กระบี่, จังหวัด

          สุรินทร์ ภู่ขจร หัวหน้าโครงการวิจัยวัฒนธรรมโหบินในประเทศไทย และคณะ ได้รายงานขั้นสรุปการขุดค้นที่ถ้ำหมอเขียว จังหวัดกระบี่ ถ้ำซาไก จังหวัดตรัง และการศึกษาชาติพันธุ์วิทยาทางโบราณคดีชนกลุ่มน้อยเผ่าซาไก จังหวัดตรัง พ.ศ.๒๕๓๔-๒๕๓๗ กล่าวถึงต้นธรณีวิทยาทั่วไป พบหินปูนยุคเพอร์เมี่ยม (Permiam) กระจายอยู่ทั่วไปในเขตเมืองกระบี่ มีธรณีสัณฐานต่าง ๆ กัน เช่น ทิวเขา เขาโดด เกาะในทะเล และแม่น้ำลำคลอง เนื่องจากหินปูนมีคุณสมบัติในการสึกกร่อนและละลายน้ำได้ง่าย จึงทำให้ธรณีสัณฐานที่เป็นหินปูนมีรูปร่างแปลกตาและเป็นหน้าผาชัน เมื่อมีน้ำที่มีสารปนละลานอยู่ด้วย ตกตะกอนและเกิดการสะสมตัวก็จะทำให้เกิดเป็นลานปูน เป็นหินงอก หินย้อย และเกิดการกัดกร่อนเกิดเป็นโพรงเป็นถ้ำ และชะง่อนเพิงผาเหมาะเป็นที่อยู่อาศัยของคนสมัยโบราณ หินอีกชุดหนึ่งที่ต่อเนื่องจากหินปูน คือ หินทราย หินดินดาน หินทรายแป้งและหินกรวดมน อายุหินชุดนี้อยู่ในยุคมีโซโซอิก (Mesozoic) และในช่วงหนึ่งของยุคนี้มีการแทรกดันตัวขึ้นมาของหินแกรนิต เช่น ที่พบที่เขาพนมเบญจา และพบว่าหินทรายของหินยุคนี้บางส่วนได้มีการนำมาใช้ทำหินลับมีด หินอีกชุดหนึ่งที่มีลักษณะเด่นจนได้ชื่อว่าหินชุดกระบี่ (Krabi Group) ประกอบด้วยหินทราย หินทรายแป้ง หินโคลน หินดินดาน และถ่านลิกไนต์ หินชุดนี้มีซากบรรพชีวิตเป็นตัวบ่งชี้อายุ เช่น ซากหอยขมน้ำจืดที่ตายทับถมกันจนเป็นลายหินบริเวณบ้านแหลมโพธิ์ และบริเวณเหมืองลิกไนต์ และยังสำรวจพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใหม่จำพวกสัตว์กีบคู่ ซึ่งได้ชื่อและตระกูลใหม่ว่า ไซแอมโมเทอเรี่ยม กระบี่เอนซี่ (Siamotherium Krabiense) มีอายุในช่วงอีโอซีนตอนหลาย (Late Eocene) คืออายุประมาณ ๔๐ ล้านปี หินที่พบมากในจังหวัดกระบี่เป็นหินกีเซอร์ไรต์ (Geyserite) ซึ่งเกิดจากการสะสมตัวของแร่ต่าง ๆ ที่ประกอบด้วยธาตุชิลิกาเป็นหลัก (Siliceous Sinter) ได้แก่ หินประกอบแร่เขี้ยวหนุมาน อะเกต หินเหล็กไฟ เชิร์ต เป็นต้น หินเหล่านี้เมื่อผุพังจะแปรสภาพเป็นศิลาแดงและลูกรัง และพบเครื่องมือหินกะเทาะที่ทำด้วยหินชนิดนี้เป็นจำนวนมาก

          บรรดาเกาะแก่งต่าง ๆ ในเขตจังหวัดกระบี่และพื้นที่ใกล้เคียงพบรอยน้ำเซาะหิน (notches) ซึ่งน้ำทะเลท่วมไม่ถึง แต่มีการกัดเซาะตามขอบล่างและมักมีซากหอยนางรมที่เกาะติดอยู่ ซึ่งแสดงถึงปรากฏการณ์ที่น้ำทะเลรุกเข้ามาในแผ่นดินในสมัยโฮโลซีนที่ระดับน้ำทะเลชั้นสูงสุดในช่วง ๖,๐๐๐-๕,๕๐๐ ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ระดับน้ำสูงกว่าระดับน้ำทะเลในปัจจุบันประมาณ ๕ เมตร และระดับเคยลดลงต่ำกว่าระดับปัจจุบันประมาณ ๑.๕ เมตร เมื่อประมาณ ๑,๕๐๐ ปีที่ผ่านมา สภาพที่ปรากฏอยู่จึงมีคุณค่าที่เป็นหลักฐานทางธรณีวิทยา

          จากการขุดค้นทางโบราณคดีของ Prot. Douglas Aderson ที่ตำบลทับปริก อำเภอเมืองกระบี่ เมื่อพ.ศ.๒๕๒๖-๒๕๒๘ พบหลักฐานสำคัญที่แสดงว่าในเขตจังหวัดกระบี่ และบริเวณริมฝั่งทะเลอันดามัน เป็นดินแดนที่เคยมีมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์อาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยยุคแรก อายุของแหล่งโบราณคดีแหล่งที่อยู่ระหว่าง ๒๗,๐๐๐-๓๗,๐๐๐ ปีมาแล้ว หรือสมัยหินเก่าตอนปลาย (Late Plestoncene) สอดคล้องกับผลการขุดค้นของ อมรา ศรีสุชาติ ที่ถ้ำเบื้องแบบ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ ซึ่งกำหนดอายุได้ ๓๐๒๐๒๓๐ B.P. และรายงานผลการวิเคราะห์เรื่องโรคในสมัยโบราณจาก โครงกระดูกมนุษย์ถ้ำหมอเขียว และถ้ำซาไกของประพิศ ชูศิริ สรุปว่า “ถ้ำการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ของแหล่งโบราณคดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ถ้ำหมอเขียว จังหวัดกระบี่ ถูกต้องจริงคือประมาณ ๒๕,๐๐๐ ปีกว่ามาแล้ว แหล่งโบราณคดีและโครงกระดูกที่ได้นี้นับว่าเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยในเวลานี้ สำหรับการวิวัฒนาการมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ของชนกลุ่มนี้นั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นชุมชนกลุ่มของ Mongoloid รุ่นแรก ๆ พบลักษณะทางกายภาพแตกต่างจากคนปัจจุบัน คือลักษณะการวิวัฒนาการของกระดูกขากรรไกรล่างบริเวณ Coronoid Process และ Mandibular Notch และโพรงในฟัน (Pulb Cavity) ซึ่งใหญ่กว่าคนปัจจุบัน จากลักษณะดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่าลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะของพวกดั้งเดิม (Primitive) และต่อมาพัฒนาการมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน” นอกจากนี้ยังพบหลักฐานการโรยดินเทศ (Red Ochre) บนโครงกระดูกก่อนจะผัง โดยพบดินเทศติดอยู่กับกะโหลกศีรษะ กระดูกซี่โครง และกระดูกต้นแขน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การฝังศพของชนกลุ่มนี้ มีพิธีกรรมเป็นของตนเอง เพราะนอกจากดินเทศดังกล่าวแล้ว ยังพบของอื่น ๆ ที่ฝังร่วมกับโครงกระดูก เช่น เครื่องมือสะเก็ดหิน กระดูกสัตว์ เป็นต้น

          ผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการขุดค้นที่ถ้ำหมอเขียว ของสุรินทร์ ภู่ขจร และคณะ โดยอาศัยหลักฐานทางโบราณคดีที่พบได้แก่ เครื่องมือหินกะเทาะ เครื่องมือสะเก็ดหิน ภาชนะดินเผา โครงกระดูก กระดูกสัตว์ เมล็ดพืช และหอย แสดงลักษณะเป็นถ้ำที่มีการอยู่อาศัยและเป็นที่ฝังศพคน ก่อนประวัติศาสตร์หลายยุคซึ่งมีอายุไม่น้อยกว่า ๓๗,๐๐๐ ปี ถึง ๔,๒๐๐ ปีที่ล่วงมาแล้ว และมี หลายชั้นวัฒนธรรม ชั้นวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งมีอายุประมาณ ๓๗,๐๐๐ ปีมาแล้ว เป็นวัฒนธรรมในยุคหินเก่าตอนปลาย ซึ่งคนยุคนี้นิยมทำและใช้เครื่องมือหินกะเทาะ (Stone Tool) มากกว่าเครื่องมือสะเก็ดหิน ( Flake) เพราะได้พบหินกะเทาะทั้งแบบหน้าเดียว และแบบสองหน้า พบรอยกะเทาะโดยใช้สิ่วที่ทำจากกระดูก และพบร่องรอยการใช้งานเพื่อทำเครื่องมือไม้ (Wood working) ทำเครื่องมือดักจับสัตว์ เป็นต้น ชั้นวัฒนธรรมถัดมา (ชั้นที่ ๒) มีอายุประมาณไม่น้อยกว่า ๒๕,๐๐๐ ปี จึงจัดอยู่ในยุคหินเก่าตอนปลาย (Late Palacelithic) ซึ่งคนยุคนี้นิยมใช้เครื่องมือสะเก็ดหินมากกว่า เครื่องมือหินกะเทาะพบด้วยว่ามีการนำหอยหลายชนิดมากินโดยการนำไปทำให้สุก โดยการต้มหรือเผาก่อนนำไปกิน ชั้นวัฒนธรรมที่ ๓ มีอายุประมาณ ๑๒,๐๒๑๗๐ ปี จัดอยู่ในยุคก่อนยุคหินใหม่ (Pre-Neolithic) ในช่วงโฮโลซีนตอนต้น (Early Holocene) ในชั้นวัฒนธรรมนี้พบท่าฝังศพถูกจัดฝังในท่างอตัว แขนขวางอพับเข้าหากันและมือขวาคล้ายกับกำอาหารไว้ในมือ แขนซ้ายสอดลอดใต้ขา และมือซ้ายวางอยู่บนหน้าท้อง พบเครื่องมือหินกะเทาะหน้าเดียวจากหินกรวดแม่น้ำมักจะนำมาใช้ในพิธีกรรมฝังศพเท่านั้น สิ่งเหล่านี้แสดงว่ามีพิธีกรรมการฝังศพ ส่วนเครื่องมือหินกะเทาะสองหน้าไม่เพียงแต่นำไปใช้ล่าสัตว์โดยตรงเท่านั้น แต่ยังถูกใช้เพื่อนำไปทำเครื่องมือไม้หรือเครื่องมือดักจับสัตว์ขนาดเล็กและสัตว์ที่อาศัยอยู่บนต้นไม้ พบว่าคนก่อนประวัติศาสตร์ยุคนี้นิยมใช้เครื่องมือสะเก็ดหินมากกว่าเครื่องมือหินกะเทาะ เครื่องมือสะเก็ดหินยังใช้สำหรับเจาะ และขุดเนื้อไม้ ผลจากการวิเคราะห์ตัวอย่างหอยชนิดต่าง ๆ พบว่ามีการเผาและต้มก่อนนำมากิน เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า ๔๐-๕๐% จึงตีความได้ว่า คนก่อนประวัติศาสตร์ในชั้นวัฒนธรรมนี้มีการไปล่าสัตว์และหาอาหารจากป่าชายเลนและชายทะเลมากกว่าคนในชั้นวัฒนธรรมที่ ๑ และ ๒ ชั้นถัดมาคือ ชั้นวัฒนธรรมที่ ๔ มีอายุประมาณ ๖,๓๐๐๑๗๐ ปีที่ผ่านมา อยู่ในยุคหินใหม่ตอนต้นของยุคโฮโลซีนตอนกลาง พบหลักฐานชัดเจนว่าคนก่อนประวัติศาสตร์ในยุคนี้มีการปรุงอาหารโดยการต้มหรือเผาหรือย่างให้สุกก่อนกิน มีร่องรอยการตัดที่ปลายหรือก้นหอยก่อนเพื่อให้ง่ายต่อการแคะหรือดูดเอาเนื้อหอยออกมากิน พบว่าคนในยุคนี้ล่าสัตว์ขนาดใหญ่ลดลงและออกไปล่าสัตว์และหาอาหารจากป่าชายเลน และชายทะเลมากขึ้น ชั้นวัฒนธรรมที่ ๕ มีอายุประมาณ ๓๗๒๐  ๑๔๐ ปีที่ผ่านมา อยู่ในยุคหินใหม่ตอนปลาย (Late Neolithic) ของยุคโฮโลซีนตอนกลาง (Middle Holocene) พบว่า คนก่อนประวัติศาสตร์ยุคนี้ นอกจากจะใช้เครื่องมือหินกระเทาะเครื่องมือสะเก็ดหิน เช่นเดียวกับ ในยุคที่ผ่าน ๆ มาแล้วยังรู้จักพัฒนาเทคโนโลยีในการทำขวานหินขัดอีกด้วย รวมทั้งการนำกระดูกสัตว์มาทำเป็นเครื่องมือดักจับสัตว์ต่าง ๆ และพบเศษภาชนะดินเผามากกว่าชั้นวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่ผ่านมา

          ผลการขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งควนลูกปัด หมู่ ๒ บ้านควนลูกปัด ตำบลคลองท่อมใต้ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ โดยธราพงศ์ ศรีสุชาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ และ มยุรี วีระประเสริฐ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖ พบว่าที่นี้เป็นแหล่งเมืองท่าและแหล่งอุตสาหกรรมผลิตลูกปัดเพื่อส่งออก พบหลักฐานต่างซึ่งอาจกำหนดอายุโดยทางอักขรวิทยา และประติมานวิทยา มีอายุต่าง ๆ กัน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๕-๘ และพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๒

          ความรุ่งเรืองของชุมชนต่างๆ ในเขตกระบี่มีการขาดตอนในบางช่วงของประวัติศาสตร์โดยเฉพาะในยุคหลังจากวิชาการเดินเรือก้าวหน้า การใช้เส้นทางข้ามคาบสมุทรมีใช้น้อย แต่เฉพาะคนในท้องถิ่นแล้ว กระบี่ก็กลายเป็นชุมชนหาแร่แต่เพียงอย่างเดียว และโชคไม่เข้าข้างกระบี่ทางด้านนี้ เพราะเป็นจังหวัดที่มีแหล่งแร่ดีบุกน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ อันยาวนานของชุมชนต่าง ๆ ในจังหวัดกระบี่ จึงไม่ปรากฏว่ามีบันทึกไว้ในเอกสารของชาวต่างประเทศเลย มีนักประวัติศาสตร์บางคนเท่านั้นที่เชื่อว่า เมืองตักโกลาที่ปรากฏในหนังสือภูมิศาสตร์ของปโตเลมีอาจจะเป็นคลองท่อมในเขตจังหวัดกระบี่ก็ได้ โดยอ้างเส้นทางการเดินเรือตามลมมรสุม และการใช้เส้นทางข้ามคาบสมุทรตามเส้นทางที่สะดวกไปออกแม่น้ำหลวง ซึ่งก็มีเหตุผลพอรับฟังได้ แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะยุติเรื่องนี้เอาง่าย ๆ เพียงเหตุผลเท่านี้

          เอกสารของทางฝ่ายไทยที่กล่าวถึงชุมชนแห่งแรกที่เกิดขึ้นในเขตจังหวัดกระบี่คือ ทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งระบุว่าในเขตกระบี่มีแขวงขึ้นเมืองนครศรีธรรมราชแห่งหนึ่ง คือ ปกาไสย ในหนังสือภูเก็ตของ สุนัย ราชภัณฑารักษ์ ได้กล่าวระบุไว้สอดคล้องกันว่า “เมืองกระบี่นี้เดิมทีเมื่อแรกตั้งเมืองใหม่ๆ มีชื่อเรียกว่าเมืองปกาไสย ตั้งอยู่ที่ตำบลปกาไสยในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ห่างทะเลลึกเข้าไปในป่า ต่อเมื่อย้ายเมืองออกมาริมทะเลตรงปากน้ำกระบี่เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๕ แล้วจึงได้เปลี่ยนเรียกชื่อว่าเมืองกระบี่...เป็นการตั้งชื่อเมืองตามชื่อลำน้ำซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว..”

          ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของเมืองปกาไสยไว้ย่อ ๆ ว่า “...เมืองปกาไสยเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การก่อตั้งจังหวัดกระบี่ปัจจุบัน ในฐานะที่เป็นชุมนุมชนแห่งแรก หรือจังหวัดกระบี่แห่งแรก อยู่ในท้องที่บ้านปกาไสย ตำบลปกาไสย อำเภอเมืองกระบี่ ซึ่งปลายรัชกาลที่ ๔ พระปลัดเมืองนครฯ คุมกำลังคนออกไปสร้างเพนียดคล้องช้างในเขตแขวงเมืองปกาไสย พิจารณาเห็นว่าอยู่ในภูมิประเทศที่เทศที่เหมาะสมและอุดมสมบูรณ์ สามารถติดต่อทางทะเลได้สะดวก อีกประการหนึ่งมีประชาชนจากเขตเมืองนครศรีธรรมราชอพยพติดตามไปตั้งหลักแหล่ง ทำมาหากินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พระปลัดเมืองนครฯ จึงขอยกฐานะขึ้นเป็นเมือง ตั้งจวนเจ้าเมือง ตรงบริเวณที่เรียกกันว่า "ควนทำเนียบ" และสร้างวัดปกาไสยขึ้นเป็นวัดประจำเมืองด้วย สถานที่ที่เรียกว่า “บ้านนาหลวง” ก็คือเป็นนาของเมืองปกาไสย ซึ่งชาวบ้านเรียกนาหลวง ที่บ้านนาหลวง ยังมีท่าเรือ ทุกวันนี้ยังพอสังเกตเห็นเป็นอ่าวเป็นบางมีต้นจากขึ้นอยู่ บางส่วนกลายสภาพเป็นทุ่งนาตื้นเขินไปแล้ว บรรดาข้าราชการประจำเมืองปกาไสยต่างพำนักทำมาหากินอยู่รอบนอกกระจายกันออกไป เช่นที่บ้านคลองเสียด เป็นถิ่นที่อยู่ มีผู้รับบรรดาศักดิ์เป็นหมื่น ขุน และหลวง อยู่หลายตำบล ที่ตำบลคลองขนานก็มีอยู่เช่นกัน...”

          เมืองกระบี่นั้นเป็นเมืองเล็ก ๆ หรือมีสภาพเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่เท่านั้นดังปรากฏหลักฐานในหนังสือเสด็จประพาสรอบแหลมมลายูพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จฯพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ตอนเสด็จประพาสเมืองนี้ในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ ว่า “...ถามถึงบ้านปากลาวว่าเดิมหลวงอะไร ๒ คนตั้งเป็นหมวดหมู่ แต่บ้านอยู่กลางดอนครั้นหลวงคนนั้นตายก็กระจัดกระจายกันไป บ้านกระบี่นั้นก็เป็นเรือนราย ๆ เหมือนกัน ที่ปกาไสยค่อยเป็นหมู่มากหน่อยหนึ่ง ในบ้านเหล่านี้ ทำไร่มากนาน้อย แต่ที่ก็มีราบกว่าพังงา ที่ไม่ใคร่ทำนาเพราะขัดกระบือ ถึงดังนั้นก็มีข้าวพอเกิน นาน ๆ จึงจะต้องซื้อข้าวพม่าบ้าง ดีบุกในแถบนี้เป็นไม่มีตลอดไป..”

          จังหวัดกระบี่ตั้งขึ้นในปลายรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในอดีตเป็นเพียงแขวงหนึ่งอยู่ในอำนาจการปกครองและบังคับบัญชาของเมืองนครศรีธรรมราช เรียกว่า “แขวงเมืองปกาสัย” พระยาผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชให้ปลัดมาตั้งค่ายทำเพนียดจับช้างของท้องที่ตำบลปกาสัยและได้มีราษฎรจากเมืองนครศรีธรรมราชอพยพมาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินเพิ่มมากขึ้น พระปลัดได้ยกตำบลปกาสัยขึ้นเป็น “แขวงเมืองปกาสัย” ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช

          ถึงแม้ในทางการปกครองเมืองกระบี่จะขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช แต่เนื่องจากอยู่ห่างไกลและติดต่อกันไม่สะดวก ดังนั้นหลังจากทางฝ่ายรัฐบาลแต่งตั้งคณะข้าหลวงใหญ่ออกไปประจำหัวเมืองฝ่ายตะวันตกตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๘ เป็นต้นมา ก็ได้มอบหมายให้เมืองกระบี่อยู่ในความดูแลของข้าหลวงใหญ่ฝ่ายทะเลตะวันตกด้วย ทั้ง ๆ ที่ยังถือว่าเป็นเมืองบริวารของนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเจตนาของรัฐบาลกลางที่จะลดอิทธิพลและแหล่งที่มาของรายได้ของเมืองนครศรีธรรมราชลงไปโดยทางฝ่ายข้าหลวงใหญ่ได้แต่งตั้งพระอิศราธิไชย ผู้ช่วยราชการเมืองตะกั่วป่า ไปเป็นผู้ว่าราชการเมืองกระบี่และได้มอบหมายให้เจ้าเมืองกระบี่คนใหม่รับทำภาษีในเมืองกระบี่แบบ “เหมาเมือง” เหมือนกับหัวเมืองชายฝั่งตะวันตกโดยทั่วไป สร้างความไม่พอใจให้แก่เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นอย่างมาก พระยาศรีธรรมราช (หนูพร้อม ณ นคร พ.ศ. ๒๔๑๐ - ๒๔๔๔) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชขณะนั้นไม่พอใจที่ต้องสูญเสียรายได้ส่วนหนึ่งจากเมืองกระบี่ไปจึงคบคิดกับหลวงประจิมนคร (จีนเปกอี้) เจ้าภาษีนายอากรจีนผู้มีอิทธิพลและมีสมัครพรรคพวกมากคนหนึ่ง โดยเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชได้ให้สัญญาว่าถ้าหลวงประจิมนครสามารถฆ่าพระอิศราธิไชย ผู้ว่าราชการเมืองกระบี่ได้ ก็จะมอบให้จัดการด้านภาษีเมืองกระบี่ ซึ่งปรากฏว่าหลวงประจิมนครและพรรคพวกทำได้สำเร็จ แต่เรื่องราวฉาวโฉ่ขึ้นมา และทางฝ่ายข้าหลวงใหญ่ได้เรียกตัวหลวงประจิมนครไปพิจารณาโทษ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะหลวงประจิมนครได้อ้างว่าเป็นคนในบังคับอังกฤษ พร้อมทั้งกล่าวโทษพระอิศราธิไชยผู้ตายว่า “เรียกค่าธรรมเนียมผูกปี้จีนในอัตราสูง คนจีนที่ยากจนได้รับความเดือดร้อน จึงรวมกำลังกันฆ่าพระอิศราธิไชยเสีย” เรื่องที่จบลงด้วยการสะท้อนให้เห็นอิทธิพลของชาวจีนอพยพและการแทรกแซงของอังกฤษกล่าวคือ อังกฤษขอให้ส่งตัวหลวงประจิมนครขึ้นศาลากงสุลอังกฤษที่กรุงเทพฯ แทนที่จะมีโทษตามกฎหมายไทยฐานเป็นกบฏต่อแผ่นดินฆ่าเจ้าเมืองตาย

