กรงหัวจุก, นก

          นกกรงหัวจุก หรือ นกปรอดหัวโขน มีชื่อสามัญว่า RedWhiskered Bulbul มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pycnonotus jocosus เป็นนกในวงศ์นกปรอด PYCNONOTIDAE (ดูภาพหน้า) เป็นนกที่มีสีสันสวยงาม มีความยาวประมาณ ๑๕ เซนติเมตร คอสั้น ปีกสั้น ขนปกคลุมลำตัวด้านบนปีกและหางมีสีน้ำตาล คอและด้านล่างลำตัวมีสีขาว หัวสีดำ มีหงอนหรือหัวจุกสีดำ แก้มสีขาว มีจุดสีแดงที่ข้างตา ข้างตามีแถบสีดำลากผ่านแก้มมาจนถึงข้างคอ โคนหางด้านล่างมีสีแดง ปลายหางด้านล่างมีสีขาว ตัวเมียและตัวผู้มีลักษณะคล้ายกัน นกที่ยังไม่โตเต็มไว จะไม่มีจุดสีแดงข้างตา โคนหางด้านล่างออกสีชมพู นกตัวเมียจะไม่ส่งเสียงร้องเป็นเพลงเช่นตัวผู้

          นกกรงหัวจุกชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงตามพุ่มไม้หรือต้นไม้เตี้ย ๆ ไม่ค่อยตื่นกลัว กระโดดหากินไปตามต้นไม้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งยังชอบเกาะเด่นและร้องเสียงใสอยู่เสมอ อาหารได้แก่ผลไม้และแมลง สำหรับนกที่อาศัยอยู่ด้วยกันเป็นคู่จะเป็นเพศผู้และเพศเมียอย่างละตัว อาศัยในพื้นที่ของตัว ไม่ยอมให้นกตัวอื่นเข้ามา หากมีนกต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่ จะส่งเสียงร้องท้าทายตอบโต้กัน และจะเข้าจิกตีกัน นกกรงหัวจุกจะทำรังด้วยหญ้าและกิ่งไม้สานกันอย่างบอบบาง เป็นรูปถ้วยตื้น ๆ อยู่ตามพุ่มไม้หรือต้นไม้เตี้ย ๆ วางไข่ครั้งละ ๓-๔ฟอง ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันฟักไข่จนเป็นลูกอ่อนและช่วยกันเลี้ยงลูก

          นกกรงหัวจุกนิยมเลี้ยงกันมากในภาคใต้ โดยเลี้ยงไว้ฟังเสียงและเพื่อการแข่งขัน ลักษณะของนกกรงหัวจุกที่มีเสียงดี ปากนกจะต้องโต ตัวโต หัวจุกใหญ่ หนา หมึกหนาและยาว (หมึกคือบริเวณรอบคอ) หางสั้นและหางรวบเล็กมีสีแดง เสียงร้องดังไพเราะและขยันร้อง เรียกว่า “ริก” ในการดักนก จะใช้นกต่อใส่ในกรงต่อที่เรียกว่า “เนียด” แล้วนำกรงต่อพร้อมอาหาร เช่น ผลตำลึงสุกหรือมะละกอสุกล่อไว้ด้วย แล้วนำกรงต่อไปแขวนบริเวณที่มีนกกรงหัวจุกอาศัยอยู่ นกต่อจะส่งเสียงร้องท้าทายนกเจ้าถิ่น นกเจ้าถิ่นจะร้องตอบโต้และจะบินเข้าหานกต่อเพื่อขับไล่ เมื่อนกเจ้าถิ่นลงเกาะคอนบนกรงต่อ สลักจะหลุดทำให้ฝากรงต่อดีดลงครอบนกเจ้าถิ่นไว้ อีกวิธีหนึ่งคือการค้นหารังนกกรงหัวจุกที่ทำไว้ตามพุ่มไม้ แล้วใช้ตรอม ผูกด้วยเถาย่านลิเพาแขวนไว้เหนือรัง เมื่อเห็นนกตัวผู้ ซึ่งมีสีคล้ำและจุกบนหัวยาวเข้าฟักไข่ ก็ดึงเชือกให้ตรอมครอบลงบนรังนก นักเลงนกกรงหัวจุกมักจะหาลูกนกมาเลี้ยงเพราะจะเชื่องกว่าและฝึกให้ร้องตามนกที่เลี้ยงไว้ก่อนแล้วง่ายกว่า การนำนกกรงหัวจุกมาเลี้ยง จะให้อาหารจำพวกผลไม้ เช่น กล้วย แตงกวา มะละกอสุก ผลตำลึงสุก ตั๊กแตนและไข่มดแดง รวมทั้งอาหารเสริม เนื่องจากนกกรงหัวจุกชอบเล่นน้ำ ผู้เลี้ยงจะต้องเปลี่ยนน้ำให้บ่อย ๆ รวมทั้งต้องนำกรงนกออกผึ่งแดดในตอนเช้าทุกวัน ส่วนนกที่ฝึกไว้สำหรับการแข่งขันจะแขวนกรงผึ่งแดดไว้ตั้งแต่เช้าตรู่จนเที่ยงเพื่อให้นกมีความอดทนและคึกคะนองมากยิ่งขึ้น และจะขยันร้องเพลง การเลี้ยงนกกรงหัวจุกผู้เลี้ยงต้องคอยระวังงู หนู และมด ซึ่งจะทำอันตรายแก่นกได้ แม้ว่านกกรงหัวจุกจะพบได้ทั่วไปในประเทศไทย แต่นักเลงนกจะเลี้ยงนกที่จับได้ทางภาคใต้ กล่าวกันว่าเป็นนกที่มีเสียงใสไพเราะกว่านกจากภาคอื่น นกกรงหัวจุกที่ชนะการประกวดเสียงร้องจะมีราคาสูงถึงหลายหมื่นบาททีเดียว แม้ว่านกกรงหัวจุกจะถูกขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภท ๒ แต่ยังมีการเลี้ยงนกชนิดนี้กันมากทางภาคใต้ และผู้เลี้ยงบางส่วนสามารถเพาะ และขยายพันธุ์นกชนิดนี้ได้แล้ว นกป่าพวกหนึ่งที่คนนำมาเลี้ยงฟังเสียง มีชื่อเรียกต่าง ๆ ออกไปในท้องถิ่นต่าง ๆ และมีอยู่หลายชนิด

          ในท้องถิ่นภาคใต้เขตนครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ตรัง ยกยอดไปถึงชายแดนภาคใต้เรียก นกประเภทนี้ว่า “นกกรง”

          ในท้องถิ่นภาคใต้ ตั้งแต่สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต เรียกนกประเภทนี้ว่า “นกปวด”

          ในภาคกลางเรียกนกประเภทนี้ว่า “นกปรอด”

           นกกรง นกปวด หรือนกปรอด ก็มีอยู่หลายชนิด คือ นกกรงแกร็ก นกกรงหัวจุก (นกปวดหัวจุก นกปรอดหัวโขน) นกกรงหน้านวล (นกปวดหน้านวล นกปรอดหน้านวล) นกกรงดอกแตง (นกปวดดอกแตง) นกกรงแม่พระ (นกปวดช้าง นกปรอดแม่พระ) ฯลฯ 

ชื่อคำ : กรงหัวจุก, นก
หมวดหมู่หลัก : ธรรมชาติ ชีวิต และสิ่งแวดล้อม
หมวดหมู่ย่อย : สัตว์
ชื่อผู้แต่ง : พ่วง บุษรารัตน์, รื่นนภา รัตนพงศ์
เล่มที่ : ๑
หน้าที่ : ๒๘