คลองท่อม, อำเภอ

ประวัติความเป็นมา

            อำเภอคลองท่อม เดิมเป็นแขวงคลองท่อม แขวงคลองพน และแขวงพรุดินนา ต่อมาเมื่อได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๔๐ ได้รวมแขวงทั้ง ๓ นี้ ตั้งขึ้นเป็นอำเภอ เรียกว่า “อำเภอคลองพน” ตั้งที่ว่าการอำเภออยู่ที่บ้านหมู่ที่ ๑ ตำบลคลองพน มีขุนอาทรธรภัทร เป็นนายอำเภอ ต่อมาขุนอาทรฯ ลาออก นายนาค ถิ่นพังงา เป็นนายอำเภอแทนเห็นว่าที่ตั้งที่ว่าการอำเภอในขณะนั้นไม่อยู่ในศูนย์กลางของท้องที่จึงย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่หมู่ที่ ๒ ตำบลคลองท่อมใต้ ตรงวัดคลองท่อมปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๕ ครั้นต่อมาถึง พ.ศ.๒๔๔๘ นายเทียบ อมาตยกุล ผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอในขณะนั้น เห็นว่าการคมนาคมไม่สะดวก จึงย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่ปากคลองท่อม หมู่ที่ ๒ ตำบลคลองท่อมใต้ ห่างจากที่ว่าการอำเภอเดิมประมาณ ๒ กิโลเมตร เพื่อสะดวกแก่การคมนาคมทางน้ำเพราะสมัยนั้นการคมนาคมทางบกยังไม่สะดวก แต่ชื่ออำเภอยังคงเป็น “อำเภอคลองพน” ตลอดมา จนถึงปี พ.ศ.๒๔๖๐ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอคลองท่อม” ตามชื่อคลองที่ตั้งที่ว่าการอำเภออยู่ จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๘๗ ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอคลองท่อมมาตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม หมู่ที่ ๒ ตำบลคลองท่อมใต้ โดยนายเพิ่ม ศรีเทพ เป็นผู้บริจาคที่ดินจำนวน ๒๕ ไร่ สาเหตุที่ย้ายที่ว่าการอำเภอจากตำบลคลองพนมาตั้งที่ตำบลคลองท่อมใต้เพื่อให้ที่ตั้งที่ว่าการอำเภอเป็นศูนย์กลางและสะดวกในการเดินทางมาติดต่อราชการของประชาชน ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๓๘ นายบัญชา ถาวรานุรักษ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดกระบี่ในขณะนั้นได้พิจารณาเห็นว่า บริเวณที่ว่าการอำเภอคลองท่อมค่อนข้างคับแคบและตัวอาคารมีสภาพเก่าชำรุด ไม่สะดวกต่อการให้บริการแก่ประชาชน โดยเฉพาะในอนาคตซึ่งความเจริญขยายตัวมากยิ่งขึ้น จึงได้มอบหมายให้นายเฐียร บุณยเกียรติ นายอำเภอคลองท่อมขณะนั้นประสานงานเพื่อสร้างที่ว่าการอำเภอคลองท่อมแห่งใหม่ในที่สาธารณประโยชน์ทุ่งหนองเป็ดน้ำ ริมถนนเพชรเกษม หมู่ที่ ๙ ตำบลคลองท่อมใต้ เนื้อที่ ๓๗ ไร่ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๙ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๐ และได้ฤกษ์มงคลเปิดที่ว่าการอำเภอคลองท่อมเพื่อให้บริการแก่ประชาชนเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๓

