โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา เป็นสถานศึกษาที่เก่าแก่และสำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา จัดตั้งมาแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ในสมัยที่ประเทศไทยยังแบ่งเขตการปกครองเป็นมณฑลต่าง ๆ ต่อมา โรงเรียนได้พัฒนามาเป็นลำดับจนเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งในปัจจุบันนี้ ปัจจุบันสังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาทั้งตอนต้นและตอนปลาย ตั้งอยู่ที่ ๑๒๕ ถนนพิพิธภักดี ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา ที่ดินของโรงเรียนมี ๓ แปลงคือ แปลงที่ ๑ เลขทะเบียนที่ ๑๑๑๗๔ มีเนื้อที่ ๓๙ ไร่ ๑ งาน ใช้เป็นเขตการเรียนการสอนและบ้านพักครู แปลงที่ ๒ เลขทะเบียนที่ ๑๑๑๗๔ มีเนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๑ งาน ใช้เป็นที่ฝึกงานเกษตรกรรมและบ้านพักครูและแปลงที่ ๓ เลขทะเบียนที่ ๑๘๖๘๒ มีเนื้อที่ ๒ ไร่ ใช้เป็นเขตบ้านพักครู รวมเนื้อที่ของโรงเรียนทั้งสิ้น ๕๒ ไร่ ๒ งาน
ในหนังสือ ๗๕ ปี คณะราษฎร์ ซึ่งเป็นหนังสือที่ระลึกในโอกาสที่โรงเรียนนี้มีอายุครบรอบ ๗๕ ปี ใน พ.ศ.๒๕๒๗ ธีรชัย สืบประดิษฐ์ (ผู้อำนวยการโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา พ.ศ. ๒๕๒๔-๒๕๒๗) ได้กล่าวถึงประวัติโรงเรียนได้ตอนหนึ่งว่า
“โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง จังหวัดยะลา เป็นโรงเรียนแรกของจังหวัดยะลา จัดตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ ในสมัยนั้นการปกครองประเทศไทยยังจัดแบ่งเขตการปกครองเป็นมณฑลอยู่ และเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้ขยายการศึกษามาสู่หัวเมืองเพื่อให้อาณาประชาราษฎร์ ได้รับการศึกษามากขึ้น ได้โปรดพระราชทานจัดตั้งโรงเรียนเบญจมราชูทิศขึ้นที่มณฑลปัตตานีเป็นแห่งแรกในเขตภูมิภาคนี้ ในสมัยพระยาเดชานุชิตฯ เป็นสมุหเทศาภิบาล และพระยาพิบูลย์พิทยาพรรค (ทอง คุปตาสา) เป็นธรรมการมณฑล ได้มอบหมายให้รองอำมาตย์ตรีสุด สุขะหุต มาตรวจการเกี่ยวกับการศึกษาจังหวัดยะลา สมัยนั้นพระยาอาณาจักรบริมาส (อ้น) เป็นข้าหลวงประจำจังหวัด เมื่อตรวจทั่วทั้งจังหวัดแล้ว ได้เสนอรายงานต่อท่านข้าหลวงและธรรมการมณฑลทราบพร้อมด้วยข้อเสนอแนะและความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงเรียนในจังหวัดยะลา ทางมณฑลได้มีตราสั่งให้ข้าหลวงได้ปฏิบัติและดำเนินการตามข้อเสนอแนะของรองอำมาตย์ตรีสุดสุขะหุต ต่อมาข้าหลวงประจำจังหวัดยะลาได้รายงานไปยังมณฑลขอตัวรองอำมาตย์ตรีสุด สุขะหุต มาช่วยจัดการศึกษาในจังหวัดยะลาต่อไป ทางมณฑลก็ให้ไปตามความประสงค์
ในการจัดตั้งโรงเรียนครั้งแรกนั้นได้ขอความร่วมมือจากปลัดจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและราษฎรปรับพื้นที่ยกเป็นโรงเรียนหลังคามุงจากขึ้นชั่วคราวที่ตำบลบ้านตะลีมุดซึ่งอยู่ตรงข้ามคนละฝั่งแม่น้ำกับศาลากลางจังหวัด และชักชวนบุตรหลานข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนเข้าเรียน โดยมีรองอำมาตย์ตรีสุด สุขะหุต เป็นครูใหญ่คนแรก จึงมีโรงเรียนในจังหวัดยะลา ขึ้นโรงแรกในปลายปี พ.ศ. ๒๔๔๒ เรียกกันว่า “โรงเรียนจังหวัดยะลา” เปิดสอนชั้นประถมปีที่ ๑ แล้วปีต่อมาขยายเพิ่มขึ้นถึงชั้นประถมปีที่ ๓”
