นกเขา : วิธีดูลักษณะ

นกเขา วิธีดูลักษณะ



          การเลี้ยงนกเขาแต่ครั้งโบราณมีจุดประสงค์ ๓ ประการ คือ เลี้ยงไว้ดูเล่นเพราะเป็นนกที่สวยงามอย่างหนึ่ง เลี้ยงเพื่อฟังเสียงขันอันไพเราะอย่างหนึ่ง และเลี้ยงไว้เพื่อเป็นสวัสดิมงคลแก่ตัวและครอบครัวอีกอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเลี้ยงไว้เพื่อผลประการใดดังกล่าวแล้ว ผู้เลี้ยงจะต้องคำนึงถึงลักษณะที่เป็นสิริมงคลเป็นประการแรก เพื่อให้เป็นที่แน่ใจว่าเป็นนกที่มีคุณลักษณะหรือมีลักษณะเป็นโทษ ผู้เลี้ยงมักยึดตำราการดูนกเขาเป็นหลัก ซึ่งประมวลได้ดังนี้

นกเขาใหญ่

.๑ ลักษณะที่เป็นมงคล

(๑) นกตัวใดมีแข้งเป็นสีแดง เล็บขาว ตาทั้ง ๒ ข้าง มีรอยขาวอยู่ข้างใน ถือว่าสามารถระงับไฟไหม้ได้
(๒) นกตัวใดมีสร้อยรอบคอ เป็นนกที่อยู่ในเกณฑ์ดี จะเลี้ยงไว้เพื่อดูเล่นหรือฟังเสียงก็ได้ไม่ให้โทษแก่ผู้เลี้ยง
(๓) นกตัวใดมีขนในปาก จะนำโชคลาภมาให้ผู้เลี้ยงอยู่เป็นนิจและจะกันไฟไหม้บ้านนั้นได้
(๔) นกตัวใดมีขนคอคล้ายลูกประคำแก้ว คือ เป็นรูปวงกลมติดกันอยู่รอบคอ เชื่อว่าสามารถป้องกันศัตรูได้
(๕) นกตัวใดมีขนหางนับได้ ๑๑, ๑๗ หรือ ๑๙ เส้น ใครเลี้ยงไว้จะเป็นเศรษฐีและจะไม่มีโรคภัย
(๖) นกตัวใดมีขนหางนับได้ ๑๓ หรือ ๑๕ เส้น ถือว่าเป็นพญานก ใครเลี้ยงไว้เป็นมงคลจะนำโชคลาภมาสู่
(๗) นกตัวใดมีลักษณะเหมือนองค์พระ คือ ที่ปีกทั้ง ๒ ข้างมีรูปเหมือนตัวอักษร “นะ” ตรงกลางขนหางมีรูปเหมือนตัวอักษร “โม” ขนที่คอมีรูปเหมือนตัวอักษร “พุท” ขนที่โคนหางมีรูปเหมือนอักษร “ธา” และที่ปลายหางมีรูปเหมือนอักษร “ยะ” ท่านว่ามีค่าควรเมือง หากได้พบเห็นและได้เป็นเจ้าของ ให้ทำกรงทองและใช้พานทองใส่ข้าว น้ำ จะเกิดคุณ เกิดโชคลาภเหลือหลาย ไม่ควรแลกหรือ ขายเป็นอันขาด
(๘) ถ้าต้องการเลี้ยงนกเขาใหญ่ไว้เป็นนกต่อ ให้เลือกนกตัวที่มีขนเหมือนกับควันไฟ เท้าทั้ง ๒ ข้างใสสะอาด มีเสียงขันดูแหบ ท่านว่าจะต่อนกได้ไม่เว้นวัน ถ้าผู้เลี้ยงนกดูลักษณะรูปร่างยังไม่แน่ชัด ให้ฟังเสียงขัน
(๙) นกตัวใดขันเสียง “คุรู” จะให้คุณในทางค้าขายและทำไร่นา ถ้านำน้ำที่นกตัวนั้นกินแล้วกระเซ็นออกมาไปประพรมในไร่นา เชื่อว่าพืชผลจะงอกงามบริบูรณ์
(๑๐) นกตัวใดขันมีเสียง “กุกรู” จะป้องกันอันตรายทางราชการ และดีทางค้าขาย

