ภาคใต้

ชื่อที่ใช้เรียกดินแดนภาคใต้

        ดินแดนในอาณาบริเวณภาคใต้ เคยมีชื่อเรียกต่างกันตามยุคตามสมัยและตามภาษาของผู้เรียก ในบรรดาชื่อเหล่านั้น บางชื่อยังไม่ยุติว่าที่ตั้งและอาณาเขตที่แท้จริง จะกว้างหรือแคบกว่าอาณาบริเวณที่เป็นภาคใต้ของประเทศไทย และบางชื่อเป็นเมืองโบราณที่ตั้งอยู่ในดินแดนของภาคใต้ เช่น มหากาพย์เรื่องปุราณะของอินเดีย เรียกว่า “มลยทวีป” “ยมทวีป” และ “สุวรรณทวีป” มหากาพย์เรื่องรามายณะ ซึ่งวาลมีกิรจนาขึ้นระหว่าง พ.ศ.๑๐๐-๒๐๐ เรียกว่า “สุวรรณภูมิ” บ้าง “สุวรรณทวีป” บ้าง หนังสือมหานิทเทสและจุลนิเทศ เรียกว่า “สุวรรณภูมิ” หนังสือมิลินทปัญหาซึ่งแต่งขึ้นในปี พ.ศ.๙๔๓ เรียก “สุวรรณภูมิ” หนังสือมหาวงศ์ พงศาวดารลังกาซึ่งแต่งในพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ปรากฏชื่อเป็น “สุวรรณภูมิ” รวมความว่าชื่อที่ปรากฏต่อเนื่องกันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ ย้อนหลังไปคือ “สุวรรณภูมิ” และ “สุวรรณทวีป”

        จากคำ “สุวรรณทวีป” มีผู้แปลจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาอื่น ๆ ที่แปลว่า “เกาะทอง” (ทวีป-เกาะ) ก็มี แปลว่า “แหลมทอง” (ทวีป-น้ำขนาบทั้ง ๒ ด้าน) ก็มี สาเหตุที่แปลได้เป็น ๒ นัยดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้ถกเถียงกันว่าชื่อ “สุวรรณภูมิ” และ “สุวรรณทวีป” ควรจะกินอาณาบริเวณเพียงใด

        หนังสือภูมิศาสตร์ของปอมโปนิอุส เมลา ซึ่งเขียนขึ้นในปี พ.ศ.๕๘๖ เรียกว่า “เกาะทอง” (Chryse Insula) ส่วนหนังสือภูมิศาสตร์ของคลอเดียส ปโตเลมี นักภูมิศาสตร์ชาวกรีก ซึ่งแต่งขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๖๗๐-๖๘๔ เรียกว่า “คาบสมุทรทอง” (Chryse Chresonese) และต่อมา มาติอานุสแห่งเฮอราเคลีย (Martiianus of Heraclea) แต่งหนังสือเรื่อง “Periplus of the Outer Sea” ซึ่งแต่งขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๑ เรียกว่า “คาบสมุทรทอง” หรือ “เกาะทอง” (Golden Khersonese) ส่วนในบันทึกการเดินทางของภิกษุชาวจีนชื่อ อี้จิง ซึ่งเดินทางจากจีนผ่านภาคใต้ไปยังอินเดียระหว่างปี พ.ศ. ๑๒๑๔-๑๒๓๘ เรียกดินแดนบริเวณนี้ว่า “เกาะทอง” (จิน-โจว)

        นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีรุ่นหลัง ๆ นิยมเรียกดินแดนที่เคยเรียกกันว่า สุวรรณทวีป หรือเกาะทอง หรือคาบสมุทรทอง หรือแหลมทอง ว่า “คาบสมุทรมลายู” ก็มี “คาบสมุทรมาเลย์” หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Malay Peninsula ก็มี “คาบสมุทรไทย” หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Peninsula Thailand ก็มี บางท่านเรียกเฉพาะส่วนที่เป็นภาคใต้ในปัจจุบันว่า “คาบสมุทรภาคใต้” ก็มี บางทีก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของมะละกา (Malacca Peninsula)

        การเรียกชื่ออาณาบริเวณภาคใต้ที่ปรากฏในเอกสารของไทย พบว่าพระราชกำหนดเก่ในสมัยอยุธยา (พ.ศ.๑๐๘๔) เรียกว่า “ปากใต้” พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐ เรียกว่า “ปักใต้” ในกฎหมายตราสามดวงส่วนใหญ่ใช้ “ปากใต้” ส่วนรูปคำที่เขียนเป็น “ปักษ์ใต้” เท่าที่ค้นพบในขณะนี้ปรากฏในตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งบ่งว่าแต่งเสร็จในปี พ.ศ.๒๒๗๗ (ดู ปักษ์ใต้ ถ้อยคำ) และในตราตั้งพระบริรักษ์ภูเบศร์ (น้อย) เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราชในรัชกาลที่ ๒ เมื่อ จ.ศ.๑๑๗๒ (พ.ศ. ๒๓๕๔) ความว่า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า ฝ่ายปักษ์ใต้เมืองนครเป็นเมืองเอกใหญ่กว่าเมืองทั้งปวง และในสำเนากฎตั้งเจ้าพระยานคร (น้อย) พ.ศ.๒๓๕๔ ว่า เมืองข้าขอบขัณฑสีมาปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือตะวันออกตะวันตก แต่ที่พบทั่วไปในสมัยรัชกาลที่ ๑-๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์มักใช้ “ปากใต้” และ “ปักษ์ใต้” โดยเฉพาะประกาศต่าง ๆ ในรัชกาลที่ ๔ ล้วนใช้เป็น “ปากใต้”

        เป็นที่น่าสังเกตว่า พระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดการใช้รูปคำ “ปักษ์ใต้” ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์เรื่อง จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๕๒) ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ ตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร และในพระราชนิพนธ์เรื่อง จดหมายเหตุ พระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ (พ.ศ.๒๔๕๘) เป็นต้น แม้ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ จะโปรดเกล้าฯ ให้มีอุปราชประจำภาคขึ้น มีอุปราชภาคพายัพและภาคอื่น ๆ แต่สำหรับภาคใต้นั้น โปรดเกล้าฯ ให้มีตำแหน่ง “อุปราชปักษ์ใต้” แม้การเสือป่าก็โปรดเกล้าฯ ให้มี “เสือป่ากองเสนาปักษ์ใต้” และผู้บัญชาการเสียป่ากองเสนาปักษ์ใต้

        ส่วนคำว่า ภาคใต้ คงเริ่มนำมาใช้ในทางปกครองตั้งแต่รัชกาลที่ ๖ เช่นกัน กล่าวคือ ได้มีการตั้งอุปราชประจำภาคขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๕๘ มี “ประกาศว่าด้วยน่าที่แลอำนาจอุปราช” เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๘ ในประกาศฉบับนี้บ่งว่า

         “ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งตำแหน่งอุปราชภาคพายัพขึ้นภาคหนึ่งแล้ว... มีอำนาจเหนือข้าราชการฝ่ายพลเรือนทุกตำแหน่งบรรดาประจำรับราชการอยู่ใน ภาคหนึ่งแห่งราชอาณาจักร์ แลมีน่าที่บังคับบัญชาตรวจตราแนะนำราชการในส่วนธุรการให้เป็นไปตามกระแสพระบรมราชโองการ และพระราชกำหนดกฎหมายทั้งดำริห์การทำนุบำรุงพระราชอาณาจักร์ภาคนั้นให้เจริญดีขึ้น...อุปราชจะต้องที่ทำราชการอยู่มณฑลหนึ่งมณฑลใดในภาคนั้นก็ได้

        จากประกาศนี้แสดงว่า ได้เรียกชื่อหัวเมืองฝ่ายอื่น ๆ ว่า “ภาค” เช่นเดียวกับภาคพายัพ สำหรับภาคใต้ที่มีทำการภาคอยู่ที่จังหวัดสงขลา แต่ทว่ายังเรียกภาคว่า “ภาคปักษ์ใต้ และตำแหน่งอุปราชก็เรียกว่า “อุปราชปักษ์ใต้” ดังกล่าวแล้ว คำว่าภาคใต้จึงน่าจะเริ่มใช้กันมากขึ้นในระยะนี้

        พบเอกสารท้องถิ่น เป็นตำราหมอดูซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ.๒๔๖๗ ชื่อหนังสือที่หน้าปกเขียนเป็น “ปักษ์โหราศาสตร์” แต่ในคำนำของผู้รวบรวมเขียนเป็น “ปักโหราศาสตร์” แสดงว่าในระยะนั้นใช้คำ “ปักใต้” และ “ปักษ์ใต้ ปะปนกัน

        หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ และได้ยุบมณฑลทั้งหมดในปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๖ หน่วยราชการในกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ได้มีการตั้งหน่วยงานเพื่อบริหารราชการในระดับภาคขึ้น เช่น ในปี พ.ศ.๒๔๗๘ ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญศาลใหม่ ตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลนครศรีธรรมราชกลายเป็น ข้าหลวงยุติธรรมภาคใต้ มีหน้าที่ควบคุมศาลจังหวัดต่าง ๆ ทั้งในเขตที่เป็นมณฑลนครศรีธรรมราชเก่า มณฑลสุราษฎร์ธานีเก่า และมณฑลภูเก็ตเก่าด้วย โดยมีหลวงจำรูญเนติศาสตร์ ดำรงตำแหน่งข้าหลวงยุติธรรมภาคใต้เป็นคนแรก (พ.ศ.๒๔๗๘-๒๔๘๓) มีที่ตั้งภาคอยู่ที่จังหวัดสงขลา ดังนี้เป็นต้น หลังจากนั้นคำว่า “ภาคใต้” จึงใช้เรียกกันอย่างแพร่หลาย

        หลวงจำรูญเนติศาสตร์ ได้เขียนประวัติการสร้างที่ทำการใหม่ศาลจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ความตอนต้นว่า ในชั้นเดิมภาคใต้ไม่มีความสำคัญเท่าภาคอื่น เพราะในขณะนั้นการทำสวนยางและเหมืองแร่ดีบุกอันเป็นสินค้าสำคัญของภาคใต้ยังไม่มีมากเท่าปัจจุบัน การค้าขายทางภาคใต้จึงสู้ทางภาคอื่นหาได้ไม่ ครั้นต่อมามีผู้คนสนใจทำสวนยางและเหมืองขึ้น ภาคใต้จึงขยายตัวในทางการค้าขึ้นสู่ระดับสูง ยิ่งนานวันการค้าขายของภาคใต้ก็ยิ่งเจริญขึ้นทุกที จำนวนเงินตราที่หมุนเวียนในการค้าของภาคใต้มีจำนวนมาก ภาคใต้จึงเป็นภาคที่สำคัญของประเทศ” จะเห็นว่าใช้คำ “ภาคใต้ ในทุกที่ดังที่ใช้กันเป็นปกติในปัจจุบัน

        อนึ่ง บริเวณพื้นที่ของจังหวัดทางภาคใต้ มีอาณาเขตติดต่อกับพรมแดนระหว่างประเทศไทย กับสหพันธรัฐมาเลเซียนั้น เคยเรียกชื่อพิเศษโดยอาศัยศาสนาของประชากรเป็นสำคัญว่า “สี่จังหวัดภาคใต้” หมายถึง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการพัฒนา เพราะมีโครงสร้างทางสังคม การศึกษาและวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน แม้การแบ่งเขตการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ก็ให้เขตการศึกษา ๒ มีหน้าที่รับผิดชอบใน ๔ จังหวัดดังกล่าว (ต่อมาระยะหลัง ๆ สภาพของจังหวัดสตูลมีลักษณะต่างออกไป จึงมักเรียกจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาสรวมกันว่า “สามจังหวัดภาคใต้” ต่อมาคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่าการใช้ชื่อว่า “สี่จังหวัดภาคใต้” เป็นการก่อให้เกิดการแบ่งแยกขึ้นจึงได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้เปลี่ยนการเรียกชื่อจาก “สี่จังหวัดภาคใต้” เป็น “จังหวัดชายแดนภาคใต้” ตั้งแต่วันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นต้นมา และคำว่า “จังหวัดชายแดนภาคใต้” หมายถึง ๕ จังหวัด คือ สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา

ที่ตั้ง

        ภาคใต้ตั้งอยู่ตอนล่างของประเทศ ปรากฏตามพิกัดทางภูมิศาสตร์ ตั้งแต่ละติจูดที่ ๑๑ องศา ๔๒ ลิปดาเหนือ ลงมาถึงละติจูดที่ ๕ องศา ๓๗ ลิปดาเหนือ คิดเป็นระยะทาง ๕๙๒ กิโลเมตร ส่วนกว้างอยู่ระหว่างลองจิจูด ๙๘ องศาตะวันออกกับลองจิจูดที่ ๑๐๒ องศาตะวันออก ช่วงที่กว้างที่สุดประมาณ ๒๓๒ กิโลเมตร และช่วงที่แคบที่สุดอยู่ที่บริเวณคอคอดกระ กว้างประมาณ ๕๐ กิโลเมตร (ดู คอคอดกระแต่ส่วนที่แคบที่สุดของคาบสมุทรไทยอยู่ที่ตำบลคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีความกว้างเพียง ๑๐.๘ กิโลเมตร

        พื้นที่ภาคใต้เป็นผืนแผ่นดินแคบทอดยาวจากเหนือลงมาใต้ มีทะเลขนาบอยู่ ๒ ด้าน คือ มหาสมุทรอินเดีย บริเวณทะเลอันดามันอยู่ทางฝั่งตะวันออก ฝั่งทะเลทั้ง ๒ ด้านยาวทั้งสิ้นประมาณ ๑,๖๗๒ กิโลเมตร ภาคใต้มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๗๐,๑๘๙ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๔๓,๘๑๘,๑๒๕ ไร่ คิดเป็นร้อยละ ๑๓.๖๖ ของพื้นที่ทั้งประเทศ ประกอบด้วย ๑๔ จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี พัทลุง กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส

        เขตแดนของภาคใต้ด้านตะวันตก ติดต่อกับประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า ทิศใต้ติดกับประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย โดยมีพรมแดนติดต่อกันยาว ๕๐๐ กิโลเมตร ตลอดแนวชายแดนในเขตจังหวัดสตูล สงขลา ยะลา และนราธิวาส

ลักษณะทางภูมิศาสตร์และธรณีสัณฐาน

        ภูมิประเทศของภาคใต้แบ่งออกได้เป็น ๓ ส่วนใหญ่ ๆ คือ บริเวณทิวเขา ที่ราบชายฝั่งอ่าวไทย และที่ราบชายฝั่งทะเลอันดามัน

บริเวณทิวเขา

        พื้นที่ประมาณร้อยละ ๔๐ เป็นบริเวณภูเขาและเนินเขา ทิวเขาที่สำคัญมี ๓ ทิวเขา คือ ทิวเขาภูเก็ต ทิวเขานครศรีธรรมราช และทิวเขาสันกาลาคีรี

        ทิวเขาภูเก็ต เป็นทิวเขาที่เริ่มจากปลายสุดของทิวเขาตะนาวศรี ที่อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง พาดผ่านลงมาทางใต้เป็นสันแบ่งเขตจังหวัดระนองกับจังหวัดชุมพร และสุราษฎร์ธานี แล้วทอดเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกไปยังจังหวัดพังงา กระบี่ และเกาะภูเก็ต และไปจรดกับทิวเขานครศรีธรรมราชที่อำเภอทุ่งสง แนวทิวภูเขานี้ยาวประมาณ ๕๑๗ กิโลเมตร ยอดสูงที่สุดของทิวเขานี้มีชื่อว่าเขาหลังคาตึก สูงประมาณ ๑,๓๙๕ เมตร

        ทิวเขานครศรีธรรมราช เริ่มจากอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเส้นแบ่งเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทอดลงไปทางใต้ ผ่านจังหวัดตรังและจังหวัดสตูล และบางส่วนของจังหวัดสงขลา ปลายทิวเขาบรรจบกับทิวเขาสันกาลาคีรี ที่อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล มีความยาวประมาณ ๓๑๙ กิโลเมตร ยอดสูงที่สุดมีชื่อว่า เขาหลวง และเป็นยอดที่สูงที่สุดในภาคใต้

        ทิวเขาสันกาลาคีรี เริ่มจากริมฝั่งทะเลที่อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล ทอดเป็นแนวยาวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตามแนวพรมแดนไทย-มาเลเซีย ผ่านจังหวัดสงขลา ยะลา และนราธิวาส ไปสิ้นสุดทิวเขาที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส มีความยาวประมาณ ๔๒๘ กิโลเมตร ยอดสูงที่สุด มีชื่อว่า ฮูลูติติปาซา สูง ๑,๕๓๕ เมตร

บริเวณที่ราบชายฝั่งอ่าวไทย

        พื้นที่ด้านฝั่งตะวันออกของทิวเขา คือฝั่งอ่าวไทย เป็นที่ราบชายฝั่งแบบยกตัว เป็นที่ราบแคบยาว เคยเป็นทะเลตื้นริมฝั่งที่เปลี่ยนสภาพเป็นพื้นดิน มีการทับถมของโคลนตมจากแม่น้ำและกระแสน้ำพัดพามาจนเกิดเป็นที่ราบกว้างขึ้น การทับถมของชายฝั่งบางส่วนเกิดจากตะกอนที่เกิดจากการสลายตัวของหินแกรนิตทำให้มีหาดทรายสวยงาม และมีสันทรายปรากฏอยู่ทั้งบนหาดและในพื้นที่นอกสันทราย บางแห่งยื่นยาวออกไปในทะเลเป็นระยะทางไกล ๆ เป็นสันดอนจะงอยที่มีขนาดใหญ่มาก ๒ แห่ง คือ ที่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีความยาวประมาณ ๑๖ กิโลเมตร และที่แหลมตาชี อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี มีความยาวประมาณ ๑๕ กิโลเมตร สันทรายที่งอกยื่นยาวจนปิดกั้นบริเวณอ่าวทำให้เกิดเป็นพื้นน้ำภายในแผ่นดินขึ้น คือ น่านน้ำที่เป็นทะเลสาบสงขลาในปัจจุบัน และที่เป็นทะเลน้อยในเขตต่อแดนระหว่างจังหวัดพัทลุง และนครศรีธรรมราช สันทรายที่ปิดกั้นทะเลสาบสงขลา มีความยาวจากเหนือไปใต้ประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร ทะเลสาบมีพื้นที่ประมาณ ๑,๐๔๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๖๑๖,๗๔๐ ไร่ มีความลึกประมาณ ๑.๕-๒.๐ เมตร สภาพน้ำเป็นทั้งน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด ต่างกันตามระยะทางที่ห่างจากปากอ่าวและต่างกันตามฤดูกาล บนสันทรายที่ปิดกั้นเป็นที่ตั้งของอำเภอสทิงพระ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา และพื้นที่ตอนล่างของจังหวัดนครศรีธรรมราช

        ที่ราบชายฝั่งอ่าวไทยมีแม่น้ำสายยาวหลายสาย ได้แก่ แม่น้ำตาปี และแม่น้ำพุมดวง ยาวประมาณ ๒๑๔ กิโลเมตร คลุมบริเวณพื้นที่ลุ่มประมาณ ๑๒,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร แม่น้ำปัตตานี ยาวประมาณ ๑๙๐ กิโลเมตร คลุมพื้นที่ลุ่มประมาณ ๔,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร แม่น้ำสายบุรียาวประมาณ ๑๗๐ กิโลเมตร คลุมพื้นที่ลุ่มประมาณ ๓,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีแม่น้ำปากพนังและแม่น้ำหลังสวน นอกจากนี้ยังมีคลองที่สำคัญ เช่น คลองไชยา คลองท่าฉาง ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี คลองท่าเรือ และคลองท่าวัง (ปัจจุบันเกือบหมดสภาพ) ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช คลองรัตภูมิ คลองอู่ตะเภา คลองเทพา คลองระโนด ในเขตจังหวัดสงขลา คลองปากประและคลองลำปำในเขตจังหวัดพัทลุง เป็นต้น บริเวณเหล่านี้เคยเป็นแหล่งน้ำ เส้นทางคมนาคมที่สำคัญของภาคใต้ฝั่งตะวันออก

        ลักษณะชายฝั่งด้านอ่าวไทย มีแนวค่อนข้างเรียบตรง มีอ่าวสำคัญ คือ อ่าวชุมพร อ่าวบ้านดอน อ่าวปากพนังและสิชล อ่าวเทพา อ่าวปัตตานี และอ่าวตากใบ บริเวณรอบอ่าวเหล่านี้เคยอุดมด้วยป่าชายเลน

        บริเวณที่เป็นเกาะรวมกันอยู่เป็นกลุ่มขนาดใหญ่ คือ เกาะสมุย เกาะพะงัน และหมู่เกาะอ่างทอง ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะสมุย มีเนื้อที่ประมาณ ๒๓๔ ตารางกิโลเมตร เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในอ่าวไทย และใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของประเทศ (รองจากเกาะภูเก็ต) ส่วนเกาะพะงันมีเนื้อที่ประมาณ ๑๒๑ ตารางกิโลเมตร หมู่เกาะอ่างทองประกอบด้วยเกาะขนาดเล็กประมาณ ๕๐ เกาะ เป็นเกาะที่เกิดจากภูเขาหินปูนของหมู่หินราชบุรี คล้ายคลึงกับหมู่เกาะหินในอ่าวพังงา หมู่เกาะนี้ได้มีประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓

บริเวณที่ราบชายฝั่งทะเลอันดามัน

        พื้นที่ด้านฝั่งตะวันตกของทิวเขา คือฝั่งทะเลอันดามัน เป็นที่ราบชายฝั่งแบบยุบตัว จึงทำให้ปากแม่น้ำสายต่าง ๆ มีความกว้างมากกว่าปกติ ซึ่งเรียกว่า ชะวากทะเล เช่น ปากน้ำกระบุรีในจังหวัดระนอง มีความกว้างถึง ๔.๕ กิโลเมตร หรือปากแม่น้ำคุระบุรีและตะกั่วป่าในจังหวัดพังงา เป็นต้น จากการยุบตัวทำให้บริเวณชายฝั่งด้านนี้มีพื้นที่บางแห่งน้ำทะเลไหลท่วมเข้ามา กลายเป็นพื้นน้ำที่มีน้ำตื้น ได้แก่ พื้นที่อ่าวพังงาและอ่าวกระบี่ ภายในอ่าวมีน้ำตื้น และมีเกาะขนาดเล็กตั้งเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก และมีลักษณะส่วนยอดของภูเขาหินปูนที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา แสดงว่าเดิมพื้นที่บริเวณนั้นเป็นพื้นแผ่นดินที่มีภูเขาหินปูนตั้งอยู่แล้วกลายเป็นทะเล

        ลักษณะของชายฝั่งแคบ เว้าแหว่งมาก บางแห่งภูเขาจดทะเลริมฝั่งออกไปพื้นที่ลาดลึกอย่างรวดเร็ว มีอ่าวใหญ่น้อย และมีเกาะแก่งเป็นจำนวนมาก

        เกาะภูเก็ต เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ มีเนื้อที่ ๕๑๓ ตารางกิโลเมตร มีน่านน้ำแคบ ๆ ชื่อ ช่องปากพระ กั้นกลางระหว่างเกาะกับชายฝั่งจังหวัดพังงา จากลักษณะทางธรณีวิทยาแสดงว่าเดิมเป็นพื้นดินต่อกับแผ่นดินใหญ่ ต่อมาถูกน้ำทะเลตัดขาดออกจากกัน ฝั่งตะวันตกและด้านใต้ของเกาะ มีโขดหิน หาดหิน และหาดทรายคั่นอยู่เป็นตอน ๆ หาดทรายของเกาะภูเก็ตเกิดจากการสลายตัวของหินแกรนิตที่ปกคลุมส่วนใหญ่ของเกาะ แต่ชายฝั่งด้านตะวันออกและด้านเหนือเป็นหาดโคลนและป่าชายเลน เนื่องจากหินในบริเวณนั้นเป็นหินดินดานในหมู่หินตะนาวศรี

        เกาะตะรุเตา อยู่ในจังหวัดสตูล เป็นเกาะขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ ๑๕๑ ตารางกิโลเมตร ซีกตะวันตกของเกาะเป็นหินทรายและหินดินดานในหมู่หินตะรุเตา ส่วนซีกตะวันออกเป็นหินปูนในหมู่หินทุ่งสง เกาะนี้ผนวกด้วยเกาะบริวารอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงรวม ๕๑ เกาะ ได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล เป็นแห่งแรกของประเทศ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ มีพื้นที่ทั้งเกาะและทะเลรวมกันประมาณ ๑,๔๙๐ ตารางกิโลเมตร พื้นที่ทางทะเล ๑,๒๖๐ ตารางกิโลเมตร พื้นที่เกาะ ๒๓๐ ตารางกิโลเมตร เกาะใหญ่ ๆ มี ๗ เกาะ คือ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะดง เกาะหลีเป๊ะ เกาะเหล็ก และเกาะกลาง

สภาพภูมิอากาศ

        สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปภายใต้อิทธิพลมรสุม ซึ่งแบ่งได้เป็น ๒ เขต คือ

        ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้แก่ บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นเขตที่ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ประมาณ กลางเดือนตุลาคมไปจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ และได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมจนถึงกลางเดือนตุลาคม แต่เนื่องจากมีเทือกเขาขวางกั้น ในช่วงนี้จึงมีฝนตกเบาบาง อุณหภูมิเขตฝั่งตะวันออกค่อนข้างคงที่ มีความชื้นสูง ฝนตกหนักที่สุดในเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีประมาณ ๑,๘๓๔.๔ มิลลิเมตร

        ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ได้แก่ บริเวณจังหวัดระนอง ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต และสตูล เป็นบริเวณที่ได้รับอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เต็มที่ จึงมีฝนตกมาก ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งจะมีฝนตกประมาณ ๑๗-๒๗ วันต่อเดือน และเดือนที่ฝนตกชุกที่สุดคือ เดือนกันยายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีของภาคใต้ฝั่งตะวันตกประมาณ ๓,๐๒๖.๕ มิลลิเมตร ช่วงที่ฝนตกน้อยที่สุดคือ เดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม

        ภาคใต้โดยทั่วไปจึงมีฤดูกาลเพียง ๒ ฤดู คือ ฤดูร้อน (หรือฤดูแล้ง) และฤดูฝน โดยทางฝั่งตะวันตกจะเริ่มฤดูกาลเร็วกว่าฝั่งตะวันออกประมาณ ๑ เดือน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งภาคแต่ละปีประมาณ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ มิลลิเมตร จังหวัดที่มีฝนตกมากที่สุดคือ จังหวัดระนอง มีฝนตกเฉลี่ยปีละ ๔,๓๔๓ มิลลิเมตร ความชื้นสัมพัทธ์โดยเฉลี่ยทั้งหมดประมาณร้อยละ ๘๐ อุณหภูมิมีค่าเฉลี่ยประมาณ ๒๙.๒ องศาเซลเซียส ผลต่างของอุณหภูมิเฉลี่ยเดือนที่มีอุณหภูมิสูงและต่ำสุดอยู่ระหว่าง ๒-๓ องศาเซลเซียส

ลักษณะของหิน

        ลักษณะของหิน หินที่พบมากในเขตภาคใต้ ได้แก่

        หินชุดกระบี่ (Krabi Group) ประกอบด้วย หินกรวดปนหินทราย หินทรายแป้ง หินโคลน หินดินดาน และถ่านลิกไนต์ ชั้นหินชนิดนี้ มีซากบรรพชีวิน (Fossil) เป็นตัวบ่งชี้ว่ามีอายุประมาณ ๓๕-๔๐ ล้านปีมาแล้ว มีอายุอยู่ในยุคเทอร์เชียรี่ (Tertiary) มหายุคเซนโนโซอิก (Cenozoic Era)

        หินชุดโคราช (Korat Group) ประกอบหินทรายเนื้อละเอียดถึงเนื้อหยาบ หินซิลต์ หินดินดาน หินกรวดมน มีสีแดงทึบ แดง และน้ำตาล บางส่วนมีแร่ไมก้า บางแห่งเป็นหินดินดานสีเทาและหินปูน ซึ่งมีซากบรรพชีวิน ส่วนใหญ่พบว่ามีอายุอยู่ในยุคไตรแอสสิก-ครีทาเชียส (Triassic-Cretaceous)

        หินชุดราชบุรี (Ratburi Group) ประกอบด้วยหินปูน สีเทาอ่อนถึงเทาแก่ มี Ghert module สลับกับหินทรายและหินดินดาน ซึ่งมีซากบรรพชีวิน (Fossil) มีอายุอยู่ในยุคเปอรเมี่ยน (Permian)

        หินชุดตะนาวศรี (Tanaosi Group) ประกอบด้วยหินทราย หินทรายปนกรวด หินดินโคลน หินกราแวคกี้ (Graywaki) ชั้นหินเชิร์ต หินกรวดมน ซึ่งพบซากบรรพชีวินอยู่ด้วย มีอายุอยู่ในยุคคาร์บอนนิเฟอรัส ถึงยุคเปอร์เมี่ยน (Garboniterous-permian)

        หินอัคนีเป็นหินแกรนิต มีอายุอยู่ในยุคไตรแอสสิก (Triassic)

        หินชุดตะรุเตา (Tarutao Group) เป็นกลุ่มหินที่มีอายุอยู่ในยุคแคมเบรียน ภาคใต้พบที่เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล เป็นพวกหินทรายไมก้า (Micaceous sandstone) และหินดินดาน พบซากบรรพชีวินพวกซอคิดไทรโลไบต์ (Saukid Trilobites) และออร์ทิสปราคิโอปอด (Orthis Bsacchiopods)

ลักษณะของดิน

        ไพศาล เหล่าสุวรรณ (รายงานการสัมมนาภูมิศาสตร์แห่งชาติครั้งที่ ๒ : ๒๕๒๒) แบ่งลักษณะดินของภาคใต้ เป็น ๔ ชนิด คือ

        ๑ดินดอน (Upland soils) เป็นดินที่ระบายน้ำได้ดี มีลักษณะเป็นลูกรัง ทรายจัด ดินร่วนปนทรายและดินเหนียว ดินดอนนี้มีประมาณร้อยละ ๓๙ ของดินในภาค เช่น ในบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ใช้ปลูกพืชไร่ ยาง ผลไม้ บางแห่งใช้ปลูกข้าวและปรับปรุงปลูกพืชไร่

        ๒ดินลาดชัน (Steepland soils) คือดินที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ ๓๕ จะมีอัตราการชะล้างสูง อุ้มน้ำไม่ดี ไม่เหมาะแก่การปลูกพืช ภาคใต้มีดินชนิดนี้อยู่ราวร้อยละ ๓๔ ของดินในภาค มีมากในเขตจังหวัดชุมพร ระนอง กระบี่ พังงา นครศรีธรรมราช และสตูล ใช้ประโยชน์ในการปลูกยางพารา ไม้ผล พืชไร่ ข้าวไร่ เป็นดินที่ปรับปรุงยาก

        ๓ดินชายฝั่ง (Coastal soils) ส่วนมากเป็นดินเค็ม ไม่เหมาะแก่การเกษตร บางแห่งอาจมีอินทรียวัตถุ ดินชนิดนี้มีอยู่ประมาณร้อยละ ๖ ของดินในภาค มีมากในจังหวัดชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส พืชที่ปลูกได้ดีคือ มะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ มักอุดมด้วยป่าชายเลน เช่น โกงกาง แสม เหมาะสำหรับทำบ่อเลี้ยงกุ้งและปลา

        ๔ดินตะกอนใหม่ (Recent-Alluvial soils) เป็นดินที่มีคุณภาพในการกสิกรรม มีอยู่ประมาณ ร้อยละ ๒๑ ของดินในภาคมีมากในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส เหมาะแก่การปลูกข้าว ข้าวโพด ถั่ว

การแบ่งยุคทางธรณีวิทยา

        ๑.  มหายุค พรีแคมเบรียน (Precambrian) ช่วงเวลา ๔,๕๐๐-๖๐๐ ล้านปีก่อน ปรากฏการณ์ ภูเขาไฟระเบิดทั่วไป โลกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง

        ๒. มหายุค พาลิโลโซอิก (Paleozoic) ยุค/ระยะ (Period) แคมเบรียน (Cambrian) ช่วงเวลา ๖๐๐-๕๐๐ ล้านปีก่อน ปรากฏการณ์แผ่นดินส่วนใหญ่จมอยู่ใต้ทะเล ภาคใต้ส่วนหนึ่งเป็นทะเลตื้น เกิดสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเกือบทุกชนิด นอกจากแมลง ยุค/ระยะ ออร์โดวิเชียน (Ordovician) ช่วงเวลา๕๐๐-๔๔๐ ล้านปีก่อน ปรากฏการณ์ทะเลยุบตัว บางส่วนเป็นทะเลลึก เกิดหินปูนชุดทุ่งสงขึ้น เกิดสัตว์มีกระดูกสันหลัง เมื่อประมาณ ๔๘๐ ล้านปีมาแล้ว ยุค/ระยะ ไซลูเรียน (Silurian) ช่วงเวลา ๔๔๐-๔๐๐ ล้านปีก่อน ปรากฏการณ์ทะเลค่อยยกตัวสูงขึ้น ยุค/ระยะ ดีโวเนียน (Devonian) ช่วงเวลา ๔๐๐-๓๕๐ ล้านปีก่อน ปรากฏการณ์ประมาณ ๓๕๐ ล้านปีมาแล้ว เกิดมีปลาน้ำจืด ยุค/ระยะ คาร์โบนิเฟอรัส (Carboniferous) อนุยุค (Epoch) มิสซิสซิบเปียน (Missisippian) ช่วงเวลา ๓๕๐-๒๗๐ ล้านปีก่อนปรากฏการณ์มีปลาอาศัยในน้ำเค็ม เช่น ปลาฉลาม พบสัตว์สะเทิ้นน้ำ สะเทิ้นบก และพืชบนดิน ยุค/ระยะ เพอร์เมี่ยน (Permian) ช่วงเวลา ๒๗๐-๒๒๕ ล้านปีก่อน ปรากฏการณ์มีสัตว์เลื้อยคลานมากขึ้น

        ๓. มหายุค เมโสโซอิก (Mesozoic) ยุค/ระยะ (Period) ไทรแอสสิก (Triassic) ช่วงเวลา ๒๒๕-๑๘๐ ล้านปีก่อน ปรากฏการณ์เป็นมหายุคของสัตว์เลื้อยคลาน เช่น ไดโนเสาร์ ยุค/ระยะ ยูแรสสิก (Jurassic) ช่วงเวลา ๑๘๐-๑๓๕ ล้านปีก่อน ปรากฏการณ์สัตว์เลื้อยคลานบางพวก วิวัฒนาการเป็นพวกอาศัยในน้ำ บางพวกเป็นพวกมีปีกบินได้ คือ นก และพวกที่เลี้ยงลูกด้วยนม ยุค/ระยะ ครีตาเซียส (Cretaceous) ช่วงเวลา ๑๓๕-๗๐ ล้านปีก่อน ปรากฏการณ์สัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่สูญพันธุ์ สัตว์กินนมพวกที่เจริญที่สุด คือ ลิงและคน ซึ่งเรียกว่า ไปรเมท (Primates) อาจปรากฏอยู่ในยุคนี้ พร้อมสัตว์จำพวกลูกเติบโตในมดลูก และอาศัยรกรับอาหารและขับถ่าย

        ๔มหายุคซีโนโซอิก (Cenozoic) ยุค/ระยะ (Period) เทอเทียรี่ (Tertiary) อนุยุค (Epoch) พาลีโอซีน (Paleocene) ช่วงเวลา ๗๐-๖๐ ล้านปีก่อน ปรากฏการณ์เป็นมหายุคของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนก อนุยุคอีโอซีน (Eocene) ช่วงเวลา ๖๐-๔๐ ล้านปีก่อน ปรากฏการณ์กำเนิดแหล่งถ่านหิน เช่น ที่กระบี่ อนุยุคโอลิโกซีน (Oligocene) ช่วงเวลา ๔๐-๒๕ ล้านปีก่อน อนุยุคไมโอซีน (Miocene) ช่วงเวลา ๒๕-๑๑ อนุยุคไพลโอซีน (Pliocene) ช่วงเวลา ๑๑.๐-๑.๕ ล้านปีก่อน ยุค/ระยะ ควอเตอร์นารี (Quaternary) อนุยุคไพลสโตซีน (Plistocene) ช่วงเวลา ๑.๕-๐.๑ ล้านปีก่อน อนุยุคตอนต้น ช่วงเวลา ๑.๕-๐.๕ ล้านปีก่อน ปรากฏการณ์เป็นยุคที่มนุษย์มีวิวัฒนาการมาก โลกเกิดความเย็นจัด แผ่นน้ำแข็งปกคลุมส่วนใหญ่ของโลกในเขตร้อน กรวดทราย ดินเลนสะสมตัว กำเนิดลานแร่ดีบุกทั่วไปในภาคใต้ พวกออสตราโลปีธิคัส (Australopithecus) ซึ่งเป็นมนุษย์ที่มีลักษณะคล้ายวานรปรากฏขึ้น ในระยะนี้มีพืชพวกหญ้า ไม้พุ่ม และไม้มีดอก พร้อมกับวัฒนธรรมสมัยหินเก่า (Paleolithic culture) ซึ่งใช้หินกรวดทำเครื่องมือ ครั้นถึง อนุยุคไพลสโตซีน ตอนกลาง ช่วงเวลา ๐.๕-๐.๑๕ ล้านปีก่อน ปรากฏการณ์มนุษย์มีวัฒนธรรมยุคหินเก่า (Old Stone Age) ต่อเนื่องด้วยยุคหินกลาง (Mesolithic) ซึ่งมนุษย์มีสภาพเป็นสังคมเร่ร่อนอยู่ตามถ้ำและเพิงผา ล่าสัตว์ ผลไม้ รากไม้ เป็นอาหาร มีเผ่าชนออสเตรลอยด์ (Australoid) และ เผ่าชนนิกริโต (Nigrito) ครั้นถึง อนุยุคไพลสโตชีน ตอนปลาย ช่วงเวลา ๐.๑๕-๐.๑๐ ล้านปีก่อน ปรากฏการณ์มนุษย์มีความเจริญสูงขึ้น แต่ความเจริญทางเทคนิควิทยายังต่ำ เครื่องใช้ทำขึ้นหยาบ ๆ เช่น เครื่องมือหินกะเทาะ มนุษย์เชื่อเรื่องวิญญาณ อนุยุคโฮโลซีน (Holocene) ช่วงเวลา ๐.๑๐-๐.๐๗ ล้านปีก่อน ปรากฏการณ์ ระดับน้ำในมหาสมุทรจะลดและสูงขึ้นสลับกันเกิดการกัดเซาะ พังทลาย และการทับถม พบเครื่องมือหินขัด (Polished Tools) สมัยหินใหม่ (Neolithic) มนุษย์รู้จักผลิตอาหารได้เอง รู้จักเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช ตั้งหลักแหล่งเป็นถิ่นที่ มีการแบ่งงานกันทำ เป็นต้น อนุยุคโฮโลซีนปัจจุบัน (Recent) ช่วงเวลา ๐.๐๗ ล้านปีก่อนถึงปัจจุบัน ปรากฏการณ์บริเวณภาคใต้ เช่น อ่าวพังงา ระดับน้ำทะเลสูงกว่าปัจจุบัน ประมาณ ๕ เมตร เมื่อประมาณ ๖,๐๐๐-๕,๕๐๐ ปีมาแล้ว แล้วลดลงต่ำกว่าระดับปัจจุบัน ประมาณ ๑.๕ เมตร เมื่อประมาณ ๔,๗๐๐ ปีมาแล้ว และระดับน้ำปรับตัวอยู่ในระดับปัจจุบัน เมื่อประมาณ ๑,๕๐๐ ปีที่ผ่านมา

