ภัทรมุนี (อิ๋น สัตยาภรณ์), พระ

ภัทรมุนี (อิ๋น สัตยาภรณ์), พระ



         พระภัทรมุนี (อิ๋น สัตยาภรณ์) เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๕ วัดทองนพคุณ เขตคลองสาน ฝั่งธนบุรี เป็นเปรียญเอกรูปแรกของวัดและของภาคใต้ และเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ชั้นเทพรูปแรกของวัดอีกด้วย นอกเหนือจากความรู้สูงสุดในทางพระปริยัติธรรมแล้ว ยังเป็นพระภิกษุที่ทันสมัยรอบรู้วิชาการต่าง ๆ มีเกียรติคุณร่ำลือกว้างขวาง โดยเฉพาะในทางการใช้วิชาโหราศาสตร์เพื่อคลี่คลายปัญหาชีวิตแก่ผู้คนผู้ประสบความทุกข์เป็นอันมาก

         พระภัทรมุนี นามเดิมว่า กิมอิ้น (ภายหลังรวบเหลือเพียง อิ๋น) นามฉายา ภทฺรมุนี นามสกุล สัตยาภรณ์ เกิดเมื่อวันพุธที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๖ เวลาประมาณ ๐๓.๓๐ นาฬิกา ณ ตำบลบ้านดอน (ปัจจุบันคือตำบลท่าข้าม) อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นบุตรคนหัวปีของนายกุ้ยสื่อ นางเขียว สัตยาภรณ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดารวมทั้งสิ้น ๕ คน ภายหลังจากที่บิดาถึงแก่กรรม ครอบครัวได้อพยพโยกย้ายมาอยู่ที่ตำบลบางใบไม้ โดยได้เริ่มเรียนหนังสือไทยกับพระอาจารย์คำ เจ้าอาวาสวัดบางใบไม้ จนเมื่ออายุ ๑๖ ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร มีพระอาจารย์คำเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อเป็นสามเณรได้ ๑ พรรษา โยมมารดามีอาการป่วยหนักจึงบอกลาสิกขาออกมาดูแลพยาบาลโยมมารดาอย่างใกล้ชิด แต่นางเขียวมีชีวิตอยู่ต่อมาได้อีกเพียงประมาณ ๒ สัปดาห์ก็ถึงแก่กรรม หลังจากจัดการปลงศพมารดาเสร็จสิ้นแล้ว ท่านจึงได้บรรพชาเป็นสามเณรอีกครั้ง โดยคงพำนักอยู่ด้วยกับพระอาจารย์คำแห่งวัดบางใบไม้นั่นเอง

        จนปี พ.ศ.๒๔๕๔ ท่านได้เดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ ขณะเมื่อยังเป็นสามเณร โดยมีพระอาจารย์พัน วัดทองนพคุณเป็นผู้พามา เพราะความต้องอัธยาศัยเมื่อคราวลงไปเยี่ยมพระอาจารย์คำที่วัดบางใบไม้ เมื่อมาพำนักอยู่กับพระอาจารย์พัน ณ วัดทองนพคุณแล้ว จึงได้ไปศึกษาบาลีมูลกัจจายน์ที่วัดอนงคาราม ธนบุรี แล้วเปลี่ยนไปเรียนบาลีไวยากรณ์ ที่วัดเทพศิรินทราวาส ฝั่งพระนคร ด้วยการฝากตัวเป็นศิษย์ของเจ้าคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญานวโร) และคุณพระอมราภิรักขิต (อยู่ เขมจาโร ซึ่งเมื่อลาสิกขาแล้วได้รับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็นพระธรรมนิเทศทวยหาญ) จน พ.ศ.๒๔๕๖ เมื่ออายุครบอุปสมบท จึงได้เดินทางกลับมาอุปสมบท ณ บ้านเดิมที่ตำบลบางใบไม้ โดยมีพระครูวิธูรธรรมศาสน์ วัดโพธิ์ไทรงาม ตำบลมะขามเตี้ย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระสมุห์แดง จนฺทวชิโร วัดพระโยค อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป้นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการเพชร์ วัดบางใบไม้ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านยังคงพำนักอยู่ที่วัดบางใบไม้ระยะหนึ่ง แล้วจึงเดินทางกลับมายังวัดทองนพคุณเพื่อศึกษาต่อไป ผลการเรียนของท่านมีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ครั้น พ.ศ.๒๔๕๙ ก็สอบเป็นเปรียญ ๓ ประโยคได้ จนกระทั่งสามารถสอบได้เป็นเปรียญ ๙ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๘ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระภัทรมุนี ตามชื่อฉายาเดิม เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๑ แล้วเลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นราชและชั้นเทพ โดยคงราชทินนามเดิมมาตลอด หากต่อสร้อยออกไปตามสถานะพระราชาคณะผู้ใหญ่ชั้นเทพว่า พระภัทรมุนี ตรีปิฎกธาดา มหาคณิสสร บวรสังฆราม คามวาสี โดยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ และถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๔ สิริอายุได้ ๖๗ ปี ๖ เดือน ๑๒ วัน

