ในหนังสือพงศาวดารและลำดับวงศ์ตระกูลเมืองพัทลุง ซึ่งเขียนโดยคนในตระกูล ณ พัทลุง ๒ คน คือ หมื่นสนิทภิรมย์ (นิ่ม) ซึ่งเป็นบิดาเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ปี พ.ศ. ๒๓๙๓ และพระยาโสภณพัทลุงกุล (สว่าง) บุตรชายซึ่งเขียนเพิ่มเติมในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้กล่าวสรุปเกี่ยวกับตระกูลนี้ไว้ตอนท้ายสุดของหนังสือดังกล่าวว่า “ตระกูลพระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) บิดาพระยาพัทลุง (ทองขาว) และเจ้าจอมมารดากลิ่นนี้ เป็นตระกูลที่มีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถือตัวประหนึ่งเป็นชาวกรุงอยู่เสมอ มีบุตรหลานชายหญิงก็ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก รับราชการฝ่ายหน้าฝ่ายใน ถึงแม้จะออกไปเป็นปลัดหรือยกกระบัตร ผู้ช่วยหรือตำแหน่งใด ๆ ก็ดี โดยมากได้ออกไปจากกรมมหาดเล็กทั้งนั้น ทางฝ่ายในก็ได้รับราชการอยู่จนตลอดชีวิตบ้าง และกราบถวายบังคมลาออกไปอยู่บ้านเดิมเมื่อชราทุพพลภาพบ้าง ต่างคนต่างรักษาชื่อเสียงไม่เป็นการเสื่อมเสียแก่ตระกูลเลย”
อย่างไรก็ตามบรรพบุรุษของตระกูลนี้ได้ออกมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงครั้งแรกตั้งแต่สมัยสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. ๒๒๗๕-๒๓๐๑) กล่าวคือในปี พ.ศ. ๒๒๙๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชบังสัน (ตะตา) หลาน (ปู่) ของตาตุมรหุ่มซึ่งรับราชการอยู่ในกรุงศรีอยุธยาขณะนั้น ออกมาเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพัทลุง พระยาราชบังสัน (ตะตา) ออกมาตั้งเมืองพัทลุงขึ้นใหม่ที่เขาพิไชยบุรีหรือเขาชัยบุรีปัจจุบัน ได้สร้างป้อมปราการกำแพงล้อมรอบตัวเมืองอย่างแข็งแรง และปกครองเมืองพัทลุงอยู่เป็นเวลานานถึง ๑๕ ปี พระยาราชบังสัน (ตะตา) นี้เองต่อมาได้กลายเป็นบรรพบุรุษต้นตอของตระกูล ณ พัทลุง
การตั้งพระยาราชบังสัน (ตะตา) เจ้ากรมท่าขวาออกมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงครั้งนั้นกระทำในระยะเดียวกันกับการตั้งพระยาไชยาธิบดี เจ้าเมืองตะนาวศรีมาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช แต่อย่างไรก็ตามเจ้าเมืองพัทลุงในระยะนี้มีอำนาจไม่มากนัก เนื่องจากมีการกัลปนาวัดต่าง ๆ ที่นา ข้าพระและไพร่บางส่วนยกให้เป็นของวัดและให้ขึ้นกับวัดเขียนและวัดสทังในเมืองพัทลุงก่อนหน้านั้นไม่นานนัก ประกอบกับเจ้าเมืองพัทลุงคนใหม่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ราษฎรส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา และที่สำคัญก็คือเจ้าเมืองพัทลุงในสมัยนี้มิใช่กลุ่มตระกูลอิทธิพลในท้องถิ่นแต่เป็นข้าหลวงที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ส่งออกมากินเมืองจากส่วนกลาง จึงมีการเปลี่ยนตัวเจ้าเมืองบ่อย ๆ และบางครั้งก็เป็นคนต่างกลุ่มต่างตระกูลออกไป หลังจากพระยาราชบังสัน (ตะตา) ถึงแก่กรรมลงในปี พ.