ลักษณะทางธรณีสัณฐานกับวัฒนธรรมชุมชน

        สุด แสงวิเชียร เรียบเรียงเรื่องดินแดนภาคใต้สมัยไพลสโตซีน (Pleistocene Epoch) โดยอ้างมาถึงงานของ Oaklay and Muir-Wood (1949) ว่า ดินแดนที่เป็นภาคใต้ของประเทศไทยมีสภาพเป็นพื้น แผ่นดินมาตั้งแต่ยุคยูแรสสิก (Jusassic period) ซึ่งเป็นตอนกลางของมหายุค เมเสโซอิก (Meiszoic era) คือตกอยู่ประมาณ ๑๗๐ ล้านปีมาแล้ว

        รายงานขั้นสรุปการขุดค้นที่ถ้ำหมอเขียว จังหวัดกระบี่ ถ้ำซาไก จังหวัดตรัง และการศึกษาชาติพันธ์วิทยาทางโบราณคดีชนกลุ่มน้อยเผ่าซาไก จังหวัดตรัง ของ สุรินทร์ ภู่ขจรและคณะ (พ.ศ.๒๕๓๗) อ้างถึงเรื่อง A Lower Testiary vertibrate taunatrom Krabi (South Thailand) (1992) ว่าจากการสำรวจหินชุดกระบี่ (Krabi Group) ซึ่งหินชุดนี้มีซากบรรพชีวิน เป็นหอยขมน้ำจืด ที่ตายทับถมกันเป็นลานหิน บริเวณบ้านแหลมโพธิ์และบริเวณเหมืองลิกไนต์นั้น จากการสำรวจเพิ่มเติมพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใหม่ จำพวกสัตว์กีบคู่ มีลักษณะคล้ายหมู และฮิปโปโปเตมัส เป็นสัตว์ในตระกูลแอนทราโกเทอริด (Anthracotherid) ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงอีโอซีนตอนปลาย (Late Eocene) คือเมื่อประมาณ ๔๐ ล้านปีมาแล้ว และเนื่องจากไม่เคยพบสัตว์ชนิดนี้ในพื้นที่ใดมาก่อน จึงได้ชื่อและสกุลใหม่ว่าไซแอมโมเทอเรียม กระบี่เอนซี่ (Siamotherium Krabiense) และเนื่องจากชั้นหินที่พบซากดึกดำบรรพ์นี้ วางตัวอยู่บนชั้นหินปูนที่มีซากหอยขมน้ำจืด จึงวินิจฉัยได้ว่า ซากหอย หรือสุสานหอย ในเขตเมืองกระบี่และที่แหลมโพธิ์ควรมีอายุในช่วง ๔๐ ล้านปี

        รายงานการศึกษา แอนโทรโพอิค ไทรเมท (พ.ศ.๒๕๔๐) ของเยาวลักษณ์ ชัยมณี และคณะ ได้ค้นหาและขุดพบซากดึกดำบรรพ์ของลิง ซึ่งมีอายุอยู่ในยุคอีโอซีน ที่แอ่งในบริเวณเหมืองถ่านหินลิกไนต์ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เป็นซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิลของไพรเมทชั้นสูง (แอนโทรโพอิด) คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีสมองค่อนข้างใหญ่กว่าสัตว์ในพวกเดียวกัน ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของสายพันธุ์มนุษย์ ที่เชื่อกันระดับหนึ่งว่ามีแหล่งกำเนิดจากทวีปแอฟริกา/ทวีปเอเชีย และไพรเมทชั้นสูงเหล่านี้เอง ได้มีวิวัฒนาการแพร่กระจายไปทั่วโลก ไพรเมทที่คลองท่อมนี้วิเคราะห์ได้ว่าอยู่ในยุคอีโอซีนตอนปลาย มีอายุระหว่าง ๓๗-๓๕ ล้านปีที่แล้ว ถือเป็นไพรเมท แอนโทรโพอิด ชนิดใหม่ของโลก จึงให้ชื่อว่า “สยามโทพิเทคัส อีโอซีนัส” หมายถึงลิงสยามอายุอีโอซีน จากการที่เคยพบไพรเมท แอนโทรโพอิดอีกหลายชนิดจากทวีปแอฟริกาและคาบสมุทรซาอุดิอาระเบีย ตลอดจนที่พงดงเกียในประเทศพม่า ซึ่งมีอายุประมาณ ๔๐ ล้านปี อยู่ในยุคอีโอซีนตอนปลายซึ่งใกล้เคียงกัน คณะสำรวจสรุปไว้ว่า ไพรเมทน่าจะมีแหล่งกำเนิดที่ทวีปแอฟริกา ในสมัยพาลีโอซีน (Paleocene) อายุประมาณ ๗๐-๖๐ ล้านปีมาแล้ว เพราะมีการค้นพบไพรเมทหลายชนิดและพบไพรเมทที่อายุเก่าแก่ที่สุดในโลกที่ทวีปแอฟริกา ต่อมาปลายสมัยอีโอซีนได้มีการแพร่กระจายออกไปยังทวีปเอเชีย และมีวิวัฒนาการและการแพร่พันธุ์หลายชนิดในเอเชียตะวันออก ดังที่ได้พบไพรเมท แอนโทรโพอิด ที่ประเทศจีน พม่าและไทย จึงวิเคราะห์ได้ ไพรเมทได้มีการอพยพจากเอเชียตะวันออก กลับไปยังทวีปแอฟริกาอีกครั้งในช่วงปลายอีโอซีนถึงช่วงต้นโอลิโกซีนและแสดงว่าภาคใต้ของประเทศไทย และทวีปเอเชียเคยเป็นศูนย์กลางการวิวัฒนาการไพรเมท แอนโทรโพอิด ที่เป็นต้นสายพันธุ์ของมนุษย์แหล่งหนึ่ง

        ปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา เมื่อประมาณ ๑.๕ ล้านปี-๑ แสนปีที่แล้ว ซึ่งเป็นระยะต้นของยุคควอเตอร์นารี (Quaternary period) โลกเกิดสภาวะเย็นจัด ทำให้น้ำทะเลในมหาสมุทรถูกดึงไปและกลายเป็นน้ำแข็ง ทำให้ระดับน้ำทะเลลดต่ำลงกว่าระดับในปัจจุบันประมาณ ๒๔๐-๖๐๐ ฟุต ทะเลบริเวณอ่าวไทย และจีนตอนใต้เปลี่ยนสภาพเป็นพื้นดินกว้างใหญ่ที่เรียกว่าเกิด ซุนดา แพลตฟอร์ม (Sunda Platorm) เชื่อมต่อกันและยังเชื่อมต่อกับแหลมมาเลเซีย เกาะสุมาตรา หมู่เกาะชวา บอร์เนียว และเกาะอื่น ๆ จนกลายเป็นดินแดนเดียวกัน

        ผลจากการศึกษาและขุดค้นของนักโบราณคดีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ บริเวณภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ บริเวณจังหวัดระนอง ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต และสตูล นับเนื่องมาแต่ พ.ศ.๒๔๕๕-๒๕๓๗ จากแหล่งสำคัญประมาณ ๖๘ แหล่ง ทั้งที่เป็นแหล่งพักอาศัยและแหล่งภาพเขียนสีของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ พบว่ามีมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์อาศัยอยู่ในบริเวณรอบอ่าวพังงา โดยเฉพาะในเขตจังหวัดกระบี่ ตั้งแต่ ๒๗,๐๐๐-๓๗,๐๐๐ ปีมาแล้ว กล่าวคืออย่างน้อยตั้งแต่สมัยหินเก่าตอนปลาย (Late Pleistocene) ซึ่งจัดได้ว่าเป็นแหล่งเก่าที่สุดในประเทศไทย เท่าที่พบแล้วในเวลานี้ เช่น บันทึกของ E.E. Lunet de Lajorquière ชาวฝรั่งเศส เกี่ยวกับการค้นพบภาพเขียนสีที่เกาะเขียนและเขาแหลมในจังหวัดกระบี่และจังหวัดพังงา ในเอกสารเรื่อง Essai d' Inventaise Arché ologioque de Siam เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๕ หรือผลจากการขุดค้นของ Prof. Douglas Andesson ณ ถ้ำหลังโรงเรียนบ้านทับปริก อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ซึ่งผลการหาอายุโดยวิธีเรดิโอคาร์บอน (C.14) พบว่ามีอายุระหว่าง ๒๗,๐๐๐-๓๗,๐๐๐ ปีก่อนปัจจุบัน ซึ่งเป็นสมัยหินเก่าตอนปลาย สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ตัวอย่างโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นที่ถ้ำหมอเขียว จังหวัดกระบี่ ของสุรินทร์ ภู่ขจร และคณะ ปรากฏว่าข้อมูลที่พบในชั้นดินทางโบราณคดีชั้นที่ ๔ นอกจากเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ยุคหินเก่าตอนปลายในช่วงอนุยุคไพลสโตซีน ทางธรณีวิทยาแล้ว ใกล้กับที่ถ้ำหลังโรงเรียนทับปริก (๓๗,๐๐๐ ± ๑๗๘๐ B.P.) พบเครื่องมือสะเก็ดหิน (Flake Tool) จำนวนมาก และพบลักษณะที่น่าจะเป็นที่ฝังศพของคนที่อาศัยอยู่ส่วนชั้นดินทางโบราณคดี ชั้นที่ ๕ พบว่าเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ยุคหินเก่าตอนปลายที่มีการกะเทาะเครื่องมือหินหน้าเดียว (Pebble Tool Industry)

        สุรินทร์ ภู่ขจร ได้วิเคราะห์เครื่องมือสะเก็ดหินซึ่งขุดค้นได้จากถ้ำหมอเขียว โดยวิธี Microweer พบว่าคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้อาศัยอยู่ที่นี้ต่อเนื่องกันยาวนาน ตั้งแต่ยุคหินเก่าตอนปลายเมื่อ ๒๕,๐๐๐ ปีที่แล้วจนถึงยุคหินใหม่เมื่อ ๔,๕๐๐ปีที่แล้ว พบวัฒนธรรมของพวกที่อยู่ที่นี้ว่า สามารถใช้เครื่องมือหินกะเทาะสำหรับผลิตเครื่องมือชนิดอื่น ๆ (Tool making tool) เพื่อการล่าสัตว์ เช่น เครื่องมือกระดูก (Bone tool) พบการใช้ขวานหินขัด พบกองไฟร่วมกับกระดูกสัตว์และเปลือกหอยที่ได้จากป่าชายเลน เช่น หอยโหล้ (หอยจุ๊บแจง) หอยจากทะเล เช่น หอยแครง หอยน้ำจืด เช่น หอยขม พบลูกปัดที่ทำด้วยเปลือกหอยและหิน เครื่องประดับที่ทำด้วยกระดูก พบร่องรอยคล้ายการฝังศพที่มีพิธีกรรมสะกดวิญญาณศพที่ตายผิดปกติ ผลการวิเคราะห์โครงกระดูก พบรอยของการสมานกระดูกที่เกิดจากการรักษาที่ค่อนข้างดี พบร่องรอยการโรยดินเทศ (red-ochre) บนโครงกระดูกก่อนที่จะฝัง และพบว่าชุมชนกลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มของ Mongoloid รุ่นแรก ๆ พบลักษณะทางกายภาพว่ากระดูกขากรรไกรล่าง และโพรงในฟันใหญ่กว่าของคนในปัจจุบัน อันอาจกล่าวได้ว่าเป็นลักษณะของพวกดั้งเดิม (Primitive)

        จากปรากฏการณ์ทางธรณีสัณฐาน พบเปลือกหอยทะเลอยู่ห่างจากฝั่งทะเล พบรอยน้ำเซาะหิน (notches) ตามขอบล่างของหน้าผาหินและโขดหินบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลของภาคใต้ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลในปัจจุบัน ประมาณ ๕ เมตร ประกอบกับการพบแหล่งพักอาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ตามเพิงผาอยู่ในพื้นที่ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลปัจจุบันถึง ๑๐ เมตร เหล่านี้ย่อมแสดงถึงความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลในอนุยุคโฮโลซีน ที่เกิดปรากฏการณ์น้ำรุกล้ำเข้ามาในแผ่นดินสูงสุด ในช่วง ๖,๐๐๐-๕,๐๐๐ ปีที่แล้ว (ต่อจากนั้นระดับน้ำลดลงต่ำสุด ต่ำกว่าระดับปัจจุบันถึง ๑.๕ เมตร ในช่วง ๔,๗๐๐ ปีที่แล้ว และระดับน้ำทะเลปรับตัวใกล้กับปัจจุบันในช่วง ๑,๕๐๐ ปีที่ผ่านมา) เหล่านี้ยังผลให้มนุษย์สมัยนั้นไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในที่โล่งและที่ลุ่มจำเป็นต้องอยู่ตามเพิงผา ประกอบกับการรุกล้ำของน้ำในอนุยุคโฮโลซีนดังกล่าว ทำให้ตะกอนจากน้ำทะเลสะสมตัวเป็นธรณีสัณฐานลักษณะต่าง ๆ เช่น ที่ราบน้ำขึ้นถึง ที่ป่าชายเลนปกคลุม ซึ่งอุดมด้วยดินเคลย์ (clay) ที่เกิดจากน้ำขึ้นน้ำลง และเกิดดินชั้นพีท (Peat) ที่เกิดจากการเสื่อมสลายของซากพืชทับถมอยู่บนสุด ทำให้บริเวณที่มีลักษณะเหล่านี้กลายเป็นแหล่งอาหารทะเลและป่าชายเลน เหมาะที่จะเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ผนวกด้วยคุณลักษณะทางธรณีสัณฐานที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีหินปูนยุคเพอร์เมี่ยน (Permian) กระจายอยู่ทั่วไป เนื่องจากหินชนิดนี้สึกกร่อนและละลายน้ำได้ง่ายและตกตะกอน ทำให้เกิดเป็นลานปูน หินงอกหินย้อย เกิดเป็นโพรงเป็นถ้ำ เป็นชะง่อนเพิงผา เหมาะสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุเหล่านี้จึงพบแหล่งพักอาศัยของคนยุคนี้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณอ่าวพังงา และบริเวณใกล้เคียง เช่น ในเขตจังหวัดสตูล ตรัง กระบี่ พังงา เป็นต้น

        ตามแหล่งชุมชน และแหล่งพักอาศัยของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในภาคใต้ดังกล่าวแล้ว พบหินกีเซอร์ไรต์เป็นจำนวนมาก หินเหล่านี้เกิดจากการผสมตัวของแร่ธาตุต่าง ๆ อันมีธาตุซิลิกาเป็นหลัก ประกอบด้วย ควอตซ์ (quartz) อะเกต (agate) หินเหล็กไฟ (Flint) เชิร์ต (chert) เป็นต้น ทางธรณีวิทยาพบว่าหินเหล่านี้เกิดจากน้ำพุร้อนในยุคควอเทอร์นารี และเมื่อมีการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงของเปลือกโลก โดยมีการยกตัวของชั้นหินทำให้น้ำพุร้อน แทรกดันขึ้นมาแล้วตกตะกอน เป็นหินกีเซอร์ไรต์และผลจากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่า เครื่องมือหินกะเทาะของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในภาคใต้ จำนวนมากทำด้วยหินชนิดดังกล่าวนี้และหินประกอบอื่น ๆ เช่น ควอตซ์ อะเกต ก็พบที่ใช้ทำลูกปัดในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ส่วนหินเหล็กไฟ ก็ใช้เป็นเครื่องกำเนิดไฟ สืบต่อมาช้านาน

ผู้คน ชาติพันธุ์และการผสมผสานทางวัฒนธรรม

        วัฒนธรรมชุมชนในภาคใต้สมัยก่อนประวัติศาสตร์

        ผลสรุปของการวิเคราะห์ข้อมูล ที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีได้ว่า ในภาคใต้ฝั่งตะวันตกโดยเฉพาะบริเวณอ่าวพังงา เคยมีมนุษย์อาศัยมาตั้งแต่ ๒๗,๐๐๐-๓๗,๐๐๐ ปีมาแล้ว และโครงกระดูกมนุษย์ที่พบในบริเวณถ้ำหมอเขียว อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ซึ่งมีอายุประมาณ ๒๕,๐๐๐ ปีมาแล้วนั้น มีหลักฐานทางกายภาพเป็นกลุ่มของ Mongoloid รุ่นแรก ๆ

        อมรา (ขันติสิทธิ์) ศรีสุชาติ กล่าวถึงทฤษฎีเกี่ยวกับชนชาติต่างๆ ในดินแดนภาคใต้ของ แฟรงค์ เอ็ม. เลบาร์ (Frank M. Lebar) เยอร์ราลด์ ซี. ฮิกคี (Gerald C. Hickey) และ จอห์น เค. มัสกราฟ (John K. musgrave) (ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ : ในภาคใต้) สรุปความว่า ประกอบด้วยกลุ่มใหญ่ ๆ ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มไทย-กะได (Thai-Kadai) ได้แก่ คนไทยปักษ์ใต้ที่พูดภาษาไทย กลุ่มหนึ่ง กลุ่มมาลาโย-โปลีเนเซียน (Malayo-Polynecian) ได้แก่ พวกมาเลย์ (Malays) ที่ใช้ภาษามาเลย์ พวกมอเก็น หรือโอรังลาโอด (Moken or Orang Laut) เป็นพวกชาวเรืออยู่ใกล้ปากน้ำ ฝั่งทะเล (ชาวเล หรือชาวน้ำ) กลุ่มหนึ่ง และกลุ่มออสโตรเอเซียติก (Austorsiatic) คือพวกนิกริโต (Negritos) ได้แก่ พวกเซมังหรือซีมัง คือพวกเงาะ หรือซาไก อีกกลุ่มหนึ่ง และกล่าวถึงแนวความคิดของศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี ที่ว่าคนที่อพยพจากจีน ผ่านประเทศลาว ไทย ต่อไปถึงมาเลเซีย ลงสู่ประเทศอินโดนีเซีย และมีการอพยพจากใต้ขึ้นสู่เหนือมาตั้งถิ่นฐานในภาคใต้อีกละลอกหนึ่งด้วย และอมรากล่าวถึงแนวคิดของพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล) ที่สรุปจากเอกสารโบราณของมาเลเซียว่า พวกโอรังลาโอดผสมพันธุ์กับพวกซาไก (เซมัง) กลายเป็นชนพื้นเมืองภาคใต้ และพวกโอรังลาโอดผสมพันธุ์กับชนชาติไทยจากภาคกลาง กลายเป็นชนพื้นเมืองภาคใต้ และชนพื้นเมืองในมาเลเซีย ซึ่งเป็นกลุ่มชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในภาคใต้แบ่งเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ “ชนชาวถ้ำ” ได้แก่ คนก่อนประวัติศาสตร์ที่ใช้ถ้ำเป็นที่อยู่อาศัย ประกอบกิจกรรม ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ป่าเขาโดยเข้าล่าสัตว์แบบสังคมนายพราน อีกกลุ่มหนึ่งคือ “ชนชาวน้ำ” ได้แก่ คนก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งมีถิ่นที่อยู่แนวฝั่งทะเล อาศัยอยู่ตามถ้ำหรือที่ราบใกล้ฝั่งทะเล หรืออ่าว หรือถ้ำปนเกาะหรือถ้ำบนภูเขาหินปูนที่มีน้ำล้อมรอบ ชนชาวน้ำอาจมาจากชุมชนชาวถ้ำและปรากฏขึ้นหลังชุมชนชาวถ้ำ แต่หลักฐานจากการขุดค้นในปี พ.ศ.๒๕๒๙ ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะยืนยันทฤษฎีที่ว่า ชนชาวถ้ำคือพวกนิกริโตที่อพยพเข้าจนย้ายมาจากดินแดนตอนบนของภาคใต้หรือชนชาวน้ำคือพวกโอรังลาโอด หรือโปรโต-มาเลย์ และทั้ง ๒ พวกนี้จะเป็นพวกเดียวกับนิกริโต (ซาไก-ซีมัง) หรือโอรังลาโอดที่หลงเหลือเป็นชนกลุ่มน้อยอยู่ในภาคใต้ปัจจุบัน

        อมรา (ขันติสิทธิ์) ศรีสุชาติ กล่าวถึงพวกซาไกว่า เป็นเชื้อสายของชนเผาแวนตาบนเกาะลังกาที่อพยพเข้ามา และกล่าวถึงแนวความคิดบางแนวที่ยึดถือว่า ซาไก มีเชื้อสายมอญ เขมร หรือไม่ก็เป็นเชื้อสายเดียวกับชาวเขาในมณฑลยูนนานในประเทศจีน (สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ ๒๕๒๙-๑๐๙๑)

        องอาจ รุ่งจันทร์ฉาย กล่าวว่า ซาไก เป็นชนชาติเชื้อสายนิกริโต (Negrito) ตระกูลออสโตรเอเซียติก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผ่าหนึ่ง เป็นชนพื้นเมืองรุ่นแรก ๆ ของภาคใต้ที่นักมานุษยวิทยาเชื่อได้ว่า อพยพจากอินเดียสมัยดึกดำบรรพ์ เข้ามาอยู่ในแหลมมลายู แต่หลังจากชนมลายูได้อพยพเข้ามาในแหลมมลายูมากขึ้น ก็ได้รุกรานชนพื้นเมืองกลุ่มนี้ และครอบงำให้อยู่ภายใต้ปกครองของตน และเรียกพวกเขาว่า “ซาไก” ซึ่งหมายถึง ไพร่ คนใต้ปกครอง หรือผู้ไร้วัฒนธรรม (อ้างจากสุรินทร์ ภู่ขจร และคณะจากรายงานสรุปการขุดค้นที่ถ้ำหมอเขียว จังหวัดกระบี่ และถ้ำซาไก จังหวัดตรัง ๒๕๓๗ : ๒๕๔ พวกซาไกเรียกตัวเขาเองว่า ก็อย

        John H. Brandt เขียนบทความในวารสารสยามสมาคม (๑๙๖๕ : ๑๑๒) เรื่อง The Southeast Asian Negrito : Further Notes on the Negrito of South Thailand ได้แบ่งพวกนิกริโตเป็น ๒ พวก คือ พวก African Negroid คือ นิกริโต ที่อาศัยอยู่ในแถบทวีปอเมริกาพวกหนึ่งและพวก Oceanic Negroid คือนิกริโต ลูกผสมระหว่างพวกมองโกลลอยด์ (Mongoloid) ออสตราลอยด์ (Australoid) และนิกรอยด์ (Negroid) แต่ยังคงลักษณะทางกายภาพและพฤติกรรมคล้ายพวกนิกรอยด์พวกนี้ คือประชาชนของ อาณาจักรฟูนัน และพวก EUO ที่อาศัยตามภูเขา Quang-binh ในประเทศเวียดนาม รวมทั้งพวกซาไกในภาคใต้ของไทย และชาวซองที่อาศัยตามชายแดนไทย-กัมพูชาด้วย

        พรรณี ชิโนรักษ์ และคณะ ได้ศึกษาพันธุกรรมของชนกลุ่มน้อย เผ่าซาไกที่อาศัยอยู่บริเวณอำเภอ ปะเหลียน จังหวัดตรัง โดยศึกษาชนิดของเม็ดเลือด วิเคราะห์ผลได้ว่า ชนเผ่าซาไก และ S.E. Asia มีต้นกำเนิดเดียวกัน และเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ โอเซียนนิก นิกรอยด์ (Oceanic Negroid)

        ชัยวัฒน์ ปิ่นน้อย ศึกษาเรื่องฟันของพวกซาไก กลุ่มเดียวกับที่พรรณี ชิโนรักษ์ ศึกษาจากเปอร์เซนต์ของฟันรูปโชเวล (Shovel-Shaped incisors) ซึ่งเป็นฟันที่สืบทอดทางพันธุกรรม พบว่าพวกซาไก มีเปอร์เซนต์ใกล้เคียงกับพวกเมลานีเซียน ฟิจิ นิวกีนี ซึ่งพวกนี้อาศัยอยู่ตามเกาะของมหาสมุทรแปซิฟิก และยังใกล้เคียงกับพวกอเมริกานิโกรที่มีสายพันธ์มาจากอัฟริกา ชัยวัฒน์ ปิ่นน้อย จึงสรุปผลว่า พวกซาไก น่าจะมีสายพันธุ์แอฟริกาและยังแสดงว่าทั้งแอฟริกานิกรอยด์ (African Negroid) และโอเซียนนิก นิกรอยด์ (Oceanic Negroid) ต่างก็มีบรรพบุรุษเดียวกัน จึงสรุปว่าพวกซาไกมีบรรพบุรุษอยู่ที่อัฟริกา แล้วมีการอพยพเคลื่อนย้ายมาทางตะวันออกเรื่อย ๆ ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ จนกระทั่งมาอยู่ในถิ่นปัจจุบัน

        จากหลักฐานทางธรณีสัณฐาน หลักการที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี หลักฐานภาพเขียนสีและ หลักฐานจากวิเคราะห์พันธุกรรมของซาไก สรุปว่าในภาคใต้มีผู้คนอาศัยมาตั้งแต่ ๒๗,๐๐๐-๓๗,๐๐๐ ปีที่แล้วมา ชนเหล่านี้อย่างน้อยพวกหนึ่งเป็นพวก Oceanic Negroid ซึ่งมีสายพันธุ์เดียวกับ African-Negroid ซึ่งเดิมอยู่ที่แอฟริกา แล้วมีการอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่ภาคใต้ ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์นั้นส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณรอบอ่าวพังงา เพราะสภาพพื้นที่เกื้อกูลต่อการดำรงชีวิตแบบสังคมนายพราน อยู่ในพื้นที่ป่าเขา ใช้ถ้ำเป็นที่อาศัยประกอบกิจกรรมขยายตัวเป็น “ชนชาวถ้ำ” และขยายตัวเป็น “ชนชาวน้ำ”

วัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ของชุมชนในภาคใต้

        ผลจากการศึกษาและขุดค้นทางโบราณคดี พบร่องรอยและรากเหง้าของวัฒนธรรมในภาคใต้ที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายอย่าง เช่น วัฒนธรรมการกิน มีการใช้ไฟเผาย่าง หรือต้มให้ของดิบสุก ก่อนกิน โดยพบกองไฟร่วมกับกระดูกเผาไฟ และเปลือกหอยเผาไฟจำนวนมาก และพบภูมิปัญญาการตัดส่วนปลายของก้นหอยบางชนิด เช่น หอยโหล้ เพื่อสามารถเคาะหรือดูดเอาเนื้อหอยออกจากเปลือกสะดวกขึ้น ภูมิปัญญาอันนี้ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังพบว่าชนเหล่านี้รู้จักทำเทคโนโลยีด้านความร้อนมาใช้เพื่อให้เกิดความอบอุ่น และทำให้เกิดประดิษฐกรรมใหม่ ๆ เช่น ทำดินดิบเป็นเครื่องปั้นดินเผา ใช้ความร้อนดัดแต่งรูปทรงเครื่องมือเครื่องใช้ ใช้หลอมและหล่อโลหะ (เช่น พบแม่พิมพ์หินทรายสำหรับหล่อขวานบ้องโลหะที่ถ้ำเสือน้อย อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่) ภูมิปัญญาการทำผ้าจากเปลือกไม้โดยใช้หินทุบให้อ่อนตัวและนำมานุ่งห่มเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย โดยพบหินทุบเปลือกไม้หลายชิ้น พรรณไม้ที่นำมาทุบทำเป็นผ้า เช่น ไม้ปอฝ้าย (ฉำฉา) ไม้ยวน (ย่านาง) เป็นต้น พบการสมานกระดูกที่หักโดยอาศัยภูมิปัญญาของคนในกลุ่มที่ไม่ใช่สมานตามธรรมชาติ อันเป็นวัฒนธรรมการรักษาพยาบาล พบวัฒนธรรมการแบ่งงานกันทำตามความเหมาะสมของเพศหญิงชาย ดังเช่น พบความผิดปกติของโครงกระดูกเพศหญิง ซึ่งมีวัยระหว่าง ๓๕-๔๐ ปี ที่แสดงถึงผลจากการทำงานหนัก การยกของหนักของผู้หญิง พบภูมิปัญญาการพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น การใช้เครื่องมือหินทำเครื่องมือไม้ ใช้สิ่วที่ทำด้วยกระดูกเพื่อกะเทาะ เครื่องมือหินกะเทาะ ใช้เครื่องมือสะเก็ดหิน เพื่อเจาะและขุดเนื้อไม้ เป็นต้น พบความเชื่อและพิธีกรรมในการฝังศพที่เป็นของตนเอง โดยใส่หรือวางอาหารเครื่องมือเครื่องใช้ให้แก่ศพ พบการโรยดินเทศ (red ochre) ที่ศพก่อนฝัง และพบวัฒนธรรมการแบ่งพื้นที่เพื่อใช้สอยต่างกัน เช่น แบ่งส่วนก้นของถ้ำเป็นที่อยู่อาศัย ส่วนปากถ้ำเป็นที่ฝังศพ เป็นต้น

        วัฒนธรรมด้านความงามและศิลปะของกลุ่มชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในภาคใต้ที่เด่นชัดคือ การทำลูกปัดด้วยเปลือกหอย โดยวิธีขัดฝนใช้เป็นเครื่องประดับ การขัดแต่งและเจาะรูแผ่นหินเป็นรูปกำไลจักรหิน การตกแต่งผิวเครื่องปั้นดินเผาด้วยลายเชือกทาบ ขัดมัน และลายฉลุ การสร้างภาพเขียนสีบนผนังหินในถ้ำหรือเพิงผา (ดู ภาพเขียนบนผนังถ้ำเพิงผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในภาคใต้)

        วัฒนธรรมชุมชนในภาคใต้สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์

        ชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในภาคใต้ คือ ชุมชนที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีการติดต่อและรับเอาอารยธรรมสมัยประวัติศาสตร์จากดินแดนภายนอก ทำให้ชนพื้นเมืองเปลี่ยนแปลงไปสู่ชุมชนลักษณะใหม่มีการรวมกลุ่มกันเป็นชุมชนเมืองชุมชนนครรัฐ มีระบบสังคมผู้คนมีการดำรงชีพร่วมกันอย่างมีแบบแผน มีระเบียบในการร่วมกิจกรรม เป็นช่วงที่กำลังก้าวไปสู่สมัยประวัติศาสตร์ (ซึ่งถือเอาการมีตัวหนังสือใช้บันทึกเรื่องราวของชุมชนเป็นจุดเริ่มต้น) ชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ภาคใต้จึงตกอยู่ประมาณระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๕ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๑ (ดู ชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์รัฐโบราณในภาคใต้)

        ผู้คนในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของภาคใต้ ส่วนใหญ่ขยายตัวขึ้นจากคนพื้นเมืองสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พร้อมกับการขยายตัวของวัฒนธรรมเกษตรกรรม ทรัพยากรมนุษย์ของชุมชนทวีขึ้นทั้งด้านปริมาณและภูมิปัญญา มีการสะสมและถ่ายทอดภูมิปัญญากว้างขวางมากขึ้น และมีการขยายชุมชนไปตั้งถิ่นฐานในแหล่งน้ำในพื้นที่ที่มีสภาพเกื้อกูลต่อการสร้างอาหารและพืชพรรณธัญญาหาร ทำให้ชุมชนในภาคใต้สมัยนี้ขยายตัวไปสู่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมากกว่าฝั่งตะวันตก ประกอบกับสมัยนี้ชนภายนอกหลายชาติที่ก้าวหน้าเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ของตนล้ำหน้าไปก่อน เกิดมีวัฒนธรรมการแสวงหาโชคลาภ และโภคทรัพย์ ข้ามแดนข้ามทวีปกันมากขึ้น ภาคใต้ซึ่งมีลักษณะเป็นคาบสมุทร อันเป็นทางผ่านระหว่างอู่อารยธรรม ระหว่างกลุ่มอาหรับ เปอร์เซีย และอินเดียกับจีน ภาคใต้จึงกลายเป็นศูนย์เชื่อมและทางผ่านในการคมนาคมและการค้าอันนี้ส่งผลให้เกิดชุมชนเมืองและเมืองท่าขึ้นตามชายฝั่ง ทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของภาคหลายแห่ง บางแห่งเป็นที่รู้จักและปรากฏในเอกสารของต่างชาติ แตกต่างกันไปตามสำเนียงภาษาของชาตินั้น ๆ เช่น ที่ปรากฏในแผนที่ภูมิศาสตร์ของคลอเดียส ปโตเลมี (Claudius Ptolemy) ระหว่างปี พ.ศ.๖๗๐-๖๘๔ มีชื่อเมืองตะโกลา ปะลันดา ซาบานา โกละ เปอริเมาลา ซาบา ตะโกรา และบาลองกา หรือที่ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ สันนิษฐานว่า ชื่อ มายิรุฑังคัม และอิลังกาโศกัม ที่ปรากฏในศิลาจารึกเมืองตันชอร์นั้น น่าจะตรงกับชื่อ จิโลทิง และลังกาสุกะ หรือลิงยา สุเกีย ที่ปรากฏในจดหมายเหตุจีนตามลำดับ เหล่านี้เป็นต้น

        ชุมนุมเมืองในภาคใต้ฝั่งตะวันออกสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์

        ชุมนุมเมืองในภาคใต้ฝั่งตะวันออกสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมฝั่งหรือริมลำน้ำเป็นเมืองท่า และชุมชนเกษตรกรรม ที่มีการปลูกข้าวเป็นหลัก สามารถทำการประมงแบบพื้นบ้านได้สะดวก สามารถปลูก หรือหาพืช ผัก ผลไม้ได้ตามฤดูกาล และเป็นชุมชนที่มีคติความเชื่อแบบดั้งเดิมของคนพื้นถิ่น ผสมผสานกับความเชื่อ และความศรัทธาตามคติฮินดู และพุทธศาสนาแบบมหายานผสมกับหินยาน จึงสอดคล้องกับคติของชาวภาคใต้ในการเลือกที่ปลูกบ้านที่สืบทอดกันมาช้านานว่า จะต้องเลือกที่ ที่ แค่น้ำ แค่ท่า แค่นา แค่วัด กล่าวคือต้องอยู่ใกล้แหล่งน้ำจืด ใกล้ทางคมนาคม ใกล้นา และใกล้วัดวาอารามหรือสถานที่ร่วมบำเพ็ญบุญตามหลักศาสนา

        ชุมชนเมืองที่สำคัญ เช่น ชุมชนเขาสามแก้ว ใกล้อ่าวชุมพร ชุมชนเวียงสระ พุนพิน ไชยา และกระแดะ รอบอ่าวบ้านดอน และริมลำแม่น้ำตาปี ชุมชนตามพรลิงค์ สิชล ท่าศาลา ท่าเรือ เมืองพระเวียง รอบอ่าวสิชล-ปากพนัง ชุมชนสทิงพระและพัทลุง รอบทะเลสาบสงขลาและชุมชนยะรัง ลังกาสุกะ รอบอ่าวปัตตานี บรรดาชุมชนเมืองเหล่านี้มีความสำคัญลดหลั่นแตกต่างกันตามยุคสมัย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบทบาทความสำคัญในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการค้า และการคมนาคมทางเรือกับสังคมภายนอก ศูนย์รวมศรัทธาทางศาสนา และอำนาจในการปกครอง เช่น