.๒ ลักษณะที่เป็นอัปมงคล

(๑) นกตัวใดขนตรงสันหลังมีรูปเป็นหน้ายักษ์ ผู้ใดเลี้ยงไว้จะเกิดความฉิบหาย
(๒) นกตัวใดขนที่กลางสันหลังเป็นรูปผีเสื้อ เป็นนกไม่ดี
(๓) นกตัวใดมีขนหางนับได้ไม่ครบ ๑๐ เส้น และมีหางสั้นกว่าตัว มีตีนคล้ายตีนเป็ด นกตัวนั้นเป็นเสนียดจัญไร
(๔) นกตัวใดมีขนกลางหลังคล้ายกับขนนกกระจอก และมีนิ้วเท้ารี ผู้ใดเลี้ยงไว้จะเป็นจัณฑาล
(๕) นกตัวใดเวลายืนขนปีกอยู่นิ่ง ๆ ปิดตัวไม่มิดสนิท ใครเลี้ยงไว้จะเกิดเพลิงไหม้ เผาผลาญบ้านเรือนตน
(๖) นกตัวใดเมื่อดมที่หางและที่ปีก มีกลิ่นเหม็นและมีสีเขียวนวล แต่มีลวดลายใหญ่ ฝ่าเท้าทั้ง ๒ มีสีแดง เล็บทั้ง ๒ มีสีแดงคล้ำ นกประเภทนี้เป็นนกอุบาทว์ เป็นจัญไรชั่วชีวิต

