กก : พืช

             กก เป็นชื่อพรรณไม้เกิดในน้ำหรือที่ชุ่มแฉะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินที่มีความเค็มปนเล็กน้อย แต่ไม่ขึ้นในน้ำเค็ม ที่พบมากในภาคใต้ คือ (๑) กกสานเสื่อ บางถิ่นเรียกว่า แจด บางถิ่นเรียกว่า หญ้าหัวโม่ง บางถิ่นเรียกว่า กกดอกขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Cyperus brevifolius Hassk. ลักษณะลำต้นกลม (๒) กกปรือ หรือ กกสามเหลี่ยม ชื่อวิทยาศาสตร์ Scripus grossus Linn. ลำต้นเป็นสามเหลี่ยม กกทั้ง ๒ ชนิดนี้ อยู่ในวงศ์ CYPERACEAE

             กกสานเสื่อภาคใต้นิยมใช้สานเสื่อ หรือกระสอบ โดยเลือกถอนหรือตัดเอาต้นหนุ่ม ๆ (ไม่แก่เกินไป) ซึ่งมีอายุราว ๓-๕ เดือน ก่อนที่จะออกดอก (ถ้าเกินจากนั้นต้นจะแก่ กรอบหักง่าย) มาทั้งต้น ตัดโคนและปลายทิ้ง ตากแดดประมาณ ๑-๒ วัน แล้วใช้สากตำให้แบนก่อนสาน การสานทำในลักษณะเดียวกับกระจูด แต่คุณภาพด้อยกว่ากระจูด

             กกสามเหลี่ยมจะเลือกถอนเฉพาะต้นหนุ่ม ๆ เช่นกัน นำมาตัดโคนและปลายทิ้ง แล้วตากแดด แล้วจึงนำมาผ่าเอาไส้ทิ้ง ต้นหนึ่ง ๆ ผ่าได้ ๓ เส้น ใช้สานเสื่อหรือกระสอบ

             สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ กระสอบป่านขาดแคลน จึงต้องหันมาใช้กระสอบกกแทนกระสอบป่าน ผู้รับซื้อต้องการให้ได้ขนาดเดียวกัน จึงทำไม้วัดขึ้นให้มีความยาว ๙๐ เซนติเมตร เพื่อทาบวัดขนาดของกระสอบที่จะซื้อ ใครสานความกว้างไม่ได้ขนาดจะไม่ยอมรับซื้อ ชาวบ้านจึงเรียกกระสอบดังกล่าวว่า “สอบหนาด” (หนาด คือ ขนาด) “สอบหนาด” ในช่วงนั้นขายดีมาก พวกที่สามารถหาต้นกกได้สะดวกจึงนิยมสานสอบหนาดขายกันอย่างแพร่หลาย กระสอบเหล่านี้นำไปใช้ใส่ข้าวเปลือกและใส่ของอื่น ๆ แทนกระสอบป่าน แต่ความเหนียวน้อยกว่า ดังนั้นถ้าใส่ของเต็มจะขาดง่ายต้องใช้วิธียก ๒ คน จึงต้องทำส่วนที่เม้มประกบริมให้มีปลายตอกเหลือค้างไว้สำหรับจับยก

             ประโยชน์ของกระสอบกกอีกอย่างหนึ่ง คือใช้ใส่น้ำแข็งจากโรงน้ำแข็งส่งลูกค้า กระสอบใบหนึ่งใส่น้ำแข็งก้อนใหญ่ได้ ๑ ก้อนเต็มพอหลวม ๆ แล้วใช้แกลบหรือขี้เลื่อยอัดล้อมรอบเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำแข็งละลาย โดยวิธีนี้สามารถรักษาน้ำแข็งไว้ได้นานถึง ๑๕-๒๐ ชั่วโมง โรงน้ำแข็งจึงเป็นแหล่งรับซื้อกระสอบกกที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง

             ชาวทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง นิยมใช้กระสอบกกใส่กะปิที่ทำจากปลา และชาวนาเกลือ จังหวัดปัตตานี นิยมใช้กระสอบกกใส่เกลือ


ชื่อคำ : กก : พืช
หมวดหมู่หลัก : ธรรมชาติ ชีวิต และสิ่งแวดล้อม
หมวดหมู่ย่อย : พืช พืชสมุนไพร
ชื่อผู้แต่ง : สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์
เล่มที่ : ๑
หน้าที่ : ๑