วัฒนธรรมภาคใต้ที่เกี่ยวกับฤดูกาล จำแนกเป็น ๒ ลักษณะ ลักษณะแรกเป็นฤดูกาลที่เกิดจากความเปลี่ยนแปรของดินฟ้าอากาศในรอบปีหนึ่ง ๆ อันเนื่องแต่ลมและฝนเป็นสำคัญ เรียกช่วงเจริญพันธุ์ของสัตว์บางชนิด เรียกระยะเวลาช่วงตอนสำคัญช่วงตอนหนึ่ง ๆ ของการทำนา และเรียกฤดูกาลที่ทิศทางลมปรากฏเด่นชัดในรอบปี ภาษาถิ่นใต้เรียกฤดูกาลตามนัยนี้ว่า “ดู” หรือ “หน้า” อีกลักษณะหนึ่งเป็นฤดูกาลช่วงที่สภาพดินฟ้าอากาศ เอื้ออำนวยให้พืชพรรณธัญญาหารชนิดต่าง ๆ เจริญพันธุ์ในรอบปีหนึ่ง ๆ อันเนื่องแต่น้ำฝนและความพอเหมาะของความชุ่มชื้นเป็นสำคัญ ภาษาถิ่นใต้เรียกฤดูกาลตามนัยนี้ว่า “หยาม” ฤดูกาลทั้ง ๒ ลักษณะดังกล่าวแล้วมีรายละเอียดของวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องต่างกันดังต่อไปนี้
๑. ดู หรือ หน้า
ฤดูกาลในรอบปีหนึ่ง ๆ ที่ต่างกันอันเนื่องแต่ลมและฝน ภาคใต้
ตารางแสดงปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยของจังหวัดต่าง ๆ ในภาคใต้
จังหวัด |
ปริมาณเฉลี่ย ตลอดปี |
เดือนที่มีปริมาณ น้อยที่สุด / ปริมาณ |
เดือนที่มีปริมาณ มากที่สุด / ปริมาณ |
ชุมพร |
๒,๐๒๙.๓ |
มี.ค./๕๘.๙ |
พ.ย./๓๕๔.๖ |
ระนอง |
๔,๒๗๕.๔ |
ก.พ./๑๔.๓ |
มิ.ย./๗๔๙.๙ |
สุราษฎร์ธานี |
๑,๗๑๐.๐ |
ก.พ./๑๑.๔ |
พ.ย./๓๔๐.๕ |
พังงา |
๓,๐๑๒.๑ |
ก.พ./๔๖.๗ |
ก.ย./๔๖๐.๑ |
นครศรีธรรมราช |
๒,๔๒๙.๔ |
มี.ค./๔๓.๙ |
พ.ย./๖๐๙.๗ |
กระบี่ |
๑,๘๕๒.๓ |
ก.พ./๒๔.๗ |
ก.ย./๒๙๘.๙ |
ภูเก็ต |
๒,๓๓๗.๕ |
ก.พ./๒๓.๗ |
ก.ย./๓๖๙.๙ |
พัทลุง |
๒,๒๙๒.๒ |
ก.พ./๓๙.๑ |
พ.ย./๖๙๕.๒ |
ตรัง |
๒,๓๒๗.๔ |
ก.พ./๒๕.๕ |
ก.ย./๓๓๕.๘ |
สงขลา |
๒,๐๙๓.๘ |
ก.พ./๓๑.๗ |
พ.ย./๕๘๒.๒ |
ปัตตานี |
๑,๘๑๖.๓ |
ก.พ./๒๖.๑ |
พ.ย./๔๓๒.๑ |
สตูล |
๒,๕๔๐.๑ |
ก.พ./๒๘.๙ |
ต.ค./๓๘๒.๖ |
ยะลา |
๑,๗๒๙.๙ |
ก.พ./๓๐.๙ |
ธ.ค./๒๘๙.๖ |
นราธิวาส |
๒,๖๑๘.๘ |
ก.พ./๕๓.๘ |
พ.ย./๖๓๙.๐ |
ที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงคมนาคม
ตารางแสดงอุณหภูมิเฉลี่ยของจังหวัดในภาคใต้
จังหวัด |
อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี |
เดือนที่อุณหภูมิต่ำสุด/ อุณหภูมิองศาเซลเซียส |
เดือนที่อุณหภูมิสูงสุด/ อุณหภูมิองศาเซลเซียส |
ชุมพร |
๒๖.๘ |
ธ.ค./๒๔.๗ |
เม.ย./๒๘.๕ |
ระนอง |
