คลองท่อม : ชุมชนโบราณ

           ชุมชนโบราณคลองท่อม เป็นชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของภาคใต้ เป็นบริเวณเดียวกันกับแหล่งโบราณคดีควนลูกปัด ซึ่งเป็นเนินดินเชิงเขาบนพื้นที่ราบใกล้ป่าชายเลนทางฝั่งทะเลอันดามัน ตำแหน่งที่ตั้งทางการปกครองอยู่ในเขตหมู่ที่ ๒ บ้านควนลูกปัด ตำบลคลองท่อมใต้ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ โดยอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอคลองท่อมไปทางทิศใต้ประมาณ ๑ กิโลเมตร ปรากฏตามพิกัดภูมิศาสตร์ที่ละติจูด ๗ องศา ๕๕ ลิปดา ๓๐ พิลิปดาเหนือ และลองจิจูดที่ ๙๙ องศา ๙ ลิปดา๕ พิลิปดา ตะวันออก

อาณาเขตติดต่อ 

           ทิศเหนือ ติดตลาดคลองท่อม

           ทิศใต้ ติดคล่องท่อม

           ทิศตะวันออก ติดภูเขาหินปูนลูกโดด

           ทิศตะวันตก ติดทางหลวงหมายเลข ๔ (เพชรเกษม)

            ประวัติการศึกษาชุมชนโบราณคลองท่อม

           พ.ศ. ๒๕๐๙ พระครูอาทรสังวรกิจ (สวาท กนฺตสํวโร) เจ้าอาวาสวัดคลองท่อม ได้เก็บรวบรวมโบราณวัตถุจากเนินดินที่เรียกว่า “ควนลูกปัด” ไว้ในวัด

           พ.ศ. ๒๕๑๐ ธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรสมัยนั้น และคณะเดินทางไปสำรวจเรื่องก่อนประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมสมัยโบราณในจังหวัดภาคใต้ ระหว่างที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ถึงวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๐ (ดังปรากฏรายงานบันทึกโดย ร.ต.ท. แสง มนวิทูร ในนิตยสารศิลปากร ปีที่ ๑๑ เล่ม ๖ พ.ศ. ๒๕๑๑) ได้ไปศึกษาโบราณวัตถุที่วัดคลองท่อม ซึ่งได้แก่ ลูกปัดแร่ประกอบหินชื่อ โมรา (อะเกต)

           พ.ศ. ๒๕๑๒ ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ ได้สำรวจและศึกษาโบราณวัตถุที่คลองท่อม และบันทึกไว้ใน “รายงานการสำรวจทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ในเขตจังหวัดชุมพร ระนอง พังงา และกระบี่ ระหว่างวันที่ ๓-๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๒” ของหน่วยศิลปากร ที่ ๘ นครศรีธรรมราช และหนังสือเรื่อง “โบราณวัตถุสถานในภาคใต้ตอนเหนือ รวม ๗ จังหวัด” (กรมศิลปากรพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๑๗) เกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีคลองท่อม ดังนี้

           ๑) มีเนินดินเนื้อที่ประมาณ ๔๐ ไร่ เรียก “ควนลูกปัด” เป็นที่ซึ่งพบลูกปัดและโบราณวัตถุอื่น ๆ มากมาย

           ๒) มีตำนานบอกเล่า (มุขปาฐะ) เกี่ยวกับชื่อคลองท่อม ว่าเป็นที่แขกผู้หนึ่งชื่อ “หลวงแหระ” มาตั้งบ้านเรือน เมื่อจะอพยพไปได้ฝังสมบัติไว้ใต้เนินดินควนลูกปัด คำว่า “ท่อม” จึงมาจาก “ทุ่ม” หรือ “ทิ้ง” สมบัติไว้นั่นเอง อีกนัยหนึ่งเล่ากันมาว่า ชื่อคลองท่อมได้มาจาก “ต้นกระท่อม” ซึ่งเคยมีอยู่บริเวณต้นน้ำคลองท่อมแห่งนี้

           ๓) โบราณวัตถุที่พบบริเวณเนินดินควนลูกปัด ได้แก่ ขวานหินขัด ลูกปัด ภาชนะดินเผาเนื้อดินเศษแก้วหลอมเบ้าดินเผา ดีบุก เงิน ตะกั่ว และทอง เครื่องประดับ เช่น กำไล ตุ้มหู แหวน

           ๔) ชาวท้องถิ่นเคยพบซากเรือโบราณ ๒ ลำ ลำหนึ่งอยู่บริเวณปากห้วยพลูกับลำคลองท่อมเหนือ อีกลำหนึ่งฝังจมดินอยู่ริมคลองท่อม

