ภาษาไทยถิ่นใต้ : การแบ่งกลุ่ม

         ภาษาไทยถิ่นใต้ (Southern Thai Dialects) หมายถึงภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ที่พูดกันในเขตพื้นที่ตั้งแต่ตอนล่างของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมพื้นที่ ๑๔ จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย ตลอดไปจนถึงภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ที่มีผู้พูดกันอยู่ในประเทศมาเลเซีย

         การแบ่งกลุ่มภาษาไทยถิ่นใต้ ได้มีนักภาษาศาสตร์บางคนสนใจศึกษามาเป็นเวลานานแล้ว เช่น บราวน์ (พ.ศ. ๒๕๐๘) ดิลเลอร์ (พ.ศ. ๒๕๑๙) เป็นต้น

         การแบ่งกลุ่มภาษาไทยถิ่นใต้ตามงานวิจัยของบราวน์

         เจ มาร์วิน บราวน์ (J. Marvin Brown, 1965 : 69) ได้แสดงวิวัฒนาการของภาษาถิ่นย่อยในกลุ่มภาษาไทยถิ่นใต้ไว้ในงานวิจัยเรื่อง From Ancient Thai to Modern Dialects ดังนี้

         แผนผังแสดงวิวัฒนาการของภาษาถิ่นย่อยในกลุ่มภาษาไทยถิ่นใต้ (ตัดตอนจาก บราวน์ หน้า ๖๙)



         จากแผนผังนี้ สังเกตได้ว่ากลุ่มภาษาไทยถิ่นใต้ได้วิวัฒนาการมาจากภาษาสุโขทัย ประมาณ ค.ศ. ๑๓๐๐ (ตัวเลขส่วนบนของแผนผังคือปีคริสต์ศักราช) และวิวัฒนาการเป็น ๒ กลุ่ม คือ

         กลุ่มนครศรีธรรมราช และกลุ่มตากใบ

กลุ่มนครศรีธรรมราช

         บราวน์ ได้แบ่งกลุ่มภาษานครศรีธรรมราชออกเป็น ๒ สาย คือ

         ๑. สายไชยา แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มย่อย คือ

         ๑.๑ ภาษาชุมพร

         ๑.๒ ภาษาไชยา แบ่งย่อยออกไปอีกเป็น ๒ กลุ่ม คือ

                  ๑.๒.๑ ภาษาระนอง ไชยา (เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี) หลังสวน (เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดชุมพร) และสวี (เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดชุมพร)

                  ๑.๒.๒ ภาษาตะกั่วป่า (เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดพังงา) และภูเก็ต

         ๑.๓ ภาษาเกาะสมุย (เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี)

         ๒. สายนครศรีธรรมราช แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มย่อย คือ

         ๒.๑ ภาษานครศรีธรรมราช แบ่งย่อยออกไปอีกเป็น ๓ กลุ่ม คือ

                  ๒.๑.๑ ภาษากระบี่

                  ๒.๑.๒ ภาษานครศรีธรรมราช ทุ่งสง (เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช) ตรัง ควนขนุน (เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดพัทลุง)

                  ๒.๑.๓ ภาษาหัวไทร (เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช)

         ๒.๒ ภาษาสงขลา แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มย่อย คือ

                  ๒.๒.๑ ภาษาสงขลา และระโนด (เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสงขลา)

                  ๒.๒.๒ ภาษายะลา แบ่งย่อยออกไปอีกเป็น ๒ กลุ่ม คือ

                  ๒.๒.๒.๑ ภาษายะลา

                  ๒.๒.๒.๒ ภาษาสตูล

กลุ่มตากใบ

         กลุ่มตากใบเป็นกลุ่มภาษาที่วิวัฒนาการมาจากภาษาสุโขทัยโดยตรง (ประมาณ ค.ศ.๑๔๐๐)

         ภาษาไทยถิ่นนี้มีสำเนียงพูดและลักษณะทางภาษาแตกต่างจากภาษาไทยถิ่นใต้อื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ ภาษาที่พูดกันในท้องถิ่นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ คือ

         ๑. จังหวัดนราธิวาส พูดกันในท้องที่อำเภอตากใบและบางตำบลในอำเภอเมืองนราธิวาส สุไหงปาดี สุไหงโก-ลก และอำเภอแว้ง

         ๒. จังหวัดปัตตานี พูดกันในท้องที่บางตำบลในอำเภอสายบุรี ยะหริ่ง ปะนาเระ และมายอ

         ๓. รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย พูดกันในท้องที่บางตำบลในอำเภอตุมปัต โกตาบารู และบาเจาะ

