เงินตรานโม

         เงินตรานโม หรือ เงินนอโม เป็นเม็ดโลหะที่มีส่วนผสมของเงิน ทำขึ้นเป็นรูปแบบต่าง ๆ มีตราเป็นตัวอักษร น (ย่อมาจากนโมหรือนมัส) ใช้เป็นเครื่องรางของขลัง เงินตรา และเป็นเครื่องประดับในภายหลัง มีศูนย์กลางการผลิตและการใช้อยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช มีความแตกต่างกันทั้งรูปทรงของตัวอักษร ขนาดน้ำหนัก และเนื้อโลหะ จำแนกเป็นกลุ่มใหญ่ได้ ๔ กลุ่ม โดยทุกกลุ่มมีวิวัฒนาการสืบทอดต่อกันลำดับตามก่อนและหลัง ดังนี้

         ๑. เงินตรานโมชนิดเมล็ดข้าวสาร

         ๒. เงินตรานโมชนิดขี้หนู

         ๓. เงินตรานโมชนิดตาไก่

         ๔. เงินพดด้วงและเหรียญประทับตรานโม

ประวัติความเป็นมา

         เงินตรานโมทั้ง ๔ กลุ่ม มีวิวัฒนาการที่สืบต่อกันมา และมีเหตุผลหลายประการที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เงินตรานโมนั้นกำเนิดจากเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีทั้งหลักฐานทางเอกสาร ตัวอย่างเงินตรานโมทุกแบบ ความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมา และโบราณวัตถุโบราณสถานที่สอดคล้องกัน เหตุผลที่จะขอกล่าวอ้างมีรายละเอียดดังนี้

         ประการแรก ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช และตำนานพระธาตุเมืองนคร ได้กล่าวถึงพระเจ้าศรีธรรมโศกราชพร้อมด้วยพระมหาเถรและอธิบดีพราหมณ์ ได้หาอุบายป้องกันโรคห่าซึ่งเกิดขึ้นบ่อย ๆ ให้หายขาด เห็นพ้องกันประกอบพิธีทำเงินตรานโมขึ้น โดยทำพิธีอาฏานา ๙ วัน ๙ คืน ใช้เงินตรานโม ๙ บาตร ปลุกเสกแล้วนำเงินตรานโมนั้นแยกย้ายไปกระทำพิธีลงอาถรรพ์ ฝังไว้ที่ประตูเมืองทั้ง ๙ และตามใบเสมากำแพงเมืองทั้ง ๔ ทิศ ทั้งโปรยและประพรมน้ำมนตราธิคุณนั้นด้วย ตามถนนหนทางและสถานที่สำคัญทั่วพระนครเวียงวัง (ก่อนที่จะทำพิธีลงอาถรรพ์ คงจะประกาศให้ชาวบ้านชาวเมือง ทำความสะอาดบ้านสะอาดเมือง เพื่อเป็นการปัดกวาดเสนียดจัญไรออกไปจากเมืองก่อนกระทำสิ่งที่เป็นสิริมงคลต่อไป ประเพณีนี้ได้ตกทอดสืบต่อมา เรียกว่าพิธีขับไล่แม่มด และเพิ่งจะถูกยกเลิกไปเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕) ที่เหลือยังได้แจกจ่ายแก่ราษฎรทั่วไป ตั้งแต่นั้นมาโรคร้ายก็หายไปทำให้ชาวเมืองนครเชื่อถือเงินตรานโมว่าศักดิ์สิทธิ์ และเชื่อถือสืบต่อกันมาหลายร้อยปีแล้ว วิเคราะห์ตามหลักฐานที่ปรากฏ ในตำนานจะได้ข้อสรุปว่า มีการสร้างเงินตรานโมขึ้นเพื่อขับไล่โรคห่า ซึ่งเป็นการนำมาใช้เป็นเครื่องรางของขลังในพิธีใหญ่เป็นครั้งแรก แต่รูปแบบของเงินตรานโมก่อนหน้านั้นจะมีอยู่หรือไม่มิได้กล่าวถึง ส่วนพิธีการขับไล่โรคห่าได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา เรียกว่า พิธีขับไล่แม่มด เพิ่งจะหยุดไปเมื่อ ไม่นานนี้เอง กำแพงเมืองที่ได้กล่าวถึงในตำนานนั้น เป็นลักษณะของกำแพงเมืองในสมัยเมืองนครศรีธรรมราช (ตรงกับสมัยอยุธยา)

         ประการที่ ๒ เงินตรานโมทุกชนิดดังที่ได้จำแนกไว้ข้างต้น ได้แก่ ชนิดเมล็ดข้าวสาร และเงินพดด้วงและเหรียญประทับตรานโมนั้นพบที่เมืองนครศรีธรรมราชเท่านั้น ส่วนชนิดขี้หนู และชนิดตาไก่ แม้ปรากฏว่าพบที่อื่น ๆ บ้าง แต่ก็เป็นการพบในจำนวนน้อย (ยกเว้นการพบเงินตรานโมชนิดตาไก่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เป็นการพบในลักษณะพิเศษซึ่งจะกล่าวในภายหลัง) แต่มีหลักฐานการพบเงินตรานโมสองชนิดนี้ในนครศรีธรรมราชเป็นจำนวนมาก อาณาเขตของนครศรีธรรมราชในอดีต จะหมายถึงพื้นที่บางส่วนของพัทลุง สงขลาและสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน ทั้งนี้ในสมัยโบราณตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นไป พื้นที่เหล่านี้จัดอยู่ในเขตพื้นที่ของนครศรีธรรมราชด้วย

         ประการที่ ๓ เงินตรานโมชนิดเมล็ดข้าวสาร มีลักษณะรูปร่าง ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่มองเห็นได้ชัดว่า ทำขึ้นอย่างง่าย ๆ ไม่ประณีตอย่างเงินตรานโมชนิดอื่น ๆ จึงสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นต้นแบบของเงินตรานโมชนิดอื่น ๆ รูปแบบของเงินตราชนิดนี้ ก็ทำให้คิดไปได้ว่าเป็นจลลึงค์แบบหนึ่ง (ลึงค์ที่เคลื่อนไหวได้) ตามคติของพราหมณ์ไศวนิกาย แพร่หลายเข้ามาในแหลมสุวรรณภูมิของไทย เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๓ ตัวอักษร “น” และ “ม” ๒ ตัว ที่ปรากฏอยู่บนเม็ดนั้น ก็คล้ายกับตัวอักษรที่ปรากฏอยู่บนศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ ซึ่งจารึกเมื่อ พ.ศ.๑๓๑๘ เงินตรานโมชนิดนี้จึงน่ากำเนิดขึ้นในสมัยที่ใกล้เคียงกันคือในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ หลักฐานสอดคล้องกับเงินตรานโมชนิดนี้ คือการพบ ศิวลึงค์และโบราณสถานต่าง ๆ ที่เป็นพราหมณ์ไศวนิกายเป็นจำนวนมากในจังหวัดนครศรีธรรมราช และเชื่อกันว่าเป็นของสมัยอาณาจักรตามพรลิงค์ อันเป็นชื่ออาณาจักรเก่าแก่ของนครศรีธรรมราช

         ประการที่ ๔ ความเชื่อในเงินตรานโมว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวนครศรีธรรมราชมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ จวบจนปัจจุบันไม่ขาดตอน ดูได้จากลักษณะของเงินตรานโมชนิดต่าง ๆ ที่มีการพัฒนาต่อเนื่องสืบทอดกันมา ทั้งรูปทรงและตัวอักษร ในระยะแรก คงใช้เป็นเครื่องรางของขลัง และต่อมาก็ใช้เป็นสื่อกลางในการกำหนดค่าแลกเปลี่ยนสิ่งของ หรือเป็นเครื่องรางของขลังในขณะเดียวกันก็เป็นสื่อการแลกเปลี่ยนที่เรียกกันว่า เงินตรา ด้วย ในปัจจุบันในเมืองนครศรีธรรมราชก็ยังมีการทำเงินตรานโมกันขึ้นแต่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องประดับ

         จากเหตุผล ๔ ประการดังกล่าว คงจะพอแสดงให้เห็นแล้วว่า เงินตรานโมกำเนิดขึ้น ที่นครศรีธรรมราช คำถามที่ว่ากำเนิดก่อนหน้าที่จะมีพิธีขับไล่โรคห่าหรือไม่ มีข้อน่าสังเกตว่า โรคห่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน คร่าชีวิตคนไปเป็นจำนวนมากและอย่างรวดเร็ว คนสมัยนั้นคงไม่ทราบสมมติฐานของโรค สิ่งที่คิดได้และเป็นสัญชาตญาณมนุษย์ก็แสดงออกด้วยการสร้างขวัญขึ้นกับชุมชน ด้วยการจัดพิธีกรรมขึ้นซึ่งก็ต้องอาศัยเจ้าพิธี ในขณะนั้นก็มีทั้งฝ่ายศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ส่วนเครื่องรางของขลังที่มีอยู่ในขณะนั้น ก็คงเป็นจลลึงค์ตามคติของพราหมณ์หรือที่เรียกกันว่า “เงินตรานโม” เป็นสิ่งที่มีใช้กันมานานแล้ว เพราะสิ่งนี้สร้างขึ้นด้วยความคิดสร้างสรรค์ ส่วนต่าง ๆ ได้แก่ ตัวเม็ด รอยค้อน ตัวอักษร และร่องบากที่ประกอบกันเป็นรูปแบบเงินตรานโมนั้น มีความหมายและมีวิวัฒนการในตัวเอง และยังต้องอาศัยความชำนาญ ประสบการณ์ในการสร้าง ในสถานการณ์ที่ต้องแก้ไขอย่างรวดเร็วเช่นนี้ คงไม่มีเวลามากพอเอื้อให้คิดและสร้างกันขึ้นเป็นของใหม่ เงินตรานโมชนิดที่พบกระจัดกระจายอยู่ค่อนข้างมาก กินพื้นที่กว้างในนครศรีธรรมราชนั้น เป็นเงินตรานโมชนิดตาไก่ซึ่งเป็นเงินตรานโมชนิดหลังและพื้นที่ที่พบมากก็เป็นพื้นที่ตั้งเมือง สมัยเมืองนครดอนพระ หรือเรียกกันว่า สมัยนครศรีธรรมราช หลักฐานที่เป็นของจริงกับหลักฐานที่กล่าวไว้ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชก็สอดคล้องกัน มีข้อสันนิษฐานอีกอย่างหนึ่งคือ ในขณะที่ทำพิธีขับไล่โรคห่า ก่อนที่จะมีการโปรยเงินตรานโม คงจะมีการประกาศให้ทำความสะอาดบ้านสะอาดเมืองกันดังเช่นพฤติกรรมการทำพิธีกรรมอื่น ๆ ของพราหมณ์ ก่อนที่จะนมัสการพระเจ้า จะต้องมีการถือศีลและอาบน้ำชำระกายเพื่อทำกายให้สะอาด ทำบ้านทำเมืองให้สะอาด กลายเป็นการป้องกันและกำจัดการแพร่กระจายของโรคห่าไปโดยปริยาย จะเป็นภูมิปัญญาของปราชญ์ในสมัยนั้นหรือเป็นความบังเอิญที่เหมาะสมกับเหตุการณ์ มิใช่ปัญหาสำคัญที่จะหาคำตอบกัน ประเพณีการทำความสะอาดเพื่อรับปีใหม่ฟ้าใหม่ เชื่อกันว่าจะเป็น สิริมงคลแก่ตนเอง ครอบครัว และบ้านเมือง ก็มีการปฏิบัติต่อเนื่องตกทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