            จากการพบลูกปัดและโบราณวัตถุหลายชนิดหลายสมัย ณ แหล่งโบราณคดีควนลูกปัด ตำบลคลองท่อมใต้ปรากฏว่าโบราณวัตถุเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งชุมชนโบราณแห่งหนึ่งของภาคใต้ โบราณวัตถุที่พบมีตั้งแต่ยุคหินกลางเป็นต้นมาจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เช่น พบตราประทับอักษรปัลลวะภาษาอินเดียใต้ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๒ พบเครื่องหมายสวัสติกะทักษิณาวรรตอันเป็นสัญลักษณ์แทนอริยสัจ ๔ ตามคติพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ย่อมเป็นหลักฐานยืนยันว่าชุมชนโบราณแหล่งนี้น่าจะเป็นสถานที่ติดต่อกับอินเดียมาแล้วนับแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๐ เป็นอย่างน้อย หรืออาจจะก่อนกว่านั้น ทั้งเป็นพยานว่าบริเวณนี้ได้มีการสืบเนื่องอารยธรรมมาตามลำดับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นมา และเป็นแหล่งศูนย์อารยธรรมมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เป็นอย่างน้อย อาจเคยเป็นเมืองท่าสำคัญหรือเป็นแหล่งผลิตสินค้า (เช่นลูกปัด) หรือเป็นตลาดการค้าหรือที่พักขนถ่ายสินค้ามิอย่างใดก็อย่างหนึ่ง และคลองท่อมอาจจะเป็นจุดสำคัญบนเส้นทางผ่านคาบสมุทรมลายูระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออกตั้งแต่ก่อนสมัยศรีวิชัยเพราะพบเส้นทางเดินตัดข้ามแหลมมลายูสมัยโบราณที่อยู่ในเขตจังหวัดกระบี่อยู่ ๒ สายคือ สายหนึ่งเข้าทางคลองปกาไสย ผ่านอำเภอเมืองกระบี่ และอำเภอเขาพนมไปลงคลองสินปุน อีกสายหนึ่งเข้าทางคลองท่อมในอำเภอคลองท่อมขึ้นไปยังตำบลคลองท่อมเหนือเพื่อไปลงคลองสินปุน แล้วจึงล่องตามลำน้ำไปบรรจบลงแม่น้ำหลวง (แม่น้ำตาปี) ที่อำเภอพระแสง ไปออกทะเลที่อ่าวบ้านดอน หรือจะแยกขึ้นไปยังอำเภอฉวางก็ได้

            โดยเฉพาะเส้นทางคลองท่อม-คลองสินปุน-แม่น้ำตาปี-อ่าวบ้านดอน ได้พบลูกปัดและโบราณวัตถุอื่น ๆ ณ แหล่งอื่นบนเส้นทางสายนี้ที่มีจำนวนไม่น้อยร่วมลักษณะร่วมสมัยกันกับที่พบบริเวณควนลูกปัด เช่น พบที่บริเวณเขาศรีวิชัย ซึ่งอยู่ทางฝั่งเหนือของแม่น้ำตาปี ในเขตอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอาจจะเชื่อมโยงไปถึงแหลมโพธิ์ บริเวณตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา ตลอดถึงบริเวณบ้านท่าม่วง ตำบลวัง อำเภอท่านชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

สภาพทั่วไป

            คลองท่อม เป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดกระบี่ ที่ว่าการอำเภอคลองท่อมอยู่ริมถนนเพชรเกษม ณ หมู่ที่ ๒ ตำบลคลองท่อมใต้ ห่างจากตัวจังหวัดกระบี่ประมาณ ๔๒ กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ ๑,๐๔๒.๕๓๑ ตารางกิโลเมตร

อาณาเขต

            ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเหนือคลอง อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่

            ทิศใต้  ติดต่อกับอำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง

            ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่

            ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย

            อำเภอคลองท่อมแบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๗ ตำบล ๖๘ หมู่บ้าน ๒ เทศบาลตำบล ๗ องค์การบริหารส่วนตำบล ตำบลต่าง ๆ ในอำเภอคลองท่อม ได้แก่ ตำบลเพหลา ตำบลพรุดินนา ตำบลคลองท่อมเหนือ ตำบลคลองท่อมใต้ ตำบลห้วยน้ำขาว ตำบลคลองพน และตำบลทรายขาว

            ข้อมูลจากศูนย์บริการข้อมูล กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จำนวนประชากร ณ วันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๙ อำเภอคลองท่อมมีประชากรทั้งสิ้น ๕๙,๖๑๙ คน เป็นชาย ๓๐,๓๖๗ คน เป็นหญิง ๒๙,๒๕๒ คน ความหนาแน่นของประชากร ๕๗ คนต่อตารางกิโลเมตร ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธคือร้อยละ ๖๕ นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ ๓๔ และนับถือศาสนาคริสต์และอื่น ๆ ร้อยละ ๑

