ณ นคร, ตระกูล

ณ นครตระกูล



         ตระกูล ณ นคร เป็นตระกูลนักปกครองเก่าแก่ตระกูลหนึ่งของภาคใต้ เคยมีบทบาทและอำนาจมากในฐานะผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช พระปลัด ผู้ช่วยราชการ กรมการเมือง และเจ้าเมืองอื่น ๆ อีกหลายเมืองเป็นต้นว่า เมืองตรัง พัทลุง พังงา ตะกั่วป่า และกระบี่ รวมทั้งเป็น ผู้กำกับเมืองไทรบุรีและกลันตันอีกด้วย ตระกูลนี้มีอำนาจอยู่ทางภาคใต้เป็นเวลาประมาณ ๑๑๗ ปี คือ ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๒๗-๒๔๔๔ หลังจากหมดอำนาจหน้าที่ทางการปกครองในภาคใต้แล้ว บทบาทของตระกูลนี้ทางภาคใต้ก็ลดลงไปอย่างมากจนเป็นบทบาทส่วนตัวของสมาชิกบางคนในตระกูลเท่านั้นมากกว่าอิทธิพลในรูปของตระกูล ในที่นี้จึงกล่าวเน้นเฉพาะบทบาทของตระกูล ณ นคร ในระยะที่มีอำนาจในฐานะเจ้าเมืองต่าง ๆ ทางภาคใต้เท่านั้น

          ความเป็นมาของตระกูล ณ นคร ยังไม่กระจ่างชัดนัก โดยเฉพาะต้นตระกูลคือเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ปรากฏหลักฐานแต่เพียงว่าเป็นบุตรเขย และอุปราชของเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ในระยะที่เจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ตั้งตัวเป็นเจ้าในเมืองนครศรีธรรมราชเท่านั้น แต่ถ้าพิจารณาจากหลักฐานทางด้านโบราณคดีที่เกี่ยวข้องแล้ว มีทางเป็นไปได้มากทีเดียวว่าเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) มีหลักแหล่งอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราช เพราะญาติพี่น้องโดยเฉพาะพี่สาวคนหนึ่งได้สร้างวัดสำคัญคือวัดแจ้ง และมารดาได้สร้างวัดประดู่ ฮวงซุ้ยบรรพบุรุษของตระกูลก็อยู่ในเมืองนครศรีธรรมราช ชาวเมืองเรียกกันว่า “แต้อ๋อง” จึงทำให้เข้าใจว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) คงถือกำเนิดในตระกูลที่ร่ำรวยในเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งบรรพบุรุษอาจจะเป็นจีนด้วยก็ได้ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพัฒน์ อุปราชเมืองนครศรีธรรมราชระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๑๒ และระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๑๙-๒๓๒๗ เมื่อพ่อตาคือพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชใน ระยะเดียวกัน

          ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่หลังจากพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ถูกปลดออกจากตำแหน่งในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ เพราะจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมากเป็นพิเศษ และถูกกล่าวหาจากรัฐบาลใหม่ว่าขัดขืนรับสั่ง ไม่ยอมลดยศตำแหน่งของตนและเสนาบดีลงเป็นเจ้าเมืองกรมการเมืองอย่างแต่ก่อน และไม่ให้ความร่วมมือแก่ข้าหลวงกองสักเลกเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพัฒน์อุปราช ก็ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนต่อมาโดยทางฝ่ายรัฐบาลกลางอ้างว่า “…เจ้าพัฒน์เมืองนครนั้น ซื่อสัตย์มั่นคงจงรักภักดีโดยสุจริต ได้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณมีความชอบมาแต่ก่อน ให้เจ้าพัฒน์ออกไปว่าราชการรักษาเมืองนครสืบไป ในพงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช อ้างว่าเจ้าพัฒน์ได้เข้าไปเป็นโจทก์ฟ้องกล่าวโทษเจ้านครในกรุงเทพฯ

เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ต้นตระกูล ณ นคร มีภริยาหลายคน เช่น คุณหญิงนวลซึ่งเป็นธิดาพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) มีธิดาด้วยกัน ๒ องค์ คือ เจ้าจอมมารดา (นุ้ยใหญ่) และคุณหญิง (นุ้ยเล็ก) ชายาอีกองค์หนึ่ง คือ คุณปรางธิดาองค์เล็กของพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ซึ่งเคยเป็นพระสนมสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาก่อนและมีโอรสติดครรภ์มา ๑ องค์ คือ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) และมีชายาอื่น ๆ ซึ่งมีบุตรธิดา อีกหลายคนเป็นต้นว่า นายใจ นายเริก มหาดเล็ก พระราชภักดีร้าย หนู และพิม เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นทายาทเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนต่อมา และเป็นผู้สืบต่อตระกูลสายตรงด้วย