          หลังจากนั้นมีการแต่งตั้งพระเทพธนพัฒนา เป็นผู้ว่าราชการเมืองกระบี่ และมีการโอนเมืองกระบี่จากนครศรีธรรมราชไปขึ้นกับมณฑลภูเก็ตในปี พ.ศ.๒๔๓๙ แต่ในระยะที่มีการแบ่งเขตปกครองใหม่เป็นอำเภอ ตำบลและหมู่บ้านนั้นเมืองกระบี่ต้องล่าช้ากว่าเมืองอื่นเพราะเจ้าเมืองอยู่ในระหว่างต้องคดีฉ้อพระราชทรัพย์ของหลวงในกรุงเทพฯ จึงต้องรอไว้ก่อน และไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการแบ่งเมืองกระบี่ออกเป็นกี่อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านในครั้งนั้น หลักฐานเท่าที่ปรากฏต่อมาในทำเนียบการปกครองท้องที่มณฑลภูเก็ต ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) และในหนังสือภูมิศาสตร์ประเทศสยามซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้ระบุถึงจังหวัดกระบี่ไว้ว่า "จังหวัดกระบี่ อยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดภูเก็ตถัดจากจังหวัดพังงาลงไปทางใต้ มีเนื้อที่ประมาณ ๔,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร หรือ ๒.๕ ล้านไร่ แบ่งเป็น ๔ อำเภอ คือ อำเภอปากน้ำ (อำเภอเมืองปัจจุบัน) อำเภอคลองท่อม อำเภออ่าวลึก อำเภอเกาะลันตา มีพลเมืองประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน ศาลากลางของจังหวัดอยู่ในอำเภอปากน้ำริมทะเลใกล้ลำน้ำกระบี่ใหญ่ ห่างจากภูเก็ตประมาณ ๕๐ กิโลเมตร...”

          ในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ สมัยที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ (คอซิมบี้ พ.ศ. ๒๔๔๔-๒๔๕๖) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต และพระยาอุตรกิจพิจารณ์เป็นผู้ว่าราชการเมือง ได้พิจารณาเห็นว่าสถานที่ตั้งเมืองกระบี่เดิมไม่เหมาะสม ไกลทะเล ไม่สะดวกแก่การติดต่อค้าขายทางเรือ เรือใหญ่เข้าเทียบท่าไม่สะดวก จึงย้ายเมืองอีกครั้งหนึ่งไปตั้งที่ตำบลปากน้ำ บนเนินควนสูงทางฝั่งขวาของแม่น้ำกระบี่ อยู่ห่างจากทะเลประมาณ ๓ กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งศาลากลางของจังหวัดกระบี่ในปัจจุบัน

          ความหมายของคำว่า “กระบี่” มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ชาวบ้านได้ขุดพบมีดดาบโบราณเล่มใหญ่เล่มหนึ่ง นำมามอบให้กับเจ้าเมืองกระบี่ และต่อมาไม่นานก็ขุดพบมีดดาบโบราณเล็กอีกเล่มหนึ่ง รูปร่างคล้ายกับมีดดาบโบราณเล่มใหญ่ จึงนำมามอบให้กับเจ้าเมืองกระบี่เช่นกัน เจ้าเมืองกระบี่เห็นว่าเป็นดาบโบราณสมควรเก็บไว้เป็นดาบคู่บ้านคู่เมืองเพื่อเป็นสิริมงคล แต่ขณะนั้นยังสร้างเมืองไม่เสร็จจึงได้นำดาบไปเก็บไว้ในถ้ำเขาขนาบน้ำหน้าเมืองโดยวางไขว้กัน ซึ่งลักษณะการวางทำให้เป็นสัญลักษณ์ของตราประจำเมือง คือ ดาบไขว้ทาบอยู่บนภูเขาขนาบน้ำ และบ้านที่ขุดพบดาบใหญ่ได้ตั้งชื่อว่า “บ้านกระบี่ใหญ่” บ้านที่ขุดพบดาบเล็กได้ตั้งชื่อ “บ้านกระบี่น้อย” แต่มีอีกตำนานหนึ่งสันนิษฐานว่าคำว่า “กระบี่” อาจเรียกชื่อตามพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่มีมากในท้องถิ่นคือต้น “หลุมพี” เรียกชื่อว่า “บ้านหลุมพี” มีชาวมลายูและชาวจีนที่เข้ามาค้าขายได้เรียกเพี้ยนเป็น “กะ-ลู-บี” หรือ “คอโลบี” ต่อมาได้ปรับเป็นสำเนียงไทยว่า “กระบี่”

          ระยะแรกที่มีการก่อตั้งมณฑลภูเก็ตนั้น กระบี่ยังเป็นเมืองป่าเมืองดงห่างไกลความเจริญมีบ้านเรือนราษฎรอยู่ในเมืองเพียง ๒๐ หลังคาเรือน ข้าราชการที่ได้รับแต่งตั้งไปอยู่ที่กระบี่ถึงกับปฏิเสธที่ต้องพบกับความกันดารทั้งเส้นทางคมนาคม และอาหารการกิน สัตว์น้ำมีอยู่มากก็จริงแต่ ขาดคนที่จะจับขึ้นมา สุกรมีฆ่าวันเว้นวันหรือเว้น ๒ วัน โคกระบือเดือนหนึ่งหรือ ๒ เดือนจึงมีการฆ่าสักครั้ง อาหารที่หาได้ง่ายก็คือสัตว์ป่าจำพวกเก้ง กวาง และหมูป่า แต่ก็ต้องระวังเสือ ซึ่งมีอยู่ ชุกชุมมาก ทางทะเลก็มีโจรสลัด โรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะไข้ป่าหรือมาลาเรียมีชุกชุมมาก หมอก็ไม่มี เวชภัณฑ์ก็หายากมีแต่ยาควินินที่พอจะช่วยได้บ้าง

          ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด ๙.๓ ริกเตอร์ ทำให้แผ่นดินใต้น้ำยุบตัว ตั้งแต่ชายฝั่งตะวันตกเฉียงของเกาะสุมาตราต่อเนื่องไปยังหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ (ดู สึนามิ) กระทบฝั่งเกาะสุมาตราภายใน ๑๕ นาที หมู่เกาะอันดามันภายใน ๓๐ นาที ชายฝั่งทะเลตะวันตกของไทยแถบจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

          ผลจากการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิครั้งนี้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาลประมาณค่ามิได้ทั้งผู้คน ทรัพย์สิน ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะจังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ สำหรับจังหวัดกระบี่ ข้อมูล ณ วันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ จากบทสรุปสำหรับผู้บริหาร การดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรณีพิบัติ มีพื้นที่ได้รับความเสียหายโดยตรง ๕ อำเภอ ๒๓ ตำบล ๘๗ หมู่บ้าน ๔,๘๑๘ ครัวเรือน ๒๓,๐๓๖ มีผู้เสียชีวิต ๗๒๒ ราย ชาวไทย ๓๕๘ ราย ชาวต่างประเทศ ๒๐๓ ราย ระบุไม่ได้ ๑๖๑ ราย ผู้สูญหาย ๕๘๗ ราย ชาวไทย ๓๒๙ ราย ชาวต่างชาติ ๒๕๘ ราย ผู้บาดเจ็บ ๔,๕๗๑ ราย ชาวไทย ๓,๗๘๐ ราย ชาวต่างชาติ ๗๙๑ ราย

          ความเสียหายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลังเกิดธรณีพิบัติภัยในจังหวัดกระบี่ ส่งผลกระทบต่อชายหาด ปะการัง แหล่งน้ำจืด หญ้าทะเล ป่าชายเลน ป่าบก มากบ้างน้อยบ้างลดหลั่นกันไป ปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๕๐) จังหวัดกระบี่ได้ดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติภายในจังหวัดให้กลับมาเหมือนเดิม


          สภาพทั่วไป

          กระบี่ เป็นจังหวัดในเขตภาคใต้ตอนบน ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลตะวันตกติดกับทะเลอันดามันระหว่างละติจูดที่ ๗ องศา ๓๐ ลิปดา ถึง ๘ องศา ๓๐ ลิปดาเหนือและลองติจูดที่ ๙๘ องศา ๓๐ ลิปดา ถึง ๙๙ องศา ๑๖ ลิปดาตะวันออก มีพื้นที่ ๔,๗๐๘.๕๑๒ ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครตามถนนสายเอเชีย ประมาณ ๘๑๔ กิโลเมตร