นกเขาเล็กหรือนกเขาชวา 

.๑ ลักษณะที่เป็นมงคล

(๑) นกตัวใดมีขนขึ้นที่ปาก เป็นนกหายากเป็นโชคลาภแก่เจ้าของ
(๒) นกตัวใดมีขนงอกในปาก ใครเลี้ยงไว้มีแต่ความสุขความเจริญ ตีราคาเท่าทอง ๑ ลำสำเภา
(๓) นกตัวใดมีขนสีขาวล้อมตามาก ปากกลิ่นหอมดั่งกฤษณา เป็นมงคลแก่ผู้เลี้ยง มีค่าควรเมือง
(๔) นกตัวใดมีขนยาวรอบตา ปากกลิ่นหอมดังกฤษณาเรียกว่ามงคลจักร ใครเลี้ยงไว้จะได้ลาภ ทำนาและค้าขายดี
(๕) นกตัวใดมีขนล้อมตาถึง ๓ รอบ จะให้ลาภ
(๖) นกใดหางยาว เส้นหนึ่งดำนิล เป็นนกประเสริฐนัก
(๗) นกใดมีขนปีกขาวเส้นหนึ่งดี ถ้า ๒ เส้นมีค่าเท่าทอง ๑ ลำสำเภา
(๘) นกตัวใดขนลายเป็นก้นหอย เท้าแดง ข้อเท้ายาว เวลาขันทุกครั้งขยิบตาเป็นนกมหาเสน่ห์ ใครเลี้ยงไว้คนทั้งหลายจะรักใคร่
(๙) นกตัวใดขนขาวเหมือนดั่งหอยสังข์ เป็นนกประเสริฐ ราคาดังทับทิมทอง
(๑๐) นกตัวใดตัวขาว เท้าแดงดังโลหิต ปากชิดแดงเหมือนสีเทียนเป็นนกค่าควรเมือง
(๑๑) นกตัวใดมีปีกขาวพริ้ง เลี้ยงไว้กันอุบาทว์จัญไร
(๑๒) นกตัวใดขนสีแดงอมเหลืองดั่งสีหรดาล ขนคอดั่งเสือสมิงราคา ๒ ชั่งทอง
(๑๓) นกตัวใดมีขนสีขาวมาก สีดำน้อย ขนที่หน้าขาวผ่อง เป็นนกดี
(๑๔) นกตัวใดมีสร้อยใต้คาง มีลายใต้คาง ๓ ขีดคั่นรอบคอ ป้องกันสรรพจัญไรได้ดี
(๑๕) นกตัวใดขนหน้าสีขาวนวล เลี้ยงไว้ดีมีลาภแสนตำลึงทอง
(๑๖) นกตัวใดลายขนเป็นรูปเลข ๑ ใครเลี้ยงไว้จะได้ข้าทาสชายหญิงเพิ่มพูน ได้ทั้งโภคทรัพย์และมีอายุยืนนาน
(๑๗) นกตัวใดสีขนดั่งละอองควันไฟ สร้อยและเท้าแดง ข้อเท้ายาว ขนตาขาว เวลาขันทุกครั้งขยิบตา ใครเลี้ยงไว้เป็นเสน่ห์
(๑๘) นกใดขนขาวเกล็ดแดงเหมือนดังกุ้งต้ม ปากงอนเหมือนนกแก้ว กระพือปีกทุกครั้งที่ขันเป็นพญาราชปักษี ใครเลี้ยงไว้จะปราศจากภัยพาล
(๑๙) นกตัวใดมีขนหาง ๑๑, ๑๗ หรือ ๑๙ เส้น ใครเลี้ยงไว้จะมั่งมีเป็นเศรษฐี
(๒๐) นกตัวใดมีขนหาง ๑๓ หรือ ๑๕ เส้น เป็นพญาราชปักษี กันจัญไรต่าง ๆ และกันไฟไหม้
(๒๑) นกตัวใดสีคล้ายควันไฟ เท้าแดง เสียงแหบเครือเป็นนกต่อดี จะต่อนกได้ไม่เว้นวัน
(๒๒) นกตัวใดสีเขียวดั่งยอดข้าว เท้าแดง รูปร่างดี เวลาขันขยิบตา เป็นนกมหาเสน่ห์
(๒๓) นกตัวใดหางไช (หางกะลวย) มีเส้นเดียวโดด ใครเลี้ยงไว้เป็นมิ่งมงคล กันโทษ และเกิดลาภ
(๒๔) นกตัวใดมีขนหางไชและหน้าผากขาว ขนตัวนวลผ่อง ใครเลี้ยงไว้จะมีลาภ
(๒๕) นกตัวใดขนหางไชลายข้าวตอก กันไฟไหม้ได้
(๒๖) นกตัวใดขนหางสีขาวตลอดเส้น เป็นนกกันอุทบาทว์
(๒๗) นกตัวใดมีขนไช (ขาว) อยู่ตรงท้ายทอยหรือที่หัว เป็นนกดี
(๒๘) นกตัวใดสีขนดำ แข้งดำ เป็นนกมีค่าควรเลี้ยง
(๒๙) นกตัวใดมีขนขาว เขียว เหลือง สร้อยคอดูงามระยับ นกนั้นดีนัก
(๓๐) นกตัวใดนัยน์ตาเหลืองเหมือนทองแดง ใครเลี้ยงไว้จะมั่งคั่งด้วยโภคทรัพย์
(๓๑) นกตัวใดเท้าแดง ริมตาขาว คอยาว ร่างใหญ่ เป็นนกมงคล
(๓๒) นกตัวใดในระหว่างข้างดำ กันไฟไหม้ได้
(๓๓) นกตัวใดผิวเนื้อแดงเหมือนทอง ปากหอมเหมือนกลิ่นกระเทียม เป็นนกดีนัก
(๓๔) นกตัวใดริมตาทั้งสองขาว มีขนลายดำประจำกาย เป็นนกกันอัปมงคล
(๓๕) นกตัวใดฝ่าตีนดำ สะกดเพลิงได้ดี
(๓๖) นกตัวใดยกปีกทุกครั้งที่ขันกันอันตรายดี
(๓๗) นกตัวใดปากเล็ก คอกลม ขนหางรี ขันเสียงไม่ชัด เลี้ยงไว้เจริญดี
(๓๘) นกตัวใดมีแข้งแดง ตาแดง นกนั้นกันโจรภัยดีนัก
(๓๙) นกตัวใดเสียงอ่อน ปากงอนเหมือนนกแก้ว เวลาขันยกปีก เป็นนกประเสริฐ
(๔๐) นกตัวใดลายขนเป็นสี ๕ แถบ แลดูเป็นแนว เวลาจะขันต้องนอนหงาย ใครเลี้ยงไว้จะประสบโชคลาภ
(๔๑) นกตัวใดขันดั่งไก่ชวา เป็นนกประเสริฐ
(๔๒) นกตัวใดขันเสียงเพราะดั่งปี่แก้ว ก่อนขันกระพือปีกเสียก่อน ขันเสียงอ่อน ใครเลี้ยงไว้แม้เคยขัดสนก็จะกลับรุ่งเรือง
(๔๓) นกตัวใดขันฟังเหมือนไม่มีเสียง มีปีกใหญ่และสีขาวกระจ่าง นับเป็นเลิศเหล่าของนกเขาชวา
(๔๔) นกตัวใดเสียงขันฟังได้ว่า “สาธาระณิ” ใครเลี้ยงไว้จะร่ำรวย
(๔๕) นกตัวใดเสียงขันฟังได้ว่า “ปะระพุทโธ” ใครเลี้ยงไว้ จะมีแต่สวัสดิสถาพร ทั้งกันโรคภัยต่าง ๆ
(๔๖) นกตัวใดเสียงขันฟังได้ว่า “กุ-รุ-วา” เป็นคุณแก่การเพาะปลูก ทำไร่ทำนาได้ผลดี
(๔๗) นกตัวใดเสียงขันฟังได้ว่า “กุ-กรู-โป” กันภัยอันตรายได้ดี ทำนาได้ผลดี
(๔๘) นกตัวใดเสียงขันฟังได้ว่า “สาริทุกขัง” หรือ “วาระโปพุทโธ” นกนั้นดีนัก

