ฤกษ์ : ความหมายทางโหราศาสตร์

ฤกษ์ ความหมายทางโหราศาสตร์ 



ฤกษ์ ในทางโหราศาสตร์มีความหมายเป็น ๒ อย่าง คือ หมายถึงกลุ่มดาวที่อยู่ประจำที่ในท้องฟ้าเป็นที่หมายให้ทราบถึงตำแหน่งของดาวพระเคราะห์ที่โคจรไปกับเวลาหรือคราวที่เหมาะแก่การทำการทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะได้กล่าวถึงรายละเอียดดังนี้

กลุ่มดาวฤกษ์ 

        กลุ่มดาวที่อยู่ประจำที่ในท้องฟ้าที่เรียกว่าดาวฤกษ์นั้น ตำราดาราศาสตร์แต่ก่อนท่านกำหนดเป็น ๒๗ นักษัตร เรียงรายตามลำดับจากจุดเริ่มต้นราศีเมษไปจนถึงจุดสิ้นสุดราศีมีน เมื่อโยงเส้นระหว่างดวงดาวในกลุ่มจะเห็นเป็นรูปร่างต่าง ๆ แตกต่างกันไปตามสำนัก ทั้งนี้หมายถึงว่าต้องสังเกต เมื่อดาวฤกษ์อยู่ทางทิศตะวันออกของจุดขอบฟ้า หากดาวฤกษ์อยู่ทางทิศตะวันตกจะมองได้ลำบาก (เช่น ดาวเรือเมื่อมองทางทิศตะวันออกจะเห็นเป็นเรือจริง ๆ แต่เมื่อมองทางทิศตะวันตกจะกลายเป็นภาพเรือคว่ำลง เป็นต้น)