          อาณาเขต

          ทิศเหนือ ติดจังหวัดพังงาและจังหวัดสุราษฎร์ธานี

          ทิศใต้ ติดจังหวัดตรังและทะเลอันดามัน

          ทิศตะวันออก ติดจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดตรัง

          ทิศตะวันตก ติดจังหวัดพังงาทะเลอันดามัน

          ลักษณะภูมิประเทศ ประกอบด้วยภูเขา ที่เนินสูง ๆ ต่ำ ๆ มีที่ราบน้อยมาก บริเวณตอนเหนือมีเทือกเขายาวทอดตัวไปตามแนวเหนือใต้ สลับกันไปกับสภาพพื้นที่แบบลูกคลื่นลอนลาดและลอนชัน ทางด้านตะวันตกมีที่ราบชายฝั่งทะเล ทางบริเวณตอน ใต้เป็นภูเขากระจัดกระจายปะปนไปกับพื้นที่ลูกคลื่น ยกเว้นตอนใต้สุดและตะวันตกเฉียงใต้จะมีสภาพพื้นที่แบบลูกคลื่นลอนลาดจนถึงค่อนข้างราบเรียบที่มีเขาโดดเตี้ยอยู่เป็นแห่ง ๆ บริเวณด้านตะวันตกมีลักษณะชายฝั่งทะเลติดกับทะเลอันดามันยาวประมาณ ๑๖๐ กิโลเมตร ประกอบด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่ประมาณ ๑๓๐ เกาะ แต่เป็นเกาะที่มีประชากรอาศัยอยู่เพียง ๑๓ เกาะ เกาะที่สำคัญได้แก่ เกาะลันตา เป็นที่ต้องของอำเภอเกาะลันตาและเกาะพีพี ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมือง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามติดอันดับของโลก ลักษณะดินโดยทั่วไปเป็นดินเหนียวและดินร่วนที่มีการระบายน้ำได้ดี จึงเหมาะแก่การทำสวนยางพารา สวนปาล์ม สวนมะม่วงหิมพานต์ สวนกาแฟ และสวนมะพร้าว แหล่งน้ำที่สำคัญในจังหวัดกระบี่ได้แก่ แม่น้ำกระบี่ ยาวประมาณ ๕ กิโลเมตร ไหลผ่านตัวเมืองลงสู่มหาสมุทรอินเดียที่ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองกระบี่ นอกนั้นเป็นลำคลองสายสั้น ๆ ที่สำคัญมี ๓ สาย คือ คลองกระบี่ใหญ่ คลองกระบี่น้อย และคลองปกาไสย ต้นน้ำทั้ง ๓ สายเกิดจากภูเขาพนมเบญจา ในเขตอำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่

          ลักษณะภูมิอากาศ จังหวัดกระบี่มีภูมิอากาศแบบมรสุมในเขตร้อนและได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือทำให้มีฝนตกชุกตลอดปี ปีหนึ่งมีเพียง ๒ ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนเมษายน ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-เดือนธันวาคม ฤดูฝนมีช่วงระยะเวลายาวนานถึง ๘ เดือน เฉลี่ยปีหนึ่ง ๆ มีฝนตกประมาณ ๑๐๘ วัน และจากการที่มีลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมในเขตร้อน อุณหภูมิในแต่ละฤดูกาลจึงไม่แตกต่างกันมากนักระหว่างเดือนที่ร้อนจัดที่สุดกับเดือนที่เย็นจัดที่สุด คือ อยู่ระหว่าง ๑๗.๙-๓๖ องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยอยู่ในช่วงประมาณ ๒,๓๐๙.๕๐-๒,๐๖๙.๘๐ มิลลิเมตรต่อปี

          การปกครอง ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ แบ่งเขตการปกครองจังหวัดกระบี่ออกเป็น ๘ อำเภอ ๕๓ ตำบล ๓๘๖ หมู่บ้าน ๑ เทศบาลเมือง ๙ เทศบาลตำบล มีอำเภอต่าง ๆ ดังนี้คือ อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเขาพนม อำเภอเกาะลันตา อำเภอคลองท่อม อำเภอ ลำทับ อำเภออ่าวลึก อำเภอปลายพระยา และอำเภอเหนือคลอง

          ประชากร ประชากรที่แจงนับได้จากสำมะโนประชากรและเคหะ ปี พ.ศ.๒๕๔๐ มีจำนวนทั้งสิ้น ๓๓๐,๐๙๔ คน เป็นชายมากกว่าหญิง ๕,๒๘๐ คน ความหนาแน่นของประชากรทั้งจังหวัดเฉลี่ย ๗๐ คนต่อตารางกิโลเมตร ในเขตอำเภอเมืองกระบี่มีประชากรหนาแน่นที่สุด ประมาณ ๑๒๙ คนต่อตารางกิโลเมตร รองลงมาคืออำเภอเหนือคลอง ประมาณ ๑๑๗ คนต่อตารางกิโลเมตร อำเภอเขาพนมมีประชากรเบาบางที่สุดประมาณ ๔๕ คนต่อตารางกิโลเมตร

          ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ.๒๕๔๘ จังหวัดกระบี่มีประชากรทั้งสิ้น ๓๙๕,๖๖๕ คน เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ร้อยละ ๑๙.๘๖ เป็นชาย ๑๙๘,๗๑๓ คน หญิง ๑๙๖,๙๕๒ คน ความหนาแน่นของประชากรทั้งจังหวัดเฉลี่ย ๘๔ คนต่อตารางกิโลเมตร เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ประมาณ ๑๔ คนต่อตารางกิโลเมตร ในเขตอำเภอเหนือคลองมีประชากรหนาแน่นที่สุดประมาณ ๑๕๑ คนต่อตารางกิโลเมตร รองลงมาคืออำเภอเมืองกระบี่ประมาณ ๑๔๔ คนต่อตารางกิโลเมตร อำเภอเขาพนมมีประชากรเบาบางที่สุดประมาณ ๕๘ คนต่อตารางกิโลเมตร

         การคมนาคม ทางบก มีถนนติดต่อกับอำเภอต่าง ๆ ได้ทุกอำเภอ ยกเว้นอำเภอเกาะลันตา ซึ่งเป็นเกาะอยู่ในทะเลอันดามัน ต้องเดินทางโดยเรือ การคมนาคมทางบกมีทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงจังหวัด และทางชนบท ที่สำคัญมีดังนี้ คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ หรือ ถนนเพชรเกษม มีเส้นทางที่เชื่อมระหว่างจังหวัดพังงา กระบี่ และตรัง โดยผ่านชุมชนที่สำคัญของจังหวัดกระบี่ที่อำเภออ่าวลึก อำเภอเมืองกระบี่และอำเภอคลองท่อม ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๑๑ เชื่อมระหว่างทางหลวงแผ่นหมายเลข ๔ กับเทศบาลเมืองกระบี่ ทางหลวงจังหวัดหมายเลข ๔๐๔๐ เชื่อมระหว่างบ้านปากลาว อำเภออ่าวลึกกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๐๑ ทางน้ำ ติดต่อขนส่งระหว่างจังหวัดกับอำเภอบางอำเภอ โดยเฉพาะอำเภอเกาะลันตา ต้องใช้การคมนาคมทางเรือโดยสาร ระหว่างบ้านบ่อม่วง อำเภอเกาะลันตา กับที่ทำการอำเภอเกาะลันตา ส่วนการติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียงและต่างประเทศมีเรือรับส่งสินค้าขนาด ๓๐๐ ตัน เข้าออกรับส่งสินค้าที่ท่าเรือสะพานเจ้าฟ้าและท่าเทียบเรือจังหวัดกระบี่ที่บ้านคลองจิหลาด ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองกระบี่ เรือสินค้าขนาดมากกว่า ๑,๐๐๐ ตัน สามารถเข้าเทียบท่าได้ ทางเครื่องบินมีสายการบินภายในประเทศไป - กลับ กรุงเทพ-กระบี่, กระบี่-ภูเก็ต, กระบี่-หาดใหญ่, กระบี่-เกาะสมุย และสายการบินระหว่างประเทศ กระบี่-สิงคโปร์

