นกกระจาบ สรรพสิทธิ เรื่องสกุณา นิทานปักษา ก็ว่า เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านประเภทนิทานชาดก กล่าวถึงเรื่องราวเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นนกกระจาบ แล้วเป็นสรรพสิทธิกุมาร สถาบันทักษิณคดีศึกษามีต้นฉบับเรื่องนกกระจาบที่เป็นวรรณกรรมลายลักษณ์เก็บรักษาไว้ ๑ เล่ม ๑ สำนวน ไม่ปรากฏที่มา เป็นบุดขาวสมบูรณ์ทั้งเล่ม บุดขาวเรื่องนี้เป็นฉบับคัดลอกโดยพระจัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ ส่วนต้นฉบับเดิมนั้น พระมหาสุวรรณเป็นผู้แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๐ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีเถาะ นพศก แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกาพย์ ผู้แต่งกล่าวถึงจุดประสงค์ในการแต่งเรื่องนี้ว่า เพื่อสร้างสมบุญบารมีให้เกิดทันศาสนาพระศรีอาริย์ ให้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์และเป็นหัวหน้าบรรดาสาวกของพระศรีอาริย์ ตลอดจนให้บรรลุถึงนิพพาน
ความตอนต้นเริ่มด้วยบทนมัสการพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วกล่าวออกตัวในความสามารถด้านการประพันธ์ และบอกข้อมูลที่นำมาใช้แต่งเรื่องนี้ คือ นิทานที่พระเทศนาตามเรื่องราวในพระบาลี ดังความว่า
“อันตัวของข้า มีใจเจตนา อุษาขวนขวาย
คำพระเทศนา ข้าแต่งพีปราย ตามเรื่องนียาย
ยากนักใครจะปาน...
ตัวข้านี้ไสย ด้วยว่าน้ำใจ เลื่อมไสยยินดีย์
แตงเรื่องสัคุนา ตามพระบาฬี ฉบับไม่มี แตงตามปัญญา”
ต่อมาเริ่มจับเรื่องครั้งพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าประทับที่เชตุพนวิหาร พระองค์ทรงเทศนาเรื่องราวตอนที่พระองค์ยังเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกกระจาบและสรรพสิทธิกุมาร ให้บรรดาพระอรหันตสาวกฟัง ความว่า มีนกกระจาบ ๒ ตัว ผัวเมียอาศัยทำรังอยู่ที่ราวป่า แม่นกกำลังมีลูกอ่อน พ่อนกต้องไปหาอาหารมาให้ วันหนึ่งพ่อนกไปพบดอกบัวบานกลางสระจึงบินลงในดอกบัวหวังจะเอาเกสรไปฝากแม่นก แต่กลิ่นหอมหวนของเกสรบัวทำให้พ่อนกหลงชื่นชมจนลืมเวลากลับ เมื่อดอกบัวหุบได้ปิดขังพ่อนกไว้ ฝ่ายแม่นกเฝ้ารอการกลับมาของพ่อนกอย่างร้อนใจ บังเอิญวันนั้นเกิดไฟไหม้ป่าคลอกลูกนกตายหมดทั้งรัง นางนกจึงโกรธแค้นและเสียใจมาก เพราะคิดว่าสามีไปหลงนางนกตัวใหม่ ไม่เอาใจใส่นางและลูก เมื่อพ่อนกกลับมานางก็ตัดพ้อต่อว่า โดยไม่ฟังเหตุผลที่พ่อนกพยายามอธิบาย นางได้ตั้งสัตย์สาบานว่า