          บุคคลสำคัญในตระกูล ณ นคร ซึ่งมีบทบาทสำคัญในฐานะนักปกครอง และจะกล่าวถึง ณ ที่นี้มี ๗ คนด้วยกันคือ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์ พ.ศ. ๒๓๒๗-๒๓๕๔) เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย พ.ศ. ๒๓๕๔-๒๓๘๒) เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง พ.ศ. ๒๓๘๒-๒๔๑๐) เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม พ.ศ. ๒๔๑๐-๒๔๔๔) เจ้าพระยามหาศิริธรรม พโลปถัมภ์เทพทวาราวดี ศรีรัตนธาดามหาประเทศาธิบดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ (น้อยใหญ่) พระยาบริรักษ์ภูธร (แสง) และพระยาเสนานุชิต (นุช) ๔ คนแรกเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชตามลำดับกันมาอีก ๓ คนหลังเป็นบุตรเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็นเจ้าเมืองอื่น ๆ เช่น เจ้าพระยามหาศิริธรรมฯ (น้อยใหญ่) ต้นตระกูลโกมารกุล ณ นคร เป็นเจ้าเมืองพัทลุง ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๗๐-๒๓๘๔ พระยาบริรักษ์ภูธร (แสง) เป็นเจ้าเมืองไทรบุรีระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๖๔-๒๓๘๔ และเป็นเจ้าเมืองพังงาระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๘๔-๒๔๐๔ พระยาเสนานุชิต (นุช) เป็นปลัดเมืองไทรบุรีระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๖๔-๒๓๘๔ และเจ้าเมืองตะกั่วป่าระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๘๔-๒๔๓๔ (ดูแผนผัง ตระกูล ณ นคร)

          เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการช่วยประคับประคองเมืองนครศรีธรรมราชให้รอดพ้นจากความหายนะ ในระยะที่ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองนครศรีธรรมราชกับราชธานีตกอยู่ในภาวะที่เสื่อมโทรม เนื่องจากพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) อดีตเจ้านายของตนถูกลดยศและปลดออกจากตำแหน่งไปกักตัวในกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ ซึ่งทางฝ่ายราชธานีเองก็ไม่กล้าหักหาญน้ำใจกรมการเมืองนครศรีธรรมราชมากนัก จึงแต่งตั้งอุปราชเป็นเจ้าเมืองคนใหม่ ภาระต่าง ๆ จึงตกอยู่กับเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ที่จะต้องประสานสามัคคีระหว่างเมืองทั้งสอง ทางฝ่ายราชธานีเองก็ไม่ไว้วางใจทีเดียวจึงได้ส่งเสริมเมืองบริวารของเมืองนครศรีธรรมราชบางเมืองแยกตัวเป็นอิสระไปขึ้นตรงต่อเมืองหลวง เช่น เมืองสงขลาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๓๔ เป็นต้นมา และเมืองตรังระหว่างปี พ.ศ.๒๓๔๗-๒๓๕๔ เป็นต้น ตระกูล ณ นคร ในระยะนี้จึงตกอยู่ในภาวะที่ไม่มั่นคงนัก เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) เองก็ไม่ได้มีอำนาจบารมีเป็นที่นับถือเกรงกลัวในระหว่างบรรดากรมการเมือง และอาณาประชาราษฎร์มากนัก ดังจะเห็นได้จากตอนศึกพม่าตีเมืองนครศรีธรรมราชในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ การคงไว้ซึ่งสถานภาพเดิมของตระกูล ณ นคร จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในระยะนี้จึงกลายเป็นบุคคลที่ค่อนข้างจะสุภาพอ่อนโยน เก็บตัว มีศีลธรรม ไม่ทะเยอทะยานและใฝ่สูงอย่างเมืองอื่น ๆ

          หลังจากรับราชการมาเป็นเวลา ๒๗ ปี ในปี พ.ศ. ๒๓๕๔ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ขอลาออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองโดยให้เหตุผลว่า แก่ชราหูหนักจักษุมืดหลงลืม จะทำราชการสนองพระเดชพระคุณสืบไปมิได้ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพิจารณาเห็นว่าเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) เป็นเจ้าเมืองผู้ใหญ่ทำราชการมานานจึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นที่ “เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี” จางวางเมืองนครศรีธรรมราชรับราชการต่อมาอีก ๓ ปี ก็ถึงแก่อสัญกรรม ในปี พ.ศ. ๒๓๕๗ ในสมัยเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เป็นระยะที่ตระกูล ณ นคร รุ่งเรืองด้วยอำนาจบารมีอย่างแท้จริง ฐานะของเมืองนครศรีธรรมราชได้รับการยกย่องขึ้นเป็นหัวเมืองเอกอย่างสมศักดิ์ศรีอีกครั้ง บทบาทของตระกูล ณ นคร มีความสำคัญต่อความมั่นคงของดินแดนภาคใต้อย่างแท้จริง เพราะมิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในเมืองนครศรีธรรมราช แต่ได้ขยายออกไปยังเมืองพัทลุง ตรัง ไทรบุรี และหัวเมืองชายฝั่งตะวันตกอีกด้วย ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากสาเหตุสำคัญ ๒ ประการ คือ

