โงงงัง : พืช

ชื่อท้องถิ่น : รอแง กะลอแง (มลายู-นราธิวาส), ดือราแฮ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cratoxylum arborescens (Vahl) Bl. ชื่อวงศ์ : GUTTIFERAE

          โงงงัง เป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงใหญ่ สูง ๒๕-๔๐ เมตร เรือนยอดทรงกระบอกถึงรูป กรวยคว่ำ ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีน้ำตาลแดง เป็นแผ่นบาง ๆ ซ้อนกันหลายชั้น เป็นปึกหนามาก บางครั้งหนาถึง ๕ หรือ ๑๐ เซนติเมตร เปลือกชั้นในบาง เหนียวคล้ายแผ่นหนัง สีน้ำตาลอ่อน หรือ สีเหลืองแกมชมพู มีน้ำยางขุ่นสีเหลืองแกมสีน้ำตาลอ่อนซึมออกมาเป็นเม็ดเล็ก ๆ ใบ เดี่ยว เรียง ตรงข้ามสลับกัน แผ่นใบรูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปไข่กลับแกมรูปหอก ยาว ๘-๑๔ เซนติเมตร กว้าง ๔-๖ เซนติเมตร ผิวใบเกลี้ยง ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีอ่อนกว่า ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบสอบ เส้นแขนงใบ มีมากแต่ไม่เด่นชัด ก้านใบยาว ๐.๓-๑.๒ เซนติเมตร ดอก สีแดง เส้น ผ่านศูนย์กลางประมาณ ๘ มิลลิเมตร ออกเป็นช่อแยกแขนงตามปลายกิ่ง และตามง่ามใบใกล้ยอด แต่ละช่อยาว (๕-) ๑๐-๒๐ เซนติเมตร กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๕ กลีบ แต่ละกลีบแยกกัน แต่ขอบกลีบเรียงเกยกัน ผล รูปกระสวย ยาว ๗-๙ มิลลิเมตร กว้าง ๕-๖ มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงประดับอยู่ที่ขั้ว แตกออกเป็น ๓ เสี่ยง มีเมล็ดมาก เมล็ดเล็กมากมีปีก 

          โงงงังขึ้นกระจัดกระจายทั่วไปในป่าดิบชื้นและป่าพรุ มีเขตการกระจายพันทางภาคใต้ ของประเทศไทย ในต่างประเทศพบที่พม่าตอนใต้ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ออกดอกระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน 

          เนื้อไม้ใช้ก่อสร้างภายในได้ดี (ชวลิต นิยมธรรม, จำลอง เพ็งคล้าย) 

 

ชื่อคำ : โงงงัง : พืช
หมวดหมู่หลัก : ธรรมชาติ ชีวิต และสิ่งแวดล้อม
หมวดหมู่ย่อย : พืช พืชสมุนไพร
ชื่อผู้แต่ง : ชวลิต นิยมธรรม, จำลอง เพ็งคล้าย
เล่มที่ : ๓
หน้าที่ : ๑๔๔๔