๒๖.๓ |
ม.ค./๒๓.๑ |
เม.ย./๒๘.๔ |
สุราษฎร์ธานี |
๒๗.๕ |
ธ.ค.๒๕.๖ |
เม.ย./๒๙.๐ |
พังงา |
๒๗.๐ |
ม.ค./๒๕.๘ |
มิ.ย./๒๘.๑ |
นครศรีธรรมราช |
๒๗.๓ |
ธ.ค./๒๕.๗ |
พ.ค./๒๘.๕ |
ภูเก็ต |
๒๗.๒ |
ม.ค.-ธ.ค./๒๖.๓ |
เม.ย./๒๘.๓ |
ตรัง |
๒๗.๔ |
ม.ค./๒๔.๙ |
เม.ย./๒๘.๙ |
สงขลา |
๒๗.๘ |
ธ.ค./๒๖.๕ |
พ.ค./๒๘.๙ |
ปัตตานี |
๒๖.๗ |
ม.ค./๒๕.๑ |
พ.ค./๒๘.๑ |
สตูล |
๒๗.๔ |
ต.ค./๒๖.๖ |
มี.ค./๒๘.๖ |
นราธิวาส |
๒๖.๙ |
ธ.ค./๒๕.๘ |
พ.ค./๒๗.๙ |
ที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงคมนาคม
หมายเหตุ : จังหวัดกระบี่ พัทลุง ยะลา ไม่มีข้อมูล
เกือบทั้งภาคมีเพียง ๒ ดู คือ “ดูฝน” (หน้าฝน) และ “ดูแล้ง” หรือ “ดูร้อน” (หน้าแล้งหรือหน้าร้อน) ไม่มีฤดูหนาว ยกเว้นบางส่วนทางตอนเหนือของจังหวัดระนองและทางตอนเหนือของจังหวัดชุมพรซึ่งมีฤดูหนาวบ้าง แต่ไม่นานและไม่หนาวเท่าภาคกลางและภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย โดยปกติภาคใต้จะมีฤดูฝนยาวนานกว่าฤดูแล้ง กล่าวคือจะเป็นฤดูฝนประมาณ ๗-๘ เดือน เป็นฤดูแล้งประมาณ ๔-๕ เดือน ภาค ใต้ฝั่งตะวันตกจะเริ่มฤดูกาลเร็วกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันออกประมาณ ๑ เดือน และฤดูฝนจะยาวกว่าและฝนตกชุกกว่าฝั่งตะวันออก กล่าวคือ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก อันได้แก่ จังหวัดระนอง ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต และสตูล ฝนจะตกชุกตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ในช่วงนี้จะมีฝนตกประมาณ ๑๗-๒๗ วันต่อเดือน และเดือนที่มีฝนตกชุกมากที่สุด คือเดือนกันยายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีในเขตนี้วัดได้ ๓,๐๒๖.๕ มิลลิเมตร (๑๑๙.๒ นิ้ว) ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ฝนจะตกชุกตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนมกราคม และฝนจะตกหนักระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีของเขตนี้ประมาณ ๒,๒๓๐ มิลลิเมตร (๘๗.๘ นิ้ว)
ภาคใต้มีความชื้นสัมพัทธ์หรือความชุ่มชื้นของอากาศโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ ๘๐ อุณหภูมิเกือบคงที่ตลอดปีโดยมีค่าเฉลี่ยประมาณ ๒๗.๒ องศาเซลเซียส ผลต่างของอุณหภูมิสูงสุดและต่ำสุดอยู่ระหว่าง ๒-๓ องศาเซลเซียส