ดาวฤกษ์ทั้ง ๒๗ นักษัตร มีดังนี้

อัศวินี หรือ อัสยุช เรียกกันในภาษาไทยว่าดาวม้าบ้าง ดาวคอม้าบ้าง บางทีเรียกดาวหางหนู ประกอบด้วยดวงดาวเรียงรายต่อกัน ๗ ดวง
. ภรณี เรียกว่าดาวแม่ไก่ หรือดาวก้อนเส้า ประกอบด้วยดาว ๓ ดวงเรียงเป็นรูป ๓ เหลี่ยม
กฤตติกา เรียกว่าดาวลูกไก่ หรือดาวธง (๓ เหลี่ยม) มีดาวเกาะกลุ่มกันอยู่ ๘ ดวง
โรหิณี เรียกว่าดาวจมูกบ้าง ดาวไม้ค้ำเกวียนบ้าง หรือบางทีก็เรียกดาวคางหมู หรือกลุ่มดาวประกายพฤกษ์ ประกอบด้วยดาว ๗ ดวง เรียงรายเป็นรูปไม้ค้ำเกวียน
มฤคศิระ เรียกว่าดาวหัวเนื้อ หรือดาวหัวเต่า ประกอบด้วยดาว ๓ ดวงเรียงเป็นกระจุก ๓ เหลี่ยม
อารทะ หรือ อารทรา เรียกว่าดาวฉัตรหรือดาวใบสำเภามีดาวเรียงรายกันอยู่ ๖ ดวง บางตำราถือเอาเพียงดวงสุกใสดวงเดียว เรียกว่าดาวตาสำเภา
ปุนัพสุ เรียกกันว่าดาวเรือชัยบ้าง ดาวสำเภาบ้าง บางตำราถือเอาเพียง ๓ ดวง ที่เรียงเป็นรูปโค้งท้องเรือ บางตำราว่ามี ๖ ดวง เพราะเพิ่มท้ายเรือและเสากระโดงเข้าด้วย
ปุษยะ เรียกว่าดาวปุยฝ้ายบ้าง ดาวสมอสำเภาบ้าง ดาวปูบ้าง ดาวดอกบัวบ้าง บางทีเรียกดาวพวงดอกไม้ มีดาวเรียงกันอยู่ ๖ ดวง (รูปสมอ) หรือ ๕ ดวง เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู
อสิเลสะ เรียกกันว่าดาวเรือนบ้าง ดาวพ้อมบ้าง บางทีเรียกดาวแขนคู้ มีดาวเรียงกัน ๕ ดวง
๑๐มาฆะเรียกว่าดาวลิงบ้าง ดาวงูตัวผู้บ้าง ดาวงูเลื้อยบ้าง มีดาวเรียงสลับกัน ๕ ดวง
๑๑บุพผลคุนี เรียกว่าดาวเพดานหน้าบ้าง ดาวงูตัวเมียบ้าง ดาวแรดตัวผู้บ้าง มีดาวเรียงกัน ๒ ดวง (ดาวเพดานหน้า) หรือ ๕ ดวง (งูตัวเมีย)
๑๒อุตรผลคุนี เรียกว่าดาวงูเหลือมบ้าง ดาวเพดานหลังบ้าง ดาวแรดตัวเมียบ้าง แล้วแต่จะดูเพียง ๒ ดวง หรือ ๘ ดวง
๑๓หัสตะ หรือ หัตถะ เรียกว่าดาวฝ่ามือ หรือดาวศอกคู้ บางทีเรียกดาวหัวช้าง มีดาวเรียงกันอยู่ ๕ ดวง แถบบน ๓ ดวง แถบล่าง ๒ ดวง จึงผายเป็นฝ่ามือ
๑๔จิตรา หรือ จิตตะ เรียกว่าดาวตราจระเข้ ดาวต่อมน้ำหรือดาวใต้ไฟ เพราะมีดาวสุกใสเพียงดวงเดียว
๑๕สวาตี หรือ สาตี เรียกว่าดาวกระออมน้ำ ดาวช้างพัง หรือดาวดวงแก้ว มีดาวเรียงเป็น ๒ แถว แถวบน ๔ ดวง แถวล่าง ๓ ดวง
๑๖วิสาขะ เรียกว่าดาวแขนนาง (ดูเพียงเรียงเป็นแนวโค้ง ๓ ดวง) ดาวหนองลาด หรือดาวฆ้อง (๕ ดวง)
๑๗อนุราธ เรียกว่าดาวฉัตร ดาวหงอนนาค หรือดาวธนู (หน้าไม้) ประกอบด้วยแถวดาวตัดกันเหมือนรางและคันหน้าไม้ (คือดาวที่เป็นหัวของแมงป่องที่เป็นราศีพิจิก)
๑๘เชฎฐะ เรียกว่าดาวช้าง หรือดาวคอนาค มีดาวเรียงกัน ๔ ดวง (คือที่เป็นตัวของแมงป่อง)
๑๙มูละ เรียกว่าดาวช้างน้อย หรือดาวสะดือนาค มีดาวเรียงรายกันอยู่ ๙ ดวง
๒๐บุพพาษาฒ เรียกว่าดาวสัปคับช้าง หรือดาวปากนก หรือดาวราชสีห์ตัวผู้ มีดาวเรียงกัน ๓ ดวง (ปากนก) หรือ ๖ ดวง (สัปคับช้าง)
๒๑อุตราษาฒ เรียกว่าดาวแตรงอน หรือดาวราชสีห์ตัวเมียหรือดาวครุฑ มีดาวเรียงโค้ง ๕ ดวง หรือ ๖ ดวง ตรงปลาย ๒ ดวง (ปากแตร)
๒๒สาวนะ (หรือ สราวนะ) เรียกว่าดาวหลักชัย หรือดาวหาผี หรือดาวโลง มีดาวเรียงกัน ๓ ดวง ดวงกลางสุกใสกว่าอีก ๒ ดวง
๒๓ธนิฎฐะ เรียกว่าดาวไซ หรือดาวกา มีดาวเรียงเป็น ๔ ดวง เป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน
๒๔ศตภิษัช หรือ สตัพพิส เรียกว่าดาวมังกร หรือดาวพิมพ์ทอง มีดาวเรียง ๔ ดวง อยู่กลาง ๑ ดวง อีก ๓ ดวงอยู่รายรอบเป็น ๓ เส้า
๒๕บุพภัทรบท เรียกว่าดาวหัวทราย หรือดาวราชสีห์ตัวผู้ หรือดาวเพดาน หรือดาวแรดผู้ มีดาวอยู่ ๒ ดวง หรือ ๗ ดวง แล้วแต่จะจัดเป็นรูปใด
๒๖อุตรภัทรบท คือดาวไม้เท้า หรือดาวราชสีห์ตัวเมีย หรือดาวเพดาน มีดาวเรียงกัน ๒ ดวง หรือ ๓ ดวง
๒๗เรวดี เรียกว่าดาวปลาตะเพียน หรือดาวหญิงมีครรภ์ มีดาวเรียงรายเป็นรูปปลา ๓๖ ดวง