         ในชั่วอายุขัยของท่าน นับว่าท่านเป็นโหรเอกในวงการแห่งสังคมกรุง ทุกชนชั้นต่างรู้จักชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านกันแทบทั้งนั้น โดยเฉพาะในทางโหราศาสตร์และพยากรณ์ศาสตร์นับถือกันว่า ท่านมีความเป็นเลิศ อาจจะรองลงไปก็แต่จากสมเด็จพระสังฆราช วัดสระเกศเท่านั้น ดังท่านเองได้สรรเสริญว่า สิ่งใดที่ท่านทำไม่ได้นั้น มีอยู่องค์เดียวที่ทำได้ คือท่านวัดสระเกศ ขณะที่สมเด็จพระสังฆราชก็ทรงยกย่องท่านเช่นกัน ดังพระดำรัสถึงท่านเมื่อท่านถึงแก่มรณภาพแล้วว่า แต่ก่อนนี้มีกันอยู่สองคน ก็ช่วยกันแบ่งเบากันไป เขาไปที่นั่นกันบ้าง มาที่นี่กันบ้าง ตั้งแต่สิ้นเจ้าคุณภัทร ที่นี่ก็เลยหนักใคร ๆ มาที่นี่กันทั้งนั้น

พระภัทรมุนีได้เริ่มศึกษาวิชาโหราศาสตร์จากพระยาชลธารพินิจฉัย (มุ้ย ชลานุเคราะห์) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๘ ขณะเมื่อมีอายุ ๓๒ ปี พรรษา ๑๒ โดยได้ชำระตำรา อสีติโชค อันเป็นตำราเก่าแก่โบราณครั้งสมัยกรุงเก่า และได้ตีพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พลเอกพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทรบุรีสุรนาถ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ กับทั้งยังมีคัมภีร์ อินทภาสบาทจันทร์ อีกเล่มหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ ซึ่งตีพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระนฤบาลบดี (พันธ์ ศรีพันธ์) คัมภีร์สองเล่มนี้ถือกันว่าเป็นสดมภ์หลักสำคัญ ซึ่งใช้ค้ำจุนโหราศาสตร์ไทยมาแต่ดั้งเดิมเลยทีเดียว ว่าจำเพาะเรื่องของหลักเกณฑ์ในวิชาโหราศาสตร์นี้ ท่านมักพูดเสมอว่า ต้องการสอบค้นความจริงเท่าที่เก็บสถิติมาด้วยความพิถีพิถัน หากยังไม่ถึงขั้นพอใจด้วยเห็นว่าไม่แน่นอน ท่านจึงมิได้เรียบเรียงตำรับตำราขึ้นเอง คงพอใจเพียงแต่เป็นผู้ชำระเท่านั้น โดยผู้แต่งตำราอื่น ๆ ก็มักมาขอให้ท่านตรวจสอบอยู่เสมอ ดังชินปญฺชรคาถา พระภัทรมุนีก็เป็นผู้ชำระเช่นกัน อย่างไรก็ตามทานเห็นว่าดวงดาวย่อมมีอิทธิพลแก่ชีวิตมนุษย์ ดังท่านยกหลักความจริงมายืนยันว่า พระอาทิตย์ย่อมทำให้เราร้อนกระสับกระส่ายได้ พระจันทร์ทำให้สบายใจได้ฉันใด ถ้ามองให้ลึกซึ้งแล้ว ดาวทั้งหลายก็ย่อมมีส่วนสัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์ฉันนั้น แต่ถึงที่สุดแล้ว ท่านก็ใช้โหราศาสตร์เป็นเพียงสื่อ ดั่งเช่นเครื่องมือชักนำเข้าสู่สาระทางพุทธธรรม เพื่อเผชิญกับชีวิตอย่างถูกวิธี ไม่ได้หลงงมงายอยู่ใต้อิทธิพลของกระแสในทางโลก เป็นการใช้โหราศาสตร์เป็นดังหนามที่บ่งหนาม ซึ่งยอกอกผู้มีทุกข์นั่นเอง