         จากการพบหลักฐานต่าง ๆ มากมายในนครศรีธรรมราช ทำให้ยอมรับกันแล้วว่า ตามพรลิงค์เป็นรัฐเก่าแก่ของนครศรีธรรมราชในอดีตจริง หนึ่งในหลักฐานทางโบราณคดีที่พบกันค่อนข้างมาก จนอาจจะกล่าวได้ว่า สิ่งนี้เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของรัฐนี้ คือ ศิวลึงค์ เป็นสิ่งที่พวกพราหมณ์สร้างขึ้นเพื่อบูชาพระเจ้าตามลัทธิไศวนิกาย ซึ่งแพร่จากอินเดียเข้ามาในภาคใต้ของไทยเริ่มตั้งแต่สมัย พุทธศตวรรษที่ ๑๐ เป็นต้นมา ศิวลึงค์ที่กล่าวถึงในที่นี้เป็นชนิดมนุษย์ลึงค์ มีส่วนประกอบ ๒ ส่วน คือส่วนที่เป็นลึงค์ มีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศชาย ตัวลึงค์แบ่งเป็น ๓ ภาค ส่วนบนเรียก รุทรภาค ส่วนกลางเรียก วิษณุภาค และส่วนล่างเรียกพรหมภาค เป็นเครื่องหมายแทนองค์พระศิวะซึ่งเป็นเทพประธาน ส่วนที่เป็นฐานรองรับลึงค์ เรียกว่า โยนิโทรณะ มีลักษณะคล้ายโยนี เป็นสัญลักษณ์ของเทพีตามคติการบูชาพละกำลังของเทพีในคติของลัทธิศักติ หมายถึงพระนางปารวตี หรือพระอุมา ชายาของพระศิวะ

         หากพิจารณารูปลักษณ์ของเงินตรานโมอย่างละเอียด จะเห็นได้ว่า เงินตรานโมมีส่วนประกอบที่คล้ายคลึงหรือมีความหมายในทำนองเดียวกันกับศิวลึงค์ ส่วนประกอบของเงินตรานโมมีดังนี้

         ตัวเม็ด เงินตรานโมชนิดเมล็ดข้าวสารมีส่วนประกอบต่าง ๆ ที่มีลักษณะที่ทำให้มองเห็นว่า เป็นชนิดที่น่าจะสร้างขึ้นก่อนชนิดอื่น ๆ รูปทรงของตัวเม็ด มีลักษณะเป็นแท่งคล้ายลึงค์ ความหมายของตัวเม็ด จึงน่าจะหมายถึงศิวเทพ ตัวเม็ดของเงินตรานโมชนิดขี้หนู ดูป้อมสั้น ไม่เป็นแท่ง ตัวเม็ดก่อนที่จะถูกตีเป็นรอยค้อนจะมีลักษณะกลมรี น่าจะถูกสร้างขึ้นด้วยวิธีหลอมโลหะเทในแม่พิมพ์ จากตัวอย่างที่พบมี ๓ ขนาด ในขนาดเดียวกัน จะมีน้ำหนักเท่ากันทุกเม็ด เป็นสิ่งพิสูจน์ว่าทำจากเบ้าแม่พิมพ์เดียวกัน เม็ดเงินตรานโนชนิดขี้หนูที่เห็นป่องตรงกลางนั้น เกิดจากการตีของร่องบากด้านหลัง ส่วนเงินตรานโมชนิดตาไก่ มีรูปทรงที่ค่อนข้างกลม บางรุ่นก็กลมรี เป็นวิวัฒนาการมาจากเงินตรานโมชนิดขี้หนู

         รอยค้อน เงินตรานโมชนิดเมล็ดข้าวสาร ชนิดขี้หนูและชนิดตาไก่ อันเป็นเงินตรานโมโบราณ ล้วนมีรอยค้อนตีขนาบข้างบนและข้างล่างข้างละ ๓ รอย ความหมายของรอยค้อนหมายถึง “ตรีมูรติ” หรือ “โอม” ซึ่งมาจากคำว่า “อะ-อุ-มะ” เป็นคำแทนองค์พระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม รอยค้อนจะตีทำมุมลดหลั่นกันจากด้านนอกเข้ามาสู่ด้านในของด้านหลังเม็ดอย่างเป็นระเบียบ หากพิจารณาอย่างละเอียดแล้วจากตัวอย่างหลาย ๆ เม็ด จะเห็นได้ว่ามุมลาดเอียงของรอยค้อนของแต่ละเม็ดจะไม่เท่ากันทีเดียว เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการตีทีละเม็ดด้วยงานฝีมือ ช่างเครื่องเงินและช่างถมในปัจจุบัน ต่างยอมรับกันว่าตรงจุดนี้เป็นการยากที่จะทำเลียนแบบให้ประณีตได้เหมือนอย่างช่างในสมัยโบราณ รอยค้อนนี้จึงเป็นตำแหน่งหนึ่งที่สามารถนำมาตรวจสอบแยกแยะได้ว่าเงินตราเม็ดใดเป็นฝีมือคนโบราณ เม็ดใดเป็นฝีมือช่างในปัจจุบัน รอยค้อนของเงินตรานโมชนิดเมล็ดข้าวสาร ดูเหมือนจะเป็นฝีมือการตีที่ค่อนข้างง่ายกว่าเงินตรานโมชนิดอื่นๆ กล่าวคือ รอยค้อนแรก ตีที่ข้างบนและล่าง ทำมุม ๙๐ องศากับด้านหน้าของตัวเม็ด รอยค้อนที่ ๒ ตีที่มุม ทำมุม ๑๓๕ องศากับรอยแรก รอยค้อนที่ ๓ ตีที่ระนาบด้านหลัง ส่วนรอยค้อนของเงินตรานโมชนิดขี้หนูนั้น คล้ายกับรอยค้อนของเงินตรานโมชนิดเมล็ดข้าวสาร จะต่างกันที่รอยที่ ๒ จะตีเป็นรอยกว้างใหญ่กว่า และรอยที่ ๓ จะตีทำมุมประมาณ ๑๕๐-๑๖๐ องศากับรอยที่ ๒ ไม่ตีบนระนาบของด้านหลังอย่างชนิดเมล็ดข้าวสาร ส่วนเงินตรานโมชนิดตาไก่ รอยแรกจะตีหลบมุมด้านหน้าของเม็ด ทำให้มองจากด้านหน้า เห็นเป็นรูปทรงกลม ไม่เห็นรอยค้อนอย่างในชนิดขี้หนู ซึ่งในชนิดขี้หนูเมื่อดูจากด้านหน้าจะเห็นข้างบนและข้างล่างเป็นรูปหน้าตัดไม่กลมรีอย่างชนิดตาไก่ รอยค้อนของเงินตรานโมทั้งชนิดขี้หนูและชนิดตาไก่ ทำให้ขอบของร่องบากด้านหลังเม็ดเบียดเข้าหากันเล็กน้อย

         ตัวอักษร ตัวอักษรที่ปรากฏอยู่บนเม็ดเงินตรานโมชนิดต่าง ๆ นั้น เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า เงินตรานโมชนิดใดเกิดขึ้นก่อนหรือหลัง ตัวอักษรที่ประทับอยู่บนเงินตรานโมชนิดเมล็ดข้าวสาร มี ๒ ตัว คือ “นะ” และ “มะ” มาจากคำว่า “นมัส” เป็นตัวอักษรแบบหลังปัลลวะที่คล้ายกับตัวอักษรที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ จารึกเมื่อปีพ.ศ.๑๓๑๘ พบที่วัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนตัวอักษรที่ประทับอยู่บนเงินตรานโมชนิดขี้หนู มีอักษร “นะ” เพียงตัวเดียว จากตัวอย่างจำนวนมากสามารถแยกลักษณะของตัวอักษรที่แตกต่างกันออกได้เป็น ๓ กลุ่ม ความแตกต่างนั้นคงเกิดจากกาลเวลาที่ผ่านมามีการผลิตกันหลายรุ่น จากฝีมือช่างหลายคน ทำให้ตัวอักษร “นะ” ซึ่งเดิมเป็นตัวอักษรแบบขอมโบราณคล้ายกับอักษรที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ จารึกเมื่อพ.ศ.๑๗๗๓ เป็นจารึกที่กล่าวถึงเรื่องราวของพระเจ้าจันทรภาณุแห่งตามพรลิงค์ พบที่วัดหัวเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากอักษร “นะ” ที่สมบูรณ์ค่อย ๆ แปรเปลี่ยนไป เส้นด้านซ้ายที่ม้วนเป็นวงซึ่งตัวที่สมบูรณ์ปลายจะจดกับเส้นแนวนอนด้านขวา ส่วนแบบที่แปรเปลี่ยนไป ปลายเส้นจะไม่จดกับเส้นแนวนอนด้านขวา บางตัวกลับชูสูงขึ้น และในขณะเดียวกันเส้นแนวนอนด้านขวานี้กลับเคลื่อนต่ำลง