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ พระพิพิธภักดี (เพิ่ม เดชะคุปต์) ข้าหลวงประจำจังหวัดยะลาได้ปรึกษาหารือกับพระยาณรงค์ฤทธิ์ศรีประเทศวิเศษวังสา เจ้าเมืองยะลาคนเก่า ถึงเรื่องการสร้างอาคารเรียนใหม่ของโรงเรียนนี้ให้ถาวรต่อไป ในที่สุดได้จัดตั้งโรงเลื่อยขึ้นเลื่อยไม้สร้างโรงเรียนใหม่จนเสร็จเรียบร้อยที่ตลาดสะเตง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากศาลากลางจังหวัดเท่าใดนัก ให้ชื่อโรงเรียนเป็นเกียรติแก่พระยาณรงค์ฤทธิ์ฯ ว่า “โรงเรียนณรงค์ฤทธิ์ยะลาราษฎร์บำรุง” และได้ย้ายนักเรียนมาเรียนที่โรงเรียนแห่งใหม่นี้ใน พ.ศ. ๒๔๕๕ มีนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๑ ถึงมัธยมปีที่ ๓ มีจำนวนนักเรียนประมาณ ๔๐ คนเศษ มีครู ๖ คน รองอำมาตย์ตรีสุด สุขะหุต ยังคงเป็นครูใหญ่ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ นายเจริญ วัชรวิทย์ เป็นครูใหญ่แทนและต่อมาในปีเดียวกันนี้ นายช้อย รัตนดากุล เป็นครูใหญ่สืบต่อมา (พ.ศ. ๒๔๕๖-๒๔๗๔) หลังจากย้ายโรงเรียนมาเปิด ณ สถานที่ใหม่นี้แล้วกิจการของโรงเรียนก็ได้เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับถึงปี พ.ศ.๒๔๗๙ สมัยที่นายถ่อง แก้วนิตย์ เป็นครูใหญ่ (พ.ศ. ๒๔๗๙-๒๔๘๔) โรงเรียนมีนักเรียน ๘ ชั้น เป็นชั้นประถม ๔ ชั้น และชั้นมัธยม ๔ ชั้น จำนวนนักเรียนก็มีมากขึ้น สถานที่เรียนเดิมจึงคับแคบไป ความจำเป็นที่จะต้องหาที่ใหม่เพื่อรับการขยายตัวของโรงเรียนก็มีมากขึ้นด้วย
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ โรงเรียนจึงได้รับงบประมาณแผ่นดิน เป็นเงิน ๖,๐๐๐ บาท และได้รับเงินสมทบจาก “สมาคมคณะราษฎร์ จังหวัดยะลา” อีกจำนวน ๒,๐๐๐ บาท ได้มาสร้างโรงเรียนใหม่ในที่ราชพัสดุเลขที่ทะเบียน ๑๑๑๗๔ มีเนื้อที่ ๓๙ ไร่ ๑ งาน ซึ่งอยู่ที่หมู่บ้านนิบง ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา (คือบริเวณที่ตั้งโรงเรียนคณะราษฎรบำรุงในปัจจุบันนี้) โดยสร้างเป็นอาคารไม้สองชั้นขนาด ๖ ห้องเรียน มีมุขสองมุข ซึ่งมีขนาดพอจะปรับใช้เป็นห้องเรียนได้อีก ๒ ห้อง (อาคาร ๑ ในปัจจุบัน) สิ้นเงินค่าก่อสร้าง ๘,๐๐๐ บาท เมื่อสร้างเสร็จได้ย้ายนักเรียนมาเรียนที่โรงเรียนนี้โดยทำพิธีเปิดเรียนเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐ และได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเสียใหม่ว่า “โรงเรียนยะลาคณะราษฎรบำรุง” โดยมีนายถ่อง แก้วนิตย์ เป็นครูใหญ่อยู่เช่นเดิม ในปีที่ย้ายนักเรียนมานั้นมีนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๑ ถึงมัธยมปีที่ ๔ และมีนักเรียนชั้นประถมปีที่ ๔ จากโรงเรียนเดิมย้ายมาด้วย มีนักเรียนชายหญิงจำนวน ๒๓๖ คน มีครู ๑๐ คน ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ นักเรียนชั้นประถมปีที่ ๔ ของโรงเรียนนี้จึงหมดไปโรงเรียนนี้จึงไม่มีชั้นประถมศึกษาอีก คงมีแต่ชั้นมัธยมปีที่ ๑ ถึงมัธยมปีที่ ๔ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ โรงเรียนได้ขยายชั้นเรียนสูงขึ้นคือเปิดถึงชั้นมัธยมปีที่ ๕ และในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เปิดถึงชั้นมัธยมปีที่ ๖ ทั้งนี้โดยเปิดรับทั้งนักเรียนชายและหญิง