ถ้าไปเกิดชาติใดขออย่าให้พูดจากับผู้ชายทุกคน ส่วนพ่อนกก็อธิษฐานขอให้ไปเกิดตามนางทุกชาติ และแม้ว่านางจะไม่พูดกับชายใดก็ขอให้พูดกับตนเพียงคนเดียว แล้วนกกระจาบทั้ง ๒ ตัว ผัวเมียก็บินลงไปตายในกองไฟ พระพุทธองค์ทรงอธิบายถึงเหตุที่นกกระจาบคู่นี้ต้องตายในสภาพเช่นนั้นว่า เป็นเพราะผลกรรมที่ทั้งสองเคยจับสัตว์เผาไฟทั้งเป็นในชาติก่อน กรรมนั้นจึงตามมาสนองและจะต้องชดใช้ต่อไปอีกถึง ๕๐๐ ชาติ
เมื่อนกกระจาบ ๒ ตัวผัวเมียใช้กรรมหมดแล้ว ประกอบกับบุญกุศลที่เคยสร้างสมไว้จึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์ พ่อนกเกิดในตระกูลเศรษฐีบ้านจันทคามชื่อว่าสรรพสิทธิ บิดามารดาคือโกทัณฑ์เศรษฐีและนางเขมา สรรพสิทธิเป็นชายหนุ่มรูปงามมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดกว่าเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน และยังไปเรียนศิลปศาสตร์ที่เมืองตักศิลาพร้อมด้วยพี่เลี้ยง ส่วนแม่นกเกิดเป็นนางสุวรรณเกษร ราชธิดาของพระเจ้าพรหมทัตและนางโกสุมเทวีแห่งเมืองพาราณสี ทรงมีพระสิริโฉมงดงาม แต่เนื่องจากคำสาบานของนางในชาติที่เกิดเป็นนกกระจาบ นางจึงไม่ยอมเจรจากับบุรุษใดแม้แต่พระราชบิดา ทำให้ท้าวพรหมทัตทรงกลุ้มพระทัย คิดหาทางแก้ไขโดยจะให้นางมีคู่ พระองค์ส่งสารไปถึงกษัตริย์ร้อยเอ็ดหัวเมือง ให้ส่งพระโอรสมาพูดกับนางสุวรรณเกษร และถ้านางเจรจากับผู้ใด พระองค์จะอภิเษกและแต่งตั้งให้เป็นพระมหาอุปราช แต่นางสุวรรณเกษรก็ไม่ยอมพูดกับพระโอรสของกษัตริย์พระองค์ใด พระเจ้าพรหมทัตจึงทรงประกาศให้บุตรขุนนาง เศรษฐี และกระฏุมพีในเมืองพาราณสีมาลองเจรจากับนางอีกแต่ก็ล้มเหลว
เมื่อสรรพสิทธิและพี่เลี้ยงเรียนวิชาที่เมืองตักศิลาสำเร็จจนสามารถถอดดวงใจได้ ก็เดินทางกลับบ้านและพบกับอำมาตย์ซึ่งไปหาบิดา อำมาตย์เห็นว่าสรรพสิทธิรูปงามมีวิชาความรู้ความสามารถ จึงนำความไปกราบทูลให้พระเจ้าพรหมทัตทรงทราบ พระองค์โปรดให้เรียกตัวสรรพสิทธิเข้าเฝ้า และส่งไปพูดกับพระธิดา ครั้นสรรพสิทธิเห็นว่านางสุวรรณเกษรไม่ยอมเจรจา ก็ถอดหัวใจของพี่เลี้ยงมาไว้ที่ประตูชวาลา พานพระศรี และม่าน แล้วเล่านิทานปริศนา ๔ เรื่องให้ฟังตามลำดับ ในตอนท้ายเรื่องสรรพสิทธิจะถามปัญหาให้สิ่งเหล่านั้นตอบ นิทานปริศนาทั้ง ๔ เรื่อง สรุปความได้ดังนี้
