เฆี่ยนพราย

          เฆี่ยนพราย เป็นการรำประกอบพิธีไสยศาสตร์ของโนรา รำเฉพาะโอกาสที่มีการแข่งขันกับโนราคณะอื่นเท่านั้น เป็นทำนองตัดไม้ข่มนามโนราฝ่ายตรงข้าม และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่โนราในคณะของตน 

          การแข่งขันโนราในสมัยก่อน โนราแต่ละฝ่ายจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้ามให้ได้ นอกจากจะเอาชนะกันด้วยความสามารถในการแสดงแล้ว มีทางอื่นที่จะช่วยให้ชนะได้ก็จะทำ โดยเฉพาะการใช้ไสยศาสตร์ การรำเฆี่ยนพรายนับเป็นส่วนหนึ่งของพิธีไสยศาสตร์ ผู้รำคือหัวหน้าคณะที่เรียกกันว่า “โนราใหญ่” ขณะรำจะมีหมอไสยศาสตร์ที่เรียกว่า “หมอกบโรง” ทำพิธีไปพร้อม ๆ กัน การรำจะเริ่มขึ้นเมื่อกรรมการให้สัญญาณโนราใหญ่ออกรำ ซึ่งส่วนมากจะใช้วิธีตีโพน (กลองเพล) ทันทีที่สัญญาณดังขึ้น ดนตรีโนราจะทำเพลงเชิด หมอกบโรงถือหม้อน้ำมนต์ไม้หวายเฆี่ยนพราย มะนาว ๓ ผล และใบตองหรือกระดาษเดินนำหน้าโนราใหญ่ออกมาถึงกลางโรง หมอนั่งลงบริกรรมคาถาลงอักขระที่ไม้หวายเฆี่ยนพราย เอายอดใบตอง (ที่นิยมคือใบตองกล้วยตานี) หรือไม่ก็กระดาษมาเขียนชื่อโนราใหญ่ที่เป็นคู่แข่งลงยันต์ม้วนให้กลมหักหัวท้ายแล้วใช้ด้ายผูกมัดอย่างตราสัง สมมติเป็นตัวของโนราคู่แข่งวางรูปนั้นลงบนพื้นโรง ขณะที่หมอทำพิธีอยู่นั้น โนราใหญ่รำท่าเพลงโค (ดู เพลงโค) ซึ่งมีลีลาสง่างาม มีอำนาจและเคร่งขรึม รำไปสักครู่ หมอจะวางไม้หวายเฆี่ยนพรายลงกลางโรง โนราใหญ่แอ่นหลังจนศีรษะจรดพื้นเอาปากคาบไม้หวายนั้น ได้แล้วก็รำเวียนรูปนั้นไปรอบ ๆ รำชี้มือไปยังโนราโรงฝ่ายตรงกันข้ามเรียกจิตวิญญาณให้มาสิงที่รูป ชี้รูปแล้วใช้ไม้หวายเฆี่ยนรูปนั้น พร้อมกระทืบเท้ารำต่อไปอีกเฆี่ยนรูปและกระทืบเท้าอีก ทำเช่นนี้จนครบ ๓ ครั้ง สมมติว่าโนราฝ่ายตรงข้ามตาย โนราพร้อมลูกคู่ก็ยืนล้อมรูปที่เฆี่ยนด้วยอาการสำรวมแล้วกล่าวบทอนิจจัง จากนั้นหมอจะรับไม้หวายเฆี่ยนพรายไว้ โนราใหญ่จะรำเหยียบลูกมะนาวต่อกันไปเลย โดยหมอสมมติมะนาวเป็นหัวใจของโนราฝ่ายตรงกันข้าม ภาวนาคาถาเรียกวิญญาณโนราฝ่ายตรงข้ามให้สิงอยู่กับมะนาวนั้นนำมะนาวทีละผลมาหมุนกลางโรงให้โนราใหญ่เหยียบ โนราใหญ่จะรำและหาจังหวะเหยียบมะนาวนั้นให้แตก ทำเช่นนี้จนเหยียบมะนาวสิ้นทั้ง ๓ ผล การเหยียบต้องระวังมาก เชื่อว่าถ้าเหยียบพลาดหรือเหยียบไม่แตก การแข่งขันโนราครั้งนั้นจะเอาชนะโนราฝ่ายตรงข้ามได้ยาก แต่การเหยียบลูกมะนาวนี้ โนราบางคนจะเหยียบเพียง ๒ ผลเท่านั้น อีกผลหนึ่งจะขว้างไปยังโรงโนราฝ่ายตรงข้าม ก่อนขว้างจะรำชี้นำไปก่อนโนราชี้ไปทางไหน คนดูจะแยกออกเป็นแนวโล่งตลอดไม่กล้าอยู่ขวางทางที่โนราชี้เพราะเกรงจะถูกอาคม เมื่อเหยียบลูกมะนาวเสร็จก็รำไปนั่งพักที่นัก (ที่กลางโรงโนราทำด้วยไม้ไผ่) เป็นอันเสร็จการรำเฆี่ยนพราย จากนั้นจะเป็นการรำชุดอื่น ๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับพิธีไสยศาสตร์แต่อย่างใด

สมัยก่อนเมื่อมีการแข่งโนราจะต้องรำเฆี่ยนพรายเสมอ เพราะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่โนราในคณะ บางครั้งเล่ากันว่าการเฆี่ยนพรายให้ผลทันตาเห็น เช่น พอเฆี่ยนเสร็จหรือเหยียบลูกมะนาวเสร็จ โนราฝ่ายตรงข้ามก็มีอันเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งจนไม่สามารถรำได้ การรำเฆี่ยนพรายจึงเป็นเรื่องที่ขลังและน่ากลัว อย่างไรก็ตามสมัยหลัง ๆ ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ได้เสื่อมคลายลง การแข่งโนราก็ ไม่ถือเป็นเรื่องจริงจังหรือเอาแพ้เอาชนะกันจนถึงขั้น “แพ้ไม่ได้” อย่างสมัยก่อน การรำเฆี่ยนพรายจึง รำกันน้อยลงเรื่อย ๆ จนปัจจุบัน โนรารุ่นใหม่น้อยคนนักที่จะรำเฆี่ยนพรายได้ ทั้ง ๆ ที่การรำชุดนี้ งามสง่ามาก (อุดม หนูทอง) 

 

ชื่อคำ : เฆี่ยนพราย
หมวดหมู่หลัก : ศาสนา และความเชื่อ
หมวดหมู่ย่อย : ไสยศาสตร์ เวทมนต์ คาถาอาคม
ชื่อผู้แต่ง : อุดม หนูทอง
เล่มที่ : ๓
หน้าที่ : ๑๓๓๐