           พ.ศ. ๒๕๑๖ มานิต วัลลิโภดม และศรีศักร วัลลิโภดม สำรวจแหล่งโบราณคดีคลองท่อม (ปรากฏในบทความเรื่อง “ควนลูกปัดและแผ่นดินบกโบราณวิทยาในภาคใต้” ใน อาษา ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๖ โดยศรีศักร วัลลิโภดม และ “สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน ตอนกัมโพธรัฐ” ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยมานิต วัลลิโภดม) และตั้งข้อสันนิษฐานว่า แหล่งโบราณคดีแห่งนี้อาจเป็นเมืองท่าโบราณแห่งหนึ่งในภาคใต้ เป็นแหล่งอุตสาหกรรมทำแก้วและดีบุก มีหลักฐานการติดต่อค้าขายกับชนชาติกรีกและโรมัน

           พ.ศ. ๒๕๒๒ คณะสำรวจจากงานวิชาการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ขณะสำรวจแหล่งโบราณคดีในภาคใต้ ระหว่างเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้มาสำรวจแหล่งโบราณคดีและศึกษาโบราณวัตถุที่ได้จากควนลูกปัด ผลการศึกษาโบราณวัตถุเหล่านี้ต่อเนื่องถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ปรากฏตามรายงานการบันทึกของ อมรา ศรีสุชาติ (รายงานผลการปฏิบัติงานศึกษาวิจัยทางโบราณคดี ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๗-มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๘) มีดังต่อไปนี้

           ๑) แผ่นแร่ประกอบหินคาร์เนเลียน อะเกตแผ่นเล็ก ๆ คล้ายจี้ ลายเส้นสลักเบารูปใบหน้าคน รูปบุคคล ตามการสันนิษฐานของเมอร์สิเออร์ฟูสมานน์ และมาดามเวลโชวิก (Monsieur Faussemann & Madame Veljovic : Musee de Medaille, Biblioteque National, Paris.) นักวิชาการฝรั่งเศสผู้เชี่ยวชาญเหรียญตราของโรมันกล่าวว่า เป็นลักษณะการทำขึ้นโดยลอกเลียนแบบจากโรมันมิใช่ของต้นแบบ เนื่องจากเนื้อวัตถุดิบและรายละเอียดในการทำแตกต่างจากลักษณะต้นแบบ

           ๒) แหวนทอง ซึ่งมีหัวแหวนเป็นแผ่นตั้งและแกะสลักลวดลายเป็นลักษณะของแหวนรูปกุญแจโรมัน (lanneau cle romain) ซึ่งเป็นแหวนของประเทศทางตะวันตก เคยพบในแหล่งโบราณคดีในอินเดีย และออกแก้ว ประเทศเวียดนาม เป็นสิ่งที่แสดงถึงการติดต่อระหว่างดินแดนตะวันตกและดินแดนตะวันออก

           ๓) เหรียญโลหะสำริด ด้านหนึ่งรูปวัว อีกด้านหนึ่งรูปเรือ เป็นเหรียญที่ทำขึ้นในอินเดียใต้สมัยปัลลวะ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑

           ๔) ลูกปัดแบบลูกทุ่นทำด้วยตะกั่ว และแร่ประกอบหินสีต่าง ๆ มีแหล่งกำเนิด เป็นแหล่งขุดค้น คือแหล่งโบราณคดีวิรัมปัตตะนัมในปอนดิเชรี ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๕-๖

           พ.ศ. ๒๕๒๓ ธราพงศ์ ศรีสุชาติ นักโบราณคดี กองโบราณคดี กรมศิลปากรและคณะดำเนินการสำรวจและขุดค้นบริเวณแหล่งโบราณคดีควนลูกปัด ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๒๓ เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีควนลูกปัด (ในรายงานทางราชการ “ผลสรุปปฏิบัติงานขุดค้นทางโบราณคดีที่ควนลูกปัด ตำบลคลองท่อมใต้ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่” และเอกสารประกอบนิทรรศการเรื่องควนลูกปัด : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช พ.ศ. ๒๕๒๔) ดังนี้

           ๑) แหล่งโบราณคดีควนลูกปัด เป็นเนินดินมีลักษณะเป็นชุมชนโบราณ ไม่มีคูเมือง หรือกำแพงเมือง แต่มีคลองไหลผ่านกลางชื่อคลองท่อม จุดที่ตั้งชุมชนอยู่ทั้งสองฝั่งคลองท่อม

           ๒) พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า แหล่งโบราณคดีควนลูกปัดเป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตลูกปัดในสมัยโบราณ

           ๓) โบราณวัตถุที่พบมากคือ ลูกปัดแร่ประกอบหิน แก้วหลอม แก้วน้ำเคลือบ ดินเผา ลูกปัดทองคำ ตะกั่ว