ในฤดูฝนภาคใต้บางท้องที่ที่อยู่ในที่ราบลุ่มและการถ่ายเทของน้ำไม่ดีพอ น้ำมักจะท่วม อาจท่วมอยู่นาน ๑๕-๓๐ วัน หรือนานกว่านั้น และมักท่วมเป็นประจำทุกปี เรียกช่วงที่น้ำท่วมนั้นว่า “ดูพะ” หรือ “ดูน้ำ” ก่อนถึงช่วงนี้ชาวบ้านในถิ่นนั้น ๆ ต้องเตรียมการล่วงหน้าเพื่อรับสถานการณ์และแก้ปัญหาอันเนื่องแต่น้ำท่วม เช่น ต้องเตรียมผ่าฟืนตากแดดเก็บสำรองไว้ให้พอใช้ตลอดช่วงน้ำท่วม ต้องซ้อมข้าวสารไว้ให้พอกินตลอดฤดู (เพราะฤดูน้ำท่วม ฝนจะตกหนักตลอดวันตลอดคืนไม่มีแดดสำหรับตากข้าวเปลือกเพื่อสีและซ้อมเป็นข้าวสารได้) ต้องเตรียมอาหารแห้ง เครื่องแกงไว้ให้พอกินพอใช้ นอกจากนี้ต้องเตรียมทำคอกสัตว์เลี้ยงบางชนิดไว้ในที่น้ำท่วมไม่ถึง เช่น คอกวัว ควาย หมู ไก่ แพะ แกะ เป็นต้น ต้องเตรียมเรือแพสำหรับสัญจรทางน้ำแทนทางบก ต้องเตรียมเครื่องกางฝน เหล่านี้เป็นต้น
อนึ่ง เนื่องจากใน “ดูพะ” ฝนตกหนักอากาศค่อนข้างเย็นจัด แปรปรวน และขาดแคลนอาหารจึงมักเป็นอันตรายต่อชีวิตสัตว์เลี้ยงและคนชรา ด้วยเหตุนี้คนที่ชรามาก ๆ หรือคนที่ล้มป่วยอาการหนักในช่วงนี้มักจะพูดเป็นสำนวนว่า “กลัวจะอยู่ได้ไม่ข้ามพะ” หรือ “เห็นจะไม่รอดพะเสียแล้ว” อันหมายถึงว่าถ้าสามารถประคับประคองชีวิตให้ผ่านพ้นฤดูน้ำท่วมไปได้ความหวังก็จะมีมากขึ้น
แม้ว่าฤดูฝนจะเอื้ออำนวยต่อการทำนาและทำสวน แต่ก็เป็นอุปสรรคบางประการ เช่น อุปสรรคต่อการกรีดยางพารา การออกทะเลเพื่อการประมง และการสัญจรไปมาหาสู่กัน ชาวภาคใต้จึงงดจัดงานประเพณี งานรื่นเริง โดยรอให้ถึงดูแล้งหรือหน้าแล้งถึงจะจัดงาน จึงมีสำนวนพูดเป็นเชิงรอคอยฤดูกาลช่วงนั้นหลายสำนวน เช่น “ขึ้นแห้งขึ้นแล้งจะหาเมียให้ลูก” “ตกแห้งตกแล้งจะสร้างบ้านใหม่” “หน้าแห้งหน้าแล้งจะรับโนรามาแข่ง” เป็นต้น ดูแล้งเป็นฤดูกาลที่นักแสดง เช่น โนรา หนังตะลุง เป็นต้น นิยมเดินโรง คือตระเวนแสดงไปตามที่ต่าง ๆ ทั้งต่างจังหวัดและบางทีก็ต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่เดือน ๕ ไปจนถึงเดือน ๙ หรือเดือน ๑๐ เพราะนอกจากจะเดินทางสะดวกแล้วยังเป็นระยะที่มีงานรื่นเริงชุกชาวบ้านก็มีเวลาว่างมาก แม้ดนตรีลูกทุ่งจากภาคกลางก็นิยมเดินสายแสดงในภาคใต้ในฤดูนี้
“ดู” ที่ใช้เรียกช่วงเวลาเจริญพันธุ์ของสัตว์บางชนิด เช่น