ต่อมาเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕ ทางราชการได้แยกนักเรียนหญิงชั้นมัธยมต้นไปเรียนในสถานใหม่ คือโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดยะลา (ดู สตรียะลา, โรงเรียน) ส่วนนักเรียนหญิงในชั้นมัธยมปลายยังคงเรียนอยู่ในโรงเรียนนี้ต่อไป
หลังจากนายรุก นาคะวิโรจน์ เข้ารับตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนนี้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ แล้ว ได้พิจารณาเห็นว่ากิจการของโรงเรียนได้ก้าวหน้าขึ้นและมีนักเรียนสนใจสมัครเข้าเรียนมากขึ้น จึงได้เริ่มขยายห้องเรียนโดยเริ่มขยายการรับในชั้นมัธยมปีที่ ๑ เป็น ๒ ห้อง ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ นายรุก นาคะวิโรจน์ย้ายไปที่อื่น นายธวัช รัตนาภิชาติ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทน ได้รับช่วงการขยายห้องเรียนชั้นมัธยมต้นไว้แล้ว เมื่อขยายห้องเรียนเพิ่มขึ้นเช่นนี้ทำให้มีนักเรียนเพิ่มขึ้น ในสมัยนี้จึงได้ต่อเติมอาคารเรียนที่สร้างไว้แต่เดิม (อาคาร ๑) จากเดิม ๖ ห้องเรียน ๒ ห้องมุข เป็นอาคารเต็มรูป ๑๒ ห้องเรียน ๔ ห้องมุข ดังที่เห็นอยู่ปัจจุบันนี้ และได้สร้างบ้านพักครูใหญ่ ๑ หลัง เป็นบ้านพักหลังแรกของโรงเรียนนี้ด้วย
ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๖ กรมวิสามัญศึกษาขณะนั้น (ปัจจุบันเป็นกรมสามัญศึกษา) ได้ปรับปรุงชื่อโรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศให้เหมาะสม โรงเรียนนี้จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา” แต่นั้นเป็นต้นมา
ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ โรงเรียนได้รับงบประมาณพิเศษสร้างอาคารเรียน ๑ หลัง เพื่อรับการขยายตัวของจำนวนนักเรียนซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาคารเรียนหลังนี้เป็นอาคารไม้ ๒ ชั้น ชั้นบนเป็นห้องเรียน ชั้นล่างเป็นห้องประชุม และต่อมาได้กั้นชั้นล่างทำเป็นห้องเรียนด้วย (คืออาคาร ๒ ในปัจจุบันนี้) และในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ด้วยความร่วมมือของผู้ปกครองนักเรียนจึงได้สร้างอาคารชั่วคราวขึ้น ๑ หลัง ขนาด ๔ ห้องเรียน แต่เงินไม่พอจึงสร้างได้แต่เพียงพื้นกับหลังคา และได้ทำเพิ่มเติมในโอกาสต่อมา ปัจจุบันใช้เป็นอาคารคหกรรม
ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ นี้เอง กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินงานตามโครงการพัฒนาการศึกษา (ค.พ.ศ.) โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา เป็นโรงเรียนหนึ่งที่ได้เข้าอยู่ในโครงการนี้ ผลของการอยู่ในโครงการนี้ทำให้โรงเรียนสามารถพัฒนาด้านต่าง ๆ ไปรวดเร็วมาก ทั้งด้านอาคารสถานที่ เครื่องไม้เครื่องมือและอุปกรณ์การสอน
ในปีการศึกษา ๒๕๐๒ โรงเรียนได้ขยายชั้นเรียนเพิ่มเติมจากเดิมที่เปิดสอนชั้นมัธยมปีที่ ๑ ถึงมัธยมปีที่ ๖ โดยเปิดชั้นมัธยมปีที่ ๗ เป็นปีแรก