           ๔) พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดาและเนื้อดินขาวฉาบแก้วน้ำเคลือบ ส่วนโบราณวัตถุอื่น ๆ ได้แก่ แท่นหินบดยา ลูกกลิ้งหินบด เครื่องประดับสำริด เครื่องมือเหล็กคล้ายตะปูหรือเหล็กสกัด

           ๕) ชั้นวัฒนธรรมในการขุดค้นแสดงถึงการเข้าอยู่อาศัยตั้งถิ่นฐาน ๒ ครั้ง

           พ.ศ. ๒๕๒๔ ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ ภัณฑารักษ์แห่งกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร เสนอบทความเรื่อง “เมืองท่าสำคัญบนแหลมมลายู” (นิตยสารศิลปากร ปีที่ ๒๕ เล่ม ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๔) โดยตั้งข้อสันนิษฐานว่าเมืองคลองท่อมน่าจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเมืองเวียงสระ โดยเป็นท่าเรือหรือประตูทางฝั่งทะเลตะวันตกเพื่อนำทางไปสู่เมืองเวียงสระ พุนพิน ที่ปากแม่น้ำตาปีและเป็นท่าเรือประจำฝั่งทะเลตะวันตกของเมืองตามพรลิงค์ โดยเป็นเมืองรุ่นเดียวกับเมืองท่าตะกั่วป่า (ดู ตะกั่วป่า ชุมชนโบราณ) และอาจถูกกองทัพเรือโจฬะทำลายเมื่อปี พ.ศ. ๑๕๖๘ เช่นเดียวกับเมืองตะกั่วป่าจึงร้างไปในช่วงสมัยนี้

           พ.ศ. ๒๕๒๖ มยุรี วีระประเสริฐ, ปฐมฤกษ์ เกตุทัต อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรและโสมสุดา รัตนิน นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยฮาวาย สหรัฐอเมริกา ดำเนินการขุดค้นแหล่งโบราณคดีควนลูกปัด (ปรากฏรายงานที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ เรื่อง “The 1983 Test Excavation at Khlong Thom : An interim report” by Somsuda Ratnin & Pthomrerk Ketudhat, Pre-rapport de recherches archeologique sur le site Khlong Thom per Mayuri Viraprasert และบทความเรื่อง “แหล่งโบราณคดีที่ควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่” ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑ มกราคม ถึง มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ โดยมยุรี วีระประเสริฐ) กล่าวถึงเรื่องราวของแหล่งโบราณคดีควนลูกปัดไว้ดังนี้

           ๑) โบราณวัตถุที่สำรวจพบและอยู่ในความครอบครองของเอกชนที่สำคัญ ได้แก่

           - จารึกบนแผ่นประทับตราอักษรอินเดียใต้ ภาษาสันสกฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๒

           - ลูกปัดคล้ายลูกปัดอินเดียใต้ เมืองออกแก้ว ประเทศเวียดนาม และอาหรับ

           - แผ่นหินสลัก มีหลุมกลมตรงกลาง สันนิษฐานว่าเป็นที่ใส่เครื่องหอม หรือ แป้งกระแจะ ใช้ในพิธีศาสนา ซึ่งเคยพบที่อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และเมืองออกแก้ว ประเทศเวียดนาม

           - แม่พิมพ์หินใช้ทำเครื่องประดับ เช่น ตุ้มหู คล้ายกับที่พบในแหล่งโบราณคดีอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และเมืองออกแก้ว ประเทศเวียดนาม

           - เหรียญโลหะสำริด รูปวัวและเรือ คล้ายกับที่พบบนแผ่นดินเผาที่นครปฐม

           ๒) สันนิษฐานตามหลักฐานว่า แหล่งโบราณคดีควนลูกปัดมีความสัมพันธ์ติดต่อกับอินเดียภาคใต้ กลุ่มประเทศอาหรับ เมืองโบราณสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในภาคกลางของไทย เมืองออกแก้วในแหลมโคชินไชนา และเป็นแหล่งโบราณคดีที่อยู่ในเส้นทางการคมนาคมระหว่างอินเดียใต้กับเอเชียอาคเนย์

           พ.ศ. ๒๕๓๕ และ พ.ศ.๒๕๓๗ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ นำคณาจารย์และนักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เยี่ยมชมแหล่งโบราณคดีควนลูกปัดและทอดพระเนตรโบราณวัตถุที่ได้จากแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อม ที่จัดตั้งขึ้นโดยพระครูอาทรสังวรกิจ เจ้าอาวาสวัดคลองท่อม