ศ. ๒๓๐๕ แล้ว พระยาภักดีเสนาบุตรชายของพี่ชายพระยาราชบังสัน (ตะตา) ก็ขึ้นเป็นเจ้าเมืองต่อมาอีก ๕ ปี ถึงแก่กรรมลงในระยะที่เสียกรุง เจ้านคร (หนู) ซึ่งตั้งตนเป็นใหญ่ทางภาคใต้จึงได้ส่งหลานชาย (ไม่ทราบชื่อ) มาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงได้ ๒ ปี ถึงแก่กรรม เจ้านคร (หนู) จึงแต่งตั้งพระยาพิมลขันธ์ ซึ่งต่อมาได้เป็นสามีของท้าวเทพกระษัตรี (จัน) เป็นเจ้าเมืองพัทลุงคนต่อมา แต่ว่าราชการอยู่เพียง ๒ ปี เสียเมืองนครศรีธรรมราชให้แก่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้นายจันทร์มหาดเล็กออกมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงแทน แต่ว่าราชการอยู่ได้เพียง ๓ ปี มีความผิดจึงถูกถอดออกจากราชการอีก และได้แต่งตั้งคนในตระกูล ณ พัทลุง ออกมาเป็นเจ้าเมืองอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๓๑๕ คือพระยาพัทลุง (ขุน) บุตรชายของพระยาราชบังสัน (ตะตา)
พระยาพัทลุง (ขุน : พ.ศ. ๒๓๑๕-๒๓๓๒) หรือพระยาคางเหล็ก หรือขุนคางเหล็กนี้เองที่ถือว่าเป็นต้นตระกูล ณ พัทลุงจริง ๆ ตั้งจวนเจ้าเมืองที่ตำบลโคกลุง บ้านลำปำ ท่านมีภรรยาหลายคน คือท่านผู้หญิงแป้นซึ่งเป็นน้องร่วมท้องท้าวทรงกันดาร (ทองมอน) เป็นภรรยาหลวง มีบุตรด้วยกัน ๕ คน คือ (๑) พระยาพัทลุง (ทองขาว : พ.ศ. ๒๓๓๔-๒๓๖๐) (๒) นางนาง ภรรยานายนุ่น หลานเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) (๓) เจ้าจอมมารดากลิ่น เจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงเทพมหานคร (๔) พระทิพกำแหงสงคราม (กล่อม) ปลัดเมืองพัทลุง (๕) เจ้าจอมมารดาฉิม เจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงเทพมหานคร และมีภรรยาน้อยอีกหลายคนมีบุตรด้วยกัน ๔ คน คือ นายดอน นายชู นางบุญศรี และนางบุญไทย
พระยาพัทลุง (ขุน) มีน้องร่วมมารดาเดียวกันคนหนึ่ง คือ พระยาพัทลุง (เผือก) เป็นเจ้าเมืองพัทลุงระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๖๐-๒๓๖๙ เราไม่ทราบเกี่ยวกับภริยาของพระยาพัทลุง (เผือก) ทราบแต่ว่าท่านมีบุตรธิดาทั้งหมด ๑๒ คน ที่รับราชการมี ๔ คน คือ (๑) พระพลสงคราม (บัว) กรมการเมืองพัทลุง (๒) หลวงพิทักษ์ราชา (ครุฑ) เจ้ากรมเกณฑ์บุญรับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ (๓) หลวงพิพิธภักดี (พลับ) ผู้ว่าราชการเมืองปะเหลียน และ (๔) หลวงวิชิตสงคราม (อ้น) กรมการเมืองพัทลุง
