พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช : ฉบับพระครูกาเดิม

พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช : ฉบับพระครูกาเดิม



         พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราชฉบับพระครูกาเดิม เป็นวรรณกรรมประวัติศาสตร์ กล่าวถึงการสร้างวัดท่าช้างและวัดเสมาทองในเมืองนครศรีธรรมราช ตลอดจนการกัลปนาคนและที่ดินให้กับวัดทั้งสอง ต้นฉบับเป็นสมุดไทยขาด (บุดขาว) ขนาด ๑๒ x ๓๘ เซนติเมตร เขียนด้วยเส้นหมึกสีดำ เป็นคำประพันธ์ประเภทร้อยแก้ว ต้นฉบับเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติพระนคร สถาบันทักษิณคดีศึกษาคัดลอกมาเก็บไว้เมื่อวันที่ ๑๘-๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ในบานแผนกของพงศาวดารฉบับนี้กล่าวว่า

 พงษาวดาร เมืองนครศรีธรรมราช เขียนที่วัดเสมาเมือง พระครูกาเดิมเขียนเองฯ

 สำหรับศาลากลาง เมืองนครศรีธรรมราช...

 พงษาวดารเมืองนครศรีธรรมราช ตอนนี้พระศิริธรรมบริรักษ์ (เย็น) ปลัดเมืองนครศรีธรรมราชได้คัตต้นฉบับเดิ่ม เป็นสมุทไทยสีขาว เขียนด้วยเส้นหมึกดำ ของนายช้วย ผู้ใหญ่บ้าน บ้านทุ๋งเจียะ ตำบลจันดี แขวงอำเภอฉวาง เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ร.ศ.๑๒๐

         จากข้อความในบานแผนกบ่งว่า พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราชฉับพระครูกาเดิมที่เก็บรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาตินั้นเป็นฉบับคัดลอก ซึ่งพระศิริธรรมบริรักษ์ (เย็น) ปลัดเมืองนครศรีธรรมราชคัดลอกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ส่วนต้นฉบับเดิมนั้นพระครูกาเดิมวัดเสมาเมืองเป็นผู้เขียน ซึ่งอาจเขียนขึ้นภายหลังการตั้งมณฑลนครศรีธรรมราช คือประมาณปี พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๔๔ จุดประสงค์ในการเขียนก็เพื่อเป็นเอกสารสำหรับบ้านเมือง ดังมีความปรากฏในบานแผนกข้างต้นว่า สำหรับศาลากลางเมืองนครศรีธรรมราช ส่วนเอกสารที่ใช้ประกอบการเขียนพงศาวดารฉบับนี้ อาจเป็นเอกสารกัลปนาวัดท่าช้างอารามหลวงและวัดเสมาทอง เพราะความส่วนใหญ่กล่าวถึงการอุทิศที่ดินและคนให้กับวัดทั้ง ๒ วัดนี้

         เกี่ยวกับผู้คัดลอกนั้น วิเชียร ณ นคร มีความเห็นว่าพระศิริธรรมบริรักษ์ ปลัดเมืองนครฯ คนดังกล่าวชื่อ ถัด เป็นน้องชายของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม ณ นคร) ส่วนพระยาศิริธรรมรักษ์ (เย็น สุวรรณปัทม์) นั้นเป็นผู้ว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒-๒๔๕๕ เป็นคนละคนกับพระศิริธรรมบริรักษ์ (ถัด) ซึ่งเป็นปลัดเมือง (พ.ศ. ๒๔๔๐-๒๔๔๗)