           ระหว่าง พ.ศ.๒๕๓๓-๒๕๓๙ ธราพงศ์ ศรีสุชาติ และอมรา ศรีสุชาติ ได้ตีพิมพ์ผลการวิเคราะห์และเรื่องราวของแหล่งโบราณคดีคลองท่อม/ชุมชนโบราณคลองท่อมในบทความวิชาการต่าง ๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นต้นว่า “ลูกปัดต่างชาติในแหล่งโบราณคดีไทย” “ประเทศไทยกับเส้นทางสายแพรไหมทางทะเล” “Ancient Trader and Cultural Contacts in Southeast Asia, 1996” กล่าวว่า คลองท่อมเป็นเมืองท่าค้าขายรุ่นแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเครือข่ายการค้าทางทะเลของโลกที่สัมพันธ์ติดต่อกับเมืองท่าอริกาเมดุในอินเดีย เมืองท่ามันไตร์ ในศรีลังกา เมืองท่าออกแก้วในเวียดนาม และเมืองท่าสุไหงมาสในมาเลเซีย

            สภาพแวดล้อมและลักษณะชุมชน

           แหล่งโบราณคดีควนลูกปัด ซึ่งเป็นแหล่งของชุมชนโบราณคลองท่อม เป็นเนินดินเชิงเขาที่ต่อมาจากด้านตะวันตกของภูเขาหินปูนลูกโดด (สูงประมาณ ๑๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล) ลูกหนึ่งในบรรดาภูเขาหินปูนลูกโดดกลางพื้นที่ราบใกล้เทือกเขาครอบกระทะ (อยู่ทางทิศใต้) เทือกเขาใหญ่ (อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้) และเทือกเขานอจู๋จี๋ (หรือเขานอจู้จี้อยู่ทางทิศตะวันออก) ซึ่งเป็นเทือกเขาต้นน้ำคลองท่อม โดยคลองท่อมเป็นเส้นน้ำสายยาวประมาณ ๕๐ กิโลเมตร ไหลผ่านพื้นที่ป่าเขาบริเวณเทือกเขาทั้งสาม ผ่านที่ราบและภูเขาหินปูนลูกโดดจนกระทั่งผ่านชายเนินควนลูกปัดด้านทิศใต้ ออกสู่ทะเลอันดามันที่เกาะหลัก (ถ้ำเขาเกาะหลัก) ระยะทางตั้งแต่คลองท่อมไหลผ่านเนินดินควนลูกปัดไปออกสู่ทะเลอันดามัน เป็นระยะทางตรงประมาณ ๑๘ กิโลเมตร และเป็นระยะทางตรงเส้นทางน้ำ ประมาณ ๒๕ กิโลเมตร โดยลำคลองท่อมกว้างประมาณ ๑๐ เมตร

           เนินดินควนลูกปัดเป็นเนินดินราบในระดับความสูง ๘ เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นที่ราบกว้างใหญ่ครึ่งตารางกิโลเมตร โดยด้านตะวันออกเป็นแนวสูงต่อมาจากไหล่เขาที่ความสูง ๑๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล เนินด้านเหนือสิ้นสุดบริเวณที่ราบลาดต่ำสูง ๖ เมตรจากระดับน้ำทะเล (หรือต่ำกว่าที่ราบกว้างใหญ่ตอนบนอยู่ ๒ เมตร) เนินด้านใต้และตะวันตกสิ้นสุดที่พื้นที่ราบริมลำน้ำคลองท่อม ซึ่งอยู่ในระดับ ๔ เมตร จากระดับน้ำทะเล

           บริเวณเนินด้านตะวันออกซึ่งเป็นแนวสูงต่อมาจากไหล่เขานั้นเป็นพื้นที่สวนยางพารา และพื้นที่ปลูกข้าว ตลอดจนการเข้าอยู่อาศัยตั้งบ้านเรือนของเกษตรกรชาวท้องถิ่นผู้ครอบครองพื้นที่บริเวณเนินดินควนลูกปัด เป็นบริเวณที่ยังไม่พบหลักฐานทางโบราณคดี

           บริเวณเนินด้านเหนือบางส่วนเป็นที่ดินของวัดคลองท่อมใต้ สวนยางพาราและสวนผลไม้ และบ้านเรือนของชาวท้องถิ่น เป็นบริเวณที่ยังไม่พบหลักฐานทางโบราณคดี

           บริเวณเนินด้านตะวันตกเป็นที่ตั้งวัดคลองท่อมใต้ และบ้านเรือนของเกษตรกรท้องถิ่น ผู้ครอบครองพื้นที่บริเวณเนินดินควนลูกปัด ตลอดจนสวนผลไม้