ชุมชนโบราณรอบอ่าวชุมพร

        นามสถานที่ปรากฏในแผนที่ภูมิศาสตร์ของคลอเดียส ปโตเลมี (พ.ศ.๖๗๐-๖๘๔) ที่อยู่ตอนบนสุดของภาคใต้ฝั่งตะวันออก คือ เมือง “บาลองกา” เมืองนี้ ธราพงศ์ ศรีสุชาติ ได้ตรวจสอบตำแหน่งพิกัดทางภูมิศาสตร์ปโตเลมี จากการศึกษาของพระสารสาสน์พลขันธ์ (เยรินี) แล้วมีความเห็นว่าเมืองนี้น่าจะได้แก่ ชุมชนโบราณเขาสามแก้ว หมู่ที่ ๑ บ้านสามแก้ว ตำบลนาชะอัง อำเภอเมืองชุมพร ตามพิกัดภูมิศาสตร์ที่ละติจูด ๑๐ องศา ๓๑-๓๒ ลิปดาเหนือ และลองจิจูดที่ ๙๙ องศา ๑๑-๑๒ ลิปดาตะวันออก มีทำเลที่ตั้งบนเนินเขาหินกรวดและเนินดิน เป็นที่ดอนพ้นจากภัยพิบัติของน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก อยู่ใกล้ลำน้ำสายใหญ่ที่สามารถใช้เป็นแหล่งอุปโภคบริโภค ตลอดจนการคมนาคมติดต่อกับชุมชนที่อยู่ห่างไกล พบโบราณวัตถุที่แสดงให้เห็นถึงการสืบทอดวัฒนธรรมของชุมชนพื้นเมืองเดิมจากชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ขวานหินขัด ขวานหินมีบ่า กระสุนดินเผา ลูกปัดดินเผา หัวลูกศรเหล็ก หุ่นจำลองสำริดที่แสดงให้เห็นเรื่องราวและกิจกรรมของชุมชน พบกลองมโหระทึกแบบวัฒนธรรมดองซอน ประเทศเวียดนาม อันแสดงถึงการติดต่อกับชุมชนภายนอก ชุมชนเขาสามแก้วมีความเจริญอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๕-๑๐

        พงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์เหลียง (พ.ศ.๑๐๔๕-๑๑๐๐) ซึ่งรวบรวมโดยเย้า ซู เหลียน ปรากฏชื่ออาณาจักร ตุน-ษุณ หรือเตียนสุน สันนิษฐานกันว่าตั้งอยู่บริเวณเหนือคอคอดกระ ประกอบไปด้วยรัฐต่าง ๆ รวม ๕ รัฐ แผ่ขยายไปบนพื้นที่ประเทศไทยตอนกลาง อาณาจักรนี้เจริญคู่กับอาณาจักรลังกาสุกะ ซึ่งแผ่ขยายตามแนวชายฝั่งทะเลในดินแดนภาคใต้ ใต้คอคอดกระลงมา ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๒ อาณาจักรทั้ง ๒ นี้ เป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรระหว่างฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ไปสู่อาณาจักรฟูนันของเวียดนามในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๘ อาณาจักรตุนษุณตกอยู่ในอิทธิพลของอาณาจักรเจนละและเขมร หลังจากนั้นตกอยู่ภายในอิทธิพลของอาณาจักรสุโขทัย พงศาวดารฉบับนี้ยังกล่าวถึงชื่อเมือง พัน-พัน และ ลัง ยา สิว ด้วย นามสถาน (placenames) ที่ปรากฏในเอกสารอาหรับหลายฉบับที่เขียนขึ้นในช่วง พ.ศ.๑๓๙๔-๑๘๑๗ ต่างก็กล่าวถึง ชื่อ กาลาห์ เรื่องกลาสุริตสาคร ของพราหมณ์โสมะเทวะ ที่เขียนในปี พ.ศ.๑๖๑๓ กล่าวถึง ชื่อ กาลาสะปุระ ชื่อนี้ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ว่าจะอยู่บริเวณเมืองกระบุรี หรือบริเวณเหนือคอคอดกระหรือไม่ ถ้าเป็นไปได้เมืองกระบุรีน่าจะมีส่วนสัมพันธ์กับชุมชนเขาสามแก้ว ในฐานะเป็นเส้นทางผ่านคาบสมุทรจากฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออกเส้นทางหนึ่ง

ชุมชนโบราณรอบอ่าวบ้านดอน

        ชุมชนโบราณรอบอ่าวบ้านดอน มีตั้งแต่เขตอำเภอท่าชนะ อำเภอไชยา ตลอดไปถึงอำเภอพุนพิน อำเภอเวียงสระและอำเภอกาญจนดิษฐ์ เป็นบริเวณที่นักปราชญ์บางท่าน เช่น ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี ทรงเชื่อว่า ศูนย์กลางของ “ศรีวิชัย” น่าจะเป็นบริเวณนี้

        นามสถาน “พันพัน” ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารจีน สมัยราชวงศ์สุย ที่กล่าวถึงแล้วนั้น ในพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์ถัง (ฉบับใหม่) บรรพที่ ๒๒๒ บ่งว่าเมื่อครั้งรัชกาลเจิงกวน รัชกาลที่ ๑ ของราชวงศ์ถัง (พ.ศ.๑๑๗๐-๑๑๙๒) กษัตริย์เอี๋ยสู้ชื่อแห่งแคว้น “พันพัน” ได้ส่งทูตไปเจริญไมตรี และกล่าวว่าแคว้นนี้ตั้งอยู่ที่อ่าวทะเลตอนใต้ อาณาเขตทิศเหนือจดหวนอ๋วง (จามหรือจัมปา) ทิศใต้ติดต่อกับแคว้นหลังหย่าซิว (ลังกาสุกะ) และบันทึกไว้ว่า ประชาชนอาศัยอยู่ตามริมน้ำ กั้นรั้วบ้านด้วยไม้ ใช้หินปลายแหลมติดหัวดอกศร มีวัดทางพุทธศาสนาและอาศรมของพวกนักพรต (พราหมณ์) ในจดหมายเหตุของภิกษุจีน เหี้ยนจัง (พ.ศ.๑๑๗๒-๑๑๘๘) และอี้จิง (พ.ศ.๑๒๑๔) กล่าวถึงนามสถาน “พู่เพ็น” บ้าง “เพ็นเพ็น” บ้าง นามสถานเหล่านี้น่าจะหมายถึงเมืองโบราณที่ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชนโบราณพุนพิน ได้แก่ บริเวณเขาศรีวิชัย (หัวเขาบน) และเขาพระอานนท์ ในเขตอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะที่ชุมชนเขาศรีวิชัย พบเทวสถานและโบราณวัตถุสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์เป็นจำนวนมาก เช่น แวดินเผา ลูกปัดดินเผา ลูกปัดแก้ว เทวรูปพระนารายณ์ศิลาสวมหมวกแขกทรงกระบอก (อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓) แต่บางท่านเห็นว่าเมืองพันพัน น่าจะอยู่ที่ชุมชนโบราณเวียงสระ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

        นามสถาน “ครหิ” เป็นชื่อที่ปรากฏในแผนที่ราชอาณาจักรทะเลใต้ (ศรีวิชัย) ซึ่งเขียนเมื่อ พ.ศ.๑๖๙๓ สอดคล้องกับชื่อ “ครหิ” ที่ปรากฏในจารึกภาษาเขมรบนฐานพระพุทธรูปนาคปรกจากวัดเวียง อำเภอไชยา (จารึกหลักที่ ๒๕) ซึ่งบ่งว่า เมื่อมหาศักราช ๑๑๐๕ เถาะนักกษัตร (พ.ศ.๑๗๒๖) มหาราชศรีมัตไตรโลกราชผู้รักษาเมือง “ครหิ” ให้ทำพระประติมานี้ซึ่งศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ วินิจฉัยว่า นามสถานอันนี้ เป็นอันเดียวกันกับชื่อ “เกีย โล ฮิ” หรือ “เกีย โล หิ” (Kia-lo-hi) ที่ปรากฏในจดหมายเหตุของเจาชูกัว ซึ่งบ่งว่าเป็นเมืองที่ต่อเขตกับประเทศกัมพูชา

        บริเวณชุมชนโบราณบนสันทรายไชยา และบริเวณใกล้เคียง แสดงถึงลักษณะชุมชนเกษตรกรรมที่มีขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๕ เป็นอย่างน้อยและต่อเนื่องมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ชุมชนนี้เริ่มรับอารยธรรมจากนักเดินเรือต่างชาติที่เดินเรือเข้ามาทางอ่าวบ้านดอน หรือฝั่งทะเลตะวันออกของชุมชน เช่น ที่ชุมชนโบราณแหลมโพธิ์ เขตอำเภอไชยา หรือที่ท่าม่วง ในเขตอำเภอท่าชนะ ซึ่งพบเครื่องแก้วอาหรับ ลูกปัดแบบอินเดีย เครื่องถ้วยชามจีน เป็นจำนวนมาก จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ชุมชนบริเวณนี้เจริญมากกลายเป็นศูนย์กลางการปกครองและศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนาแบบมหายาน ดังหลักฐานจากศาสนวัตถุสถานที่แหล่งวัดเรียง วัดแก้ว และวัดหลง ซึ่งสอดคล้องกับข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ (ปีมหาศักราช ๖๙๗ ตรงกับ พ.ศ.๑๓๑๘) เป็นภาษาสันสกฤต ข้อความตอนหนึ่งว่าพระเจ้ากรุงศรีวิชัยได้ทรงสร้างปราสาทอิฐ ๓ หลัง เพื่อบูชาพระโพธิสัตว์เจ้าผู้ถือดอกบัว (ปัทมปาณิ) พระผู้ผจญพญามาร (พระสัมมาสัมพุทธเจ้า) และพระโพธิสัตว์เจ้าผู้ถือวัชระ (วัชรปาณี) ในช่วงดังกล่าวนี้ ชุมชนแหล่งนี้น่าจะตรงกับที่ปรากฏเป็นนามสถานในเอกสารจีนว่า “ซันฝอฉี” ดังที่หนังสือจูฟานจื้อ ของเจ้าหลู่โค่ (Chau Ju Kua) ในสมัยราชวงศ์ซ่ง บันทึกไว้เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ว่า “ซัน ฝอ ฉี” ตั้งอยู่ระหว่างเมืองเจินล่า (เขมร) กับเสอฝอ (ชวา) ซันฝอฉี ปกครอง ๑๕ โจว (คล้ายมณฑล) หนังสือ ซ่ง ฮุ่ย เย่า จี๋ เก่า บ่งว่า แค้นตานหม่า ลิง (ตามพรลิงค์) ได้ร่วมมือกับแคว้น ยื่อ หลอ ถิง (จะโลทิง หรือสทิงพระ) และเมืองอื่น ๆ ได้รวบรวมเครื่องเงินเครื่องทำเพื่อนำไปถวายกษัตริย์แห่งแคว้น ซัน ฝอ ฉี (ศรีวิชัย) อันนี้ย่อมแสดงว่า ซัน ฝอ ฉี หรือศรีวิชัย (ที่ไชยา หรือ ครหิ) มีอำนาจกว่าหรืออย่างน้อยก็ไม่เป็นรองของตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช)

        เมื่อวัฒนธรรมพุทธศาสนาแบบมหายานที่ไชยาเข้มแข็ง ขึ้นอยู่กับอำนาจการปกครองจนเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมศรีวิชัย ส่งผลให้ชุมชนแหล่งอื่น ๆ รอบอ่าวบ้านดอนที่เคยมีวัฒนธรรมฮินดูทั้งไศวนิกายและไวษณพนิกาย มาตั้งแต่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๓ ได้คลี่คลายเป็นวัฒนธรรมพุทธมหายานผสมผสานมากขึ้นตามลำดับ ชุมชนดังกล่าว ได้แก่ “ชุมชนโบราณท่าชนะ” ในบริเวณเขาประสงค์และท่าม่วงตลอดจนถึงแหล่งโบราณคดีวัดพระพิฆเนศวร์ อันเห็นได้จากที่พบศิวลึงค์ แบบเอกมุขลึงค์ ที่บริเวณสถานีรถไฟท่าชนะ (หนองหวาย) อายุประมาณครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ต่อมาจึงเกิดพุทธสถาน ที่ถ้ำเขาประสงค์ เป็นต้น รวมถึง “ชุมชนโบราณเวียงสระ” บ้านเวียง ตำบลเวียงสระ พบเทวรูปพระวิษณุ พระศิวะปางพระวฑุกไพลพ ซึ่ง พิริยะ ไกรฤกษ์ วินิจฉัยว่ามีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๒ เขมชาติ เทพไชย สรุปไว้ว่า ชุมชนโบราณเวียงสระ น่าจะจัดอยู่ในยุคเดียวกันกับแหล่งไชยาและแหล่งตะกั่วป่า และมีความสัมพันธ์กันทั้งด้านความเชื่อถือและการค้า ทั้งที่โดยอาศัยลักษณะของคูเมือง และพัฒนาการด้านการสร้างเมือง ส่วนการติดต่อกับผู้คนและวัฒนธรรมภายนอกก็สัมพันธ์กับจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง เพราะได้พบเครื่องปั้นดินเผาจีนที่เก่าแก่ถึงสมัยราชวงศ์ถัง พบเหรียญอาหรับสมัยพระเจ้ากาหลิบอุไมญาต อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ (ดู เวียงสระ ชุมชนโบราณ) อีกแหล่งหนึ่งคือ “ชุมชนโบราณพุนพิน” โดยเฉพาะที่บริเวณเขาศรีวิชัย ดังกล่าวมาแล้ว และแหล่งสำคัญอีกแหล่งหนึ่งคือ บริเวณอำเภอกาญจนดิษฐ์ ได้แก่ บริเวณถ้ำคูหา ตำบลช้างขวา ซึ่งพบเทวรูปพระวิษณุบริเวณใกล้ถ้ำ และภายในถ้ำมีภาพปั้นดินดิบตามคติพุทธศาสนา ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ เป็นต้น ที่บ้านท่าอุแท พบพระพุทธรูปประทับศิลา อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ แหล่งบ้านท่าอุแทหรือเมืองท่าทอง ประทุม ชุ่มเพ็งพันธ์ เชื่อมั่นว่าคือที่ตั้งของเมืองสะอุเลา เมือง ๑๒ นักษัตร ที่ถือตราไก่ เป็นตราประจำเมือง

ชุมชนโบราณรอบอ่าวสิชล-ปากพนัง

        ชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์รอบอ่าวสิชล-ปากพนัง มี ๒ บริเวณใหญ่ คือ ชุมชนโบราณท่าศาลา-สิชล และชุมชนโบราณท่าเรือ-เมืองพระเวียง บริเวณแรกอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอท่าศาลา และอำเภอสิชล ประกอบด้วยกลุ่มชุมชน ๘ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มท่าเรือรี ท่าควาย ท่าเชี่ยว ท่าทน ท่าลาด-คลองหิน คลองกาย คลองท่าพุด และคลองปากพยิง ส่วนบริเวณท่าเรือ-เมืองพระเวียง อยู่ในเขตตำบลนา ตั้งแต่แหล่งโบราณคดีวัดสบ-วัดท้าวโคตรลงไปทางใต้ ถึงตำบลศาลามีชัย ตลอดไปจนถึงแหล่งโบราณคดีท่าเรือ แหล่งบ้านจังหูน แหล่งบ้านเกตุกาย ตำบลท่าเรือ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช

        นามสถานที่ตั้งอยู่ในชุมชนรอบอ่าวสิชล-ปากพนัง ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ตามพรลิงค์ ซึ่งมีเรียกต่างกันไปตามสำเนียงภาษาและตามยุคสมัยมากชื่อ เช่น ถานหลิง ตานหม่าลิง ตานหลิวเหมย ติงหลิวเหมย ตันเมลิว ตันมาลิง ตันเหมยหลิว ลิ่วคุน ลู่คุน ลุกคุน ลิกอร์ ลูกอร์ ลคอน นคร นครศรีธรรมราช ปาฏลิบุตร เป็นต้น นามสถานเหล่านี้ยอมรับกันว่าเป็นเมืองเดียวกัน และมีความสำคัญต่อเนื่องมายาวนาน ทั้งในฐานะศูนย์กลางทางศาสนาและการปกครองเป็นแคว้นใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย

        นามสถาน “ตมฺพลิงฺคมฺ” ปรากฏครั้งแรกในคัมภีร์มหานิเทศของอินเดียเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ ไมเคิล ไรท์ แสดงทัศนะว่า นามสถานที่ปรากฏในจารึกภาษาทมิฬของพระเจ้าราเชนทรที่ ๑ แห่งอินเดียใต้ หมายเลข ๒๐ ที่เมืองตัญชาวุธ ซึ่งมีอายุประมาณ พ.ศ.๑๕๖๗ เช่น ลังกาสุกะ ตะโกละ กะฏารัม และ “มาดะมาลิงกัม” นั้น ชื่อสุดท้ายอาจจะตรงกับ “มหาตามพรลิงค์” (ตามพรลิงค์ : ๒๕๓๙) ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ สันนิษฐานว่าประเทศราชบนแหลมมลายูแห่งแคว้นศรีวิชัยซึ่งถูกพระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ ๑ แห่งเมืองตันชอร์ยกทัพมาปล้นสะดม ระหว่างปี พ.ศ.๑๕๗๓-๑๕๗๔ ตามปรากฏชื่อในศิลาจารึกเมืองต้นชอร์เป็นภาษาทมิฬชื่อ “มาทมาลิงคัม” เป็นชื่อเดียวกับตามพรลิงค์ หรือตันมาลิง ในจดหมายเหตุของจีน ตั้งอยู่บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช ศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ของไทยจารึกเป็นภาษาสันสกฤต พ.ศ.๑๗๗๓ บ่ง ว่า พระเจ้าผู้ปกครองเมืองตามพรลิงค์ เป็นผู้อุปถัมภ์ ตระกูลปทุมวงศ์ ทรงพระนามว่าจันทรภาณุศรีธรรมราช ส่วนหลักฐานในเอกสารจีน ปรากฏในเอกสารสำคัญสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. ๑๑๖๑-๑๔๔๐) ชื่อ ถังหุ้ยเย่า แต่งโดย หวังผู่ กล่าวถึงนามสถาน “ถานหลิง” (ตามพรลิงค์) ว่าตั้งอยู่บนเกาะใหญ่ เป็นประเทศบริวารของอาณาจักรตัวเหอหลัว (ทวารวดี) มีขนบธรรมเนียมเหมือนกับตัวเหอหลัว และ ในปี พ.ศ.๑๑๘๕ ถานหลิงได้ส่งราชทูตไปเจริญไมตรีกับกษัตริย์ราชวงศ์ถังของจีน สมัยราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ.๑๕๐๓-๑๘๒๒) ตามพรลิงค์ ปรากฏในเอกสารจีนเป็น “ตานหลิวเหมย” บ้าง เป็น “ตานหม่าลิง” บ้าง เช่น บันทึกของเจาหลู่โค่หรือเจาจูกัว (Chau Ju Kua) เมื่อ พ.ศ.๑๔๔๘ บ่งว่าเมืองตานหม่าลิง ล้อมรอบด้วยกำแพงไม้ กว้าง ๖ หรือ ๗ ฟุต สูงกว่า ๒๐ ฟุต บ้านของสามัญชนสร้างด้วยไม้ไผ่ของข้าราชการสร้างด้วยไม้กระดาน การค้าตกอยู่ในมือของพ่อค้าต่างชาติที่ว่า ตานหม่าลิง ตั้งอยู่บนเกาะนั้นน่าจะมีความสัมพันธ์กับชื่อ Pulo Tantalam ที่ปรากฏในแผนที่ราชอาณาจักรสยามของครอฟอร์ด (พ.ศ.๒๓๖๕) และของจอห์น เบาริ่ง (พ.ศ.๒๓๙๘) Tantalam น่าจะเขียนขึ้นจากชื่อตามพรลิงค์ มีสภาพเป็นเกาะอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง “Ligor” หรือ “Lugor” ที่ปรากฏในเอกสารชาวยุโรป หรือที่ปรากฏ เป็นลิ่วคุณ หรือลูกคุน (Lukun) ตามที่ปรากฏในเอกสารจีนในสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ.๑๙๑๑-๒๑๘๗) เป็นต้นมา

        กล่าวโดยสรุปว่า “ตามพรลิงค์” เป็นนามสถานที่น่าจะตั้งอยู่บริเวณชุมชนโบราณท่าเรือ-เมือง พระเวียง มีความเจริญสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยต้น ๆ จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เนื่องจากมีอิทธิพลทั้งด้านการปกครองและเป็นศูนย์กลางทางศาสนาคลุมกว้างทั่วบริเวณรอบอ่าวสิชล-ปากพนัง และในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ คลุมกว้างในเขตหัวเมืองสิบสองนักษัตร (ดู เมืองสิบสองนักษัตรเมื่อเอ่ยถึงนามสถานแห่งนี้จึงมักใช้ในนามแคว้นนครศรีธรรมราช หลังจากนั้นแคว้นนี้ได้ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม ซึ่งมีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

        ส่วนนามสถาน “ลิกอร์ ลูกอร์ ลิ่วคุน ลุกคุน ลู่คุน” เหล่านี้ แม้ว่าจะใช้เรียกแทน ตามพรลิงค์ หรือนครศรีธรรมราช ในบางพื้นที่หรือคลุมทั้งหมดก็ตาม ต่างเกิดขึ้นหลังจากแคว้นนครศรีธรรมราช อยู่ในราชอาณาจักรสยาม ในสมัยประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น

        ชุมชนโบราณท่าศาลา-สิชล แม้จะไม่ปรากฏนามสถานเด่นชัด แต่ก็มีวัฒนธรรมมุขปาฐะที่รู้จักกันแพร่หลายว่า โมคลานสร้างก่อน เมืองคอนสร้างทีหลัง พบหลักฐานที่เป็นโบราณสถานวัตถุสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ณ แหล่งโบราณคดีโมคลาน อำเภอท่าศาลาและแหล่งใกล้เคียง คลุมทั่วในพื้นที่ ตำบลพรหมโลก อำเภอพรหมคีรี ตลอดถึงพื้นที่ในตำบลโมคลาน ตำบลกลาย ตำบลไทยบุรี ตำบลสระแก้ว อำเภอท่าศาลา ตำบลเทพราช ตำบลเสาเภา ตำบลฉลอง ตำบลทุ่งปรัง และตำบลสิชล อำเภอสิชล แหล่งเหล่านี้ส่วนใหญ่พบศาสนสถาน และศาสนวัตถุที่เกี่ยวกับไศวนิกาย และไวษณพนิกาย เช่น ซากเทวาลัย ฐานโยนิโทรณะ ศิวลึงค์ เทวรูปพระวิษณุและพระศิวะ ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ และบางส่วนอยู่ในช่วง พุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๖

ชุมชนโบราณรอบทะเลสาบสงขลา

        นามสถาน ทิ่ง จะทิ้ง สทิง สทัง จิถู เจียะโถ้ ชื่อถู่ จิโลทิง ยื่อหลอถิง จะทิ้งพระ จะทิ้งหม้อ สทิงพระ เหล่านี้ล้วนตั้งอยู่บริเวณรอบทะเลสาบสงขลา บางชื่อเป็นสถานที่เดียวกันแต่เรียกต่างกันไปตามยุคสมัยและสำเนียงภาษาของผู้เรียกขาน

        “ทิ่ง” เป็นคำภาษาถิ่นใต้ แปลว่า กระทั่งถึง จด จรด “สิทิง หรือ สทัง” เป็นคำภาษาเขมร แปลว่าแม่น้ำ ตรงกับคำ สทึง และฉทึง ส่วนคำ สทัง มีความหมายใกล้คำภาษาถิ่นว่า ทัง พัง และทอน “จิถู” หรือ “เจียะโถ้” เป็นสำเนียงภาษาจีน แปลว่า ดินสีแดง ซึ่งความหมายใกล้เคียงกับ “ตามพรลิงค์” ที่แปลได้ทางหนึ่งว่า มีภูมิภาวะอย่างสีแผ่นทองแดง หรือ มีปกติอย่างแผ่นทองแดง และตรงกับคำแปลของนามสถานบางแห่งในบริเวณรอบทะเลสาบ ได้แก่ “เขาแดง” “รัตภูมิ” และ “รัตปูร” (ปัจจุบันคือ เขารัดปูน)

        ตามพระราชพงศาวดารจีนสมัยราชวงค์สุย (พ.ศ. ๑๑๓๒-๑๑๖๑) หลายบรรพ กล่าวถึงแคว้นจิถู หรือ ถู่ (chitu) ว่า ตั้งอยู่แถบทะเลใต้ใกล้กับเขตเส้นศูนย์สูตร กล่าวถึงลักษณะพิเศษว่า ดินของแคว้นนี้ส่วนมากเป็นหินสีดินแดง จึงได้ชื่อว่า “ชื่อ ถู่ กั๋ว” ซึ่งแปลว่าเมืองดินสีแดง บางฉบับบ่งว่าแคว้นนี้ดำรงอยู่สมัยเดียวกับเมืองพันพัน (P'an P'an) และเป็นเมืองพี่ เมืองน้องกัน หนังสือทงเตียนแห่งราชวงศ์สุย บรรพที่ ๑๘๘ บ่งว่า ตำแหน่งที่ตั้งของแคว้นชื่อถู่ อาจสังเกตได้จากในฤดูหนาวพระอาทิตย์จะโคจรมาอยู่บนศีรษะพอดี ส่วนฤดูร้อนพระอาทิตย์จะอยู่ทางทิศใต้ ทุกครัวเรือนสร้างบ้านหันหน้าไปทางทิศเหนือ พงศาวดารเก่าและใหม่สมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ.๑๑๖๑-๑๔๔๙) ปรากฏชื่อ จิถู (chitu) หรือเชียะโท้ว ว่าเป็นเมืองท่าเช่นเดียวกับเมืองพันพัน และลังยาซู (ลังกาสุกะ)

        ในสมัยราชวงศ์ซ่ง หนังสือซ่งอุ่ยเย่าจี๋เก่า เรียกแคว้นชื่อ ถู่ ว่า “ยื่อ หลอ ถิง” ใกล้เคียงกับที่ปรากฏในแผนที่ราชอาณาจักรทะเลใต้ (ศรีวิชัย) ในปี พ.ศ.๑๖๙๓ เป็น “จิโลทิง” ซึ่งอยู่ทิศใต้ของ “ครหิ” (ไชยา) แต่อยู่ทางทิศเหนือของเมืองลังกาสุกะ

        เพลาเมืองและเพลาวัด ซึ่งเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ (บันทึกในสมัยกรุงศรีอยุธยา) กล่าวว่า “ครั้นวันพฤหัสบดี เดือน ๘ ขึ้น ๕ ค่ำ กุนเอกศก จุลศักราช ๓๖๑ จึงเข้าพระยากรงทอง ณ สทิง ทำพระมหาธาตุ ณ สทิงบูรณ์ พร้อมทั้ง ๓ อาราม” มีจุลศักราช ๓๖๑ ตรงกับ พ.ศ.๑๕๔๒ เป็นช่วงที่ดินแดนแถบนี้มีวัฒนธรรมสัมพันธ์กับเขมรค่อนข้างสูง และคำว่า “สทิงบูรณ์” นี้บางท่านวินิจฉัยว่ามีส่วนเกี่ยวโยงกับ “สทิงปุระ” อันเป็นที่มีของ “สทิงพระ” และ “จะทิ้งพระ”

        วัด “สทัง” ตั้งอยู่ใกล้วัดเขียนบางแก้ว ฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ คำว่า สทัง หรือทัง ตะพัง สะพัง พัง รวมทั้งคำ “ทอน” มีความหมายใกล้เคียงกันและพบนามสถานเหล่านี้อยู่รอบบริเวณทะเลสาบสงขลา

        บริเวณตั้งแต่คลองโอ (ปะโอ) ไปจนถึงบ้านชิงโค บ้านจะทิ้งหม้อ พบเครื่องปั้นดินเผาและเตาเผาโบราณทีมีอายุในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘ ซึ่งร่วมสมัยกับชุมชนโบราณสทิงพระและพบพระอวโลกิเตศวร สำริด บริเวณบ้านวัดขนุน อำเภอสิงหนคร ซึ่งมีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ทั้งเป็นศิลปะที่สัมพันธ์กับศิลปะเขมร จึงอาจเป็นไปได้ว่า แคว้นจิถู หรือจิโลทิง น่าจะคลุมกว้างตั้งแต่ฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ ส่วนฝั่งตะวันออกคลุมตั้งแต่บริเวณหัวเขาแดง ไปจนถึงวัดพะโคะ และตลอดไปถึงบางส่วนของอำเภอระโนด ซึ่งคลุมเอา “เขาแดง” “รัดปูน” (รัตปูร) และ “รัตภูมิ” ไว้ด้วย จึงได้สมญานามว่า จิ-ถู (chi tu) คือ แคว้นแห่งดินสีแดง ทำนองเดียวกับแคว้น “ตามพรลิงค์” ที่อยู่ต่อเนื่องไปทางทิศเหนือ ศูนย์กลางการค้าหรือเมืองท่าของแคว้น จิ ถู น่าจะอยู่บริเวณคลองโอ (ปะโอ) ตลอดไปจนถึงบ้านชิงโคและจะทิ้งหม้อ ส่วนศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ กระจายอยู่ทั่วตลอดถึง จะทิ้งพระ เขาพะโคะ บ้านเจดีย์งาม และบริเวณใกล้เคียงโดยรวมทั้งวัดใหญ่วัดสทัง และวัดเขียนบางแก้ว ฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ ส่วนบริเวณทิศเหนือเขาพะโคะ เขารัตปูร เจดีย์งาม และเชิงแสขึ้นไป น่าจะยังมีสภาพเป็นสายน้ำกว้าง เป็น “ทอน” และ “พัง” ที่สันจะงอยยังไม่เชื่อมติดกันเป็นแผ่นดินใหญ่อย่างปัจจุบัน จึงน่าจะสอดคล้องกับที่พงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์สุย คือ สุยซู บรรพที่ ๘๒ บ่งไว้ว่าทิศเหนือของ “ชื่อ ถู กั๋ว” เป็นริมฝั่งทะเล มีเนื้อที่กว้างใหญ่หลายพันลี้

        อนึ่ง น่าสังเกตว่า “บ้านชิงโค” ซึ่งปัจจุบัน อยู่ในเขตอำเภอสิงหนครนั้น คำว่า “โค” ไม่น่าจะตรงกับคำว่า “วัว” ในภาษาไทย และนามสถานแห่งนี้น่าจะสัมพันธ์กับชื่อ “สิงกูร์” (Singu) ตามที่นักภูมิศาสตร์อาหรับเรียกในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๒๐ ซึ่ง จี อาร์ ทิบเบทส์ วินิจฉัยว่า คือ “สงขลา” และต่อมาเป็น “Singora” ที่ปรากฏในแผนที่ราชอาณาจักรสยามของบาทหลวงดูวาล (พ.ศ.๒๒๒๙) หรือ “Sangora” ในแผนที่ราชอาณาจักรสยาม ของบาทหลวงโคโลเนลลิ (พ.ศ.๒๒๓๐) หรือ “Singor” ในแผนที่ราชอาณาจักรสยาม ในจดหมายเหตุของ เดอ ลาลูแบร์ (พ.ศ.๒๒๓๒) หรือ “Singora” ในแผนที่ราชอาณาจักรสยาม ที่ประกอบเอกสารของเซอร์ จอห์น เบาริ่ง (พ.ศ.๒๓๙๘) อันหมายถึงเมืองสงขลาในปัจจุบัน ที่เรียกกันตามสำเนียงชาวตะวันตกในสมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์

ชุมชนโบราณรอบอ่าวปัตตานี

        พอล วีทลีย์ ศึกษาและรวบรวมเอกสารโบราณที่กล่าวถึงดินแตนที่เรียกว่า คาบสมุทรทอง ได้เสนอแนวคิดว่าในเรื่องพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๒ เส้นทางข้ามคาบสมุทรที่อยู่ใต้คอคอดกระกับอาณาจักรฟูนันบนผืนแผ่นดินประเทศเวียดนาม ก็คือ อาณาจักร “ลังกาสุกะ” ซึ่งแผ่ขยายจากใต้คอคอดกระตามแนวชายฝั่งทะเลในดินแดนภาคใต้ ขณะเดียวกันนั้นเหนือคอคอดกระขึ้นไปเป็นอาณาจักร “ตุนษุณ” พอล วีทลีย์ วินิจฉัยว่า นามสถานที่ปรากฏในเอกสารรุ่นหลัง ได้แก่ ลังกาซูก้า อิลังกาโสกะ ลังยาซู หรือเล็งกะสุกะ เหล่านี้ล้วนคือดินแดนบริเวณจังหวัดปัตตานี-นราธิวาส

        พงศาวดารสมัยราชวงศ์เหลียง (พ.ศ.๑๐๔๕-๑๑๐๐) กล่าวถึง อาณาจักรและเมืองในดินแดนภาคใต้ คือ ตุนษุณ ลังยาสิว พันพัน และตันตัน

        พงศาวดารเก่าและใหม่สมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ.๑๑๖๓-๑๔๔๙) ปรากฏชื่อ “ลังยาซู” (ลังกาสุกะ) ว่าเป็นเมืองท่าเช่นเดียวกับเมืองพันพันและเมืองจิถู พงศาวดารถังฉบับใหม่บรรพที่ ๒๒๒ บ่งว่าทางทิศใต้ของแคว้นพันพัน ต่อเขตแดนถึงแคว้น “หลังหยาซูว” (ลังกาสุกะ)

        หนังสือ ซ่ง อุ่ย เย่า จี๋ เก่า สมัยราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ.๑๕๐๓-๑๘๒๓) กล่าวถึงแคว้น “หลิงหย่าซือกั๋ว” (ลังกาสุกะ) ว่าอยู่ห่างจากแคว้นตานหม่าลิง (ตามพรลิงค์) เป็นระยะทางที่แล่นเรือใช้เวลาประมาณ ๖ วัน ๖ คืน (รายงานการวิจัยสนองพระราชประสงค์เรื่องนครศรีธรรมราช : ๒๕๔๐)

        ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ สันนิษฐานว่า นามสถาน “อิลังกาโศกัม” ที่บ่งไว้ในศิลาจารึกเมืองต้นชอร์ว่า เป็นเมืองหนึ่งบนแหลมมลายูของอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งถูกพระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ ๑ แห่งเมืองตันชอร์ยกทัพมาปล้นสะดมระหว่าง พ.ศ.๑๕๗๓-๑๕๗๔ เป็นชื่อเดียวกับ ลังกาสุกะ หรือ ลิง-ยา-สุ-เจีย ในจดหมายเหตุของจีน และตั้งอยู่บริเวณจังหวัดปัตตานี

        ศูนย์กลางของชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของ “ลังกาสุกะ” น่าจะอยู่ที่ชุมชนโบราณยะรัง (ดู ยะรัง : ชุมชนโบราณ) ซึ่งพบหลักฐานที่เป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุจำนวนมาก ที่แสดงว่าชุมชนแห่งนี้นับถือศาสนาฮินดู และพุทธศาสนามหายาน ตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๑ จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเข้ามาสู่บริเวณนี้ ชุมชนแห่งนี้น่าจะเชื่อมโยงกับชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่แหล่งโบราณคดีถ้ำศิลป์และแหล่งโบราณคดีอื่น ๆ ในเขตจังหวัดยะลา ที่ยะรังน่าจะเป็นทั้งศูนย์กลางด้านศาสนา การปกครอง และเมืองท่า ครั้นถึงสมัยประวัติศาสตร์ สภาพทางภูมิศาสตร์ ทำให้เมืองปัตตานี บริเวณบ้านดี บ้านยะหริ่ง บ้านกรือเซะ และที่อำเภอเมืองปัตตานีปัจจุบันกลายเป็นเมืองท่าใหม่ จึงรู้จักกันในนามเมืองปัตตานี หรือเมืองตานี หรือที่เอกสารจีนเรียกว่า “โป๋ตาหนี” หรือ เมืองท่า “ต้าหนีก่าง” ทำนองเดียวกันที่เมืองสงขลารู้จักกันในนาม “ซุนกูน่า” และเมืองท่าเรือ “ซุนกูน่าก่าง” ขณะเดียวกับที่เมืองตามพรลิงค์ รู้จักกันในนาม เมืองลู่คุน (Lu Kun) และเมืองท่า “ลิ่วคุนก่างโข่ว” ในสมัยราชวงศ์ชิง (พ.ศ.๒๑๘๗-๒๔๕๔)

        ชุมชนโบราณลังกาสุกะ และปัตตานีส่วนใหญ่หันไปนับถือศาสนาอิสลามในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ภาษาและวัฒนธรรมด้านอื่น ๆ จึงถือตามศาสนบัญญัติของอิสลามเป็นสำคัญผสมกับวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ไม่ขัดกับศาสนบัญญัติ

ชุมชนเมืองภาคใต้ฝั่งตะวันตกสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์

        ชุมชนเมืองบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ มีลักษณะเป็นชุมชนเมืองท่าและเป็นจุดเชื่อมเส้นทางข้ามคาบสมุทรกับฝั่งตะวันออก มีชุมนุมใหญ่ ๒ แห่งคือ ชุมชนโบราณตะกั่วป่าและชุมชนโบราณคลองท่อม ชุมชนที่มีความสำคัญรองลงมา ได้แก่ ชุมชนเมืองท่าชายฝั่งตั้งแต่จังหวัดระนองถึงจังหวัดพังงา ซึ่งนักภูมิศาสตร์อาหรับในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๒๐ เรียกว่า “กาลาห์” เช่น ชุมชนบริเวณ “เขาทอง” ในกิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง และชุมชนที่อยู่ต่ำกว่าจังหวัดกระบี่ลงไป คือ ชุมชนที่เป็นเมืองท่าเก่าของจังหวัดตรัง เป็นต้น

        นามสถานที่ปรากฏในแผนที่ภูมิศาสตร์ของคลอเดียส ปโตเลมี (พุทธศตวรรษที่ ๗-๘) อยู่ที่ฝั่งตะวันตก ได้แก่ ตะโกลา กอกโกนาครา และปะลันดา