         ตัว “นะ” และตัว “มะ” ที่ปรากฏอยู่บนเงินตรานโมชนิดเมล็ดข้าวสาร

         ตัวอย่างตัวอักษรของเงินตรานโมชนิดขี้หนูแบบที่ ๑

         ตัวอย่างตัวอักษรของเงินตรานโมชนิดขี้หนูแบบที่ ๒

         ตัวอย่างตัวอักษรของเงินตรานโมชนิดขี้หนูแบบที่ ๓

         ตัวอย่างตัวอักษร “นะ” ที่แปรเปลี่ยนไป ปรากฏอยู่บนเงินตรานโมชนิดตาไก่

         ส่วนตัวอักษรที่ปรากฏอยู่บนเงินตรานโมชนิดตาไก่นั้น เป็นแบบที่มีวิวัฒนาการมาจากตัวอักษรแบบที่ ๓ ที่ปรากฏอยู่บนเม็ดเงินตรานโมขี้หนู เส้นแนวนอนเส้นล่างด้านขวาของตัวอักษรที่ปรากฏในเงินตรา นโมตาไก่ เคลื่อนต่ำลงมาจนเสมอกับฐานและกลายเป็นเส้นเดียวกันกับเส้นด้านซ้ายที่มีปลายม้วนขึ้น แต่ก็ยังเหลือเค้าเดิมว่าเป็นคนละเส้นกัน โดยที่ทางด้านขวาของเส้นฐานนั้นมักจะหนากว่าทางด้านซ้าย ตัวอักษรบนเงินตรานโมชนิดตาไก่ก็พบว่ามีหลายแบบ ในปัจจุบันนักวิชาการบางท่าน ไม่ได้เห็นแบบอย่างการวิวัฒนาการของตัวอักษรบนเงินตรานโมชนิดต่าง ๆ จึงเขียนตัวอักษร “นะ” นี้เป็น “ ” ไป

         ร่องบาก เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่เงินตรานโมทุกกลุ่มทุกชนิดจะขาดเสียมิได้ ที่ด้านหลังทุกเม็ดจะต้องมีร่องบากขวางกลางตัวเม็ดเสมอไป ที่มุมทั้งสองข้างร่องบาก จะเห็นเป็นเหลี่ยมคมชัด เป็นอีกตำแหน่งหนึ่งที่นำมาพิสูจน์กันว่าเป็นฝีมือของคนโบราณหรือไม่ เพราะร่องบากของเงินตรานโมที่สร้างขึ้นในสมัยหลังนั้นเท่าที่พบจะไม่เป็นเหลี่ยมคมชัด ร่องบากของเงินตรานโมมีลักษณะคล้ายร่องโยนิ โดยเฉพาะเงินตรานโมชนิดขี้หนูจะมองเห็นได้ชัดที่สุด และเมื่อดูจากด้านข้างของตัวเม็ด จะเห็นได้ว่า มีลักษณะคล้ายกับก้นของมนุษย์ ร่องบากนี้จึงควรหมายถึงพระนางปารวตีหรือพระอุมาพระชายาของพระศิวะ ซึ่งมีความหมายเช่นเดียวกับโยนิโทรณะที่ประกอบกับศิวลึงค์

         ส่วนผสมของโลหะของตัวเม็ด เงินตรานโมทุกชนิดล้วนสร้างขึ้นจากโลหะผสมหลายชนิด โดยที่แต่ละชนิดอาจจะมีส่วนผสมที่ต่างกัน หรือมีสัดส่วนของโลหะที่ต่างกัน มยูร กาญจนสุวรรณ ซึ่งเป็น ผู้หนึ่งที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องเงินตรานโมในสมัยโบราณจากบรรพบุรุษ ได้เขียนบทความ ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ในหนังสืองานประจำเดือนสิบ พ.ศ.๒๔๗๗ ไว้ว่า เงินตรานโมมีส่วนผสมของสัตโลหะ (โลหะ ๗ อย่าง) และบางรุ่นก็เป็นเนาวโลหะ (โลหะ ๙ อย่าง) ซึ่งการผสมโลหะเหล่านี้เข้าด้วยกันนั้น ต้องมีกรรมวิธีพิเศษ ในสมัยโบราณเรียกว่า การเล่นแร่แปรธาตุ

         แร่ธาตุต่าง ๆ เหล่านี้จะมีคุณสมบัติและจุดหลอมเหลวที่ต่างกัน แร่ธาตุต่าง ๆ มีจุดหลอมเหลวดังนี้

         ทองคำ Gold (Au)

มีจุดหลอมเหลวที่ ๑๐๖๓ องศาเซลเซียส

         ทองขาว (ทองอุไร) Platinum (Pt)

มีจุดหลอมเหลวที่ ๑๗๗๔ องศาเซลเซียส

         ทองแดง Copper (Cu)

มีจุดหลอมเหลวที่ ๑๐๘๓ องศาเซลเซียน

         เงิน Silver (Ag)

มีจุดหลอมเหลวที่ ๙๖๑ องศาเซลเซียส

         เหล็ก Iron (Fe)

มีจุดหลอมเหลวที่ ๑๕๓๕ องศาเซลเซียส

         สังกะสี Zinc (Zn)

มีจุดหลอมเหลวที่ ๔๑๙ องศาเซลเซียส

         ปรอท Mercury (Hg)

มีจุดเดือดที่ ๓๕๗ องศาเซลเซียส

         พลวง Antimony (Sb)

มีจุดหลอมเหลวที่ ๖๓๑ องศาเซลเซียส

         ตะกั่ว Lead (Pb)

มีจุดหลอมเหลวที่ ๓๒๗ องศาเซลเซียส

         ในจำนวนแร่ดังกล่าว มีปรอทอยู่ในรูปของของเหลว มีคุณสมบัติที่ไม่สามารถผสมอยู่กับโลหะอื่น ๆ ได้ แต่จับเกาะโลหะบางชนิดได้ จึงเป็นไปได้ว่า การใช้ปรอทในขบวนการผลิตนั้น ทำได้เพียงนำมาฉาบผิวเม็ดของเงินตรานโม เพื่อให้ดูเงามันและให้ครบสูตรเอาเคล็ดตามตำราเท่านั้น คนในสมัยโบราณคงจะไม่ทราบว่าโลหะแต่ละชนิด มีจุดหลอมเหลวที่ความร้อนเท่าใด แต่ก็คงจะพอทราบว่า ในการหลอมนั้นโลหะชนิดใดต้องใช้ความร้อนต่ำและสูงกว่ากัน กรรมวิธีในการหลอมนั้น ก็คงจะใช้หลักการหลอมโลหะชนิดที่ใช้ความร้อนสูงหลอมเหลวช้ากว่าชนิดที่หลอมเหลวได้เร็วกว่าตามลำดับลงมา เมื่อสำเร็จเป็นตัวเม็ดแล้ว โลหะที่จับเกาะรวมกันอยู่นั้น ก็ยากที่นำมาหลอมเหลวด้วยความร้อนได้ หลายท่านที่มีตัวอย่างเงินตรานโมโบราณ ต้องการพิสูจน์ว่าเป็นของแท้หรือไม่ด้วยการนำไปเผาไฟ ปรากฏว่าตัวเม็ดแตกกระจายเป็นผง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสาเหตุที่โลหะที่ผสมอยู่ในตัวเม็ดมีจุดหลอมเหลวต่างกัน เมื่อถูกความร้อนอณูของโลหะที่มีจุดหลอมเหลวต่ำกว่าจะขยายตัวมาก ในขณะเดียวกันอณูของโลหะที่มีจุดหลอมเหลวสูงกว่ายังไม่ขยายตัวการขยายตัวของโลหะที่ไม่สม่ำเสมอกัน ทำให้เกิดการเบียดและแบ่งตัวออกและแตกกระจาย จากการสังเกตได้ทราบว่า เงินตรานโมชนิดที่ถูกความร้อนสูงแล้วแตกกระจายนั้น มักจะมีสีผิวเป็นสีเหลืองทองอ่อน ๆ ผิวเป็นเงามัน สันนิษฐานว่าเม็ดนั้นจะมีส่วนผสมของทอง ทองแดงซึ่งเป็นโลหะที่มีจุดหลอมเหลวสูงในสัดส่วน ที่ค่อนข้างสูง ส่วนเม็ดที่มีสีผิวค่อนข้างคล้ำ ไม่เป็นเงามัน เมื่อถูกความร้อนสูงก็ไม่แตกกระจาย หรือบางครั้งเพียงแต่เกิดรอยร้าวขึ้น สันนิษฐานว่าจะมีส่วนผสมของโลหะที่มีจุดหลอมเหลวสูงในสัดส่วนที่น้อยกว่า

         ส่วนประกอบต่าง ๆ ของเงินตรานโม มีความหมายอยู่ในตัว คงมิได้ทำขึ้นเพื่อความสวยงามเท่านั้น ความหมายรวมของเงินตรานโม คือ “โอม-นมัส-ศิวะ-อุมะ” เป็นการนมัสการเทพของพราหมณ์ในไศวนิกายทำนองเดียวกับศิวลึงค์ เงินตรานโมจึงควรเป็นจลลึงค์ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องรางของขลังที่มีความสวยงามประณีตและมีความหมายในตัวครบถ้วน เป็นศิลปะที่น่ายกย่องในภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ของคนโบราณในนครศรีธรรมราชเป็นอย่างมาก และที่ต่างกับชนิดอื่น ๆ ตรงที่จลลึงค์โดยทั่วไปมักจะเป็นรูปลึงค์เพียงอย่างเดียว แต่จลลึงค์ที่เรียกกันว่าเงินตรานโมนั้น เป็น “ลิงคัม-โยนิ” ซึ่งพราหมณ์ไศวนิกายถือว่าเป็นการบูชาทั้งเทพและเทพีพร้อมกันไป และได้กุศลมากกว่าการบูชาเทพหรือเทพีเพียงอย่างหนึ่งอย่างใด

 ลักษณะทางกายภาพ แหล่งและลักษณะการพบ และยุคสมัยของการใช้

         เงินตรานโมชนิดเมล็ดข้าวสาร

         ลักษณะทางกายภาพ ตัวเม็ดมีความหนาเท่าก้านไม้ขีดไฟ ยาวประมาณ ๐.๗ เซนติเมตร มีน้ำหนัก ๐.๘ กรัม มีสัณฐานคล้ายเมล็ดข้าวสาร จึงเรียกเงินตรานโมชนิดเมล็ดข้าวสาร ส่วนประกอบต่าง ๆ ทำกันอย่างง่าย ๆ ไม่ค่อยประณีต

         แหล่งและลักษณะ พบในอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชจำนวนหนึ่ง เป็นสมบัติที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ

