ไม้หม็อกช้าง คือ ไม้เรียวที่ทำจากหวาย มีรูปแบบเฉพาะตัว ใช้สำหรับเฆี่ยนตีช้างที่ดื้อรั้นหรือทำงานอืดอาด คำว่า ไม้หม็อก เป็นคำปักษ์ใต้ซึ่งมีความหมายเดียวกันกับคำว่า ไม้เรียว ที่ใช้เฆี่ยนตีหรือลงโทษผู้กระทำความผิด (ดู ไม้หมก) ไม้หม็อกจะออกเสียงที่ใกล้เคียงกับคำว่า เป็นเยเมาะก์ (PENYEMAK) ในภาษามลายู ซึ่งมายถึงไม้เรียวหรือไม้สำหรับใช้เฆี่ยนตีเช่นเดียวกัน ในสมัยก่อนเด็กที่กระทำผิดถูกพ่อแม่หรือครูอาจารย์ลงโทษโดยการเฆี่ยนตีด้วยไม้หม็อก (ไม้เรียว) เด็กบางคนเกิดความละอายและทนเจ็บไม่ไหวร้องไห้โฮเพื่อนฝูงก็เอามาล้อเลียน โดยการเย้าแหย่เป็นสำนวนปักษ์ใต้ที่จดจำสืบต่อกันมา ซึ่งมีว่าดังนี้ “เด็กขี้ร้อง ต้องไม้หม็อก ตีป็อกป็อก ร้องแงแง”
ไม้หม็อกช้างนี้มีใช้กันมาแต่สมัยโบราณรวมทั้งวัฒนธรรมภาคอื่นด้วย เช่น ในภาพลายรดน้ำ ตู้ลายรดน้ำ สมัยต้นรัตนโกสินทร์ของวัดอนงคารามวรวิหารจะเป็นภาพของควาญช้างที่นั่งอยู่บริเวณท้ายช้างกำลังใช้ไม้หม็อกช้างหวดกระหน่ำอยู่ ไม้หม็อกดังกล่าวมีรูปแบบใกล้เคียงกับไม้หม็อกช้างที่ใช้กันอยู่ในภาคใต้ตอนล่างในปัจจุบันนี้ คือจะมีห่วงกลมสำหรับสวมคล้องไว้ที่ไหล่ควาญช้างขณะที่นั่งอยู่บนหลังช้างไม้หม็อกช้างในภาคใต้เท่าที่สำรวจพบจากจังหวัดสงขลาไปจนถึงจังหวัดนราธิวาส รูปแบบของไม้หม็อกช้างของควาญช้างทั้งกลุ่มพุทธและมุสลิม จะมีรูปแบบคล้ายคลึงกันเกือบจะทั้งหมด จะมีรูปแบบที่แตกต่างกันบ้างเพียงเล็กน้อยเฉพาะรายละเอียดปลีกย่อยเท่าที่พบมีอยู่ ๒แบบใหญ่ ๆ คือแบบห่วงเดียวดังในภาพลายรดน้ำและแบบสองห่วง แต่ที่พบมากและนิยมใช้กันมากที่สุดก็คือแบบสองห่วง
ตัวของไม้หม็อกช้างจะทำจากหวายทั้งเส้น จะเป็นหวายชนิดที่มีความเหนียวและทนทาน เช่นหวายตะค้าหวายหลิง (หวายขลิง) หวายหิน หวายกวน ฯลฯ โดยเลือกหวายที่แก่จัดมีลำต้นโตพอประมาณขนาดนิ้วก้อย ขุดเอามาทั้งหัวคู้ (เหง้า) แล้วลอกกาบออกและลิดรากที่ติดอยู่ในหัวคู้ออกให้หมด จากนั้นจึงเกลาหัวคู้หวายให้เป็นปุ่มมนคล้ายไม้ตีฆ้องปุ่มนี้จะเป็นส่วนปลายของไม้หม็อกจากปุ่มที่ปลายจะปล่อยเส้นหวายให้ยาวไว้ประมาณ ๓ ฟุตเศษ แล้วจึงม้วนเส้นหวายให้เป็นห่วง จะเป็นห่วงเดียวหรือสองห่วงแล้วแต่จะต้องการ ความสวยงามของไม้หม็อกจึงขึ้นอยู่กับวิธีการพลิกพลิ้วและตวัดม้วนเส้นสวายให้เกิดความสวยงาม ขั้นต่อไปก็นำเส้นหวายที่เหลือจากการทำห่วงทบกลับไปยังตัวของไม้หม็อก (ส่วนที่เป็นห่วงนั้นเปรียบเสมือนด้ามของไม้หม็อก) โดยทบขนานกับตัวของไม้หม็อกให้ยาวประมาณ ๑ ฟุต แล้วจึงตัดเส้นหวายส่วนที่เหลือทิ้ง