ปรงทะเล : พืช
ชื่อท้องถิ่น : ปี้ยาฮ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acrostichum aureum Linn. ชื่อวงศ์ : PTERIDACEAE
ปรงทะเล เป็นพืชพวกเฟิน ลำต้นสั้น มีเกล็ดใหญ่สีน้ำตาลคล้ำ โคนต้นมีรากค้ำยัน ใบ ประกอบ แผ่นใบรูปขอบขนาน ยาว ๑๕๐-๓๐๐ เซนติเมตร กว้าง ๑๕-๔๐ เซนติเมตร ก้านใบยาว ๕๐-๑๐๐ เซนติเมตร ปลายก้านมีหนามสั้น ๆ ใบย่อยเรียงสลับ ๑๕-๓๐ คู่ รูปขอบขนานแคบ ยาว ๓๐-๕๐ เซนติเมตร กว้าง ๔-๘ เซนติเมตร ผิวเรียบ ปลายมนถึงหยักเว้า โคนสอบถึงมนกลม สองข้างไม่เท่ากัน เส้นกลางใบนูนเด่นทางด้านล่าง เส้นแขนงใบและเส้นย่อยอื่น ๆ ไม่เด่นชัด ใบย่อยที่สร้างสปอร์อยู่ตอนปลายก้านช่อใบ ขนาดเล็กกว่าใบย่อยอื่นทางด้านโคนใบ กลุ่มของอับสปอร์เรียงตัวชิดกันเต็มพื้นที่ด้านล่างของแผ่นใบย่อย ยกเว้นเส้นกลางใบ
ปรงทะเล ขึ้นในป่าหลังป่าชายเลนและป่าน้ำกร่อย แต่บางครั้งพบตามที่โล่งในป่าพรุ มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ของประเทศไทย ในต่างประเทศพบที่ประเทศเขตร้อนทั่วโลก ใบอ่อนกินได้ เป็นผักเหนาะ ยำ หรือแกงกะทิกับกุ้ง เนื้อ หัว บำรุงธาตุ ฝนกับสุราทาแก้ฟกบวม แก้แผลเรื้อรัง แก้แผลกลาย แผลเนื้อร้าย สมานแผล หัวใต้ดินผสมตัวยาอื่น ทาแก้งูสวัด ทาแก้ลมพิษ