        เมือง “ตะโกลา” ธราพงศ์ ศรีสุชาติ ได้ตรวจสอบตำแหน่งพิกัดภูมิศาสตร์แล้วบ่งว่าใกล้เคียงกับบริเวณโรงเรียนบ้านบางไทร อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ชุมชนเมืองจึงน่าจะอยู่ที่แหล่งโบราณคดีลุ่มน้ำตะกั่วป่า (ประกอบด้วยเขาเลียง ควนพระเหนอ เหมืองทอง) และแหล่งโบราณคดีโบราณบ้านเตรียม ตำบลคุระบุรี อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรสายตะกั่วป่า ข้ามเขาสกไปสู่บ้านดอนในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนเมือง “กอกโกนาครา” ได้แก่ชุมชนโบราณคลองท่อม คือบริเวณบ้านควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่

        เมือง “ปะลันดา” ธรรมทาส พานิช วินิจฉัยว่า คือเมืองประเหลียน ในเขตจังหวัดตรัง

        หลักฐานทางโบราณคดี ที่พบในแหล่งควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ แหล่งเหมืองทอง เกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และแหล่งภูเขาทอง กิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง แสดงให้เห็นว่าเป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตลูกปัดในสมัยโบราณ และเป็นแหล่งที่มีความสัมพันธ์ติดต่อกับอินเดียภาคใต้และกลุ่มประเทศอาหรับ เป็นเส้นทางการคมนาคมระหว่างอินเดียใต้กับเอเชียอาคเนย์ พบเครื่องแก้วอาหรับ ลูกปัดแก้ว วัตถุโลหะและเครื่องปั้นดินเผาทั้งจากอาหรับอินเดีย และจีน พบหลักฐานที่แสดงว่ากลุ่มชนโพ้นทะเลที่เดินทางเข้ามา เป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมสำริด และมีการพัฒนาการทางโลหกรรมที่ก้าวหน้า พวกนี้นำทั้งรูปแบบและเทคโนโลยีการผลิตสินค้าที่นิยมซื้อขายกันเข้ามาเป็นแบบอย่าง สำหรับการผลิตเป็นอุตสาหกรรมขึ้นใหม่ในชุมชนเหล่านี้แล้ว มีการประดิษฐ์สร้างสรรค์เป็นลักษณะพิเศษตามคตินิยมและวัฒนธรรมของท้องถิ่น เช่น การดัดแปลงรูปแบบของลูกปัดแบบฝังเส้นสี และแต้มลวดลายให้แปลกใหม่และหลากหลายยิ่งขึ้น เช่น การประดิษฐ์เครื่องประดับเป็นรูปช้าง เป็นต้น (ดู คลองท่อม ชุมชนโบราณ เกาะคอเขา แหล่งโบราณคดี ; สุขสำราญ, กิ่งอำเภอ)

        การที่ชุมชนในภาคใต้รับเอาวัฒนธรรมสำริด และเทคโนโลยีด้านโลหกรมจากกลุ่มชนโพ้นทะเล รวมทั้งวัฒนธรรมด้านอื่น ๆ เข้ามาทำให้ภาคใต้ก้าวกระโดดสู่ยุคประวัติศาสตร์อย่างรวดเร็ว

        กล่าวโดยสรุป จะเห็นชัดว่าวัฒนธรรมชุมชนในภาคใต้สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ได้พัฒนาเป็นชุมชนเกษตรกรรมที่มีวัฒนธรรมการปลูกข้าวเป็นหลัก เดิมชาวพื้นเมืองนั้นนับถือผีสางเทวดา ถือโชคลาง ตกอยู่ใต้อำนาจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทำพิธีกรรมและดำเนินชีวิตความเชื่อ และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ค่อยพัฒนาชุมชนเกิดเป็นบ้านเป็นเมืองและเป็นนครรัฐขึ้นเป็นลำดับ จนหลายเมืองกลายเป็นเมืองท่า เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการค้า ทำให้กลุ่มชนโพ้นทะเล ได้แก่ อินเดีย อาหรับ เข้ามาแสดงโภคทรัพย์และเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากขึ้น อินเดียได้นำศิลปวิทยาการและศาสนาของตนมาเผยแพร่ทั้งศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ทำให้โครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวพื้นเมืองเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะที่เมืองนครศรีธรรมราชและสทิงพระ มีพวกพราหมณ์เข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๘-๑๔ พราหมณ์มักทรงวิทยาคุณจึงได้เป็นครูบาอาจารย์และเป็นที่ปรึกษาแก่ผู้ปกครองบ้านเมือง ทำให้ศาสนาพราหมณ์เจริญมากในพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ จนเกิดนามสถานตามคติพราหมณ์ที่เป็นศูนย์กลาง “ตามพรลิงค์” ขึ้น ส่วนพุทธศาสนามหายานเป็นคติที่เข้ากับสังคมและวัฒนธรรมพื้นฐานของคนพื้นเมืองได้ดีกว่า จึงกลายเป็นศาสนาของสามัญชนรุ่งเรืองมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๗ กลายเป็นลักษณะเฉพาะอันหนึ่งของวัฒนธรรมศรีวิชัย ซึ่งแผ่กว้างคลุมนครรัฐ หรือแคว้นสำคัญบนคาบสมุทรภาคใต้ ๔ แคว้น คือ ไชยา นครศรีธรรมราช สทิงพระและปัตตานี แต่นามสถานของแคว้นเหล่านี้ในช่วงดังกล่าวมีแตกต่างกันไป และสับย้ายศูนย์การปกครองบ้างจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ประเทศราช บนแหลมมลายูของอาณาจักรศรีวิชัยตอนล่าง อันได้แก่ จิโลทิง (มายิรฑิงคัม) ลักกาสุกะ (อิลังกาโศกัม) ตะโกลา (ตไลตตักโกลัม) รวมทั้งตามพรลิงค์ (มาดะมาลิงกัม) ถูกพระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ ๑ ยกกองทัพมาปล้นสะดมและมีชัยชนะ ช่วงนี้เป็นเหตุให้วัฒนธรรมและผู้คนจากอินเดียภาคใต้ คือ โจฬะทมิฬ เข้ามาสู่ภาคใต้อย่างกว้างขวาง เช่น ที่ตะกั่วป่า มีจารึกที่ ๒๖ เป็นภาษาทมิฬ บ่งถึงเมือง “นังกูร” ว่าเป็นตำบลที่พวกฮินดูเคยตั้งอยู่ หรือจารึกหลักที่ ๒๙ ภาษาทมิฬที่วัดพระมหาธาตุนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะที่สทิงพระ และพัทลุง มีพวกพราหมณ์และนามสถานที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอินเดียภาคใต้อยู่มาก เช่น เรียกเมืองพัทลุงว่า “พัททะละ” ตามบ้านบะลาพัดทะละของทมิฬ และเรียกบ้านลำปำว่า “สลาปำ” ตามเมืองสลาปำของทมิฬ เรียกแหล่งชุมชนชาวทมิฬในเขตเมืองพัทลุงว่า “ทมิฬนครัม” แล้วเพี้ยนเป็น “ท่าหมิหรำ” ในปัจจุบัน รวมทั้งวัฒนธรรมการทำน้ำตาลโตนดที่สทิงพระซึ่งเป็นแบบเดียวกับศรีลังกา ผู้คนและวัฒนธรรมเหล่านี้มีส่วนรองรับแชะเชื่อมต่อให้พุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์เจริญขึ้นในคาบสมุทรภาคใต้ในช่วงต่อมา

        วัฒนธรรมชุมชนภาคใต้ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘

        ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อาณาจักรตามพรลิงค์ หรือนครศรีธรรมราช กลายเป็นอาณาจักรใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรภาคใต้ คู่เคียงกับอาณาจักรสุโขทัย สามารถมีอำนาจเหนือแคว้นไชยา สทิงพระ และลังกา สุกะ บรรดาเมืองต่าง ๆ ในแคว้นเหล่านี้ และในแคว้นนครศรีธรรมราชเอง รวมเป็น ๑๒ เมือง ต่างขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชในนามเมือง ๑๒ นักษัตร มีเมืองตามพรลิงค์เป็นศูนย์กลางการปกครอง ศูนย์กลางการค้าทางเรือและศูนย์กลางทางด้านศาสนา

        ผู้ครองตามพรลิงค์ สืบทอดประเพณีการใช้กุศโลบายอาศัยศาสนจักรจรรโลงราชอาณาจักรต่อเนื่องกันมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้ยึดเอาพระบรมธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งเคารพบูชาและศูนย์รวมศรัทธาสูงสุดของชาวเมือง ทั้งใน ๑๒ หัวเมืองและเมืองใกล้เคียง คติอันนี้จะเห็นได้ชัดจากตำนานและนิทานพื้นเมือง รวมทั้งบรรดาเครื่องบูชาและคติบูชา พระบรมธาตุที่เรียกว่า “ชาพระธาตุ” (ดู บูชาพระบรมธาตุ) รวมทั้งเนื้อหาสาระที่ปรากฏในจารึกบนแผ่นลานทองที่หุ้มปลียอดพระบรมธาตุที่นิยมถือปฏิบัติต่อกันมาในระยะหลัง จนเป็นเหตุให้ผู้ครองอาณาจักรที่ได้รับสมญานามว่า “ศรีธรรมราช” ดังที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ซึ่งจารึกเมื่อปี พ.ศ.๑๗๗๓ ว่า พระเจ้าผู้ปกครองเมืองตามพรลิงค์ทรงประพฤติประโยชน์เกื้อกูลแก่พระพุทธศาสนา ทรงฉลาดในนิติศาสตร์เสมอด้วยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงพระนามว่า ศรีธรรมโศกราช

        ผู้ครองนครตามพรลิงค์ มีกุศโลบายในการพัฒนาศาสนธรรม ศาสนประเพณี ให้เป็นที่น่าศรัทธายิ่งขึ้น โดยรับเอาพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ซึ่งกำลังเจริญสูงสุดในลังกาในขณะนั้นเข้ามา เนื่องจากนิกายนี้ใช้ภาษามาคธีของแคว้นมคธเป็นภาษาเผยแผ่พระธรรม จนเป็นเหตุให้ชาวภาคใต้รู้จักภาษาบาลี ในนามของภาษามคธอย่างแพร่หลาย และยังเป็นเหตุให้เมืองนครศรีธรรมราชได้สมญานามว่าเมือง “ปาตลีบุตร” ตามชื่อเมืองหลวงของแคว้นนครที่พระเจ้าอโศกมหาราชครองราชสมบัติ

        ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ นครศรีธรรมราชกลายเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พุทธศาสนาลังกาวงศ์ จนแคว้นสุโขทัยซึ่งเจริญคู่เคียงกัน ถ่ายเทเอาศาสนานิกายนี้ไปทั้ง พระสังฆราช ปราชญ์ที่เรียนจนปิฎกไตร พระพุทธสิหิงค์ และศิลปกรรมแบบลังกา สำหรับในภาคใต้เอง ก็ได้เกิดคณะสงฆ์ ลังกา ๔ ฝ่ายขึ้น (ดู ลังกา ๔ ฝ่าย คณะสงฆ์ในภาคใต้)

        หลักฐานที่ปรากฏในเรื่องกัลปนาที่และข้าพระคนทานเพื่อบำรุงสงฆ์คณะลังการาม โดยที่พระเจ้าศรีธรรมโศกราชและโคตรคีรีเศรษฐี (ซึ่งมาแต่เมืองหงสาวดี) ร่วมกันสร้างวัดท่าช้างให้เป็นอารามหลวง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองนคร (เมืองพระเวียง-ท่าเรือ) และอยู่ทิศตะวันออกของท่าประดู่ประตูช้าง แล้วสถาปนาเจ้าสมโพธกุมาร ผู้เป็นราชนัดดา (หลานปู่ของพระเจ้าศรีธรรมโศกราช และหลานตาของโคตรคีรีเศรษฐี) เป็นเจ้าคณะลังการาม พร้อมกับการเบิกป่าสร้างเป็นนาทางทิศตะวันตกของวัด ๒๙๗ บิ้ง และสร้างอารามอื่น ๆ อีก ๙ อาราม ทุกที่ทุกตำบลใกล้เคียงได้แก่ วัดสัมฤทธิชัย วัดไทร ๓ ต้น วัดเกาะปง วัดน้ำดำ วัดตะบาก วัดหมาย วัดจันพอ วัดทุ่งพรุ และวัดเสมาเมือง พร้อมที่นาและข้าพระคนทานทั้ง ๙ อารามขึ้น แก่สมเด็จเจ้าโพธิสมภาร ผู้เป็นอธิการวัดท่าช้างอารามหลวง เจ้าคณะลังการามนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า วัฒนธรรมการพระราชทานที่กัลปนา การเบิกป่าเป็นนิคมศาสนาก็ดี การใช้วัฒนธรรม “ผูกญาติ” (ผูกดอง) และ “ผูกเกลอ” ก็ดี ล้วนเป็นกุศโลบายในการปกครองของผู้ครองนครตามพรลิงค์ และเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดตลอดลงมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ วัฒนธรรมการผูกญาติผูกเกลอมีตั้งแต่ระดับผู้ครองนครจนถึงระดับสามัญชน การที่ผู้ครองนครตามพรลิงค์สามารถผูกมิตรและเกี่ยวดองกับผู้ครองนครในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตลอดจนเขมร ลังกา และเจริญไมตรีกับชนต่างชาติต่างวัฒนธรรมที่เข้ามาค้าขาย การส่งเสริมศาสนาพราหมณ์ด้วยการกัลปนาที่และข้าพระเทวรูป เช่นเดียวกับที่บำรุงพระพุทธศาสนา การนำเอาคติเรื่องสิบสองนักษัตรของจีนมาเป็นตราประจำหัวเมืองทั้ง ๑๒ เมือง เหล่านี้ล้วนทำให้นครศรีธรรมราชในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มีความยิ่งใหญ่ทั้งทางด้านศาสนาวัฒนธรรมการปกครองและการค้า จึงเป็นศูนย์กลางของบ้านเมือง และแว่นแคว้นน้อยใหญ่ในภาคใต้ที่เคยสังกัดในกลุ่มวัฒนธรรมศรีวิชัยมาแต่ต้น และสามารถชักนำดินแดนเหล่านี้ เข้าผนวกกับราชอาณาจักรสยาม ซึ่งมีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีในพุทธศตวรรษที่ ๑๙

        อนึ่ง การที่ราชอาณาจักรตามพรลิงค์สามารถผนวกเจ้าเป็นกับอาณาจักรสยามด้วยสันติวิธีนั้น นอกจากเนื่องมาแต่เจ้าผู้ครองตามพรลิงค์จะมีกุศโลบายผูกญาติผูกมิตรเพื่อสันติสุขของอาณาประชาราษฎร์แล้ว ยังสืบเนื่องด้วยอาณาจักรสยามแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก็มีกุศโลบายในการอุปถัมภกและยอยกพระศาสนา จรรโลงการปกครองแผ่นดินอย่างเด่นชัดเช่นเดียวกันวัฒนธรรมแบบ “ศรีวิชัย” และแบบ “ทวาราวดี” ซึ่งเป็นรากเหง้าของ ๒ ราชอาณาจักรที่ก็เจริญร่วมลักษณะกันมาโดยตลอด ประกอบกับอยุธยาได้บรรดาพราหมณ์ตามพรลิงค์ที่ล้วนทรงวิทยาคุณ เชี่ยวชาญไตรเพทเป็นที่ปรึกษาแก่กษัตริย์อยุธยา ทั้งด้านพระธรรมศาสตร์และยัญพิธี พราหมณ์เหล่านี้ได้พยายามนำคติของตนมาสร้างฐานะและประโยชน์แก่พวกตน เพื่อจะได้ใกล้ชิดกับวรรณะกษัตริย์ โดยถือว่ากษัตริย์เป็นสมมติเทวราช ซึ่งบรรลุผลอย่างยิ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังที่ปรากฏชื่อผู้ครองอาณาจักรเป็นพระรามาธิบดี พระนารายณ์ หรือวรรณกรรมเรื่องลิลิตโองการแช่งน้ำเป็นต้น (ผลประโยชน์ยังสืบเนื่องไปยังบรรดาพราหมณ์ยังอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราชด้วย ดังจะเห็นได้จากเรื่องตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช นอกจากจะได้ที่กัลปนาเข้าพระเทวรูปแล้วยังมีสิทธิพิเศษนานาประการ) เมื่อพระราชาผู้เป็นเจ้าแผ่นดินเป็นสมมติเทวราช และมีเพียงคนเดียว ผู้ครองนครตามพรลิงค์ก็ต้องถือตามคตินี้

        วัฒนธรรมชุมชนภาคใต้ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๓

        ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๓ อำนาจจากราชธานีที่มีเหนือหัวเมืองปากใต้มีอยู่แต่เพียงหลวม ๆ หากแต่ได้อาศัยวัฒนธรรมการพึ่งพาการผูกกระชับเครือญาติทางศาสนา และญาติพงศ์ของผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชกับราชธานีมากกว่าการใช้อำนาจรัฐ ทั้งนี้นอกจากหัวเมืองปากใต้ฝ่ายเหนือจะอยู่ห่างพระเนตรพระกรรณแล้ว ทางอยุธยายังต้องเผชิญปัญหาจากการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน และสงครามพม่าอย่างต่อเนื่อง ถึงกระนั้นก็ตามวัฒนธรรมจากราชธานีอันเนื่องด้วยระบบการปกครองแผ่นดิน ก็เริ่มทยอยเข้าไปหลอมรวมกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของภาคใต้มากขึ้นเป็นลำดับ เช่น คตินิยมเรื่องสมมติเทวราช กฎมณเฑียรบาล ระบบศักดินา ระบบส่วยอากร การส่งเครื่องราชบรรณาการ การกระทำพิธีดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา การสาบานตน การสักเลก เรียกเกณฑ์กฎหมายลักษณะทาส ลักษณะโจร ลักษณะผัวเมีย เป็นต้น

        หัวเมืองปากใต้ตอนล่าง ได้แก่ ปะหัง เคดาห์ กลันตัน ปัตตานี และหัวเมืองอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในอำนาจของอาณาจักรสยามโดยมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่นครศรีธรรมราชนั้น เริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมมุสลิม และเมืองปัตตานีกลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่มีความสำคัญกว่าอยุธยา ปัตตานีจึงกลายเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมภาคใต้ตอนล่างที่มีลักษณะพิเศษต่างกับภาคใต้ส่วนอื่น ๆ

        เหตุที่เมืองปัตตานีกลายเป็นศูนย์กลางของสังคมไทยมุสลิมสืบเนื่องมาแต่หลังจากศาสนาอิสลามเริ่มเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ และความศรัทธาต่อศาสนานี้เริ่มเด่นชัดขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ดังเช่น ราชาประไหมสุระ หรือเจ้าชายปรเมศวรผู้ครองเมืองมะละกา (ผู้สร้างเมืองมะละกาในปี พ.ศ.๑๙๔๖) ได้เปลี่ยนจากกษัตริย์มลายูฮินดูไปเข้ารีตนับถือศาสนาอิสลามเป็นสุลต่านมุฮัมมัดชาห์ แล้วต่อมากษัตริย์มหาวังสาซึ่งครองเมืองเคดาห์ก็เข้ารีตนับถือศาสนาอิสลามตามมา ตามตำนานเมืองปัตตานี (Sejarah Kerajaan Malayu Pattani) ฉบับของ อิบรอฮิม ชุกรี บ่งว่า เมื่อรายาศรีวังสาย้ายพระราชวังจากหมู่บ้านปาราวัน (ปัจจุบัน คือ บ้านประแว ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี) ไปตั้งใหม่ที่ริมคลองฟาปีรี (ปัจจุบันชาวบ้านเรียกคลองสุไหงแปแปรี) บริเวณบ้านกรือเซะ เจ้าเมืองและพสกนิกรยังคงนับถือ พุทธศาสนานิกายมหายาน ต่อเมื่อผู้นับถือศาสนาอิสลามที่เมืองปาไซ เกาะสุมาตรา ถูกพวกที่ยังนับถือศาสนาฮินดูยกทัพเข้าโจมตีบ่อยครั้ง ทำให้มุสลิมจากเมืองปาไซอพยพเข้ามาสู่เมืองปัตตานี ที่บริเวณบ้านป่าศรี (ปัจจุบันอยู่ในตำบลตะโละ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี) และพวกนี้เองได้ทำให้เจ้าเมืองปัตตานีศรัทธาจนเข้ารีตนับถือศาสนาอิสลามแล้วพลเมืองก็หันไปเป็นมุสลิมมากขึ้นตามลำดับ ประกอบกับสุลต่านเมืองปัตตานีมีความสัมพันธไมตรีอย่างใกล้ชิดกับสุลต่านมุฮัมมัดชาห์แห่งเมืองมะละกา จึงทำให้สังคมมุสลิมในภาคใต้ตอนล่างฝังรากอย่างมั่นคง ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นต้นมา

        อนึ่ง ผลจากที่รายาศรีวังสาย้ายเมืองมาตั้งบริเวณบ้านกรือเซะ ซึ่งอยู่ใกล้ริมทะเล ทำให้เรือสินค้าต่าง ๆ เข้ามาเทียบท่าค้าขายได้สะดวก จนกลายเป็นศูนย์กลางการค้ากับต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น และเมื่อมะละกาตกเป็นของโปรตุเกสเมื่อ พ.ศ.๒๐๕๔ (ค.ศ.๑๕๑๑) แล้วตกเป็นของฮอลันดาอีกทอดหนึ่ง ในปี พ.ศ.๒๑๘๔ (ค.ศ.๑๖๔๑) ทำให้พ่อค้าชาวยุโรปเปิดประตูการค้าจากมะละกา เข้าสู่เมืองปัตตานีได้สะดวก จนปัตตานีมีความสำคัญทางศูนย์การค้าเหนือกว่ามะละกา อิบรอฮิม ชุกรี กล่าวว่า “เมืองปัตตานีสมัยนั้นเป็นศูนย์กลางการค้าที่ยิ่งใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้แต่กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองของชาวสยามในยุคเดียวกันก็มีความเจริญทางด้านการค้าเป็นรองจากเมืองปัตตานี”

        อมรา ศรีสุชาติ พบว่า เครื่องปั้นดินเผาจากเตาเผาโบราณบ้านดี ตำบลบาราโหม อำเภอเมืองปัตตานี ตามริมลำน้ำคลองบ้านดีตอนต่อกับคลองกรือเซะ มีอายุในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ นั้นได้ถูกนำไปจำหน่ายถึงเมืองญี่ปุ่น ได้พบในแหล่งขุดค้นประเทศญี่ปุ่น ๒ แหล่ง คือ แหล่งบ้านนายมาโอะ ซึ่งเป็นพ่อค้าอยู่ในย่านตลาดโบราณของเมืองนางาซากิ และแหล่งบ้านนายทากาซิมา ของเมืองนางาซากิ และอยู่ใกล้บริเวณย่านชาวดัตช์ และบันทึกทางประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นกล่าวถึงเรือญี่ปุ่นที่เข้ามาค้าขายกับอยุธยาและปัตตานีในช่วง พ.ศ. ๒๑๔๗-๒๑๗๖ รวมกันถึง ๖๒ ลำ ในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ มีเรือจากไทย (อยุธยา ปัตตานี) ไปขายกับญี่ปุ่นหลายครั้งในปี พ.ศ. ๒๒๒๒, ๒๒๖๖, ๒๒๖๗,๒๒๗๖, ๒๒๘๓, ๒๒๘๘, ๒๒๙๐, ๒๒๙๑, ๒๒๙๔, ๒๒๙๙ (ดู เตาเผาโบราณบ้านดี)

        นอกจากเมืองปัตตานีจะเป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลามในกลุ่มไทยมุสลิม และเป็นศูนย์กลางการค้าทางเรือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงดังกล่าวแล้ว เมืองปัตตานียังอยู่นอกระบบการปกครองของ อยุธยา และในปี พ.ศ.๒๑๗๓ ปัตตานีได้ยกกองทัพขึ้นมาโจมตีเมืองพัทลุงและเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเมืองในอาณาจักรของอยุธยา สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้เกณฑ์กำลังเข้าต่อสู้ก็ไม่อาจเอาชนะเมืองปัตตานีได้ สถานการณ์เหล่านี้แสดงถึงความมีอำนาจแต่เพียงหลวม ๆ ของราชธานีที่มีเหนือหัวเมืองปากใต้ นอกจากนี้ยังเห็นได้ชัดจากตำนานเมืองและเพลาเมืองในท้องถิ่น ที่สอดคล้องกันว่าช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ทั้งหัวเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราชถูกพวก “แขกสลัด” บุกเข้าปล้นและโจมตีทำลายศาสนสถานทำให้ราษฎรแตกฉานซ่านเซ็นปั่นป่วนทั้งด้านการเมือง สังคม และศาสนา

        ประมาณปี พ.ศ.๒๑๔๗ ที่บริเวณหัวเขาแดง ปากน้ำของเมืองพัทลุง มีกลุ่มแขกอิสลามอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ก่อให้เกิดวัฒนธรรมกลุ่มมุสลิมขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้นามสถาน “สิงกูร์” ที่เคยปรากฏในเอกสารโบราณของนักภูมิศาสตร์ชาวอาหรับในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๒๑ (โดยเฉพาะตามเส้นทางการเดินเรือของอิบน์ มายิด และสุไลมาน อัล มาห์ริ) อันหมายถึงเมืองสงขลาเป็นที่รู้จักและสนใจของพ่อค้าชาวยุโรปมากยิ่งขึ้นในนามของ “Singur” บ้าง “Singora” บ้าง คู่ควบกับที่รู้จักเมืองนครศรีธรรมราชในนามของ “Ligor”

        เกี่ยวกับที่มาของชื่อ “Singur” นั้น ขุนศิลปกิจจพิสัณห์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอาหรับและมลายู ได้เสนอข้อคิดจากแผนที่ในหนังสือ “Gloden Khersones” ของ Paul Wheatley ไว้ว่า นามสถานที่มีตำแหน่งอยู่ตรงบริเวณเมืองสงขลาปัจจุบัน เขียนซ้อนกันอยู่ ๒ ชื่อ เป็น Sura และ Singus สำหรับ Singur เขียนตามสำเนียงพื้นเมืองที่ใช้อักษรยาวี ซึ่งมีการออกเสียงได้หลายอย่าง เช่น ชิง-โคร์, (ตรงกับชื่อหมู่บ้าน “ชิงโค”) ซิง-คอ-รา, ซิง-คู-รอ เป็นต้น ส่วนคำว่า “Sura” เป็นสำเนียงตามที่ชาวอาหรับออกเสียงว่า ซะ-อู-รอ (น่าจะใกล้เคียงกับชื่อ สะ-อุ-เลา ในเมือง ๑๒ นักษัตรที่ขึ้นกับนครศรีธรรมราช ที่หลายท่านบ่งว่าคือเมืองสงขลา ทั้งนี้เพราะภาษาอาหรับไม่มีแม่ กง และไม่มีเสียง ค-g (go) ซึ่งเป็นเสียงโฆษะเมือง Singur Singora ชิงโค และสะอุเลา น่าจะมีความเกี่ยวโยงกันเกี่ยวกับจุดที่ตั้ง และเป็นคำเรียกเมืองเดียวกัน

        แขกอิสลามที่กล่าวถึงนั้นน่าจะหมายถึง ดาโต๊ะ โมกอลล์ หรือดาโต๊โมกุล คือ สุลต่านสุไลมาน หรือ ตาตะมะระหุ่ม นั้นเอง นามทั้งหมดนี้อาจเป็นคนเดียวกัน หรือในสายสกุลก็เป็นได้ แขกอิสลามกลุ่มนี้ได้เปลี่ยนสภาพของ “ลิงกูร์” ให้กลายเป็นเมืองท่าเป็นศูนย์กลางการค้าที่เจริญขึ้นอย่างรวดเร็วแข่งกับเมืองปัตตานี โดยให้เป็นเมืองท่าปลอดภาษี เมืองท่าแห่งนี้จึงเป็นจุดสนใจที่สำคัญยิ่งของพ่อค้าชาวยุโรป ได้แก่ ฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง พ.ศ. ๒๑๕๕ -๒๑๘๕

        ฮอลันดามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้เมือง “สิงกอรา” เข้มแข็งทั้งด้านการค้าและการปกครอง ทั้งนี้เพราะต่างมีผลประโยชน์ร่วมกัน กล่าวถึงฝ่ายฮอลันดาจะสามารถใช้เมืองสิงกอราสร้างคลังสินค้าขนาดใหญ่ และใช้เป็นที่ตระเวนหาสินค้าบริเวณใกล้เคียงส่งไปยังห้างเครือข่ายของตนที่ประเทศจีน บอร์เนียว ญี่ปุ่น รวมทั้งกรุงสยาม สินค้าที่ฮอลันดาทำการค้าผ่านแหล่งนี้ในช่วงนั้นคือ พริกไทย แร่ดีบุก ไม้ซุง และผ้า ซึ่งฮอลันดาประสบความสำเร็จ เพราะปรากฏว่าในปี พ.ศ.๒๑๕๖ บริษัทฮอลันดาก็ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระเอกาทศรถให้ผูกขาดการค้าที่เมืองสงขลา ส่วนฝ่ายแขกอิสลามก็ได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจตามที่ปรารถนา แม้อาจจะต้องเป็นศัตรูกับปัตตานี ซึ่งเป็นตลาดคู่แข่ง ก็สามารถสร้างความร่วมมือกับสุลต่าน เมืองไทรบุรี (Kadah) ได้ ในที่สุดก็ประสบผล ดังหลักฐานตามจดหมายเหตุของบาทหลวงเดอชัวชี ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส ส่งเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า “เมื่อปี ค.ศ. ๑๖๔๒ (พ.ศ.๒๑๘๕) มีแขกมลายูตนหนึ่งได้ตั้งตนเป็นใหญ่ที่เมืองสงขลาและได้กบฏต่อพระเจ้ากรุงสยาม แขกมลายูผู้นี้ได้ทำป้อมคู ประตูรบ อย่างแข็งแรงแน่นหนา และในไม่ช้าก็ได้ชักชวนบรรดาพ่อค้าทั้งหลายให้เข้าไปทำการค้าในเมืองสงขลาอย่างใหญ่โตมาก ฝ่ายไทยก็ยกกองทัพไปปราบหลายครั้ง แต่ก็แพ้กลับมาทุกคราว พอสักหน่อยแขกมลายูก็ตั้งตัวเป็นกษัตริย์เรียกกันว่า “พระเจ้าเมืองสงขลา...”

        สรุปว่าแขกมลายูที่เข้ามายังเมืองสิงกอรา หรือเมืองสงขลาตั้งแต่ประมาณ ปี พ.ศ.๒๑๔๗ สามารถพัฒนาเมืองนี้เป็นเมืองท่าเป็นศูนย์กลางการค้า และตั้งตนเป็นเจ้าเมืองสงขลา ประกาศไม่ยอมขึ้นกับอยุธยาราชธานีในปี พ.ศ.๒๑๘๕ รวมเวลาสร้างเมืองอยู่ ๓๘ ปี และครองเมืองต่อมาอีกจนถูกอยุธยาปราบลงได้เมื่อ พ.ศ.๒๒๒๓ ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เหตุการณ์ที่กล่าวมาทำให้ชุมชนบริเวณเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงและบริเวณใกล้เคียงมีวัฒนธรรมอันเนื่องด้วยอิสลามเข้าไปผสมผสาน และเนื่องจากชาวฮอลันดาเข้ามาตั้งรกรากเพื่อค้าขาย ทำให้วัฒนธรรม “วิลันดา” ปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง เช่น การใช้เหล็กวิลาด สาคูวิลาด การเรียกชื่อ วัวสีลัดดา เลื่อยลัดดา เป็นต้น

        นโยบายการปกครองหัวเมืองปากใต้ของราชธานี ระหว่างช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๓ ในแต่ละ แผ่นดิน และแต่ละภาวการณ์มีแตกต่างกัน ตามเจตนาและยุทธวิธีของผู้ทรงอำนาจ ซึ่งได้ใช้ทั้งกุศโลบาย วิเทโศบาย และเภทุบาย ล้วนเพื่อประโยชน์ของราชธานีเอง เป็นส่วนสำคัญยุทธวิธีที่เด่นชัด ได้แก่ ยุทธวิธีการแบ่งแยกศรัทธาต่อศาสนาที่ศาสนิกชนในภาคใต้เคยมีศูนย์รวมศรัทธาอยู่ที่นครศรีธรรมราช ไปอยู่ที่ราชธานี กระทำให้เห็นว่าอยุธยามีบทบาทและความสำคัญเหนือกว่า สามารถบำรุงรักษาศาสนาได้มากกว่า ยุทธวิธีการแทรกซึมทางคตินิยมโดยอาศัยวัฒนธรรมการใช้ตัวอักษรและวรรณกรรม ยุทธวิธีการแย่งความเป็นศูนย์กลางของตลาดการค้าและเมืองท่า โดยการพัฒนาให้อยุธยาเป็นศูนย์กลางของตลาดการค้า และเมืองท่า โดยการพัฒนาให้อยุธยาเป็นศูนย์กลางที่เหนือกว่า และเอื้อประโยชน์ให้แก่พ่อค้าชาวยุโรปได้มากกว่านครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี ยุทธวิธีการส่งเสริมและตัดทอนอำนาจการปกครองตนเองของเจ้าเมือง กรมการเมือง และสถาบันสงฆ์เพื่อให้ถ่วงอำนาจซึ่งกันและกัน ยุทธวิธีการใช้กำลังปราบปรามและป้องกันข้าศึกเพื่อพิทักษ์ราชอาณาจักร ยุทธวิธีเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมชุมชนในภาคใต้แตกต่างกัน เช่น

        ยุทธวิธีด้านศาสนา ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ การปรุงแต่งสำนวนของหลวงพ่อทวด (สมเด็จพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์) ที่ปรากฏในเรื่อง “ยอเข้า (ที่ถูกควรเป็นย่อเค้า-ผู้เขียน) ตำราหมื่นตราพระธรรมวิลาสเอาไปวิวาทเป็นหัวเมือง” ที่เชื่อมโยงเสริมแต่งให้สามเณรปูศึกษาธรรมขั้นพื้นฐานจากวัดศรีกุหยัง (วัดศรีหยัง) สทิงพระ แล้วไปศึกษาเพิ่มเติมพระธรรมวินัยชั้นสูงที่เมืองนครศรีธรรมราช จนอายุครบ ๒๐ ปี ได้รับความอุปถัมภ์จากพระขุนลก ซึ่งเป็นชาวจีน ประกอบการอุปสมบทให้ ณ คลองท่าเรือ ต่อจากนั้นได้เดินทางไปศึกษาพระธรรม ณ กรุงศรีอยุธยา ได้พำนักอยู่ ณ วัดแค (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลหัวรอ อำเภอนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช) และได้เรียนธรรม ณ วัดลุมพลีนาวาสอยู่ช้านานจึงได้กลับมาบำรุงวัดพระราชประดิษฐาน (วัดพะโคะ) และคณะลังกาชาติให้เจริญรุ่งเรือง เป็นต้น นอกจากนี้จะเห็นได้ชัดจากการพระราชทานที่เพื่อกัลปนาและข้าพระคนทานแก่สถาบันสงฆ์และพราหมณ์ให้มีหน้าที่และสิทธิพิเศษหลายประการตามแบบอย่าง และเสริมเติมจากที่พระเจ้าศรีธรรมโศกราชเคยใช้เป็นกุศโลบาย แต่แฝงเจตนาที่จะตัดทอนอำนาจของเจ้าเมือง และกรมการเมืองลง และถ่วงอำนาจซึ่งกันและกัน เช่น ห้ามกรรมการเมืองและเจ้าเมืองเอาค่านาอากร ณ ที่ ภูมิทานพระกัลปนานั้น ๆ ไปเข้าในท้องพระโกฐ ห้ามเอาข้าพระคนทานและข้าพระเทวรูปไปใช้งานนอกพระศาสนา ห้ามเจ้าเมืองพิจารณาความแพ่งอาญาธรรมาธิกรณ์ หากแต่ให้กรมวัดบังคับแก่กัน ในยามปกติให้สมุห์บัญชี นายหมวด นายพยาบาล รวบรวมรายชื่อข้าพระยื่นบัญชีไว้แก่มหาดไทย คอยดูแลไม่ให้แตกฉานซ่านเซ็นไปอื่น ในยามมีราชศัตรูมาทำร้ายแก่บ้านเมืองให้ขุน หมื่น กรมวัด คิดอ่านคุมข้าพระไปสมทบด้วยพลเมืองไปรบพุ่งป้องกันให้ได้ชัยชนะทันท่วงที เป็นต้น โดยเฉพาะคณะสงฆ์ คณะลังกาแก้ว และคณะลังกาชาติในเขตพัทลุงให้เป็นเสมือนกำแพงกันชนทางศาสนา แต่ในขณะเดียวกันการแบ่งอารามต่าง ๆ ให้ขึ้นแก่คณะทั้งสองนี้ก็เห็นได้ชัดว่ามีเจตนาจะให้จะให้คอนอำนาจของคณะสงฆ์เองไปในตัง ถึงกระนั้นก็ตามผลพลอยได้จากการพระราชทานกัลปนา ทำให้ข้าพระคนทานได้เบิกป่าให้เป็นนา ทำให้วัฒนธรรมชุมชนพุทธศาสนา และชุมชนพราหมณ์แข็งแกร่งทั้งศาสนธรรม ศาสนสถานและศาสนประเพณี และสืบทอดเป็นมรดก ของสังคมชาวใต้สืบต่อมา