แล้วจึงนำหวายที่ได้ทำการจักตอกเป็นเส้นเล็ก ๆ นำมาถักร้อยบริเวณส่วนที่ม้วนและทบเพื่อความมั่นคงอยู่ตัวและเพื่อความสวยงาม จากนั้นจึงปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งจึงจะนำไปใช้ ในกรณีที่ทำจากหวายที่แห้งตัวมาดีแล้วก็สามารถที่จะนำไปใช้ได้เลย เส้นหวายเมื่อแห้งผิวจะแข็งลำต้นจะมีความยืดหยุ่นตัวคล้ายสปริงจึงเหมาะมือเมื่อเฆี่ยนตีด้วยการตวัดเส้นหวายไม้หม็อกช้างเมื่อทำเสร็จเรียบร้อยแล้วจะมีความยาวตั้งแต่ปลายจนถึงด้ามประมาณ ๔ ฟุตเศษ โดยเฉพาะไม้หม็อกชนิดที่ทำเป็นสองห่วงจะมีรูปร่างคล้ายปืนยาวหรือไม้ยมกมากทีเดียว (ดูภาพหน้า )
การใช้ไม้หม็อกช้าง เมื่อช้างเกิดการดื้อดึงต่อควาญช้างไม่ยอมทำงานตามคำสั่งหรือทำงาน เชื่องช้าอืดอาด ควาญช้างก็จะนำไม้หม็อกดังที่กล่าวมาหวดตีลงที่บริเวณซอกรักแร้หรือบริเวณสีข้างของช้าง เมื่อช้างโดนหวดก็จะเลิกดื้อหรือทำงานกระฉับกระเฉงว่องไวขึ้นมาอีกครั้ง ในกรณีที่ช้างผูกประทุนหรือกูบอยู่บนหลัง ในประทุนด้านข้างจะมีซองสำหรับเหน็บไม้หม็อกเอาไว้ เพื่อที่ควาญช้างจะหยิบนำมาใช้ได้สะดวกเมื่อถึงคราวจำเป็นที่จะต้องนำออกมาใช้ ส่วนช้างที่ทำงานลากไม้จะเป็นช้างหลังเปล่าไม่ผูกประทุนหรือสัปคับ ไม้หม็อกช้างก็จะเก็บไว้กับตัวของควาญช้าง โดยใช้ห่วงที่ด้ามของไม้หม็อกมาคล้องไว้กับไหล่ทำให้มีความสะดวกในการปีนป่ายขึ้นลงบนหลังช้างไม่ต้องใช้มือกุมไม้หม็อกอยู่ตลอดเวลา สามารถใช้มือทั้งสอง ข้างทำงานอื่น ๆ ขณะนั่งอยู่บนหลังช้างได้คล่องตัวขึ้น นอกจากนี้ห่วงดังกล่าวยังช่วยกันมิให้ไม้หม็อกตกลงไปจากหลังช้างเมื่อหลุดมือการใช้ไม้หม็อกช้างที่ถูกวิธีข้อมือจะต้องสอดคล้องติดยู่ที่ห่วงตลอดเวลาที่ใช้งาน ทั้งนี้เพราะเมื่อช้างโดนตีช้างจะสะดุ้งตัวหรือสลัดตัวทำให้ควาญเสียการทรงตัวจำต้องใช้มือทั้งสองข้างเกาะกุมขอบประทุนหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของช้างหรือสายสัปคับเพื่อกันการพลัดตกขณะนั้นไม้หม็อกจะหลุดไปจากมือทันที แต่ก็จะไม่หล่นลงสู่พื้นเพราะห่วงของไม้หม็อกยังคงคล้องติดอยู่ที่ข้อมือของควาญ ด้วยเหตุนี้เองไม้หม็อกช้างจึงมีการออกแบบให้มีห่วงไว้ที่ด้ามเพื่อประโยชน์ดังกล่าว
ไม้หม็อกช้างที่ได้ผ่านการใช้งานเฆี่ยนตีช้างมาแล้วชาวบ้านในภาคใต้ในสมัยก่อนเชื่อว่าไม้หม็อกนั้นมีความขลังเมื่อนำมาเหน็บหรือผูกไว้บนประตูบ้านจะกันมิให้ภูตผีปีศาจหรือสิ่งที่ชั่วร้ายต่าง ๆ ล่วงล้ำเข้าไปภายในตัวบ้านได้และเชื่อกันว่าถ้านำไม้หม็อกช้างไปตีคนที่ถูกผีเข้าเพียงเบา ๆ ผีที่สิงอยู่ในคนจะหนีออกไปทันที (พิชัย แก้วขาว)