กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เป็นกวีและนักเขียนชาวอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ จากรวมเรื่องสั้นชุด “แผ่นดินอื่น” กนกพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ ๙ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๙ ที่บ้านจันนา อำเภอควนขนุน จังหวัด พัทลุง เป็นบุตรของนายวณิช นางยุพา สงสมพันธุ์ พ่อรับราชการครูสืบเชื้อสายมาจากตระกูลนักเลง ทวดคือนายเกื้อ สงสม ฉายา “เกื้อ ดับร้อน” ซึ่งหมายถึงผู้กว้างขวางที่สามารถดับทุกข์ร้อนของผู้มาขอพึ่งพิงได้ ปู่คือนายแสง สงสม ฉายา “แสง ลำรุน” ผู้กว้างขวางแห่งบ้านลำรุน (ปัจจุบันคือหมู่บ้านระหว่างบ้านศาลาม่วงกับบ้านจันนา) ตระกูลสงสมพันธุ์มาจากสกุลเดิมคือ “สงสม” สายเดียวกับตระกูล “รัตนพันธ์” ของ ร.ต.ถัด รัตนพันธ์ อดีตนักการเมืองคนสำคัญของจังหวัดพัทลุง บิดาของลัดดา-แถมสิน รัตนพันธ์ แม่สืบเชื้อสายมโนราห์จากทวด “พรานกลับ” บ้านเฉียงพง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ตาคือมโนราห์ หีด บุญหนูกลับ ชาวบ้านปาบ ตำบลชะมวง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นปราชญ์พื้นบ้านที่แต่งกลอนมโนราห์ขึ้นใหม่ คิดท่ารำแบบใหม่และแสดงเรื่องแบบใหม่ เป็นต้นแบบของมโนราห์สมัยใหม่ด้วยการตั้งโรง ใช้ฉากและเทคนิคการแสดง
เริ่มรับการศึกษาในระบบโรงเรียนครั้งแรกที่โรงเรียนวัดไทรโกบ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ แล้วไปเรียนต่อที่โรงเรียนวัดพิกุลทอง อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗ ศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.๓) และมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนพัทลุง อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ แล้วศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาต่อสาขาคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เรียนอยู่ระยะหนึ่ง สอบเข้าศึกษาใหม่ได้คณะเดิม อยู่ที่นั่น ๓ ปี ตัดสินใจออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียวตามความใฝ่ฝันมาแต่ต้น ตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษา
เริ่มสนใจอ่านวรรณกรรมมาตั้งแต่พออ่านออกเขียนได้ เพราะบิดามารดาเป็นครูและที่บ้าน มีหนังสือให้เลือกอ่านได้หลายเล่ม พื้นฐานทางครอบครัวจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการส่งเสริมให้เขาสนใจวรรณกรรมและกลายเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จในการเขียนหนังสือในช่วงเวลาต่อมา
กนกพงศ์ สงสมพันธ์ สืบเชื้อสายนักเลงจากฝ่ายพ่อและศิลปินพื้นบ้านสาขาการแสดงโนราจากฝ่ายแม่ ซึมซับเอาวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนภาคใต้แถบนี้คือวัฒนธรรมโจรหรือวัฒนธรรมนักเลง และความเป็นศิลปินพื้นบ้านโดยเฉพาะโนราและสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่องานเขียนของเขาในยุคหลังมาก
กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เกิดและเติบโตขึ้นมาในยุคที่มีความขัดแย้งทางการเมืองในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะแถบเทือกเขานครศรีธรรมราชหรือเทือกเขาบรรทัดถิ่นกำเนิด เป็นความขัดแย้งระหว่างกองกำลังของรัฐกับกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เป็นความขัดแย้งที่นำมาซึ่งความรุนแรงจนเกิดมิคสัญญีหรือกาลียุคจากการปราบปรามแบบเหวี่ยงแหและมาตรการในการกำจัดแบบตัดรากถอนโคนและการทารุณกรรมของฝ่ายรัฐบาลด้วยวิธีการที่เรียกว่า “ถีบลงเขา เผาถังแดง” และการตัดใบหูของศพเพื่อแลกกับเงินรางวัลของกองกำลังพลเรือน ตำรวจและทหาร (พตท.) ที่เกิดขึ้นเพื่อปราบปรามประชาชนที่มีความเห็นขัดแย้งกับรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะก่อนที่จะมีนโยบายการเมืองนำการทหารตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๖๖/๒๕๒๓ สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เรื่องราวเหล่านี้จึงปรากฏอยู่ในงานเขียนของเขามากพอสมควรโดยเฉพาะในเรื่องสั้น “สะพานขาด” ที่ได้รับรางวัลช่อการะเกดยอดเยี่ยมจากบรรณาธิการ สุชาติ สวัสดิ์ศรี จากสำนักช่างวรรณกรรมในปี พ.ศ.๒๕๓๒ “บ้านเกิด” “ยามเช้า” และ “ในห้วงน้ำกว้าง” เป็นต้น
“บัดนี้เราไม่ได้สมมติว่าแกเป็นผู้ร้าย ฉันจะเป็นทหาร ทว่าทุกอย่างกลับกลายเป็นความจริง... ผมอยากจะโต้ว่า เขาก็เป็นเจ้าเป็นนาย เขาก็เป็นทหารเหมือนผม แต่เป็นทหารของอีกกองทัพหนึ่ง ใช่... เขาเป็นทหารของอีกประเทศหนึ่งซึ่งสวมเครื่องแบบและถือปืนออกไปกดไกได้เหมือนผม ทว่าสิ่งที่ผมคิดขึ้นมามันละเอียดอ่อนเกินไป ไม่อาจมีใครทำความเข้าใจได้หรอก ผมจึงเพียงแต่ยืนก้มหน้านิ่ง... แล้วเราก็บ่ายหน้าขึ้นสู่ตะวันตก รถหุ้มเกราะและจีเอ็มซีจำนวนเกินยี่สิบคันปลุกฝุ่นอันสงบนิ่งยามเช้าตรู่บนถนนลูกรังแดงให้ฟื้นตื่นขึ้นมาคลุ้งว่อน... ดินบริเวณหัวท้ายของสะพานโดนระเบิดพังยุบลงเป็นบ่อลึก สะพานไม้ทรุดลงไปกองอยู่ที่พื้นข้างล่าง รอยระเบิดยังหมาดใหม่แลเห็นเหมือนฝุ่นยังไม่นอนตัวเสียด้วยซ้ำ ... ภาพของการเคลื่อนทัพในหน้าฝนซ้อนเข้ามาตอกย้ำถึงการตัดสินใจอีกหน คอมแบ็ดทหารมีอภิสิทธิ์ใดจึงสามารถเหยียบย่ำลงบนข้างกล้าของชาวบ้าน โดยที่พวกเขาไม่มีสิทธิ์แม้แสดงความเสียดาย... วินาทีนี้เองที่ความอึดอัดทั้งหมดในโลกมารุมกันอยู่ที่ตัวผม เรากำลังเดินทางไปเพื่อเอาชัยชนะเหนือข้าศึกของประเทศ แต่มันหมายถึงด้วยการเหยียบย่ำไปบนชีวิตของพลเมืองกระนั้นหรือ” (สะพานขาด)