        ในด้านพระปริยัติธรรมนั้น ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๑ พระภัทรมุนีเริ่มสอนนักธรรมตั้งแต่ชั้นตรีจนชั้นเอก และสอนตามหลักสูตรเปรียญ ตั้งแต่ผู้ที่เริ่มเข้าเรียนบาลีไวยากรณ์จนถึงชั้นประโยค ๙ เล่าลือกันว่า ท่านเป็นครูที่เคร่งครัดกับระเบียบและรูปแบบการแปล และมีความสุภาพราบเรียบมาก หากศิษย์ก็ให้ความกลัวเกรง โดยท่านมักเหน็บแนมด้วยการเล่านิทานประกอบ ไม่ว่ากล่าวใครตรง ๆ ท่านวางอุดมคติทางการศึกษาไว้ว่า ควรเรียนรู้บาลีให้จบหลักสูตร แล้วเรียนภาษาสันสกฤตและอังกฤษต่อไป เนื่องจากเห็นว่าการศึกษาเล่าเรียนข้างพระศาสนาในบ้านเราไม่เท่าทันบูรพศึกษาของตะวันตกก็เพราะขาดความรู้ภาษาสันสกฤตอย่างเพียงพอ ทำให้เปรียบเทียบพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์ไม่ได้ จึงได้แต่ถือตามพระอรรถกถาจารย์ และเพราะไม่รู้ภาษาอังกฤษจึงทำให้เชื่อมโยงกับโลกอย่างสากลไม่ได้อีก

พระภัทรมุนีเป็นนักแต่งหนังสือเทศน์ มีสำนวนโวหารกะทัดรัด ภาษาสละสลวย ตามแบบอย่างพระธรรมนิเทศทวยหาญ (อยู่ อุดมศิลป์) อาจารย์ของท่าน ดังปรากฏใน วิทยุเทศนา สมัยแรก ๆ

         ในด้านการปกครองนั้น ใน พ.ศ.๒๔๘๕ พระภัทรมุนีได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสังฆสภา โดยได้เป็นเจ้าคณะอำเภอธนบุรีในปีถัดมา และเจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยภาค ๙ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ ทั้งนี้โดยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสอยู่ด้วยตลอดมา ท่านขึ้นเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณและเจ้าอาวาส ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ และ ๒๕๐๓ ตามลำดับ แต่เมื่อครั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอนั้น ท่านเคยเปรียบเทียบว่ามีหน้าที่เป็นบุรุษไปรษณีย์เท่านั้น เขาสั่งอะไรมาก็สั่งต่อไป ส่วนตัวท่านเองมีหลักการว่า ทางวัดควรจัดแยกของส่วนตัวกับของสงฆ์ออก ทำบัญชีให้ชัดแจ้งเด็ดขาด ตรวจตราความสะอาดทางด้านสาธารณูปการ อุดหนุนการศึกษาให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยเป็นสัดเป็นส่วน การเผยแพร่ก็ต้องแบ่งออกไปเป็นแผนก ๆ ให้มีพระพอเทศน์สอนประชาชนในละแวก การปกครองก็ต้องกวดขันต่อไปถึงเจ้าคณะต่าง ๆ ในวัด อย่างไรก็ตามพระภัทรมุนีมิใช่เป็นคนยึดติดในเรื่องยศศักดิ์ ท่านพูดอยู่เสมอว่า “ยศช้าง ขุนนางพระ” คือของสมมติ ผู้ที่มาวิ่งเต้นขอให้ท่านดลบันดาลตำแหน่งต่าง ๆ ให้ ดังมีผู้เคยบอกกับท่านว่า พระเดชพระคุณเป็นทั้งเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยภาคและสมาชิกสังฆสภา ท่านก็ตอบไปว่า คุณเอ๋ย เป็นแต่บนกระดาษเท่านั้นแหละ ผมไม่ได้ทำอะไรเลย ได้แต่นั่งดูหมอเขาอยู่ที่กุฏิแค่นี้เอง

         พระภัทรมุนีเริ่มป่วยเป็นโรคทางเส้นประสาทมาแต่เมื่อครั้นเรียนประโยค ๗ มีอาการกำเริบบ้างเป็นบางคราว ทำให้เล่าเรียนไปไม่ได้ดี (สาเหตุข้อนี้เอง ทำให้ท่านเลี่ยงมาผ่อนคลายด้วยการศึกษาวิชาโหราศาสตร์อย่างเป็นของเล่น) นอกจากนั้นยังมีโรคริดสีดวงอีกด้วย การที่ต้องนั่งปฏิสันถารกับญาติโยมที่มาขอความพึ่งพาในอิริยาบถเดียวนาน ๆ เป็นเวลาหลายสิบปีเป็นสิ่งบั่นทอนสุขภาพของท่านเป็นอย่างมาก ครั้นเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๒ พระเทพวิมล เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณมรณภาพลง พระภัทรมุนีจึงต้องรับหน้าที่ปกครอบดูแลวัดแทน ทำให้อาการแห่งโรคประสาทได้กำเริบขึ้น จนต่อเนื่องมาเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ท่านถึงแก่มรณภาพไปในที่สุด 


ชื่อคำ : ภัทรมุนี (อิ๋น สัตยาภรณ์), พระ
หมวดหมู่หลัก : โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และการเมืองการปกครอง
หมวดหมู่ย่อย : ประวัติบุคคล
ชื่อผู้แต่ง : นิพนธ์ แจ่มดว
เล่มที่ : ๑๒
หน้าที่ : ๕๕๙๕