ขี้ยาง

           ขี้ยาง คือเศษยางที่ได้จากยางพารา มี ๓ ชนิด คือ ขี้เส้น ขี้ก้อน (ขี้ยางพรก) และขี้ยางดิน

           ขี้เส้น ได้จากน้ำยางที่แห้งกรังติดรอยกรีด ขี้ชนิดนี้จะมีลักษณะบาง ยาว เวลากรีดยางจะได้ขี้ยางชนิดนี้ติดมากับเปลือกยาง คนกรีดยางจะรวมขี้เส้นจากการกรีดยางเป็นก้อน ๆ ขนาดโตเท่ากำปั้น ก้อนขี้เส้นได้จากการกรีดยาง ชาวสวนจะตากให้แห้งแล้วจำหน่าย แต่บางคนจะใช้ไม้ทุบเปลือกไม้ยางให้หลุดออกจากขี้ยางเสียก่อน เพื่อให้ได้เนื้อยางมากขึ้น ราคาจำหน่ายก็สูงขี้นกว่า “ขี้ติดเปลือก”

           ขี้ก้อน ได้จากน้ำยางที่จับตัวกันเป็นก้อนตอนเก็บน้ำยางจากต้นมาทำยางแผ่น จากเปลือกยางที่กรีดทิ้งเวลาทำยางแผ่นและเศษยางที่หยดอยู่ในจอกรับน้ำยางหลังจากเก็บยางแล้ว (เฉพาะต้นที่น้ำยางไหลยังไม่งวด ชาวสวนจะรองรับน้ำยางไว้) โดยปรกติขี้ยางพวกนี้จะได้มาก้อนเล็กก้อนน้อย ชาวสวนจึงนำมาปั้นรวมเข้าเป็นก้อน ๆ ขนาดเท่าผลมะกรูดจนถึงขนาดผลส้มโอโดยประมาณ ขี้ยางชนิดนี้ราคาดีกว่าขี้เส้น เพราะมีเนื้อยางมากกว่า

           ขี้ยางดิน ได้จากน้ำยางที่หยดลงดินวันละเล็กละน้อย สะสมกันนาน ๆ ก็เป็นแผ่นหรือก้อนโตขึ้น ชาวสวนจะใช้มีดหรือไม้ขุดจากดินนำมาล้าง ตากแดดให้แห้งแล้วนำมาจำหน่าย ถ้าจะให้ได้ราคาดีขึ้นก็นำมารวมเข้าเป็นก้อน แล้วแช่ลงในน้ำยางสดอีกทีหนึ่ง ขี้ยางชนิดนี้ราคาจะต่ำที่สุด

           ขี้ยางนอกจากใช้จำหน่ายแล้ว ชาวสวนยังใช้เป็นวัสดุสำหรับจุดเป็นเชื้อไฟได้อีกด้วย และเนื่องจากขี้ยางเป็นเศษยางราคาต่ำกว่ายางแผ่นมาก ชาวสวนจึงนำมาสร้างเป็นสำนวนเปรียบเทียบกับคนที่อยู่ในฐานะด้อยกว่าผู้อื่นหรือเป็นคนไม่ค่อยมีน้ำยาว่า “อ้ายขี้ยาง” (อุดม หนูทอง)

ดูเพิ่มเติม  ยางพารา

ชื่อคำ : ขี้ยาง
หมวดหมู่หลัก : เศรษฐกิจ และวิทยาการ
หมวดหมู่ย่อย : เกษตรกรรม การเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ การชลประทาน
ชื่อผู้แต่ง : อุดม หนูทอง
เล่มที่ : 2
หน้าที่ : 736