ดูนกไข่ หมายถึงฤดูกาลที่นกส่วนมากวางไข่
ดูปลาไข่ หมายถึงฤดูกาลที่ปลาชนิดนั้น ๆ มีไข่เต็มท้อง
ดูวัวบ้าหย็อง หมายถึงฤดูกาลที่วัวผสมพันธุ์ ซึ่งมักเป็นช่วงเดียวกับที่มี “ฝนพรัด” เริ่มตก คือเริ่มฤดูมรสุมตะวันตก เมื่อถึงระยะนี้วัวจะเริ่มคึกคะนองไล่สมจรกัน เรียกว่า “วัวบ้าหย็อง”
“ดู” ที่ใช้เรียกระยะเวลาช่วงตอนสำคัญช่วงตอนหนึ่งของการทำนา ได้แก่ ดูไถ (หน้าไถหว่าน) ดูเพาะเลย (ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การตกกล้า) ดูดำนา (ฤดูกาลปักดำต้นกล้า สำหรับทำนาดำ) ดูเก็บข้าว (ฤดูกาลเก็บเกี่ยว)
“ดู” ที่หมายถึงฤดูกาลที่ทิศทางลมปรากฏเด่นชัดในรอบปี เช่น
ดูเภา หมายถึงฤดูกาลที่ลมตะเภา (ลมตะวันออกเฉียงเหนือ) พัดผ่าน
ดูว่าว หมายถึงฤดูกาลที่ลมเหนือพัดผ่าน
ดูพรัด หมายถึงฤดูกาลที่มรสุมตะวันตกพัดผ่าน ซึ่งเป็นฤดูฝนและฟ้าคะนอง
ดูพรัดยา หมายถึงฤดูกาลที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่าน
๒. หยาม
ฤดูกาลที่สภาพดินฟ้าอากาศอำนวยให้พืชพรรณธัญญาหารแต่ละชนิดเจริญงอกงามและให้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ ซึ่งปีหนึ่ง ๆ จะมีเพียงครั้งเดียว จึงเป็นเหตุให้คำว่า “หยาม” มีความหมายเท่ากับ ๑ ปีในบางกรณี
คำว่า “หยาม” น่าจะมาจากคำว่า “ยาม” แต่จำแนกความหมายให้ต่างกัน คือ ยามหมายถึงช่วงเวลาหนึ่งของวัน แต่หยามหมายถึงช่วงเวลาหนึ่งของปี
ฤดูกาลที่ชาวภาคใต้เรียกว่า “หยาม” จะเกี่ยวเนื่องกับฝนอยู่เสมอ ถ้าปีใดฝนตกต้องตามฤดูกาลปีนั้นพืชพรรณธัญญาหารทุกชนิดก็จะอุดมสมบูรณ์จึงเรียกปีนั้นว่า “ฝนให้หยาม” ในทางตรงกันข้ามถ้าปีใดฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรือฝนแล้งจัด ฝนตกน้อยเกินไป ฝนตกมากเกินไป เรียกว่า “ฝนไม่ให้หยาม” (มักออกเสียง “ฝน” เป็น “ขน”) ถ้าฝนตกล่าช้าผิดปกติเรียกว่า “หยามหล้า” (ล่าช้า)
เมื่อพืชผลชนิดใดตกผล (ตามฤดูกาล) ก็จะเรียกชื่อหยามตามชนิดของพืชผลนั้น ๆเช่น หยามเงาะ (ฤดูกาลที่ผลเงาะสุกชุก) หยามลางสาด (ฤดูกาลที่ผลลางสาดสุกชุก) หยามเรียน (ฤดูกาลที่ทุเรียนสุกชุก) รวมเรียกฤดูกาลที่ผลไม้สุกชุกว่า “หยามผลไม้” หรือ “หยามลูกไม้” ซึ่งจะตกประมาณกลางเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน