กง เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ (Amphibians) อยู่ในตระกูลเดียวกับกบ เขียด และคางคก อยู่ใน Order Salientia ในวงศ์ HYLAARBOREA กงที่พบในภาคใต้เรียกว่า “กงภูเขา” ชื่อสามัญว่า Giant Mountain Toad มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bufo montainus แต่ยังมีนักสัตวศาสตร์บางกลุ่มลำดับกงและคางคกไว้ในวงศ์ BUFODIDAE เพราะเชื่อว่ากง คือพวกพ้องของคางคก (Toad) แน่นอน ไม่ใช่พวกกบ (Frog) แต่ส่วนใหญ่มักเข้าใจกันว่ากงอยู่ก้ำกึ่งกันระหว่างพวกกบและคางคก แต่กงจะใหญ่กว่าคางคกมาก กงมีอยู่ ๒ ชนิด คือ “กงทะเล” หรือ “กงคลอง” และ “กงภูเขา” กงทะเลชื่อสามัญว่า Giant Marine Toad ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bufo marinus ส่วนกงที่เราพบอยู่เสมอบนภูเขาทางภาคใต้คือ กงภูเขา
กงเป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักกันมากนัก หากมองอย่างผิวเผินจะเห็นว่า กงมีลักษณะคล้ายคางคกแต่ขนาดปุ่มบนลำตัวของกงจะโตกว่าปุ่มของคางคกและไม่มียางออกมา เมื่อโดนอะไรเข้าตามตัวเช่นคางคกโดยทั่วไป กงมีลำตัวยาวประมาณ ๑๐-๑๒ นิ้ว กว้าง ๕-๘ นิ้ว สูงประมาณ ๔.๐-๕.๕ นิ้ว มีขายาว ๖-๘ นิ้ว ขาหน้าจะสั้นกว่าขาหลัง นิ้วเท้าจะมี ๔ นิ้ว ระหว่างนิ้วเท้าจะมีพังผืดเป็นแผ่น คล้ายตีนเป็ด นิ้วกลางจะยาวออกมามากกว่านิ้วอื่น ตัวสีดำหรือน้ำตาลหม่น และสีลำตัวอาจเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมที่กงอาศัยอยู่ได้ กงกระโดดได้ครั้งละไกล ๆ คือ ๑-๒ เมตร แต่มันไม่ชอบกระโดด เพียงแต่มันจะเต้นเหยาะ ๆ ไปเท่านั้น การเต้นแต่ละครั้งจะไปไกล ๑ ฟุตเป็นอย่างน้อย กงชอบอาศัยตามสายน้ำเล็ก ๆ ที่ไหลผ่านป่าทึบที่มีความชื้นมาก กงจะกินแมลงเป็นอาหาร โดยการแลบลิ้นออกจับแมลง การผสมพันธุ์และการวางไข่ก็เป็นเช่นเดียวกับ กบ เขียด และคางคก กงจะออกหาอาหารในเวลากลางคืน จะส่งเสียงดัง ก๊ง ก๊ง ก๊ง ไปด้วย เสียงร้องดังพอสมควร
ชาวใต้เชื่อกันว่ากงเป็นสัตว์แห่งโชคลาภ หากกงขึ้นบ้านใครแล้วเจ้าของบ้านจะมีโชคลาภ อยู่เสมอ แต่เมื่อมีอาการเจ็บป่วยขึ้นภายบ้านหรือมีเรื่องไม่ดีภายในบ้าน กงจะไม่อยู่ภายในบ้านนั้นอีก ดังนั้นถ้าหากกงเข้าไปในบ้านใคร เจ้าของบ้านจะจับอาบน้ำทาแป้งให้ กงที่เข้าไปอยู่ในบ้านนั้น มันจะเข้าไปอยู่เองไม่จำเป็นต้องจับไปเลี้ยงไว้เพราะกงจะไม่อยู่ อาหารการกินก็ไม่ต้องหาให้ เมื่อถึงเวลากงจะออกไปหาอาหารกินเอง เมื่ออิ่มแล้วก็จะกลับมาอยู่ที่เดิมเสมอ บางครั้งกงจะขึ้นไปอยู่ถึงหน้าพระบูชาก็มี ที่สำคัญเมื่อกงเข้าไปอยู่ในบ้านแล้ว เจ้าของบ้านจะต้องจัดอ่างน้ำไว้ใกล้ ๆ ที่กงอยู่ เพื่อให้กงได้อาบน้ำ
นอกจากนี้ในสมัยก่อนพวกโจรย่องเบาทั้งหลาย นิยมนำหนังกงมาเผารมควันเจ้าของบ้านที่ต้องการย่องเบา เมื่อยางจากหนังกงได้รับความร้อนและระเหย ผู้ได้รับกลิ่นหรือควันจะหลับลืม ไม่รู้สึกตัว ขโมยก็เข้าเก็บข้าวของได้สำเร็จ
ประโยชน์อื่น ๆ ของกง ไม่มีบันทึกหรือคำบอกเล่าว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร เนื่องจากรูปร่างที่น่ารังเกียจของมันนั้นเอง จึงทำให้มนุษย์ไม่นิยมนำมันมาทำประโยชน์ คงมีแต่หนังกงซึ่งมียางที่มีพิษเช่นเดียวกับหนังคางคก ซึ่งคนหรือสัตว์ที่กินเข้าไปจะมีอันตรายถึงตายได้ กงนี้ ในท้องที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี และอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา จะเรียกกันว่า “คางโคะ” (วิสุทธิ์ ถิรสัตยวงศ์)