ธงหางไก่

ธงหางไก่



          ธงหางไก่ เป็นธงที่ใช้ปักไว้บนเสาสูงเมื่อมีงานสมโภชหรือฉลองสิ่งก่อสร้างที่เป็นสาธารณประโยชน์ เช่น ศาลา บ่อน้ำ สะพาน ถนน อุโบสถ กุฏิ เจดีย์ ฯลฯ ทั้งในและนอกวัด ลักษณะเป็นธงรูปสามเหลี่ยมชายธงหรือสามเหลี่ยมมุมฉากที่มีด้าน ๒ ด้านยาวเป็น ๔-๕ เท่าของอีกด้านหนึ่ง ด้านยาวด้านหนึ่งเย็บเป็นถุงเพื่อใช้ปลายลำไม้ไผ่สอดใส่เข้าไปให้มีลักษณะโค้งงอนไปตามลำไม้ไผ่ซึ่งเป็นเป็นคันธง ที่ชายธงทั้งด้านบนและด้านล่างรวม ๒ ชาย มีลูกตุ้มซึ่งทำด้วยเศษผ้าหรือด้ายห้อยให้ดูสวยงาม และคันธงจะต้องปักให้ติดต่ออยู่กับฐานและห่วงซึ่งติดไว้ที่ส่วนปลายของเสาธงใหญ่ เพื่อให้ธงติดอยู่ได้และสามารถหมุนไปตามทิศทางของลมได้ด้วย ที่ยอดของเสาธงนิยมทำเป็นหุ่นนกหรือฉัตรเพื่อให้ดูสวยงามด้วย ตอนกลางของเสาก็นิยมทำเป็นขาหยั่ง ๒ ขา ปักติดกับพื้นเพื่อให้หนีบโคนเสาให้เสาสามารถยืนอยู่ได้ และที่ส่วนปลายของขาหยั่งทั้งคู่แกะสลักเป็นรูปหางหงส์หรือลูกตุ้มตามต้องการ ธงหางไก่นิยมทาสีฉูดฉาด เมื่อมีงานสมโภชหรือฉลองสิ่งต่าง ๆ ก็ใช้ธงนี้ปักไว้บนเสาสูงตลอดงานและปล่อยไว้ให้ผืนธงขาดไปเอง เมื่อมีงานใหม่ก็เปลี่ยนผืนธงและคันธงใหม่ หรือถ้าเป็นเสาธงที่ทำชั่วคราวก็ต้องเปลี่ยนเสาด้วย 

ชื่อคำ : ธงหางไก่
หมวดหมู่หลัก : สิ่งของ เครื่องมือเครื่องใช้
หมวดหมู่ย่อย : เบ็ดเตล็ด
ชื่อผู้แต่ง : นเรศ ศรีรัตน์
เล่มที่ : ๗
หน้าที่ : ๓๕๔๒