พระยาคงคาธราธิบดี (พลอย ณ นคร) ป.ม. ท.จ.ว. จ.ช. ว.ป.ร.๓ เป็นบุตรคนที่ ๕๒ ในจำนวนทั้งสิ้น ๕๖ คน ของพระยาเสนานุชิต สิทธิศาสตรามหาสงคราม สยามรัชภักดี พิริยพาหุ (นุช ณ นคร) ท.จ.ว. ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่าและเป็นบุตรคนเดียวของท่านเอมมารดา เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๑๒ ที่ตำบลตลาดใหญ่ เมืองตะกั่วป่า เมื่อเยาว์ได้ศึกษาวิชาหนังสือไทยในสำนักพระอุปัชฌาย์ภู่วัดใหม่ (ปัจจุบันคือวัดเสนานุชรังสรรค์) เข้ารับราชการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ มีตำแหน่งในชั้นแรกเป็นมหาดเล็กหัวเมือง เมื่ออายุ ๒๑ ปี ใน พ.ศ. ๒๔๓๓ ได้เป็นแม่กองจัดการรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เมืองตะกั่วป่า ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่และได้รับพระราชทานยศ บรรดาศักดิ์ ตามลำดับดังนี้
พ.ศ. ๒๔๓๔ รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระพลพยุหสงคราม ตำแหน่งจางวางด่านเมือง ตะกั่วป่า ระหว่างนั้นได้ทำหน้าที่ผู้จัดการโรงต้มกลั่นสุรากับผู้จัดการอากรฝิ่น ซึ่งจัดทำเป็นของรัฐบาลด้วย
พ.ศ. ๒๔๔๑ เลื่อนตำแหน่งเป็นปลัดเมืองตะกั่วป่าพ้นหน้าที่ผู้จัดการอากรสุราและฝิ่นเมื่อกลับไปใช้ระบบนายอากรผูกขาดตามเดิม
พ.ศ. ๒๔๔๖ ย้ายไปเป็นปลัดเมืองพังงาอยู่ ๗ เดือน แล้วไปเป็นผู้รั้งราชการจังหวัดกระบี่ ในปีต่อมารับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระอิศราธิไชย ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่
พ.ศ. ๒๔๕๐ ย้ายไปเป็นว่าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ในปีต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาบริรักษ์ภูธร ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ในระหว่างนั้นได้ไปปฏิบัติราชการพิเศษที่จังหวัดตรัง โดยรับหน้าที่เป็นแม่กองสร้างพระตำหนักและจัดการรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร
พ.ศ. ๒๔๕๔ รับพระราชทานยศเป็นอำมาตย์โท ในปีเดียวกันได้ไปรักษาราชการแทนสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ซึ่งเข้ามากรุงเทพฯ ในงานพระบรมราชาภิเษกเป็นเวลา ๓ เดือน
พ.ศ. ๒๔๕๕ ย้ายไปเป็นผู้รั้งตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลชุมพร ในปีต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็นมหาอำมาตย์ตรี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมุหเทศาภิบาล
พ.ศ. ๒๔๕๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี (ในรัชกาลที่ ๖) ในปีเดียวกันรับพระราชทานยศมหาเสวกตรี และบรรดาศักดิ์เป็นพระยาคงคาธราธิบดีศรีสุราษฎร์ โลหนคราธิปตัย อภัยพิริยพาหุ ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลชุมพร ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลสุราษฎร์
พ.ศ. ๒๔๖๔ รับพระราชทานยศเป็นมหาเสวกโท
พ.ศ. ๒๔๖๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกจากตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล รับพระราชทานบำนาญ โดยยุบมณฑลสุราษฎร์ไปรวมกับมณฑลนครศรีธรรมราช และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี (ในรัชกาลที่ ๗)
พ.ศ. ๒๔๗๑ รับพระราชทานยศเปลี่ยนเป็นมหาอำมาตย์โท
เมื่อออกจากราชการแล้วพระยาคงคาธราธิบดีได้ไปตั้งหลักแหล่งทำสวนมะพร้าวอยู่ที่บ้านแหลมโพธิ์ ตำบลไสไทย อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ จนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐
พระยาคงคาธราธิบดีเกิดในปีต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการศึกษาเบื้องต้นแต่เพียงเล็กน้อยเท่าที่มีในเวลานั้น ต่อมาได้รับราชการอยู่ในระยะเวลาที่ทรงปฏิรูปการ ปกครองหัวเมือง ทั้งเมื่อเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดได้ปฏิบัติงานร่วมกับพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ซึ่งพระยาคงคาธราธิบดีนับถือเสมือนครู จึงมีบทบาทในการพัฒนาบ้านเมืองอยู่มาก ผลงานบางอย่างที่ยังปรากฏอยู่ในเวลานี้ได้แก่การสร้างเมืองกระบี่ซึ่งย้ายจากตลาดเก่ามาอยู่ใกล้ท่าเรือในที่ปัจจุบัน การตัดถนนจากพังงาถึงโคกกลอย และการตัดถนนจากบ้านดอนถึงสถานีรถไฟที่ท่าข้าม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
พระยาคงคาธราธิบดีมีอุปนิสัยนุ่มนวล สุขุม รอบคอบ ประกอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และจงรักภักดี จึงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยให้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่ขึ้นมาจนถึงเป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลและองคมนตรี เมื่อถึงอนิจกรรมแล้ว ทางราชการได้นำราชทินนามไปตั้งเป็นชื่อถนนไว้สายหนึ่งในจังหวัดกระบี่ นับว่าเป็นชาวใต้ที่น่าสนใจผู้หนึ่ง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงพระยาคงคาธราธิบดีไว้ในหนังสือ “สาส์นสมเด็จ” ตอนหนึ่งว่า
“...แต่บุตรพระยาเสนานุชิต (นุช) คนเล็กชื่อพลอยเป็นดีกว่าเพื่อน มาเติบใหญ่เข้ารับราชการเมื่อหม่อมฉันว่ามหาดไทย ได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองกระบี่ก่อนแล้วย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานทินนามว่า พระยา คงคาธราธิบดี (ทรงแปลงมาจากพระยาเคางะธราธิบดี) ต่อมาได้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลชุมพรอยู่จนเลิกมณฑลนั้น เดี๋ยวนี้ไปตั้งบ้านเรือน อยู่ที่จังหวัดกระบี่...”
พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) เล่าเรื่องไปเมืองสุราษฎร์ธานีกับนายวิลเลียมนันท์ ที่ปรึกษากรมศุลกากรเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ไว้ในหนังสือ “ฟื้นความหลัง” ตอนหนึ่งว่า
“...เรื่องไปถึงเมืองบ้านดอนครั้งแรกมีข้อเท็จจริงอย่างไรก็พอทำเนาแต่ไฉนในครั้งนั้นข้าพเจ้าจึงจำหน้าและชื่อท่านเจ้าคุณคงคาธราธิบดี (พลอย ณ นคร) สมุหเทศาภิบาลมณฑลชุมพร ซึ่งตั้งศาลากลางอยู่ที่เมืองบ้านดอนได้นาน ทั้งนี้เพราะคำว่า “คงคา” ซึ่งปรากฏอยู่ในทำเนียบศักดินาทหารสมัยอยุธยาว่า เจ้าเมืองชุมพรชื่อ ออกญาเคางะธราธิบดี ศรีสุรัตวลุมหนัก ชื่อนี้ในระยะเวลาต่อมาข้าพเจ้ามีความสนใจ ที่สนใจเพราะมีคำแปลก ๆ แปลไม่ออกปนอยู่ในชื่อนั้นหลายคำ คราวหนึ่งเป็นเวลาล่วงมาแล้วนานได้พบลางคำในชื่อนั้นไปปรากฏอยู่ในคำแขกจาม กระทำให้ต้องนึกเลเพลาดพาดไปถึงเรื่องประวัติศาสตร์แหลมอินโดจีนสมัยโบราณซึ่งข้าพเจ้าเคยรวบรวมและเรียบเรียงไว้... ว่าเฉพาะท่านเจ้าคุณคงคาธราธิบดี ข้าพเจ้าไม่เคยพบปะและคุ้นเคยกับท่านมาแต่ก่อน แต่เมื่อเห็นท่านเป็นครั้งแรก ข้าพเจ้าก็ชอบหน้าท่านเสียแล้ว ตลอดจนเมื่อเห็นกิริยามารยาทซึ่งท่านแสดงออกทำให้เกิดความนับถือ ทั้งนี้เพราะคนนั้นท่านกล่าวว่ามีสองหน้า หน้าหนึ่งซึ่งเป็นหน้านอกก็เป็นหน้าคนตามธรรมดาเรานี่เอง แต่อีกหน้าหนึ่งซึ่งเป็นหน้าในที่เผยออกมาให้เห็นอันทำให้เรารู้สึกชอบหรือชังก็ได้ นี่คือ “น้ำหน้า” หรือหน้าแท้ของบุคคล หน้าอย่างหลังนี้ที่ศิลปะและวรรณคดีต้องการ ว่าถึงรูปร่างท่านเจ้าคุณเท่าที่จำได้เงา ๆ เป็นคนมีร่างและหน้าตาค่อนข้างใหญ่ และมีผิวพรรณค่อนข้างขาว กิริยาอาการที่ท่านแสดงออกต่อแขกเหรื่อซึ่งต่างชาติก็ไม่วางท่าอย่างปั้นปึ่ง พูดจาอย่างช้า ๆ ไม่มีเสียงดังโฮกฮาก เวลาท่านพูดกับที่ปรึกษา ท่านก็พูดเป็นภาษาไทยปักษ์ใต้ อันเป็นภาษาไทยชาติภูมิของท่าน แทนที่ท่านจะพูดภาษากรุงเทพฯ ซึ่งท่านก็พูดได้ดีอย่างคนไทยตามธรรมดา แต่ที่ท่านไม่ใช้พูดในโอกาสที่กล่าวนี้ ข้าพเจ้าทราบว่านี่เป็นมารยาทอย่างหนึ่งของชาวปักษ์ใต้เมื่อจะพูดกับผู้ที่ให้เกียรติมาแต่อื่นอย่างทางการ…”
พระยาคงคาธราธิบดีสมรสกับคุณหญิงพร้อม บุตรีพระเรืองฤทธิ์รักษาราษฎร์ (พัน ณ นคร) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ หลังจากคุณหญิงพร้อมถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้สมรสกับคุณหญิงเสงี่ยม บุตรีพระอนุรักษ์โยธา (นุช บุณยเกียรติ) พระยาคงคาธราธิบดีมีบุตรธิดาทั้งสิ้น ๙ คน คือ
๑. เรือโทสวัสดิ์ ณ นคร
๒. นางสาวคำนึง ณ นคร
๓. นายแพรว ณ นคร
๔. พลเรือโทฉายแสง ณ นคร
๕. นางระยับ สีบุญเรือง
๖. เด็กหญิงน้อย ณ นคร
๗. เด็กหญิงนิด ณ นคร
๘. นางสุชาดา ณ นคร
๙. เด็กหญิงเภา ณ นคร (ฉายแสง ณ นคร)