        ยุทธวิธีการหลอมรวมทางวัฒนธรรมโดยใช้ตัวอักษรและวรรณกรรม คือ ความพยายามให้ชาวภาคใต้ซึ่งเคยนิยมใช้อักษรขอม จารึกเรื่องราวต่าง ๆ เป็นวรรณกรรมท้องถิ่น หันไปเรียนเขียนอ่านอักษรไทยแบบอยุธยา และคัดลอกวรรณกรรมราชธานีออกเผยแพร่ทั้งคัมภีร์ทางศาสนา กฎหมาย ตำราเรียน ปรากฏหลักฐานเด่นชัด จากการจารึกบนแผ่นทองคำหลายแผ่นที่หุ้มปลียอดพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช เช่น จารึกแผ่นที่ ๔๙ ซึ่งจารึกเมื่อปีมะโรง อัฐศก ตรงกับ พ.ศ.๒๑๕๙ ในแผ่นดินพระเอกาทศรถ จารึกด้วยตัวอักษรไทยล้วน หรือจารึกแผ่นที่ ๔๖ ซึ่งจารึกในปีฉลู เอกศก ๑๐๑๑ (ตรงกับ พ.ศ.๒๑๙๒) ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง จารึกด้วยอักษรขอมส่วนหนึ่งและอักษรไทยส่วนหนึ่ง อันแสดงว่าชาวใต้ยังติดที่ใช้อักษรขอมอยู่ ขณะเดียวกันก็ใช้วัฒนธรรมการบอกศักราชตามแบบราชธานี แต่มักคลาดเคลื่อนสับสน ส่วนวรรณกรรมจากราชธานีเริ่มแพร่หลายชัดเจนในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และมีอิทธิพลต่อวรรณกรรมภาคใต้อย่างเด่นชัดสืบต่อมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตลอดถึงปัจจุบัน

        ยุทธวิธีการใช้เภทุบายเพื่อบั่นทอนและแทรกแซงอำนาจการปกครอง เห็นได้จากที่ปรากฏในตำนานเมืองปัตตานีฉบับอิบรอฮิม ชุกรี ที่ว่า เมื่อครั้งสุลต่านมัชฟาร์ชาห์ขึ้นครองราชย์เมืองปัตตานีได้เสด็จเยือนกรุงศรีอยุธยา (ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑) กษัตริย์สยามได้พระราชทานข้าทาสซึ่งเป็นชาวพม่าและเขมรให้มาเป็นกำลังเมือง ข้าทาสเหล่านี้ได้รับราชานุญาตให้อยู่กันเป็นหมู่บ้านสืบลูกหลานมาจนทุกวันนี้ เนื่องจากข้าทาสพม่าและเขมรต่างนับถือศาสนาพุทธ จึงสร้างวัดและสำนักสงฆ์ขึ้น ชาวมุสลิมเรียกพุทธสถานอันนั้นว่า กือดี (Kedi) จึงเกิดหมู่บ้านกือดีขึ้น ๒ แห่ง คือ อยู่ในอำเภอยะหริ่งบริเวณบ้านดีแห่งหนึ่ง และอยู่ต่อเขตระหว่างอำเภอยะหริ่งกับอำเภอปะนาเระอีกแห่งหนึ่ง ทำให้เกิดหมู่บ้านไทยพุทธแทรกกั้นอยู่ระหว่างชุมชนไทยมุสลิม โดยเฉพาะภาษาถิ่นที่ปานาเระ เกิดเป็นภาษาถิ่นย่อย (Sub dialect) ที่เด่นชัด การแยกย้ายถ่ายเทข้าทาสเชลยศึกให้ตั้งหลักแหล่งถาวรในภาคใต้ ได้กระทำหลายครั้งและกระจายอยู่ทั่วไป นอกจากจะได้ผลด้านการแทรกแซง และทอนอำนาจการปกครองได้ระดับหนึ่ง ยังส่งผลให้วัฒนธรรมชุมชนในภาคใต้เป็นวัฒนธรรมผสมผสานซับซ้อนยิ่งขึ้น

        ยุทธวิธีการตัดทอนอำนาจของหัวเมืองที่เห็นได้ชัดอีกกรณีหนึ่ง คือ เหตุการณ์ในช่วงที่ผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน จากพระเอกาทศรถ เป็นเจ้าฟ้าศรีเสาวภาพ (พ.ศ. ๒๑๖๓) ต่อเนื่องไปจนถึงแผ่นดินพระอาทิตยวงศ์ (พ.ศ.๒๑๗๓) ราชธานีได้แต่งตั้งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชไปจากอยุธยา ทำให้กรมการเมืองพากันไม่พอใจ ราชธานีจึงต้องเปลี่ยนตัวเจ้าเมืองนครใหม่ โดยการส่งขุนนางคนสำคัญชาวญี่ปุ่น คือออกญาเสนาภิมุข (ยามาด้า) ไปเป็นเจ้าเมืองนครคนใหม่ ในปี พ.ศ.๒๑๗๒ จนชาวเมืองพากันลุกขึ้นต่อต้านอยุธยา กว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ต้องใช้เวลาถึง ๔ ปี และในช่วงนี้เองที่แขกอิสลามที่สงขลา เริ่มมีอำนาจในการปกครองเด่นชัดขึ้น ช่วงเวลาเดียวกันนั้น (พ.ศ.๒๑๖๒-๒๑๖๖) ฮอลันดากับอังกฤษได้ทำสงครามแย่งตลาดการค้าที่เมืองปัตตานี จนพ่อค้าและชาวอังกฤษต้องโยกย้ายออกจากเมืองปัตตานีไปค้าขายที่เมืองอื่น ทำให้ฮอลันดามีอำนาจทางการค้าที่เมืองปัตตานีได้เต็มที่ ครั้นเมื่อสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.๒๑๗๑) ทำให้ปัตตานีไม่ยอมรับอำนาจของอยุธยา และได้ยกกองทัพเข้าโจมตีเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ ๒๑๗๓ แสดงว่าเกิดความขัดแย้งแคลงใจและคอยฉกฉวยโอกาสต่อกันอยู่ตลอดเวลา

        ยุทธวิธีการแย่งศูนย์กลางการค้าตามตำนานเมืองปัตตานีฉบับของอิบรอฮิม ชุกรี อ้างว่า เมื่ออยุธยาเห็นว่าเจริญทางด้านการค้าเป็นรองปัตตานี เป็นเหตุให้ในปี พ.ศ.๒๑๔๖ (แผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) อยุธยาจึงให้ออกญาเดโชนำกองทัพเรือพร้อมทหารเป็นจำนวนพัน ยกไปตีเมืองปัตตานี แต่เนื่องจากชาวยุโรปได้ช่วยเหลือ ทั้งด้านกำลังทรัพย์ อาวุธ และปืนใหญ่แก่เมืองปัตตานี อยุธยาจึงไม่อาจตีเมืองปัตตานีได้ จากกิตติศัพท์เรื่องพลังอำนาจของอาวุธ และปืนใหญ่ของชาวยุโรปที่เกี่ยวโยงกับการค้า ทำให้อยุธยาเปิดประตูการค้ารับชาวยุโรปเต็มที่ เช่น การที่พระเอกาทศรถให้ฮอลันดาผูกขาดการค้าที่เมืองสงขลาเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๑๕๖ และทรงอนุญาตให้ฮอลันดาสร้างสถานีเก็บสินค้า (แร่ดีบุก) และผูกขาดการค้าดีบุกบนเกาะถลาง เมื่อ พ.ศ.๒๑๖๙ จนฮอลันดากลายเป็นศัตรูทางการค้ากับจีน เพื่อแย่งน่านน้ำชวาและช่องแคบมะละกา จนในที่สุดแม้ชาวเมืองถลางเองก็ถูกฮอลันดาเอาเปรียบ จนถึงปี พ.ศ. ๒๒๑๙ ชาวถลางและชาวมลายูได้ลุกฮือขึ้น ฆ่าฟันพวกชาวฮอลันดาตายสิ้น ครั้นมาถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในปี พ.ศ.๒๒๒๘ โปรดเกล้าฯ ให้เมอร์ซิเออร์ เรเน ชาวฝรั่งเศสมาเป็นเจ้าเมืองผูกขาดค้าแร่ดีบุกที่เมืองถลาง และเมืองขึ้นของถลางทั้งหมด นอกจากนั้นยังทรงทำสัญญายกเมืองสงขลาและเมืองขึ้นของสงขลาทั้งหมดให้ฝรั่งเศสทำสถานีการค้า ทำอย่างไรก็ได้ ในปี พ.ศ.๒๒๒๘ เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนโยงใยกับการแย่งกันเป็นศูนย์กลางการค้าของราชธานีกับปัตตานีและระหว่างชนชาติยุโรปด้วยกัน

        จากการที่ชนต่างชาติเจ้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องดังกล่าวนี้ ทำให้วัฒนธรรมชุมชนเปลี่ยนไปด้วย และทิ้งร่องรอยและส่งผลมาสู่สังคมรุ่นหลัง เช่น วัฒนธรรมทางสถาปัตยกรรม ปรากฏจากป้อมกำแพง คู ประตู หอรบ อยู่ที่บริเวณหัวเขาแดง สอดคล้องกับผังเมืองสงขลาที่นายลามาร์ วิศวกรชาวฝรั่งเศสทำไว้เมื่อ พ.ศ.๒๒๓๐ หลังจากเมืองสงขลาของพระเจ้าเมืองสงขลา (สุลต่านสุไลมาน) ถูกสมเด็จพระนารายณ์ส่งกองทัพมาตีแตกอย่างยับเยิน เมื่อ พ.ศ.๒๒๒๓ เพียง ๗ ปีเท่านั้น หรือการที่ภาพวาดเรื่อง คณะเอกอัครราชทูตจากกรุงสยาม ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชส่งไปเจริญราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจิตรกรชาวฝรั่งเศสเขียนได้ในพระราชวังกรุงแวซายด์ ปรากฏว่าทุกคนเหน็บกริชเป็นศัสตราภรณ์ น่าจะมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับบุคคลเหล่านั้นว่า เป็นใคร ไปจากส่วนไหนของสยาม เพราะวัฒนธรรมการใช้กริชเป็นศัสตราภรณ์เช่นนั้น สอดคล้องกับกลุ่มและยุคที่วัฒนธรรมฮินดู ผสมผสานกับวัฒนธรรมมุสลิมที่เมืองซิงกอรา (สงขลา) และเกี่ยวโยงกับการมีซากป้อมที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศส ตลอดถึงที่โปรดเกล้าฯ ยกซิงกอราให้แก่ฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.๒๒๒๘ อยู่บ้าง เป็นที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือวัฒนธรรมการใช้ถ้วยชามและเครื่องแก้วในภาคใต้ช่วงนี้ พบว่ามีผลิตภัณฑ์จาก Holland เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะเครื่องถ้วยชาม แต่การเขียนสีและลวดลายเป็นตามคตินิยมของมุสลิมที่เป็นคติจีนแต่ผลิตจาก Holland ก็มากและพบเครื่องถ้วย อังกฤษ ฝรั่งเศส ที่มีรูปแบบและลวดลายเหมือนกันกับของฮอลันดาก็มาก ความนิยมถ้วยชามแบบดังกล่าวมีอยู่อย่างกว้างขวางในหมู่คนไทยมุสลิมในภาคใต้ แม้ทุกวันนี้นักสะสมของเก่ายังหาได้ไม่ยากนัก

        วัฒนธรรมชุมชนภาคใต้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕

        หลังจากราชธานีสามารถปราบเมืองสงขลาลงได้ในปี พ.ศ. ๒๒๒๓ อำนาจของอยุธยาที่มีต่อภาคใต้ค่อยปรากฏชัดเจนขึ้นตามลำดับ เมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ต่างมีบทบาทสำคัญในการประสานหัวเมืองภาคใต้กับราชอาณาจักรสยาม โดยมีนครศรีธรรมราช เป็นเสมือนพี่ใหญ่ในการถ่ายโอนอำนาจการปกครองจากราชธานี เมืองพัทลุงและสงขลาทำหน้าที่รับช่วง วัฒนธรรมการปกครองแบบผูกญาติโยงญาติ ระหว่างหัวเมืองน้อยใหญ่ตลอดถึงกับราชธานี เริ่มเด่นชัดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับระบบการปกครองแบบ “กินเมือง” ของบรรดาเจ้าเมือง ทำให้การแฝงตัวเข้ามาของผู้คนและวัฒนธรรมจีนโดยเฉพาะชาวจีนฮกเกี้ยน เช่น ต้นตระกูล ณ สงขลา ซึ่งเข้ามายังสงขลา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๓ ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองสงขลา (พ.ศ.๒๓๑๘-๒๓๒๗) หรือต้นตระกูล ณ ระนอง (ดู ณ ระนองตระกูล) เป็นต้น

        ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย วัฒนธรรมชุมชนภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมราชธานี ที่เด่นชัดมาก คือ วัฒนธรรมการใช้ตัวอักษรและวรรณกรรม ได้พบหลักฐานจากหนังสือบุดดำและบุดขาว ว่าชาวภาคใต้เริ่มคุ้นเคยกับการเล่าเรียนเขียนอ่านโดยใช้อักษรไทยแบบราชธานีมากขึ้น มีการคัดลอกวรรณคดีของราชธานี ตลอดจนตำราเรียนภาษาไทย กฎหมาย ศาสนา พงศาวดาร รวมทั้งตำราที่แต่งขึ้นโดยผู้รู้ในท้องถิ่นโดยใช้ตัวอักษรไทยทั้งประเภทตำราความเชื่อ และวรรณกรรมอันเนื่องด้วยพุทธศาสนา เหล่านี้ล้วนทำให้วัฒนธรรมจากราชธานี (ทั้งของราชธานีเอง และที่ราชธานีเคยได้รับอิทธิพลจากหัวเมืองและต่างชาติ มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมชุมชนภาคใต้ทั้งทางตรงและทางอ้อม แผ่กว้าง ฝังลึก และมีพลังมากขึ้นตามลำดับ เช่น ตำราเรียนจินดามณี มหาชาติคำหลวง โคลงโลกนิติ ปัญญาสชาดก กลอนกลบก ฉันท์วรรณพฤติ ฯลฯ อิทธิพลด้านศิลปกรรม เช่น อิทธิพลของหนังใหญ่ที่เข้าไปผสมผสานกับหนังตะลุงแบบพื้นเมือง อิทธิพลของนาฏกรรม ดนตรี และการแต่งกายแบบเมืองหลวงที่เข้าไปผสมผสานกับการเล่น “ชาตรี” ซึ่งเป็นการละเล่นแบบพื้นเมือง ประเทืองโฉมขึ้นเป็น “โนรา” หรือ “มโนห์รา” รูปแบบและคตินิยมทางจิตรกรรมที่ปรากฏในสมุดข่อย (หนังสือบุด) สถาปัตยกรรมและประติมากรรม ที่ปรากฏในบ้านเรือนของเจ้านาย และตามศาสนสถานตลอดถึงขนบประเพณี เช่น สงกรานต์ การหมอบกราบ การแต่งกาย และรัฐพิธีต่าง ๆ เป็นต้น วัฒนธรรมเหล่านี้จะหลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมละลอกอื่น ๆ ของชาวภาคใต้ จนปรากฏชัดเจนและมั่นคงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ มาจนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการปฏิรูปการปกครอง ปฏิรูปการศึกษา และปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นกระทรวง ทบวง กรม จังหวัด อำเภอแล้ว วัฒนธรรมชุมชนของภาคใต้ก็เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งมาจากส่วนกลาง ต่อระบบราชการและระบบการศึกษาของรัฐเช่นเดียวกับภาคอื่น ๆ วัฒนธรรมชุมชนภาคใต้ จึงมีทั้งที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติและอเนกลักษณ์ของภาค คือ มีส่วนที่แตกต่างหลากหลายตามท้องถิ่นย่อยเป็นอเนกอนันต์

        วัฒนธรรมชุมชนภาคใต้ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๖

        นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๔ เป็นต้นมา รัฐบาลได้นำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม มาใช้เป็นแผนหลักในการพัฒนาประเทศ แบ่งแผนพัฒนาออกเป็นระยะละ ๕ ปี ในแผนระยะที่ ๑-๗ เน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจมากกว่าสังคม ให้ความสำคัญด้านการผลิตเพื่อการส่งออก จึงเน้นที่การผลิตส่วนมหัพภาคมากกว่าจุลภาค ทำให้วัฒนธรรมการผลิตเชิงอุตสาหกรรมมีบทบาทเหนือวัฒนธรรมเกษตรกรรม รวมทั้งนำเอาการท่องเที่ยวมาใช้เพื่อดึงเงินตราจากต่างประเทศ ทำให้วัฒนธรรมการผลิตและการบริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนก้าวมาถึงยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้กลุ่มชนในสังคมชนบทและสังคมเมืองใหญ่มีโอกาสที่จะเลือกบริโภคได้มากและสะดวกใกล้เคียงกันและปทัสถาน หรือเกณฑ์การเลือกสรรบริโภคในชนบทยังอ่อนแอทั้งการบริโภคข่าวสาร บริโภคภูมิปัญญา บริโภคเทคโนโลยี บริโภคทรัพยาการ และบริโภคสิ่งอุปโภคบริโภคทั้งปวง เหล่านี้ ทำให้วัฒนธรรมชุมชนเปลี่ยนค่านิยม วิธีคิด และพฤติกรรมอย่างฉับพลัน ทำให้กระทบต่อวิถีประชา ระบบครอบครัว สังคม การปกครองและการเมือง ดังนั้นในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ (พ.ศ.๒๕๔๐-๒๕๔๔) จึงเน้นที่การพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นพิเศษ วัฒนธรรมชุมชนภาคใต้ในอนาคตคงได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาอันเนื่องมาจากแผนต่าง ๆ ที่ผ่านมาและแผนใหม่ ๆ ที่กำลังจะตามมา ผนวกด้วยอิทธิพลของกระแสวัฒนธรรมสากลในยุคโลกาภิวัตน์ ตามศักยภาพในการจัดการและวิสัยทัศน์ของชุมชนแต่ละกลุ่ม แต่ละระดับ ซึ่งล้วนมีวัฒนธรรมพื้นบ้านเป็นองค์ประกอบ

สภาพทั่วไป

        ๑สภาพพื้นที่

        ภาคใต้ของประเทศไทยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของคาบสมุทรมลายู (Malay Peninsula) โดยตั้งอยู่ในส่วนบนของคาบสมุทรแห่งนี้มักจะเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปเป็นหลายชื่อ เช่น คาบสมุทรสยาม (Peninsula Siam) คาบสมุทรไทย (Peninsula Thailand) และคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย เป็นต้น

        ๒สภาพการปกครอง

        ๒.๑ เมืองสำคัญ

        เมืองที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้คือ เมืองนครศรีธรรมราช เป็นเมืองที่มีความ สำคัญในทางประวัติศาสตร์มาแต่โบราณ เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของภาคใต้ และมีหลักฐานทางโบราณคดีปรากฏอยู่เป็นจำนวนมากเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดของภาคใต้ ในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ (พ.ศ.๒๕๔๐-๒๕๔๔) ได้รับการกำหนดให้เป็นที่ตั้งจุดเชื่อมโยงระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน

        ส่วนเมืองสำคัญที่ได้รับการกำหนดให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาคือเมืองสุราษฎร์ธานี โดยจะพัฒนาให้เป็นเมืองศูนย์กลางทางอุตสาหกรรมของภาคใต้ตอนบน ส่วนเมืองสงขลา-หาดใหญ่ จะพัฒนาให้เป็นเมืองศูนย์กลางความเจริญทางด้านธุรกิจการค้า การบริการ และการท่องเที่ยวของภาคใต้ตอนล่าง โดยเมืองสงขลาเป็นเมืองศูนย์กลางการบริหารราชการ เมืองหาดใหญ่เป็นศูนย์กลางคมนาคม ธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม และการบริการเพื่อให้พร้อมที่จะเชื่อมโยงการพัฒนากับจุดการค้าชายแดน คือ สะเดา สตูล เบตง และสุไหงโก-ลก

        ส่วนในพื้นที่บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก ได้กำหนดให้เมืองภูเก็ตเป็นเมืองท่าและเมืองศูนย์กลางความ เจริญทางธุรกิจการค้า การบริการ และการท่องเที่ยวทางทะเล รวมทั้งพัฒนาให้เป็นเมืองนานาชาติ

        ๒.๒ กลุ่มจังหวัดเพื่อการพัฒนา

        สำนักงานคณะกรรมการนโยบายกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น (กนภ.) ได้มีมติเห็น ชอบเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๙ ให้แบ่งกลุ่มจังหวัดในภาคใต้เพื่อการวางแผนพัฒนาและการลงทุนออกเป็น ๓ กลุ่มคือ

        กลุ่มที่ ๑ ภาคใต้ตอนบน ประกอบด้วยจังหวัดต่าง ๆ รวม ๔ จังหวัดคือ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง

        กลุ่มที่ ๒ ภาคใต้ตอนล่าง ประกอบด้วยจังหวัดต่าง ๆ รวม ๕ จังหวัด คือ จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส

        กลุ่มที่ ๓ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ประกอบด้วยจังหวัดต่าง ๆ รวม ๕ จังหวัด คือ จังหวัดภูเก็ต จังหวัด พังงา จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล

        ๒.๓ การปกครอง

        จากข้อมูลพื้นฐานของทางจังหวัดเมื่อวันที่ พ.ศ.๒๕๔๑ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติปรากฏว่า การปกครองในภาคใต้ของประเทศไทยสามารถที่จะแบ่งได้เป็นสองส่วนคือ

        ๒.๓.๑ ส่วนภูมิภาค ประกอบด้วยจังหวัดต่าง ๆ จำนวน ๑๔ จังหวัด อำเภอจำนวน ๑๔๓ อำเภอ กิ่งอำเภอจำนวน ๘ กิ่งอำเภอ ตำบลจำนวน ๑,๐๘๓ ตำบล

        ๒.๓.๒ ส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด ๑๔ องค์การ เทศบาลนคร ๒ เทศบาล เทศบาลเมืองจำนวน ๑๕ เทศบาล เทศบาลตำบล ๙ เทศบาล สุขาภิบาลจำนวน ๑๒๙ สุขาภิบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน ๙๘ องค์การ

        นอกจากนี้ยังมีองค์กรของการปกครองส่วนกลางที่สังกัด กระทรวง ทบวง กรม ที่ได้มาตั้งปฏิบัติงาน ในภูมิภาคและไม่ได้ขึ้นตรงต่อจังหวัดและอำเภอเป็นจำนวนมาก เช่น หน่วยราชการที่ใช้ชื่อว่า สถานี ศูนย์ เขต ภาค โรงเรียน สถาบันและมหาวิทยาลัย เป็นต้น

ข้อมูลการปกครองท้องที่จังหวัดในเขตภาคใต้ 

ประจำปี ๒๕๔๐

จังหวัด

อำเภอ/กิ่งอำเภอ

ชื่อตำบล

จำนวนตำบล

จำนวนเนื้อที่

(ตารางกิโลเมตร)

จำนวนประชากร

จังหวัดกระบี่

 

เกาะลันตา


เกาะกลาง

คลองยาง


เกาะลันตาน้อย

ศาลาด่าน


เกาะลันตาใหญ่


๓๓๙.๘๔๓

๒๓,๒๐๓

เขาพนม

เขาดิน

พรุเตียว

เขาพนม

สินปุน

โคกหาร

หน้าเขา

๗๘๘.๕๒๒

๓๗,๐๙๐

คลองท่อม

คลองท่อมใต้

ทรายขาว

ห้วยน้ำขาว

คลองท่อมเหนือ

พรุดินนา

คลองพน

เพหลา

๑,๐๔๒.๕๓๑

๕๗,๑๒๘

ปลายพระยา

เขาเขน

ปลายพระยา

เขาต่อ

คีรีวง

๔๓๓.๓๖๗

๓๑,๐๐๑

เมืองกระบี่

กระบี่น้อย

เขาทอง

ปากน้ำ

อ่าวนาง

กระบี่ใหญ่

คลองประสงค์

ไสไทย

เขาคราม

ทับปริก

หนองทะเล

๑๐

๕๙๕.๗๓๘

๗๘,๗๐๘

ลำทับ

ดินแดง

ลำทับ

ดินอุดม

ทุ่งไทรทอง

๓๒๐.๗๐๘

๑๕,๙๕๐

เหนือคลอง

คลองขนาน

ตลิ่งชัน

ห้วยยูง

คลองเขม้า

ปกาไสย

เหนือคลอง

โคกยาง

ศรีบอยา

๔๑๔.๘๑๔

๔๙,๑๙๙

อ่าวลึก

เขาใหญ่

นาเหนือ

อ่าวลึกใต้

คลองยา

บ้านกลาง

อ่าวลึกน้อย

คลองหิน

แหลมสัก

อ่าวลึกเหนือ

๗๗๒.๙๘๙

๔๖,๕๖๖

 

รวมทั้งสิ้น ๘ อำเภอ ๕๓ ตำบล

๕๓

๔,๗๐๘.๕๑๒

๓๓๘,๘๔๕

จังหวัดชุมพร

 

ท่าแซะ


คุริง

ทรัพย์อนันต์

สลุย

หงษ์เจริญ


ท่าข้าม

นากระตาม

สองพี่น้อง


ท่าแซะ

รับร่อ

หินแก้ว


๑๐


๖๐,๙๘๒

ทุ่งตะโก

ช่องไม้แก้ว

ปากตะโก

ตะโก

ทุ่งตะไคร


๒๑,๐๙๔

ปะทิว

เขาไชยราช

ทะเลทรัพย์

สะพลี

ชุมโค

บางสน

ดอนยาง

ปากคลอง


๔๑,๖๔๙

พะโต๊ะ

ปังหวาน

พะโต๊ะ

ปากทรง

พระรักษ์


๑๙,๓๔๕

เมืองชุมพร

ขุนกระทิง

ท่าตะเภา

นาชะอัง

บางหมาก

วังไผ่

หาดทรายรี

ตากแดด

ท่ายาง

นาทุ่ง

บ้านนา

วังใหม่

หาดพันไกร

ถ้ำสิงห์

ทุ่งคา

บางลึก

ปากน้ำ

วิสัยเหนือ

๑๗


๑๓๙,๘๑๖

ละแม

ทุ่งคาวัด

สวนแตง

ทุ่งหลวง

ละแม


๒๔,๕๐๐

สวี

เขาค่าย

ด่านสวี

นาโพธิ์

วิสัยใต้

เขาทะลุ

ท่าหิน

นาสัก

สวี

ครน

ทุ่งระยะ

ปากแพรก

๑๑


๖๔,๗๘๖

หลังสวน

ขันเงิน

นาพญา

ปากน้ำ

หลังสวน

ท่ามะพลา

บางน้ำจืด

พ้อแดง

หาดยาย

นาขา

บางมะพร้าว

วัดตะกอ

แหลมทราย

๑๒


๖๗,๘๒๔

 

รวมทั้งสิ้น ๘ อำเภอ ๖๙ ตำบล

๖๙

๖,๐๐๙.๐๐๘

๔๓๙,๙๙๖

จังหวัดตรัง


กันตัง

กันตัง

คลองชีล้อม

โคกยาง

บางเป้า

ย่านซื่อ

กันตังใต้

คลองลุ

นาเกลือ

บางสัก

วังวน

เกาะลิบง

ควนธานี

บ่อน้ำร้อน

บางหมาก

๑๔

๖๐๙.๖๓๕

๗๕,๙๒๑

นาโยง

โคกสะบ้า

นาโยงเหนือ

ช่อง

นาหมื่นศรี

นาข้าวเสีย

ละมอ

๑๖๕.๐๑๗

๔๐,๙๓๑

ปะเหลียน

เกาะสุกร

ทุ่งยาว

ปะเหลียน

แหลมสอม

ท่าข้าม

บางด้วน

ลิพัง

ท่าพญา

บ้านนา

ลุโละ

๑๐

๙๗๓.๑๓๐

๕๙,๖๙๕

เมืองตรัง

ควนปริง

นาตาล่วง

นาท่ามเหนือ

นาโยงใต้

บ้านควน

โคกหล่อ

นาโต๊ะหมิง

นาบินหลา

น้ำผุด

นาโพธิ์

ทับเที่ยง

นาท่ามใต้

นาพละ

บางรัก

หนองตรุด

๑๕

๕๓๓.๘๗๓

๑๓๖,๘๗๙

ย่านตาขาว

เกาะเปี๊ยะ

นาชุมเห็ด

ย่านตาขาว

ทุ่งกระบือ

ในควน

หนองบ่อ

ทุ่งค่าย

โพรงจระเข้

๔๓๑.๐๕๗

๖๑,๕๙๔

รัษฎา

เขาไพร

หนองบัว

คลองปาง

หนองปรือ

ควนเมา

๒๓๒.๔๒๕

๒๔,๕๒๑

วังวิเศษ

เขาวิเศษ

วังมะปราง

ท่าสะบ้า

อ่าวตง

มะปรางเหนือ

๔๗๗.๑๒๕

๓๔,๑๖๕

สิเกา

กะลาส

ไม้ฝาด

เขาไม้แก้ว

บ่อหิน

นาเมืองเพชร

๕๒๓.๙๘๓

๒๙,๒๖๙

ห้วยยอด

เขากอบ

ท่างิ้ว

ในเตา

ปากคม

วังคีรี

ห้วยยอด

เขาขาว

ทุ่งต่อ

บางกุ้ง

ปากแจ่ม

หนองช้างแล่น

เขาปูน

นาวง

บางดี

ลำภูรา

ห้วยนาง

๑๖

๗๔๗.๒๗๔

๘๗,๙๔๑

หาดสำราญ, กิ่งอำเภอ

ตะเสะ

บ้าหวี

หาดสำราญ

๒๒๔.๐๐๐

๑๓,๗๔๔


รวมทั้งสิ้น ๙ อำเภอ ๑ กิ่งอำเภอ ๘๗ ตำบล

๘๗

๔,๙๑๗.๕๑๙

๕๖๔,๖๖๐

จังหวัดนครศรีธรรมราช

ขนอม


ขนอม


ควนทอง


ท้องเนียน



๔๓๓.๙๒๖


๒๖,๘๓๐

จุฬาภรณ์

ควนหนองหว้า

บ้านควนมุด

ทุ่งโพธิ์

บ้านชะอวด

นาหมอบุญ

สามตำบล

๑๙๒.๕๐๕

๓๐,๐๔๙

ฉวาง

กะเปียด

นากะซะ

ละอาย

นาแว

จันดี

นาเขลียง

ไสหว้า

ฉวาง

ไม้เรียง

ห้วยปริก

๑๐

๕๒๘.๒๒๗

๖๙,๒๘๘

เฉลิมพระเกียรติ

เชียรเขา

สวนหลวง

ดอนตรอ

ทางพูน

๑๒๔.๑๔๕

๓๕,๖๐๖

ชะอวด

เกาะขันธ์

ควนหนองหงส์

ท่าประจะ

บ้านตูล

ขอนหาด

เคร็ง

ท่าเสม็ด

วังอ่าง

เขาพระทอง

ชะอวด

นางหลง

๑๑

๘๓๓.๐๔๘

๘๓,๙๑๑

ช้างกลาง, กิ่งอำเภอ

ข้างกลาง

สวนขัน

หลักช้าง

๒๓๒.๕๓๕

๓๑,๘๔๖

เชียรใหญ่

การะเกด

ท้องลำเจียก

บ้านเนิน

ไสหมาก

เขาพระหมาก

ท่าขนาน

แม่เจ้าอยู่หัว

เชียรใหญ่

บ้านกลาง

เสือหึง

๑๐

๒๓๒.๗๔๓

๔๙,๖๖๔

ถ้ำพรรณรา

คลองเส

ดุสิต

ถ้ำพรรณรา

๑๖๙.๑๐๔

๑๖,๘๕๘

ท่าศาลา

กลาย

ท่าขึ้น

โพธิ์ทอง

หัวตะพาน

ดอนตะโก

ท่าศาลา

โมคลาน

ตลิ่งชัน

ไทยบุรี

สระแก้ว

๑๐

๓๖๓.๘๙๑

๑๐๓,๗๗๐

ทุ่งสง

กะปาง

ควนกรด

ที่วัง

นาหลวงเสน

หนองหงส์

เขาขาว

ชะมาย

นาโพธิ์

น้ำตก

เขาโร

ถ้ำใหญ่

นาไม้ไผ่

ปากแพรก

๑๓

๑,๐๔๑.๙๙๙

๑๔๕,๕๔๒

ทุ่งใหญ่

กรุงหยัน

ทุ่งสังข์

ปริก

กุแหระ

ทุ่งใหญ่

ท่ายาง

บางรูป

๖๐๓.๒๘๗

๖๒,๘๔๕

นบพิตำ, กิ่งอำเภอ

กรุงชิง

นาเหรง

กะหรอ

นบพิตำ

๗๒๐.๑๕๖

๒๗,๑๕๗

นาบอน

แก้วเสน

ทุ่งสง

นายม

๑๙๒.๘๙๙

๒๗,๕๔๓

บางขัน

บางขัน

บ้านนิคม

บ้านลำนาว

วังหิน

๖๐๑.๖๖๒

๓๒,๙๑๑

ปากพนัง

เกาะทวด

คลองน้อย

บางตะพง

บ้านเพิง

ปากพนังฝั่งตะวันออก

ป่าระกำ

ขนาบนาก

ชะเมา

บางพระ

บ้านใหม่

ปากพนังฝั่งตะวันตก

หูล่อง

คลองกระบือ

ท่าพญา

บางศาลา

ปากพนัง

ปากแพรก

แหลมตะลุมพุก

๑๘

๔๒๒.๔๕๔

๑๑๖,๘๗๔

พรหมคีรี

ทอนหงส์

พรหมโลก

นางเรียง

อินคีรี

บ้านเกาะ

๓๒๑.๔๙๙

๓๔,๑๙๘

พระพรหม

ช้างซ้าย

นาสาร

ท้ายสำเภา

นาพรุ

๑๔๗.๙๖๓

๓๙,๙๓๓

พิปูน

กะทูน

พิปูน

เขาพระ

ยางค้อม

ควนกลาง

๓๖๓.๗๕๓

๒๗,๙๔๒

เมืองนครศรีธรรมราช

กำแพงเซา

ท่างิ้ว

ท่าไร่

นาทราย

ปากนคร

มะม่วงสองต้น

คลัง

ท่าซัก

ท่าวัง

ในเมือง

ปากพูน

ไชยมนตรี

ท่าเรือ

นาเคียน

บางจาก

โพธิ์เสด็จ

๑๖

๖๗๑.๔๔๗

๒๖๒,๕๑๙

ร่อนพิบูลย์

ควนเกย

ทางพูน

หินตก

ควนชุม

ร่อนพิบูลย์

ควนพัง

เสาธง

๓๓๕.๕๒๓

๘๗,๓๖๒

ลานสกา

กำโลน

ท่าดี

ขุนทะเล

ลานสกา

เขาแก้ว

๓๔๒.๘๙๘

๓๙,๖๓๖

สิชล

เขาน้อย

ทุ่งใส

สิชล

ฉลอง

เทพราช

สี่ขีด

ทุ่งปรัง

เปลี่ยน

เสาเภา

๗๐๓.๑๐๕

๗๙,๒๘๖

หัวไทร

เกาะเพชร

ทรายขาว

บ้านราม

หัวไทร

เขาพังไกร

ท่าซอม

รามแก้ว

แหลม

ควนชะลิก

บางนบ

หน้าสตน

๑๑

๔๑๗.๗๓๓

๗๑,๕๘๖

 

รวมทั้งสิ้น ๒๑ อำเภอ ๒ กิ่งอำเภอ ๑๗๑ ตำบล

๑๗๑

๙,๙๔๒.๕๐๒

๑,๕๐๓,๑๕๖

จังหวัดนราธิวาส


จะแนะ


จะแนะ

ผดุงมาตร


ช้างเผือก



ดูซงญอ

๖๐๗.๒๓๔

๒๕,๔๔๖

เจาะไอร้อง

จวบ

บูกิต

มะรือโบออก

๑๖๒.๗๒๓

๓๓,๗๔๒

ตากใบ

เกาะสะท้อน

นานาค

ไพรวัน

โฆษิต

บางขุนทอง

ศาลาใหม่

เจ๊ะเห

พร่อน

๒๕๓.๔๕๗

๕๙,๒๑๒

บาเจาะ

กาเยาะมาตี

บาเระเหนือ

บาเจาะ

ปาลุกาสาเมาะ

บาเระใต้

ลุโบะสาวอ

๑๗๖.๑๖๘

๔๓,๖๑๙

เมืองนราธิวาส

กะลุวอ

บางนาค

ลำภู

กะลุวอเหนือ

บางปอ

โคกเคียน

มะนังตายอ

๓๐๕.๑๑๕

๙๘,๒๕๕

ยี่งอ

จอเบาะ

ละหาร

ตะปอเยาะ

ลุโบะบายะ

ยี่งอ

ลุโบะบือซา

๒๐๐.๕๑๖

๓๘,๖๓๔

ระแงะ

กาลิซา

ตันหยงลิมอ

มะรือโบตก

เฉลิม

บองอ

ตันหยงมัส

บาโงสะโต

๔๓๕.๕๘๑

๗๗,๒๖๔

รือเสาะ

ขาตง

รือเสาะ

สามัคคี

โคกสะตอ

เรียง

สาวอ

บาตง

ลาโละ

สุวารี

๔๖๘,๓๒๔

๕๖,๒๑๕

แว้ง

กายูคละ

โละจูด

ฆอเลาะ

แว้ง

แม่ดง

เอราวัณ

๓๔๗.๒๗๔

๔๑,๑๔๔

ศรีสาคร

กาหลง

ตะมะยูง

เชิงคีรี

ศรีบรรพต

ซากอ

ศรีสาคร

๕๐๐.๐๗๕

๒๔,๐๓๗

สุคิริน

เกียร์

ร่มไทร

ภูเขาทอง

สุคิริน

มาโมง

๕๑๒.๙๗๔

๑๙,๓๑๙

สุไหงโก-ลก

ปาเสมัส

สุไหงโก-ลก

ปูโยะ

มูโนะ

๑๓๘.๓๕๓

๖๒,๐๑๔

สุไหงปาดี

กาวะ

ริโก๋

โต๊ะเด็ง

สากอ

ปะลุรู

สุไหงปาดี

๓๗๒.๖๓๖

๕๓,๐๕๗

 