            ลักษณะภูมิประเทศ ตอนเหนือเป็นป่า ตอนกลางเป็นป่ากับทุ่งสลับกัน มีเขาเป็นเขตพรมแดนต่อกับจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดตรัง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ มีลำคลองเล็ก ๆ หลายสาย เช่น คลองขนาน คลองพน คลองบางเตียว แต่ลำคลองที่ให้ประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรมมีเพียงลำคลองเดียว คือ ลำคลองห้วยต่อ ซึ่งอยู่ในตำบลทรายขาว รวมเนื้อที่ที่เป็นห้วย หนอง คลอง บึง และอ่างเก็บน้ำ ประมาณ ๓๖๐ ไร่ มีเนื้อที่เป็นป่าสงวนประมาณ ๕๔๔,๗๔๑ ไร่

            ลักษณะภูมิอากาศ อำเภอคลองท่อมมีฤดูกาล ๒ ฤดูคือ ฤดูร้อนและฤดูฝน ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ธันวาคม ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน

            ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ป่าไม้ ประกอบไปด้วยป่าดิบชื้น พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ตะเคียนทอง หลุมพอ อินทนิล จำปาป่า เป็นต้น ป่าชายเลน มีเนื้อที่ประมาณ ๗๙,๒๙๐ ไร่ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ โกงกาง แสม เป็นต้น อำเภอคลองท่อมมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ๑ แห่ง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม แร่ธาตุสำคัญที่พบในพื้นที่ตำบลคลองท่อมใต้ คือ แร่ฟลูออไรท์ ทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญ คือ สัตว์น้ำ ปะการัง

            การประกอบอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ในอำเภอคลองท่อมประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม พืชเศรษฐกิจที่นิยมปลูกมากเป็นอันดับ ๑ ของจังหวัด ได้แก่ ยางพารา พื้นที่ปลูก ๒๗๙,๐๘๓ ไร่ รองลงมาคือปาล์มน้ำมัน พื้นที่ปลูก ๑๓๘,๔๕๐ ไร่ กาแฟ พื้นที่ปลูก ๑๑,๙๘๖ ไร่ ข้าวนาปี พื้นที่ปลูก ๓,๒๕๕ ไร่ นอกจากนี้ยังปลูกมะพร้าว กล้วยน้ำว้า สับปะรด แตงโมเนื้อ ทุเรียน มะนาว การเลี้ยงสัตว์ ส่วนมากเลี้ยงเพื่อบริโภคภายในอำเภอและส่งไปจำหน่ายยังอำเภอต่าง ๆ ภายในจังหวัดกระบี่ สัตว์ที่เลี้ยงมากเป็นอันดับ ๑ ของจังหวัด คือ ไก่พื้นเมือง เลี้ยงมากเป็นอันดับ ๒ ของจังหวัด คือ เป็ดไข่ เป็ดเนื้อ โคเนื้อ นอกนั้นเลี้ยงกระจายกันไปตามพื้นที่ ได้แก่ กระบือ สุกร แพะ แกะ ด้านการประมง มีการประมงทะเล และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นส่วนใหญ่

            อำเภอคลองท่อม มีแหล่งโบราณคดีที่สำคัญคือ ควนลูกปัด ตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ ตำบลคลองท่อมใต้ พบลูกปัดเป็นจำนวนมากทั้งที่ทำด้วยดินเผา หิน แก้ว และโลหะ มีทั้งขนาดใหญ่มากและเล็กที่สุด พบเบ้าหล่อหลอมอันแสดงว่าเป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตเพื่อจำหน่าย นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุปะปนกันหลายยุคหลายสมัย พบเหรียญตราและเครื่องประดับหลากชนิด เช่น เครื่องมือหินกะเทาะ ทำด้วยหินควอตซ์ไซต์ เครื่องมือขวานหินขัด หินดุ (เครื่องมือที่ใช้ทำภาชนะดินเผา) พบตราประทับและตรารูปสัตว์ รูปเรือใบ และสัญลักษณ์อื่น ๆ เป็นจำนวนมาก

