มงคลนิมิตร, วัด

        วัดมงคลนิมิตร เป็นวัดเก่าแก่และสำคัญยิ่งวัดหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ที่เลขที่ ๓ ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต มีเนื้อที่จำนวน ๑๕ ไร่ ๑ งาน ๙๒ ตารางวา นอกจากนั้นยังมีที่ธรณีสงฆ์อีก ๒ แปลง แปลงที่ ๑ อยู่ที่ตำบลตลาดใหญ่ และแปลงที่ ๒อยู่ที่ตำบลท่าเรือ อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต บริเวณที่ตั้งวัดมงคลนิมิตรเป็นที่ราบตั้งอยู่ใจกลางเมือง ในเขตเทศบาล

อาณาเขต

        ทิศเหนือ ติดต่อกับเขตสวนของเอกชน

        ทิศใต้ ติดต่อกับถนนดีบุก

        ทิศตะวันออก ติดต่อกับถนนเทพกระษัตรี

        ทิศตะวันตก ติดต่อกับถนนเยาวราช

        วัดมงคลนิมิตร เดิมชื่อว่า “วัดกลาง” เพราะเป็นวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง สร้างขึ้นเมื่อ ประมาณปี พ.ศ.๒๔๒๓ ในสมัยที่เกาะถลางยังเป็นมณฑลภูเก็ต สันนิษฐานกันว่าเจ้าเมืองเป็นผู้สร้างและได้รับพระราชทานวิสุงคาสีมาประมาณปี พ.ศ.๒๔๒๘ วัดนี้นอกจากเป็นศาสนสถานประกอบกิจของสงฆ์ และทำบุญของพุทธศาสนิกชนทั่วไปแล้ว ยังเคยเป็นวัดที่มีบทบาทสำคัญในเมืองภูเก็ตอีกมาก เช่น ทางราชการเคยใช้เป็นสถานที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาทุกปี เป็นที่ทำพิธีน้ำมุรธาภิเษกในรัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ เป็นสถานที่ประกอบรัฐพิธีและราชพิธีต่าง ๆ ตลอดจนเป็นแหล่งศึกษาทั้งทางธรรมและทางโลกของชาวเมืองภูเก็ตตลอดมา ทางราชการและประชาชนทั่วไปจึงถือกันว่าวัดนี้เป็นวัดที่นำความเป็นมงคลมาให้เมืองภูเก็ต ต่อมาทางราชการจึงได้ขอเปลี่ยนนามวัดนี้ใหม่ว่า “วัดมงคลนิมิตร” และได้รับพระราชทานยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชนิดสามัญในปี พ.ศ.๒๔๙๖ แต่ชาวบ้านทั่วไปก็ยังคงนิยมเรียกกันว่า “วัดกลาง” ติดปากอยู่มาก

        โบราณวัตถุสถานที่สำคัญในวัดที่ควรกล่าวถึงได้แก่

        พระพุทธรูปทองคำ ประดิษฐานอยู่ในศาลาการเปรียญ เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยสุโขทัย มีอายุประมาณ ๗๐๐ ปี เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ถูกพอกไว้ด้วยปูน สันนิษฐานว่านายช่างคงกลัวจะถูกโจรกรรมจึงเอาปูนพอกไว้ แล้วแต่งพระพักตร์ให้ดูน่ากลัว จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.๒๕๐๐ อันเป็นปีที่รัฐบาลได้จัดฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ทางวัดมงคลนิมิตรได้ทำการปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปต่าง ๆ ภายในวัด บังเอิญพระพุทธรูปองค์นี้มีรอยปูนกะเทาะออกเล็กน้อย ทำให้เห็นทองคำที่องค์พระ ทางวัดจึงได้กะเทาะปูนออก ปรากฏเป็นพระพุทธรูปทองคำทั้งองค์สวยงามมาก