รวมทั้งสิ้น ๑๓ อำเภอ ๗๗ ตำบล

๗๗

๔,๔๗๕.๔๓๐

๗๓๑,๙๕๘

จังหวัดปัตตานี

กะพ้อ


กะรุบี


ตะโละดือรามัน


ปล่องหอย

๙๓.๘๑๕

๑๓,๘๐๘

โคกโพธิ์

ควนโนรี

ทรายขาว

นาเกตุ

ปากล่อ

โคกโพธิ์

ท่าเรือ

นาประดู่

ป่าบอน

ช้างให้ตก

ทุ่งพลา

บางโกระ

มะกรูด

๑๒

๓๓๙.๔๑๔

๖๑,๙๔๓

ทุ่งยางแดง

ตะโละแมะนา

พิเทน

น้ำดำ

ปากู

๑๑๔.๙๗๐

๑๖,๗๒๑

ปะนาเระ

ควน

ท่าข้าม

บ้านนอก

พ่อมิ่ง

คอกกระบือ

ท่าน้ำ

บ้านน้ำบ่อ

ดอน

บ้านกลาง

ปะนาเระ

๑๐

๑๔๔.๐๕๘

๓๙,๘๒๕

มายอ

กระเสาะ

ตรัง

ปานัน

ลุโบะยิไร

สาคอบน

กระหวะ

ถนน

มายอ

สะกำ

เกาะจัน

ปะโด

ลางา

สาคอใต้

๑๓

๒๑๖.๑๓๖

๔๙,๓๕๑

เมืองปัตตานี

กะมิยอ

ตะลุโบะ

บาราโหม

ปุยุด

อาเนาะรู

คลองมานิง

ตันหยงลุโละ

บาราเฮาะ

รูสมิแล

จะบังติกอ

บานา

ปะกาฮะรัง

สะบารัง

๑๓

๙๖.๘๓๗

๑๐๔,๗๖๓

แม่ลาน

ป่าไร่

ม่วงเตี้ย

แม่ลาน

๘๙.๑๙๔

๑๓,๔๑๔

ไม้แก่น

ไกรทอง

ไม้แก่น

ดอนทราย

ตะโละไกรทอง

๕๕.๒๐๑

๙,๘๕๒

ยะรัง

กระโด

คลองใหม่

เมาะมาวี

วัด

กอลำ

ประจัน

ยะรัง

สะดาวา

เขาตูม

ปิตูมุดี

ระแว้ง

สะนอ

๑๒

๑๘๓.๙๕๒

๗๗,๕๘๖

ยะหริ่ง

ยะรัง

ตะโละกาโปร์

ตาแกะ

บางปู

ปุลากง

สาบัน

ตอหลัง

ตันหยงจึงงา

ตาราปันยัง

บาโลย

มะนังยง

หนองแรต

ตะโละ

ตันหยงดาลอ

ตอลีอารย์

ปิยามุมัง

ยามู

แหลมโพธิ์

๑๘

๑๙๖.๘๒๙

๗๒,๙๑๑

สายบุรี

กะดุนง

เตราะบอน

บือเระ

มะนังดาลำ

ตะบิ้ง

ทุ่งคล้า

ปะเสยะวอ

ละหาร

ตะลุบัน

บางเก่า

แป้น

๑๑

๑๗๘.๔๒๔

๕๗,๐๖๖

หนองจิก

เกาะเปาะ

ดาโต๊ะ

บ่อทอง

ปุโละปุโย

คอลอตันหยง

ตุยง

บางเขา

ยาบี

ดอนรัก

ท่ากำชำ

บางตาวา

ลิปะสะโง

๑๒

๒๓๑.๕๒๖

๖๔,๘๘๐

 

รวมทั้งสิ้น ๑๒ อำเภอ ๑๑๕ ตำบล

๑๑๕

๑,๙๔๐.๓๕๖

๕๘๒,๑๒๐

จังหวัดพังงา


กะปง


กะปง

เหมาะ


ท่านา

เหล


รมณีย์



๕๘๘.๗๙๓

๑๒,๓๔๕

เกาะยาว

เกาะยาวน้อย

เกาะยาวใหญ่

พรุใน

๑๔๑.๐๖๕

๑๒,๓๒๘

คุระบุรี

เกาะพระทอง

แม่นางขาว

คุระ

บางวัน

๗๙๗.๐๕๙

๒๐,๗๙๔

ตะกั่วทุ่ง

กระโสม

โคกกลอย

หล่อยูง

กะไหล

ถ้ำ

คลองเคียน

ท่าอยู่

๖๑๐.๗๗๙

๓๘,๙๑๕

ตะกั่วป่า

เกาะคอเขา

ตะกั่วป่า

บางนายสี

คึกคัก

ตำตัว

บางม่วง

โคกเคียน

บางไทร

๕๙๙.๔๒๕

๔๒,๗๖๒

ทับปุด

โคกเจริญ

บ่อแสน

ถ้ำทองหลาง

บางเหรียง

ทับปุด

มะรุ่ย

๒๗๒.๔๒๙

๒๒,๕๔๖

ท้ายเหมือง

ท้ายเหมือง

บางทอง

ทุ่งมะพร้าว

ลำแก่น

นาเตย

ลำภี

๖๑๑.๗๙๓

๔๒,๕๕๗

เมืองพังงา

เกาะปันหยี

ท้ายช้าง

บางเตย

ตากแดด

ทุ่งคาโงก

ป่ากอ

ถ้ำน้ำผุด

นบปริง

สองแพรก

๕๔๙.๕๕๒

๓๕,๖๖๗

 

รวมทั้งสิ้น ๘ อำเภอ ๔๗ ตำบล

๔๗

๕,๑๗๐.๘๙๕

๒๒๗,๙๑๔

จังหวัดพัทลุง


กงหรา


กงหรา

ชรัด


คลองเฉลิม

สมหวัง


คลองทรายขาว

๒๕๕.๘๕๖

๓๒,๔๙๐

เขาชัยสน

เขาชัยสน

จองถนน

ควนขนุน

หานโพธิ์

โคกม่วง

๒๖๐.๑๑๕

๔๔,๔๓๓

ควนขนุน

ควนขนุน

โตนดด้วน

ปันแต

แพรกหา

ชะมวง

ทะเลน้อย

พนมวังก์

มะกอกเหนือ

ดอนทราย

นาขยาด

พนางตุง

แหลมโตนด

๑๒

๔๕๓.๙๖๐

๘๓,๗๘๓

ตะโหมด

คลองใหญ่

ตะโหมด

แม่ขรี

๒๖๔.๒๖๐

๒๕,๘๖๖

บางแก้ว

โคกสัก

ท่ามะเดื่อ

นาปะขอ

๑๑๙.๐๐๐

๒๔,๖๖๘

ปากพะยูน

เกาะนางคำ

ดอนประดู่

หารเทา

เกาะหมาก

ปากพะยูน

ดอนทราย

ฝาละมี

๔๓๓.๒๗๔

๔๙,๗๙๖

ป่าบอน

โคกทราย

วังใหม่

ทุ่งนารี

หนองธง

ป่าบอน

๓๘๐.๐๔๘

๔๐,๙๒๕

ป่าพะยอม

เกาะเต่า

ลานข่อย

บ้านพร้าว

ป่าพะยอม

๓๘๖.๔๐๔

๓๐,๗๑๗

เมืองพัทลุง

เขาเจียก

โคกชะงาย

ท่าแค

นาโหนด

ร่มเมือง

ควนมะพร้าว

ชัยบุรี

ท่ามิหรำ

ปรางหมู่

ลำปำ

คูหาสวรรค์

ตำนาน

นาท่อม

พยาขันธ์

๑๔

๔๗๒.๔๒๑

๑๒๑,๙๗๐

ศรีนครินทร์, กิ่งอำเภอ

ชุมพล

อ่าวทอง

บ้านนา

ลำสินธุ์

๒๒๕.๖๓๑

๒๔,๓๖๓

ศรีบรรพต

เขาปู่

เขาย่า

ตะแพน

๒๑๘.๕๐๔

๑๕,๗๓๔

 

รวมทั้งสิ้น ๑๐ อำเภอ ๑ กิ่งอำเภอ ๖๕ ตำบล

๖๕

๓,๔๒๔.๔๗๓

๔๙๔,๗๔๕

จังหวัดภูเก็ต

กะทู้


กมลา


กะทู้


ป่าตอง

๖๗.๐๓๔

๒๓,๒๒๙

ถลาง

ไม้ขาว

เทพกระษัตรี

สาคู

ศรีสุนทร

ป่าคลอก

เชิงทะเล

๒๕๒.๐๐๐

๕๗,๗๗๒

เมืองภูเก็ต

กะรน

ตลาดเหนือ

ราไวย์

เกาะแก้ว

ตลาดใหญ่

วิชิต

ฉลอง

รัษฎา

๒๒๔.๐๐๐

๑๓๓,๖๓๒

 

รวมทั้งสิ้น ๓ อำเภอ ๑๗ ตำบล

๑๗

๕๔๓.๐๓๔

๒๑๔,๖๓๓

จังหวัดยะลา


กรงปินัง, กิ่งอำเภอ


กรงปินัง

ห้วยกระทิง


ปุโรง



สะเอะ

๑๙๑.๐๐๐

๑๗,๕๐๙

กาบัง

กาบัง

บาละ


๔๕๑.๐๐๐

๑๑,๖๘๙

ธารโต

คีรีเขต

แม่หวาด

ธารโต

บ้านแหร

๖๔๘.๐๐๙

๑๗,๑๗๕

บันนังสตา

เขื่อนบางลาง

ถ้ำทะลุ

ดาเนาะปูเต๊ะ

บันนังสตา

ตลิ่งชัน

บาเจาะ

๖๒๙.๐๑๓

๔๒,๘๒๕

เบตง

ตาเนาะแมเราะ

ยะรม

ธารน้ำทิพย์

อัยเยอร์เวง

เบตง

๑,๓๒๘.๐๐๑

๔๙,๔๖๘

เมืองยะลา

ตาเซะ

บุดี

ยะลา

ลำใหม่

สะเตงนอก

ท่าสาบ

เปาะเส้ง

ยุโป

ลิดล

หน้าถ้ำ

บันนังสาเรง

พร่อน

ลำพะยา

สะเตง

๑๔

๒๕๘.๐๒๓

๑๔๘,๑๓๖

ยะหา

กาตอง

บาโระ

ละแอ

ตาชี

ปะแต

บาโงยซิแน

ยะหา

๕๐๐.๐๐๑

๔๒,๘๔๖

รามัน

กอตอตือร๊ะ

กาลูบัง

จะกว๊ะ

เนินงาม

บือมัง

อาซ่อง

กายูบอเกาะ

เกะรอ

ตะโละหะลอ

บาโงย

บะต๊ะ

กาลอ

โกตาบารู

ท่าธง

บาลอ

วังพญา

๑๖

๕๑๖.๐๓๑

๗๒,๙๑๐

 

รวมทั้งสิ้น ๗ อำเภอ ๑ กิ่งอำเภอ ๕๘ ตำบล

๕๘

๔,๕๒๑.๐๗๘

๔๐๒,๕๕๘

จังหวัดระนอง


กระบุรี


จปร.

บางใหญ่

ลำเลียง


น้ำจืด

ปากจั่น


น้ำจืดน้อย

มะมุ

๗๘๓.๐๑๐

๓๘,๘๕๑

กะเปอร์

กะเปอร์

บ้านนา

เชี่ยวเหลียง

ม่วงกลวง

บางหิน

๖๕๗.๖๘๘

๑๗,๐๐๘

เมืองระนอง

เกาะพยาม

บางนอน

ราชกรูด

เขานิเวศน์

บางริ้น

หงาว

ทรายแดง

ปากน้ำ

หาดส้มแป้น

๗๑๓.๗๒๓

๗๑,๔๖๙

ละอุ่น

ในวงใต้

บางพระใต้

ละอุ่นเหนือ

ในวงเหนือ

บางพระเหนือ

บางแก้ว

ละอุ่นใต้

๗๔๘.๕๔๖

๑๐,๗๑๘

สุขสำราญ, กิ่งอำเภอ

กำพวน

นาคา


๓๙๕.๐๗๘

๙,๓๓๕

 

รวมทั้งสิ้น ๔ อำเภอ ๑ กิ่งอำเภอ ๓๐ ตำบล

๓๐

๓,๒๙๘.๐๔๕

๑๔๗,๓๘๑

จังหวัดสงขลา


กระแสสินธุ์


กระแสสินธุ์

โรง


เกาะใหญ่



เชิงแส

๙๖.๔๐๐

๑๗,๖๕๒

คลองหอยโข่ง

คลองหลา

ทุ่งลาน

คลองหอยโข่ง

โคกม่วง

๒๗๕.๒๐๐

๒๑,๗๓๙

ควนเนียง

ควนโส

ห้วยลึก

บางเหรียง

รัตภูมิ

๒๐๘.๐๐๐

๓๒,๓๓๗

จะนะ

ขุนตัดหวาย

แค

ท่าหมอไทร

น้ำขาว

สะกอม

คองเปียะ

จะโหนง

นาทับ

บ้านนา

สะพานไม้แก่น

คู

ตลิ่งชัน

นาหว้า

ป่าชิง

๑๔

๕๐๒.๙๘๐

๘๖,๖๓๖

เทพา

เกาะสะบ้า

ปางบาง

สะกอม

ท่าม่วง

ลำไพล

เทพา

วังใหญ่

๙๗๘.๐๐๐

๖๐,๕๑๘

นาทวี

คลองกวาง

ทับช้าง

ประกอบ

สะท้อน

คลองทราย

ท่าประดู่

ปลักหนู

ฉาง

นาทวี

นาหมอศรี

๑๐

๖๑๙.๗๘๐

๕๑,๔๒๐

นาหม่อม

คลองหรัง

พิจิตร

ทุ่งขมิ้น

นาหม่อม

๙๒.๔๗๐

๑๙,๑๖๐

บางกล่ำ

ท่าช้าง

แม่ทอม

บางกล่ำ

บ้านหาร

๑๔๗.๗๙๐

๒๔,๒๙๕

เมืองสงขลา

เกาะแต้ว

ทุ่งหวัง

เกาะยอ

บ่อยาง

เขารูปช้าง

พะวง

๑๗๑.๘๘๓

๑๕๓,๓๔๐

ระโนด

คลองแดน

ท่าบอน

บ้านใหม่

ระโนด

แดนสงวน

บ่อตรุ

ปากแตระ

ระวะ

ตะเครียะ

บ้านขาว

พังยาง

วัดสน

๑๒

๗๘๓.๘๔๐

๗๖,๒๑๖

รัตภูมิ

กำแพงเพชร

คูหาใต้

เขาพระ

ท่าชะมวง

ควนรู

๕๙๑.๗๙๐

๖๐,๖๗๒

สทิงพระ

กระดังงา

จะทิ้งพระ

ท่าหิน

วัดจันทร์

คลองรี

ชุมพล

บ่อดาน

สนามไชย

คูขุด

ดีหลวง

บ่อแดง

๑๑

๑๒๐.๐๐๐

๕๐,๙๖๙

สะเดา

เขามีเกียรติ

ปริก

สะเดา

ท่าโพธิ์

ปาดังเบซาร์

สำนักขาม

ทุ่งหมอ

พังลา

สำนักแต้ว

๘๕๘.๙๖๐

๙๖,๐๓๑

สะบ้าย้อย

เขาแดง

ทุ่งพอ

บาโหย

คูหา

ธารคีรี

เปียน

จะแหน

บ้านโหนด

สะบ้าย้อย

๘๖๖.๐๐๐

๕๐,๓๑๑

สิงหนคร

ชะแล้

บางเขียด

ม่วงงาม

สทิงหม้อ

ชิงโค

ปากรอ

รำแดง

หัวเขา

ทำนบ

ป่าขาด

วัดขนุน

๑๑

๒๒๘.๐๐๐

๗๕,๓๓๒

หาดใหญ่

คลองแห

คอหงส์

ท่าข้าม

น้ำน้อย

คลองอู่ตะเภา

คูเต่า

ทุ่งตำเสา

บ้านพรุ

ควนลัง

ฉลุง

ทุ่งใหญ่

พะตง

๑๒

๘๕๒.๗๙๖

๒๘๙,๘๙๑

 

รวมทั้งสิ้น ๖ อำเภอ ๑ กิ่งอำเภอ ๓๘ ตำบล

๓๘

๒,๔๗๘.๙๗๗

๒๕๐,๔๗๗

จังหวัดสุราษฎร์ธานี


กาญจนดิษฐ์


กรูด

ช้างขวา

ท่าทอง

ทุ่งกง

พลายวาด

กะแดะ

ช้างซ้าย

ท่าทองใหม่

ทุ่งรัง

คลองสระ

ตะเคียนทอง

ท่าอุแท

ป่าร่อน


๑๓


๙๐,๐๕๖

เกาะพะงัน

เกาะเต่า

เกาะพะงัน

บ้านใต้


๘,๙๓๙

เกาะสมุย

ตลิ่งงาม

แม่น้ำ

อ่างทอง

บ่อผุด

ลิปะน้อย

มะเร็ต

หน้าเมือง


๓๓,๗๕๕

คีรีรัฐนิคม

กะเปา

ท่าขนอน

บ้านยาง

ถ้ำสิงขร

น้ำหัก

ย่านยาว

ท่ากระดาน

บ้านทำเนียบ


๓๗,๒๔๖

เคียนซา

เขาตอก

พ่วงพรมคร

เคียนซา

อรัญคามวารี

บ้านเสด็จ


๓๔,๕๕๕

ชัยบุรี

คลองน้อย

สองแพรก

ชัยบุรี

ไทรทอง


๑๗,๕๙๗

ไชยา

ตลาดไชยา

ปากหมาก

โมถ่าย

ตะกรบ

ป่าเว

เลม็ด

ทุ่ง

พุมเรียง

เวียง


๔๒,๑๕๑

ดอนสัก

ชลคราม

ปากแพรก

ไชยคราม

ดอนสัก


๓๒,๘๐๑

ท่าฉาง

เขาถ่าน

ท่าฉาง

คลองไทร

ปากฉลุย

ท่าเคย

เสวียด


๒๘,๓๕๙

ท่าชนะ

คลองพา

ประสงค์

คันธุลี

วัง

ท่าชนะ

สมอทอง


๔๒,๑๕๓

บ้านตาขุน

เขาพัง

พะแสง

เขาวง

พรุไทย


๑๓,๑๕๔

บ้านนาเดิม

ทรัพย์ทวี

บ้านนา

ท่าเรือ

นาใต้


๒๐,๖๓๗

บ้านนาสาร

คลองปราบ

ท่าชี

นาสาร

เพิ่มพูนทรัพย์

ควนศรี

ทุ่งเตา

น้ำพุ

ลำพูน

ควนสุบรรณ

ทุ่งเตาใหม่

พรุพี

๑๑


๖๕,๖๑๗

พนม

คลองชะอุ่น

พนม

คลองสก

พลูเถื่อน

ต้นยวน

พังกาญจน์


๒๗,๕๗๐

พระแสง

ไทรขึง

สาคู

อิปัน

ไทรโสภา

สินเจริญ

บางสวรรค์

สินปุน


๕๐,๗๔๓

พุนพิน

กรูด

ท่าข้าม

น้ำรอบ

บางมะเดื่อ

ลิเล็ด

หัวเตย

เขาหัวควาย

ท่าโรงช้าง

บางงอน

พุนพิน

ศรีวิชัย

ตะปาน

ท่าสะท้อน

บางเดือน

มะลวน

หนองไทร

๑๖


๘๘,๒๖๘

เมืองสุราษฎร์ธานี

ขุนทะเล

ตลาด

บางไทร

มะขามเตี้ย

คลองฉนาก

บางกุ้ง

บางใบไม้

วัดประดู่

คลองน้อย

บางขยะ

บางโพธิ์

๑๑


๑๔๔,๔๐๑

วิภาวดี, กิ่งอำเภอ

ตะกุกใต้

ตะกุกเหนือ



๙,๐๐๔

เวียงสระ

เขานิพันธ์

บ้านส้อง

คลองฉนวน

เวียงสระ

ทุ่งหลวง


๕๖,๑๐๕

 

รวมทั้งสิ้น ๑๘ อำเภอ ๑ กิ่งอำเภอ ๑๓๑ ตำบล

๑๓๑

๑๒,๘๙๑.๔๖๙

๘๔๓,๑๑๑


รวมทั้งหมด ๑๔ จังหวัด ๑๔๓ อำเภอ ๘ กิ่งอำเภอ ๑,๐๘๔ ตำบล (ศรีประไพ สุวรรณประเสริฐ)


สภาพประชากร

        ๓.๑ จำนวนโครงสร้างประชากรและแรงงาน

        จากผลการสำรวจสำมะโนประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ.๒๕๒๓ และปี พ.ศ.๒๕๓๓ และการคาดประมาณประชากรของประเทศไทยในช่วงระหว่างปี พ.ศ.๒๕๓๓-๒๕๖๓ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปรากฏว่าในปี พ.ศ.๒๕๒๓ ภาคใต้มีประชากรทั้งสิ้น จำนวน ๕.๖๒๘ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๑๒.๕๖ ของประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้เป็นประชากรที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในกลุ่มจังหวัดทางฝั่งตะวันออกของภาคถึงร้อยละ ๗๘.๖๐ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ ๒๑.๔๐ เป็นประชากรที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในกลุ่มจังหวัดทางฝั่งตะวันตกของภาค จังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดคือ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นสัดส่วนร้อยละ ๔๖.๕๗ หรือเกือบกึ่งหนึ่งของภาค ในด้านโครงสร้างประชากรปรากฏว่าประชากรที่มีอายุระหว่าง ๐-๑๔ ปี ร้อยละ ๔๒.๔๑ อายุระหว่าง ๑๕-๕๙ ปี ร้อยละ ๕๑.๕๗ และอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ร้อยละ ๖.๐๒ ของประชากรทั้งหมด จากสัดส่วนและโครงสร้างดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่ามีประชากรที่อยู่ในวัยทำงานในปริมาณมากที่สุด

        ในปี พ.ศ.๒๕๓๓ ภาคใต้มีประชากรจำนวน ๖.๙๖๗ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๑๒.๗๗ ของประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้เป็นประชากรที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในกลุ่มจังหวัดทางฝั่งทะเลตะวันออกของภาคถึงร้อยละ ๗๘.๓๘ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ ๒๑.๖๒ เป็นประชากรที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในกลุ่มจังหวัดทางฝั่งตะวันตกของภาค จังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดคือจังหวัดนครศรีธรรมราช รองลงมาคือจังหวัดสงขลาและจังหวัดสุราษฎร์ธานี สามจังหวัดรวมกันมีประชากรเป็นสัดส่วนร้อยละ ๔๖.๕๖ หรือเกือบกึ่งหนึ่งของภาค ตลอดจนยังเป็นกลุ่มจังหวัดเดิมเมื่อ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ในด้านโครงสร้างของประชากรปรากฏว่าประชากรที่มีอายุ ๐-๑๔ ปี ร้อยละ ๓๓.๖๐ อายุระหว่าง ๑๕-๕๙ ปี ร้อยละ ๕๘.๕๙ และอายุ ๖๐ ปีขึ้นไปร้อยละ ๗.๔๔ ของประชากรทั้งหมด จากสัดส่วนและโครงสร้างดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า ประชากรที่อยู่ในวัยทำงานมีจำนวนและสัดส่วนมากที่สุด ตลอดจนมากกว่าในระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมา

        ในช่วงระยะเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ.๒๕๒๓-๒๕๓๓) ประชากรของภาคใต้เพิ่มจากจำนวน ๕.๖๒๘ ล้านคน เป็นจำนวน ๖.๙๖๗ ล้านคน รวมทั้งสัดส่วนของจำนวนประชากรของภาคใต้ในปี พ.ศ.๒๕๓๓ ต่อประชากรของประเทศใกล้เคียงกับเมื่อ ๑๐ ปีที่ผ่านมา แต่โครงสร้างของประชากรเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก กล่าวคือประชากรที่มีอายุระหว่าง ๐-๑๔ ปี ซึ่งในปี พ.ศ.๒๕๒๓ มีสัดส่วนร้อยละ ๔๒.๔๑ ของภาค ได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ ๓๓.๖๐ ของภาคในปี พ.ศ.๒๕๓๓ ส่วนประชากรที่มีอายุระหว่าง ๑๕-๕๙ ปี ซึ่งในปี พ.ศ.๒๕๒๓ มีสัดส่วนร้อยละ ๕๑.๕๗ ของภาค ได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๕๘.๕๙ ของภาคในปี พ.ศ.๒๕๓๓ ในขณะที่ประชากรที่มีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไปเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย

        ในปี พ.ศ.๒๕๔๔ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๘ ประมาณการว่าภาคใต้มีประชากรจำนวน ๘.๔๒๗ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๑๓.๓๔ ของประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้เป็นประชากรที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในกลุ่มจังหวัดทางฝั่งตะวันออกของภาค ร้อยละ ๗๘.๓๒ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ ๒๑.๖๘ เป็นประชากรที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในกลุ่มจังหวัดทางฝั่งตะวันตกของภาคใต้

        จังหวัดที่มีประชากรมากที่สุด คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช รองลงมาคือจังหวัดสงขลา และจังหวัดสุราษฎร์ธานี สามจังหวัดนี้มีประชากรรวมกันเป็นสัดส่วนร้อยละ ๔๖.๒๙ หรือเกือบกึ่งหนึ่งของภาค ตลอดจนยังเป็นกลุ่มจังหวัดในระยะ ๒๐ ปีที่ผ่านมา สำหรับโครงสร้างของประชากรในช่วงระยะเวลา ๒๐ ปี (พ.ศ.๒๕๒๓-๒๕๔๔) จะเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก กล่าวคือ ประชากรที่มีอายุระหว่าง ๐-๑๔ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๒๓ มีสัดส่วนร้อยละ ๔๒.๔๑ ของภาคจะลดลงเหลือร้อยละ ๓๓.๖๐ และร้อยละ ๓๐.๘๔ ของภาคในปี พ.ศ.๒๕๓๓ และ พ.ศ.๒๕๔๔ ตามลำดับ สำหรับประชากรที่มีอายุระหว่าง ๑๕-๕๙ ปี อันเป็นประชากรที่อยู่ในวัยทำงานนั้น ในปี พ.ศ.๒๕๒๓ มีสัดส่วนร้อยละ ๕๑.๕๗ ของภาค จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๕๘.๙๕ และร้อยละ ๖๐.๕๔ ของภาคในปี พ.ศ.๒๕๓๓ และ พ.ศ.๒๕๔๔ ตามลำดับ ส่วนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป จะเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือใน ปี พ.ศ.๒๕๒๓ มีสัดส่วนร้อยละ ๖.๐๒ ของภาคจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๘.๖๓ ของภาคในปี พ.ศ.๒๕๔๔

        ในส่วนของกำลังแรงงานและการมีงานทำนั้น ในปี พ.ศ.๒๕๓๘ ภาคใต้มีประชากรจำนวน ๗.๘๐๘ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๑๓.๒๑ ของประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้ ประชากรที่มีอายุ ๑๓ ปีขึ้นไป และอยู่ในกำลังแรงงาน จำนวน ๓.๙๒๗ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๕๐.๓๐ ของประชากรทั้งภาค หรือร้อยละ ๑๒.๕๓ ของกำลังแรงงานรวมของประเทศเป็นผู้มีงานทำจำนวน ๓.๘๗๓ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๙๘.๖๓ ของกำลังแรงงานของภาคที่เหลืออีกจำนวน ๐.๐๕๔ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๑.๓๗ ของกำลังแรงงานของภาคเป็นผู้ไม่มีงานทำและกำลังแรงงานที่รอฤดูกาล ประชากรที่มีอายุ ๑๓ ปีขึ้นไป ที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน คือนักเรียนที่กำลังเรียนหนังสือ คนทำงานบ้าน เด็กและคนชราที่ไม่สามารถทำงานได้ จำนวน ๑.๖๗๙ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๒๑.๕๐ ของประชากรทั้งหมดของภาคส่วนที่เหลืออีกร้อยละ ๒๘.๒๐ ของประชากรทั้งหมดของภาค หรือจำนวน ๒.๒๐๒ ล้านคน เป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๑๓ ปี และคนแก่ที่มีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ภาระเลี้ยงดูของประชากรที่มีงานทำต่อประชากรที่ไม่มีงานทำเท่ากับ ๑ : ๒ คือ จำนวน ๑ คนนำรายได้มาเลี้ยงดูคนสองคน

        กำลังแรงงานรวมผู้ซึ่งมีงานทำ และเป็นผู้ทำงานในกิจกรรมต่าง ๆ ในรอบปี คือ ภาคการเกษตร (เกษตรกรรม กรมป่าไม้ การเลี้ยงสัตว์ และการประมง) ร้อยละ ๕๕.๔๗ การขุดแร่โลหะอโลหะร้อยละ ๐.๒๒ อุตสาหกรรมและหัตถกรรมร้อยละ ๘.๒๐ สาธารณูปโภคร้อยละ ๐.๕๖ การก่อสร้างร้อยละ ๔.๙๑ พาณิชยกรรมร้อยละ ๑๔.๐๙ การขนส่ง (การขนส่ง คลังสินค้า การคมนาคม) ร้อยละ ๓.๑๔ การบริการร้อยละ ๑๓.๔๐ และไม่ทราบประเภทร้อยละ ๐.๐๑ โดยส่วนรวมของภาคใต้กำลังแรงงานเป็นผู้มีงานทำในภาคการเกษตรมากที่สุด รองลงมาเป็นพาณิชยกรรมและการบริการ สัดส่วนระหว่างภาคการเกษตร ซึ่งเป็นภาคนำ แตกต่างกับภาคพาณิชยกรรมและบริการ ซึ่งเป็นภาคตามและรองลงมาค่อนข้างมากอันเป็นผลให้ทิศทางการพัฒนาภาคนี้ ยังคงต้องให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรอันเป็นรายได้ของประชาชนต่อไป

        ๓.๒ การตั้งถิ่นฐานของประชากร

        ในปี พ.ศ.๒๕๒๓ ประชากรในภาคใต้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในกลุ่มจังหวัดทางฝั่งตะวันออกของภาค ร้อยละ ๗๘.๖๐ ของประชากรทั้งภาค ส่วนอีกร้อยละ ๒๑.๔๐ ของภาคตั้งถิ่นฐานอยู่ในกลุ่มจังหวัดทางฝั่งตะวันตกของภาค อันอาจจะกล่าวได้ว่าประชากรในกลุ่มจังหวัดทางฝั่งตะวันออกของภาคมีจำนวนมากกว่าประชากรในกลุ่มจังหวัดทางฝั่งตะวันตกของภาคถึง ๓ เท่าตัว ประชากรส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ สามจังหวัดทางฝั่งตะวันออกของภาค คือ จังหวัดนครศรีธรรมราชมากที่สุด รองลงมาเป็นจังหวัดสงขลา และจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยทั้งสามจังหวัดมีประชากรรวมกันมีปริมาณมากถึงร้อยละ ๔๖.๕๗ หรือเกือบกึ่งหนึ่งของภาค สำหรับจังหวัดที่มีประชากรตั้งถิ่นฐานอยู่น้อยที่สุดในภาค เป็นกลุ่มจังหวัดในฝั่งตะวันตกของภาคคือ จังหวัดระนอง มีประชากรตั้งถิ่นฐานอยู่น้อยที่สุด ถัดขึ้นมาคือจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสตูล โดยทั้งสามจังหวัดมีประชากรรวมกันเพียงร้อยละ ๖.๕๙ ของภาคเท่านั้น

        ในปี พ.ศ.๒๕๓๘ หรือ ๑๕ ปีหลังจากนั้น (หลังจากปี พ.ศ.๒๕๒๓) ประชากรของภาคใต้ได้เพิ่มขึ้นจาก ๕.๖๒๘ ล้านคน เป็น ๗.๘๕๔ ล้านคน การตั้งถิ่นฐานของประชากรมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงเล็กน้อย กล่าวคือ กลุ่มจังหวัดทางฝั่งตะวันออกมีประชากรตั้งถิ่นฐานมีสัดส่วนต่อภาคเท่ากับร้อยละ ๗๘.๓๖ และกลุ่มจังหวัดทางฝั่งตะวันตก มีสัดส่วนร้อยละ ๒๑.๖๔ จังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดและน้อยที่สุด ยังคงเหมือนในระยะ ๑๕ ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.๒๕๒๓) แต่มีความหนาแน่นของประชากรเพิ่มขึ้นเท่านั้น

        สำหรับความหนาแน่นของประชากรจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา มีประชากรมากที่สุด เป็นอันดับที่ ๑ และอันดับที่ ๒ ของภาคตามลำดับ มีความหนาแน่นอยู่ในเกณฑ์สูง เนื่องจากมีที่ราบมาก ประชากรได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินกันมากมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบันนี้มีความหนาแน่นโดยเฉลี่ยประมาณ ๑๕๘ คน และ ๑๖๗ คน ต่อตารางกิโลเมตรตามลำดับ ส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่ ๓ ของภาค มีความหนาแน่นโดยเฉลี่ยประมาณ ๖๕ คนต่อตารางกิโลเมตร

        เนื่องจากมีพื้นที่มากเป็นอันดับที่ ๑ ของภาค และมีพื้นที่เป็นป่าและภูเขามาก ความหนาแน่นเฉลี่ย ของประชากรจึงน้อย จังหวัดที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดของภาค คือ จังหวัดภูเก็ต มีความหนาแน่นโดย เฉลี่ยประมาณ ๓๔๖ คนต่อตารางกิโลเมตร จังหวัดทั้งสองนี้เป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็ก มีพื้นที่และประชากรน้อย ประกอบกับจังหวัดภูเก็ตเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยว ประชากรอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานทำมาหากินกันมาก ส่วนจังหวัดปัตตานีเป็นเมืองเก่ามีพื้นที่ เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกพืชผลและการทำประมง ประชากรจึงอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานทำมาหากินค่อนข้างสูง ส่วนจังหวัดขนาดกลางของภาคสามจังหวัดคือ จังหวัดพัทลุง จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดตรัง มีความหนาแน่นของประชากรไม่สูงนักคือ มีความหนาแน่นโดยเฉลี่ยประมาณ ๑๔๔ คน ๑๓๙ คน และ ๑๒๐ คนต่อตารางกิโลเมตรตามลำดับ โดยจังหวัดทั้งสามมีขนาดของพื้นที่และจำนวนประชากรใกล้เคียงกันด้วย

        อย่างไรก็ดี อาจจะพิจารณาเห็นได้ว่าโดยทั่วไป ความหนาแน่นของประชากรชาวภาคใต้มีความ หนาแน่นสูงในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลทางด้านทิศตะวันออกของภาค โดยเฉพาะอำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี มีความหนาแน่นเฉลี่ยโดยประมาณ ๑,๐๑๘ คนต่อตารางกิโลเมตร รองลงมาเป็นอำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นอำเภอที่มีประชากรมากที่สุดของภาค เรียงตามลำดับลงมาทั้งสามจังหวัด มีความหนาแน่นของประชากร โดยเฉลี่ยประมาณ ๘๑๒ คน ๖๗๐ คน และ ๕๑๒ คนต่อตารางกิโลเมตรตามลำดับ สำหรับอำเภอรอบนอก ที่มีความหนาแน่นอยู่ในเกณฑ์สูงในจังหวัดสงขลาคือ อำเภอระโนด สทิงพระ หาดใหญ่และสิงหนคร ส่วนในจังหวัดนครศรีธรรมราช คือ อำเภอปากพนัง ร่อนพิบูลย์ และเชียรใหญ่ และในจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความหนาแน่นเฉพาะอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีเท่านั้น

        ส่วนความหนาแน่นของประชากรในเขตเมืองและชนบทเมื่อ ๑๕ ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.๒๕๒๓) ภาคใต้มีประชากรตั้งถิ่นฐานในเมืองในอัตราส่วนร้อยละ ๑๒.๒๘ ของประชากรทั้งหมดของภาค ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ ๘๗.๗๒ ของภาค เป็นประชากรที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในชนบท โดยสัดส่วนร้อยละของประชากรในเขตเมืองได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี พ.ศ.๒๕๓๓ มีสัดส่วนร้อยละ ๑๒.๕๕ ของภาคและในปี พ.ศ.๒๕๓๖ มีสัดส่วนร้อยละ ๑๒.๕๖ ของภาค เมืองที่มีประชากรตั้งถิ่นฐานหนาแน่นมากที่สุดคือ เทศบาลเมืองสงขลา ความหนาแน่นของประชากรโดยเฉลี่ยประมาณ ๑๒,๕๑๐ คนต่อตารางกิโลเมตร เมืองที่มีประชากรตั้งถิ่นฐานในเมืองจำนวนมากที่สุดคือ เทศบาลนครหาดใหญ่มีจำนวนประชากรถึง ๑๔๘,๑๓๖ คน โดยมีความหนาแน่นของประชากรโดยเฉลี่ยประมาณ ๗,๐๕๔ คนต่อตารางกิโลเมตร เมืองที่มีประชากรตั้งถิ่นฐานทำมาหากินหนาแน่นอยู่ในเกณฑ์สูงอีก ๒ จังหวัดคือ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเมืองดังกล่าวทั้งสามเมืองเป็นเมืองของจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดของภาคมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ส่วนเมืองอื่น ๆ ของเมืองคือเมืองปัตตานีซึ่งเป็นเมืองเก่า เมืองภูเก็ตซึ่งเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญ และเมืองนราธิวาส ซึ่งเป็นเมืองชายแดนมีประชากรอพยพกันเข้าไปตั้งถิ่นฐานทำมาหากินหนาแน่น อยู่ในเกณฑ์สูง นอกจากนี้เมืองสตูลและเมืองพัทลุงก็มีความหนาแน่นค่อนข้างสูง อันเนื่องมาจากขนาดของพื้นที่และประชากรไม่ได้สัดส่วนสัมพันธ์กัน