ปีการศึกษา ๒๕๐๓ โรงเรียนได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียนเพิ่มขึ้นอีก ๑ หลัง เป็นอาคารไม้ ๒ ชั้น ขนาด ๖ ห้องเรียน และสร้างบ้านพักครู ๑ หลัง แต่อาคารเรียนสร้างไม่เสร็จเนื่องจากงบประมาณมีจำกัด เพิ่งมาสร้างเสร็จในปีถัดมาคือปี พ.ศ. ๒๕๐๔ (คือ อาคาร ๓ ในปัจจุบัน) นอกจากนั้นแล้วได้มีการปรับปรุงบริเวณและอาคารสถานที่ให้สวยงามเหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์อยู่ตลอดเวลา เช่น ในปีการศึกษา พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้ปรับปรุงพื้นที่บริเวณหน้าอาคาร ๓ ซึ่งเป็นร่องน้ำและที่ลุ่มให้เป็นสนามเล็ก ๆ พร้อมกับขุดสระน้ำหน้าอาคาร ๒ และตกแต่งให้สวยงามเพื่อนักเรียนใช้เป็นที่ฝึกว่ายน้ำได้ ในปีการศึกษา ๒๕๐๕ ได้ปรับปรุงใต้ถุนอาคาร ๒ ซึ่งเดิมใช้เป็นห้องประชุม ดัดแปลงใหม่เป็นโรงฝึกงาน ต่อมาย้ายโรงฝึกงานไปอยู่อาคาร ๓ จึงปรับโรงฝึกงานใต้ถุนอาคาร ๒ เป็นห้องวิทยาศาสตร์และห้องสมุด นอกนั้นได้ปรับปรุงบริเวณสนามฝึกซ้อมกีฬาตลอดจนปรับปรุงและปลูกต้นไม้ตกแต่งบริเวณทั่วไปด้วย
ทางด้านวิชาการ โครงการพัฒนาการศึกษา (ค.พ.ศ.) ก็ให้ความช่วยเหลือด้วยดี เช่น ให้ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์การเรียนการสอนในวิชาช่างฝีมือ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ดนตรี ห้องสมุด เป็นต้น และได้จัดให้มีการอบรมครูในสาขาวิชาการต่าง ๆ เพื่อมาปรับปรุงการเรียนการสอนและให้อุปกรณ์ให้เกิด ประโยชน์ต่อการเรียนการสอนให้มากที่สุด
จากการดำเนินงานการศึกษาของโรงเรียนตามโครงการพัฒนาการศึกษา (ค.พ.ศ.) ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๑ เป็นต้นมา จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๙ ทำให้โรงเรียนมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นอันมากได้สร้างความพอใจและศรัทธาให้แก่ประชาชนมากขึ้น จึงส่งลูกหลานเข้ามาเรียนในโรงเรียนนี้มากขึ้น ทำให้โรงเรียนต้องขยายห้องเรียนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทางกรมและกระทรวงเองก็พอใจและให้ความสนใจโรงเรียนนี้มากขึ้นด้วย ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบายจัดโครงการศึกษาแนวใหม่ชื่อว่า “โครงการโรงเรียนมัธยมแบบประสมแบบที่ ๑” (คมส.๑) โดยคัดเลือกโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศเข้าอยู่ในโครงการนี้เพียง ๒๐ โรง และแบ่งโรงเรียนทั้ง ๒๐ โรง ออกเป็น ๓ รุ่น ดำเนินการในปีการศึกษา ๒๕๑๐, ๒๕๑๑ และ ๒๕๑๒ ตามลำดับ “โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา” ก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนหนึ่งที่เข้าอยู่ในโครงการนี้รุ่นที่ ๒ ซึ่งจะดำเนินตามโครงการในปีการศึกษา ๒๕๑๑ ดังนั้นในปีการศึกษา ๒๕๑๐ กรมสามัญศึกษาขณะนั้นจึงส่งผู้บริหารโรงเรียนผู้ช่วยผู้บริหารฝ่ายวิชาการ หัวหน้าฝ่ายแนะแนว และหัวหน้าหมวดวิชาอุตสาหกรรมไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการดำเนินงานตามหลักสูตร คมส. ณ ประเทศแคนาดา เพื่อกลับมาดำเนินการตามโครงการนี้ในโรงเรียน โรงเรียนนี้จึงได้เริ่มใช้หลักสูตรมัธยมแบบประสมแบบ ๑ (คมส.๑) ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ในปีการศึกษา ๒๕๑๑ เป็นต้นไป ส่วนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ และปีที่ ๓ เปิดสอนในปีการศึกษา ๒๕๑๒ และ ๒๕๑๓ ตามลำดับ ตอนเริ่มโครงการนั้นคงใช้อาคารเพิ่มขึ้นเป็นลำดับมาคือในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ สร้างอาคารวิทยาศาสตร์และโรงฝึกงาน ๓ หลัง ปี พ.ศ.๒๕๑๕ สร้างอาคาร ๙ หอประชุมและอาคารเกษตร พ.ศ. ๒๕๒๒ สร้างอาคาร ๑๑ ในด้านอุปกรณ์การสอน ทางกรมวิสามัญขณะนั้นก็ได้ทยอยส่งมาให้เรื่อย ๆ จนครบถ้วน จนสามารถดำเนินงานตามโครงการได้ดี