พระยาพัทลุง (ขุน) มีน้องต่างมารดา ๓ คน คือ (๑) พระยาจะนะ (อิน) ถูกประหารชีวิตในปี พ.ศ. ๒๓๒๙ ฐานลักลอบมีหนังสือติดต่อกับพม่าในคราวพม่าตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ปี พ.ศ. ๒๓๒๘ (๒) หลวงฤทธิ์เสนี (เมืองหรือขุนเณร) เป็นนายกองส่วยดินประสิวเมืองพัทลุง และ (๓) นายเผือก ไม่รับราชการ
จะเห็นได้ว่าตระกูลของพระยาพัทลุง (ขุน) เป็นตระกูลอิทธิพลที่มีอำนาจเหนือเมืองพัทลุงและเมืองบริวารมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี และนับได้ว่าเป็นตระกูลขนาดใหญ่ตระกูลหนึ่งทางหัวเมืองภาคใต้ตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เทียบได้กับตระกูล ณ นคร ณ ถลาง และ ณ สงขลา ในระยะต่อมาในพงศาวดารเมืองพัทลุงของหมื่นสนิทภิรมย์ (นิ่ม) ได้กล่าวถึงความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับพระยาพัทลุง (ขุน) ไว้ว่า “...มีเรื่องว่าเมื่อครั้งพระเจ้าตากสินเสียพระสติ รับสั่งถามข้าราชการว่ากูจะขึ้นสวรรค์ใครจะตามกูไปด้วยบ้าง พวกขุนนางทั้งปวงต่างพากันนิ่งอยู่ พระยาพัทลุง (ขุน) จึงกราบถวายบังคมว่าข้าพระพุทธเจ้าบุญบารมีน้อยเหลือวิสัยที่จะตามเสด็จขึ้นสวรรค์ทั้งเป็นได้ ต่อเมื่อสิ้นชีวิตแล้วจึงจะตามเสด็จไปทีหลัง พระเจ้าตากสินโปรดมาก รับสั่งว่าพูดถูกคนอื่นไม่มีบุญญาธิการเหมือนพระองค์” เพราะปากแข็งกล้าทูลเถียงดังนี้ จึงได้นามว่า “คางเหล็ก” หรือ “ขุนคางเหล็ก”
พระยาพัทลุง (ขุน) เป็นเจ้าเมืองพัทลุงอยู่นานถึง ๑๗ ปี ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๓๓๒ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้พระศรีไกรลาศชาวกรุงเทพฯ ออกมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงได้ ๒ ปี มีความผิดถูกถอด จึงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงนายศักดิ์ (ทองขาว) นายเวรมหาดเล็กบุตรพระยาพัทลุง (ขุน) ออกมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงคนต่อมา
พระยาพัทลุง (ทองขาว : พ.ศ. ๒๓๓๔-๒๓๖๐) มีภรรยาหลายคน ภริยาหลวงคือท่านผู้หญิงปล้อง หรือที่นิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ท่านปล้อง” เป็นชาวกรุงเทพ ฯ และมีภรรยาน้อยหลายคนแต่ไม่ทราบจำนวน มีบุตรธิดาทั้งหมด ๒๘ คน ที่รับราชการหรือมีสามีรับราชการ ได้แก่ (๑) ผ่อง เป็นภรรยาหม่อมทับชาวกรุงเทพฯ (๒) หลวงสัจจาภักดี (นก) เจ้ากรมเกณฑ์บุญบ้านสนามควาย กรุงเทพฯ (๓) ผึ้ง เป็นเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๒ และได้เลื่อนขึ้นเป็นท้าวสมศักดิ์ในรัชกาลที่ ๓ (๔) พระยาพัทลุง (ทับ) หรือพระยาแก้วโกรพพิไชย (ทับ) เป็นเจ้าเมืองพัทลุงที่ได้รับพระราชทานให้มีอำนาจมากที่สุดในตระกูล ณ พัทลุง ได้รับพระราชทานยศชั้นพระยาพานทองและได้รับพระราชทานกระบี่อาญาสิทธิ์เป็นเครื่องยศ ซึ่งมีอำนาจสั่งประหารชีวิตคนได้ (๕) ฟัก เป็นภรรยาพระพลสงคราม (บัว) บุตรพระยาพัทลุง (เผือก) (๖) หมื่นสนิทภิรมย์ (นิ่ม) ปลัดกรมในกรมหมื่นไกรสรวิชิตในกรุงเทพฯ ได้แต่งพงศาวดารตระกูล ณ พัทลุง ถวายรัชกาลที่ ๓ ในปี พ.ศ. ๒๓๙๓ และต่อมาเลื่อนยศเป็นหลวงเทพภักดี (นิ่ม) ยกกระบัตรเมืองพัทลุง มีบุตรชายที่มีชื่อคนหนึ่ง คือ พระยาโสภณพัทลุง (สว่าง) ผู้แต่งพงศาวดารเมืองพัทลุงต่อจากบิดาของตน (๗) พระทิพกำแหงสงคราม (สุก) ปลัดเมืองพัทลุง (๘) หลวงศักดิ์สุรการ (ปลอด) ผู้ช่วยราชการเมืองพัทลุง (๙) พระทิพกำแหงสงคราม (รุ่ง) ปลัดเมืองพัทลุงต่อจากพี่ชาย (๑๐) บุตรอื่น ๆ ที่ไม่รับราชการอีก ๒๐ คน
จะเห็นได้ว่าในสมัยพระยาพัทลุง (ทองขาว) เป็นเจ้าเมืองพัทลุงซึ่งตั้งจวนอยู่ที่บ้านสวนดอกไม้ ชายฝั่งซ้ายของคลองลำปำนั้นเป็นระยะที่ตระกูล ณ พัทลุงยิ่งใหญ่ที่สุด กล่าวคือเป็นตระกูลขนาดใหญ่มีบุตรหลานและญาติพี่น้องมากมาย มีความใกล้ชิดกับราชตระกูลด้วยการเข้ารับราชการในวังหลวงทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน พระยาพัทลุง (ทองขาว) เองก็เป็นนักรบที่กล้าหาญเคยผ่านศึกสงครามมาหลายครั้ง โดยเฉพาะในคราวเกิดกบฏเมืองปัตตานีในปี พ.ศ. ๒๓๓๔ ประกอบกับในระยะดังกล่าวเมืองสงขลายังไม่เป็นปึกแผ่นเข้มแข็งพอ และความสัมพันธ์ระหว่างเมืองนครศรีธรรมราชกับราชธานีอยู่ในภาวะที่เสื่อมทราม จึงเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลกลางจะให้การสนับสนุนและมีความใกล้ชิดกับตระกูลเมืองพัทลุงมากเป็นพิเศษ ซึ่งมีผลทำให้มีการแต่งตั้งคนในตระกูลนี้เป็นเจ้าเมืองพัทลุงสืบต่อมาอีกคนหนึ่งคือ พระยาพัทลุง (เผือก : พ.ศ. ๒๓๖๐-๒๓๖๙) หลังจากพระยาพัทลุง (ทองขาว) ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. ๒๓๖๐
พระยาพัทลุง (เผือก) เป็นน้องชายร่วมมารดากับพระยาพัทลุง (ขุน) จึงมีศักดิ์เป็นอาของพระยาพัทลุง (ทองขาว) เมื่อเป็นเจ้าเมืองพัทลุงได้ไปตั้งจวนเจ้าเมืองที่ตำบลลำปำ และได้นำบุตรหลานดังกล่าวไว้ข้างต้นมารับราชการในเมืองพัทลุงด้วย สาเหตุที่มีการแต่งตั้งพระยาพัทลุง (เผือก) เป็นเจ้าเมืองในครั้งนั้นก็เพราะน้อง ๆ และบุตรของพระยาพัทลุง (ทองขาว) ไม่มีใครเหมาะสมหรือไม่ก็ยังเยาว์เกินไป พระทิพกำแหงสงคราม (นายกล่อมมหาดเล็ก) ซึ่งอาวุโสอยู่ก็ถึงแก่กรรมลงไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามบทบาทและอำนาจของตระกูล ณ พัทลุงในสมัยนี้เริ่มถดถอยลงไปมาก เนื่องจากเหตุผล ๒ ประการ ประการแรกเมืองสงขลาเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นปึกแผ่น และได้เปรียบเชิงเศรษฐกิจต่อเมืองพัทลุงมากเพราะอยู่บริเวณปากน้ำ ประการที่ ๒ เมืองนครศรีธรรมราชรุ่งเรืองเข้มแข็งขึ้นในสมัยเจ้าพระยานคร (น้อย) (พ.