          ประการแรก เกิดจากพม่าเผาทำลายเมืองถลางในปี พ.ศ. ๒๓๕๒ ทางฝั่งตะวันตกจึงไม่มีเมืองหลักที่จะป้องกันภัยจากพม่า โจรสลัดและอังกฤษจากเกาะปีนัง ทางฝ่ายรัฐบาลกลางจึงมอบหมายให้ตระกูล ณ นคร เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาเมืองตรังขึ้นเป็นฐานที่มั่นเพื่อรักษากองทัพเรือขนาดใหญ่ ประกอบด้วยเรือเป็นร้อย ๆ ลำ มอบหน้าที่ในการดูแลรักษาเมืองถลาง พังงา และอื่น ๆ ให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ได้ส่งบุตรชาย คือ พระสงครามวิชิต (ม่วง) หรือพระอุไทยธานีออกไปเป็นผู้รักษาเมืองตรัง และส่งพระยาพัทลุง (น้อยใหญ่) ซึ่งต่อมาเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยามหาศิริธรรมฯ (น้อยใหญ่) ผู้รักษากรุงเก่าไปเป็นเจ้าเมืองพัทลุง อำนาจของตระกูล ณ นคร จึงค่อย ๆ ขยายออกไป

ประการที่ ๒ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไทยเริ่มมีนโยบายกระชับความสัมพันธ์กับหัวเมืองมลายูยิ่งขึ้น เพราะอังกฤษกำลังขยายตัวโดยการจัดตั้งอาณานิคมบริเวณช่องแคบขึ้นมา ทำให้หัวเมืองมลายูที่เคยอ่อนน้อมต่อไทยเริ่มดำเนินนโยบายถ่วงดุลอำนาจแบบ ๓ เส้า ดึงเอาอังกฤษเข้ามารักษาดุลอำนาจกับไทย รัฐบาลกลางซึ่งมีกรมหมื่นศักดิพลเสพย์เป็นผู้กำกับกรมพระกลาโหมในสมัยรัชกาลที่ ๒ และกรมพระราชวังบวรในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นผู้ผลักดันอยู่เบื้องหลัง มอบหมายให้พระญาติคือเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ส่งกองทัพเข้ายึดเมืองไทรบุรีในปี พ.ศ. ๒๓๖๔ เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับไทยให้แน่นแฟ้นขึ้น เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองไทรบุรีและเมืองเประ และตั้งให้พระยาอภัยธิเบศร์ (แสง) บุตรเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เป็นเจ้าเมืองไทรบุรีระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๖๔-๒๓๘๔ พระเสนานุชิต (นุช) บุตรอีกคนหนึ่งของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เป็นปลัดเมืองไทรบุรี

          ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๖๕-๒๓๘๒ จึงเป็นช่วงที่ตระกูล ณ นคร รุ่งเรืองที่สุด ความยิ่งใหญ่ของตระกูล ณ นคร ครั้งนั้นขึ้นอยู่กับความเฉลียวฉลาดและความสามารถเฉพาะตัวของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ด้วยเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) มีความสามารถรอบด้านตั้งแต่เป็นนักปกครอง นักรบ ค้าสำเภา ช่างต่อเรือ และยังเชี่ยวชาญทางด้านการทูตด้วย ความสำเร็จของเจ้าพระยานครศรีธรรมราชส่วนหนึ่งเกิดจากความใกล้ชิดส่วนตัวกับราชสำนักทั้งวังหลวงและวังหน้าจึงสามารถถ่ายโอนอำนาจจากศูนย์แห่งพระบรมเดชานุภาพมายังตระกูล ณ นคร โดยอาศัยตัวเองเป็นสื่อได้เต็มที่