เรื่องที่ ๑ ชาย ๔ คนช่วยชีวิตหญิงสาวคนหนึ่งไว้ โดยชายที่เป็นหมอดูจับยามรู้ว่าจะมีนกอินทรีคาบหญิงสาวบินผ่านมา นายขมังธนู ได้ยิงธนูขึ้นไปทำให้นกตกใจปล่อยนางตกน้ำ นักประดาน้ำดำลงไปนำนางขึ้นมาแต่นางเสียชีวิตแล้ว ชายที่รู้วิชาชุบชีวิตทำให้นางฟื้นขึ้นใหม่ สรรพสิทธิถามประตูว่าชายคนใดควรได้หญิงนั้นเป็นภรรยา ประตูตอบว่าได้แก่คนที่เป็นหมอดู นางสุวรรณเกษรซึ่งนั่งฟังอยู่ในม่านไม่เห็นด้วย จึงตรัสว่าหญิงนั้นควรได้แก่นักประดาน้ำ เพราะเป็นคนแรกที่จับต้องนาง
เรื่องที่ ๒ มีชาย ๔ คน คนหนึ่งมีเวทมนต์ชุบชีวิต อีก ๓ คน เป็นช่างไม้ ช่างวาด และช่างสลัก ได้ชวนกันไปรับจ้างทำไม้กระดานศาลาการเปรียญ เมื่อช่างไม้แต่งไม้กระดานเรียบแล้วส่งไปให้ช่างวาด วาดเป็นรูปหญิงงาม ช่างสลักนำรูปนั้นมาแกะสลักและชายที่รู้เวทมนตร์ชุบนางให้มีชีวิตขึ้นมา ช่างคนหนึ่งนำเสื้อผ้ามาให้นางนุ่งห่ม สรรพสิทธิถามชวาลาว่าหญิงนั้นควรเป็นภรรยาของชายคนใด ชวาลาตอบว่าควรได้กับช่างที่นำเสื้อผ้ามาให้นางสวมใส่ แต่นางสุวรรณเกษรค้านว่าควรได้แก่ช่างแกะสลัก เพราะได้สัมผัสใกล้ชิดนางมากกว่าชายอื่น
เรื่องที่ ๓ ลูกสาวโจรป่าลักลอบเป็นชู้กับชายหนุ่มคนหนึ่งแล้วซ่อนชู้นั้นไว้ในมวยผม วันหนึ่งโจรป่าสังเกตเห็นลูกสาวตั้งครรภ์ ก็คิดหาวิธีจับชู้ของลูกสาว เผอิญโจรได้พบกับชายซึ่งอมเมียไว้ในปาก และเมียของชายนั้นก็ซ่อนชู้ไว้ในปากด้วย จึงชวนไปที่ถ้ำของตน เมื่อมาถึงโจรป่าสั่งให้ลูกสาวจัดสำรับ ๖ ที่ แล้วเชิญคนทั้งหมดออกมากินอาหารพร้อมกัน ครั้นเสร็จแล้วนายโจรก็กล่าวขึ้นว่า ตนเองรักลูกเหมือนชายคนนั้นรักเมีย ซ่อนเมียไว้ในปากพาไปด้วยทุกหนแห่ง แต่เมียก็ยังมีชู้ เช่นเดียวกับลูกสาวตนซึ่งลักลอบมีสามี โดยไม่เกรงใจหรือบอกกล่าวให้บิดาทราบ ทำให้ตนเสียใจมากจึงไปโดดหน้าผาตาย ชายที่เมียนอกใจก็ไปโดดหน้าผาด้วย ลูกสาวโจรและสามีรวมทั้งเมียและชู้ของชายนั้นก็โดดหน้าผาตายทั้งหมด เนื่องจากละอายต่อบาปที่ตนได้กระทำไว้ ข่าวการตายของคนทั้งหกทราบไปถึงยายหมอเฒ่า ซึ่งเคยไปรักษาไข้ลูกสาวโจร และเป็นผู้ชักจูงชายหนุ่มนั้นให้ได้พบกับลูกสาวโจร จนคนทั้งสองได้เสียกัน นางคิดว่าตนเป็นต้นเหตุการตายของคนทั้งหมด จึงกลั้นใจตายด้วย เมื่อจบนิทาน สรรพสิทธิถามพานพระศรีว่า การที่คนทั้งเจ็ดตายไปนั้นบาปจะตกอยู่ที่ใคร พานพระศรีตอบว่าอยู่กับชายหนุ่มที่ลอบเป็นชู้กับลูกสาวโจร แต่นางสุวรรณเกษรแย้งว่า บาปทั้งหมดต้องตกอยู่กับยายหมอเฒ่า เพราะไปบอกเรื่องราวกับชายหนุ่มจนเกิดเรื่องวุ่นวายขึ้น