          เนื้อเรื่องของพงศาวดารฉบับนี้มีความว่า เริ่มเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๕๓๕ หลังจากที่พระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงสร้างเจดีย์พระบรมธาตุเสร็จได้ไม่นานก็สวรรคต พิริปิ และพิริมุย สองพี่น้องซึ่งเป็นบุตรสมเด็จนางมัดสาระเพรี พระขนิษฐาในพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ได้ให้พระราชโอรสเจ้าสุวรรณคูตานำพระราชธิดาเจ้าจันทรวดีไปถวายสมเด็จพระเจ้าอู่ทองแห่งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าอู่ทองจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าสุวรรณคูตาเป็นพระเจ้าศรีธรรมโศกราชสืบต่อจากพระราชบิดา ต่อมาอีก ๑๑ ปี มีเศรษฐีมอญสองสามีภรรยาชื่อ โคทะคิรีเศรษฐีและนางมระทานพิรี พร้อมด้วยน้องชาย ๒ คนชื่อ พระท้าวราชและพระท้าวศรี อพยพผู้คนจากเมืองหงษาวดี ประมาณ ๗๐๐ คนเศษ นำทองคำ ๒ เกวียน เงินตราหงษาอีก ๔ เกวียน รวมทั้งเครื่องบรรณาการจำนวนมากลบรรทุกเรือสำเภา ๓ ลำ เดินทางมาถึงเมืองนครศรีธรรมราช แล้วจัดผ้าผ่อนแพรพรรณขึ้นถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราชขอพระราชทานที่ดินตั้งบ้านเรือน พระเจ้าศรีธรรมโศกราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุนโยธาทิพย์ตำรวจนำไปตั้งบ้านอยู่ทางทิศพายัพของตัวเมือง ที่ตำบลท่าประตูช้าง โคทะคิรีเศรษฐีและน้องชาย ๒ คน ได้นำทองคำหนักคนละ ๑๐ ชั่ง ขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ขอให้ช่างแผ่ทองคำสวมยอดเจดีย์พระบรมธาตุ แล้วทำบุญให้ทาน

           โคทะคิรีเศรษฐีมีบุตรชายหญิง ๒ คน ชื่อนนทกุมารและเจ้าสุวรรณมาลา นนทกุมารบุตรชายนั้นได้เป็นข้าราชสำนักของพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ส่วนบุตรสาวเจ้าสุวรรณมาลาต่อมาได้อภิเษกสมรสกับเจ้าสุวรรณาพระราชโอรสในพระเจ้าศรีธรรมโศกราช บุคคลทั้งสองมีพระโอรสชื่อเจ้าโพธะกุมาร ครั้นเจ้าโพธะกุมารมีพระชันษาได้ ๒๓ ปี ก็ออกบวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนา พระเจ้าศรีธรรมโศกราชและโคทะคิรีเศรษฐีพร้อมด้วยพระญาติพระวงศ์จึงร่วมกันสร้างวัดขึ้นทางทิศใต้ของหมู่บ้านของโคทะคิรีเศรษฐี ชื่อ “วัดท่าช้างอารามหลวง” แล้วตั้งเจ้าโพธะกุมารเป็น สมเด็จเจ้าโพธิสมภารโลกาจาริย์ญาณคัมภีร์ศรีสังฆ์ปรินายกมหาสวามี และยังพระราชทานที่นาข้าคนให้แก่วัดท่าช้างอารามหลวงเพื่อ ให้เรียกวันหัวตรุดษาสซื้อรักซื้อทองปิดพระพุทธรูปสำรับวัดท่าช้าง นอกจากนี้พระเจ้าศรีธรรมโศกราช โคทะคิรีเศรษฐี พระท้าวราช พระท้าวศรี ยังสร้างวัดขึ้นทางตะวันออกของหมู่บ้านโดย จัดกำแพงล้อมทั้งสี่ด้านแล้วจะก่อพระเจดีย์มีช้างล่อสีสะทั้งสี่ด้านแล้วมีพระสถูป ๔ พระองค์ แล่พระวิหารลงอุโบสถเป็นประทาน ๗ ห้อง มีเฉลียงซ้ายขวา พระเจ้าศรีธรรมโศกราชพร้อมด้วยโคทะคิรีเสรฐี พระท้าวราช พระท้าวศรี ให้พระนามว่า วัดเสมาทองให้เป็นพระอุประจารด้วยวัดท่าช้าง ให้ลงอุโบสถแล่พรรษาด้วยวัดท่าช้างอารามหลวง พร้อมทั้งอุทิศที่นาถวายไว้สำหรับพระอุโบสถวัดเสมาทอง และบวชพระมหาเคืองซึ่งเป็นหลานของพระท้าวราช พระท้าวศรี ให้เป็นท่านพระครูปลัดในสมเด็จพระโพธิสาร และเป็นเจ้าอธิการวัดเสมาทองมีสิทธิ์ บังคับว่ากล่าวแก่พระสงฆ์ทังปวง แล่อธิการวัดขึ้นเก้าอาราม พระเจ้าศรีธรรมโศกราชและโคทะคิรีเศรษฐียังได้ทำหลักฐานกัลปนาคนและที่ดินให้แก่วัดท่าช้างอารามหลวงและวัดเสมาทอง พร้อมทั้งสาปแช่งบุคคลที่จะเบียดบังที่นาจากวัดทั้งสองไว้ด้วย ดังมีความปรากฏในพงศาวดารว่า