นอกจากผู้เลี้ยงนกจะเลือกรูปร่างลักษณะและเสียงดังกล่าวมาแล้ว ยังอาจดูจากการบินมาหานกต่อ ซึ่งมีวิธีสังเกตดังนี้

(๔๙) นกตัวใดบินสูงกว่านกต่อ และนกต่อหลบซ่อนท่านว่านกตัวนั้นวิเศษนัก
(๕๐) ถ้านกตัวนั้นบินมาแต่ฝ่ายบูรพา ทักษิณ นกนั้นดีนักแล

ถ้านกตัวใดบินต่ำกว่านกต่อเป็นนกอุบาทว์ ถ้าบินมาข้างขวาของนกต่อ นกนั้นไม่ดีถ้าบินมาแต่ทิศประจิม อุดร เป็นนกไม่ดี

.๒ ลักษณะที่เป็นอัปมงคล

(๑) นกที่มีขนไม่ติดกาย ใครเลี้ยงไว้จะเกิดไฟไหม้บ้าน
(๒) นกขนลายเหมือนนกกระจอก
(๓) นกปากเหม็น
(๔) นกปากเป็นช่อง ปิดไม่สนิท เรียกช่องนั้นว่า “ประตูผี”
(๕) นกหางสั้นกว่าตัว
(๖) นกที่ขนลายเป็นอย่างผีเสื้อ
(๗) นกเท้าสั้น นิ้วติดกันเหมือนตีนเป็ด
(๘) นกที่มีขนทวนเกล็ด เช่น ขนราชสีห์
(๙) นกที่มีทวารแดงดังสีชาด
(๑๐) นกตาดำดังถ่านไฟ เนื้อเขียวเป็นแสงไฟ เล็บดำคล้ำ
(๑๑) นกที่เท้ายาวไม่เท่ากัน

ลักษณะของนกเขาที่เสียงดี
นักเลี้ยงนกเขามีความเชื่อว่าลักษณะลีลาการขันของนกเขา แต่ละตัวจะเป็นไปตามรูปร่างลักษณะพิเศษของนกตัวนั้น ๆ ลักษณะของนกจึงเป็นเครื่องทำนายเสียงนกได้ด้วย ดังนี้

(๑) นกตัวใดปากยาว เสียงขันจะคูยาว
(๒) นกตัวใดจมูกดังนกพิราบ เสียงคูเป็นกังวาน
(๓) นกตัวใดบนกลางจมูกมีเส้นเป็นร่องเห็นชัด นกตัวนั้นเสียงขัน “กุก” หายจะมีแต่เสียง “คู”
(๔) นกที่มีปากล่างไม่เรียว เสียงขันจะกุกพอง กุกเพราะและเบา ถ้าปลายปากเรียวแหลม จะกุกแห้งและหนัก
(๕) นกที่มีขนเคราใต้ปากมากกว่าธรรมดาจะมีเสียงอ่อนหวาน เสียงขรมดี
(๖) นกที่มีรูจมูกยาว และรูจมูกไม่ปิด จะมีเสียงดังและเสียงขึ้นอ่างขรมดี
(๗) นกที่คอยาว คอเรียว ลักษณะเสียงขันจะใหญ่พอง ถ้าคอพองและยาวตลอดไม่เรียบ เสียงจะใหญ่และแข็ง
(๘) นกที่มีลำคอสั้นเสียงจะเล็ก
(๙) นกที่ลายขนเรียงเป็นแถวตามขวางนกนั้นจะขันกุกไม่ซ้ำ ถ้าลายซ้ำซ้อนจะขันกุกซ้ำ
(๑๐) นกตัวใดลิ้นเล็กเสียงใหญ่ ถ้าลิ้นใหญ่เสียงเล็ก


ชื่อคำ : นกเขา : วิธีดูลักษณะ
หมวดหมู่หลัก : ธรรมชาติ ชีวิต และสิ่งแวดล้อม
หมวดหมู่ย่อย : สัตว์
ชื่อผู้แต่ง : สนิท พลเดช
เล่มที่ : ๘
หน้าที่ : ๓๕๗๔