ฮวงซุ้ย เป็นเรื่องสั้นเขียนโดย พนม นันทพฤกษ์ ซึ่งเป็นนามปากกาของ สถาพร ศรีสัจจัง (ดู สถาพร ศรีสัจจัง) มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งริมฝั่งทะเลภาคใต้ ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร “เฟื่องนคร” รายเดือน ฉบับประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๕ และตีพิมพ์ครั้งที่ ๒ ในหนังสือรวมเรื่องสั้นของ พนม นันทพฤกษ์ ชื่อ “ดาวที่ขีดเส้นฟ้า” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๗ เรื่องย่อมีดังนี้
หมันตาเป็นเพื่อนรักกับโกช้วนหรือนายชวน ลิ่มพาณิชย์ เศรษฐีใหญ่ซึ่งมีกิจการเกี่ยวกับการประมงขนาดใหญ่ในอำเภอชายฝั่งทะเลตะวันตกของภาคใต้อำเภอหนึ่ง หมันตาทำงานอยู่ที่บริษัทของโกช้วนด้วย เมื่อมีเรื่องทะเลาะกับภรรยาของโกช้วน จึงขอลาออกจากหน้าที่หัวหน้าคนงานของบริษัทของเพื่อนโดยไม่ยอมรับสิ่งอื่นใดที่เพื่อนให้ เขาขอเพียงที่ดินบนเนินเล็ก ๆ แห่งหนึ่งเพื่อใช้เป็นที่ปลูกกระท่อมและปลูกผักผลไม้ไว้กิน ที่ดินแปลงนั้นอยู่ริมทางหลวง ด้านหลังติดแม่น้ำใหญ่มีทำเลสวยงาม รถผ่านไปมาก็สามารถมองเห็นกระท่อมหลังน้อยของหมันตาได้โดยง่าย วันหนึ่งโกช้วนเพื่อนรักของหมันตาเสียชีวิตลงหมันตาไปเคารพศพเพื่อนแล้วรีบกลับมากระท่อม ทั้งนี้เป็นเพราะเขาไม่ชอบเถ้าแก่เนี้ยที่เป็นภรรยาโกช้วน เขารู้ว่าเถ้าแก่เนี้ยก็ไม่ชอบเขา เพราะที่เขาเป็นคนตรง ไม่รู้จักประจบประแจง และเป็นคนที่โกช้วนไว้ใจที่สุด
ในช่วงที่มีงานศพ วันหนึ่งนายพั้งกุ๊ยน้องชายโกช้วนซึ่งเป็นเป็นคนที่ไม่ชอบหมันตามาโดยตลอด กับพงษ์เทพลูกชายคนโตของโกช้วน ก็นำซินแสคนจีนมาดูที่บนเนิน ซึ่งโกช้วนได้ยกให้หมันตาแล้ว เพื่อหาทำเลอันเป็นมงคลในการสร้างฮวงซุ้ยบรรจุศพของโกช้วน หมันตาแอบสังเกตกลุ่มผู้มาดูโดยตลอดพร้อมกันนั้นแกก็หวนคิดไปถึงเรื่องราวระหว่างตัวแกกับโกช้วนเมื่อครั้งสมัยยังหนุ่มขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ตอนที่โกช้วนกับหมันตายังเป็นหนุ่มกระทงอยู่นั้น อำเภอชายฝั่งทะเลตะวันตกภาคใต้แห่งนี้ยังเป็นเพียงอำเภอเล็ก ๆ แม้จะเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ แต่กิจการประมงก็ยังไม่คึกคักเท่าใดนัก หมันตาเป็นลูกคนไทยมุสลิมซึ่งอยู่ในตำบลเล็ก ๆ แห่งหนึ่งของอำเภอนี้ ส่วนโกช้วนเป็นลูกคนจีนอพยพที่เช่าที่ดินผู้อื่นปลูกผักเลี้ยงชีพ ทั้งสองพบกันในบ่อนการพนันต่าง ๆ เช่น บ่อนชนไก่ บ่อนโป บ่อนไพ่ และคนทั้งอำเภอก็รู้ว่าทั้งสองได้สาบานเป็นเพื่อนตายกันในเวลาต่อมา ทั้งคู่ร่วมหุ้นกันเป็นเจ้ามือโปเจ้ามือไพ่ ทำมาหากินร่วมกันมาโดยตลอด