรู้ที่ให้มักเพื่อการป้องกันตัวมากกว่าการรู้วิธีทำลายล้าง ถ้าเป็นเพศหญิงอาจให้มีฤทธิ์เดชในเชิงรบด้วย ไม่ค่อยปรากฏว่าสอนให้ศิษย์ฉลาดหลักแหลมเชิงใช้สติปัญญามีไหวพริบปฏิภาณ
๓) ชุบเลี้ยงเด็กกำพร้า หรือผู้ไร้ที่พึ่งพา ส่วนมากเป็นพวกผู้ดีตกยากหรือเชื้อพระวงศ์ที่ถูกขับไล่ออกจากเมืองเพื่อไม่ให้ได้ราชสมบัติ
๔) ทุ่มตัวเข้าแก้ปัญหาแทน เมื่อสถานการณ์คับขันถึงที่สุด และเกินกำลังความสามารถของศิษย์หรือฝ่ายธรรมะ
ฤๅษีหนังตะลุงอีกประเภทหนึ่งคือฤๅษีทุศีล จัดอยู่ในประเภทรูปกากเป็นผู้ปฏิบัติผิดสมณเพศ ลุ่มหลงอบายมุข เช่น กินเหล้าเมายา คอยช่วยเหลือพวกพาลเกเร บุคลิกไม่น่าศรัทธา มีคำเรียกฤๅษีประเภทนี้ว่า “ฤๅษีเซ่ง” บางทีเรียกชื่อพิเศษออกไปตามพฤติกรรมที่เด่นชัด เช่น ฤๅษีนกกรง (ชอบต่อนก) ฤๅษีสุกหรือฤๅษีทองสุก (เป็นฤๅษีที่รักทางสนุกบันเทิงร้องรำทำเพลง) ฤๅษีขี้เมา (กินเหล้าเมายาถือขวดเหล้าแทนตาลปัตร) ฤๅษีประเภทฤๅษีเซ่งนี้ จะทำรูปร่างให้ไม่น่าศรัทธา คืออาจเป็นฤๅษีหลังโค้ง ท้องป่อง มือถือขวดเหล้าแทนตาลปัตร เป็นต้น
ฤๅษีทุศีลหรือฤๅษีเซ่งของหนังตะลุงนอกจากมีขึ้นเพื่อล้อเลียนคนบาปที่อยู่ในคราบของนักบวช นักบุญแล้ว ยังเป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของศิลปการแสดงหนังตะลุงที่มุ่งสร้างนิสัยให้แก่รูปหนังที่ถือเพศเดียวกัน แต่มีลักษณะนิสัยต่างกัน ทำให้เกิดคุณค่าด้านศิลปะแห่งความขัดแย้งสูงขึ้น เช่น ในบรรดายักษ์จะมีทั้งยักษ์กินคน ยักษ์ใจบุญสุนทาน และยักษ์บ้าหรือเดนยักษ์ (ดู ยักษ์) ในเพศของฤๅษีจึงมีทั้งฤๅษีทรงศีล (เด่นทางฝ่ายศีลธรรม) ฤๅษีเซ่ง (เด่นทางฝ่ายทำลายศีลธรรม) ทำให้ผู้ชมเกิดแนวคิดกว้างขวางยิ่งขึ้น สามารถนำเอาสภาพสังคมสมัยใหม่เข้ามาสอดแทรกได้อย่างพอเหมาะ อันทำให้หนังตะลุงเป็นที่ต้องการ ของสังคมทุกยุคทุกสมัย
ตัวอย่างบทพากย์ฤๅษีเซ่ง (จากบันทึก อำนาจ นภาพงษ์)
“จะกล่าวถึงพระโยคีฤๅษีแหบ
หว่างขาแสบชอกช้ำเพราะทำงานหนัก
เที่ยวยกหฺมฺรำบำเพ็ญกิจวิดปลาคลัก
ทำแร้วดักแย้ขายหลายชนิด
ทั่วร่างกายลายเป็นแท่นผุดแว่นกลาก
ตั้งแต่ปากไปถึงท้องมันเป็นของศักดิ์สิทธิ์
ไม่อาบน้ำถือลามกยกอาทิตย์
ขี้ไคลติดงอกเป็นเกล็ดเท่าเท่าเม็ดหัวคลก
มีไม้เท้ากายสิทธิ์ฤทธิ์เดช
เมื่อมีเหตุสำคัญหัวมันถก
พอเข้าแค่แม่ชีสาวไม้เท้ายก
ต้องทุบนกมาวางหว่างขาลึก
อยู่สำนักพักลูกกุฏิสวยสุดขีด
ใช้กล่องบรีสทำฝาหอมนาสึก
เอากล่องแฟ้บมุงหลังคาหนาเป็นปึก
ไม้ราชพฤกษ์ทำฟากถากจนหายคด
ยามฝนตกลมมาน่าหวาดเสียว
หลังคาเขียวมีฟองกองเต็มหมด
น้ำฟองไหลไต่หลังคาลงมารด
ต้องนั่งถดเกากลากลากเป็นชุดชุด
น้ำแฟ้บประชะขี้ไคลไหลเป็นสี
ถูกของดีเจ็บแสบแทบ (ส) บงหลุด
สองมือเกาปากก็สูดซู้ดไม่หยุด
จนพลัดกุฏิเอาหลังลงตรงคลองลึก
พระโยคีคลานสี่ตีนปีนสอกแสก
ผ้า (ส) บงแหกเห็นวาน (ก้น) ลายเท่าควายถึก
ต้องรีบกำหยำหัวไถใส่ลูกตึก (วิ่ง)
วิ่งไปทึกย่านลิเพาเอามาเย็บบง...”