จากการที่โรงเรียนเข้าอยู่ในโครงการมัธยมแบบประสมแบบ ๑ ทำให้โรงเรียนมีความพร้อมขึ้นมาก จำนวนนักเรียนก็มากขึ้นตามลำดับ ทำให้ต้องมีอาคารต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจนบริเวณคับแคบ ทางโรงเรียนจึงได้ไปขอที่ราชพัสดุแปลงที่ ๒ เลขทะเบียนที่ ๑๑๑๗๔ ซึ่งมีเนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๑ งาน เป็นที่ทำแปลงเกษตรของนักเรียน และสร้างบ้านพักครู
ถึงปี พ.ศ.๒๕๑๙ โรงเรียนได้เปิดรับนักเรียนหญิงเข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ด้วยเป็นปีแรก จึงเป็นโรงเรียนสหศึกษาแต่นั้นมา
หลังจากกระทรวงศึกษาธิการได้เปลี่ยนหลักสูตรชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในปีการศึกษา ๒๕๑๘ แล้ว ได้กำหนดให้โรงเรียนที่จัดการศึกษาในระดับนี้ใช้หลักสูตรนี้ และได้มีการจัดตั้งกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้น เพื่อให้โรงเรียนภายในกลุ่มได้ช่วยเหลือกันทางด้านวิชาการ เนื่องจากโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา มีความพร้อมในด้านวิชาการมากกว่าโรงเรียนอื่น ๆ ในเขตการศึกษา ๒ ผู้บริหารของโรงเรียนนี้จึงได้รับเลือกเป็นประธานกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย เขตการศึกษา ๒ และมีสำนักงานกลุ่มตั้งอยู่ที่โรงเรียนนี้
นอกจากนั้นแล้วโรงเรียนนี้ยังได้รับการแต่งตั้งจากกรมสามัญศึกษาให้เป็นโรงเรียนพี่เลี้ยงของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอีกด้วย ในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๑๙ และได้สร้างบ้านพักครูให้เพิ่มขึ้นในที่ดินราชพัสดุเลขที่ ๑๘๖๘๒ ซึ่งมีเนื้อที่ ๒ ไร่ เพื่อให้ครูที่ไปช่วยสอนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาได้พัก เมื่อเลิกโครงการโรงเรียนพี่เลี้ยงนี้แล้ว บ้านพักดังกล่าวจึงเป็นของโรงเรียนนี้ นับเป็นที่ดินแปลงที่ ๓ ของโรงเรียน ปัจจุบันใช้เป็นที่สร้างบ้านพักครูของโรงเรียน
ต่อมากระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช ๒๕๒๑ (หลักสูตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน) โรงเรียนนี้จึงเลิกใช้หลักสูตร คมส.๑ แต่ปีนี้หันมาจัดการศึกษาตามหลักสูตรใหม่ โครงการมัธยมแบบประสมแบบ ๑ ของโรงเรียนก็ยุติไปเมื่อนักเรียนตามหลักสูตรนั้น จบไป โรงเรียนได้จัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพเรื่อยมาจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป เคยได้รับพระราชทานรางวัลดีเด่นมาแล้ว ๓ ครั้ง คือในปี พ.ศ.๒๕๒๒ ปี พ.ศ.๒๕๒๓ และปี พ.ศ.๒๕๒๕ ในระดับโรงเรียนขนาดใหญ่ในเขตการศึกษา ๒
จนถึง พ.ศ.๒๕๓๙ โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา มีครู-อาจารย์ ๑๙๓ คน นักเรียน ๓,๑๙๘ คน อาคารฝึกงาน ๖ หลัง และอาคารศูนย์กีฬากรมสามัญศึกษา ๑ หลัง และโรงเรียนเป็นศูนย์บริการการศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หน่วยแนะแนวประจำจังหวัดของกรมวิชาการศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ จังหวัดยะลา กรมสามัญศึกษา ศูนย์กีฬากรมสามัญศึกษา ศูนย์นวัตกรรมนิเทศทางไกล กรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา ๒ และศูนย์คอมพิวเตอร์ (พรศักดิ์ พรหมแก้ว)