การแบ่งกลุ่มภาษาไทยถิ่นใต้ตามงานวิจัยของดิลเลอร์

         แอนโทนี แวน นอสแตรน ดิลเลอร์ (Anthony Van Nostrand Diller, 1976 : 261) ได้ทำงานวิจัยเรื่อง Toward a Model of Southern Thai Diglossic Speech Variation งานวิจัยนี้ได้ศึกษาภาษาถิ่นไทยใต้ทุกจังหวัด โดยสุ่มตัวอย่างตามพื้นที่ต่าง ๆ (เฉพาะถิ่นใต้) ประมาณ ๑๐๐ ตัวอย่าง ข้อมูลที่ศึกษามีทั้งเสียง คำศัพท์ และการเรียงคำ ดิลเลอร์ได้เปรียบเทียบวรรณยุกต์ของคำซึ่งมีลักษณะพยางค์เป็นคำเป็นเท่านั้นเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการแบ่งเขตภาษา และได้เสนอผลการวิจัยแบ่งเขตภาษาไทยถิ่นใต้ออกเป็น ๖ กลุ่ม คือ

         ๑. กลุ่ม A ได้แก่ ภาษาชุมพร ระนอง และสุราษฎร์ธานี

         ๒. กลุ่ม B ได้แก่ ภาษาเกาะสมุย

         ๓. กลุ่ม C ได้แก่ ภาษาพังงา กระบี่ ภูเก็ต และตรังบางส่วน

         ๔. กลุ่ม D ได้แก่ ภาษานครศรีธรรมราช

         ๕. กลุ่ม E ได้แก่ ภาษาพัทลุง สงขลา ตรังบางส่วน และสตูล บางส่วน

         ๖. กลุ่ม F ได้แก่ ภาษาสตูลบางส่วน ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

         ดิลเลอร์ได้แสดงการแบ่งเขตภาษาย่อยในภาษาไทยถิ่นใต้ตามแผนที่ต่อไปนี้

         การแบ่งกลุ่มภาษาไทยถิ่นใต้อย่างละเอียดนั้นยังไม่อาจกำหนดให้แน่นอนได้ จนกว่าจะได้มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยภาษาถิ่นย่อยในกลุ่มภาษาไทยถิ่นใต้กันอย่างละเอียดครอบคลุมทุกเขตพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ได้มีนักภาษาศาสตร์บางคนสนใจศึกษาภาษาถิ่นย่อยในภาษาไทยถิ่นกลุ่มนี้กันบ้างแล้ว เช่น จริยา สมนึก (ระบบเสียงภาษาถิ่นย่อยของจังหวัดนครศรีธรรมราช : ๒๕๒๕) เจริญขวัญ ธรรมประดิษฐ์ (การใช้ลักษณะทางสัทศาสตร์ของสระสูงในการแบ่งเขตภาษาถิ่นในจังหวัดตรัง กระบี่ พังงา และภูเก็ต : ๒๕๒๔) และธีรพันธ์ เหลืองทองคำ และคณะ (เสียงและระบบเสียงในภาษาถิ่นใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ๑๖ อำเภอ : ๒๕๒๑) เป็นต้น

         โดยอาศัยผลการศึกษาค้นคว้าวิจัยเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้ เราอาจแบ่งกลุ่มภาษาไทยถิ่นใต้อย่างกว้าง ๆ และครอบคลุมเขตพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทยถิ่นนี้ได้เป็น ๓ กลุ่มที่สำคัญ คือ

         ๑. กลุ่มภาคใต้ตอนเหนือและเขตพื้นที่ฝั่งทะเลตะวันตก ได้แก่ ภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ที่พูดกันในจังหวัดต่อไปนี้คือ ประจวบคีรีขันธ์ตอนล่าง ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา และภูเก็ต

         ๒. กลุ่มภาคใต้ตอนกลางและเขตพื้นที่ฝั่งทะเลตะวันออก ได้แก่ ภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ที่พูดกันในจังหวัดต่อไปนี้ คือ กระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลาบางอำเภอ (ระโนด สทิงพระ กระแสสินธุ์)

         ๓. กลุ่มภาคใต้ตอนใต้-มาเลเซีย ได้แก่ ภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ที่พูดกันในเขตพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สงขลาบางส่วน (ยกเว้นระโนด สทิงพระ กระแสสินธุ์) สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ตลอดไปจนถึงภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ที่พูดกันในประเทศมาเลเซีย