หมันตาเคยช่วยชีวิตโกช้วนไว้ก็หลายหน ต่อมาหมันตาติดเกณฑ์ทหารจึงต้องไปประจำการที่มณฑลทหารบกนครศรีธรรมราชเสียเกือบ ๒ ปีเต็ม ในช่วงที่หมันตาจากไปนี้โกช้วนก็ได้แต่งงานกับลูกคนจีนอพยพเพื่อนของเตี่ยและได้รับเรือประมงลำเล็ก ๆ พร้อมกับแพปลาเล็กๆ ในตัวอำเภอเป็นของขวัญแต่งงานจากพ่อตา เมื่อหมันตากลับมาจากการเป็นทหารก็พบว่าฐานะของเพื่อนรักเปลี่ยนไปมากแล้ว ช่วงเวลาเพียง ๒ ปีโกช้วนได้ใช้วิธีการต่าง ๆ ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายค้าขายจนร่ำรวย เป็นที่รู้จักกันทั้งอำเภอและกำลังจะขยายกิจการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อรู้ว่าหมันตากลับมาโกช้วนก็มาหาและชวนร่วมมือด้วยทันที หมันตาเสี่ยงตายคุมเรือบรรทุกฝิ่นเถื่อนและของเถื่อนต่าง ๆ ให้โกช้วนไปส่งที่ปีนังหลายเที่ยว จนฐานะของเพื่อนมั่นคงและกลายเป็นเศรษฐีใหญ่คนหนึ่งของภาคใต้ ช่วงนี้เองที่หมันตาพบว่าความสัมพันธ์ของตัวเองกับเพื่อนเปลี่ยนไป คือนาน ๆ จึงจะได้พบปะพูดคุยกันสักครั้ง เนื่องจากโกช้วนต้องขึ้นล่องกรุงเทพฯ เกี่ยวกับเรื่องธุรกิจอยู่ตลอดเวลา ในช่วงเวลาเหล่านี้หมันตาได้รับตำแหน่งเป็นคนคุมคนงานแพปลาทั้งหมดของบริษัท ทุกครั้งที่มีโอกาสโกช้วนจะชวนหมันตาไปกินกาแฟด้วยกันและพยายามยืนยันว่าทุกอย่างยังเหมือนเดิม พยายามชี้แจ้งให้เข้าใจว่าเมียและลูกของเขาที่แสดงท่าทีไม่ดีต่อหมันตานั้นเป็นเพราะความไม่เข้าใจ ให้หมันตาพยายามทำใจไว้คิดว่าเห็นแก่เขา และยืนยันว่าทรัพย์สมบัติทั้งหมดของเขาก็เหมือนกับของหมันตา อยากได้อะไรก็ให้บอก ทั้งลูก ๆ ของเขาก็ยังได้เข้าทำงานในสวนยางพาราของโกช้วนอีก ๒ คนด้วย นับว่าเป็นบุญคุณอยู่ไม่น้อย จากนั้นความสัมพันธ์ของหมันตากับภรรยาของเพื่อนก็เลวร้ายลงเรื่อย ๆ จนหมันตาต้องตัดสินใจลาออก ในวันหนึ่งโกช้วนขอร้องให้ไปคุมสวนยางพาราที่มีอยู่หลายพันไร่แทน หมันตารับคำแต่ท้ายที่สุดก็ขัดกับเมียและลูกของเพื่อนอีกจนต้องลาออกเด็ดขาด ตอนที่หมันตาลาออกนั้นโกช้วนพยายามเสนอให้เพื่อนร่วมสาบานเอาเรือประมงของตัวเองไปตั้งตัวสัก ๔-๕ ลำ แต่หมันตาไม่ยอมรับ เขาขอเพียงที่ดินแปลงเล็ก ๆ บนเนินที่ดูไม่มีราคาค่างวดแปลงหนึ่งเท่านั้น ซึ่งโกช้วนก็ยกให้ทันทีแต่ไม่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ทางกฎหมายกันแต่อย่างใด พร้อมกันนั้นโกช้วนก็พยายามคะยั้นคะยอให้หมันตารับสวนยางพาราไปอีก ๒ แปลงเพื่อจะได้ทำกินตอนแก่ แต่หมันตาก็ไม่รับ จนกระทั่งโกช้วนเสียชีวิตลง และนายพั้งกุ๊ยกับลูกชายของเพื่อนเก่าพาซินแสจีนมาดูที่บนเนินซึ่งหมันตาปลูกกระท่อมอยู่นั่นเอง เรื่องจบลงตรงที่หมันตาถูกเมียโกช้วนกับลูกชายไล่ออกจากที่สวนบนเนินแห่งนั้นและได้ก่อสร้างฮวงซุ้ยขนาดใหญ่มโหฬาร เพื่ออวดคนที่ขับรถผ่านไปมาบนถนนสายนั้นขึ้นแทน พร้อมกับมีคนพบเห็นว่าหมันตาในวัยเกือบ ๗๐ ปี ไปลอยเรือตกเบ็ดหาปลาเลี้ยงชีพอยู่กลางทะเลลึก ซึ่งคนในวัยขนาดเขาไม่น่าจะต้องมาประกอบอาชีพที่เสี่ยงภัยเช่นนั้นอีก