“มีเด็กมากมายที่เติบโตขึ้นมาในพื้นที่ซึ่งสงครามระอุร้อนเช่นฉัน และความโหดร้ายจากวันวานยังคงฝังลึกอยู่ในจิตใจของเราจนบัดนี้ อาจมีเพียงบางคนเท่านั้นที่ลืมมันได้ แต่การลืมก็เป็นเพียงทางแก้เมื่ออะไร ๆ มันเกิดขึ้นแล้ว... ฉันกลับบ้านมาเจอผีลอยน้ำโผล่ขึ้นมาอีกครั้ง ก่อนวันพี่แต่งงาน คราวนี้มันโผล่ขึ้นในคลองหลังบ้านเรานี่เอง ศพนั้นมาติดอยู่ในพงแขมซึ่งเราเคยเดินกัด คราวแรกฉันคิดว่าปลาตอดหู แต่มีบางคนบอกว่านั่นฝีมือทหารพราน...หน้าที่ว่าการอำเภอ ทหารพรานตัดหัวพวกบนเขาลงมาตั้งโชว์กลางถนน... ตอนนั้นถนนยังเป็นฝุ่นแดง หัวนั้นเลยคลุกฝุ่นมอมแมมจนดูไม่ออกว่าเป็นหัวคนหรือดินปั้น แต่ฉันเห็นดวงตาของเขายังไม่มีใดลูบปิด... ขณะพี่กำลังอยู่ระหว่างพิธีแต่งงานที่บ้านเจ้าสาว เสือช้วนลากเอ็ม. ๑๖ เมาแอ๋เข้ามาโวยวายลั่น “เป็นคอมมูนิดแต่งงานได้หยั่งไง”... เขาออกไปยืนโงนเงนอยู่ตรงพุ่มรั้วหน้าบ้านครูใหญ่ ก่อนเดินเซกลับมาและโดยไม่โวยวายอะไรอีก เอ็ม.๑๖ ประทับไหล่ปากกระบอกส่ายไปมาตามแรงกระสุนและความเมา ป้ายเขียนชื่อพี่และเจ้าสาวปลิวคว้างมาตกลงเบื้องหน้าฉัน พร้อมก้อนเลือดของใครสักคนกระเด็นเข้าเต็มหน้ามึนงงราวโดนตบ... แปดศพรวมทั้งพี่สะใภ้ฉันกลายเป็นผงดินไปตั้งสิบกว่าปีแล้ว อีกสิบสองคนก็สะเก็ดแผลหลุดไปตั้งนานแล้ว เสือช้วนได้รับโทษถูกปลดออกจากทหารพราน พี่...ลาออกจากครู” (บ้านเกิด)
การพัฒนาทางวรรณกรรมของเขาเติบโตมาจากกรอบความคิดที่อิสระ มองถึงลักษณะของปัจเจก อัตถภาวนิยม การแสดงออกระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์กับมนุษย์ และอารมณ์ความรู้สึกที่ เข้าไปสัมผัสกับเรื่องเหล่านั้น โดยเรื่องดังกล่าวได้ถูกปรุงแต่งจากระบบการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยหรือจากอิทธิพลของงานเขียน งานแปลทั้งจากนักเขียนไทยและนักเขียนต่างประเทศ
ผลงานเรื่องสั้นเรื่องแรกของเขาที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่คือเรื่อง “ดุจตะวันอันเจิดจ้า” ในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ แต่เขาเขียนบทกวีมาก่อนจะเริ่มต้นเขียนเรื่องสั้นอย่างเอาจริงเอาจังในช่วงเวลาต่อมา
เขาหลงใหลในผลงานของ “ลาว คำหอม” หรือ “คำสิงห์ ศรีนอก” โดยเฉพาะรวมเรื่องสั้นชุด “ฟ้าบ่กั้น” ก่อนที่จะหันมาสนใจวรรณกรรมแปลจากต่างประเทศในยุคหลัง นอกจากนี้เขายังซึมซับงานเขียน ของ “เสนีย์ เสาวพงศ์” จากนวนิยายเรื่อง “ปีศาจ” ของ “สถาพร ศรีสัจจัง” จากหนังสือรวมเรื่องสั้นและบทกวี “ก่อนไปสู่ภูเขา” ของ “คมสัน พงษ์สุธรรม” จากหนังสือรวมเรื่องสั้น “ทางเลือกเมื่อฟ้าหม่น” และของ “สำราญ รอดเพชร” จากหนังสือรวมเรื่องสั้น “อ้อมกอดของภูผา” เป็นต้น โดยเฉพาะหนังสือ ๓ เล่มหลังทำให้เขาฝันอยากจะเป็นนักเขียนเป็นอย่างมาก