แต่หลังจากเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ แล้ว อำนาจบารมีที่รับถ่ายโอนมาจากศูนย์กลางก็เริ่มลดลงและกระจายออกไป กล่าวคือมีการปลดปล่อยเมืองพัทลุงให้เป็นอิสระจากตระกูล ณ นคร เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง) บุตรชายคนที่ ๒ ของ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับภาระหน้าที่สำคัญและกว้างขวางอย่างบิดาได้อำนาจที่รัฐบาลกลางเคยมอบให้แก่เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เริ่มถูกถ่ายโอนกลับไปยังเมืองหลวงเช่นเดิม รัฐบาลส่งข้าหลวงลงมาแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยตรงโดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับเมืองไทรบุรี โอนเจ้าเมืองไทรบุรีและปลัดซึ่งเป็นสมาชิกสายภรรยาน้อยไปเป็นเจ้าเมืองพังงาและตะกั่วป่า เจ้าเมืองทั้ง ๒ ประสบความสำเร็จจากการผูกขาดทำภาษีแบบเหมาเมืองอยู่ชั่วระยะหนึ่ง ก่อนที่จะล้มละลายลงในระยะก่อนรวมชาติสมัยรัชกาลที่ ๕

           เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง) รับราชการในเมืองนครศรีธรรมราชในระยะที่ภาวการณ์บ้านเมืองกำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ประมาณ ๑๓ ปี ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ปี พ.ศ. ๒๓๙๕ ก็ได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาและถึงแก่กรรมลงอีก ๑๕ ปีต่อมา พระยานครศรีธรรมราช (หนูพร้อม) ขึ้นเป็นเจ้าเมืองคนต่อมา ในระยะที่การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มสยามใหม่กับสยามเก่ากำลังเข้มข้นอยู่ในเมืองหลวงซึ่งในที่สุดกลุ่มสยามใหม่มีชัยและเริ่มปรับประเทศเป็นแบบตะวันตก เพื่อต่อต้านการคุกคามจากประเทศตะวันตก โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง โดยใช้ระบบข้าราชการแทนการสืบต่ออำนาจทางตระกูล ภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ ทำให้พระยานครศรีธรรมราช (หนูพร้อม) ปรับตัวไม่ทัน รัฐบาลกลางได้ถือโอกาสดังกล่าวค่อย ๆ ลดบทบาทอำนาจบารมีและศักดิ์ศรีของเมืองและตระกูล ณ นคร ลงโดยการปล่อยให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนสุดท้ายตกเป็นเหยื่อของความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด เป็นต้นว่าเกิดปัญหาขัดแย้งกับขุนพิบาลสมบัติ (จีนเบี้ยง) เจ้าภาษีดีบุกเมืองนครศรีธรรมราช เกี่ยวกับที่ทำเหมืองที่อำเภอร่อนพิบูลย์ โดยปล่อยให้เรื่องคาราคาซังอยู่นานกว่า ๑๐ ปี และปล่อยให้มีการฉ้อเงินค่านาติดต่อกันถึง ๖ ปี เป็นเงินกว่าแสนบาท ถูกราษฎรกล่าวหาว่าแย่งชิงช้างและไร่นา รวมทั้งคัดค้านรัฐบาลกลางและขัดขวางเจ้าภาษีซึ่งประมูลทำภาษีในเมืองนครศรีธรรมราชด้วยวิธีการต่าง ๆ จนรัฐบาลต้องเรียกตัวพระยานครศรีธรรมราช (หนูพร้อม) ไปกักตัวไว้ในกรุงเทพมหานครเป็นเวลานานกว่า ๑๐ ปี มอบให้พระศิริธรรมบริรักษ์ (ถัด) พระปลัดน้องชาย เป็นผู้รักษาเมืองแทน แล้วดำเนินการปฏิรูปการภาษีในเมืองนครศรีธรรมราชโดยไม่ต้องหวั่นเกรงอิทธิพลของตระกูล ณ นคร อีกต่อไป

          พระยานครศรีธรรมราช (หนูพร้อม) ถูกกักตัวอยู่จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๓๗ จึงได้รับการปลดปล่อยให้กลับมาช่วยข้าหลวงใหญ่ดำเนินการปฏิรูปเมืองนครศรีธรรมราชในฐานะผู้ว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราช แต่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการทำงานตามระบบราชการแบบใหม่ได้ จึงถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราชในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ แต่ยังรับราชการในเมืองนครศรีธรรมราชต่อมา จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีศรีธรรมราช (หนูพร้อม) จางวางเมืองนครศรีธรรมราชถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ และถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ อายุได้ ๖๕ ปี 


ชื่อคำ : ณ นคร, ตระกูล
หมวดหมู่หลัก : โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และการเมืองการปกครอง
หมวดหมู่ย่อย : ประวัติบุคคล
ชื่อผู้แต่ง : สงบ ส่งเมือง
เล่มที่ : ๕
หน้าที่ : ๒๒๙๖