         การพบ ยังไม่ปรากฏว่าพบที่อื่นอีก

         ยุคสมัยของการใช้ จากรูปลักษณ์ของตัวเม็ดและตัวอักษร ทำให้สันนิษฐานว่าเงินตรานโมชนิดนี้เป็นต้นแบบของชนิดอื่น ๆ และน่าจะมีใช้กันราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ (เปรียบเทียบจากตัวอักษรที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๒๓) เริ่มจากการใช้เป็นเครื่องรางของขลัง ด้วยเหตุที่มีคุณค่าอยู่ในตัวมีทั้งความหมายและคุณค่าในเนื้อโลหะ จึงทำให้กลายเป็นตัวกำหนดค่าสิ่งของอื่น ๆ และเป็นสื่อกลางของการแลกเปลี่ยนไปในที่สุด เมื่อกลายเป็นเงินตราก็ควรจะมีหลายขนาด หรือสร้างกันหลายรุ่น แต่ขณะนี้ยังไม่พบ

         เงินตรานโมชนิดขี้หนู

         ลักษณะทางกายภาพ เท่าที่พบมี ๓ ขนาด ขนาดใหญ่มีน้ำหนัก ๑.๓ กรัม ขนาดกลางหนัก ๑ กรัม และขนาดเล็กหนัก ๐.๖-๐.๗ กรัม รูปทรงกระบอก ป้อมสั้น ป่องกลางเล็กน้อย ฝีมือในการทำประณีต สวยงาม ตัวอักษรที่ปรากฏอยู่บนเม็ดนั้น มีหลายแบบ

         แหล่งและลักษณะการพบ มีผู้พบเงินตรานโมชนิดนี้ตามพื้นดินในบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งเมืองพระเวียง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของตำบลในเมืองในปัจจุบัน และในคลองท่าวัง (คลองท่าซัก) ตำแหน่งที่เคยเป็นท่าเรือในสมัยเมืองนครศรีธรรมราช (ตรงกับสมัยอยุธยา) และสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในตำบลท่าวัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช แต่พบในจำนวนไม่มากนัก พบที่นอกเขตนครศรีธรรมราช ได้แก่ ที่เขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี การพบในลักษณะบรรจุกระปุกหรือไหขนาดเล็กของสมัยสุโขทัยและสมัยซ้องของจีน พบค่อนข้างน้อย ในเขตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ที่เขาพระบาท (เขาบาท) อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และที่อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และได้ข่าวที่ไม่มีการยืนยัน (แต่มีหลักฐานตัวอย่างที่พบ) ว่า พบในคลองในเขตจังหวัดพิษณุโลก ตัวอย่างที่พบทั่วไปเป็นเงินตรานโมขนาดใหญ่ ส่วนขนาดกลางและขนาดเล็กพบที่เมืองนครศรีธรรมราชเพียงแห่งเดียว จำนวนรวมของเงินตรานโมชนิดขี้หนูเท่าที่พบ มีจำนวนน้อยกว่าชนิดตาไก่มาก

         ยุคสมัยของการใช้ ตัวอักษรในเงินตรานโมชนิดขี้หนู เป็นตัวอักษรแบบขอมโบราณ คล้ายกับตัวอักษรที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะมีใช้ในพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๒๐ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวนาน แต่ก็สอดคล้องกับตัวอย่างที่พบว่าตัวอักษรมีหลายแบบหลายพิมพ์ ส่วนเงินตรานโมชนิดเมล็ดข้าวสารนั้น มีตัวอักษร ๒ ตัว เป็นแบบหลังปัลลวะ ลักษณะของเงินตรานโมทั้ง ๒ ชนิดนี้ ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีความต่อเนื่องกัน ในช่วงเวลาที่ขาดตอนนี้จะมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับการสิ้นสลายของชุมชนในแหล่งโบราณคดีสิชล ท่าศาลาและลานสกา ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมของพราหมณ์หรือไม่มีความเกี่ยวพันกับการตั้งเมืองพระเวียงในบริเวณที่เรียกว่ากระหม่อมโคกและการเกิดขึ้นของราชวงศ์ปทุมวงศ์หรือไม่เป็นสิ่งที่น่าศึกษาต่อไป เงินตรานโมชนิดขี้หนูมี ๓ ขนาด ทำให้เห็นได้ชัดยิ่งขึ้นว่า เป็นลักษณะที่แยกย่อยของระบบเงินตราขนาดใหญ่เป็นเฟื้อง ขนาดกลางเป็นกึ่งเฟื้อง และขนาดเล็กเป็นไพ

         เงินตรานโมชนิดตาไก่

         ลักษณะทางกายภาพ เป็นเงินตรานโมชนิดที่พบมากที่สุด มีหลายขนาด หลายรูปแบบตัวอักษร และมีเนื้อโลหะหลายแบบ ตัวเม็ดก็มีหลายทรง กลมมนบ้าง กลมรีบ้าง มีขนาดน้ำหนักตั้งแต่ ๐.๖ กรัม ๐.๘ กรัม ๑.๐ กรัม ๑.๒ กรัม ๑.๓ กรัม ๒.๐ กรัม และ ๑.๒ กรัม ขนาดที่พบมากที่สุดและถือว่าเป็นขนาดมาตรฐาน คือขนาด ๑.๒ และ ๑.๓ กรัม ที่ได้ชื่อว่า “ตาไก่” ก็เนื่องจากมีทรงกลม ประทับอักษร “น” รูปลักษณ์รวมคล้ายดวงตาไก่ รุ่นที่เป็นขนาดมาตรฐาน เข้าใจว่าสร้างขึ้นด้วยกรรมวิธีหล่อเบ้าและเนื้อโลหะเป็นสัตตโลหะ หรือเป็นเนาวโลหะ ตามที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น

         แหล่งและลักษณะการพบ เงินตราชนิดนี้พบในหลายลักษณะ สามารถแบ่งได้เป็น ๓ ลักษณะ คือ          ๑. พบกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นดินและในท้องคลอง ๒. พบบรรจุอยู่ในภาชนะที่ฝังดินอยู่ ๓. เป็นพุทธบูชา และพบอีกลักษณะหนึ่งคือ เป็นสมบัติที่เก็บสะสมไว้เป็นมรดกตกทอดของส่วนบุคคลซึ่งจะไม่นำมากล่าวในที่นี้ ที่พบกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นดินและในคลอง (จากพื้นดินถูกน้ำฝนชะลงสู่แม่น้ำลำคลอง) มากที่สุด ได้แก่ พื้นที่เขตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชโดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช สมัยที่ถนนหนทางตามตรอกซอกซอยยังไม่ถูกปูทับด้วยคอนกรีต จะพบเงินตรานโมชนิดนี้ได้ตอนหลังฝนตกทั่วอำเภอเมือง ในหมู่บ้านที่มีเค้าว่าเคยเป็นชุมชนตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมาจะเป็นถิ่นที่ร้างไปแล้ว เป็นวัดหรือชุมชนที่ยังดำรงอยู่ ก็มักพบเงินตรานโมชนิดนี้ ตัวอย่างเช่น หมู่บ้านใกล้วัดท่านคร (วัดโคกข่อย) และหมู่บ้านใกล้วัดโบสถ์ ตำบลปากนคร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช และที่บ้านเขาแก้ว ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมของอำเภอลานสกา เป็นต้น ส่วนในพื้นที่นอกเขตนครศรีธรรมราช ก็พบเช่นกัน เช่น ในเขตสุขาภิบาลอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา บ้านพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัด สุราษฎร์ธานี ก็พบเงินตรานโมชนิดนี้ตามพื้นดินในหมู่บ้านของชุมชนเช่นกัน และยังพบว่าในแม่น้ำเจ้าพระยา เขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็มีผู้พบตัวอย่างเงินตรานโมชนิดนี้กันบ่อย ๆ การพบในลักษณะที่บรรจุอยู่ในภาชนะที่ฝังดิน ในหลายสิบปีที่ผ่านมานี้ก็ปรากฏว่ามีหลายครั้ง ภาชนะที่ใช้บรรจุ ได้แก่ กระปุก ไหขนาดเล็ก เป็นของสมัยสุโขทัย อยุธยา หรือสมัยเหม็งของจีน ซึ่งบางครั้ง มีเงินตรานโมชนิดนี้จำนวนกว่าพันเม็ด เช่น พบที่ใกล้วัดพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ในราวปี พ.ศ.๒๔๙๒ พบที่บริเวณบ้านกำแพงถม ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ในราวปีพ.ศ.๒๕๓๒ พบที่บ้านขาว ตำบลตะเครียะ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ในราวปี พ.ศ.๒๕๐๑ พบที่ใต้ซากพระราชวังภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งพบรวมกับเงินพดด้วงสมัยอยุธยาจำนวนหนึ่งด้วย การพบเงินตรานโมชนิดตาไก่ที่บรรจุในกระปุกขนาดเล็กในจำนวนไม่มากนัก และมักจะพบรวมอยู่กับเงินพดด้วงด้วยนั้น ก็มีด้วยกันหลายครั้ง เช่น ที่หมู่บ้านบ่อล้อ ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ และที่อำเภอลานสกา อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอท่าศาลา ก็มีอยู่หลายครั้ง เจ้าของร้านทองเก่าแก่และเป็นผู้สูงอายุท่านหนึ่ง ในเมืองนครศรีธรรมราช ได้ยืนยันว่า ในช่วง ๓๐ กว่าปีมานี้ มีการพบเงินตรานโมชนิดนี้ในลักษณะนี้มาแล้ว ไม่ต่ำกว่า ๒๐ ครั้ง โดยท่านได้ทราบจากผู้พบได้นำเงินตรานโมที่พบมาขายให้ท่าน การพบในลักษณะเป็นพุทธบูชา เช่น ในครั้งที่มีการบูรณปฏิสังขรณ์ ปลียอดทองคำพระบรมเจดีย์นครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ.๒๕๓๗-๒๕๓๙ ได้พบเงินตรานโมชนิดนี้จำนวน ๓๒ เม็ด ซ่อนอยู่ในซอกแผ่นทองที่หุ้มส่วนปลียอดขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ การพบบรรจุอยู่ในเจดีย์เก่าวัดมะนาวหวาน กิ่งอำเภอช้างกลาง มีเงินพดด้วงจำนวนหนึ่งและมีโบราณวัตถุอื่น ๆ รวมอยู่ด้วย การบรรจุที่ใต้ฐานพระประธานภายในโรงเรียนวัดท่าโพธิ์ ซึ่งเดิมเป็นวัดท่าโพธิ์ในสมัยอยุธยา พบจำนวนไม่เกิน ๑๐ เม็ด อยู่รวมกับเงินพดด้วงสมัยอยุธยาจำนวนหนึ่ง