ศ. ๒๓๕๔-๒๓๘๒) และในที่สุดในปี พ.ศ. ๒๓๖๙ พระยาพัทลุง (เผือก) ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งเนื่องจากชราภาพ เจ้าเมืองพัทลุงคนต่อมา ๒ คน คือ พระยาพัทลุง (น้อยใหญ่ : พ.ศ. ๒๓๖๙-๒๓๘๓) และพระยาพัทลุง (จุ้ย : พ.ศ. ๒๓๘๓-๒๓๙๔) เป็นคนในตระกูล ณ นคร และจันทโรจวงศ์ ตามลำดับ ในสมัยนี้บุตรหลานตระกูล ณ พัทลุง ส่วนใหญ่ต้องอพยพตามอดีตพระยาพัทลุง (เผือก) ไปอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ที่บ้านสนามควาย หรือบริเวณตลาดนางเลิ้งปัจจุบัน อำนาจและอิทธิพลของตระกูล ณ พัทลุง ซึ่งเคยรุ่งเรืองอยู่ในเมืองนี้กว่าครึ่งศตวรรษเกือบจะถูกถอนรากถอนโคนออกไปชั่วคราวเป็นเวลานานถึง ๒๕ ปี กลับมามีอำนาจในเมืองพัทลุงอีกครั้งในระยะสั้น ๆ เพียง ๑๖ ปี ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงภักดียกกระบัตร (ทับ) บุตรพระยาพัทลุง (ทองขาว) เป็นพระยาอภัยบริรักษ์ฯ เจ้าเมืองพัทลุงอีกครั้ง
พระยาพัทลุง (ทับ : พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๑๐) ตั้งจวนเจ้าเมืองอยู่ที่ตำบลลำปำ บริเวณบ้านพระยาพัทลุง (ทองขาว) ซึ่งเป็นบิดา ในสมัยนี้บุตรหลานในตระกูล ณ พัทลุง กลับมามีอำนาจในตำแหน่งต่าง ๆ อย่างทั่วหน้าอีกครั้ง โดยเฉพาะน้อง ๆ และบุตรหลาน พระยาพัทลุง (ทับ) ตัวพระยาพัทลุง (ทับ) เองมีภรรยาหลายคน และมีบุตรธิดาทั้งหมดถึง ๑๙ คน ภรรยาหลวงคือคุณหญิงติด บุตรคนสำคัญ ๆ ของพระยาพัทลุง (ทับ) ที่รับราชการ ได้แก่ (๑) หลวงยกกระบัตร (คล้าย) ยกกระบัตรเมืองพัทลุง (๒) พระปริยันต์เกษตรานุรักษ์ (ทองขาว) ผู้ว่าราชการเมืองปะเหลียน (๓) หลวงรองราชมนตรี (หนูกรง) กรมการเมืองพัทลุง (๔) ทิม เป็นภรรยาหลวงเขตขันธ์ภักดี (คล้าย) ปลัดเมืองปะเหลียน (๕) เอม เป็นภรรยาหลวงเขตขันธ์ภักดี (คล้าย) ปลัดเมืองปะเหลียนเช่นเดียวกับพี่สาว และ (๖) หลวงวิบูลย์บูรขันธ์ (นบ)
หลังจากพระยาพัทลุง (ทับ) ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. ๒๔๑๐ แล้ว ตระกูล ณ พัทลุง ก็เริ่มมีอำนาจและบทบาทในเมืองพัทลุงลดน้อยลงไปอีก เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาว่า เมืองพัทลุงขอให้กับพระวรนารถสัมพันธพงศ์ (น้อย) บุตรบุญธรรมของพระยาพัทลุง (จุ้ย) จากสายตระกูลจันทโรจวงศ์ และหลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าทายาทของตระกูล