         ดาวฤกษ์ต่าง ๆ ทั้ง ๒๗ นักษัตรที่กล่าวมานี้ หากดาวพระเคราะห์ใดโคจรผ่านก็เรียกว่าเสวยฤกษ์ เช่น ดวงจันทร์โคจรผ่านดาววิสาขะ (ฤกษ์ที่ ๑๖) ก็เรียกว่า จันทร์เสวยฤกษ์วิสาขะ หรือดาวเสาร์โคจรผ่านดาวฤกษ์มูละ (ฤกษ์ที่ ๑๙) ก็เรียกว่า เสาร์เสวยฤกษ์มูละ ฯลฯ เป็นต้น ฤกษ์ที่นิยมใช้กันในทางโหราศาสตร์คือฤกษ์จันทร์ อันหมายถึงเวลาที่จันทร์โคจรผ่านดาวฤกษ์ที่เหมาะแก่การนั้น ๆ

         ในการกำหนดฤกษ์ ผู้กำหนดนิยมพิจารณาฤกษ์จันทร์ควบคู่กับฤกษ์ที่ปริ่มขอบฟ้าตะวันออกขึ้นมาในโอกาสนั้นด้วย หมายความว่าขณะที่ประกอบพิธีนั้น ดาวฤกษ์ใดกำลังขึ้น (อุทัย) ที่ขอบฟ้าตะวันออก ฤกษ์ที่ปริ่มขอบฟ้าตะวันออกนี้เรียกว่า ฤกษ์ลัคน์ (คือลัคนาเสวยฤกษ์) เช่น เมื่อประกอบพิธีฝังเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ เมื่อ ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ เวลา ๐๖.๕๔ นาฬิกา นั้น ดาวฤกษ์ภรณี อุทัยขึ้น ณ ขอบฟ้าตะวันออก ลัคนาดวงเมืองจึงเสวยฤกษ์ภรณี เป็นต้น (ส่วนจันทร์เสวยฤกษ์ปุษยะ)

ฤกษ์ต่าง ๆ  

การที่ดวงจันทร์โคจรผ่านนักษัตรต่าง ๆ และนักษัตรต่าง ๆ อุทัยนั้น โบราณท่านบันทึกเป็นสถิติจนกำหนดว่าเหมาะแก่การกระทำการต่าง ๆ กัน จึงได้กำหนดเป็นฤกษ์ต่าง ๆ ดังนี้