         ภาษาไทยถิ่นใต้กลุ่มนี้อาจแบ่งออกได้เป็น ๒ กลุ่มย่อย คือ

         ๓.๑ กลุ่ม ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไทรบุรี และปะลิส

         ๓.๒ กลุ่มตากใบ-กลันตัน

         การแยกเสียงวรรณยุกต์และสัทลักษณะของวรรณยุกต์ในภาษาถิ่นใต้

         การแยกเสียงวรรณยุกต์และสัทลักษณะของวรรณยุกต์ในภาษาไทยถิ่นใต้ที่จะนำมากล่าวถึงในที่นี้ได้สุ่มตัวอย่างมาจากภาษาย่อยซึ่งอาจใช้เป็นภาษาตัวแทนของภาษาไทยถิ่นใต้ทั้ง ๓ กลุ่ม โดยให้ครอบคลุมระบบวรรณยุกต์ทั้งแบบ ๖ หน่วยเสียงและ ๗ หน่วยเสียง ดังนี้

แผนผัง ๑ แสดงรูปแบบการแยกเสียงวรรณยุกต์แบบ ๖ หน่วยเสียงของภาษาไทยถิ่นไชยา จังหวัด สุราษฎร์ธานี

         ก. วรรณยุกต์แบบ ๖ หน่วยเสียง

         /1/ สูง-ตก (ขา ข่า)

         /2/ สูง-ระดับ หรือเลื่อนลงเล็กน้อย (ข้า ป้า อ้าง ขาด)

         สูง-ขึ้น (ขัด

         /3/ กลาง-ขึ้น-ตก (ปี ป่า อาย อ่าน)

         /4/ ต่ำ-ขึ้น-ตก (คา)

         /5/ ต่ำ-ขึ้น (ค่า ปาด อาบ คาด ปัด อับ)

         /6/ ต่ำ-ระดับ (ค้า คัด)

         แผนผัง ๒ แสดงรูปแบบการแยกเสียงวรรณยุกต์แบบ ๖ หน่วยเสียงของภาษาไทยถิ่นเกาะสมยุ จังหวัด สุราษฎร์ธานี

         /1/ สูง-ตก (ขา ข่า)

         /2/ สูง-ระดับ (ข้า ขาด ขัด)

         /3/ กลาง-ขึ้น-ตก (ปี ป่า อาย อ่าน)

         /4/ ต่ำ-ขึ้น-ตก (คา)

         /5/ ต่ำ-ขึ้น (ค่า ป้า ปาด ปัด อ้าง อาบ อับ คาด)

         /6/ ต่ำ-ระดับ (ค้า คัด)

แผนผัง ๓ แสดงรูปแบบการแยกเสียงวรรณยุกต์แบบ ๖ หน่วยเสียงของภาษาไทยถิ่นขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

         /1/ สูง-ขึ้น-ต่ำ (ขา ข่า)

         สูง-ขึ้น (ขัด)

         /2/ สูง-ระดับ (ข้า ขาด)

         /3/ กลาง-ขึ้น-ตก (ปี ป่า อาย อ่าน)

         กลาง-ขึ้น (ปัด อับ)

         /4/ ต่ำ-ขึ้น-ตก (คา)

         /5/ ต่ำ-ขึ้น (ค่า ป้า ปาด อ้าง อาบ คาด)

         /6/ ต่ำ-ตก (ค้า คัด)

แผนผัง ๔ แสดงรูปแบบการแยกเสียงวรรณยุกต์แบบ ๖ หน่วยเสียงของภาษาไทยถิ่นตากใบ จังหวัดนราธิวาส

         /1/ ต่ำ-ระดับ-ขึ้น (ขา ปี อาย)

         /2/ สูง-ระดับ (ข่า ป่า อ่าน ขาด ปาด อาบ)

         /3/ ต่ำ-ระดับ (ข้า ป้า อ้าง ขัด ปัด อับ)

         /4/ กลาง-ระดับ-ขึ้น (คา)

         /5/ ต่ำ-ระดับ-ตก (ค่า คาด)

         /6/ กลาง-ขึ้น-ตก (ค้า คัด)

แผนผัง ๕ แสดงรูปแบบการแยกเสียงวรรณยุกต์แบบ ๖ หน่วยเสียงของภาษาไทยถิ่นไทรบุรี ประเทศมาเลเซีย

         /1/ สูง-ขึ้น-ตก (ขา ข่า ขาด)

         สูง-ขึ้น (ขัด)

         /2/ สูง-เลื่อนลง (ข้า)

         /3/ กลาง-ขึ้น-ตก (ปี ป่า อาย อ่าน)

         กลาง-ขึ้น (ปัด อับ)

         /4/ ต่ำ-ระดับ-ขึ้นตอนท้าย (ป้า ปาด อ้าง อาบ ค่า คาด)

         /5/ กลาง-เลื่อนลง

         /6/ ต่ำ-เลื่อนลง (ค้า)

