ไผ่สีสุก ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bambusa blumeana Schult. ลำต้นและใบเล็กกว่าไผ่ตง ขึ้นเป็นกอแน่นหนา แขนงมีหนามโคนลำมีสีเทาอมเขียว ปลายลำสีเขียวแกมเหลือง เนื้อไม้เหนียวมากกว่าไผ่ชนิดอื่น ๆ ไม่หักง่าย เหมาะแก่การจักสาน สามารถขึ้นได้ทั่วไปในบริเวณสวนชื้น โดยเฉพาะดินร่วนที่มีการระบายน้ำได้ดี ขยายพันธุ์โดยวิธีใช้ลำและแขนง
ประโยชน์ของไม้ไผ่สีสุก เช่น หน่อใช้รับประทานได้ แต่เนื่องจากมีรสขื่นเล็กน้อยจึงใช้ปรุงอาหารได้น้อยประเภทกว่าหน่อไผ่ตง ชาวภาคใต้นิยมใช้หน่อสดแกงกะทิกับกุ้ง ไก่ และเนื้อวัว หน่อไผ่สีสุกมีน้ำหนักประมาณ ๓-๕ กิโลกรัม ชาวบ้านถือเคล็ดจากชื่อ “สีสุก” จึงนิยมปลูกไว้ในบริเวณบ้านถือว่าจะอยู่เย็นเป็นสุข และใช้เป็นเครื่องมงคลในพิธียกเสาเอกของบ้านเรือน เนื่องจากลำไผ่สีสุกมีความเหนียวมากจึงนิยมใช้ทำพะอง ทำเครื่องเรือนเครื่องใช้ โดยเฉพาะเครื่องจักสานที่ต้องการความประณีตและทนทาน เช่น ทำกระด้ง ตะกร้า โคนนิยมใช้ทำคานหาบเพราะมีเนื้อหนาและทนทาน (สรวงสุดา ปานสกุล)