เรื่องที่ ๔ นักโทษที่เฉลียวฉลาดคนหนึ่งสามารถแก้ปริศนาเรื่องที่ตั้งบ้านของหญิงสาว ๔ คนได้ นางทั้งหมดยอมเป็นภรรยาคอยปรนนิบัติรับใช้นักโทษ โดยแบ่งหน้าที่กันดังนี้ คนหนึ่งตักน้ำ ตำข้าว คนหนึ่งทำครัว คนหนึ่งจัดหมากพลู และอีกคนจัดที่นอน สรรพสิทธิถามม่านว่าหญิงคนใดใน ๔ คนนี้เป็นภรรยาหลวง ม่านตอบว่าหญิงที่ทำครัว นางสุวรรณเกษรค้านว่าหญิงที่ปูที่นอนนั้นควรเป็นภรรยาหลวง เพราะได้ใกล้ชิดสามีมากกว่าหญิงคนอื่น
เมื่อพนักงานชาวที่ได้ยินเสียงของนางสุวรรณเกษรโต้แย้งปัญหา ก็เข้าใจว่านางพูดกับสรรพสิทธิจึงประโคมดนตรีขึ้นพร้อมกันทุกครั้ง เพื่อเป็นสัญญาณให้พระเจ้าพรหมทัตทรงทราบว่าพระธิดายอมเจรจากับสรรพสิทธิแล้ว ต่อมาพระเจ้าพรหมทัตก็จัดงานอภิเษกสมรสให้กับสรรพสิทธิและนางสุวรรณเกษร พร้อมกับแต่งตั้งให้สรรพสิทธิเป็นพระมหาอุปราชเมืองพาราณสี ทำให้พี่เลี้ยงของสรรพสิทธิอิจฉาริษยาคอยหาโอกาสที่จะทำร้ายอยู่เสมอ
วันหนึ่งสรรพสิทธิและพี่เลี้ยงไปเที่ยวป่ากันตามลำพัง ได้พบกวางทองนอนตายอยู่ สรรพสิทธินึกสนุกจึงถอดหัวใจของตนไปเข้าร่างกวาง โดยฝากร่างไว้กับพี่เลี้ยงแล้วไปท่องเที่ยวป่า พี่เลี้ยงก็ถอดหัวใจตัวเองเข้าร่างของสรรพสิทธิและเผาร่างตัวเองทิ้งเสีย เพื่อทำลายหลักฐานแล้วหนีกลับวัง ฝ่ายนางสุวรรณเกษร เห็นกิริยาอาการของพระสวามีผิดแปลกไปจากเดิม นางจึงสงสัยไม่ยอมยุ่งเกี่ยวด้วยและพยายามบ่ายเบี่ยงให้พี่เลี้ยงในร่างสรรพสิทธิไปหานางข้าหลวงแทน เมื่อกวางทองสรรพสิทธิกลับมาไม่เห็นร่างตน พบแต่ร่างพี่เลี้ยงถูกเผาไฟก็ทราบว่าพี่เลี้ยงทรยศ บังเอิญกวางทองสรรพสิทธิได้พบซากนกแก้วที่ตายแล้ว จึงถอดหัวใจเข้าร่างนกแก้วบินกลับไปหามเหสีที่ในวัง และเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง นางสุวรรณเกษรวางแผนการที่จะให้พระสวามีเข้าร่างเดิม นางได้แสร้งถามสรรพสิทธิตัวปลอมเกี่ยวกับความรู้ความสามารถ พี่เลี้ยงทรยศหลงกลทดลองวิชาถอดหัวใจให้นางดูต่อหน้าประชาชนและข้าราชบริพารทั้งปวง โดยถอดหัวใจของตนออกจากร่างสรรพสิทธิไปเข้าร่างแพะตาย ทำให้แพะนั้นลุกขึ้นวิ่งได้ ฝ่ายพระสรรพสิทธิก็ถอดหัวใจจากนกแก้วเข้าร่างเดิมของตนได้ แล้วสั่งให้พวกเสนาจับแพะมาแหวะหัวใจออกผ่าดู ทำให้ดวงจิตของพี่เลี้ยงทรยศดับสูญ สรรพสิทธิได้ครองราชสมบัติสืบต่อจากพระเจ้าพรหมทัตเป็นเวลาถึง ๑๒๐ ปี ก็สวรรคต พระพุทธเจ้าเทศนาต่อไปว่าสรรพสิทธิและบุคคลอื่น ๆ เวียนว่ายตายเกิดใช้เวรใช้กรรมอีกหลายชาติ ท้ายที่สุด สรรพสิทธิมาเกิดเป็นพระพุทธองค์ นางสุวรรณเกษรเกิดเป็นพระนางพิมพา พี่เลี้ยงเป็นพระเทวทัตซึ่งตามมาปองร้ายพระองค์ทุกชาติ โกทัณฑ์เศรษฐีและนางเขมาเป็นพุทธบิดาและพุทธมารดา เป็นต้น