             จึงพระเจ้าศรีธรรมโศกราช แล่โคทะคิรีเสรฐีพร้อมกันให้ตั้งตำมร่าไว้สมเด็จพระเจ้าโพธิสมภาร ผู้เป็นเจ้าอธิการวัดท่าช้างโปรดเป็นอันขาดแล้ว ไห้สังเขตรเลนทุบาทวัดท่าช้าง ฝายทักษิณ เล้นไปต้นโพธิ์ สามวิหาร เล้นไปโคกหมก แต่โคกหมกเล้นไปตามแนวป่า ต่อด้วยโคกพะวาต่อปากคลอง แต่โคกพะวาไปต่อด้วยคลองหูน้ำ แต่คลองหูน้ำ เล้นไปทลาหลวง แต่ทลาหลวงเล้นไปวัดท่าช้าง เป็นสังเขตร์เลนทุบาท แล่ะนาปรังเลนทุบาทวัดท่าช้าง โคทะคิรีเสรฐีและพระท้าวราช พระท้าวศรีให้ทานเป็น นา ๒๙๗ กระบิ้ง ตั้งนายเทพยาเป็นขุนธรรมเสนาพายพู่หมวด สำรับวัดท่าช้าง ให้เรียกหัวตรุดสารทขึ้นแก่สมเด็จพระเจ้าโพธิสมภาร ผู้เป็นอธิการวัดท่าช้างอารามหลวง นาญไปข้างน่าถ้าท้าวพระยาพระหลวงกรมการแล่ขุนหมืนราษฎรคนใด ยกเอาทำกินไม่ให้พวกเสียตรุษสารท ตามทำเนียมและวิวาทเอาไพร่และนาไปขึ้นแก่วัดวา และอารามอื่นก็ดี ให้คนผู้นั้นตกในอวิจีนรก ได้ห้าร้อยกันลป์นันทชาติ ยาให้ได้พบพระพุทธิเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า และยาให้หมั้นมีกำเนิดให้มั่นเกิดมาเป็นมารอปมัณฑะกะหินะทุกขไภยความจังไร่มีทุกชาติ ด้วยพระเจ้าศรีธรรมโศกราชและโคทะคิรีเสรฐี พระท้าวราช พระท้าวศรี อุทิศถวายไว้วัดท่าช้าง วัดเสมาทองอารามหลวง ดังนี้

พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับพระครูกาเดิมนี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นศรัทธาในพุทธศาสนา การสร้างวัด อุโบสถ เจดีย์ การทำบุญให้ทานแล้ว ยังเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองนครศรีธรรมราชที่สำคัญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีการสร้างบ้านแปงเมืองในอดีตนั้นส่วนหนึ่งต้องอาศัยชาวต่างชาติเข้ามาช่วยในการพัฒนา และต่อมาก็สามารถผสมกลมกลืนกับชาวพื้นเมืองดั้งเดิมได้ โดยการสร้างความสัมพันธ์ฉันเครือญาติ อย่างเช่น บุตรสาวของโคทะคิรีเศรษฐีได้อภิเษกสมรสกับ พระราชโอรสในพระเจ้าศรีธรรมโศกราช เป็นต้น


ชื่อคำ : พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช : ฉบับพระครูกาเดิม
หมวดหมู่หลัก : โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และการเมืองการปกครอง
หมวดหมู่ย่อย : ตำนาน พงศาวดาร
ชื่อผู้แต่ง : อุบลศรี อรรถพันธุ์
เล่มที่ : ๑๐
หน้าที่ : ๔๘๑๘