             สถานที่ท่องเที่ยวภายในอำเภอคลองท่อม ได้แก่

            พิพิธภัณฑสถานวัดคลองท่อม ตั้งอยู่บริเวณวัดคลองท่อม บนถนนเพชรเกษม พระครูอาทรสังวรกิจ ได้เก็บรวบรวมสิ่งของวัตถุโบราณจำนวนมากจากที่มีผู้ขุดค้นพบทั่วอำเภอคลองท่อม โดยเฉพาะในบริเวณที่เรียกว่า “ควนลูกปัด” ที่เป็นเนินดินหลังวัดคลองท่อม ซึ่งมีการค้นพบลูกปัดแก้วสีต่าง ๆรวมทั้งเครื่องมือหิน เครื่องประดับและวัตถุที่ทำด้วยแก้ว เงิน ทองคำ สำริด หิน ดินเผา นับพันชิ้น ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นหลักฐานทางโบราณคดี ที่แสดงถึงการอยู่อาศัยของมนุษย์ชนพื้นเมืองสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสันนิษฐานกันว่า บริเวณนี้น่าจะเคยเป็นเมืองท่า เพราะชุมชนคลองท่อมอยู่ใกล้ทะเล มีลำคลองไหลผ่าน อยู่ในเส้นทางการเดินข้ามแหลมจากตะวันตกไปตะวันออก เป็นที่ผ่านไปมาของบรรดาพ่อค้าวานิชจากเมืองต่าง ๆ

            น้ำตกหินเพิง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๘ บ้านหินเพิง ตำบลคลองพน น้ำตกหินเพิงเป็นน้ำตกที่ไหลมาจากยอดหน้าผาที่สูงชัน

             น้ำตกร้อนคลองท่อม ตั้งอยู่บริเวณบ้านบางคราม-บ้านบางเตียว เป็นน้ำพุร้อนอีกแห่งหนึ่งที่กระจัดกระจายอยู่ในบริเวณนี้ น้ำจะไม่ร้อนมาก อุณหภูมิประมาณ ๔๐-๕๐ องศาเซลเซียส เป็นน้ำที่ซึมขึ้นมาจากผิวดิน สายน้ำไหลไปรวมกันตามความลาดเอียงของพื้นที่ บางช่วงมีควันกรุ่นและคราบหินปูนธรรมชาติพอกอยู่เป็นชั้นหนา ทำให้เกิดทัศนียภาพสวยงามแปลกตา โดยเฉพาะบริเวณที่ธารน้ำร้อนไหลลงลดระดับเกิดเป็นลักษณะคล้ายชั้นน้ำตกเล็ก ๆ บริเวณรอบ ๆ ปกคลุมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ร่มรื่น

            สระมรกต ได้รับการประกาศเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนชุดที่ ๑ เป็นสระน้ำสวยใสใจกลางป่า กำเนิดมาจากธารน้ำอุ่นในผืนป่าที่ราบต่ำภาคใต้ เป็นแหล่งสุดท้ายที่พบนกแต้วแร้วท้องดำ ซึ่งเคยสูญพันธุ์ไปนานเกือบ ๑๐๐ ปี สระมรกตรับน้ำมาจากน้ำตกที่ไหลจากเทือกเขาประ-บางคราม น้ำที่ตกมามีสีเขียวคล้ายมรกตเต็มไปทั้งสระจึงเรียกสระนี้ว่า “สระมรกต”

            เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม อยู่ที่บ้านบางเตียว ตำบลคลองท่อมเหนือ เป็นป่าที่ราบต่ำ บางส่วนแบ่งเป็นป่าดงดิบชื้น และบางส่วนที่เป็นป่าพรุที่มีน้ำท่วมขังทั้งปี มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติระยะทาง ๒.๗ กิโลเมตร เป็นที่อยู่อาศัยของนกแต้วแร้วท้องดำ และนกอื่น ๆ กว่า ๓๐๐ ชนิด

            ผลิตภัณฑ์ส่งเสริมในอำเภอ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ขนมกาละแม

            อำเภอคลองท่อมมีคำขวัญว่า สระมรกตขึ้นชื่อ นามระบือแหล่งลูกปัด งามเด่นชัดน้ำตกร้อน ชื่อกระฉ่อนนกแต้วแร้ว (สมัชชา โพธิ์ถาวรสุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์, แมนวดี ศิษฎิโกวิท)

ดูเพิ่มเติม คลองท่อม ชุมชนโบราณ

 

ชื่อคำ : คลองท่อม, อำเภอ
หมวดหมู่หลัก : โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และการเมืองการปกครอง
หมวดหมู่ย่อย : ประวัติสถานที่ สิ่งของ และเครื่องมือเครื่องใช้
ชื่อผู้แต่ง : สมัชชา โพธิ์ถาวร, สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์, แมนวดี ศิษฎิโกวิท
เล่มที่ : 2
หน้าที่ : 942