นกกระจาบเป็นนิทานชาดกที่แพร่หลายทั่วทุกภาคของประเทศไทย ปรากฏในหลายรูปแบบ เช่น นิทานคำเทศนาสั่งสอน และวรรณกรรมลายลักษณ์ เพราะเป็นเรื่องที่ให้ความบันเทิงสนุกสนาน แฝงด้วยคติธรรม เช่น นกกระจาบที่เป็นวรรณกรรมลายลักษณ์ของภาคใต้ฉบับนี้ เน้นในเรื่องของบาปบุญอันเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์และสัตว์ และความเชื่อที่เกี่ยวกับเรื่องชาติภพซึ่งผูกพันอยู่กับกรรมในอดีตของบุคคลนั้น นอกจากวรรณกรรมเรื่องนี้จะมุ่งสอนศีลธรรมให้คนกระทำแต่ความดีแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความเฉลียวฉลาด ความสามารถในการใช้สติปัญญาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ดังตัวอย่างของสรรพสิทธิและนางสุวรรณเกษร ตลอดจนแสดงถึงความรักความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูก และให้แนวคิดเกี่ยวกับชีวิตการครองเรือน กล่าวคือ สามีภรรยาพึงมีความรัก ความซื่อสัตย์ ความหนักแน่น การมีเหตุผล รู้จักประนีประนอมและให้อภัยซึ่งกันและกัน ตัวอย่างของแม่นกกระจาบ ซึ่งขาดความหนักแน่น ไม่มีเหตุผล และไม่รู้จักให้อภัย ทำให้ชีวิตของนางและครอบครัวแตกสลายในที่สุด และยังให้แง่คิดเกี่ยวกับการคบมิตรสหายซึ่งถ้าให้ความไว้วางใจมากเกินไป อาจนำไปสู่ความเดือดร้อนเช่นเดียวกับสรรพสิทธิที่ถูกพี่เลี้ยงทรยศ
วรรณกรรมเรื่องนกกระจาบฉบับนี้มีธรรมเนียมการแต่งคล้ายกับวรรณกรรมเรื่องอื่น ๆ คือ ประกอบด้วยบททรงเครื่อง (แต่งตัว) บทชมนาง บทสังวาส บทชมธรรมชาติ ได้แก่ ชมนก ชมไม้ ชมปลา เป็นต้น ซึ่งผู้แต่งสามารถพรรณนาได้อย่างไพเราะ ทำให้เห็นภาพพจน์ และการบรรยายถึงอารมณ์ต่าง ๆ ของตัวละคร เช่น รัก โกรธ โศกเศร้า ตลกขบขัน ก็ก่อให้เกิดอารมณ์นั้น ๆ แก่ผู้อ่านและผู้ฟัง เช่น ตอนที่บรรยายถึงความรักความห่วงใยของแม่นกกระจาบที่มีต่อลูกขณะเกิดไฟไหม้ป่า ดังนี้
“จิงนางนกกระจาบ เอาปากตนคาบ เอาลูกทันใจ
จะภาลูกตน ไปให้พ้นไฟ คาบไปไม่ได้ ร่ำไรไปมา
ว่าโอ้โลกแก้ว จนใจแม่แล้ว จะม้วยมรนา
คาบไปไม่ได้ จนใจนักนา ประหนมปีกซ้ายขวา
ไหว้เทพในไพรย
จงช้วยลูกข่า อย่าให้มรนา ตายในกลางไฟย
ว่าแล้วหมิช้า ผวาบินเข้าไปย ในรังนั้นไศร ไห้รักลูกตน
ไฟยลุกมาใกล่ ร้อนนักเหลือไจย สุดที่จะทน
คิดถึงลูกรักษ์ ภวักภวงษ์ แม่นกเสียกสน บินไปบินมา
บินออกบินเข้า หลายทบหลายเท้า โศกเศราโสกา
ไฟป่าลุกลาม ตามร้าวป่ามา ใหม่รังสะกุนา ตกลงทันใจ”