         ยุคสมัยของการใช้ ลักษณะโดยทั่วไปของเงินตรานโมชนิดตาไก่ใกล้เคียงกับชนิดขี้หนูมาก บางรุ่นรอยค้อนที่ตีขนาบด้านบนและด้านล่าง ไม่ตีหลบมุมไปด้านหลังอย่างที่เห็นกันทั่วไป แต่ตีอย่างรูปแบบเงินตรานโมชนิดขี้หนู เมื่อมองจากด้านหน้าจะเห็นด้านบนและด้านล่างเป็นรูปหน้าตัด ตัวเม็ดของรุ่นนี้จึงเหมือนกับเงินตรานโมชนิดขี้หนูจะต่างกันก็เพียงตัวอักษร “น” เท่านั้น สันนิษฐานว่าจะเป็นรุ่นต้น ๆ ที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากเงินตรานโมชนิดขี้หนู จากหลักฐานแวดล้อมของแหล่งที่พบลักษณะการพบและภาชนะที่ใช้บรรจุ เป็นการยืนยันที่ค่อนข้างชัดว่าเงินตรานโมชนิดนี้ ใช้ในสมัยเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งตรงกับสมัยอยุธยา ข้อสงสัยที่ว่าใช้เงินตรานโมชนิดนี้เป็นเงินตราหรือใช้เป็นเครื่องรางของขลังหรือใช้เป็นประโยชน์ทั้งสองทาง ถ้าวิเคราะห์จากลักษณะการพบกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นดินและตามท้องคลองหรือแม่น้ำ จะได้ความว่าอาจจะเป็นของที่ตกค้างในคราวที่มีการโปรยเพื่อขับไล่โรคห่า ซึ่งน่าจะมีหลายครั้ง (วิเคราะห์จากตัวอย่างตัวอักษร ขนาด น้ำหนักและรูปทรงที่ต่างกัน) หรืออาจจะเกิดจากใช้กันเป็นเงินปลีก แล้วทำตกหล่นกันไว้ หรือบางยุคบางสมัยก็ใช้กันเป็นเครื่องรางของขลังทางเดียวเท่านั้น โดยใช้ขับไล่โรคห่า แต่บางสมัยก็ใช้เป็นเงินตราด้วย โดยเฉพาะการพบในลักษณะที่เก็บรวบรวมอยู่กับเงินพดด้วง เป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นของมีค่ามีราคา คนเฒ่าคนแก่ส่วนใหญ่ในเมืองนครศรีธรรมราชมักเรียกเงินตรานโมว่า “เฟื้องขี้หนู” “เฟื้องตาไก่” และจากตัวอย่างที่พบใต้ซากพระราชวังภายในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่บรรจุรวมอยู่กับเงินพดด้วงจำนวนหนึ่งนั้นไม่น่าจะวิเคราะห์ไปเป็นอย่างอื่นนอกจากเป็นเครื่องบรรณาการหรือเป็นส่วนที่เมืองนครศรีธรรมราชส่งมายังเมืองหลวง เนื้อโลหะของเงินตรานโมนั้นมีค่าอยู่ในตัวของมันเอง จึงไม่น่าแปลกที่จะใช้ประโยชน์เป็นเงินตราและใช้เป็นเครื่องรางของขลังในขณะเดียวกัน เงินพดด้วงของสมัยอยุธยาขนาดราคาเฟื้องนั้น พบน้อยมากในนครศรีธรรมราช จนกล่าวได้ว่าไม่มีเงินราคาเฟื้องของอยุธยาใช้เลย พบแต่ขนาดราคาบาท สลึง และกึ่งสลึงและเงินพดด้วงชุดที่ผลิตใช้ในเมืองนครโดยเฉพาะ รูปแบบไม่เหมือนของอยุธยาซึ่งพบในจำนวนน้อยมาก และน่าจะมีใช้กันในต้นสมัยเมืองนครศรีธรรมราชเท่านั้น ราคาเฟื้องของพดด้วงชุดนี้มีลักษณะคล้ายเงินตรานโมชนิดขี้หนู แต่ตัวอักษรเป็นตัว “น” อักษรไทยปัจจุบัน ระยะเวลาอันยาวนายของสมัยเมืองนครศรีธรรมราชคือประมาณ ๔๐๐ ปีนั้น คงจะมีบางสมัยใช้เงินตรานโมชนิดตาไก่นี้เป็นเงินตราโดยเฉพาะขนาด ๑.๒-๑.๓ กรัม ใช้เป็นราคาเฟื้องซึ่งมีน้ำหนักใกล้เคียงกับเงินพดด้วงราคาเฟื้องของอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ และใช้เงินตรานโมขนาดเล็กรองลงมา เป็นราคากึ่งเฟื้องและราคาไพ ก็เป็นได้ แต่เนื่องจากมีขนาดเล็กเกินไป ไม่สะดวกกับการนำมาใช้และสูญหายง่าย จึงใช้วัสดุอื่นเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแทน เราได้พบหลักฐานต่าง ๆ มากมายในเมืองนครศรีธรรมราชที่มีเค้าว่า เป็นเงินปลีกอัตราต่ำ ส่วนเงินตรานโมชนิดตาไก่ ขนาดน้ำหนัก ๒.๐-๒.๒ กรัม ไม่พบในนครศรีธรรมราช แต่กลับไปพบที่เมืองท่าทอง (สุราษฎร์ธานี) ซึ่งในสมัยโบราณอยู่ในความดูแลของนครศรีธรรมราช อาจจะผลิตเงินตรานโมขนาดนี้เป็นเงินตราราคากึ่งสลึงใช้ในสมัยอยุธยาก็เป็นได้

         ภาพเงินตรานโมชนิดตาไก่แบบและขนาดต่าง ๆ

         ๑. ขนาดน้ำหนัก ๒.๒ กรัม เนื้อเงิน เป็นขนาดใหญ่ที่สุด พบที่เมืองท่าทอง

         ๒. ขนาดน้ำหนัก ๑.๒ กรัม เนื้อเงิน เป็นแบบและขนาดมาตรฐานที่พบมากที่สุด

         ๓. เนื้อสำริด

         ๔. ผิวสีทอง เนื้อโลหะที่มีส่วนผสมของดีบุก

         ๕.-๖. เนื้อเงิน

         ข้อ ๓-๖ เป็นเงินตรานโมชนิดตาไก่ที่เกิดขึ้นในยุคหลังที่ทำคนละครั้งกัน อาจจะทำขึ้นเพื่อใช้ในพิธีขับไล่แม่มดที่กระทำกันมาทุกปี จนถึงปีพ.ศ.๒๔๗๔

         เงินตรานโมชนิดตาไก่นอกจากจะมีเนื้อเนาวโลหะหรือสัตตโลหะตามแบบฉบับโบราณแล้ว ยังพบตัวอย่างที่มีเนื้อโลหะแตกต่างกันหลายอย่างและหลายรูปทรง เช่น เป็นเนื้อทองแดง ทองเหลือง สำริด โลหะที่มีส่วนผสมของดีบุก-ตะกั่ว (แบบเดียวกับเนื้อเหรียญเป็นโลหะผสมโดยธรรมชาติ) เงินและเงินเปอร์เซ็นต์ต่ำ (ได้จากการหลอมเนื้อเข็มขัดเงินที่ชำรุด) รูปทรงที่พบส่วนใหญ่ก็เป็นทรงกลมมนหรือทรงกลมรี เงินตรานโมเหล่านี้พบจำนวนน้อย อาจจะเป็นไปได้ว่าเป็นรุ่นที่ผลิตขึ้นในสมัยปลายอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ ควบคู่กับพิธีขับไล่แม่มดซึ่งมีพิธีกรรมที่คล้ายกับพิธีขับไล่โรคห่าที่กล่าวไว้ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช (ทั้ง ๒ พิธีนี้อาจจะเป็นพิธีเดียวกันที่ตกทอดกันมา) ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าตั้งแต่สมัยโบราณมาพิธีขับไล่โรคห่ากระทำกันกี่ครั้ง หรือพิธีขับไล่แม่มดกระทำติดต่อกันมาตั้งแต่เมื่อใด ในตำนานได้กล่าวถึงพิธีขับไล่โรคห่าว่าได้สร้างเงินตรานโมขึ้นควบคู่กันไปด้วย แต่เมื่อมาเป็นพิธีขับไล่แม่มดที่กระทำกันมาทุกปีนั้นไม่มีหลักฐานแน่ชัดที่แสดงว่าจะมีการทำเงินตรานโมควบคู่กันไปหรือไม่ แต่จากหลักฐานตัวอย่าง เงินตรานโมในรูปแบบตาไก่เลียนแบบของโบราณหลาย ๆ แบบ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นก็น่าจะสันนิษฐานได้ว่า เงินตรานโมเหล่านี้เป็นรุ่นที่ใช้ประกอบในพิธีขับไล่แม่มดที่กระทำกันทุกปี การที่เนื้อโลหะของเงินตรามีหลายอย่างก็คงจะเป็นไปตามสถานการณ์และสภาวะของบ้านเมืองกับสภาพของผู้ร่วมกันสร้างโลหะบางชนิดอาจจะหายากและมีราคาแพงในขณะนั้น จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามสภาพที่เอื้ออำนวย

         หลังจากพิธีขับไล่แม่มดถูกยกเลิกไปในปี พ.ศ.๒๔๗๕ (ปี พ.ศ.๒๔๗๔ มีพิธีนี้เป็นครั้งสุดท้าย) การสร้างเงินตรานโมก็ไม่ได้ยึดติดกับพิธีกรรมหรือต้องมีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้นจึงจะคิดสร้างกัน ความเชื่อถือในเงินตรานโมของชาวเมืองนครศรีธรรมราชว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และให้ความเป็นสิริมงคลสามารถป้องกันอันตรายทั้งปวงได้นั้นก็ยังคงมีอยู่ แต่เมื่อนานวันเข้าความเชื่อนี้ก็มีการเสริมแต่งขึ้น รูปแบบของเงินตรานโมก็เปลี่ยนแปลงไปตามความคิดที่เสริมแต่งเข้ามา ประกอบกับแรงผลักดันของช่างที่เป็นผู้ผลิตซึ่งเป็นมรดกของช่างสมัยโบราณของเมืองนครที่มีการสืบทอดกันตลอดมาต้องการทำเพื่อการค้า สร้างเงินตรานโมรูปแบบใหม่ขึ้นด้านหนึ่งคงใช้ตัว “นะ” ตามรูปแบบตัวอักษรในเงินตรานโมชนิดตาไก่ อีกด้านหนึ่งก็ทำเป็นสัญลักษณ์ต่าง ๆ ตามคติทางพุทธศาสนา เช่น รูป “ ” (อุณโลม) รูปจักร รูปดอกจัน รูปดอกทานตะวัน รูปเฟือง รูปองค์พระบรมธาตุเจดีย์ รูปพระอริยสงฆ์ (ได้รับการบอกเล่าจากช่างที่ทำเงินตรานโมชนิดนี้ว่า ทางวัดว่าจ้างให้ทำเป็นรูปหลวงปู่ทวดแบบหนึ่ง และเป็นรูปหลวงพ่อคล้ายแบบหนึ่ง) ตัวเม็ดมีลักษณะแบน ทรงกลมมน ไม่มีรอยค้อนและร่องบาก เป็นรูปแบบที่ไม่เหลือเค้าเดิมซึ่งมีความหมายทางคติพราหมณ์อยู่เลย เงินตรานโมเหล่านี้เพิ่งจะเกิดขึ้นไม่กี่สิบปีมานี่เอง และเกิดขึ้นหลังจากพิธีขับไล่แม่มดถูกยกเลิกไปแล้ว