        หลวงพ่อขาว เป็นพระประธานในพระอุโบสถของวัด เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนองค์ใหญ่ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๖ ศอกคืบ สูง ๘ ศอก ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างเมื่อใด ทราบแต่ว่า เจ้าอาวาสรูปก่อนของวัดนี้เป็นผู้สร้าง แต่เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ฉาบปูนขาวทั้งองค์ วางไว้กับพื้นธรรมดาไม่มีแท่นรอง ชาวเมืองภูเก็ตจึงเรียกกันว่า “หลวงพ่อขาว” ต่อมาเมื่อพระราชวิสุทธิมุนี (ริ่น โสภโณ) เป็นเจ้าอาวาสของวัดนี้ (เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๓ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๕๒๓) จึงได้สร้างชุกชี และลงรักปิดทองเป็นพระพุทธรูปที่สวยงาม

        พระพุทธรูปปางลีลา ประดิษฐานอยู่หน้าพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลืองปน นาก เงิน ทอง ทั้งองค์ สูง ๓ เมตร ๒๕ เซนติเมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ

        รอยพระพุทธบาทจำลอง ประดิษฐานในพิพิธภัณฑ์ของวัด เป็นรอยพระพุทธบาทแกะสลักด้วย หินอ่อน มีอยู่ ๔ องค์ เป็นรอยใหญ่ ๑ องค์ และมีรอยเล็ก ๓ องค์ ย่อส่วนลงมาเป็นลำดับอยู่ในองค์ใหญ่ ท่านพระครูศรีขจรรัฐสมานคุณ (ไข่) อดีตเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดนี้ ระหว่าง พ.ศ.๒๔๒๘-๒๔๕๘ ให้ช่างฝีมือแกะสลักไว้เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๔๔ เพื่อให้ประชาชนได้เข้านมัสการ ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า “พระพุทธบาทสี่รอย”

        หมู่พระเจดีย์ ๑๑ องค์ อยู่ทางทิศตะวันออกหน้าพระอุโบสถ มีพระเจดีย์องค์ใหญ่อยู่ตรงกลาง ส่วนพระเจดีย์องค์เล็ก ๆ อีก ๑๐ องค์เรียงรายอยู่รอบพระเจดีย์องค์ใหญ่ สร้างขึ้นในสมัยที่พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี (ไข่) เป็นเจ้าอาวาส และกล่าวกันว่าท่านได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาจากประเทศลังกา บรรจุไว้ในพระเจดีย์ และได้จัดงานฉลองเป็นการใหญ่ในปี ร.ศ. ๑๒๒ (พ.ศ. ๒๔๔๖) ในสมัยพระราชวิสุทธิมุนี (ริ่น โสภโณ) เป็นเจ้าอาวาส ได้ปฏิสังขรณ์หมู่พระเจดีย์นี้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ สิ้นเงิน ๑๕๒,๔๓๑ บาท

        พระอุโบสถ สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๕๐ และได้ปฏิสังขรณ์ใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ เป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่ ทรงไทย ใช้อิฐโบราณแผ่นใหญ่ เสาสี่เหลี่ยม ผนังก่ออิฐถือปูนแบบโบราณ มีลวดลายแกะสลักที่บานประตูและเขียนลายรดน้ำที่บานหน้าต่าง

        พระวิหาร สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๐ เช่นเดียวกัน มีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบจีน (ปัจจุบันใช้เป็นตึกห้องสมุด)

         นอกจากนั้นแล้วในปัจจุบันภายในวัดยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพุทธมงคลนิมิตร ซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์ของวัด เริ่มตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ (พรศักดิ์ พรหมแก้ว) 

ชื่อคำ : มงคลนิมิตร, วัด
หมวดหมู่หลัก : ศิลปกรรม
หมวดหมู่ย่อย : สถาปัตยกรรมเกี่ยวกับศาสนา
ชื่อผู้แต่ง : พรศักดิ์ พรหมแก้ว
เล่มที่ : ๑๒
หน้าที่ : ๖๖๘๕