ประวัติความเป็นมา
เดิมท้องที่ที่เป็นเขตการปกครองของอำเภอกระแสสินธุ์ทั้งหมดอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอระโนด ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอตามประกาศลงวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๑ และมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๑ เริ่มเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๑ โดยอาศัยอาคารเรียนของโรงเรียนชุมชนวัดเชิงแสเป็นที่ทำการ กิ่งอำเภอชั่วคราว ครั้น พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้จัดสร้างอาคารที่ว่าการเสร็จและย้ายที่ทำการไปยังอาคารหลังใหม่เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๔
ที่มาของชื่อ “กระแสสินธุ์” นภดล ชมพูล ได้อธิบายไว้ว่า เกิดจากการนำเอาพยัญชนะต้นของชื่อทั้ง ๓ ตำบลในเขตการปกครองของกิ่งอำเภอนี้ คือ ก (มาจากตำบลเกาะใหญ่) ร (มาจากตำบลโรง) และ ส (มาจากตำบลเชิงแส) แล้วนำมาประกอบกันถือเอาเป็นปรัชญาแห่งสามัคคีธรรมและเป็นมงคลนามสืบไปและสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ
สภาพทั่วไป
อำเภอกระแสสินธุ์ เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสงขลา ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่บนถนนเจดีย์งาม-เกาะใหญ่ ตำบลกระแสสินธุ์ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอระโนด มีทางแยกจากทางหลวงแผ่นดินสายสงขลา-นครศรีธรรมราช ที่บ้านเจดีย์งาม ตำบลบ่อตรุ ตรงหลักกิโลเมตรที่ ๕๓ เข้าไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ ๙๖.๔๐ ตารางกิโลเมตร
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อเขตอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
ทิศใต้ ติดต่อทะเลสาบสงขลา และอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
ทิศตะวันออก ติดต่อเขตอำเภอระโนดและอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
ทิศตะวันตก ติดต่อทะเลสาบสงขลา
อำเภอกระแสสินธุ์แบ่งเขตการปกครองเป็น ๔ ตำบล ๒๒ หมู่บ้าน ไม่มีหน่วยงานระดับเทศบาล มีองค์การบริหารส่วนตำบล ๔ แห่ง ตำบลต่าง ๆ ในอำเภอกระแสสินธุ์ ได้แก่ ตำบลเกาะใหญ่ ตำบลเชิงแส ตำบลโรง และตำบลกระแสสินธุ์
จำนวนประชากร ณ วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ อำเภอกระแสสินธุ์มีประชากรทั้งสิ้น ๑๗,๐๐๔ คน เป็นชาย ๘,๓๐๐ คน เป็นหญิง ๘,๗๐๔ คน ความหนาแน่นของประชากร ๑๗๖ คนต่อตารางกิโลเมตร
ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มพื้นที่เป็นดินเหนียวและดินเหนียวปนทราย เหมาะแก่การทำนา แต่มีอุปสรรคที่ฤดูแล้งดินแห้งจัดแตกระแหง ฤดูฝนน้ำมักท่วมในบางท้องที่ เช่น ตำบล เกาะใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขาเหมาะแก่การทำสวนผลไม้ แหล่งน้ำมีแต่ลำคลองขนาดเล็ก คือ คลองโรง คลองกาหรำ คลองเชิงแส และคลองสุขุม (คลองสุขุมขุดเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๘ ในสมัยเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นผู้สำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช)
ภูมิอากาศของอำเภอกระแสสินธุ์มีอากาศค่อนข้างอบอุ่น เพราะมีทั้งลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน แต่ในฤดูฝนฝนมักตกชุกกว่าอำเภออื่น ๆ และมักเกิดน้ำท่วมในเดือนพฤศจิกายนหรือเดือนธันวาคมเกือบทุกปี
ประชากรประกอบอาชีพทำนา ทำการประมง ทำสวนยางพารา และสวนผลไม้บ้าง (เฉพาะในเขตตำบลเกาะใหญ่) ประชาชนทั้งหมดนับถือพุทธศาสนา ประชาชนส่วนมากยึดมั่นในขนบประเพณี ยังร่วมกิจกรรมที่เป็นประเพณีท้องถิ่นอย่างดียิ่ง
ผลิตภัณฑ์ส่งเสริมในอำเภอที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ผ้าทอกระแสสินธุ์ ผลิตภัณฑ์สะตอเกาะใหญ่ ผลิตภัณฑ์ขนมโรตีกรอบ ผลิตภัณฑ์ข้าวพอง ผลิตภัณฑ์ข้าวประทุมธานี
สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี มีหลายแห่ง เช่น
(๑) หัวแหลมเจ้า อยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลเกาะใหญ่ ยื่นลงไปในทะเลสาบสงขลา มีศาลเจ้าอันเป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้าน เชื่อกันว่าบริเวณนี้เป็นที่สิงสถิตของเทพเจ้าผู้คอยคุ้มครองดูแลบริเวณใกล้ ๆ แหลม ไม่ให้ผู้เดินเรือประสบคลื่นลมจนทำให้เรือล่มและเป็นอันตราย เว้นแต่จะประมาทและไม่บวงสรวงเซ่นไหว้ บริเวณนี้มีนิทานพื้นเมืองที่เกี่ยวกับชื่อบ้านนามเมืองหลายเรื่อง เช่น เรื่องนายแรง และมีธรรมชาติสวยงาม มีก้อนหินเป็นรูปต่าง ๆ
(๒) แหลมลาโพ หรือ แหลมราโพ อยู่ที่บริเวณชายฝั่งทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นหมู่บ้านม่วงโพ หมู่ที่ ๔ ตำบลเกาะใหญ่ เป็นสถานที่อุดมไปด้วยสัตว์น้ำและนกน้ำ
(๓) วัดเอก หรือ วัดเชิงแสเหนือ ตั้งอยู่กลางบริเวณหมู่บ้านเชิงแส ตำบลเชิงแส เป็นวัดที่ปรากฏในสมุดแผนที่วัดที่ขึ้นแก่วัดพะโคะในสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏชื่อว่า “วัดเชิงแสพระครูเอก” มีพระพุทธรูปสำคัญซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า “พระเดิม” และเชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีตำนานเกี่ยวข้องไปถึงวัดเจดีย์งาม ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา และวัดเขียนบางแก้ว อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง มีลายแทงว่า “วัดเอกแก้วข้า มีอาสนะสามมุม มีทองสามตุ่ม อยู่ในมุมอาสนะ”
(๔) วัดกลาง ชาวบ้านเรียกกันว่าวัดเชิงแสกลาง อยู่ในตำบลเชิงแส ห่างจากวัดเอกไปทางทิศใต้ประมาณ ๑๐๐ เมตร เป็นวัดที่ปรากฏในสมุดแผนที่ภาพวัดในสมัยอยุธยาเช่นเดียวกัน มีพระพุทธรูปโบราณ ชาม ไห และเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ้องและราชวงศ์เหม็ง
(๕) วัดเชิงแสหัวนอน ทางราชการเรียกว่า วัดเชิงแสใต้อยู่ห่างจากวัดเชิงแสกลางไปทางทิศใต้ประมาณ ๑๐๐ เมตร อยู่ในตำบลเชิงแส มีพระพุทธรูปแบบสุโขทัยที่สวยงามมาก มีโบราณวัตถุหลายอย่าง มีเศียรพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ เป็นวัดที่ปรากฏในสมุดแผนที่ภาพสมัยอยุธยา เช่นกัน
(๖) วัดสูงทุ่งบัว เป็นสถานที่ที่ลักษณะเป็นวัดร้าง มีซากวัดโบราณและมีพระพุทธรูปอยู่ ๓ องค์ อยู่ที่บ้านทุ่งบัว หมู่ที่ ๑ ตำบลเกาะใหญ่
(๗) วัดสูงเกาะใหญ่ อยู่บนยอดเขาเกาะใหญ่ ตำบลเกาะใหญ่ เป็นวัดร้าง มีสิ่งปรักหักพังเป็นร่องรอย
ในท้องที่อำเภอกระแสสินธุ์ยังมีวัดเก่า ๆ ที่ปรากฏชื่อในสมุดแผนที่ภาพสมัยอยุธยาอีกหลายวัด เช่น วัดตระพังครู อยู่ในเขตตำบลโรง วัดโรงใหญ่ อยู่ริมคลองโรง หมู่ที่ ๕ ตำบลโรง วัดโรงน้อย (ปัจจุบันร้าง) อยู่ห่างจากวัดโรงใหญ่หรือวัดโรงไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๑ กิโลเมตร เป็นต้น
สถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้แก่
(๑) บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดแหลมบ่อท่อ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลเกาะใหญ่ ห่างจากที่ว่าการอำเภอ ๗ กิโลเมตร บ่อน้ำนี้มีน้ำใสตลอดปี ตามตำนานกล่าวว่าพระสินนารายณ์ และขุนวิชัยพรหมศานส์เป็นผู้สร้างไว้
(๒) หน่วยพิทักษ์สัตว์ป่าแหลมควายราบ ตำบลเกาะใหญ่ ที่ทำการหน่วยอยู่ริมทะเลสาบสงขลา บริเวณรอบ ๆ ที่ทำการมีนกน้ำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก สามารถชมนกน้ำโดยไม่ต้องลงเรือออกไปดู เวลาที่เหมาะสมในการชม คือ ช่วงเช้าและช่วงเย็น
อำเภอกระแสสินธุ์มีคำขวัญว่า “หลวงพ่อเดิมคู่บ้าน ดอกบัวบานทั่วถิ่น ธารารินทั่วเมือง สมเด็จเจ้าลือเลื่อง เมืองสะตอพันธุ์ดี” ()