         ในปัจจุบันรูปแบบเงินตรานโมที่เลียนแบบโบราณก็ยังมีการสร้างกันอยู่ เพื่อนำมาเป็นส่วนประกอบของเครื่องประดับ เช่น เป็นแหวน สร้อยคอ สร้อยข้อมือ เป็นต้น ซึ่งการนำมาเป็นส่วนประกอบเครื่องประดับนั้นมีมานานแล้ว และคงจะมีต่อไปอีกนาน ตราบเท่าที่คนเมืองนครยังไม่ลืมสิ่งนี้ หรือยังคงมีความเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นสัญลักษณ์ของความมีสิริมงคล เงินตรานโมมีลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นในเมืองนคร และมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ซึ่งนับว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของนครศรีธรรมราช แต่ปัจจุบันลักษณะเฉพาะที่มีในเงินตรานโมที่มีมาแต่โบราณเริ่มผิดเพี้ยนไปจากรูปลักษณ์เดิม ผิดเพี้ยนไปทั้งส่วนประกอบและตัวอักษร เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะความคิด รสนิยม และภูมิปัญญาของคนในยุคนี้

         เงินพดด้วงและเหรียญประทับตรานโม

          เงินพดด้วงประทับตรานโม

         เงินพดด้วงที่พบในเมืองนครศรีธรรมราช มีทั้งพดด้วงของอยุธยาและพดด้วงที่ผลิตขึ้นเอง ในนครศรีธรรมราช เท่าที่พบมีไม่น้อยกว่า ๕ ชุด แต่ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะแบบที่ประทับตรานโมหรือตัว “น” ตัวอักษรแบบเดียวกับที่ประทับบนเงินตรานโมชนิดตาไก่

         ขุนอาเทศคดี (กลอน มัลลิกะมาส) ได้กล่าวถึงเงินพดด้วงที่มีตราตัว “น” ประทับในบทความเรื่อง “เบี้ยและเงินพดด้วงในนครศรีธรรมราช” ในวารสารนครศรีธรรมราช ความตอนหนึ่งว่า ผู้เขียน (หมายถึงขุนอาเทศคดี) ยังมีเงินสลึงพดด้วงตรานโมอยู่อันหนึ่ง แต่ส่วนเงินบาทพดด้วงตรานโมยังไม่พบ ตรานโมนี้เข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายเงินตราที่ทำขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราช และเป็นอักษรย่อนามเมืองนครศรีธรรมราชว่า น.ศ. กันอยู่ หาใช่เครื่องหมายเฉพาะเงินเฟื้องของขลังไม่ เงินสลึงพดด้วงสำหรับใช้สอยแลกเปลี่ยนก็ตีตรานโมอย่างเดียวกัน การขลังหรือไม่อยู่ที่การทำพิธีกรรมปลุกเสกมากกว่า... เงินพดด้วงที่ประทับตรานโมที่ขุนอาเทศคดีกล่าวถึงนี้ คงเป็นเงินพดด้วงที่สร้างขึ้นเองในนครศรีธรรมราช และน่าจะมีราคาอื่นด้วย บางสมัยอาจจะใช้เงินตรานโมชนิดขี้หนูและชนิดตาไก่เป็นราคาเฟื้องก็เป็นได้ ตัวอย่างที่แสดงเป็นภาพเงินพดด้วงตราสังข์ขนาดสลึงของอยุธยาอีกด้านประทับตรานโมหรือตัว “นะ” ตัวอักษรแบบเดียวกับที่ประทับบนเงินตรานโมชนิดตาไก่ ปกติเงิน พดด้วงตราสังข์นี้จะเป็นเงินตราที่ใช้กันทั่วไปทั้งในเมืองหลวงและเมืองประเทศราชทั้งหลาย เป็นแบบที่พบมากในนครศรีธรรมราชมี ๒ ขนาด ขนาดสลึง และขนาดกึ่งสลึงเป็นชนิดที่พบรวมอยู่กับเงินตรานโมชนิดตาไก่ที่บรรจุในกระปุกหรือไหขนาดเล็กฝังดิน บางครั้งพบในองค์เจดีย์และพบที่ใต้ฐาน พระประธาน ส่วนเงินพดด้วงที่สร้างขึ้นในนครศรีธรรมราชนั้นมักมีขนาดและน้ำหนักย่อมกว่า เงินพดด้วงของเมืองหลวงในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์

         เหรียญที่ประทับตรานโม

         เหรียญแบนมิใช่เป็นลักษณะดั้งเดิมของวัฒนธรรมไทยโดยตรงเพราะไม่ปรากฏว่ามีเหรียญ ในระบบเงินตราหรือในรูปของเหรียญที่ระลึกมาก่อน ยกเว้นในสมัยฟูนันและสมัยทวาราวดี ซึ่งก็มิใช่วัฒนธรรมของไทยโดยตรงเสียทีเดียว เหรียญแบนเป็นวัฒนธรรมของจีน อินเดีย และอาหรับ ลักษณะเหรียญแบนของจีนมีอิทธิพลต่อประเทศต่าง ๆ ในเอเชียอาคเนย์และภาคใต้ของไทยมาก ในภาคใต้ของไทย เช่น สงขลา ปัตตานีและเมืองอื่น ๆ ต่างมีเหรียญแบนรูปแบบจีนใช้กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ส่วนอิทธิพลรูปแบบเหรียญแบนอย่างอินเดีย-อาหรับแพร่เข้ามาในประเทศไทยโดยผ่านพม่า สำหรับในนครศรีธรรมราชพบว่ามีเหรียญแบนใช้ในสมัยอยุธยาเช่นกัน เช่น เหรียญชุดที่ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ) สร้างขึ้นในคราวที่มาเป็นเจ้าเมืองนคร เหรียญชุดนี้ประทับตราแผ่นดินและตราประจำรัชกาลสมเด็จ พระเจ้าทรงธรรมเป็นเหรียญที่ใช้เป็นเงินตราในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ

         เหรียญแบนที่พบในนครศรีธรรมราชยังมีอีกหลายแบบ แต่ที่จะกล่าวในที่นี้มี ๒ แบบ

         ๑. ชุดเหรียญรูปสิงห์-กวาง

         ๒. ชุดเหรียญพญาครุฑ-พญานาค

         เหรียญทั้ง ๒ ชุดนี้ ทำด้วยโลหะผสมดีบุก-ตะกั่ว ซึ่งเป็นโลหะผสมโดยธรรมชาติ มีแหล่งแร่ที่จังหวัดยะลาและมลายู หน้าเหรียญมีตรานโมประทับ ตัวอักษรนโมเหมือนกับตราที่ประทับบนเงินตรานโมชนิดตาไก่และมีเค้าว่า ตรานโมนี้ เป็นสัญลักษณ์ของนครศรีธรรมราชในสมัยอยุธยามาจนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์