มีผลไม้บางต้นหรือบางท้องถิ่นให้ผลช้าหรือเร็วกว่าปกติ เรียกว่า “นอกหยาม” หรือ “หลงหยาม” เช่น มังคุดนอกหยาม มะม่วงหลงหยาม เป็นต้น โดยปกติหยามลูกไม้ของภาคใต้จะช้ากว่าของภาคกลางและยิ่งเป็นบริเวณในภาคใต้ตอนล่างลงไปหยามลูกไม้ประเภทเดียวกันก็จะช้ากว่าตามลำดับ เช่น หยามหมาก บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราชและนราธิวาสจะช้ากว่ากันประมาณแห่งละ ๑-๒ เดือน ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการทำหมากแห้งเป็นอุตสาหกรรม จึงสามารถเคลื่อนย้ายแหล่งประกอบการหมุนตามไปเรื่อย ๆ (ดู หมาก)
ฤดูกาลที่ผลไม้ชุกชุมในภาคใต้ตกประมาณปลายเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนตุลาคม แต่ละท้องถิ่นมีผลไม้ขึ้นชื่อต่างกัน ทำให้เกิดวันผลไม้ชนิดนั้น ๆ ขึ้นหลายแห่ง เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี มี “วันเงาะโรงเรียน” (ราวเดือนสิงหาคม) จังหวัดนราธิวาสมี “วันลองกอง” (ราวเดือนสิงหาคม-กันยายน) จังหวัดระนองมี “วันกาหยู” คือวันมะม่วงหิมพานต์ (ราวเดือนตุลาคม) เป็นต้น
โดยเฉพาะฤดูกาลทำนา หรือหยามนาจะเรียกตั้งแต่ฤดูกาลไถหว่านไปจนกระทั่งฤดูกาลเก็บเกี่ยวรวมกันว่า “หยามนา” เรียกนาที่เหมาะแก่การทำนาตามฤดูกาลว่า “นาหยาม” เรียกข้าวที่ได้จากการทำนาหยามว่า “ข้าวหยาม” เรียกนาลึกที่เหมาะแก่การทำนาในฤดูแล้งว่า “นาปรัง” และเรียกข้าวที่ได้จากนาปรังว่า “ข้าวนาปรัง”
บางท้องถิ่นเรียกฤดูกาลที่เอื้ออำนวยแก่การประกอบอาชีพทางเกษตรกรรมด้านอื่น ๆ ให้ได้ผลดีว่าหยามเช่นกัน เช่น หยามร่อนแร่ (ฤดูกาลที่เหมาะแก่การร่อนแร่) หยามปลาทู (ฤดูกาลที่มีปลาทูชุกชุมและจับได้มาก) หยามนาเกลือ (ฤดูกาลที่เหมาะแก่การทำนาเกลือ) หยามสานสาดจูด (ฤดูกาลสานเสื่อกระจูด) เป็นต้น
ได้กล่าวแล้วว่าเนื่องจากผลผลิตของพืชผลแต่ละชนิดส่วนใหญ่จะมีเพียงปีละครั้ง คำว่าหยามจึงหมายถึงปีก็มี เช่น “ผ้าผืนเดียวใช้มา ๒ หยาม” หมายถึง ผ้าผืนเดียวใช้อยู่ ๒ ปี “ทำนาได้ผลดีหยามเว้นหยาม” หมายถึงทำนาได้ผลดีปีเว้นปี “ทำตัวอย่างนี้อยู่ได้ไม่กี่หยาม” หมายถึงวางตัวเช่นนี้คงมีอายุได้ไม่ยืน “ทำนาได้ไม่พอหยาม” หมายถึงทำนาได้ไม่พอกินตลอดปี (สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์)