ทลิทโทฤกษ์ ทลิทโท แปลว่าคนเข็ญใจ ฤกษ์นี้เหมาะแก่การสู่ขอ ทวงหนี้ หมั้น หรือเปิดร้านขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ นักษัตรที่จัดเป็นทลิทโทฤกษ์คือ อัศวินี มาฆะ และมูละ (ฤกษ์ที่ ๑, ๑๐, ๑๙)
มหัทธโนฤกษ์ คือฤกษ์ผู้มีทรัพย์มาก เหมาะแก่การมงคลทุกอย่าง เช่น แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่เปิดห้างสรรพสินค้า เป็นต้น นักษัตรที่จัดเป็นมหัทธโนฤกษ์ คือภรณี บุพผลคุนี และบุพพาษาฒ (ฤกษ์ที่ ๒, ๑๑, ๒๐)
โจโรฤกษ์ คือฤกษ์โจร เหมาะแก่การปล้นค่าย ตีทัพ เจรจาขั้นแตกหัก การเข้าผจญภัย เป็นต้น นักษัตรที่จัดเป็นโจโรฤกษ์คือ กฤตติกา อุตรผลคุนี และอุตราษาฒ (ฤกษ์ที่ ๓, ๑๒, ๒๑)
ภูมิปาโลฤกษ์ คือฤกษ์ผู้ครองแผ่นดิน เหมาะแก่การปลูกบ้าน สร้างเมือง ตั้งศาลพระภูมิ ก่อสร้างอาคารที่ทำการ เป็นต้น นักษัตรที่จัดเป็นภูมิปาโลฤกษ์ คือ โรหิณี หัสตะ และสาวนะ (ฤกษ์ที่ ๔, ๑๓, ๒๒)
เทศาตรีฤกษ์ คือฤกษ์หญิงแพศยา เหมาะแก่การเปิดร้านค้า สถานมหรสพ บ่อนการพนัน สโมสร หอประชุม เป็นต้น นักษัตรที่จัดเป็นเทศาตรีฤกษ์ คือ มฤคศิระ จิตรา และธนิฎฐะ (ฤกษ์ที่ ๕, ๑๔, ๒๓)
เทวีฤกษ์ คือฤกษ์พระนางเจ้า เหมาะแก่การมงคลทุกอย่างที่เกี่ยวแก่สตรี เช่น เปิดร้านเสริมสวย โรงเรียนสตรี เป็นต้น นักษัตรที่จัดเป็นเทวีฤกษ์คือ อารทะ สวาตี และศตภิษัช (ฤกษ์ที่ ๖, ๑๕, ๒๔)
เพชฌฆาตฤกษ์ คือฤกษ์ผู้ฆ่า เหมาะแก่การปล้นค่าย ตีทัพ ปราบโจร ตั้งโรงอาวุธ ปลุกเสกของขลัง เคลื่อนทัพ ตั้งค่าย เป็นต้น นักษัตรที่จัดเป็นเพชฌฆาตฤกษ์คือ ปุนัพสุ วิสาขะ และบุรพภัทรบท (ฤกษ์ที่ ๗, ๑๖, ๒๕)
ราชาฤกษ์ คือฤกษ์พระเจ้าแผ่นดิน ใช้ในการมงคล เช่น ราชาภิเษก เปิดที่ทำการรัฐบาล สถานทูต ขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น นักษัตรที่จัดเป็นราชาฤกษ์คือ ปุษยะ อนุราธ และอุตรภัทรบท (ฤกษ์ที่ ๘, ๑๗, ๒๖)
สมโณฤกษ์ คือฤกษ์ผู้สงบ เหมาะแก่การศาสนา เช่น วางศิลาฤกษ์อุโบสถ วิหาร กุฏิสงฆ์ องค์การกุศล มูลนิธิ พุทธาภิเษก เป็นต้น นักษัตรที่จัดเป็นสมโณฤกษ์ คือ อสิเลสะ เชฏฐะ และเรวดี (ฤกษ์ที่ ๙, ๑๘, ๒๗)

         ฤกษ์ต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้เป็นปรากฏการณ์ในท้องฟ้า บางทีจึงเรียกว่า ฤกษ์บน ผู้ที่รู้จักดาวฤกษ์ต่าง ๆ สามารถดูและเห็นได้บางส่วนในคืนที่ท้องฟ้าแจ่มใส การกำหนดฤกษ์จากการเฝ้ามองเป็นเรื่องที่ไม่สะดวกและเสียเวลา ในการหาฤกษ์จริง ๆ โหรหรือผู้หาฤกษ์จึงนิยมใช้วิธีคำนวณตามหลักในคัมภีร์สุริยาตร หรือไม่ก็อาจดูจากปฏิทินดาราศาสตร์สำเร็จ หรือแป้นหมุนหาลัคนาสำเร็จก็ได้ 


ชื่อคำ : ฤกษ์ : ความหมายทางโหราศาสตร์
หมวดหมู่หลัก : ศาสนา และความเชื่อ
หมวดหมู่ย่อย : โหราศาสตร์ ฤกษ์ยาม และพยากรณ์
ชื่อผู้แต่ง : ล้อม เพ็งแก้ว
เล่มที่ : ๑๔
หน้าที่ : ๖๗๑๐