           บริเวณเนินด้านทิศใต้เป็นพื้นที่สวนผลไม้และป่าละเมาะ เป็นพื้นที่ดินครอบครองของเกษตรกรท้องถิ่นซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่บนเนินดินควนลูกปัด เป็นบริเวณที่พบหลักฐานทางโบราณคดีมากที่สุด

           บริเวณพื้นที่ราบต่ำชายเนินทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ และทางด้านใต้ ในแนวคลองท่อมและห้วยพลู (ซึ่งเป็นลำห้วยไหลมาลงคลองท่อม) เคยมีผู้พบซากเรือ ๒ ลำ โบราณวัตถุจำนวนมากยังพบในลำคลองท่อม และบริเวณพื้นที่ราบ (สูง ๔ เมตร จากระดับน้ำทะเลในอาณาบริเวณ ๑๐ ไร่) ซึ่งอยู่ระหว่างชายเนินด้านใต้และลำคลองท่อม

           นอกจากนี้แล้ว ยังพบโบราณวัตถุและหลักฐานทางโบราณคดีบริเวณพื้นที่ราบคนละฝั่งคลอง (คลองท่อม) กับเนินดินควนลูกปัด การพบหลักฐานบริเวณพื้นที่ราบนอกเนินดินควนลูกปัดเช่นนี้ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นผลมาจากการพังทลายและทับถมของพื้นที่ริมฝั่ง อันเกิดจากการเปลี่ยนเส้นทางเดินของลำน้ำ (คลองท่อม)

           ดังนั้นการตั้งหลักฐานและเข้าอยู่อาศัยของกลุ่มชนในชุมชนโบราณคลองท่อมจึงมีอยู่เฉพาะบริเวณที่เป็นเนินดินควนลูกปัด โดยระดับความสูงต่ำที่แตกต่างกันของพื้นที่รอบ ๆ และลำน้ำคลองท่อมเป็นเครื่องแสดงลักษณะขอบเขตของชุมชน

เรื่องราวของชุมชนจากหลักฐานทางโบราณคดี

           ชนพื้นเมืองเดิมกับการตั้งถิ่นฐานบนเนิน

           ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีพบชั้นวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นว่า การเข้าอยู่อาศัยหรือตั้งถิ่นฐานบนเนินดินคลองท่อมเริ่มต้นในช่วงสมัยของการเข้าสู่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นช่วงสมัยที่ชนพื้นเมืองเดิมติดต่อรับอารยธรรมจากชุมชนสมัยประวัติศาสตร์ในดินแดนโพ้นทะเล

           อย่างไรก็ตามการพบโบราณวัตถุแบบนิยมของสมัยก่อนประวัติศาสตร์จำนวนไม่น้อย อันได้แก่ขวานหินขัด สิ่วหิน ลูกถือหิน แผ่นหินลับ ตลอดจนความนิยมในการทำเครื่องปั้นดินเผาบางประเภท ตามเทคโนโลยีพื้นฐานในระดับที่ใกล้เคียงกับสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่ปรากฏอยู่ในชั้นวัฒนธรรมของชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นการสืบทอดวัฒนธรรมมาจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์

           กลุ่มชนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบนเนินดินคลองท่อม น่าจะได้แก่ ชนพื้นเมืองเดิมวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ที่เคยอาศัยอยู่ตามพื้นที่ป่าเขา ตามถ้ำบนกลุ่มภูเขาหินปูนลูกโดด ซึ่งกระจายอยู่ทางด้านตะวันออกของเนิน และอาจรวมถึงถ้ำบนเกาะซึ่งอยู่บริเวณปากน้ำคลองท่อมทางด้านทิศตะวันตก เช่น ถ้ำเขาเกาะหลัก ซึ่งเคยพบหลักฐานโบราณวัตถุแบบนิยมก่อนประวัติศาสตร์ หรืออาจเป็นชนก่อนประวัติศาสตร์กลุ่มใหญ่ ซึ่งอาศัยอยู่ตามถ้ำเลยขึ้นไปทางตอนเหนือ ในเขตอำเภอเมืองกระบี่ ซึ่งพบหลักฐานแน่นอนแล้ว เช่น เขาขนาบน้ำ ถ้ำเสือ เพิงหินอ่าวลูกธนู ถ้ำหลังโรงเรียน ชนก่อนประวัติศาสตร์เหล่านี้ได้อพยพหรือเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยจากถ้ำในพื้นที่ป่าเขามาตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่ราบเพื่อดำรงชีพตามแบบชุมชนเกษตรกรรม