        ๓.๓ การขยายตัวของประชากร

        จากผลการสำรวจสำมะโนประชากรในปี พ.ศ.๒๕๒๓ และ พ.ศ.๒๕๓๓ ภาคใต้มีประชากรจำนวน ๕.๖๒๘ ล้านคนและ ๖.๙๖๗ ล้านคนตามลำดับ การเพิ่มขึ้นของประชากรในช่วงระยะเวลา ๑๐ ปีดังกล่าว นั้น ได้เพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๒.๓๘ ต่อปีสูงกว่าอัตราเพิ่มเฉลี่ยของประชากรของประเทศเล็กน้อย โดยประชากรของประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๒.๑๗ ต่อปี เป็นผลให้จำนวนและสัดส่วนร้อยละของประชากรภาคใต้ต่อประเทศเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันคือในปี พ.ศ.๒๕๒๓ ภาคต่อประเทศเท่ากับร้อยละ ๑๒.๕๖ และในปี พ.ศ.๒๕๓๓ เพิ่มเป็นร้อยละ ๑๒.๗๗

        ในการเพิ่มขึ้นของประชากรดังกล่าวนั้น ประชากรในกลุ่มจังหวัดทางฝั่งตะวันออกของภาคเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๒.๓๔ ต่อปี เป็นอัตราการเพิ่มเฉลี่ยที่ต่ำกว่าอัตราการเพิ่มเฉลี่ยของภาคเล็กน้อย แต่กระนั้นก็ตามมีอัตราการเพิ่มเฉลี่ยสูงมากในบริเวณภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะจังหวัดสงขลา และนราธิวาสโดยเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ ๓.๓๗ และ ๓.๗๔ ต่อปีตามลำดับ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดของภาคกลับเพิ่มในอัตราค่อนข้างต่ำคือ ร้อยละ ๑.๕๓ ต่อปี ส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพิ่มในอัตราเฉลี่ยค่อนข้างสูง คือร้อยละ ๒.๗๐ ต่อปี

        ส่วนในกลุ่มจังหวัดทางฝั่งตะวันตกของภาค การเพิ่มขึ้นของประชากรในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๒.๕๑ ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการเพิ่มเฉลี่ยของภาคเล็กน้อย จังหวัดที่มีอัตราการเพิ่มเฉลี่ยสูงมากคือ จังหวัดระนองและจังหวัดสตูล ซึ่งเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ ๓.๙๙ และ ๓.๓๕ ต่อปีตามลำดับ จังหวัดตรังซึ่งเป็นจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดในกลุ่มจังหวัดเหล่านี้ กลับเพิ่มในอัตราต่ำสุดคือร้อยละ ๑.๘๓ ต่อปี ส่วนจังหวัดอื่น ๆ การเพิ่มอยู่ในอัตราเฉลี่ยปกติ

        จากผลการคาดประมาณประชากรของประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ.๒๕๓๓-๒๕๖๓ ของกองวางแผนทรัพยากรมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติปรากฏว่าในปี พ.ศ.๒๕๔๔ อันเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๘ ภาคใต้จะมีประชากร ๘.๔๒๗ ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.๒๕๓๓ หรือระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๑.๓๐ ต่อปี สูงกว่าอัตราการเพิ่มเฉลี่ยของประชากรของประเทศเล็กน้อย โดยของประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๑.๐๙ ต่อปี โดยในกลุ่มจังหวัดในฝั่งตะวันออกเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๑.๒๙ ต่อปี เท่ากับอัตราการเพิ่มเฉลี่ยของภาคไม่มีจังหวัดใดเพิ่มสูงผิดปกติ ส่วนในกลุ่มจังหวัดในฝั่งตะวันตก เพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๑.๓๓ ต่อปี สูงกว่าอัตราการเพิ่มเฉลี่ยของภาค แต่เนื่องจากมีประชากรไม่มาก ผลการเพิ่มดังกล่าวจึงไม่กระทบต่อจำนวนและสัดส่วนการเพิ่มของภาคโดยส่วนรวม

        ส่วนการเพิ่มขึ้นของประชากรเมืองในช่วงระยะเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ.๒๕๒๓-๒๕๓๓) ได้เพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๒.๔๙ ต่อปี ในช่วงระยะเวลา ๕ ปีต่อมา (พ.ศ.๒๕๓๓-๒๕๓๘) ได้เพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๑.๗๕ ต่อปี และทั้งสองช่วงระยะเวลาดังกล่าวหรือในรอบ ๑๕ ปี (พ.ศ.๒๕๒๓-๒๕๓๘) ได้เพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๒.๑๒ ต่อปี มีผลให้ประชากรเมืองต่อประชากรทั้งหมดของภาคในปี พ.ศ.๒๕๒๓ มีสัดส่วนร้อยละ ๑๒.๒๘ และปี พ.ศ.๒๕๓๘ เพิ่มเป็นร้อยละ ๑๒.๕๘ โดยประชากรเมืองที่ขยายตัวมากคือเมืองหาดใหญ่ สงขลา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และปัตตานี ตลอดจนเมืองในบริเวณชายแดนบางแห่งโดยเฉพาะเมืองนราธิวาส

        ๓.๔ ประชากรในช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ ๘

        ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๘ (พ.ศ.๒๕๔๐-๒๕๔๔) ปรากฏผลจากการคาดประมาณการประชากรของประเทศไทยในระหว่างปี พ.ศ.๒๕๓๓-๒๕๖๓ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกี่ยวกับจำนวนโครงสร้างและการตั้งถิ่นฐานของประชากรในภาคใต้ว่าในปี พ.ศ.๒๕๔๐ และปี พ.ศ.๒๕๔๔ จะมีจำนวนประชากร ๘.๐๖๑ และ ๘.๔๒๗ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๑๓.๓๐ และ ๑๓.๓๙ ของประเทศตามลำดับ ในปี พ.ศ.๒๕๔๔ จะมีประชากรตั้งถิ่นฐานในกลุ่มจังหวัดในภาคใต้ฝั่งตะวันออกร้อยละ ๗๘.๓๒ ของประชากรทั้งภาค ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ ๒๑.๖๘ ของประชากรทั้งภาคตั้งถิ่นฐานอยู่ในกลุ่มจังหวัดในภาคใต้ฝั่งตะวันตก จังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดคือ จังหวัดนครศรีธรรมราช รองลงมาคือ จังหวัดสงขลาและจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นจังหวัดเดิมที่เคยมีประชากรมากที่สุดในช่วงระยะเวลา ๒๐ ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.๒๕๒๓) โครงสร้างของประชากรเมื่อสิ้นปี พ.ศ.๒๕๔๔ ประชากรที่มีอายุระหว่าง ๐-๑๔ ปี มีสัดส่วนร้อยละ ๓๐.๘๐ ของประชากรทั้งภาค อายุระหว่าง ๑๕-๕๙ ปี มีสัดส่วนร้อยละ ๖๐.๕๔ ของประชากรทั้งภาคและอายุ ๖๐ ปีขึ้นไปมีสัดส่วนร้อยละ ๘.๖๓ ของประชากรทั้งภาค โดยสัดส่วนการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างดังกล่าวเมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ.๒๕๔๐ จะมีการเพิ่ม-ลดแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

        ในด้านการขยายตัวของประชากรนั้น การเพิ่มขึ้นของประชากรในช่วงระยะเวลา ๕ ปี ของแผนพัฒนาฉบับที่ ๘ (พ.ศ.๒๕๔๐-๒๕๔๔) เพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๑.๑๓ ต่อปี สูงกว่าอัตราการเพิ่มเฉลี่ยของประเทศเพียงเล็กน้อย โดยประเทศมีอัตราการเพิ่มเฉลี่ยเพียงร้อยละ ๐.๙๕ ต่อปี สัดส่วนร้อยละของประชากรของภาคใต้ต่อประเทศได้เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันคือ ปี พ.ศ.๒๕๔๐ มีสัดส่วนร้อยละ ๑๓.๓๐ และเพิ่มเป็นร้อยละ ๑๓.๓๙ ในปี พ.ศ.๒๕๔๔ ในขณะเดียวกันความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ได้เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.๒๕๔๐ จำนวน ๑๑๔ คนต่อตารางกิโลเมตร เป็นจำนวน ๑๑๙ คนต่อตารางกิโลเมตร ในปี พ.ศ.๒๕๔๔ โดยประชากรในกลุ่มจังหวัดทางฝั่งตะวันออกได้เพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๑.๑๓ ต่อปี เท่ากับอัตราเฉลี่ยของภาคมีบางจังหวัดที่อัตราการเพิ่มอยู่ในเกณฑ์สูงคือ จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดปัตตานี ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนล่างของภาค ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม ส่วนประชากรในกลุ่มจังหวัดในภาคใต้ฝั่งตะวันตกได้เพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๑.๑๗ สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของภาคเพียงเล็กน้อย โดยจังหวัดสตูลและจังหวัดภูเก็ต มีอัตราการเพิ่มของประชากรค่อนข้างสูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ฝั่งตะวันตก

สภาพสังคม

        ๔.๑ การศึกษา

        จากผลการสำรวจในปี พ.ศ.๒๕๓๗ ปรากฏว่าในภาคใต้มีโรงเรียนระดับประถมศึกษาทั้งสิ้น ๔,๔๔๗ โรงเรียน มีอัตราส่วนโดยเฉลี่ยประมาณ ๑.๗๕ หมู่บ้านต่อ ๑ โรงเรียน มีนักเรียนจำนวน ๙๓๑,๕๔๖ คน มีครูจำนวน ๔๗,๘๖๔ คน อัตราส่วนของครูต่อนักเรียนเท่ากับ ๑ : ๑๙ จัดเป็นสัดส่วนที่ทำให้การเรียนการสอนมีคุณภาพ นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ ๖ ที่เข้าเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในระบบโรงเรียนมีถึงร้อยละ ๘๖.๘๐ ของผู้สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ ๖ ที่เข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในระบบโรงเรียนมีถึงร้อยละ ๘๖.๘๐ ของผู้สำเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ของภาค ที่เหลือได้ศึกษานอกระบบโรงเรียนอีกร้อยละ ๓.๙๐ ของผู้สำเร็จการศึกษาดังกล่าว รวมกันแล้วคิดเป็นร้อยละ ๙๐.๗๐ ของผู้สำเร็จการศึกษาดังกล่าวอันอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศ ซึ่งมีอัตราค่าเฉลี่ยร้อยละ ๘๗.๐๐ ของผู้สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ ๖ ของประเทศ

        ถึงแม้ว่าในปัจจุบันเด็กในภาคใต้ จะมีอัตราส่วนร้อยละในการศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาถึงร้อยละ ๙๐.๗๐ ของผู้สำเร็จระดับประถมศึกษาปีที่ ๖ ของภาคก็ตาม แต่ยังมีเด็กในวัยเรียนบางส่วนโดยเฉพาะในระดับก่อนประถมศึกษาที่มีอายุอยู่ในระหว่าง ๓-๕ ปี ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบทไม่มีโอกาสได้เรียนใน ระบบโรงเรียน โดยมีเด็กทั้งในชนบทและในเมืองที่มีอายุ ๓-๕ ปี ไม่ได้เรียนถึง ๕๓๗,๕๐๐ คน ในจำนวน นี้เป็นเด็กที่อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล ๔๙๐,๔๐๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๙๑.๒๐ ของเด็กที่มีอายุอยู่ในระหว่าง ๓-๕ ปี ของภาค

        สำหรับการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของภาคใต้นั้น หากจะกล่าวในเชิงปริมาณจะเห็นได้ว่า ระดับการศึกษาตามความต้องการในเชิงทรัพยากรมนุษย์ ยังมีจำนวนไม่พอเพียงกับระดับการพัฒนา โดยมีผู้ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งสายสามัญศึกษาและสายอาชีวศึกษารวมกันเพียง ๑๔๔,๑๓๘ คน จากจำนวนนักเรียนทั้งหมดของภาค ๑,๖๙๖,๑๙๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๘.๕ จึงยังคงต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายปี กว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ ๒๐ หรือ ๓๐ เพื่อให้พอกับความต้องการ

        ส่วนในเชิงคุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษาในแต่ละระดับ ยังไม่เพียงพอที่จะสามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากระบบการเรียนรู้ที่เป็นอยู่ยังไม่เหมาะสม เพราะเป็นการเน้นการขยายตัวในเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ หลักสูตรและวิธีการถ่ายทอดเน้นการผลิตกำลังคน เพื่อสนองความต้องการของตลาดเป็นสำคัญโดยไม่คำนึงถึงการผลิตกำลังคนให้เป็นคนมีคุณธรรม หลักสูตรขาดความยืดหยุ่นไม่เหมาะสมกับพื้นที่ ยังขาดการใช้ความสำคัญบนพื้นฐานของความเป็นคนภาคใต้ ตลอดจนการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดีปัญหาการขาดแคลนครูก็เป็นปัญหาที่สำคัญของบางท้องที่ โดยเฉพาะภาคใต้ตอนล่าง รวมทั้งปัญหาในการบริหารจัดการทรัพยากรทางการศึกษาอย่างเหมาะสม

        ๔.๒ การสาธารณสุข

        ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ ภาคใต้มีโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนในสังกัด กระทรวงสาธารณสุข จำนวน ๑๒๙ แห่ง มีเตียงคนไข้จำนวน ๗.๘๒๔ เตียง สัดส่วนเตียงคนไข้ต่อประชากรในภาคใต้เท่ากับ ๑ : ๙๑๖ อยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศซึ่งเท่ากับ ๑ : ๑,๐๙๔ นอกจากนี้ยังมีสถานีอนามัย จำนวน ๑,๓๖๗ แห่ง สัดส่วนสถานีอนามัยต่อหมู่บ้านเท่ากับ ๑ : ๕.๕๖ อยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศซึ่งเท่ากับ ๑ : ๗.๘๒ มีพยาบาล ๕,๓๙๒ คน และแพทย์ ๑,๒๒๔ คน ซึ่งบุคลากรดังกล่าวนี้ยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ทำให้ประชากรบางกลุ่มยังไม่ได้รับการบริการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะประชากรในถิ่นทุรกันดารและห่างไกล

        ประชากรในภาคใต้บางส่วน ยังประสบปัญหาทางด้านสุขภาพอนามัย โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากความยากจนและความล้าหลัง ทำให้มีการเจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อในโรคเท้าช้าง วัณโรค ปอดอักเสบ อุจจาระร่วง เป็นต้น ปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมทำให้เกิดโรคหลายชนิด เช่น โรคเอดส์ โรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรม เช่น การบาดเจ็บล้มตายจากอุบัติเหตุ การจราจร และอุบัติเหตุในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ปัญหาอนามัยแม่และเด็ก เช่น อัตราการเกิดโรคบาดทะยักในเด็ก ทารกไม่ได้รับการดูแล ทารกประสบปัญหาโภชนาการและมารดา และทารกไม่ได้รับภูมิคุ้มกันโรคครบตามเกณฑ์ เป็นต้น ปัญหาการติดยาและสารเสพติด โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น และประมงขนาดเล็ก จากการศึกษาของสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษ ในปี พ.ศ.๒๕๓๗ พบว่าในภาคใต้มีหมู่บ้านจำนวน ๓,๐๒๙ หมู่บ้านที่มีปัญหายาเสพติด จากจำนวนหมู่บ้านทั้งสิ้น ๗,๐๐๐ หมู่บ้าน หมู่บ้านเหล่านี้ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ๕ จังหวัด ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ บางจังหวัดมีความรุนแรงมาก เช่น จังหวัดปัตตานี มีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรเท่ากับ ๑ : ๑๐๗,๕๘๑ คน เป็นต้น และปัญหาประชากรบางส่วนยังขาดหลักประกันทางสุขภาพ และไม่สามารถเข้าถึงการบริการทางสาธารณสุขแม้แต่ขั้นมูลฐาน

        ๔.๓ สถานภาพของบุคคล

        ในภาคใต้สตรีและเด็กในชนบทยังคงประสบปัญหาที่สำคัญหลายประการแม้ว่าสตรีและเด็กในชนบทจะมีบทบาทอย่างสำคัญในการสนับสนุนการผลิตการเกษตร หัตถกรรมและแรงงานรับจ้างก็ตาม ปัญหาที่สำคัญที่กำลังประสบขณะนี้คือ ประการแรก โอกาสทางการศึกษาของเด็กในชนบทด้อยกว่าในเมือง โดยมีสาเหตุมาจากสภาพทางเศรษฐกิจและระยะทางห่างไกลจากโรงเรียน ในปี พ.ศ.๒๕๓๗ เด็กในชนบทได้เข้าศึกษาภาคบังคับร้อยละ ๙๗.๕๐ ของเด็กในชนบทของภาคในขณะที่เด็กในเมืองได้เข้าเรียนร้อยละ ๙๙ ของเด็กในเมืองของภาค รวมทั้งยังมีปัญหาเด็กที่ออกกลางคัน ทั้งระดับประถมและมัธยมศึกษา ปัญหาเด็กที่จบการศึกษาภาคบังคับแต่ไม่ได้ศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งจะเข้าสู่ตลาดแรงงานแต่ได้รับการอบรมด้านการอาชีพจากรัฐและเอกชนในอัตราต่ำคือ เพียงร้อยละ ๓๙.๔๐ ของเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษาต่อของภาค ประการที่สอง รายได้สตรีชนบทมีความแตกต่างจากบุรุษ โดยรายได้แรงงานสตรีนอกเขตเทศบาลต่ำกว่ารายได้แรงงานบุรุษประมาณร้อยละ ๒๕ นอกจากนี้สตรีเหล่านี้ยังถูกจำกัดประเภทของงานมากกว่าบุรุษ โอกาสในการเลื่อนขั้นหรือตำแหน่งหรือการฝึกอบรมน้อยกว่าบุรุษ เมื่อเข้าทำงานในเมือง โดยเฉพาะสตรีที่สมรสแล้ว ประการที่สาม มีแนวโน้มของค่านิยมของบิดามารดาที่จะบังคับเอาประโยชน์จากบุตรหลานโดยการส่งเข้ามาขายแรงงานในเมืองเพื่อส่งเงินไปเลี้ยงครอบครัว รวมทั้งในบางพื้นที่เป็นค่านิยมของสตรีเอง ที่จะเข้าไปทำงานรับจ้างในเมืองศูนย์กลางความเจริญโดยเฉพาะในศูนย์การค้า สถานบันเทิง และโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น อันเป็นที่มาของปัญหาโสเภณี ปัญหาแรงงานเด็ก ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ และปัญหายาเสพติด เป็นต้น และประการสุดท้าย สตรีชนบทสมรสเมื่ออายุยังน้อย มีวุฒิภาวะต่ำไม่พร้อมสำหรับการเป็นมารดา การดูแลบุตร ตลอดจนเป็นปัญหาทางการสาธารณสุข ส่งผลให้บุตรไม่แข็งแรง มีพัฒนาการต่ำกว่าในเมือง

        ๔.๔ ลักษณะสังคม

        สังคมภาคใต้มีลักษณะการอยู่รวมกันบนพื้นฐานของความสัมพันธ์สองแบบ คือ ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ และความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยน อันเกิดจากการพึ่งพาอาศัยกันทั้งการผลิตและการใช้ชีวิตร่วมกันในชุมชน ความสัมพันธ์เหล่านี้มีการผสมผสานและดำเนินไปภายใต้ระบบคุณค่าและความเชื่อที่เป็นพลังทางศีลธรรม ที่รักษาจิตวิญญาณของผู้คนและชุมชนให้คงอยู่ จนกลายเป็นลักษณะเด่นของสังคมคือ การอยู่ร่วมกันแบบแบ่งปัน รักพวกพ้องเครือญาติ เป็นอยู่เรียบง่าย ผูกพันกับถิ่นกำเนิด เคร่งครัดในจริยธรรมและคำสอนทางศาสนา

        ความสัมพันธ์ทางเครือญาติและความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยนเป็นกลไกที่สำคัญยิ่งต่อการจัดระเบียบทางสังคม ญาติพี่น้องอยู่ร่วมกันและสัมพันธ์กันตามลำดับอาวุโส ผู้ใหญ่มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองดูแลและช่วยเหลือเด็ก ในขณะเดียวกันเด็กต้องเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ เป็นคนว่านอนสอนง่าย และขยายออกเป็นระบบ อุปถัมภ์ในสังคมภาคใต้ สำหรับความสัมพันธ์ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนนั้น ได้ช่วยให้ผู้คนเกิดการเอาใจเขามาใส่ใจเรา การอยู่ร่วมกันจึงเป็นแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน การดำรงอยู่ของสังคมนอกจากจะอาศัยกลไก ทางสังคมดังกล่าวแล้ว สถาบันทางสังคมอันได้แก่ สถาบันครอบครัว และสถาบันศาสนา ต่างก็มีบทบาทอย่างสำคัญ ทั้งในด้านการสะสมความรู้ ประสบการณ์ ความเชื่อ และค่านิยม โดยได้ถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ให้แก่สมาชิกใหม่ของสังคมด้วย

        จิตวิญญาณทางสังคมและชุมชนในสังคมภาคใต้ได้รับการรักษาไว้ด้วยระบบคุณค่าและความเชื่อ ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านประเพณีและพิธีกรรมในชุมชน ไม่ว่าประเพณีและพิธีกรรมเหล่านี้จะมากมายหลายหลากเพียงใดก็ตาม ท้ายที่สุดต่างก็มีเป้าหมายเพื่อบุคคล ครอบครัว เครือญาติ และชุมชนทั้งสิ้นดังสามารถที่จะจัดเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้คือ

        ประเภทแรก ประเพณีและพิธีกรรมที่รักษาจิตวิญญาณของบุคคล เช่น พิธีการดูฤกษ์ยาม ประเพณีแรกนา ประเพณีทำขวัญข้าว และประเพณีไหว้เจ้าที่ เป็นต้น

        ประเภทที่สอง ประเพณีและพิธีกรรมที่รักษาจิตวิญญาณของครอบครัวและเครือญาติ เช่น พิธีไหว้ครูหมอ ประเพณีวันว่าง (สงกรานต์) และประเพณีทำบุญเดือนสิบ (สารทเดือนสิบ) เป็นต้น

        ประเภทที่สาม ประเพณีและพิธีกรรมที่รักษาจิตวิญญาณของชุมชน เช่น ประเพณีออกปาก ประเพณีกินงาน ประเพณีลากพระ และประเพณีตรียัมปวาย เป็นต้น

        ๔.๕ การพัฒนาสังคม

        ๔..๑ การปรับใช้วัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาและพึ่งพาตนเอง 

        การพัฒนาประเทศและการไหลบ่าเข้ามาของวัฒนธรรมจากภายนอกในระยะที่ผ่านมา เป็นการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านในภาคใต้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มาผสมผสานกับสิ่งที่มีอยู่เดิมจึงเกิดทางเลือกใหม่ ๆ ในการพัฒนาชีวิต ครอบครัว และชุมชนโดยความสามารถในการผสมผสานหรือการเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบันผ่านระบบคุณค่าและความเชื่อเท่ากับใหม่หรือที่เรียกว่า “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” หรือ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ทำให้สามารถปรับหรือประยุกต์ใช้วัฒนธรรม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างกว้างขวาง โดยไม่ติดยึดกับรูปแบบ หรือวัฒนธรรมทางวัตถุ ภูมิปัญญาชาวบ้านจึงครอบคลุมทุกส่วนของวิถีชีวิตเช่น การเกษตร การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และการอยู่ร่วมกันในสังคม เป็นต้น การค้นหา การฟื้นฟู การประยุกต์ และ การสร้างสรรค์วัฒนธรรมใหม่เหล่านี้ มีเป้าหมายที่การพึ่งพาตนเอง และความมีศักดิ์ศรีของบุคคลและชุมชน

        กระบวนการปรับใช้วัฒนธรรม ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง แต่ได้เติบโตอย่างรวดเร็วในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๔ (พ.ศ.๒๕๒๐-๒๕๒๔) เมื่อทางราชการได้นำความรู้ใหม่และกิจกรรมใหม่สู่ชุมชน เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มเลี้ยงโค และกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เป็นต้น จนกระทั่งได้กลายเป็นตัวแบบที่สำคัญ

        ..๒ การพัฒนากลไกทางสังคม 

        การพัฒนาภาคใต้ในระยะที่ผ่านมาก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวัตถุ โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสาร และการคมนาคม ทำให้ผู้คนและชุมชนขาดจากกัน วัฒนธรรมแบบเดิมมีอำนาจในการควบคุมบุคคลและสังคมน้อยลง จึงมีการฟื้นฟูและพัฒนาโดยการประยุกต์กลไกทางสังคม และวัฒนธรรมขึ้นมาใหม่ ทั้งด้านรูปแบบ เนื้อหา และหน้าที่ โดยได้ปรากฏขึ้นโดยทั่วไป อย่างกรณีของการพึ่งพาอาศัยแบบให้ปันของเพื่อนบ้านเครือญาติ เปลี่ยนมาเป็นการรวมกลุ่มกันทั้งกลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มรวมผลผลิต กลุ่มธุรกิจชุมชนและกลุ่มอุตสาหกรรม เป็นต้น ประเพณีหลายอย่างเปลี่ยนเป็นการแลกเปลี่ยนของที่ซับซ้อน หรือเป็นประเพณีที่เน้นการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม เช่น ประเพณีการบวชต้นไม้ พิธีสืบชะตาแม่น้ำ และการทอดผ้าป่าพันธุ์ไม้ เป็นต้น นี้มีการจัดการในรูปของเครือข่าย

        ๔..๓ การสร้างสรรค์พัฒนาสถาบันทางสังคม 

        การพัฒนาภาคใต้ในระยะที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนบทบาทของสถาบันทางสังคม รวมทั้งได้เกิดการสร้างสรรค์สถาบันทางสังคมใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลงสถาบันครอบครัว ศาสนา การศึกษา และชุมชนได้ปรับเปลี่ยนและพัฒนาตนเอง โดยการเพิ่มหรือขยายบทบาทหน้าที่ เพื่อรองรับสมาชิก และวิถีชีวิตที่หลากหลายในสังคมปัจจุบัน ครอบครัวมีขนาดเล็กลง ความเป็นอยู่ของสมาชิกดีขึ้น ความสัมพันธ์ในครอบครัวคลี่คลายลง ผู้หญิงและผู้ชายเห็นคุณค่าของแต่ละฝ่ายมากขึ้น ส่วนการเปลี่ยนแปลงในสถาบันศาสนา และการศึกษา ส่วนหนึ่งเป็นไปในทางเสริมสร้างและพัฒนาบทบาทของตนให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม โดยวัด มัสยิดและโรงเรียนได้ปรับบทบาทและเชื่อมประสานกับชุมชนมากขึ้น ทำให้รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันเหล่านี้กับชุมชนเป็นไปในลักษณะเท่าเทียมกันมากขึ้น รวมทั้งหลากหลายและครอบคลุมไปถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านและชุมชนส่งผลให้กิจกรรมการถ่ายทอดศีลธรรม จริยธรรม ความรู้ การอาชีพ และอื่น ๆ ของสถาบันทั้งสองมีลักษณะเชื่อมโยงกันและเชื่อมโยงกับชุมชน รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น สำหรับชุมชนได้รับผลกระทบจากการพัฒนาจึงกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวและสร้างสรรค์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน การจัดการด้านต่าง ๆ ของชุมชนได้เป็นตัวแบบที่สำคัญของประเทศ

         ..๔ อำนาจและชุมชนใหม่ 

        การปกครองในระยะที่ผ่านมาชุมชนมักจะถูกลิดรอนอำนาจ ชุมชนจึงได้มีการฟื้นฟู และสะสมความรู้ต่าง ๆ จำนวนมากขึ้นในชุมชน แล้วใช้ความรู้นี้เป็นอำนาจต่อรองกับหน่วยงานหรือองค์กรภายนอก ส่วนชุมชนใหม่เกิดจากการสัมพันธ์ของคนต่างหมู่บ้าน ตำบล อำเภอและจังหวัด เป็นชุมชนของคนที่มีความสนใจร่วมกัน และมักมีกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง รูปธรรมที่เห็นเด่นชัดคือ การขยายตัวของกลุ่มเครือข่ายและชมรมต่าง ๆ

. สภาพทรัพยากร

        ๕.๑ ทรัพยากรดิน

        ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ของภาคใต้แบ่งตามลักษณะความสูง-ต่ำ และลักษณะความลาดชันที่มีความสัมพันธ์กันกับคุณลักษณะของดิน ๓ ลักษณะคือ บริเวณที่ราบต่ำ บริเวณที่ควน และบริเวณภูเขาสูงชัน ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ ๒๔.๓๓, ๔๒.๔๘ และ ๓๓.๑๙ ของภาคตามลำดับ คุณภาพของดินสามารถที่จะจัดแบ่งออกได้เป็นกลุ่มหลัก ๓ กลุ่มคือ กลุ่มแรกได้แก่ ที่ดินอันมีความเหมาะสมต่อการเพาะปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น โดยเฉพาะยางพารามีประมาณร้อยละ ๓๓.๓๓ ของภาค ส่วนใหญ่อยู่บริเวณตอนกลางของภาค ระหว่างเทือกเขาภูเก็ตและเทือกเขานครศรีธรรมราช มักจะเรียกว่าที่ราบลุ่มแม่น้ำตาปี-พุมดวง กลุ่มที่สอง ได้แก่ ดินที่มีความเหมาะสมในการทำนา มีประมาณร้อยละ ๑๔.๑๖ ของภาค ส่วนใหญ่อยู่บริเวณที่ราบรอบทะเลสาบสงขลา และกลุ่มที่สามได้แก่ ดินภูเขาประมาณร้อยละ ๓๒.๙๙ ของภาค เป็นพื้นที่ป่าไม้และแหล่งต้นน้ำลำธาร ส่วนกลุ่มดินที่เหลือเป็นดินพรุ ดินเปรี้ยว ดินทรายจืด ดินที่มีน้ำแช่ขัง รวมกันร้อยละ ๑๙.๕๒ ของภาค

        จากการสำรวจในปี พ.ศ.๒๕๓๖ ปรากฏว่าภาคใต้มีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งสิ้น ๑๖.๐๗ ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ ๓๖.๓๕ ของภาค หรือร้อยละ ๑๓.๐๔ ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งสิ้นของประเทศ ในจำนวนนี้เป็น พื้นที่ในกลุ่มจังหวัดทางภาคตะวันออกถึงร้อยละ ๗๖ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ ๒๔ เป็นพื้นที่ในกลุ่มจังหวัดทางฝั่งตะวันตกของภาค การใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรดังกล่าวนี้ ได้ใช้เพื่อการปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น (ยางพารา) ในปริมาณมากที่สุดคือร้อยละ ๗๘.๐๘ ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งสิ้นของภาค รองลงมาคือทำนา ร้อยละ ๒๐.๙๘ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ ๐.๙๔ ไม่ใช้เพื่อการปลูกพืชไร่และเลี้ยงสัตว์โดยทั่วไป

        ๕.๒ ทรัพยากรป่าไม้

        สภาพพื้นที่ป่าไม้ในภาคใต้มีลักษณะเฉพาะที่สามารถแยกออกได้เป็น ๓ ประเภท คือ ประเภทแรก ได้แก่ ป่าบก เป็นป่าที่ขึ้นปกคลุมพื้นที่ภูเขาในปี พ.ศ.๒๕๓๖ มีป่าประเภทนี้อยู่จำนวน ๖.๕๖๑ ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณเทือกเขานครศรีธรรมราชและเทือกเขาภูเก็ต ประเภทที่สอง ได้แก่ ป่าชายเลน เป็นป่าที่ขึ้นอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเล และปากแม่น้ำที่น้ำทะเลท่วมถึง กระจายอยู่เกือบทุกจังหวัดของภาค มีจำนวน ๐.๙๓๙ ล้านไร่ บริเวณที่มีป่าประเภทนี้สมบูรณ์ที่สุดคือ บริเวณชายฝั่งตะวันตกของภาค ประเภทที่สาม ได้แก่ ป่าพรุ เป็นป่าที่เกิดในบริเวณที่ลุ่มมีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี มีความหลากหลายทางชีวภาคสูงมีอยู่จำนวน ๐.๕๐๕ ล้านไร่ ป่าพรุที่สำคัญคือ พรุโต๊ะแดง และพรุควนเคร็ง โดยทั้งสองแห่งนี้รวมกันมีจำนวนและสัดส่วนร้อยละ ๙๖ ของพื้นที่ป่าพรุทั้งหมดของภาค

        ในปี พ.ศ.๒๕๓๖ ภาคใต้มีพื้นที่ป่าไม้ทั้งสิ้น ๘.๐๐๕ ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ ๑๘.๑๑ ของพื้นที่ทั้งหมดของภาค นับว่ามีปริมาณน้อย เนื่องจากในระยะที่ผ่านมาได้มีการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่ามาก เช่น การตั้งถิ่นฐานชุมชน การก่อสร้างสิ่งที่เป็นบริการพื้นฐานของรัฐ การทำการเกษตร และกิจการอื่น ๆ เป็นต้น เป็นผลให้ในช่วงระยะเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.๒๕๒๕-๒๕๓๖) พื้นที่ป่าถูกนำไปใช้ประโยชน์จำนวน ๒.๒๗ ล้านไร่ หรือเฉลี่ยประมาณปีละ ๐.๒๐๖ ล้านไร่ จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดที่นำป่าไม้ไปใช้ประโยชน์มากที่สุดคือจำนวน ๕๕,๐๐๐ ไร่ต่อปี รองลงมาคือจังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสงขลา และจังหวัดนครศรีธรรมราช ในจำนวนนี้พื้นที่ป่าชายเลนเป็นพื้นที่ป่าที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์มากที่สุด คือมีปริมาณโดยเฉลี่ยปีละ ๒๗,๕๐๐ ล้านไร่ อันเนื่องมาจากการทำนากุ้งเป็นสาเหตุหลัก จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยาป่าชายเลน คุณค่าความหลากหลายทางชีวภาคถูกทำลายตลอดจนได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างทำนากุ้งกับการทำนาข้าวและประมงพื้นบ้าน

        ๕.๓ ทรัพยากรน้ำ

        แหล่งน้ำผิวดินในภาคใต้สามารถที่จะแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำออกได้เป็น ๕ ลุ่มน้ำคือ

        ๑. ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก ประกอบด้วยคลองท่าตะเภา คลองหลังสวน คลองท่าชนะ คลองกลาย คลองนาทวี คลองเทพา แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก

        ๒. ลุ่มน้ำตาปี ประกอบด้วย แม่น้ำตาปี (แม่น้ำพุมดวง)

        ๓. ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ประกอบด้วยทะเลสาบสงขลา ซึ่งมีพื้นที่ผิวน้ำ ๑,๑๘๐ ตารางกิโลเมตร หรือ ๐.๗๓๘ ล้านไร่

        ๔. ลุ่มน้ำปัตตานี ประกอบด้วยแม่น้ำปัตตานี

        ๕. ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก ประกอบด้วยแม่น้ำกระบุรี คลองละอุ่น แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำตรัง คลองละงู และคลองปะเหลียน

        บริเวณแม่น้ำเหล่านี้เป็นลุ่มน้ำที่มีขนาดเล็ก อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และบางครั้งได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อนทำให้มีฝนตกเกือบตลอดปีอากาศร้อนชื้น ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยปีละ ๑,๕๐๐-๓,๘๐๐ มิลลิเมตร ปริมาณน้ำท่าโดยเฉลี่ยปีละ ๖๘,๙๕๗ มิลลิเมตร

        สำหรับแหล่งน้ำใต้ดิน บริเวณสภาพน้ำใต้ดินในปริมาณน้ำมากเกินกว่า ๕๐๐ แกลลอนต่อนาที และน้ำมีคุณภาพดี ส่วนใหญ่เป็นบริเวณพื้นที่ที่เป็นที่ราบทางฝั่งตะวันออกของภาค ในท้องที่จังหวัดต่าง ๆ จำนวน ๕ จังหวัดคือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส ส่วนพื้นที่ที่ให้ปริมาณน้ำใต้ดินในระดับน้อย-ปานกลาง (ต่ำกว่า ๑๐๐ แกลอนต่อนาทีหรือระหว่าง ๑๐๐-๕๐๐ แกลลอนต่อนาที) ได้กระจัดกระจายอยู่โดยทั่วไปในภาคใต้