         ต่ำ-ตก (คัด)

ข. วรรณยุกต์แบบ ๗ หน่วยเสียง

แผนผัง ๖ แสดงรูปแบบการแยกเสียงวรรณยุกต์แบบ ๗ หน่วยเสียงของภาษาไทยถิ่นพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

         /1/ สูง-ตก (ขา ข่า)

         /2/ สูง-เลื่อนลง (ข้า ขาด)

         สูง-ระดับ (ขัด)

         /3/ กลาง-ขึ้น-ตก (ปี ป่า อาย อ่าน)

         /4/ กลาง-ระดับ (ป้า ปาด อ้าง อาบ)

         กลาง-ขึ้น (ปัด อับ)

         /5/ ต่ำ-ตก (คา)

         /6/ ต่ำ-ขึ้น (ค่า คาด)

         /7/ ต่ำ-เลื่อนลง (ค้า)

         ต่ำ-ระดับ (คัด)

แผนผัง ๗ แสดงรูปแบบการแยกเสียงวรรณยุกต์แบบ ๗ หน่วยเสียงของภาษาไทยถิ่นกลาง จังหวัดภูเก็ต

         /1/ สูง-ระดับ-ตกตอนท้าย (ขา ข่า ขัด)

         /2/ สูง-ระดับ (ข้า ขาด)

         /3/ กลาง-ขึ้น-ตก (ปี ป่า อาย อ่าน ปัด อับ)

         /4/ กลาง-ระดับ (ป้า อ้าง ปาด อาบ)

         /5/ ต่ำ-เลื่อนลง (คา)

         /6/ ต่ำ-เลื่อนขึ้น (ค่า คาด)

         /7/ ต่ำ-ระดับ (ค้า คัด)

แผนผัง ๘ แสดงรูปแบบแยกเสียงวรรณยุกต์แบบ ๗ หน่วยเสียงของภาษาไทยถิ่นนครศรีธรรมราช (ยกเว้นอำเภอขนอม)

         /1/ สูง-ขึ้น-ตก (ขา ข่า)

         สูง-ขึ้น (ขัด)

         /2/ สูง-ระดับ (ข้า ขาด)

         /3/ กลาง-ขึ้น-ตก (ปี ป่า อาย อ่าน)

         กลาง-ขึ้น (ปัด)

         /4/ กลาง-ระดับ (ป้า ปาด อ้าง อาบ)

         /5/ ต่ำ-ขึ้น-ตก (คา)

         /6/ ต่ำ-ขึ้น (ค่า คาด)

         /7/ ต่ำ-ตก (ค้า คัด)

แผนผัง ๙ แสดงรูปแบบการแยกเสียงวรรณยุกต์แบบ ๗ หน่วยเสียงของภาษาไทยถิ่นสงขลา

         /1/ สูง-ขึ้น (ขา ข่า ขัด)

         /2/ สูง-ตก (ข้า ขาด)

         /3/ กลาง-ขึ้น (ปี ป่า อาย อ่าน ปัด อับ)

         /4/ กลาง-ระดับ (ป้า อ้าง ปาด อาบ)

         /5/ กลาง-ตก (คา)

         /6/ ต่ำ-ระดับ (ค่า คาด)

         /7/ ต่ำ-ตก (ค้า คัด)

แผนผัง ๑๐ แสดงรูปแบบการแยกเสียงวรรณยุกต์แบบ ๗ หน่วยเสียงของภาษาถิ่นบ้านบ่อเสม็ด ตำบลตือรือเบ๊าะ อำเภอตุมปัต รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย

         /1/ ต่ำ-ขึ้น (ขา)

         /2/ สูง-ระดับ (ข่า ป่า อ่าน)

         สูง-ระดับ (ตกตอนท้าย) ขาด ปาด อาบ)

         /3/ กลาง-ระดับ (ข้า ป้า อ้าง)

         /4/ กลาง-ขึ้น (ปี อาย)

         /5/ ต่ำ-ระดับ (คา)

         /6/ ต่ำ-เลื่อนลง (ค่า คาด)

         ต่ำ-ตก (ขัด ปัด อับ คัด)

         /7/ กลาง-ตก (ค้า)

(ฉันทัส ทองช่วย)

ชื่อคำ : ภาษาไทยถิ่นใต้ : การแบ่งกลุ่ม
หมวดหมู่หลัก : ภาษา และวรรณกรรม
หมวดหมู่ย่อย : หลักภาษา นิรุกติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และภาษาถิ่น
ชื่อผู้แต่ง : ฉันทัส ทองช่วย
เล่มที่ : ๑๒
หน้าที่ : -