           ตามสภาพภูมิประเทศบริเวณคลองท่อม ซึ่งประกอบด้วยที่ราบลุ่มริมฝั่งลำน้ำที่เหมาะต่อการเกษตรกรรมเนินดินสูงบริเวณไหล่เขาซึ่งพ้นจากภัยพิบัติของน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชนพื้นเมืองในชุมชนเกษตรกรรมขยายตัวและพัฒนาชุมชนไปอย่างรวดเร็ว

           ในบรรดาเนินดินลุ่มน้ำคลองท่อม เนินดินควนลูกปัด เป็นเนินดินที่ตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสมต่อการพัฒนาไปสู่ชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ยิ่งกว่าเนินอื่น ๆ กล่าวคือ เป็นเนินดินราบกว้างใหญ่ มีที่ราบทำการกสิกรรมได้ ๓ ด้าน ลำน้ำคลองท่อมไหลผ่านชิดชายเนิน และที่สำคัญคือเป็นเนินดิน ที่อยู่ไม่ห่างจากปากแม้น้ำก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเลอันดามัน จึงเป็นจุดตั้งรับวัฒนธรรมที่มาจากชุมชนโพ้นทะเล

           การติดต่อกับชุมชนโพ้นทะเล

           การพบซากเรือโบราณจมอยู่ภายในลำคลองท่อมใกล้เนินดินควนลูกปัด เป็นหลักฐานสำคัญประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าชนพื้นเมืองบนเนินดินคลองท่อม พัฒนาเข้าสู่ชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์จากการติดต่อกับชุมชนภายนอกที่เข้ามาโดยเส้นทางน้ำ

           กลุ่มชนโพ้นทะเลที่เดินทางเข้ามายังเนินดินคลองท่อม น่าจะเป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมสำริดและมีพัฒนาการทางโลหะกรรมที่ก้าวหน้า โดยนำรูปแบบของสินค้าที่นิยมซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน เช่น เครื่องประดับ ลูกปัด วัตถุโลหะ เข้ามาเป็นแบบอย่างสำหรับการผลิตเป็นอุตสาหกรรมขึ้นใหม่ในบริเวณชุมชนโบราณคลองท่อม ซึ่งอยู่ในภูมิภาคที่อาจเสาะหาวัตถุดิบพื้นเมืองป้อนให้กับอุตสาหกรรมดังกล่าว

           อย่างไรก็ตาม ยังพบหลักฐานว่าวัตถุดิบบางประเภทเป็นสินค้าที่ถูกนำเข้ามา (สินค้าเข้า) จากดินแดนโพ้นทะเลเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องประดับประเภทแก้วและแร่ประกอบหิน ดังเช่นหลักฐานการพบแท่งแก้วหลอมสำเร็จรูปสีต่าง ๆ สำหรับนำมาหลอมใหม่ให้เป็นเครื่องประดับแก้ว แร่ประกอบหินบางชนิดที่มีคุณสมบัติแตกต่างไปจากชนิดพื้นเมือง

           ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีพบการเข้าอยู่อาศัยบนเนินดินควนลูกปัด ๒ ระยะ ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่า ในครั้งแรกชนพื้นเมืองเดิมเข้ามาตั้งถิ่นฐานบนเนินดินอย่างประปราย เป็นช่วงของการเริ่มติดต่อกับชุมชนโพ้นทะเลระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๕-๖ ถึง พุทธศตวรรษที่ ๘ แล้วร้างไประยะหนึ่งต่อมาได้พากันเข้ามาตั้งถิ่นฐานครั้งใหญ่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑ มีการติดต่อกับชุมชนโพ้นทะเลอย่างจริงจัง ประกอบการค้าโดยเป็นสถานีผลิตเครื่องประดับ ลูกปัดเป็นสินค้าออกและซื้อขายแลกเปลี่ยน เป็นชุมชนใหญ่ประหนึ่งเมืองท่าแห่งหนึ่งของฝั่งทะเลอันดามัน ในช่วงระยะนี้เป็นระยะที่พบหลักฐานพัฒนาการสำคัญของชุมชน เช่น มีสิ่งก่อสร้างทำด้วยอิฐ เตาหลอม การผลิตประดิษฐกรรมเลียนแบบคตินิยมของชนต่างชาติ