ณ พัทลุง ได้เป็นเจ้าเมืองนี้อีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตามตระกูล ณ พัทลุง ได้ขยายแตกสาขามีบุตรหลานมากมายทั้งในเมืองพัทลุง เมืองหลวงและเมืองอื่น ๆ ญาติฝ่ายหญิงของตระกูลนี้ยังได้แต่งงานกับคนในตระกูล ณ สงขลา, ณ นคร และตระกูลอื่น ๆ อีกมากมาย การขยายตัวของตระกูลนี้ในระยะหลังกว้างไกลออกไปจนไม่สามารถจะนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ได้ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามทายาทสายตระกูลนี้ได้ถือตัวว่าเป็นคนกรุงตลอดมา แม้จะมีลูกหลานมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงร่วม ๑๐๐ ปีแล้วก็ตาม เพราะมีความผูกพันกับราชตระกูลมาอย่างใกล้ชิดนั่นเอง
ไสว ณ พัทลุง ได้สอบสวนสายสกุล ณ พัทลุง พิมพ์รวมอยู่ในเรื่องสายสกุล สุลต่านสุไลมาน พ.ศ.๒๑๔๕-๒๕๓๑ ในสายของไสว ณ พัทลุง ซึ่งเป็นสายสกุลลำดับที่ ๙ มีดังนี้
บรรพบุรุษ “ตะโต๊ะโมกอลล์” มาจากเมืองสาเลห์ เป็นชาวเปอร์เซียนับถือศาสนาอิสลาม นิกายสุนนี เป็นข้าหลวงปกครองเมืองพัทลุงที่สงขลา ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ.๒๑๔๘-๒๒๒๓) มีบุตรสืบสกุล ๓ คน
อันดับที่ ๑ ต้นสกุล “สุลต่านสุไลมาน” บุตรของท่านตะโต๊ะโมกอลล์ คนที่ ๑
อันดับที่ ๒ ตะโต๊ะฮูเซน “พระยาจักรกรี” บุตรของสุลต่านสุไลมาน
อันดับที่ ๓ ตะตา “พระยาราชบังสัน” บุตรของท่านฮูเซน
อันดับที่ ๔ “พระยาพัทลุงคางเหล็ก (ขุน)” บุตรของพระยาราชบังสัน
อันดับที่ ๕ “พระยาพัทลุง (ทองขาว)” บุตรของพระยาพัทลุงคางเหล็ก (ขุน)
อันดับที่ ๖.๑ “พระยาพัทลุง (ทับ)” บุตรของพระยาพัทลุง (ทองขาว) คนที่ ๕
อันดับที่ ๖.๒ “พระทิพย์กำแหงสงคราม (สุก)” บุตรพระยาพัทลุง (ทองขาว) คนที่ ๙
อันดับที่ ๗.๑ นางคง ณ พัทลุง บุตรของพระยาพัทลุง (ทับ)
อันดับที่ ๗.๒ นายตาด ณ พัทลุง บุตรของพระยาทิพกำแหงสงคราม (สุก)
อันดับที่ ๘ นางชื่น ณ พัทลุง บุตรของนายคง ณ พัทลุง ได้แต่งงานกับนายตาด ณ พัทลุง บุตรของพระยาทิพกำแหงสงคราม (สุก) มีบุตร ๒ คน คือ (๑) นายพิศ ณ พัทลุง (๒) นายสว่าง ณ พัทลุง
อันดับที่ ๙ นายสว่าง ณ พัทลง บุตรนายตาด-นางชื่น ณ พัทลุง แต่งงานกับนางเลี่ยนเฮี้ยว ยนครกิจ มีบุตร ๑ คน คือ นายไสว ณ พัทลุง (ผู้เขียน) (สงบ ส่งเมือง)
สกุลจันทโรจนวงศ์ (เป็นสายหนึ่งของตระกูล ณ พัทลุง)
สกุลจันทโรจวงศ์ เป็นสกุลเขยของสกุล ณ พัทลุง มีความสนิทสนมเยี่ยงพี่น้องญาติสนิทกับ ณ พัทลุง ศิริธร อย่างที่จะแยกออกจากกันไม่ได้ สกุลนี้สืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษนามว่า “พราหมณ์ศิริวัฒนะ” มีผู้สืบทอดสายสกุลเป็นผู้มีตำแหน่งสูงในสมัยโบราณ เช่น เจ้าพระยาพิษณุโลก (เมฆ) เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่) เจ้าพระยาสุรินทราชา นราธิบดีศรีสริยศักดิ์ (จันทร์) ซึ่งสายสกุลนี้ถือว่า เป็นต้นสกุล “จันทโรจวงศ์”
