กระบอกตุด บอกตุด หรือ บอกตุรุด เป็นอาวุธของพวกซาไก (ดู ซาไก) นิยมใช้เป็นอาวุธประจำกายของผู้ชาย ใช้เป่าหรือตุดสัตว์มาเป็นอาหารและใช้เป็นอาวุธป้องกันตัว พวกซาไกเรียกอาวุธชนิดนี้ว่า “บอเลา” ใช้คู่กับลูกดอกที่เรียกว่า “บิลา”
ส่วนประกอบของบอกตุด
บอกตุดประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๓ ส่วน คือ ตัวกระบอก ลูกดอก และกระบอกบรรจุลูกดอก
ตัวกระบอก หรือ บอเลา รูปทรงยาวมีบั้นท้ายทำเป็นปุ่มไว้สำหรับอมเป่าลูกดอก ทำจากไม้ไผ่ชนิดหนึ่งที่เรียกว่าไม้ซาง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ไม้ไผ่หลอด เป็นไม้ไผ่ที่มีลำปล้องยาวและตรง แต่ละปล้องยาวตั้งแต่ศอกถึงสองศอก มีหลายขนาด ขนาดใหญ่โตเท่าแขนเด็กเล็ก ขนาดเล็กโตเท่าหลอดดูดน้ำหวาน ตัวกระบอกพิจารณาจากลักษณะการประดิษฐ์แยกได้เป็น ๒ ชนิด คือ ชนิดมีฝักเท่ากันตลอด และมีฝักไม่เท่ากันตลอด
ชนิดแรก ทำโดยเอาปล้องไม้ซางขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณครึ่งเซนติเมตร ๒-๓ ปล้อง มาตัดข้อต่อกันให้ได้ความยาวประมาณ ๑ วาเศษ โดยใช้กาบต้นเต่าร้างเชื่อมรอยต่อแล้วตัดให้ตรงทำเป็นกระบอกชั้นใน หรือตัวบอเลาจริง เอาไม้ไผ่ขนาดโตกว่า มีความยาวเท่ากัน มาทำเป็นฝักหรือกระบอกชั้นนอกโดยใช้ชันยารอยต่อไว้ บอเลาชั้นในกับบอเลาชั้นนอกถอดออกจากกันได้ บั้นท้ายที่ใช้เป่าทำด้วยไม้เนื้ออ่อน นิยมใช้ไม้มูกเหลากลม โตกว่าบอเลาชั้นนอกเล็กน้อยหยักเป็นคอกิ่วคล้ายหัวแม่เท้า ยาวประมาณ ๖-๘ เซนติเมตร เจาะรูตามยาว ใช้สวมกับบอเลาชั้นในให้รับกับปลายบอเลาชั้นนอก ใช้ชันยาให้แน่น
ชนิดที่สอง มีลักษณะและวิธีทำคล้ายคลึงกัน เพียงแต่สวมฝัก หรือบอเลาชั้นนอกขนาดไม่เท่ากันตลอด คือตรงกึ่งกลางขนาดโตกว่า สองข้างหัวท้ายด้านละประมาณ ๑ ฟุต ใช้ฝักขนาดเล็กสวมแนบแน่นกับตัวบอเลาชั้นใน มีการประดิษฐ์ลวดลายตกแต่งประณีตด้วยลายขูดขีดบนผิวบอเลาสวยงามกว่าแบบแรก บั้นท้ายที่ใช้อมเป่าทำกลมคล้ายลูกข่างขนาดเล็ก
ลูกดอกและกระบอกบรรจุลูกดอก รูปเล็กเรียว ทำจากไม้ไผ่เหลากลม โตเท่าก้านมะพร้าว เสี้ยมปลายแหลมคมห่างจากปลายประมาณ ๑ นิ้ว หยักกิ่ว เพื่อหักเมื่อเป่าไปปักที่ตัวสัตว์ ตรงปลายแหลมอาบด้วยยาพิษทำจาก ยางน่อง และส่วนผสมอื่นๆ บั้นท้ายของลูกดอกใช้ไม้ระกำทำเป็นจุก ขนาดเท่านิ้วก้อย ยาวประมาณ ๒ เซนติเมตร เพื่อให้เป็นที่กระทบกระแสลมเวลาเป่าทำให้บิลาแล่นไปข้างหน้าได้ไกล