ตัวอย่างตอนบรรยายถึง ความโศกเศร้าของนางนกกระจาบหลังจากลูกของนางตายแล้ว และ ความโกรธของนางที่แสดงต่อสามี เมื่อพ่อนกกระจาบกลับมา เช่น
“เหียบเห่าเจ่าเงื่อง กลูมกลัดขัษเคือง ดังดวงหัทยา
จะแตกทำมล้าย เภียงวายชีวา ด้วยว่าบุตรา ตายสิ้นทั้งรัง
ทั้งลูกก็ตาย ทั้งผัวก็หาย แทบว้ายชีวัง
แม่นกร่ำไห้ ว่ากรรมหนหลัง ลูกน้อยร้อยชั่ง ตายในกองไฟย
ยังอยู่แต่ตัว คอยถ้าหาผัว จนเอกาไลย
จนษายันแล้ว โภลแภลมัวไฟ เภลานั้นไสย สิ้นแสงสุริยน”
และ
“แม่นกโกรธนัก ว่าแก่ผัวรักษ์ ยาภักร์เจรจา
ไปเที่ยวเล่นชู้ ไม่รู้หฤๅหนา มุสาเจรจา ชั้งมาแกไขย์
ลืมเมียลืมลูก ยังแต่ก็ดูก กองอยู่ในไฟย์
ตายสิ้นทำเนาว์ ไม่เอาใจใส่ ไปยได้เมียใหม่ จริงหมินำภา”
ผู้แต่งยังได้แทรกบทตลกขบขันไว้ ในตอนที่ลูกของพวกกระฏุมพีเข้าไปพูดกับนางสุวรรณเกษร ดังความว่า
“แม้นเจ้ายอมเป็นเมีย ไม่ให้เสียซึ่งท่วงที
ต้ายด้วยม้วยเป็นผี น้องเจ้าพี่ยาแคลงไจย
ตัวพี่ไม่มีล้วง นางนมภ้วงยาสงข์ไสย
บุญเหลือไม่เชื่อใจย เจ้าจิงไม่เจรจา
แม้นไม่เลี้ยงแนบอก ให้ตกณรกอัตรา
จริง ๆ ให้ฟ้าผ่า หัวคนอื่นให้แตกตาย”
ความบางตอนสะท้อนให้เห็นถึงมารยาทของคนในสังคม เช่น การไม่รู้จักสำรวมกิริยาของสาว ๆ ชาวตลาดเมื่อแลเห็นว่าสรรพสิทธิรูปงาม ต่างแสดงอาการอยากเป็นเจ้าของดังนี้
“เห็นรูปโพธิสัตว์ มีความกำดัด วิ้งตามภรั่งพรู
ลางคนว่าไปย ถ้าได้กับกู้ เปิดนมให้ดู ใช่หูใช่ตา
ลางคนว่าไปย พาอิจังไหร มาทำข้ายหน้า
ได้เป็นผัวกู้ สมหูสมตา จะช้วนเสน่หา หมิได้ขาดวัน
ลางคนว่าเล้า ถ้าได้กับเรา จะดีกว่าหนัน
ให้อยู่ในห้อง กินของกลางวัน ปิดประตูให้หมั้น ทุกวันอัตรา”
นอกจากนี้ เรื่องนกกระจาบฉบับนี้ยังให้ความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรม เช่น พิธีอภิเษกสมรส พิธีศพ และกล่าวถึงการละเล่นในพิธีนั้น ๆ เช่น มโหรี เสภา โขน หนัง ละคร มอญรำ ระบำ เทพทอง เป็นต้น
แม้ว่านิทานชาดกเรื่องนกกระจาบ จะเป็นที่แพร่หลายทั่วไปดังกล่าวแล้ว แต่วรรณกรรมเรื่อง นกกระจาบฉบับนี้ ก็มีลักษณะเฉพาะตัวที่ต่างไปจากเรื่องนกกระจาบหรือสรรพสิทธิฉบับอื่น ๆ เช่น เรื่องสรรพสิทธิชาดก ที่ปรากฏในปัญญาสชาดกของภาคเหนือ โดยเฉพาะตัวละคร เนื้อเรื่อง ภาษา และ คำประพันธ์ของทั้ง ๒ ฉบับแตกต่างกันออกไป เช่น
ตัวละคร สรรพสิทธิในวรรณกรรมเรื่องนกกระจาบฉบับนี้ เป็นบุตรเศรษฐีชื่อ โกทัณฑ์เศรษฐีและนางเขมา ส่วนสรรพสิทธิในปัญญาสชาดกเกิดในตระกูลกษัตริย์ เป็นพระโอรสของพระเจ้าวิชัยราช และพระนางอุบลเทวีแห่งเมืองอลิกนคร