        ๕.๔ ทรัพยากรแร่และก๊าซธรรมชาติ

        ในอดีตภาคใต้เป็นแหล่งแร่ดีบุกที่สำคัญของโลก ภาวะทางเศรษฐกิจของภาคผูกพันอยู่กับแร่ดีบุก นับตั้งแต่ได้เกิดวิกฤตการณ์แร่ดีบุกในปี พ.ศ.๒๕๒๘ เป็นต้นมา แร่ดีบุกได้ประสบปัญหาด้านราคา เหมืองแร่ดีบุกประสบกับภาวะการขาดทุนจนต้องล้มเลิกกิจการ ผลผลิตโดยรวมลดลงตามลำดับและต่อเนื่องโดยในปี พ.ศ.๒๕๒๓ ผลิตได้ ๓๘,๗๙๙ เมตริกตัน ครั้งถึงปี พ.ศ.๒๕๓๘ หรือในช่วงระยะเวลา ๑๕ ปี ต่อมาผลผลิต ดีบุกลดลงเหลือเพียง ๒,๐๓๘ เมตริกตัน คิดเป็นร้อยละ ๕.๒๕ ของผลผลิต ในปี พ.ศ.๒๕๒๓ ส่วนแร่ชนิด อื่น ๆ ที่มีความสำคัญรองลงมาจากแร่ดีบุก คือแร่ยิปซัม ผลผลิตในช่วง ๑๕ ปี (พ.ศ.๒๕๒๓-๒๕๓๘) ได้ ขยายตัวขึ้นจาก ๐.๑๔๖ ล้านเมตริกตัน เป็น ๕.๙๗๕ ล้านเมตริกตัน โดยเพิ่มขึ้นถึง ๔๐ เท่า อันเป็นการ ขยายตัวที่พอจะทดแทนการทรุดตัวของแร่ดีบุกได้ระดับหนึ่ง ส่วนแร่ชนิดอื่นมีการผลิตโดยทั่วไป เช่น ลิกไนต์ แบไรท์ และวุลแฟรม เป็นต้น

        อย่างไรก็ดี ก๊าซธรรมชาตินับเป็นทรัพยากรที่สร้างศักยภาพใหม่และโอกาสใหม่ ให้แก่ภาคใต้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาพลังงานและการลงทุนอุตสาหกรรมต่อเนื่องในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนบนในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ บริษัทยูโนแคล (UNOCAL) สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อส่งให้แก่การปิโตรเลียม แห่งประเทศไทย (ปตท.) ได้ ๙ แหล่งคือ แหล่งก๊าซเอราวัณ ปลาทอง สตูล บรรพต กะพง ฟูนาน สุราษฎร์ฯ จักรวาล และไพลิน โดยมีปริมาณการผลิตเฉลี่ยวันละ ๗๑๘ ล้านลูกบาศก์ฟุต รวมทั้งยังมีผลพลอยได้จากการผลิตก๊าซธรรมชาติคือก๊าซธรรมชาติเหลว (CONDENSATE) อีกโดยเฉลี่ยประมาณวันละ ๒๕,๘๙๔ บาร์เรล ปริมาณการผลิตดังกล่าวนี้ หากนำมาเทียบเป็นค่าพลังงานจะได้ประมาณร้อยละ ๒๕-๕๐ ของความต้องการพลังงานเชิงพาณิชย์ของประเทศในแต่ละวัน นอกจากนี้ ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากอ่าวไทย ประมาณร้อยละ ๗๕ ได้นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าได้เกือบกึ่งหนึ่งของประเทศ นอกนั้นได้ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม เชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ ผลิตเป็นก๊าซหุงต้ม และเป็นวัตถุดิบ ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

        ๕.๕ ทรัพยากรประมง

        ในภาคใต้มีแหล่งทำการประมง ๔ แหล่งคือ ประมงทะเลในอ่าวไทย ประมงทะเลในทะเลอันดามัน ประมงชายฝั่ง และการทำประมงนอกน่านน้ำร่วมกับประเทศอินโดนีเซีย บังคลาเทศ ออสเตรเลีย อินเดีย และพม่าตามลำดับ ผลผลิตที่ได้นำมาเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายอย่าง เช่น อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง อาหารกระป๋อง และอุตสาหกรรมปลาป่น เป็นต้น ส่วนการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของภาคมากในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.๒๕๒๕-๒๕๓๖) โดยในปี พ.ศ.๒๕๓๖ มีการขยายพื้นที่ทำนากุ้งออกไปจากปี พ.ศ.๒๕๒๕ ถึง ๘ เท่า จนทำให้มีพื้นที่ทำนากุ้งถึง ๐.๑๗๕ ล้านไร่ ได้ผลผลิตถึง ๐.๑๒๐ ล้านตัน มีมูลค่าโดยเฉลี่ยประมาณปีละ ๑๘,๐๐๐ ล้านบาท สำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดอื่น มีอย่างกระจัดกระจายโดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อยในบริเวณชายฝั่งตะวันออกและปากน้ำที่น้ำทะเลท่วมถึง เช่น ปลากะพงขาว ปลากะพงแดง ปลาเก๋า และหอยทะเล เป็นต้น

        ในส่วนของการประมงน้ำจืดนั้น ส่วนใหญ่กระทำกันในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น ทะเลสาบสงขลา ห้วย หนอง คลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ฝายน้ำล้น และคลองชลประทาน เป็นต้น โดยได้มีการเลี้ยงการบำรุงรักษา การพัฒนาพื้นที่ และการขยายพันธุ์โดยลำดับ

        ๕.๖ ทรัพยากรท่องเที่ยว

        ภาคใต้เป็นดินแดนแห่งหนึ่งที่มีแหล่งท่องเที่ยวอุดมสมบูรณ์ สามารถที่จะจัดแบ่งแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญออกได้เป็น ๓ ประเภทคือ ประเภทแรก ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ มีอยู่หลายแห่งที่เป็นแหล่งมีชื่อเสียงของโลก โดยเฉพาะเกาะภูเก็ต และหมู่เกาะในทะเลอันดามันในเขตจังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา และจังหวัดกระบี่ เช่น เกาะพีพี หมู่เกาะสิมิลัน และหมู่เกาะสุรินทร์ สำหรับเกาะในอ่าวไทย ได้แก่ เกาะพะงัน เกาะเต่า หมู่เกาะอ่างทอง และเกาะสมุย ซึ่งมักจะมีนักท่องเที่ยวจากยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น และไต้หวัน มาท่องเที่ยวในราวเดือนพฤศจิกายน-เมษายนของทุกปี ประเภทที่สอง ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวโบราณสถาน ประกอบด้วย วัด เทวาลัย มัสยิด อนุสรณ์สถานและโบราณสถานที่สำคัญ เช่น วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร วัดคูหาภิมุข และมัสยิดกรือเซะ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแหล่งที่สำคัญอีกหลายแห่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน เช่น สวนโมกขพลาราม อนุสรณ์สถานพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ วัดช้างให้ สถาบันทักษิณคดีศึกษา และมัสยิดกลางปัตตานี เป็นต้น ประเภทที่สาม ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวประเพณีและวัฒนธรรม ประกอบกับประเพณีและกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่สำคัญหลายอย่าง เช่น ประเพณีสารทเดือนสิบ งานมหกรรมการแข่งขันนกเขาชวาอาเซียน งานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และเทศกาลท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ ประเพณีและกิจกรรมเหล่านี้จัดขึ้นในท้องที่ต่าง ๆ ตามเวลาที่กำหนดทุกปี

        นอกจากนี้ยังมีการท่องเที่ยวชายแดน เป็นการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงเช่นเดียวกัน แหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวนี้ ตั้งอยู่ในอำเภอชายแดนที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ได้แก่ อำเภอหาดใหญ่ และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส กิจกรรมการท่องเที่ยวมีทั้งการซื้อสินค้า การรับประทานอาหาร และการท่องเที่ยวแหล่งบันเทิงในยามราตรี มักจะดำเนินไปตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ที่สำคัญ

สภาพเศรษฐกิจ

        ๖.๑ ภาคเกษตร

        ๖..๑ ยางพารา 

        ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของภาคใต้ มีพื้นที่ปลูกประมาณ ๑๐ ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็น สวนยางพันธุ์ดีประมาณร้อยละ ๙๒ สามารถผลิตยางได้ประมาณร้อยละ ๙๐ ของผลผลิตยางทั้งประเทศ ในภาคนี้มีการปลูกยางพาราทุกจังหวัด เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขา เหมาะกับการปลูกยางพารามากกว่าพืชอื่น ๆ ประกอบกับยางพาราเป็นพืชที่ปลูกง่าย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษามาก ผลผลิตไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะใด หรือมีคุณภาพอย่างไรก็จำหน่ายได้หมด จังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกยางพารามากที่สุดคือ จังหวัดสงขลา รองลงมาคือจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดตรัง จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดยะลาตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกยางพาราน้อยที่สุดคือ จังหวัดระนอง เกษตรกรที่ทำสวนยางพาราประมาณร้อยละ ๓๐ เป็นเกษตรกรรายย่อย มีพื้นที่สวนยางพาราไม่เกิน ๑๐ ไร่ เกษตรกรที่เป็นเจ้าของสวนยางพาราขนาดใหญ่ ตั้งแต่ ๒๕ ไร่ขึ้นไปมีเพียงร้อยละ ๑๗

        ในด้านตลาดการค้ายางพารา มีลักษณะที่เป็นอิสระผู้ค้ายางพารามีการแข่งขันการซื้อขาย ตลาดการค้าที่สำคัญคือ หาดใหญ่ ตรัง สุราษฎร์ธานี ยะลา ภูเก็ต ผลผลิตแทบทั้งหมดส่งออกต่างประเทศ โดยจำหน่ายในลักษณะยางแผ่นรมควันมากที่สุดคือประมาณร้อยละ ๗๐ ของยางทั้งหมดที่จำหน่าย จากการที่ราคามีแนวโน้มลดต่ำลงมาโดยตลอด จึงมีการจัดตั้งตลาดกลางยางพาราขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการซื้อขายของท้องถิ่นรวมทั้งตั้งโรงงานผลิตยางแผ่นรมควันให้มีคุณภาพดีขึ้น

        ..๒ ข้าว 

        แหล่งปลูกข้าวได้กระจายอยู่ทั่วภาคใต้ แต่ผลผลิตมีความสำคัญในแง่เศรษฐกิจไม่มากนัก เมื่อเทียบกับภาคอื่น เพราะเป็นข้าวคุณภาพต่ำและผลิตได้น้อย คือ โดยเฉลี่ยประมาณปีละ ๐.๘-๑.๒ ล้านตัน ข้าวเปลือก ขณะที่ความต้องการข้าวเพื่อการบริโภคมีสูงถึงปีละ ๑.๖-๑.๗ ล้านตัน จึงจำเป็นต้องมีการนำข้าวจากภาคอื่น ๆ ประมาณปีละ ๐.๕-๐.๘ ล้านตัน แหล่งปลูกข้าวที่สำคัญอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา โดยสามจังหวัดนี้ผลิตข้าวรวมกันประมาณร้อยละ ๖๐ ของภาค แต่ในระยะหลังผลผลิตข้าวในภาคใต้มีแนวโน้มลดลงมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด เพราะพื้นที่นาในหลายจังหวัดได้แปรสภาพไปเป็นนากุ้ง ที่อยู่อาศัย และสถานที่ประกอบอาชีพอื่น ตลอดจนเป็นผลมาจากโครงการปรับปรุงการผลิตทางการเกษตร

        ในด้านตลาด โรงสีจะรับซื้อข้าวเปลือกและรับจ้างสีข้าวให้แก่ชาวนา รวมทั้งจำหน่ายผลผลิตข้าวสารให้กับพ่อค้าขายปลีกในท้องถิ่น และพ่อค้าขายส่ง เพื่อจำหน่ายไปยังท้องถิ่นที่ผลิตข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภค และบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยราคาจะเปลี่ยนแปลงไปตามราคาข้าวภาคกลาง และความคล่องตัวในการระบายข้าวออกไปยังบริเวณชายแดนดังกล่าว

        ๖.๑.๓ ปาล์มน้ำมัน 

        ปาล์มน้ำมัน เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจของภาคใต้ เริ่มมีการปลูกตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๘ เป็นต้นมา แต่ไม่แพร่หลายมากนักจนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๑๑ บริษัทไทยอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและสวนปาล์ม ได้ทำสวนปาล์มน้ำมันที่อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ รวมทั้งได้มีการจัดตั้งโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขึ้น การปลูกพืชชนิดนี้จึงขยายยิ่งขึ้นในหลายท้องที่ เพราะให้ผลตอบแทนสูงกว่าพืชชนิดอื่น รวมทั้งสามารถนำไปทดแทนน้ำมันพืชอื่นได้ดี มีราคาถูก และมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบขยายตัวยิ่งขึ้นด้วย จึงมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกอย่างรวดเร็ว จากประมาณ ๑,๕๔๐ ไร่ ในปี พ.ศ.๒๕๑๑ ได้เพิ่มขึ้นเป็น ๑.๐๙ ล้านไร่ ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ โดยแหล่งเพาะปลูกส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดกระบี่ จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล การดำเนินธุรกิจปาล์มน้ำมันได้เป็นไปในลักษณะที่เกษตรกรสวนปาล์มจะเป็นผู้ผลิตผลปาล์มสด ป้อนโรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เพื่อผลิตน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ให้แก่ผู้บริโภค จึงประสบปัญหาในการวางแผนดำเนินการผลิต ประสบข้อจำกัดด้านเวลา เพราะเมื่อตัดผลปาล์มแล้ว ต้องรีบนำเข้าโรงงานสกัดภายใน ๒๔ ชั่วโมง ไม่อย่างนั้นจะเสื่อมคุณภาพ ทำให้ราคาผลปาล์มสดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง รวมทั้งผลจากการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย แต่ทางราชการก็ได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มทะลายจาก ๑.๖๐๕ ล้านเมตริกตัน ในปี พ.ศ.๒๕๓๗ เป็น ๑.๙ ล้านเมตริกตัน ในปี พ.ศ.๒๕๔๑

        ๖..๔ กาแฟ 

        เมื่อ ๒๐ ปีที่ผ่านมา ราคากาแฟสูงมากจึงมีการตื่นตัวปลูกกาแฟกันมาก ทางราชการก็สนับสนุนจึงขยายพื้นที่ปลูกออกไปมากจนกระทั่งในภาคใต้มีพื้นที่ปลูกกาแฟรวม ๔-๕ แสนไร่ คิดเป็นประมาณร้อยละ ๙๒ ของพื้นที่ปลูกกาแฟทั้งประเทศ พื้นที่ที่ปลูกมากที่สุดคือจังหวัดชุมพร รองลงมาคือจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดระนอง จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดกระบี่ตามลำดับ พันธุ์ที่นิยมมากคือ พันธุ์โรปัสตา ได้ผลผลิตทั้งภาคประมาณปีละ ๖๕,๐๐๐-๘๐,๐๐๐ เมตริกตัน

        ในด้านการตลาด โดยทั่วไปผู้รวบรวมในท้องถิ่นจะรับซื้อจากเกษตรกร แล้วส่งไปจำหน่ายผู้ส่งออกในกรุงเทพมหานคร หรือโรงงานคั่วกาแฟหรือโรงงานกาแฟสำเร็จรูปแล้ว กาแฟจะได้รับการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟออกจำหน่าย ปัญหาที่สำคัญที่เกษตรกรประสบคือ ราคาไม่มีเสถียรภาพขึ้นอยู่กับตลาดโลก

        ๖..๕ ประมง 

        แม้ว่าภาคใต้จะมีการทำประมงหลายแห่งดังได้กล่าวมา แต่การทำประมงทะเลมีความสำคัญมากที่สุด เพราะภาคใต้มีชายฝั่งทะเลเป็นแนวยาวทั้งสองฝั่ง การประมงทะเลจึงมีทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดยะลาและจังหวัดพัทลุงที่ไม่ได้ติดต่อกับชายฝั่งทะเล ผลผลิตสัตว์น้ำที่จับได้ มากกว่าร้อยละ ๕๐ ของสัตว์น้ำที่จับได้ของภาค เป็นปลาเป็ดที่ป้อนโรงงานปลาป่น ส่วนที่เหลือเป็นสัตว์น้ำที่ใช้บริโภค เช่น กุ้ง หมึก ปู ปลาทู ปลาตาโต ปลาทรายแดง และปลาสีกุล เป็นต้น การพัฒนาประสิทธิภาพในระยะหลัง ทำให้การจับสัตว์น้ำ ได้ปริมาณเพิ่มขึ้น ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๑๙-๒๕๒๑ อัตราการเพิ่มได้เพิ่มขึ้นเกินกว่าร้อยละ ๓๐ ต่อปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๒ เป็นต้นมา ได้ลดลงหรือไม่เกินร้อยละ ๑๐ ต่อปี เพราะความอุดมสมบูรณ์ของทะเลลดลง ประสบปัญหาการทำประมงนอกน่านน้ำ และแรงงานทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เคลื่อนย้ายมาภาคใต้ น้อยลง หลังจากเกิดไต้ฝุ่นเกย์ และการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างในภาคกลาง

        ส่วนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะกุ้งกุลาดำ ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๐ เป็นต้นมา เพราะมีราคาสูงมาก แต่หลังปี พ.ศ.๒๕๓๓ ได้เกิดปัญหามลภาวะในภาคใต้ฝั่งตะวันออก โดย เฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงมีการขยายไปยังฝั่งตะวันตกมากขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดตรังในปริมาณมากที่สุดรองลงมาคือจังหวัดสตูล จังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่ และจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งสัดส่วนของผลผลิตกุ้งเหล่านี้ก็เพิ่มขึ้นโดยลำดับคือ ในปี พ.ศ.๒๕๓๑ มีสัดส่วนร้อยละ ๒๑ ของผลผลิตทั้งประเทศ ครั้นปี พ.ศ.๒๕๓๓ ได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๔๙.๗๐ และในปี พ.ศ.๒๕๓๙ ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ ๖๐

        ๖.๒ ภาคเหมืองแร่

        แร่เป็นทรัพยากรที่สำคัญชนิดหนึ่งของภาคใต้ ในอดีตเคยทำรายได้ในแต่ละปีนับหมื่นล้านบาท แต่นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๕ เป็นต้นมา บทบาทของแร่ต่อเศรษฐกิจของภาคใต้มีน้อยลง เนื่องจากความต้องการดีบุกลดลง เพราะเศรษฐกิจซบเซาทั่วโลก จึงมีการใช้วัสดุอื่นขึ้นทดแทน ประกอบกับความอุดมสมบูรณ์ของแร่ลดลงด้วยเหมืองแร่ในภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นเหมืองแร่ขนาดเล็กและขนาดกลาง แร่ที่ผลิตได้มีหลายชนิดที่สำคัญคือ ดีบุก ยิปซัม ทังสเตน ลิกไนต์ ฟลูออไรด์ แมงกานีส และพลวง

        ในส่วนของดีบุก ภาคใต้เป็นแหล่งผลิตแร่ดีบุกที่สำคัญ เป็นที่ตั้งของโรงงานถลุงแร่ดีบุกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ในอดีตเคยมีเหมืองแร่เปิดดำเนินการเกือบ ๑,๐๐๐ แห่ง ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง ๖๖ แห่ง ในจังหวัดพังงามีมากที่สุด รองลงมาคือจังหวัดนครศรีธรรมราช ระนอง ภูเก็ต และชุมพร ผลผลิตแร่ดีบุกของภาคใต้มีปริมาณมากกว่าร้อยละ ๘๐ ของทั้งประเทศ ในปี พ.ศ.๒๕๒๓ เป็นปีที่ผลิตได้สูงสุดคือจำนวน ๓๘,๗๙๙ เมตริกตัน หลังจากนั้นผลผลิตลดลงโดยลำดับ ปัจจุบันจังหวัดที่ผลิตดีบุกได้มากที่สุดคือจังหวัดพังงา ซึ่งผลิตได้ประมาณร้อยละ ๔๒ ของผลผลิตทั้งภาค ส่วนแร่ยิปซัม แหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ผลผลิตทั้งหมดส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ โดยลงเรือที่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ บางส่วนมีการขนส่งโดยทางรถไฟ

        ๖.๓ ภาคอุตสาหกรรม

        สาขาอุตสาหกรรม มีบทบาทต่อเศรษฐกิจของภาคใต้ไม่มากนัก ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๒๔-๒๕๓๖ ผลผลิตสาขาอุตสาหกรรมมีสัดส่วนเพียงร้อยละ ๑๐ ของผลิตภัณฑ์รวมของภาค เพราะโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ใช้เงินทุนน้อยโดยอุตสาหกรรมประเภทผลิตอาหารและเครื่องดื่มมีจำนวนมากที่สุด คือ ประมาณร้อยละ ๖๐ ของอุตสาหกรรมของภาค ในจำนวนดังกล่าวเป็นโรงสีข้าวถึงร้อยละ ๘๓ หรือร้อยละ ๕๐ ของโรงงานทั้งหมด

        ส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูง ส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับผลผลิตทางการเกษตร เช่น อุตสาหกรรม ยางแผ่นรมควัน อุตสาหกรรมน้ำยางข้น และอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง เป็นต้น

        อย่างไรก็ดีภาคอุตสาหกรรมได้มีการขยายตัวขึ้นโดยลำดับ โดยขยายจากร้อยละ ๗.๕๐ ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ ขึ้นเป็นร้อยละ ๑๒.๙๐ ในปี พ.ศ.๒๕๓๒ และในช่วงปี พ.ศ.๒๕๓๓-๒๕๓๗ ขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๘.๗๐ ต่อปี โดยโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่กระจายไปตามลักษณะพื้นที่ และแหล่งวัตถุดิบ โรงงานเหล่านี้ ตั้งอยู่ในภาคใต้ฝั่งตะวันออกถึงประมาณร้อยละ ๘๕ ของภาค เพราะฝั่งตะวันออกเป็นแหล่งปลูกข้าว ยางพารา มะพร้าว และทำประมงที่สำคัญของภาค โรงงานอุตสาหกรรมที่สำคัญจึงเป็นโรงงานอุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมน้ำมันพืช ส่วนที่เหลืออีกประมาณร้อยละ ๑๕ ตั้งอยู่ในฝั่งตะวันตก ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมยางพารา โรงเผาถ่าน โรงเลื่อย และอุตสาหกรรมปลาป่น

        ๖..๑ อุตสาหกรรมยางพารา 

        ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเพื่อการผลิตยางแผ่นรมควัน ยางแผ่นรมควันจึงสามารถส่งออกสูงถึง ร้อยละ ๖๖ ของปริมาณยางพาราที่ส่งออกของภาค รองลงมาคือยางแท่งร้อยละ ๒๐ น้ำยางข้นร้อยละ ๑๒ และยางเครฟร้อยละ ๐.๓๐ นอกนั้นเป็นยางประเภทอื่น ๆ เช่น น้ำยางสด ยางแผ่นผึ่งแห้ง และเศษยาง ซึ่งมีอยู่เพียงร้อยละ ๑.๗๐ ของปริมาณยางส่งออกของภาค โรงงานส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดสงขลา จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดยะลา จังหวัดตรัง และจังหวัดนราธิวาส

         ..๒ อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง และอาหารทะเลกระป๋อง 

        อุตสาหกรรมประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนและมีการจ้างงานสูงกว่าอุตสาหกรรมหลายประเภท กระจายอยู่ในจังหวัดที่มีแหล่งทำการประมงที่สำคัญคือ จังหวัดสงขลา จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดปัตตานี จังหวัดชุมพร จังหวัดสตูล และจังหวัดตรัง ผลผลิตแทบทั้งหมดมีการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ในระยะหลังอุตสาหกรรมประเภทนี้ประสบปัญหาวัตถุดิบ แรงงาน การแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตอื่นและการกีดกันทางการค้าของตลาดต่างประเทศ

        ๖..๓ อุตสาหกรรมน้ำมันพืช 

        ภาคใต้เป็นแหล่งผลิตปาล์มน้ำมัน และมะพร้าวที่สำคัญของประเทศ โดยมีผลผลิตน้ำมันปาล์มประมาณร้อยละ ๙๐ ของประเทศ และน้ำมันมะพร้าวประมาณร้อยละ ๕๐ ของประเทศในระยะที่ผ่านมาการผลิตน้ำมันมะพร้าวประสบภาวะไม่ดีนัก เพราะน้ำมันปาล์มเข้ามาแทนที่มากขึ้น ชาวสวนนิยมขายเป็นมะพร้าวผล และพื้นที่บางแห่งแปรสภาพไปเป็นรีสอร์ท หรือสถานที่เพื่อการอย่างอื่น ต้นทุนการผลิตถึงมีแนวโน้มสูงกว่ารายได้ โรงงานหลายแห่งปิดกิจการหรือเปลี่ยนไปสกัดน้ำมันปาล์ม ส่วนโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มที่มีขนาดใหญ่ มีจำนวน ๑๒ แห่ง โรงงานขนาดเล็กมีหลายแห่งในจังหวัดต่าง ๆ และมีโรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ๑ แห่ง ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

         ..๔ อุตสาหกรรมปลาป่น  

        อุตสาหกรรมปลาป่น สัมพันธ์โดยตรงกับภาวะการประมง เนื่องจากปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้เป็นปลาเป็ด ที่เป็นวัตถุดิบของโรงงานปลาป่น ผลผลิตปลาป่นที่ผลิตได้มากถึงร้อยละ ๔๐ จะจัดจำหน่ายให้กับผู้รับซื้อรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ผู้รับซื้อจึงมีบทบาทสูงในการกำหนดราคา การเลี้ยงกุลาดำที่ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในระยะที่ผ่านมา ทำให้โรงงานอาหารสัตว์ขยายตัว และมีจำนวนเพิ่มขึ้นส่งผลให้การผลิตและความต้องการปลาป่นภายในประเทศสูงขึ้นไปด้วย

        ๖.๔ ภาคการท่องเที่ยว

        การท่องเที่ยวเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญภาคหนึ่งของภาคใต้ เพราะภาคใต้มีทรัพยากรการท่องเที่ยวมาก จึงเป็นปัจจัยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในภาคใต้ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในภาคนี้ เป็นชาวมาเลเซียร้อยละ ๗๐ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติของภาค ส่วนชาวสิงคโปร์และชาติอื่น ๆ มีสัดส่วน เท่ากันคือ มีเพียงร้อยละ ๑๕ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๒ เป็นต้นมา นักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะชาวยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฮ่องกงและไต้หวันได้เดินทางเข้ามามากขึ้น ขณะที่ชาวมาเลเซียค่อนข้างลดลง หรือทรงตัว เพราะทางการมาเลเซียกีดกันการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ สัดส่วนนักท่องเที่ยวจึงเปลี่ยนไปในช่วงปี พ.ศ.๒๕๓๓-๒๕๓๙ ชาวมาเลเซียลดลงเหลือประมาณร้อยละ ๕๐ ขณะที่ชาติอื่นได้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ ๔๐ ส่วนที่เหลือเป็นชาวสิงคโปร์ประมาณร้อยละ ๑๐

        ๖.๕ ภาคการลงทุน

        การลงทุนในภาคใต้โดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดี มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมีผลมาจากการ กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคของทางราชการ ตลอดจนการลงทุนในสาธารณูปโภคต่าง ๆ การลงทุนที่ใช้ทุนสูงเป็นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับยางพาราและสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมบริการ โดยเฉพาะโรงแรม และโรงพยาบาล ในขณะเดียวกันการก่อสร้างของภาคเอกชนก็มีการขยายตัว โดยเฉพาะในปี พ.ศ.๒๕๓๐-๒๕๓๑ ได้ขยายตัวสูงถึงร้อยละ ๔๔-๔๕ ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ โดยมีการขยายออกไปสู่บริเวณรอบนอกมากขึ้นส่วนในเขตเทศบาลในปี พ.ศ.๒๕๓๙ ได้มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ ๘.๕๐

        ๖.๖ ภาคการค้าระหว่างประเทศ

        ภาคใต้มีชายแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย และพม่า โดยกับมาเลเซียมีเส้นทางคมนาคมกันได้หลายจุด การขนส่งสามารถทำได้หลายจุดทั้งทางบกและทางทะเล รวมทั้งยังเชื่อมกับประเทศสิงคโปร์ได้ด้วย ตลอดจนสินค้าที่สำคัญคือ ยางพารา ดีบุก และอาหารทะเล เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศมากกว่าตลาดภายในประเทศ และรับสินค้าจากภาคอื่นส่งออกทางภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีบทบาททางด้านการค้าระหว่างประเทศมาก ทั้งในรูปการค้าชายแดนกับประเทศพม่า มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยการติดต่อค้าขายผ่านแดนกันมากที่ด่านปาดังเบซาร์ ด่านสะเดา ด่านเบตง และด่านสุไหงโก-ลก และในรูปการค้ากับประเทศโพ้นทะเล ซึ่งส่วนใหญ่จะผ่านด่านสงขลา ด่านภูเก็ต ด่านปัตตานี และด่านกันตัง สินค้าออกที่สำคัญคือ ยางพารา ดีบุก สัตว์น้ำ และก๊าซธรรมชาติ ในช่วงระยะเวลา ๕ ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยปีละ ประมาณ ๔๑,๖๐๐ ล้านบาท เป็นมูลค่าส่งออกยางพารา แร่ สัตว์น้ำ และก๊าซธรรมชาติถึงร้อยละ ๗๕ ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ในอดีตดีบุกเคยมีมูลค่าส่งออกมากเป็นอันดับสองรองจากยางพารา แต่มูลค่าดังกล่าว ได้ลดลงโดยลำดับจาก ๘,๘๒๘.๓ ล้านบาท ในปี พ.ศ.๒๕๒๔ เหลือเพียง ๗๔๘ ล้านบาท ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ ในขณะที่สัตว์น้ำกลับมีมูลค่าส่งออกสูงขึ้นคิดเป็นประมาณร้อยละ ๑๕ ของมูลค่าส่งออก

        ส่วนสินค้าเข้าในภาคใต้ในระยะ ๕ ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยประมาณปีละ ๑๘,๐๐๐ ล้านบาท ส่วนใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้านคือ มาเลเซีย พม่า และสิงคโปร์ รวมกันประมาณ ๖๐-๗๐ ของมูลค่านำเข้าโดยการนำเข้าน้ำมัน เชื้อเพลิง สัตว์น้ำ และเครื่องจักร อุปกรณ์ โดยสินค้าดังกล่าวได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาตลอด นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๑ เป็นต้นมา อันเนื่องมาจากการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจของภาค

        ๖.๗ ภาคการเงิน

        บรรดาสถาบันการเงินที่เปิดดำเนินงานในภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นสำนักงานสาขา มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร มีบริษัทเงินทุนเพียงแห่งเดียวที่เป็นสำนักงานใหญ่ในภาคนี้ สถาบันการเงินที่สำคัญที่ ดำเนินงานอยู่ในขณะนี้มี ๑๒ ประเภทคือ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บริษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โรงรับจำนำ สหกรณ์ออมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย สำนักงานอำนวยสินเชื่อ ในบรรดาสถาบันการเงินเหล่านี้ ธนาคารพาณิชย์นับว่ามีบทบาทมากที่สุด กิจการของธนาคารพาณิชย์จึงขยายตัวรวดเร็ว ทั้งการขยายสาขา เพราะคงเงินฝากและการให้สินเชื่อเป็นไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจในท้องถิ่น ในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๙ มีสาขาธนาคารพาณิชย์เปิดดำเนินการในภาคทั้งสิ้น ๔๑๑ สำนักงาน ในจำนวนนี้เป็นสาขาเต็มรูปแบบ ๓๖๖ สำนักงาน สาขาย่อย ๔๕ สำนักงาน ดำเนินการในจังหวัดสาขามากที่สุดคือ ๗๘ สำนักงาน รองลงมาคือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีสาขาธนาคารพาณิชย์ ๕๔ สำนักงานและ ๕๑ สำนักงานตามลำดับ สำหรับเงินฝากและเงินให้สินเชื่อมีอัตราการขยายตัวสูงพอสมควร โดยเงินฝากขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๑๙-๒๐ ต่อปี แหล่งเงินฝากที่สำคัญในระยะ ๒-๓ ปีที่ผ่านมาเป็นเงินที่ได้จากการซื้อขายที่ดินและการค้า ส่วนสินเชื่อขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๒๒-๒๓ ต่อปี แม้ว่าจะมีการควบคุมการขยายสินเชื่ออย่าง เข้มงวดก็ตาม

        ในด้านโครงสร้างของเงินฝากส่วนใหญ่เป็นเงินฝากประจำ หรือสิ้นระยะเวลาโดยมีสัดส่วนร้อยละ ๗๓ ของเงินฝากทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากกระแสรายวันร้อยละ ๒๓ และร้อยละ ๔ ของเงินฝากทั้งหมด ตามลำดับ สำหรับสินเชื่อในช่วงปี พ.ศ.๒๕๒๓-๒๕๒๙ ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อประเภทเบิกเงินเกินบัญชีในสัดส่วนประมาณร้อยละ ๖๕ ของสินเชื่อทั้งหมดของภาค รองลงมาคือเงินให้กู้ร้อยละ ๒๐ และตั๋วเงินร้อยละ ๑๕ แต่ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๓๐-๒๕๓๙ กลับกลายเป็นสินเชื่อประเภทเงินให้กู้มากขึ้นในสัดส่วนประมาณร้อยละ ๔๓ ของสินเชื่อทั้งหมด ในขณะที่เงินเบิกเกินบัญชีลดลงเหลือประมาณร้อยละ ๔๒ ของสินเชื่อทั้งหมด บางส่วนเกิดจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศลดวงเงินให้กู้ยืม เบิกเกินบัญชีลง อย่างไรก็ดี หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศยกเลิกเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้สินเชื่อ ได้มีการเคลื่อนย้ายเงินฝากเพื่อไปลงทุนทางด้านอื่น โดยเฉพาะการลงทุนด้านหลักทรัพย์

สภาพปัญหาพื้นฐาน

        ในปัจจุบันนี้ภาคใต้ของประเทศไทยยังคงประสบปัญหาพื้นฐานที่สำคัญอยู่ไม่น้อย แม้ว่าปัญหาเหล่านี้บางประการจะได้รับการแก้ไขกันมาอย่างต่อเนื่องด้วยระยะเวลาอันยาวนานก็ตาม แต่ยังคงอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ปัญหาพื้นฐานที่สำคัญของภาคใต้มีดังนี้คือ

        ประการแรก โครงสร้างเศรษฐกิจ ในปัจจุบันโครงสร้างทางเศรษฐกิจของภาคใต้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากผลผลิตหลักเดิมเพียงไม่กี่ชนิดคือ ยางพารา ประมง และแร่ดีบุก โดยมีการท่องเที่ยว การเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ปาล์มน้ำมัน และกาแฟเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการค้าสินค้าเกษตรที่สำคัญส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับภาวะของตลาดต่างประเทศ จึงทำให้เศรษฐกิจของภาคใต้ขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการ และระดับราคาสินค้าในตลาดโลกเป็นสำคัญ

        ประการที่สอง ประสิทธิภาพในการผลิต ประสิทธิภาพในการผลิตของภาคใต้อยู่ในระดับต่ำ และเป็นการแปรรูปวัตถุดิบอย่างง่าย ๆ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปอย่างสิ้นเปลือง และทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นเหตุให้แหล่งผลิตและสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลง การลงทุนไม่ได้ผลเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำเหมืองแร่และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการประมง

        ประการที่สาม สิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน การพัฒนาทางด้านสิ่งอำนวยความสะดวกขั้น พื้นฐานค่อนข้างจะล่าช้า เมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ ของประเทศ การชลประทานยังไม่เพียงพอ เส้นทางคมนาคมขนส่งภายในจังหวัด และระหว่างจังหวัด ยังไม่สะดวกเท่าที่ควรรวมทั้งไฟฟ้า โทรศัพท์ และน้ำประปามีไม่ทั่วถึง

        ประการที่สี่ แรงงานและการกระจายรายได้ ภาคใต้มีประชากรน้อยทำให้ขาดแคลนแรงงาน จำเป็นต้องอาศัยแรงงานจากภาคอื่น นอกจากนี้แม้ว่าจะมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชาชนอยู่ไม่น้อย เพราะผู้ที่มีรายได้สูงจะกระจุกตัวอยู่กับพ่อค้า และบรรดานักธุรกิจจำนวนไม่มากราย และเป็นชนกลุ่มน้อยของสังคม ประชากรส่วนใหญ่คือประมาณร้อยละ ๘๐ ยังเป็นเกษตรกรยากจน มีรายได้ต่ำและไม่แน่นอน การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังกระจายไม่ทั่วถึงทั้งภาค ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่เฉพาะในชุมชน บริเวณแหล่งผลิตสำคัญ ๆ และตัวเมืองที่เป็นศูนย์กลางการค้าของภาค

         ประการที่ห้า ความสงบและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและเป็นที่กังวลกันมากในภาคใต้คือ ความไม่ปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน และนักธุรกิจ อันเกิดจากโจรผู้ร้าย ผู้ก่อการร้าย ขบวนการโจรก่อการร้ายและโจรคอมมิวนิสต์ในรูปแบบต่าง ๆ กัน ที่เกิดขึ้นบ่อย และเป็นการทำลายบรรยากาศในการลงทุนในภาคใต้ ได้แก่ การเรียกค่าคุ้มครองทำให้การผลิตทำได้ไม่เต็มที่ทั้ง ๆ ที่สามารถจะขยายตัวได้อีกมาก (สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์, พิสิฐ เจริญวงศ์, ปรีชา นุ่นสุข)

ชื่อคำ : ภาคใต้
หมวดหมู่หลัก : ธรรมชาติ ชีวิต และสิ่งแวดล้อม
หมวดหมู่ย่อย : ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม
ชื่อผู้แต่ง : สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์, พิสิฐ เจริญวงศ์, ปรีชา นุ่นสุข
เล่มที่ : ๑๒
หน้าที่ : ๖๓๘๖