หนังสือและนักเขียนต่างประเทศที่จุดประกายให้เขาอยากเป็นนักเขียนมากคือหนังสือของ“เออร์สกิน คอล์ดเวลล์” ชื่อ “ถนนนักเขียน” เป็นหนังสือที่เขียนถึงชีวประวัติของนักเขียนชาวเมริกันคนหนึ่งเล่าถึงเรื่องราวของคนที่ต้องการจะเป็นนักเขียนและออกไปอยู่ในสังคมชนบท ทุ่มเททำงานตั้งแต่เช้าจนดึก ฝึกฝนการเขียนจนกระดาษต้นฉบับท่วมห้อง ขนาดใบบอกปฏิเสธเรื่องของเขายังสูงถึงเข่า กนกพงศ์จึงตัดสินใจออกจากมหาวิทยาลัยไปใช้ชีวิตแบบเดียวกับนักเขียนคนนั้นโดยไม่สนใจใยดีต่อปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัย
เขาเริ่มฝึกฝนการเขียนตามแบบฉบับของ “คอล์ดเวลล์” ตื่นเช้าขึ้นมาก็เขียนหนังสือจนถึง ๔-๕ ทุ่ม ถ้าไม่เขียนก็อ่าน เขียนเสร็จเอามาวิพากษ์วิจารณ์ ฝึกฝนทุกเรื่อง ทั้งภาษา การวางพล็อต ค้นหาความถนัดของตนเอง เขาเขียนนับร้อย ๆ เรื่อง เขียนทิ้ง เขียนทิ้ง จนกว่าจะมั่นใจว่าเรื่องนั้นดีจริง ๆ จึงจะส่งไปตีพิมพ์ตามนิตยสารต่าง ๆ และในที่สุดเขาก็เริ่มประสบความสำเร็จเมื่อนิตยสารต่าง ๆ ตอบรับการตีพิมพ์ผลงานของเขา เช่น “อิมเมจ” “ลลนา” “ชีวิตกลางแจ้ง” “สู่อนาคต” “ไฮ-คลาส” “จันทร์” “ปาจารยสาร” และ “เจนเนอเรชั่น” เป็นต้น
กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในด้านเรื่องสั้น เขาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหางานทำเลี้ยงชีพโดยเข้าทำงานที่บริษัทเคล็ดไทยโดยการทำอาร์ตเวิร์คบ้าง เป็นบรรณาธิการบ้าง เขาอยู่ได้เพียง ๒ ปี ก็เริ่มมองเห็นว่างานประจำมาแย่งเวลาคิด เวลาเขียนหนังสือของเขามากเกินไป จึงตัดสินใจลาออกจากงานในปี พ.ศ.๒๕๓๒ ปีที่เรื่องสั้น “สะพานขาด” ของเขาได้รับรางวัลช่อการะเกด และผลของการได้รับรางวัลดังกล่าวจากบรรณาธิการที่เขานับถือและศรัทธา ทำให้เขามีกำลังใจเขียนหนังสือด้วยความมั่นใจมากขึ้น และในที่สุดเรื่องสั้น “โลกใบเล็กของซัลมาน” ที่เขียนไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๓ ก็ได้รับรางวัลช่อการะเกดเป็นเรื่องที่สอง นับจากวันนั้นเขาก็ถูกจับตามองจากคนในแวดวงวรรณกรรม
ปี พ.ศ.๒๕๓๒ สำนักพิมพ์นาครจัดพิมพ์หนังสือรวมบทกวี “ป่าน้ำค้าง” ของเขาอันเป็นบทกวีที่สะท้อนภาพปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นบ้านเกิดของเขา ดังส่วนหนึ่งของคำนำในหนังสือเล่มนี้ของ เขาที่ว่า
เนิ่นนานพอดูกับเวลาในช่วงหนึ่งแห่งชีวิตที่ฉันได้ใช้มันดั่งผีเสื้อไพรท่องไปในเขตเทือกเขา บรรทัด บูโด เขาจันทร์ เขาหลวง เขาน้ำค้าง ฯลฯ และหมู่บ้านระหว่างนั้น ได้ผ่านและพบร่องรอยการต่อสู้ซ่อนอยู่ข้างใต้ใบไม้ทุกใบที่หล่นลงเรียงพื้น บาดแผลสงครามประชาชนแต้มติดที่เปลือกไม้ น้ำตาและน้ำเลือดของผู้คนแห่งท้องถิ่น ฝังลึกเป็นหนึ่งเดียวกับพฤกษ์ป่าอันแน่นขนัด เขียวชอุ่มและอิ่มอุดมแห่งเทือกภูเหล่านั้น ความยากจนและความโง่เขลานำผลไปสู่ความด้อยโอกาส การกดขี่ข่มเหงโดยชนอีกชั้นหนึ่งนำไปสู่การต่อสู้ ตำนานแห่งสงครามประชาชนเกิดขึ้นเช่นนี้ ดำรงอยู่ในพื้นถิ่นซึ่งฉันถือกำเนิดและเนิ่นนานเกินกว่าความมีชีวิตอยู่ของฉันมากนัก.........
ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ สำนักพิมพ์นกสีเหลืองจัดพิมพ์รวมเรื่องสั้น “สะพานขาด” รวมเรื่องสั้นเล่มแรกของเขา ประกอบด้วยเรื่องสั้น ๑๐ เรื่องคือ “นักเขียนใหม่” “ในห้วงน้ำกว้าง” “ชายเฒ่าที่ชายฝั่ง” “แมวดำ” “ชะตากรรม” “โลกใบเล็กของซัลมาน” “ยามเช้า” “กาฬปักษ์” “อาทิตย์เที่ยงคืน” และ “สะพานขาด” เป็นงานเขียนที่สะท้อนภาพของการกระทำต่อกันของมนุษย์ต่อมนุษย์และมนุษย์กระทำต่อธรรมชาติ ดังความตอนหนึ่งในเรื่อง “ในห้วงน้ำกว้าง” ที่ว่า
“.....หากจะมีความรู้สึกผิดอยู่บ้างมันก็น้อยมากเมื่อเทียบกับคนในสังคมจริง ๆ ที่กำลังกระทำต่อกัน ฝ่ายหนึ่งกำลังฉวยประโยชน์เอาเหมือนอีกฝ่ายเป็นเพียงซากที่ไร้ชีวิต ไร้ความรู้สึกพูดจา........มนุษย์จำพวกหนึ่งกำลังกินเนื้อมนุษย์ เป็น ๆ โดยไม่เห็นเขาจะรู้สึกรู้สาอะไรเลย”
ปี พ.ศ.๒๕๓๕ สำนักพิมพ์นกสีเหลืองจัดพิมพ์รวมเรื่องสั้นเล่มที่ ๒ “คนใบเลี้ยงเดี่ยว” ประกอบด้วยเรื่องสั้นจำนวน ๑๒ เรื่อง คือ “บ่ายบัดซบ” “กลางฝนยามค่ำ” “อีกฝั่งฟาก” “พระราชาธิราช” “ในป่าลึก” “ชานชาลา” “เพื่อนระหว่างทาง” “วันรอ” “ผีจากภูเขา” “เด็กหนุ่มบนถนน” “ระหว่างทาง” และ “คนชั้นบน” เป็นเรื่องสั้นที่สะท้อนภาวะภายในของปัจเจกชน แสดงออกถึงธรรมชาติของมนุษย์ถ่ายทอดถึงปรัชญาของชีวิตอันหลากหลาย เป็นการพูดถึงสภาพสับสนจิตใจของปัจเจกบุคคลซึ่งแสดงออกโดยพฤติกรรมอันเกิดจากผลพวงของการหนีจากรากเหง้าดั้งเดิมของตน เข้าสู่วัฒนธรรมใหม่โดยกระแสของสังคม บ้างก็ล้มเหลว บ้างก็สามารถจะผสมกลมกลืนกันได้
ปี พ.ศ.๒๕๓๙ สำนักพิมพ์นาครจัดพิมพ์รวมเรื่องสั้นเล่มที่ ๓ “แผ่นดินอื่น” ประกอบด้วยเรื่องสั้นขนาดยาวจำนวน ๘ เรื่อง คือ “บนถนนโคลีเซียม” “บ้านเกิด” “แมวแห่งบูเต๊ะกรือซอ” “บางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น” “ผีอยู่ในบ้าน” “แม่มดแห่งหุบเขา” “แพะในกุโบร์” และ “น้ำตก” เป็นเรื่องสั้นที่สะท้อนปัญหาของชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัวและสังคม สะท้อนความคิด ความเชื่อ คุณค่าและคตินิยมพื้นถิ่นต่อการดำรงชีวิต และหนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ปี พ.ศ.๒๕๓๙ โดยคณะกรรมการให้เหตุผลประกอบการตัดสินว่า
“หนังสือรวมเรื่องสั้น “แผ่นดินอื่น” ประกอบด้วยเรื่องสั้นแปดเรื่องที่สะท้อนปัญหาของชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัวและสังคม นำเสนอชีวิตหลากหลายด้วยแนวธรรมชาตินิยม สะท้อนความคิด ความเชื่อ คุณค่าและคตินิยมพื้นถิ่นอย่างลึกซึ้งและแหลมคม ให้เห็นว่าแม้ในสังคมที่ต่างวัฒนธรรม ต่างความเชื่อ มนุษย์ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยไมตรีสัมพันธ์... กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ดำเนินเรื่องด้วยกลวิธีการเขียนที่ดึงดูดความสนใจของผู้อ่านให้ใคร่รู้ ใคร่ติดตามและนำไปสู่จุดหมายที่เป็นเอกภาพ โดยไม่ละเลยที่จะสอดแทรกปัญหาและแง่มุมชีวิต ทั้งปัญหาภายในจิตใจ และปัญหาจากปัจจัยภายนอก บันทึกความขัดแย้งของสังคมในอดีต ทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม รวมถึงปัญหาของสังคมร่วมสมัย คือการเผชิญหน้ากันระหว่างพัฒนาการของเมืองกับคุณค่าด้านมนุษยธรรม...เรื่องสั้นขนาดยาวใน “แผ่นดินอื่น” มีคุณสมบัติของเรื่องสั้นที่ทรงคุณค่าทางวรรณศิลป์ การนำเสนอละเอียด ประณีตและแยบยล เปิดโอกาสให้ผู้อ่าน ได้ใช้จินตนาการที่เป็นอิสระ ผู้เขียนใช้ภาษาถ่ายทอดเหตุการณ์และความรู้สึกได้อย่างงดงาม เข้มข้นด้วยอารมณ์สะเทือนใจ ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวนี้ “แผ่นดินอื่น” ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ จึงเป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนของประเทศไทยประจำปี พ.ศ.๒๕๓๙”
หลังจากนั้น กนกพงศ์ สงสมพันธ์ ยึดอาชีพเป็นนักเขียนและเป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือวรรณกรรมสำหรับแวดวงนักเขียน นักอ่านชื่อ “WRITER MAGAZINE” ใช้ชีวิตอยู่กับการเขียนหนังสือที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตอำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผลงานรวมเล่มออกมาอีก ๓ เล่ม คือ บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๔๔ โดยสำนักพิมพ์บ้านหนังสือ พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๔๙ โดยสำนักพิมพ์สาคร) เป็นความเรียงเชิงบันทึกทัศนะที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสารไรเตอร์ตามคำร้องขอของขจรฤทธิ์ รักษา ยามเช้าของชีวิต (พ.ศ.๒๕๔๖) เป็นเรื่องเล่าเชิงบันทึกทัศนะและเล่มสุดท้ายคือ โลกหมุนรอบตัวเอง (พ.ศ.๒๕๔๘) เป็นรวมเรื่องสั้นชุดที่ ๔ ก่อนจะจบชีวิตลงอย่างสงบและเงียบเหงาในคืนก่อนวันมาฆบูชา เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๙ ณ โรงพยาบาลในตัวเมืองนครศรีธรรมราช ด้วยโรคติดเชื้อในปอด ด้วยวัยเพียง ๔๐ ปี ญาติพี่น้องนำศพไปบำเพ็ญกุศลและฌาปนกิจศพ ณ ฌาปนสถานวัดพิกุลทอง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เหลือไว้แต่ความอาลัยในความทรงจำอันปวดร้าวของพี่ ๆ น้อง ๆ และผองเพื่อนในแวดวงวรรณกรรม ตลอดจนนักอ่านผู้นิยมชมชอบในความสามารถทางวรรณกรรมของเขาในฐานะนักใช้ชีวิตผู้เกิดมาในบ้านเกิดและจบชีวิตลงกับ “แผ่นดินอื่น” ขณะที่ต้นฉบับผลงานทั้งบทกวีและเรื่องสั้นของเขายังคงได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์นาครเป็นระยะ ๆ ทั้งเรื่องใหม่และเรื่องเก่า เช่น รวมเรื่องสั้นเล่มใหม่ชื่อ “นิทานประเทศ” รวมบทกวีนิพนธ์ “ในหุบเขา” เป็นต้น