         ชุดเหรียญรูปสิงห์-กวาง

         เหรียญเนื้อเงินยวง พบขนาดเดียว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓.๑-๓.๓ เซนติเมตร หนักประมาณ ๙.๕-๑๓.๐ กรัม บนเหรียญหน้าหนึ่งเป็นรูปสิงห์ยกเท้าหน้าซ้าย ตัวอย่างที่พบส่วนใหญ่จะหันหน้าไปทางขวา ที่หันหน้าไปทางซ้ายพบน้อย อีกด้านหนึ่งเป็นรูปกวางเหลียวหลัง เท่าที่พบมีจำนวน ๕๕ แบบพิมพ์ ทุกเหรียญจะมีตรา (นะ) ประทับด้านสิงห์ ตราเดียวบ้าง สองตราบ้าง (บางอันลืมตีตรา นะ ก็มี) สิงห์นั้น หมายถึงศากยวงศ์ เป็นสัญลักษณ์แทนองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า แต่สิงห์มีหนวดยาว และยกเท้าหน้าซ้าย เป็นสัญลักษณ์ของชาติสิงหลในลังกาทวีป และยังเป็นเครื่องหมายประจำชาติศรีลังกาด้วย อีกด้านหนึ่ง เป็นรูปกวางเหลียวหลัง กวางนั้นหมายถึงป่าอิสิมฤคทายวัน อันเป็นที่ปฐมเทศนาของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้งพุทธกาล กวางเหลียวหลังนั้นก็คงจะหมายถึงการนำพระพุทธศาสนาหรือการประกาศพระศาสนากลับไปสู่ถิ่นเดิม ในที่นี้คงจะมีความหมายต่อเนื่องจากด้านรูปสิงห์ มีความหมายว่า “การนำพระพุทธศาสนากลับไปสู่มาตุภูมิ ลังกาทวีป” เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้งด้านสิงห์และด้านกวางเหลียวหลัง ใต้ภาพทั้งสองจะมีรูปสัญลักษณ์ของคลื่น ก็คงหมายถึงทะเล การเดินไปในทะเล คือหมายถึงการข้ามน้ำข้ามทะเลนั่นเอง นครศรีธรรมราชนั้นเคยเป็นศูนย์กลางของการเผยแพร่ศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในราวพุทธศาสนาที่ ๑๗ การนำพุทธศาสนากลับไปสู่มาตุภูมิก็เท่ากับเป็นการทดแทนบุญคุณที่มีมา ต่อแต่อดีต ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกับสมัยพระเจ้ากิรติศิริราชสิงหะ (พ.ศ.๒๒๙๐-๒๓๒๔) ของลังกาที่ได้ส่งทูตเข้ามายังสยาม เพื่อขอพระสงฆ์สยามไปบวชให้กับชาวสิงหล และตรงกับแผ่นดินสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ.๒๒๗๖-๒๓๐๑) การสร้างเหรียญชุดนี้ก็เพื่อเป็นการระลึกเหตุการณ์ในครั้นนั้น การที่กษัตริย์ลังกาทรงส่งทูลเพื่อนิมนต์พระสงฆ์สยามไปนั้นก็เนื่องจากก่อนหน้านี้ ลังกาทวีปมีการ รบพุ่งกันภายในประเทศอยู่หลายปี จนทำให้สิ้นวงศ์สมณะที่จะสืบต่อพระพุทธศาสนา ความจริงพระราชดำริเช่นนี้ มีมาตั้งแต่สมัยก่อนรัชกาลนี้ คือในสมัยพระเจ้าศิริวิยราชสิงหะ แต่พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์เสียก่อน การเดินทางมาสยามครั้งนี้ได้รับการเอื้อเฟื้อจากฮอลันดาซึ่งเพิ่งจะมีอิทธิพลในลังกาใหม่ ๆ ต่อมาจากโปรตุเกส คณะทูตเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อเดือน ๗ พ.ศ.๒๒๙๔ ฝ่ายสยามจัดขบวนแห่ต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ด้วยความยินดีเป็นอย่างมาก พระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงศรีอยุธยาได้ทรงคัดเลือกพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ที่จะไปลังกา ได้แก่ พระอุบาลีมหาเถระ พระอริยมุนีเถระ พระมหานามเถระ และพระสงฆ์อื่นๆ อีก ๑๘ รูป สามเณร ๗ รูป ยังทรงมอบพระพุทธรูปทองคำองค์หนึ่ง คัมภีร์กรรมวาจารผูกหนึ่ง เป็นจารึกแผ่นทองคำ ขนาดเท่าใบลาน มีกรอบทองสลักลายกุดั่น และหนังสือคัมภีร์ต่าง ๆ รวม ๙๗ คัมภีร์ แล้วยังแต่งตั้งขุนนาง ๓ คน เป็นทูตคุมพระราชสาสน์และเครื่องบรรณาการไปพร้อมกันด้วย เดินทางด้วยเรือสำเภา ๒ ลำ ลำหนึ่งเป็นเรือของฮอลันดาได้เดินทางถึงลังกา อีกลำหนึ่งเป็นสำเภาไทย ซึ่งมีคณะทูตสยามและทูตลังกา ชื่อว่า วิละภาเคทะระโดยสารไปด้วย ทั้ง ๒ ลำ ออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อเดือนยี่ พ.ศ.๒๒๙๕ แต่เรือ ๒ ลำ พลัดหลงกัน เรือสำเภาไทยถูกคลื่นใหญ่ซัดเข้าเกยตื้น เขตนอกฝั่งทะเลของนครศรีธรรมราช คณะสงฆ์และทูตต้องพากันขึ้นฝั่ง พักอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชถึง ๖ เดือน เหตุการณ์ขณะที่พักอยู่ที่นครศรีธรรมราชปรากฏในจดหมายเหตุของวิละภาเคทะระทูตลังกา ความตอนหนึ่งว่า ...คณะทูตออกเดินทางจากอ่าวไทยในวันพุธ แรม ๑๓ ค่ำ เดือนเดียวกัน (พุธที่ ๔ ธันวาคม ค.ศ.๑๗๕๑ หรือ พ.ศ.๒๒๙๔) วันเสาร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนทุรุต (วันเสาร์ที่ ๗ ธันวาคม) น้ำรั่วเข้าเรือทางรอยรั่วหลายแห่ง ตั้งแต่รูปปั้นสิงโตหน้าเรือ ตลอดลงมาถึงหางเสือ ใต้ท้องเรือ น้ำเข้าเรือจนท่วมถึงข้อเท้าหรือข้อมือ แล้วเรือก็ค่อย ๆ จมลง สิ่งของมีค่าซึ่งอยู่ในเรือก็ถูกโยนทิ้งทะเล พระสงฆ์สวดพระธรรม ตลอดทั้งกลางวันกลางคืน จึงช่วยให้ทุกคนบนเรือ และเครื่องราชบรรณาการปลอดภัย วันอังคาร แรม ๑๓ ค่ำ เดือนเดียวกัน (วันอังคารที่ ๑๗ ธันวาคม) เราถึงเขตเมืองละคร (นครศรีธรรมราช) ดินแดนที่เป็นของประเทศสยาม เรือได้จมลงในโคลน แต่ไม่มีใครเป็นอันตราย และทุกคนบนเรือขึ้นบกในเขตเมืองละคร ในเขตนี้เป็นเมืองใหญ่ ชื่อ ปาตลีบุตร (ปาฏลีปุเตร) มีกำแพงล้อมรอบ กลางเมืองนี้มีสถูปใหญ่ เท่าสถูปรุวันเวลิ (รุวันวาลี สถูป Ran-Kot-Vehera ในปัจจุบันหนังสือจุลวงศ์เรียกสถูปนี้ว่า รัตนาวลีเจดีย์) ที่โปลนนะรุวะในลังกา สถูปองค์นี้พระเจ้าศรีธรรมาโศก ผู้ได้มานมัสการพระบรมธาตุที่ปาตลิบุตร (เมืองละคร) ได้ทรงสร้างไว้ สถูปจายอดลงมาถึงคาน ๓ ชั้น ยังเปล่งประกายระยับเหมือนเพิ่งหุ้มด้วยทองคำไว้ใหม่ ๆ ไร้มลทิน รอบสถูปมีพระพุทธรูป ๓๐๐ องค์ เป็นพระนั่ง พระไสยาสน์ พระยืน และมีสถูปอีก ๒๐๐ สถูป บางองค์สูง ๑๑ ศอก ที่นี่มีต้นโพธิ์ซึ่งนำมาจากอนุราชปุระ ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าธรรมโศกอนุชา (Younger) ผู้ซึ่งทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินเมืองนั้นในเวลาต่อมา เรานมัสการพระพุทธรูปที่วัดนี้และถวายเทียนและธูป สถูปพระพุทธรูป และวัด ในประเทศนี้ล้วนแต่ปิดทองทั้งสิ้น พระสงฆ์ผู้เลื่อมใสที่พำนักอยู่ในวัดเหล่านี้ ได้ปฏิบัติกิจอย่างเคร่งครัด มีการท่องสวดพระปริตและเข้าฌาน เมื่อรุ่งอรุณ พระสงฆ์เหล่านี้ก็ออกบิณฑบาต เจ้าหน้าที่ ๓ คน เรียกว่า ตัมมะโกรก ตัมมะกาน และสังขรี (ตัมมะโกรก-ธรรมโกษ แปลว่า คลังแห่งธรรมหรือผู้มีความรู้ทางธรรม, ตัมมะกาน-ธรรมการ แปลว่า ผู้รู้ทางธรรมและกิจการของสงฆ์, สังขรี-สังฆการี แปลว่า ผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับสงฆ์) ได้รับการแต่งตั้งให้ดูแลความเป็นอยู่ของพระภิกษุสงฆ์ที่พำนักอยู่ทั่วราชอาณาจักร ทั้งคนดีและคนเลวต้องทำบุญใส่บาตร และต้องเอาใจใส่วัด ว่าจะต้องการสิ่งใดบ้าง ที่นี่มีเหมืองอยู่หลายเหมืองที่ผลิตตะกั่วขาวและตะกั่วดำ ตามชนบทปลูกต้นพลู หมาก และข้าว และมีทรัพย์สินอย่างอื่น ๆ อีก แต่ถูกพวกโจรคอยปล้นสะดม และพวกหมอไสยศาสตร์คอยรบกวนเสมอ ทั้งมีโรคซิฟิลิส (อะระมะณะ-เลทะ) และโรคเรื้อน (ตัมพะ-กุสฏะ-เลฑะ) ระบาดอยู่ด้วย เราพักอยู่ที่วัดชื่อคัมวัม ในชนบทนี้และนมัสการพระพุทธรูปที่วัดมหาธาตุวาราม (มหาฑาตวาราม) วัดอรุญญาราม วัดตุงยาราม และวัดปัณฑุราม (วัดอรุญญาราม-วัดแจ้ง, วัดตุงยาราม-วัดเสาธงทอง, วัดปัณฑุราม วัดบูรณาราม ล้วนเป็นวัดที่ดำรงอยู่ถึงปัจจุบัน และตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช ส่วนวัดคัมวัมยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าเป็นวัดใด-ผู้เขียน) ได้ถวายอาหารแก่พระภิกษุที่พำนัก ณ วัดเหล่านั้น คอยปรนนิบัติท่าน ทั้งถวายดอกไม้ ตะเกียงและปัดกวาดทำความสะอาดวัดด้วย ในระหว่างนั้นเราได้สนทนาถึงสภาพการของเรากับพระชินนะรถ (พระชินราช) หัวหน้าสงฆ์ของเมืองปาตลีบุตร ขุนนางคนหนึ่งชื่อพระภะลัต (พระปลัด) และอีก ๓ คน คือ ราชทูต และตรีทูต ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตตกลงพร้อมกันว่า ควรกราบบังคมทูลรายงานให้พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบว่าเรือของเราชำรุดเสียหาย และล่องลมไปถึงเมืองละคร ในที่สุดเราได้เขียนหนังสือฉบับหนึ่ง และประทับตรา ในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือนมะวัน (วันจันทร์ที่ ๑๓ มกราคม ค.ศ.๑๗๕๒ หรือ พ.ศ.๒๒๙๕) เราได้ให้หนังสือไปกรุงศรีอยุธยาโดยทางบก คนถือหนังสือเหล่านั้นมาถึงกรุงศรีอยุธยาในเวลา ๑ เดือน ๖ วัน และได้ถวายหนังสือแด่พระเจ้าแผ่นดินสยาม พระองค์ทรงพระราชทานหนังสือตอบแก่คนถือหนังสือมาว่าให้ซ่อมเรือและให้นำมากรุงศรีอยุธยา คนถือหนังสือกลับไปถึงเมืองละคร ในวันอังคาร แรม ๘ ค่ำ เดือนพาก (วันอังคารที่ ๒๔ มีนาคม ปีเดียวกัน) ฉะนั้นเราจึงนำพระราชสาสน์และเครื่องบรรณาการทั้งปวง ซึ่งรักษาไว้บนฝั่งนั้น มาลงเรือในวันพุธ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือนโปสน (วันพุธที่ ๖ พฤษภาคมปีเดียวกัน) เมื่อเตรียมเสบียงสำหรับเรือเรียบร้อยแล้ว เราก็ออกเดินทางจากอ่าวละครในพุธ ขึ้น ๒๒ ค่ำ เดือนเดียวกัน... เมื่อกลับไปถึงราชธานี คณะทูตและสงฆ์สยามต้องรออีกหลายเดือน จนมีเรือกำปั้นวิลันดาเข้ามาในกรุงศรีอยุธยารับอาสาส่งคณะทูต และสงฆ์สยามไปส่งลังกา จึงได้ออกเดินทาง อีกครั้งเมื่อเดือนอ้าย พ.ศ.๒๒๙๖ เดินทางถึงลังกาเมืองศิริวัฒนาบุรี (เคนดี) คณะสงฆ์โดยการนำของพระอุบาลีมหาเถระ ได้บวชชาวสิงหลเป็นพระภิกษุ ครั้งแรก ๖ รูป และครั้งต่อมาอีก รวม ๗๐๐ รูป สามเณร ๓,๐๐๐ รูป ชาวลังกาเรียกพระภิกษุกลุ่มที่บวชจาก คณะพระอุบาลีมหาเถระ และที่บวชสืบต่อมาว่า “สยามวงศ์หรืออุบาลีวงศ์” เป็นการสืบ พระศาสนาในลังกาทวีปต่อมาจนถึงปัจจุบัน และนับเป็นการตอบแทนที่ชาวลังกาเคยเผยแพร่ พุทธศาสนา ลัทธิเถรวาสมายังสยามในพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ ซึ่งดำรงอยู่และเจริญรุ่งเรือง มาจวบจนปัจจุบัน

