ครูหมอเหล็ก

           ครูหมอเหล็ก เป็นบรมครูผู้สอนวิชาตีเหล็กในสมัยโบราณที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งตระกูลช่างเหล็กเชื่อกันว่าวิญญาณของบรรพบุรุษเหล่านั้นยังคงคอยปกป้องคุ้มครองผู้สืบตระกูลอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเกิดละเมิดล่วงเกินก็อาจให้โทษได้ จะรับการบนบานและต้องแก้บน ความเชื่อเกี่ยวกับครูหมอเหล็กนี้สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของช่างตีเหล็กบางประการ

           เชื่อกันว่าครูหมอเหล็กมีอยู่ ๖ คนด้วยกัน คือ ตาหลวงชั่ง ตาหลวงแสง ยามือเหล็ก ยาลุยไฟ ยาโถมน้ำ และนางเมาคลื่น ทั้ง ๖ คนนี้มีความสามารถเฉพาะด้าน และเมื่อมีชิวิตอยู่ต่างก็มีคุณวิเศษเหมือนคนสามัญ กล่าวคือ

           ๑. ตาหลวงชั่ง ที่ถูกต้องคือตาหลวงช่าง ชาวใต้ในอดีตจะออกเสียงคำว่า “ช่าง” เป็น “ชั่ง” ทั้งหมด เช่น ช่างไม้จะออกเสียงเป็นชั่งไม้ ช่างตีเหล็กจะออกเสียงเป็นชั่งตีเหล็ก ช่างปูนจะออกเสียงเป็นชั่งปูน ฯลฯ ดังนั้นตาหลวงชั่งในที่นี้หมายถึงครูช่างทั้งหมดทุกสาขา

           ตาหลวงชั่งหรือตาหลวงช่าง มีความชำนาญอย่างวิเศษในการชั่งเหล็ก ว่าจะทำอะไรต้องใช้เหล็กมากน้อยเพียงใด เช่น จะทำมีดใช้เหล็กหนักเท่าใด จะทำพร้าจะใช้สักเท่าใด

           ๒. ตาหลวงแสง คือช่างแสงหรือช่างผู้เชี่ยวชาญ ชำนาญการในการผลิตศัสตราทุกชนิดในสมัยโบราณ เช่น กริช มีด พร้า ขวาน หอก ดาบ แม้กระทั่งปืนไฟ (คาบชุด คาบศิลา และปืนแก๊ป) ในกองทัพปัจจุบันยังมีกรมสรรพาวุธ ช่างแสง และคลังแสง ในราชสำนักเรียกอาวุธทั้งหลายสำหรับพระเจ้าแผ่นดินว่า พระแสงต้น

           ตาหลวงแสง มีหน้าที่ในการดูแลแสงไฟในขณะที่ตีเหล็กเพราะเหล็กเมื่อเผาร้อนแล้วจะมีแสง ต้องรู้ว่าเหล็กร้อนเพียงใดจึงจะนำมาตีเป็นรูปนั้นรูปนี้ได้

           ๓. พระยามือเหล็ก หรือยามือเหล็ก คือช่างที่ทำหน้าที่ตีเหล็กโดยเฉพาะ มีความเชี่ยวชาญในการลงค้อนลงพะเนินตีเหล็กขึ้นรูปเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในบทไหว้ครูโนรามีอ้างถึงเอาไว้ว่าไหว้ยามือเหล็ก ยามือไฟยอดใยไหว้ตาหลวงคงคอ

           พระยามือเหล็ก หรือยามือเหล็ก มีหน้าที่หยิบเหล็กตอนที่กำลังร้อนจัดมาตีโดยที่มือไม่ร้อนแม้แต่น้อย

           ๔. พระยาลุยไฟ หรือยาลุยไฟ หรือพระยามือไฟ คือช่างชักสูบเป่าลมโหมไฟให้ความร้อนในการเผาเหล็กหลอมเหล็กในงานหล่อและงานตีเหล็ก ในบทไหว้ครูโนรามีกล่าวถึงเอาไว้ว่า ไหว้พระยาโถมน้ำโฉมงามพระยาตาลุยไฟ มี

           พระยาลุยไฟ หรือยาลุยไฟ หรือพระยามือไฟ มีหน้าที่ฝ่าเปลวไฟหรือลุยไฟได้โดยไม่รู้สึกร้อนหรือเป็นอันตราย