          แหล่งน้ำ โดยมากเป็นลำคลองสายสั้น ๆ ที่สำคัญได้แก่ แม่น้ำกระบี่ ยาวประมาณ ๕ กิโลเมตร ไหลผ่านเทศบาลเมืองกระบี่ลงสู่ทะเลอันดามัน ที่ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองกระบี่ คลองปกาไสย ยาวประมาณ ๓๕ กิโลเมตร ไหลจากทิศเหนือลงสู่ทะเลอันดามันทางใต้ คลองกระบี่ใหญ่ คลองอินทนิน คลองกระบี่น้อย ยาวประมาณ ๑๕-๓๐ กิโลเมตร ไหลลงสู่ทะเลอันดามัน คลองบางส้าน คลองปอกาก คลองโอง คลองสินปุน และคลองน้ำแดง เป็นลำน้ำสาขาย่อยแม่น้ำตาปี

          โครงสร้างทางเศรษฐกิจ ข้อมูลจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดกระบี่ในปี พ.ศ.๒๕๔๗ จังหวัดกระบี่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมตามราคาประจำปี ๒๘,๕๘๘ ล้านบาท มูลค่าผลิตภัณฑ์เฉลี่ยต่อคน ๗๓,๒๘๘ บาท ภาคเกษตร มีมูลค่าผลิตภัณฑ์ ๑๑,๙๔๖ ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ ๔๑.๗๘ ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งจังหวัด รายได้จากภาคเกษตรที่สำคัญได้แก่ เกษตรกรรม การล่าสัตว์ และการป่าไม้ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์ ๑๐,๘๗๔ ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ ๓๘.๐๓ ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด การประมงมีมูลค่าผลิตภัณฑ์ ๑,๐๗๒ ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ ๓.๗๕ ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ส่วนภาคนอกเกษตรถือว่ามีความสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นรายได้ส่วนใหญ่ของจังหวัด ในปีพ.ศ. ๒๕๔๗ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์ คือ ๑๖,๖๔๒ ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ ๕๘.๒๑ ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งจังหวัด รายได้จากภาคนอกเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ โรงแรมและภัตตาคาร มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม ๓,๕๗๙ ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ ๑๒.๕๒ ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ค้าส่ง-ค้าปลีก มีมูลค่าผลิตภัณฑ์ ๒,๙๐๗ ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ ๑๐.๑๗ ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด อุตสาหกรรม มีมูลค่าผลิตภัณฑ์ ๒,๓๑๙ ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ ๘.๑๑ ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด การก่อสร้าง มีมูลค่าผลิตภัณฑ์ ๙๑๓ ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ ๓.๑๙ ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด และอื่น ๆ ๖,๙๒๔ ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ ๒๔.๒๒ ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด การพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดกระบี่มีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูงขึ้นทั้งภาคเกษตรและภาคนอกเกษตร เนื่องจากมีการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวและมีการอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ มีการส่งเสริมการลงทุนผลิตสัตว์น้ำแช่แข็ง และอาหารกึ่งสำเร็จรูปแช่แข็ง การลงทุนด้านอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานและมีเงินสะพัดในจังหวัดกระบี่

          ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้เป็นทรัพยากรที่สำคัญอันดับหนึ่งของจังหวัด มีอยู่ทั่วไปในทุกอำเภอ ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ ไม้ที่สำคัญได้แก่ ไม้หลุมพอ ไม้เคี่ยม ไม้ตะเคียนทอง ไม้หงอนไก่ ไม้ตำเสา ไม้ยาง เป็นต้น ส่วนป่าชายเลน มีไม้ที่สำคัญได้แก่ ไม้แสม ไม้โกงกาง ไม้ตะปุน เป็นต้น แต่ในปัจจุบันพื้นที่ป่าลดน้อยลงด้วยสาเหตุจากการขยายพื้นที่ทำกิน การลักลอบตัดไม้ และการครอบครองพื้นที่ทำกินโดยผิดกฎหมาย ข้อมูลจากป่าไม้จังหวัดกระบี่ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ จังหวัดกระบี่มีพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภทประมาณ ๓๘๗,๘๕๖.๒๕ ไร่ คิดเป็นร้อยละ ๑๓.๑๘ ของพื้นที่ทั้งหมดโดยจำแนกเป็นป่าบก ๒๑๑,๒๕๐ ไร่ ป่าชายเลน ๑๗๖,๗๐๖.๒๕ ไร่ จากพื้นที่ป่าทั้งหมด เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ๔๕ แห่ง อุทยานแห่งชาติ ๔ แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ๒ แห่ง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ๑ แห่ง แร่ธาตุ มีหลายชนิดที่สามารถขุดมาใช้เป็นพลังงานไฟฟ้า ได้แก่ ถ่านหินลิกไนต์ ที่ตำบลคลองพน อำเภอเหนือคลอง แร่ธาตุดังกล่าวลดน้อยลงทำให้กระทบต่อการไฟฟ้าการผลิตเขต ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นพลังงานไฟฟ้า จึงได้มีการใช้พลังงานอื่นมาทดแทน เช่น น้ำมันเตา แร่ธาตุที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ หินปูน มีจำนวน ๓ เหมือง ผลิตได้๒๘,๕๔๑ เมตตริกตัน มูลค่า ๓,๘๐๕,๔๖๖ บาท เป็นรายได้ของจังหวัด สัตว์ป่า ในเขตพื้นที่รักษาสัตว์ป่าเขตประบางคราม ปัจจุบันที่สำรวจพบจะมีค่างแว่นถิ่นใต้ ค่าดำ ลิงกัง ลิงเสนชนิดธรรมดา พญากระรอกเหลือง กระรอกสามสี หมาใน หมีหมา อีเห็นหน้าขาว หมีขอ เสือไฟ เก้ง กระจง เลียงผา กระจงควาย แมวลายหินอ่อน และอีเห็นน้ำ นอกจากนี้ยังมีสัตว์จำพวกนกประมาณ ๓๐๘ ชนิด มากกว่าบริเวณอื่น ๆ ของประเทศไทย นกที่สำคัญและค้นพบ คือ นกแต้วแร้วท้องดำ มีเฉพาะในจังหวัดกระบี่เท่านั้น