ยางน่อง เป็นยางไม้ที่ได้จากต้นยางน่อง เรียกตามภาษามลายูว่า “อีโป๊ะ” ภาษาซาไก เรียกว่า “ด๊อก” เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่คล้ายต้นขนุนปาน ยางมีสีคล้ายโอวัลติน เมื่อกรีดออกจากต้นใหม่ ๆ จะมีสีขาวหม่นอย่างเปลือกไข่ไก่ พอแห้งจะแข็งมีสีดำ ยางน่องเป็นยางที่มีพิษ ถ้ากระเด็นเข้าตาตาจะบอด ถ้าถูกแผลก็อาจถึงตาย และเมื่อผสมกับยางไม้และวัตถุมีพิษอื่น ๆ แล้วจะเป็นยาพิษที่ร้ายกาจมาก เมื่อถูกคนหรือสัตว์ยาพิษก็จะละลายไปกับกระแสโลหิต พอกระแสโลหิตวนเวียนเข้าสู่หัวใจยาพิษจะออกฤทธิ์ถึงแก่ความตายทันที ซาไกทำยางน่องมาประสมกับยางต้นบุกคางคกและยางเถาวัลย์อีกหลายชนิด เสร็จแล้วจึงเอาชุบที่ปลายลูกดอกวิธีชุบเอายาพิษใส่บนแผ่นไม้บาง ๆ กว้างขนาด ๓ นิ้ว แล้วเอาไปอังไฟ ยาพิษที่แข็งก็จะละลายออกเหนียวเหมือนแป้งเปียกเอาปลายแหลมของลูกดอกจุ่มลงในยาพิษ แล้ว ตั้งเรียงไว้ให้ตัวยาแห้งแข็งติดปลายลูกดอกแน่นเสร็จแล้วนำเก็บไว้ในกระบอกบรรจุ ซึ่งทำจากไม้ไผ่เช่นเดียวกับตัวกระบอกตุด แต่เป็นไม้ไผ่บางปล้องโต ยาวประมาณ ๑ ศอก ที่ปากกระบอกทำเป็นจุกด้วยใบเตยสานเป็นกระสอบเล็ก ๆ ภายในกระสอบบรรจุขุยเต่าร้างไว้เพื่อใช้อุดกระบอกบอเลาเวลายิงกระบอกลูกดอกมี ๒ ขนาด ขนาดใหญ่ เรียกว่า “เก๊าะ” โตเท่าลำขาใช้เก็บลูกดอกแขวนไว้ที่ทับ (ที่พักอาศัย) ขนาดเล็กเรียก “มันนิ” โตเท่าลำแขน ใช้เก็บลูกดอกแขวนติดกับสะเอวเมื่อออกป่าและหรือล่าสัตว์ กระบอกบรรจุนี้มีการเขียนลวดลายประดับสวยงามเช่นเดียวกับบอเลา
การใช้บอกตุดหรือบอเลา นำเอาขุยเต่าร้างที่เตรียมไว้ในกระสอบเตยมาอุดกระบอกตุดข้างที่มีไม้กลมสวมอยู่ โดยปกติจะบรรจุลูกดอกทางปลายอีกข้างหนึ่งให้ปลายแหลมของลูกดอกหันไปทางปลาย แล้วเขย่ากระบอกให้ลูกดอกติดกับขุยเต่าร้างที่อุดไว้ เมื่อใช้อมไม้กลมตรงบั้นท้ายไว้ในปาก มือทั้งสองจับกระบอกตุดชิดริมฝีปาก หันปลายกระบอกไปยังเป้า เล็งได้ที่แล้วจึงสูดลมเข้าปอดเต็มที่แล้วใช้ลิ้นแตะปิดทางลมที่กระบอก เบ่งลมออกจากปอดเต็มที่แล้วกระดกลิ้นกลับ แรงลมก็จะดันลูกดอกให้แล่นออกจากกระบอกอย่างเร็ว การเป่าลูกดอกด้วยวิธีนี้เรียกกันว่า “ตุด” ซึ่งมีความแรงไปไกลประมาณ ๕๐-๖๐ เมตร และสามารถตุดสัตว์ได้อย่างแม่นยำทำให้พวกเขาล่าสัตว์ทั้งเล็กและใหญ่มาเลี้ยงชีพ ได้ทั้งนี้รวมทั้งความร้ายกาจของยาพิษที่ประดิษฐ์ขึ้นและความชำนาญในการตุดของเขา
บอกตุด นอกจากประดิษฐ์ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีการประดิษฐ์ลวดลายต่าง ๆ ขึ้น ตกแต่งส่วนต่าง ๆ ของอาวุธอันแสดงถึงความคิดในเชิงศิลปะของพวกเขาอีก ด้วยการตกแต่งลวดลายปรากฏทั้งบนตัวกระบอกตุดและกระบอกบรรจุลูกดอก ลวดลายที่ศึกษาพบแล้วเป็นลายขูดขีดลงบนผิวของไม้ซาง ส่วนใหญ่เป็นลายเส้นตรง มีพบเส้นโค้งบ้างเล็กน้อย ทำเป็นรูปดอกไม้ ใบไม้ และภูเขา เป็นต้น จากการศึกษาบอกตุดของซาไกกลุ่มอำเภอธารโต จังหวัดยะลา พบลักษณะลายที่ซาไกประดิษฐ์ขึ้นใช้ ๑๐ แบบ ดังภาพหน้า