         เหรียญสิงห์-กวางเหลียวหลังเนื้อเงินยวงนี้ เป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น จึงนับเป็นเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกรุ่นแรกของสยามก็ว่าได้

         ชุดเหรียญรูปพญาครุฑ-พญานาค

         เหตุการณ์สงครามในภาคใต้ที่เกี่ยวข้องกับนครศรีธรรมราชและเกี่ยวข้องกับเหรียญรูปพญาครุฑคู่กับพญานาคนั้น น่าจะตรงกับสงครามที่เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย กล่าวคือ เมืองไทรบุรีเป็นประเทศราชของไทยด้วยฐานะจำยอม เพราะเกรงแสนยานุภาพของกองทัพไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๒๘ ครั้งเมื่อพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ได้เป็นเจ้าเมืองก็คิดเอาใจออกห่างจากไทย เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชขณะนั้นมีเจ้าพระยานคร (น้อย) ในฐานะผู้กำกับเมืองไทรบุรี สืบทราบจากการที่สายลับจับจดหมายลับได้จากเรือพม่าลำหนึ่ง เป็นจดหมายของพระเจ้าปะดุงกษัตริย์พม่า ว่าให้เจ้าพระยาไทรบุรีเอาใจออกห่างไทยและชักชวนให้ยกทัพตีไทยร่วมกัน เจ้าพระยานคร (น้อย) จึงกราบบังคมทูลไปยังเมืองหลวง และใช้วิเทโศบายให้เจ้าเมืองไทรบุรีเตรียมซื้อข้าวขึ้นฉางไว้เป็นเสบียงแก่กองทัพไทยเพื่อรับมือกับพม่าที่จะตีปักษ์ใต้ เป็นการหยั่งท่าทีของเจ้าพระยาไทรบุรีและเพื่อจะเป็นข้ออ้าง ที่สมเหตุสมผลที่จะตีเมืองไทรบุรีได้หากบิดพลิ้วคำสั่ง ปรากฏว่าเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) บิดพลิ้วตามความคาดหมาย เจ้าพระยานคร (น้อย) จึงนำทหารจากเมืองนครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุงประมาณ ๗,๐๐๐ คน ทั้งทัพบกและทัพเรือเข้าตีเมืองไทรบุรีในปีพ.ศ.๒๓๖๔ โดยเสียทหารไป ๗๐๐ คน ส่วนทหารเมืองไทรบุรีตายไปประมาณ ๑,๕๐๐ คน เจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ยกสมัครพรรคพวกหนีไปอาศัยอังกฤษที่เกาะปีนัง เมืองไทรบุรีก็ตกอยู่ในอำนาจของไทย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๖๕ ก็เกิดกบฏขึ้นที่เมืองไทรบุรีอีกแต่เจ้าพระยานคร (น้อย) ทราบเหตุเสียก่อน จึงตีทำลายกองทัพเมืองไทรบุรีแตกหนีไป ในการยกทัพไปตีเมืองไทรบุรีครั้งนี้ ทางเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งมีเจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นเจ้าเมืองที่มีความรู้ความสามารถทั้งการสงคราม การทูต การปกครอง และการบริหารบ้านเมือง มีเวลาเตรียมกองทัพ จึงได้จัดสร้างรูปพญาครุฑ-พญานาค ซึ่งในที่นี้เรียกว่า เหรียญพิฆาตไพรี ข่มนามศัตรู ในลักษณะทำนองเดียวกับเหรียญรูปสิงห์-กวาง โดยใช้พระบรมราชสัญลักษณ์ในพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย คือพญาครุฑ เป็นนามข่มข้าศึก คือพญานาค ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองไทรบุรี เป็นที่น่าสังเกตว่าพญาครุฑในสมัยนี้มีขนใต้ปีกชั้นเดียว ตรงกับลักษณะของพญาครุฑที่ปรากฏ บนเหรียญ เหรียญรูปพญาครุฑคู่กับพญานาคเท่าที่พบมีถึง ๗ ขนาด ขนาดที่ใหญ่ที่สุด มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๔.๕ เซนติเมตร ขนาดเล็กที่สุดมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๓ เซนติเมตร ขนาดใหญ่พบน้อยมาก ขนาดรองลงมาทุกขนาดพบมากและขนาดกลาง ๆ จะพบมากที่สุด ขนาดรองทุกขนาดจะมีหลายพิมพ์ สันนิษฐานว่าในขณะนั้นแม้จะมีเวลาเตรียมทัพและเวลาจัดสร้างเหรียญทำพิธีทางไสยศาสตร์ แต่ก็ต้องทำกันอย่างเร่งรีบจึงต้องระดมช่างแกะพิมพ์และเทพิมพ์ทำเหรียญกันหลายคนจึงปรากฏให้เห็นหลายแบบพิมพ์ และที่มีหลายขนาดก็คงจะเป็นการสร้างให้กับทหารในกองทัพตามลำดับตำแหน่งใหญ่เล็ก ที่สำคัญลดหลั่นกันลงมา และเมื่อเสร็จศึกสงครามยกทัพคืนเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว ทหารเหล่านั้น ก็ทิ้งเหรียญที่นำไปออกศึกลงในลำคลองหรือตามวัด เพราะไม่นิยมนำกลับเข้าบ้าน ทำให้พบปรากฏเป็นหลักฐานแก่ชนรุ่นหลังโดยไม่ตั้งใจ เหรียญเครื่องรางของขลัง ลักษณะข่มนามทั้งสองชุดนี้ นับเป็นเหรียญที่ระลึกของนครศรีธรรมราชที่เป็นหลักฐานการออกศึกในครั้งนั้น ๆ

เงินตรานโมชนิดพิเศษ

         เงินตรานโมชนิดนี้จัดอยู่ในชนิดพิเศษกล่าวคือ มีตัวอักษรอย่างชนิดขี้หนู “ ” ตีประทับขวางตามความยาวของตัวเม็ด ลักษณะของตัวเม็ดและส่วนประกอบคล้ายชนิดตาไก่ บ่งบอกลักษณะ สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย เงินตรานโมชนิดพิเศษนี้ เข้าใจว่าสร้างขึ้นมาเลียนแบบเงินตรานโม ชนิดขี้หนูโบราณ ต่างกันก็แค่ตัวอักษร “ ” ที่ตีในลักษณะกลับกันเท่านั้น และยังเรียกเงินตรานโมชนิดนี้ว่าเงินขี้หนู ซึ่งอาจจะเป็นชนิดที่กล่าวไว้ในบทความของขุนอาเทศคดี (กลอน มัลลิกะมาส) ความว่า “ได้ทำการสร้างเงินตรานโมทั้งสองชนิด เงินตราไก่ (เฟื้องตาไก่) และชนิดเงินขี้หนู (เฟื้องขี้หนู) พร้อมกัน” เงินตรานโมชนิดพิเศษนี้สร้างในปีใดนั้น ไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ เพียงแต่สันนิษฐานกันว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

เงินตรานโมชนิดเนื้อโลหะดีบุก-ตะกั่ว

         เงินตรานโมชนิดนี้ เนื้อทำด้วยโลหะผสมดีบุก-ตะกั่วทั้งรูปร่างและรูปตัวอักษรไม่สวยงาม ตัว “นะ” เป็นเส้นเพียงสองเส้น “ ” จากลักษณะที่มีเนื้อเดียวกันและตัวอักษร “ ” คล้ายกับที่ปรากฏบนเหรียญพญาครุฑ-พญานาค จึงสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเดียวกันหรือใกล้เคียงกันคือสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ช่วงระยะสมัยรัชกาลที่ ๑-๔ เท่าที่พบ มี ๓ แบบ คือ

         ๑. ตัวเม็ด และตัวอักษร “ ” หล่อพร้อมกัน ด้านหลังไม่มีทั้งรอยค้อนและร่องบาก

         ๒. หล่อเฉพาะตัวเม็ด ตรา “ ” เป็นตราประทับด้านหลังไม่มีทั้งรอยค้อนและร่องบาก

         ๓. หล่อเฉพาะตัวเม็ด ตรา “ ” เป็นตราประทับด้านหลังมีร่องบากไม่มีรอยค้อน

         ข้อสังเกตของเงินตรานโมรุ่นนี้คือ ทำค่อนข้างหยาบไม่ประณีตอย่างเงินตรานโมรุ่นอื่น ๆ ทำด้วยโลหะที่หาง่ายในท้องถิ่น น่าจะสร้างขึ้นในระยะเวลาอันสั้น มีการเตรียมการน้อย เช่นเดียวกับการสร้างเหรียญรูปพญาครุฑ-พญานาค แต่อย่างไรก็ตาม เงินตรานโมรุ่นนี้คงผ่านพิธีการปลุกเสกเพื่อทำเป็นเครื่องรางของขลัง คงมิได้ทำขึ้นเล่น ๆ หรือเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับ (ชวลิต อังวิทยาธร)


ชื่อคำ : เงินตรานโม
หมวดหมู่หลัก : สิ่งของ เครื่องมือเครื่องใช้
หมวดหมู่ย่อย : เบ็ดเตล็ด
ชื่อผู้แต่ง : ชวลิต อังวิทยาธร
เล่มที่ : ๓
หน้าที่ : ๑๔๑๙