เจ้าพระยาสุรินทราชาฯ (จันทร์) เป็นบุตรของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ครั้งกรุงศรีอยุธยา มารดาเป็นพี่มารดาเจ้าขรัวเงิน พระชนกสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบดี สมัยรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยความจงรักภักดีตลอดมา จนกระทั่งตำแหน่งครั้งสุดท้ายได้โปรดเกล้าฯ ให้ไปอยู่เมืองถลางกำกับหัวภูเก็ต ทำนองเดียวกับสมุหเทศาภิบาล ได้เลื่อนยศเป็นเจ้าพระยาสุรินทราชาฯ มีจดหมายเหตุปรากฏว่าเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ถึงแก่อสัญกรรม ในรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรินทราชาฯ เข้ามาเป็นที่สมุหพระกลาโหม แต่ท่านกราบทูลขอตัวว่าแก่ชราแล้วจึงไม่ได้เข้ามารับตำแหน่งที่ทรงโปรดเกล้าฯ ครั้งสุดท้าย คงรับราชการอยู่หัวเมืองจนถึงแก่อสัญกรรม
เจ้าพระยาสุรินทราชาฯ มีบุตรหลายคน ที่ทราบชื่อ จุ้ย ได้เป็นพระยาพัทลุง คนหนึ่งชื่อฤทธิ์อยู่เมืองถลาง คนหนึ่งชื่ออิน เป็นบิดาของพระยาวรวุฒิวัย (น้อย) พระยาวรวุฒิวัย (น้อย) เป็นบิดาของ พระยาอภัยบริรักษ์ (เนตร จันทโรจวงศ์) คนหนึ่งคือหลวงศรีวรวัตร (พิณ) และคุณหญิงเพชราภิบาล (แข) ภรรยาพระยาหนองจิก (พ่วง ณ สงขลา) ชั้นลูกพระยาวรวุฒิวัย จึงได้พระราชทานนามสกุลว่า “จันทโรจวงศ์”
พระยาวรวุฒิวัย (น้อย) ได้สมรสกับคุณหญิงหนูขาว ณ พัทลุง ธิดาของพระยาพัทลุง (ทับ) เป็นบิดาของพระยาอภัยบริรักษ์ (เนตร)
พระยาอภัยบริรักษ์ (เนตร) ได้รับพระราชทานนามสกุลเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๕๗ ความว่า
“พระยาอภัยบริรักษ์ (เนตร) จางวางเมืองพัทลุงพี่หลวงจักรานุชิต (พิณ) น้อง พระราชทานนามสกุลว่า “จันทโรจวงศ์”
สกุลจันทโรจวงศ์ มีสกุลเครือญาติอันสืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษเดียวกันคือ ทองอินทร์, อินทรพล, ชัชกุล, สิงหเสนี, ภูมิรัตน์, สุจริตกุล, บูรณศิริ, ศิริวัฒนกุล และนรินทรกุล
สกุลจันทโรจวงศ์ ถือว่ามีสายโลหิตเดียวกันกับตระกูล ณ พัทลุง โดยถือเอาว่า บิดาของพระยาอภัยบริรักษ์ (เนตร) คือ พระยาวรวุฒิวัย (น้อย) ได้สมรสกับ คุณหญิงหนูขาว ณ พัทลุง ธิดาของพระยาพัทลุง (ทับ) ฉะนั้นบรรดาลูกหลานผู้สืบสกุลจันทโจวงศ์, ณ พัทลุง, ศิริธร, สุคนธภิรมย์ ณ พัทลุง, ขัมพานนท์ และสกุลเครือญาติอื่น ๆ ถือว่าเป็นสายโลหิตเดียวกัน ความสนิทสนามรักใครซึ่งกันและกันจึงมีมากจนปัจจุบัน (พลโท อำพัน ณ พัทลุง)