ตระกูล ณ ระนอง เป็นตระกูลนักปกครอง และตระกูลพ่อค้าที่มีบทบาทสำคัญอยู่ทางภาคใต้ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๘๗ ถึงปัจจุบัน แต่ช่วงที่ตระกูลนี้มีอำนาจและบทบาทสูงสุดคือตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เมื่อสมาชิกในตระกูล ๒ คน ได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงมณฑลเทศาภิบาล คือ พระยาดำรงสุจริตฯ (คอซิมก๊อง) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลชุมพรระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๔๔ และพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ (คอซิมบี้) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ตระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๔๔-๒๔๕๖
ความเป็นมาของตระกูล ณ ระนอง คล้ายคลึงกับตระกูล ณ สงขลา บางประการ กล่าวคือ ต้นตระกูลเป็นชาวจีนชื่อ คอซู้เจียง เป็นจีนฮกเกี้ยน เกิดที่บ้านแอ่ชู่ แขวงเมืองเจียงจิวหู มณฑลฟูเกี้ยน ในปี พ.ศ. ๒๓๔๐ เมื่ออายุประมาณ ๒๕ ปี ออกจากเมืองจีนมายังเกาะปีนังประกอบอาชีพเป็นกรรมกรเพื่อหาทุนทำการค้า จนได้รับความอุปการะจากท้าวเทพกระษัตรีคหบดีผู้มั่งคั่งให้เข้าไปค้าขายที่เมืองตะกั่วป่า จนมีทุนรอนมากขึ้นจึงคิดตั้งรกรากในไทยโดยไปสร้างบ้านไว้ที่ตลาดเมืองพังงาและเริ่มขยายกิจการไปทำการค้าทางเรือระหว่างหัวเมืองชายฝั่งตะวันตกกับเกาะปีนัง ปี พ.ศ. ๒๓๘๗ ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ผูกขาดทำดีบุกเมืองกระบุรีและระนอง โดยส่งดีบุกปีละ ๔๓ ภารา หรือคิดเป็นเงิน ๒,๐๖๔ เหรียญ และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่หลวงรัตนเศรษฐีนายอากรดีบุกแทนเจ้าภาษีคนก่อน จึงย้ายครอบครัวไปตั้งที่เมืองระนองทำอากรดีบุกอยู่กว่า ๑๐ ปี เงินภาษีอากรส่งไม่ได้ขาดค้าง ในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ จึงให้เลื่อนหลวงรัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง) ขึ้นเป็นที่พระรัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง) เจ้าเมืองระนองเมืองบริวารของเมืองชุมพร ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๐๕ จึงแยกเมืองระนองเป็นอิสระจากชุมพรขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และเลื่อนบรรดาศักดิ์เจ้าเมืองขึ้นเป็นพระยารัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง) ผู้ว่าราชการเมืองระนอง
ในระยะที่เป็นเจ้าเมือง พระยารัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง) ไม่เพียงแต่มีผลประโยชน์จากส่วยและแรงงานไพร่พลตามระบบกินเมืองเท่านั้น แต่ยังได้ประโยชน์ก้อนใหญ่จากการ “เหมาเมือง” ด้วย กล่าวคือ เป็นผู้ผูกขาดทำภาษีอากรทุกอย่างในเมืองระนองโดยแบ่งเงินได้จากภาษีจำนวนหนึ่งตามที่ประมูลได้ส่งมอบแก่รัฐบาล ส่วนเงินภาษีที่เหลือตกเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวและใช้จ่ายในการพัฒนาบ้านเมืองตามสมควร ภาษีในเมืองระนองครั้งนั้นมี ๖ ชนิด คือภาษีส่งออกดีบุก ภาษีขาเข้า อากรฝิ่น อากรสุรา อากรบ่อนเบี้ยและอากรดีบุก รวมทั้งหมดเรียกว่า “ภาษีผลประโยชน์” ความร่ำรวยจากการผูกขาดทำภาษีผลประโยชน์เมืองระนอง พระยารัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง) ได้ขยายกิจการออกไปหลายอย่างทั้งทางด้านค้าขายและเหมืองแร่ โดยได้ตั้งห้างโกหงวนขึ้นที่ปีนังสำหรับซื้อขายสินค้าจากเมืองระนอง และภายหลังได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ผูกขาดจำหน่ายอากรดีบุกของรัฐบาล ห้างโกหงวนเป็นสมบัติกลางของตระกูล เงินกำไรของห้างส่วนหนึ่งนำไปลงทุนทำเหมืองดีบุกทั้งในเมืองระนองและหลังสวน และขยายกิจการค้าในเมืองหลังสวนจนคึกคักขึ้นมาอีกเมืองหนึ่ง ตระกูล ณ ระนอง ได้เข้าไปประมูลผูกขาดทำภาษีผลประโยชน์ในเมืองนี้ด้วย