          แหล่งท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญ ใน ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดโครงการให้คนไทยหันมาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้นด้วยแคมเปญ “อันซีนไทยแลนด์” (Unseen In Thailand) เพื่อแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย สถานที่ท่องเที่ยวอันซีนฯ ในทะเลกระบี่ประกอบด้วย ทะเลแหวก เป็นส่วนหนึ่งของทะเลกระบี่ในบริเวณเกาะ ๓ เส้า ที่ประกอบด้วยเกาะไก่ เกาะหม้อ และเกาะทับ ซึ่งหากไปในช่วงที่น้ำลดทรายผุดในแต่ละวัน ช่วงระหว่างเกาะไก่กับเกาะทับจะเกิดสันทรายขาวเนียนทอดยาวเป็นสะพานทรายเชื่อมเกาะทั้งสองเข้าด้วยกันในช่วงเวลาสั้น ๆ สามารถเดินลงไปบนสันทรายนี้ได้ หลังสึนามิพัดผ่านไปทรายของทะเลแหวกถูกคลื่นพัดพาไปส่วนหนึ่งต้องใช้เวลาสักพักกว่าทะเลจะพัดทรายให้มาทับถมกันมากเท่าเดิม การไปเที่ยวชมทะเลแหวกควรไปช่วงที่น้ำลดต่ำสุด อ่าววังหลง ถือเป็นส่วนที่แคบที่สุดของเกาะพีพีดอน จังหวัดกระบี่ ถึงแม้ว่าอ่าววังหลงจะเล็กที่สุดบนเกาะพีพีดอน แต่ว่าอ่าววังหลงกลับถูกยกให้เป็นหนึ่งในอ่าวที่สวยงามที่สุดของเกาะพีพีดอน อ่าวแห่งนี้มีปากทางเข้าแคบ ๆ ดูคล้ายประตูสู่แดนลี้ลับ แต่เมื่อเข้าไปจะพบกับความสวยงามของเวิ้งน้ำใสสีเขียวเต็มไปด้วยฝูงปลาสวยงามมากมาย เกาะไผ่เป็นเกาะสงบงาม มีหาดทรายขาวเนียนอยู่หน้าเกาะ นับเป็นจุดนอนอาบแดด น้ำทะเลใสทำให้มองเห็นแนวปะการัง มีฝูงปลามากมาย สำหรับปะการังที่น่าสนใจก็มี ปะการังเขากวาง ปะการังแผ่น ปะการังสมอง ปะการังผักกาด ซึ่งเหตุการณ์สึนามิไม่ได้ทำให้อาณาจักรปะการังที่เกาะไผ่เสียหาย แต่อย่างใด สระมรกต เป็นสระน้ำสวยใสใจกลางป่า กำเนิดมาจากธารน้ำอุ่นในผืนป่าที่ราบต่ำภาคใต้ แหล่งสุดท้ายที่พบนกแต้วแร้วท้องดำ ซึ่งเคยสูญพันธุ์ไปนานเกือบ ๑๐๐ ปี เป็นสระที่รับน้ำมาจากน้ำตกที่ไหลจากเทือกเขาประ – บางคราม น้ำที่ตกมามีสีเขียวคล้ายมรกตเต็มไปทั้งสระ จึงเรียกสระนี้ว่าสระมรกต น้ำตกร้อน เป็นอ่างอาบน้ำธรรมชาติกลางป่ารองรับสายน้ำตกที่ไหลหลั่นลงมาจากเนินเขา น้ำตกที่ไหลหลั่นลงมาเป็นน้ำตกร้อนสายน้ำแร่ มีลักษณะเป็นธารน้ำพุร้อนผุดขึ้นมาจากใต้ดินตามธรรมชาติ มีสารกำมะถันเจือจางเป็นส่วนประกอบ อุณหภูมิพอเหมาะแก่การอาบน้ำ เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปอาบน้ำตกร้อนเพื่อสุขภาพ นกโจรสลัด เป็นนกในวงศ์นกฟีเกต ที่เป็นนกขนาดใหญ่ปีกกว้างมีหน้าตาเหมือนนกโบราณล้านปี สามารถร่อนบินหากินได้ไกลหลายร้อยกิโลเมตร ในโลกมีนกวงศ์นี้อยู่ ๕ ชนิด โดยพบ ๓ ชนิดที่น่านน้ำอันดามัน โดยเฉพาะที่เกาะบิด๊ะซึ่งเป็นที่เดียวในเมืองไทยที่พบนกวงศ์นี้ ช่วงการท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนธันวาคม – เมษายน

          แหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา อยู่ในทะเลอันดามัน มีเนื้อที่ประมาณ ๑๕๒ ตารางกิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๖๔ กิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ เกาะลันตาใหญ่ เกาะลันตาน้อย เกาะตะเล็งเบ็ง รวมไปถึงหมู่เกาะห้า หมู่เกาะรอก และเกาะไหง มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ เกาะลันตาน้อย เป็นเกาะที่เป็นชุมชนของชาวเกาะบันตาในอดีตมาก่อน เกาะลันตาใหญ่ เป็นศูนย์กลางธุรกิจของเกาะ มีจุดชมวิวแหลมโตนด และเป็นชุดดำดูปะการังน้ำลึก อ่าวลังกาฮู้ เป็นหมู่บ้านชาวประมงไทยใหม่เผ่าอุรักลาโว้ย ซึ่งอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ด้วยวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเรียบง่ายและสงบสุข มีพิธีกรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ได้แก่ “พิธีลอยเรือ” หรือ “เปอลาจั๊ก” จะทำปีละ ๒ ครั้ง คือทุกวันขึ้น ๑๓-๑๕ ค่ำ ของเดือน ๖ และเดือน ๑๑ เป็นช่วงเปลี่ยนมรสุมลมเปลี่ยนทิศ ออกทะเลไม่สะดวก จะทำพิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ทั้งหมู่บ้าน อุรักลาโว้ยเชื่อกันว่าการลอยเรือจะนำเอาทุกข์โศกออกไปจากหมู่บ้านและทำให้อยู่ได้อย่างสงบสันติต่อไป ชาวเกาะส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมและชาวน้ำ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๔๒ กิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่กว่า ๖ เกาะด้วยกัน คือ เกาะพีพีดอน เกาะพีพีเล เกาะปิด๊ะนอก เกาะปิด๊ะใน เกาะยูง เกาะไม้ไผ่ แหล่งท่องเที่ยวภายในอุทยานที่สำคัญ ได้แก่ สุสานหอย ๗๕ ล้านปี เกิดจากการทับถมของซากเปลือกหอยนับล้านปี โดยมีน้ำประสานธาตุปูนจับตัวให้กลายเป็นหินแข็ง ทับอยู่บนชั้นหินลิกไนต์และหินดินดาน หาดอ่าวพระนาง เป็นอ่าวที่มีหาดทรายงดงาม ประกอบด้วยเกาะแก่งประมาณ ๘๓ เกาะ เกาะพีพีดอน มีเวิ้งอ่าวคู่ที่มีความสวยงามติดอันดับโลกและเป็นแหล่งดำน้ำดูปะการังที่สวยงาม เกาะพีพีเล เกาะแห่งนี้มีเวิ้งอ่าวสวยงาม ได้แก่ อ่าวมาหยา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวโด่งดังติดอันดับโลก อ่าวโล๊ะซามา อ่าวปิเละ เป็นต้น ถ้ำไวกิ้ง เป็นแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีสมัยประวัติศาสตร์เป็นรูปช้างและรูปเรือชนิดต่าง ๆ เช่น เรือใบยุโรป เรือใบอาหรับ เรือสำเภา เป็นต้น ถ้ำเสด็จ นัยว่าเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ได้เสด็จประพาสจังหวัดกระบี่และเสด็จทอดพระเนตรถ้ำแห่งนี้ จึงเรียกกันว่าถ้ำเสด็จ สวนรุกขชาติธารโบกขรณี มีสระน้ำใหญ่คือสระโบกขรณี ที่เกิดจากธารน้ำไหลลอดใต้ภูเขา ต้นน้ำอยู่ระหว่างเขาวงกับอ่าวไม้ดำ ถ้ำพระ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ๓ องค์ ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ ถ้ำลอด มีธารน้ำลอดใต้ภูเขาไปทะลุอีกด้านหนึ่ง ภายในเป็นอุโมงค์มีหินงอกหินย้อยงดงาม อุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา เป็นอุทยานฯ ทางบกแห่งเดียวของจังหวัดกระบี่ มีเนื้อที่ ๓๑,๓๒๕ ไร่ ประกอบด้วยเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนในแนวเหนือจรดใต้ มียอดเขาพนมเบญจาซึ่งสูง ๑,๓๙๗ เมตรจากระดับน้ำทะเลสูงที่สุดในจังหวัดกระบี่ มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงาม ทั้งลำธาร น้ำตก ถ้ำ และสัตว์ป่านานาชนิด แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญได้แก่ น้ำตกต้นหาร มีจำนวน ๑๓ ชั้น สองข้างทางเดินจะพบไม้ตระกูลต่าง ๆ มากมาย น้ำตกห้วยโต้ มี ต้นกำเนิดจากเขาพนมเบญจา มี ๕ ชั้น คือ วังสามหาบ วังจงลอย วังดอยปรง วังเทวดา และวังโตนพริ้ว สายน้ำของน้ำตกห้วยโต้ไหลมารวมกันที่คลองกระบี่ใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์พืชสวนกระบี่ ได้รับการประกาศเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนชุดที่ ๒ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ถนนเพชรเกษม ตำบลเขาคราม ใช้เส้นทางกระบี่-อ่าวลึก อยู่ห่างจากตัวเมืองกระบี่ ๒๐ กิโลเมตร เป็นศูนย์เพื่อรวบรวมพันธุ์พืชในท้องถิ่น ทดสอบพันธุ์พืชในประเทศและต่างประเทศ เพื่อผลิตและกระจายพืชพันธุ์ดีแก่เกษตรกร ภายในศูนย์จะมีไม้หลายพันธุ์ให้เที่ยวชม อาทิ หมากแดง ดาหลา จั๋ง เฮลิโทเนีย มะพร้าวน้ำหอม กล้วยไม้หลากสีสัน และดอกหน้าวัวกว่า ๖๐ พันธุ์ ที่มีสีสันแปลกตาสวยงาม เช่น พันธุ์มิโดริ ดอกสีเขียว พันธุ์มินาคีไวท์ ดอกสีขาว พันธุ์ทวิงโก้ ดอกสีชมพูอ่อน และพันธุ์โรยัลฟรัช ดอกจะมีสีม่วง เป็นต้น ท่าปอมคลองสองน้ำ ได้รับการประกาศเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนชุดที่ ๒ เป็นป่าชายเลนที่น้ำเค็มท่วมถึงยามน้ำขึ้น ผสมผสานกับป่าพรุที่มีสายธารน้ำจืดซึ่งเป็นธารน้ำพุ ใสสะอาดใต้ดินไหลรินผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันตามช่วงเวลาน้ำขึ้นน้ำลง คลองท่าปอมจึงกลายเป็นคลองสองน้ำที่บางช่วงเวลาก็จะกลายเป็นคลองน้ำจืดสะอาดใสไหลเย็นฉ่ำ

          สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี มีอยู่หลายแห่ง เช่น เขาขนาบน้ำ อำเภอเมืองกระบี่ เป็นแหล่งที่พบเศษกระดูกมนุษย์โบราณ เศษภาชนะดินเผา โดยเฉพาะหม้อสามขา มีลายเชือกทาบ นอกจากนี้มีเครื่องมือหินขัดและซากสัตว์โบราณ ถ้ำเสือเขาหลัก และ สำนักวิปัสสนาถ้ำเสือ ควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม เป็นแหล่งสำคัญที่มีการขุดพบลูกปัดและเป็นชุมชนค้าขายสมัยโบราณ ติดต่อกับอินเดียและอาหรับ มีพิพิธภัณฑ์คลองท่อม เป็นที่รวบรวมโบราณวัตถุดังกล่าว มีของมีค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นจำนวนมาก เขาเคียงน้ำ อำเภออ่าวลึก เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อน ประวัติศาสตร์ที่ใช้ภาชนะดินเผา เพราะพบเครื่องมือหินขัดมากมายและเปลือกหอยที่มนุษย์ใช้บริโภค ถ้ำสายไหมและถ้ำช้างสี อำเภอเมืองกระบี่ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์เพราะพบเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ หลายอย่าง หน้าชิง ตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมืองกระบี่ เป็นเพิงผาที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในอดีต ซึ่งใช้ภาชนะดินเผา โดยเฉพาะหม้อสามขา และถ้ำผีหัวโต อำเภออ่าวลึก เป็นถ้ำที่มีภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ไม่ต่ำกว่า ๔๐ ภาพ ตามผนังและเพดานถ้ำ เป็นภาพเกี่ยวกับคน ปลา นกและสัตว์ ๔ เท้า เมือง ปกาไสย อยู่ที่ตำบลปกาไสย อำเภอเมืองกระบี่ เป็นที่ตั้งเมืองกระบี่เก่า ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุง รัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ก็มีถ้ำอื่น ๆ อีกมากมายเช่น ถ้ำเขาเขน

          กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมเข้ามาพักผ่อนในจังหวัดกระบี่ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้แก่ ชาวสวีเดน เยอรมัน อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย และเดนมาร์ก ตามลำดับ

          กองผังภาค สำนักผังเมือง กระทรวงมหาดไทย กำหนดผังโครงสร้างจังหวัดกระบี่ ให้เป็น ชุมชนศูนย์กลางการท่องเที่ยว ชุมชนศูนย์กลางอุตสาหกรรมแปรรูปและต่อเนื่องการเกษตร จากยางพารา และปาล์มน้ำมัน ชุมชนศูนย์กลางการประมงและชุมชนศูนย์กลางคมนาคมขนส่ง โดยเน้นที่ชุมชนเมืองกระบี่ ชุมชนเมืองอ่าวลึก และชุมชนเมืองคลองท่อม เช่น การพัฒนากลุ่มแหล่งท่องเที่ยว กำหนดเอาเกาะพีพีเป็นศูนย์กลาง เป็นการท่องเที่ยวชายหาดแบบสงบเงียบและวัฒนธรรม และมีเครือแหล่งท่องเที่ยวในกลุ่มสุสานหอย อ่าวพระนาง วัดถ้ำเสือ เป็นแหล่งเสริม ด้านอุตสาหกรรม เน้นอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตรที่มีอยู่ในท้องถิ่น และอุตสาหกรรมในครัวเรือน ส่วนการพัฒนาชนบทมุ่งใช้มาตรการในการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน ประสิทธิภาพการใช้น้ำ และปรับปรุงประสิทธิภาพสถาบันเกษตรกร เป็นต้น

โครงการพัฒนาระดับภาค คือ การก่อสร้างสะพานเศรษฐกิจ เพื่อเชื่อมการคมนาคมภาคใต้ฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออก เพื่อทำให้ภาคใต้เป็นประตูการค้าที่สำคัญกับนานาชาติ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศ โดยจะสร้างสะพานเศรษฐกิจ (LAND BRTDGE) โดยมีจุดเชื่อมระหว่างฝั่งตะวันตก (อาจเป็นในพื้นที่จังหวัดกระบี่ หรืออาจเป็นในพื้นที่ของจังหวัดพังงา) กับฝั่งตะวันออก ที่บริเวณท่าเรือน้ำลึกขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือท้องที่ระหว่างนครศรีธรรมราชกับสุราษฎร์ธานี

          แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดสามเหลี่ยมอันดามัน (กระบี่ พังงา ภูเก็ต) ระยะเวลา ๔ ปี (พ.ศ. ๒๕๔๘- ๒๕๕๑) เป็นแผนที่จัดทำขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยกำหนดวิสัยทัศน์กลุ่ม ๓ จังหวัด คือ “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก และเป็นประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจสู่นานาชาติ” จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนากลุ่ม ๓ จังหวัด แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก สำหรับจังหวัดกระบี่จัดแหล่งท่องเที่ยวให้เป็น Natural Beach & Resort with Serenity เป็นแหล่งสงบเงียบเป็นธรรมชาติ ให้เหมือนเกาะมัลดีฟท์ มีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และสุขภาพ เป็นประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจสู่นานาชาติ โดยพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการขนส่ง (Logistic) ให้มีความพร้อมควบคู่กับการพัฒนาสมรรถนะผู้ประกอบการ SMEs การบริหารจัดการ การพัฒนาเทคโนโลยี IT เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งการผลิตและการส่งออก ตลอดทั้งพัฒนาการผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เชื่อมโยงกับศักยภาพในพื้นที่ เพื่อนำผลผลิตไปสู่ตลาดนานาชาติ โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ยางพารา การเพาะเลี้ยงชายฝั่ง และเผยแพร่วัฒนธรรม ประเพณีที่มีเอกลักษณ์ของจังหวัดกระบี่ให้นักท่องเที่ยวให้สัมผัส รับรู้

          จังหวัดกระบี่มีคำขวัญว่า “กระบี่เมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก” (สงบ ส่งเมือง, สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์, ชาญณรงค์ เที่ยงธรรม, แมนวดี ศิษฎิโกวิท)

ชื่อคำ : กระบี่, จังหวัด
หมวดหมู่หลัก : โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และการเมืองการปกครอง
หมวดหมู่ย่อย : ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
ชื่อผู้แต่ง : สงบ ส่งเมือง, สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์, ชาญณรงค์ เที่ยงธรรม, แมนวดี ศิษฎิโกวิท
เล่มที่ : ๑
หน้าที่ : ๖๙