           ๕. พระยาโถมน้ำ หรือยาโถมน้ำ คือช่างชุบแข็งหรือชุบคม ท่านผู้นี้มีความเชี่ยวชาญในการชุบคมศัสตราที่เผาจนร้อนได้ที่ลงในอ่างน้ำชุบคมเพื่อให้ศัสตรานั้น ๆ มีความแข็งแกร่งทนทานต่อการนำไปใช้งาน ในบทไหว้ครูโนรามีอ้างถึงเอาไว้ ไหว้พระยาโถมน้ำโฉมงามพระยาตาลุยไฟ

            ๖. นางเมาคลื่น ถือเป็นนางที่อยู่ในคณะ เมื่อถึงคราวแก้บนก็ต้องเชิญมาด้วย จึงจะทำให้คณะครูหมอเหล็กพอใจ

           เชื่อกันว่าถ้าขาดการเชื่อถือกราบไหว้อาจเกิดโทษแก่ผู้นั้นหรือครอบครัว อาจถึงแก่เจ็บป่วย ตกอับ เสียสติหรืออาจวิกลจริตก็ได้ เป็นที่น่าสังเกตว่าการทำพิธีแก้บนครูหมอเหล็กนั้นจำเป็นต้องรับโนรามาแสดง และต้องให้ผู้เป็นโนรานั้นทำพิธีแก้บนให้จึงจะขาดจากพันธะที่บนบานไว้ พิธีแก้บนจะต้องกระทำในวันพฤหัสบดีที่ตรงกับข้างขึ้นของเดือน ๖

           การบนบานครูหมอเหล็กจะกระทำต่อเมื่อตกทุกข์ได้ยากอย่างร้ายแรง ผู้บนบานจะต้องมีดอกไม้ ธูปเทียน และหมากพลูอย่างละ ๙ ต้องจัดวางสิ่งเหล่านี้เป็นแถวเรียงหนึ่งและต้องวางตรงหัวนอนของผู้ที่จะบน เชื่อกันว่าการบนจะได้ผลแน่นอนยิ่งขึ้นถ้าผู้บนบานทำ “ห่อเหฺมฺรย” ประกอบด้วยกล่าวคือต้องใช้หมาก พลู เทียน ข้าวตอก ดอกไม้ และเงิน อย่างละ ๑๒ และใช้เล็บมือเล็บเท้าของผู้บนบานผูกห่อเข้าด้วยกัน แล้วเก็บรักษาไว้อย่างดี ค่อยทำพิธีแก้ห่อนั้นในวันทำพิธีแก้บน ต้องกล่าวคำอัญเชิญครูหมอเหล็กให้มาเข้าทรง แล้วคนที่อยู่ในนั้นจะต้องคอยซักถามว่าเหตุร้ายเกิดเพราะอะไร จะต้องแก้ไขอย่างไร (แก้บนด้วยอะไร)

           ประเพณีการนับถือครูหมอเหล็ก บางแห่งยังถือปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างเคร่งครัด เช่น ที่บ้านไสยาง ตำบลโคกชะงาย อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง มีพิธีแก้บนสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เพียงแต่อาจยืดระยะเวลาให้ห่างออกไปเป็น ๓ ปีต่อครั้งหรือ ๕ ปีต่อครั้ง ทั้งนี้แล้วแต่จะตกลงต่อรองกับครูหมอที่มาเข้าทรง

           การนับถือครูหมอเหล็กจึงเหมือนกับครูหมอโนรา (ดู ครูหมอโนรา) เพียงแต่เป็นครูที่ต่างสาขาวิชากันเท่านั้น

           ผู้เขียนเรื่องนี้อยู่ในวงศ์ตระกูลที่สืบทอดความเชื่อเรื่องนี้ด้วยโดยฝ่ายมารดาได้นับถือและปฏิบัติต่อกันมาหลายชั่วคน และยิ่งนับวันก็ยิ่งมีเครือญาติให้ความนับถือมากขึ้น และจะต้องนับถือต่อ ๆ กันไปเพราะทุกคนในตระกูลนี้ยังปักใจเชื่อว่าการให้คุณหรือโทษเป็นได้จริงด้วยเคยประสบอยู่เนือง ๆ ในบางพื้นที่ของภาคใต้จะเรียกครูหมอเหล็กว่า “ครูหมอค้อนทั่ง” ก็มี “ครูหมอช่าง” ก็มี (ปิมนรยา หนูเพชร, พิชัย แก้วขาว)


ชื่อคำ : ครูหมอเหล็ก
หมวดหมู่หลัก : โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และการเมืองการปกครอง
หมวดหมู่ย่อย : ประวัติบุคคล
ชื่อผู้แต่ง : ปิมนรยา หนูเพชร, พิชัย แก้วขาว
เล่มที่ : 2
หน้าที่ : 924