นางสุวรรณเกษร ในวรรณกรรมเรื่องนกกระจาบฉบับนี้ เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าพรหมทัตและพระนางโกสุมเทวีแห่งเมืองพาราณสี แต่ในปัญญาสชาดกกล่าวว่านางชื่อสุวรรณโสภา เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอุสุภราชและพระนางกุสุมพะแห่งเมืองคิริภชนคร
เนื้อเรื่อง เนื้อเรื่องของสรรพสิทธิชาดกในปัญญาสชาดก กล่าวถึงเฉพาะเรื่องราวตอนที่นางสุวรรณโสภาไม่ยอมเจรจากับชายใด จนสรรพสิทธิรับอาสามาเล่านิทานปริศนาให้นางฟัง แล้วทั้งสองก็ได้แต่งงานกัน แต่วรรณกรรมเรื่องนกกระจาบฉบับนี้มีความตั้งแต่สาเหตุที่นกกระจาบ ๒ ตัวผัวเมียบินเข้ากองไฟ แล้วมาเกิดเป็นสรรพสิทธิและนางสุวรรณเกษร เมื่อได้แต่งงานกันมีเรื่องต่อมาว่าสรรพสิทธิออกประพาสป่าถูกพี่เลี้ยงทรยศชิงร่าง จนนางสุวรรณเกษรต้องวางแผนการช่วยเหลือได้สำเร็จ และสรรพสิทธิได้ครองราชสมบัติสืบต่อจากพระเจ้าพรหมทัตอีก ๑๒๐ ปี จึงสวรรคต
นอกจากนี้ในวรรณกรรมเรื่องนกกระจาบฉบับนี้ ยังมีนิทานปริศนาเรื่องลูกสาวโจรป่าอีกด้วย ซึ่งในสรรพสิทธิชาดกของปัญญาสชาดกไม่มี
ภาษาและคำประพันธ์ สรรพสิทธิชาดกในปัญญาสชาดกเดิม พระภิกษุชาวล้านนาเป็นผู้แต่งขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๐๐๐-๒๒๐๐ ต้นฉบับเป็นภาษามคธ ต่อมามีการแปลเป็นภาษาไทยร้อยแก้วเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ รัชสมัยพระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนวรรณกรรมเรื่องนกกระจาบฉบับนี้ พระมหาสุวรรณเป็นผู้แต่งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๕๐ ต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นคำประพันธ์ประเภทกาพย์ สันนิษฐานว่าผู้แต่งเป็นภิกษุชาวภาคใต้ เพราะภาษาที่ใช้แต่งคำประพันธ์ส่วนใหญ่เป็นภาษาถิ่นใต้ เช่น คำว่า ดูก คือกระดูก และคำว่า อีนุ่ย หรือ อีนุ้ย ซึ่งหมายถึงลูกสาว ดังความตอนที่นายโจรป่า ให้ลูกสาวจัดสำรับอาหารว่า
“เดินมาจรจำ ครั้นมาถึงถ่ำ ช้วนกรรเข้าไป
จึงเรียกบุตรี อินุ้ย ไปไหน แขกมาแต่ไกล มากมายนักหนา...
...มากินโภชนา ให้จงพรอมหนา กันสิ้นทุกคน
นายโจรจึ่งว่า ลูกสาวของตน อินุ้ย เจ้ากล เอาผัวตนมา”"
จากหลักฐานที่ปรากฏในเรื่องนกกระจาบฉบับนี้ แสดงให้เห็นว่าภาคใต้มีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านวิทยาการเช่นเดียวกับภาคอื่น ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านวรรณกรรมลายลักษณ์ (อุบลศรี อรรถพันธุ์)