แท้จริงแล้วการทำเหมืองดีบุกครั้งนั้นต้องเสี่ยงมากเกี่ยวกับเรื่องราคาแร่ที่ขึ้นลงตามราคาในตลาดโลกและการก่อความไม่สงบของกรรมกรจีนที่มีชีวิตเต็มไปด้วยความคับแค้นถูกมอมเมาด้วยสุรา ยาฝิ่น และมีหนี้สินรุงรังการก่อความวุ่นวายของชาวจีนในเมืองภูเก็ตและระนองในปี พ.ศ. ๒๔๑๙ ทำให้เจ้าเมืองบางเมือง เช่น ภูเก็ต ตะกั่วป่า และพังงาเริ่มจะล้มละลาย แต่ด้วยฐานทางเศรษฐกิจที่กว้างกว่าตระกูล ณ ระนอง กลับยืนหยัดผ่านมรสุมอันนี้ไปได้ อีกปีต่อมาคือปี พ.ศ. ๒๔๒๐ พระยารัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง) ขอลาออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองระนอง ด้วยเหตุผล “เป็นผู้ว่าราชการเมืองมาช้านาน จนแก่เฒ่าชรา จะว่าราชการบ้านเมืองก็เป็นความลำบากแก่ตัวพระยารัตนเศรษฐีมาก” จึงเพิ่มยศเป็นพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) จางวางกำกับราชการเมืองระนอง จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ก็ถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัณโรคขึ้นที่สันหลัง รวมอายุได้ ๘๖ ปี รับราชการอยู่ในเมืองระนองตั้งแต่เป็นนายอากรดีบุกมาเป็นเวลานานถึง ๓๘ ปี จนฐานะของตระกูลมั่นคงมากจากการค้าขาย รับราชการ ในฐานะนักปกครอง
พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) มีภรรยา ๒ คน มีบุตรกับภรรยาคนแรก ๕ คน คือ หลวงศรีโลหภูมิพิทักษ์ (คอซิมเจ่ง) พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง) หลวงศรีสมบัติ (คอซิมจั๋ว) พระยาอัษฎงคตทิศรักษา (คอซิมขิม) และพระยาจรูญราชโภคากร (คอซิมเต็ก) และมีบุตรกับภรรยาคนที่ ๒ อีก ๑ คน คือ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ (คอซิมบี้) ในจำนวนบุตร ๖ คน มีถึง ๔ คน ที่รับราชการมีความชอบเป็นถึงพระยา และบุตรทั้ง ๖ คน มีทายาทสืบต่อมาเป็นจำนวนมากกว่า ๗๐ คน รับราชการมากกว่า ๒๐ คน กลายเป็นตระกูลที่แผ่สาขาเครือญาติออกไปอย่างกว้างขวางในระยะเวลา เพียง ๒-๓ ชั่วคน
หลังจากพระยารัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง) ลาออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองระนองในปี พ.ศ. ๒๔๒๐ ทางฝ่ายรัฐบาลก็แต่งตั้งให้พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง) บุตรชายคนที่ ๒ ซึ่งอาวุโสสูงสุด (เพราะพี่ชายคนโตถึงแก่กรรมไปแล้ว) เป็นพระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง) เจ้าเมืองระนองระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๒๐-๒๔๓๙ เลื่อนพระยาอัษฎงคตทิศรักษา (คอซิมขิม) บุตรชายคนที่ ๔ ขึ้นเป็นพระศรีโลหภูมิพิทักษ์ (คอซิมขิม) ผู้ช่วยว่าราชการเมืองระนองและมอบให้พระยาจรูญราชโภคากร (คอซิมเต็ก) บุตรชายคนที่ ๕ เป็นผู้ดูแลกิจการค้าและเหมืองแร่ที่เมืองหลังสวน จนได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองหลังสวนในปีต่อมา รับราชการในเมืองหลังสวนจนได้เลื่อนยศเป็นพระยา และลาออกจากราชการไปดูแลห้างที่ปีนัง เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ส่วนคอซิมบี้บุตรชายคนที่ ๖ หลังจากรับราชการเป็นมหาดเล็กในกรุงเทพมหานครมาระยะหนึ่งแล้ว พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) ก็ตั้งใจจะส่งให้ไปเรียนหนังสือในเมืองจีนแต่ปรากฏว่าไม่ได้เรียน กลับมารับราชการเป็นหลวงบริรักษ์โลหะวิสัย ผู้ช่วยราชการในเมืองระนอง ก่อนที่จะแต่งตั้งไปเป็นเจ้าเมืองกระบี่ และเป็นพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ฯ (คอซิมบี้) เจ้าเมืองตรังระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๓-๒๔๔๔ และเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ตระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๔๔-๒๔๕๖
หลังจากพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ (คอซิมบี้) ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ สมาชิกในตระกูลนี้ส่วนหนึ่งก็ได้เข้ารับราชการมีความดีความชอบต่อมา แต่ส่วนใหญ่ได้หันไปประกอบอาชีพส่วนตัว (สงบ ส่งเมือง)
ดูเพิ่มเติม ดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง ณ ระนอง), พระยา ; ดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง), พระยา ; รัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง), พระยา