กระจับ : พืช

            ผักจับ ลูกจับ ลูกกรับ ก็ว่า เป็นพืชน้ำ จำแนกชนิดทางพฤกษศาสตร์ อยู่ในวงศ์ Hydrocaryaceae (ดูภาพหน้า ) สกุล Trapa ชนิด T.Bispinosa Roxb. (มี ๒ เขาแหลม บางทีเรียกว่า “เขาควาย”) และชนิด maximowiezii Korsh (มี ๔ เขาแหลม)

            กระจับ เป็นพืชน้ำประเภทใบเลี้ยงคู่ ลอยน้ำโดยมีก้านใบพองออก ส่วนของลำต้นหยั่งลึกลงไปในน้ำส่งกลุ่มของใบขึ้นมาลอยอยู่ผิวน้ำ ลำต้นแตกกอโดยมีไหลเชื่อมต่อกัน

            ลักษณะรากเป็นรากฝอยสีน้ำตาลปนแดงเกิดร่วมกับข้อใบอยู่ใต้น้ำ รากที่อยู่ใกล้ดินจะช่วยยึดลำต้น

            ลักษณะของลำต้นเป็นเถายาวลงไปตามความลึกของน้ำ ในลำต้นมีช่องอากาศทั้งในแกนและรอบนอก โดยมียอดของลำต้นกลุ่มใบลอยอยู่เหนือผิวน้ำและแตกกอโดยมีไหลหรือหางไหล

          ลักษณะของใบมี ๒ ชนิดคือใบใต้น้ำ (Submerged leaves) ลักษณะเป็นฝอยคล้ายรากออกตรงกันข้าม สีเขียวยาวเรียวเป็นพู่คล้ายขนนก มี ๒-๕ อันต่อ ๑ ข้อ (ส่วนมากมี ๑ อัน) ส่วนที่ติดดินมี ๔-๕ อัน ยาวกว่าที่ข้ออื่น ๆ ส่วนใบเหนือน้ำ (Rhombiod) มีรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เรียงกันเป็นวงใกล้ส่วนยอดของลำต้นขอบใบหยัก ด้านบนสีเขียวเข้ม ท้องใบและก้านใบมีขนสีน้ำตาลปนแดง เส้นใบชัดเจน ก้านใบพองออกคล้ายฟองน้ำช่วยให้ลอยได้ ใบขนาดประมาณ ๕-๗ เซนติเมตร

          ลักษณะดอก เป็นดอกสมบูรณ์ ออกดอกตามซอกใบเป็นดอกเดี่ยว ดอกเล็ก ก้านดอกสั้นสีขาว กลีบดอกสีขาว ๔ กลีบ แยกกันอยู่ในฐาน มีลักษณะเป็นคลื่น ฐานกลีบมีขนสั้น ๆ สีเหลือง กลีบเลี้ยงมี ๒ กลีบหรือ ๔ กลีบ แล้วแต่ชนิดของกระจับ ซึ่งกลีบเลี้ยงนี้จะเจริญขึ้นเป็นเขาในระยะต่อไป ถ้าสังเกตที่กลีบเลี้ยงจะพบว่ามีสีม่วงแกมแดงปรากฏอยู่เกสรตัวผู้มี ๔ อัน อยู่บนฐานสลับกับกลีบดอกมีก้านคล้ายเส้นด้าย อับเกสรตัวผู้ทรงกระบอก แต่ละอันมีเกสร ๒ ช่อง แยกตามยาว เกสรตัวเมียอยู่ตรงกลางเป็นก้อนกลม มีก้านชูมีรังไข่อยู่ใต้กลีบดอก ภายในรังไข่มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อน ๑ ใบ ดอกกระจับจะบานทุก ๆ ๓ ชั่วโมง

          ลักษณะผล เมื่อยังอ่อนสีม่วงแกมแดง เมื่อแก่เนื้อชั้นในจะแข็ง และเปลือกกลายเป็นสีดำ ภายในผลมีเมล็ดประกอบด้วยใบเลี้ยงขนาดใหญ่ ๑ อัน และขนาดเล็กคล้ายเกล็ดอีก ๑ อัน

          การเจริญเติบโตจนเป็นฝักนั้น ระยะแรกจะเกิดตาดอกเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีเขียวอ่อนตรงโคนใบ ระยะที่ ๒ ตาดอกมีก้านดอกโตขึ้น กลีบเลี้ยงที่หุ้มดอกด้านข้างมีสีแดงเรื่อ ๆ ปรากฏ ระยะที่ ๓ ก้านดอกชูขึ้นมาปริ่มน้ำดอกยังตูมอยู่ แล้วกลีบเลี้ยงจะแยกออก ดอกบาน ๑ วันก็จะโรย รวมระยะเวลาตั้งแต่มีตาดอกจนดอกบานประมาณ ๑๒-๑๕ วัน ในระยะที่ ๔ หลังผสมเกสรแล้ว กลีบดอกอับเกสรตัวผู้และก้านชูอับเกสรตัวผู้จะหลุดออก ขณะเดียวกันกลีบเลี้ยงที่เจริญขึ้นเป็นเขาอยู่ทางด้านข้างค่อยหุบเข้าหาก้านชูเกสรตัวเมียส่วนกลีบเลี้ยงที่ไม่เจริญเป็นเขาก็จะคงมีสีเขียวอยู่ในลักษณะเดิม ระยะที่ ๕ กลีบเลี้ยงที่เจริญเป็นเขาค่อยอ้าออกแล้วเหยียดตรง ต่อไปจะโค้งลงเห็นเป็นฝักอ่อนสีม่วงแดงชัดเจน และจะโตขึ้นเรื่อย ๆ เนื้อในเป็นแป้งมากขึ้น กลีบเลี้ยงที่เหลือรวมทั้งก้านชูเกสรตัวเมียจะหลุดออก นับเวลาตั้งแต่ดอกเริ่มบานจนกระทั่งนำเนื้อในฝักมารับประทานได้ ประมาณ ๓๕-๔๐ วัน ถ้าแก่เกินไปเนื้อในจะแข็งไม่อร่อย

          กระจับสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล แต่นิยมปลูกในฤดูฝน และนิยมใช้พันธุ์ ๒ เขา พันธุ์ ๔ เขามักปลูกเป็นไม้ประดับ อาจปลูกโดยใช้ไหลหรือฝักก็ได้ แต่ส่วนมากมักใช้ไหลปลูก เพราะเจริญเร็วกว่าใช้ฝัก การดูแลรักษาต้องคอยระวังอย่าให้เถาขาด ควรมีน้ำถ่ายเทเสมอ และหมั่นเอาวัชพืชออก

          ผลกระจับนอกจากจะนำไปต้มกินเล่นแล้ว ยังนิยมนำไปผสมเป็นของหวานอย่างอื่น ๆ เช่น ทำรวมมิตร เป็นต้น

          เนื้อในของผลกระจับ เอามาต้มให้สุก แล้วนำตากแดด เก็บไว้ผสมยาเป็นยาบำรุงกำลังเกี่ยวกับครรภ์รักษา 

ชื่อคำ : กระจับ : พืช
หมวดหมู่หลัก : ธรรมชาติ ชีวิต และสิ่งแวดล้อม
หมวดหมู่ย่อย : พืช พืชสมุนไพร
ชื่อผู้แต่ง : เทอด สุวรรณคีรี
เล่มที่ : ๑
หน้าที่ : ๓๒