           การศึกษาโบราณวัตถุที่พบในแหล่งโบราณคดีควนลูกปัดทำให้นักโบราณคดีสันนิษฐานได้ว่าชนต่างชาติที่เข้ามาติดต่อกับชนพื้นเมืองในชุมชนโบราณคลองท่อม ประกอบด้วยชนชาติที่มาจากดินแดนอินเดีย โดยเฉพาะดินแดนแถบอินเดียตอนใต้ (หลักฐาน ได้แก่ ตราประทับหินใช้ตัวอักษรปัลลวะ ลูกปัดแบบลูกทุ่นทำด้วยตะกั่ว) ดินแดนแถบตะวันออกกลาง (หลักฐาน ได้แก่ ลูกปัดแก้วน้ำเคลือบ ภาชนะดินขาวแบบแก้วน้ำเคลือบสีฟ้าและเขียว) และอาจรวมถึงดินแดนแถบเมดิเตอร์เรเนียน (แหวนทองแบบรูปกุญแจโรมัน แผ่นหินจี้แกะลวดลายรูปบุคคลในเทพนิยายและเจ้าหญิงของโรมัน) ซึ่งอาจเข้ามาโดยตรงหรือผ่านทางชนชาติอื่น ชนชาติจีนก็น่าจะเป็นอีกพวกหนึ่งที่เข้ามาติดต่อค้าขายในสมัยแรก ๆ เพราะพบชิ้นส่วนคันฉ่องสมัยราชวงศ์ฮั่นของจีนในแหล่งนี้ด้วย

           อย่างไรก็ตามโบราณวัตถุบางประเภทยังแสดงให้เห็นว่าชุมชนโบราณคลองท่อมคงติดต่อกับชนชาติต่าง ๆ ในดินแดนเอเชียอาคเนย์ที่อยู่ในช่วงสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ที่รับวัฒนธรรมของชุมชนโพ้นทะเล หรือเป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมสำริดที่ก้าวหน้า เช่น ชุมชนบริเวณลุ่มน้ำโขงแถบเมืองออกแก้ว และทรองบัสสัคในประเทศเวียดนาม (วัตถุเครื่องประดับบางประเภทที่คล้ายคลึงกัน) ตลอดจนชุมชนในดินแดนมาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย (โบราณวัตถุสำริดบางประเภท เช่น ตัวกบหน้ากลองมโหระทึก)

           คตินิยมของชุมชน

           ก) การเชื่อมต่อวัฒนธรรมทางวัตถุ ผู้คนในชุมชนโบราณคลองท่อมไม่เพียงแต่นิยมใช้วัตถุที่ทำจากวัตถุดิบต่าง ๆ กันเท่านั้น แต่ยังคงใช้เครื่องมือเครื่องใช้ตามแบบนิยมของชนพื้นเมืองเดิม (อันได้แก่ เครื่องมือเครื่องใช้หินตั้งแต่ขวานหินขัด หินลับ แท่นหินบด ลูกถือหิน) ควบคู่ไปกับเครื่องมือ เครื่องใช้โลหะแก้วที่พัฒนาขึ้นมาจากการติดต่อกับชุมชนโพ้นทะเล

           ดังนั้น จึงคงพบการใช้หินไม่เฉพาะแต่เพียงใช้เป็นแม่พิมพ์ในการหลอมหล่อเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องประดับโลหะ แต่ได้ใช้เครื่องมือโลหะแกะสลักแผ่นหินให้เป็นรูปทรง และลวดลายต่าง ๆ ซึ่งอาจนำมาใช้เป็นตราประทับ สิ่งประดับตกแต่งอาคารสถานที่อีกด้วย

           เครื่องมือเครื่องใช้ในชุมชนโบราณคลองท่อมจึงมีทั้งเครื่องมือเครื่องใช้หิน โลหะ (ได้แก่ สำริด เหล็ก ตะกั่ว) แก้ว ดินเผา ซึ่งทำขึ้นตามความเหมาะสมของประโยชน์ใช้สอยในชุมชน

           ข) การเลียนแบบและสร้างสรรค์ ลักษณะพิเศษของการรับวัฒนธรรมจากชุมชนโพ้นทะเลของผู้คนในชุมชนโบราณคลองท่อม ก็คือ การทำวัตถุเลียนแบบ โดยมิได้เป็นการเลียนแบบให้ตรงตามต้นแบบ หรือคตินิยมดั้งเดิม ในประดิษฐกรรมนั้น ๆ กล่าวคือ ได้ดัดแปลงให้เกิดลักษณะใหม่ ตลอดจนนำมาผสมผสานสร้างสรรค์เป็นประดิษฐกรรมแบบใหม่ ๆ ขึ้น ตัวอย่างในกรณีนี้น่าจะได้แก่ การดัดแปลงรูปแบบของลูกปัดแบบฝังเส้นสีและแต้มลวดลาย จากลายสวัสติกะ ลายกากบาท ลายเส้นรัศมี จนเกิดลูกปัดแบบใหม่ เช่น รูปหน้าตาคนและรอบใบหน้าเป็นเส้นรัศมี การดัดแปลงลูกปัดทรงลูกทุ่นทำด้วยตะกั่วให้มีรูปทรงหลายแบบ และตัดทอนส่วนรายละเอียดบางประการ (เช่น รูปสัญลักษณ์พุทธศาสนา) เป็นต้น

           ค) ลัทธิศาสนา นอกจากสถูปจำลองดินเผา และแผ่นดินเผามีลวดลายของยอดสถูป ซึ่งพบไม่มากนักแล้วยังไม่ปรากฏโบราณวัตถุที่จะแสดงเรื่องราวของการเข้ามาของพุทธศาสนาอย่างชัดเจน

           นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า เนื่องจากเป็นชุมชนพื้นเมืองที่เพิ่งติดต่อกับชุมชนโพ้นทะเลในระยะแรก ๆ ดังนั้นจึงยังไม่พบหลักฐานของการประดิษฐานลัทธิศาสนาใดศาสนาหนึ่งอย่างเด่นชัดขึ้นในชุมชนโบราณแห่งนี้

           อย่างไรก็ตาม ลัทธิความเชื่อบางอย่างน่าจะเข้ามามีบทบาทผสมผสานไปกับคตินิยมพื้นเมือง ดังเช่นการพบตัวกบของกลองมโหระทึกสำริด ซึ่งอาจเกี่ยวพันกับพิธีกรรมในการเกษตรกรรมที่พบได้ทั่วไปแผ่นหินสลักรูปสี่เหลี่ยมมีหลุมกลมเล็ก ๆ คล้ายเบ้า ซึ่งใช้ใส่เครื่องหอมในพิธีกรรมซึ่งอาจเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย เป็นต้น

           ง) ภาษา เนื่องจากชุมชนโบราณคลองท่อม เป็นที่รวมของชนหลายชาติ จึงน่าจะมีผู้คนที่ใช้ภาษาต่าง ๆ กันหลายภาษา แต่ภาษาที่พบหลักฐานซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นภาษาที่นิยมใช้ของคนที่เข้ามาติดต่อกับชุมชนโบราณคลองท่อมน่าจะได้แก่ ภาษาสันสกฤต ภาษาปรากฤต ภาษาทมิฬ อักษรปัลลวะ ซึ่งพบบนวัตถุชิ้นเล็ก ๆ ที่นำเข้ามาจากต่างแดน

           ก่องแก้ว วีระประจักษ์ นักภาษาโบราณ กรมศิลปากร กล่าวว่า แผ่นหินสลัก ๒-๓ แผ่น มีคำจารึกว่า “ทาตวยํ” แปลว่า อนุญาต ซึ่งน่าจะใช้เป็นตราประทับเพื่อกิจการใดกิจการหนึ่ง ซึ่งได้รับสิทธิเพื่อการดำเนินกิจการนั้น ๆ เช่น ถ้าเป็นกิจการส่งสินค้าเข้าออก น่าจะเป็นตราประทับเพื่อการอนุญาตให้นำเข้าออกได้ เป็นต้น วิเคราะห์จากตัวอักษรพบว่าเป็นอักษรที่ใช้กันอยู่ในรัชสมัยของพระเจ้าศิวะสกันทวรมันแห่งประเทศอินเดีย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๒ ศาสตราจารย์สุบบรายาลู แห่งมหาวิทยาลัยทมิฬ รัฐทมิฬนาดู ประเทศอินเดีย ผู้เชี่ยวชาญภาษาทมิฬ ได้วิเคราะห์อักขระจารึกภาษาทมิฬที่ปรากฏบนหินลองเครื่องมือของช่างทอง (touchstone) มีข้อความอ่านได้ว่า “เปรุมปาดัน กัล” แปลว่า “หินของนายเปรมปาดัน” (หรือหินของนายตีนโต) แสดงให้เห็นว่ามีพ่อค้าและนายช่างชาวทมิฬเข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนนี้แล้ว

            อายุสมัยของชุมชน

           บริเวณเนินดินควนลูกปัดในชุมชนโบราณคลองท่อม น่าจะมีกลุ่มชนเข้ามาตั้งถิ่นฐานไม่น้อยไปกว่าพุทธศตวรรษที่ ๕-๖ หรือเป็นเมืองท่าสำคัญ ๒ ช่วงสมัยคือ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๕-๖ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๘ และระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ถึง พุทธศตวรรษที่ ๑๑ (ธราพงศ์ ศรีสุชาติ)

ชื่อคำ : คลองท่อม : ชุมชนโบราณ
หมวดหมู่หลัก : โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และการเมืองการปกครอง
หมวดหมู่ย่อย : ประวัติสถานที่ สิ่งของ และเครื่องมือเครื่องใช้
ชื่อผู้แต่ง : ธราพงศ์ ศรีสุชาติ
เล่มที่ : 2
หน้าที่ : 928