ฮวงซุ้ยนอกจากจะมีเนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงธาตุแท้ของคนบางคน ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนกับเพื่อน ความเปลี่ยนแปลงของสังคม และความเปลี่ยนแปลงด้านรูปการจิตสำนึกของคนในแต่ละรุ่นแล้ว ยังได้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและการทำมาหากินของชาวบ้านในแถบเมืองริมฝั่งทะเลตะวันตกภาคใต้อีกด้วย ในเนื้อเรื่องมีอยู่หลายตอนด้วยกันที่กล่าวถึงอาชีพและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของผู้คนแถบถิ่นนี้
ตอนหนึ่งผู้เขียนได้บรรยายบรรยากาศและอาชีพของผู้คนริมฝั่งทะเลตะวันตกภาคใต้แถบจังหวัดตรังในช่วง พ.ศ.๒๔๙๐ ไว้ว่า
“ย้อนหลังจากวันนี้ไปอีกสักสี่สิบกว่าปีก่อนโน้น บังหมันตากับโกช้วนเติบโตเป็นเด็กรุ่นขึ้นมาพร้อม ๆ กันในเมืองน้อยริมฝั่งทะเลที่เงียบสงบ แม้อยู่กันคนละฟากลำบาง คือโกช้วนอยู่ฟากที่เป็นตัวตลาดที่ตั้งตัวอำเภอ ส่วนบังหมันตานั้นเกิดและเติบโตอยู่อีกฟาก ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่สืบเชื้อสายการนับถือศาสนาอิสลามมาแต่โบราณ เป็นหมู่บ้านที่ไม่เจริญ ผู้คนรวมทั้งพ่อของหมันตาเองส่วนใหญ่มีอาชีพทางทะเล ทำ “เครียดกุ้ง” โพงพางและทำกะปิขาย นอกเหนือจากนั้นก็ทำสวนจากน้ำเค็มที่สามารถขายได้ทั้งยอดอ่อนและใบแก่”
ภาพสะท้อนทางด้านวัฒนธรรมอีกประการหนึ่งในเรื่องฮวงซุ้ยก็คือ ผู้เขียนได้สะท้อนให้เห็นว่าพ่อค้าจีนที่ร่ำรวยในปักษ์ใต้นิยมสร้างฮวงซุ้ยขนาดใหญ่ และสร้างอยู่ในทำเลดีตามมงคลลักษณะให้แก่บรรพบุรุษ ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในแถบจังหวัดภาคใต้ที่มีพ่อค้าจีนมาตั้งหลักแหล่งอยู่มาก ๆ เช่น จังหวัดภูเก็ต พังงา ตรัง และสงขลา เป็นต้น ในเรื่องนี้ผู้เขียนได้บรรยายให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ อลังการของฮวงซุ้ยโกช้วนเพื่อนของหมันตาตอนหนึ่งว่า
“เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไปทุกอย่างก็เปลี่ยนไป บ้านหลังน้อยบนเนินนั้นถูกรื้อลงแล้ว เก๋งจีนแต้มสีสวยงามปรากฏขึ้นแทน แนวดินลาดชันด้านที่ติดกับถนนหลวงถูกปรับระดับและปลูกหญ้าพันธุ์ต่างประเทศเสียจนเขียวชอุ่มราบเรียบ กลางแนวลาดชันนั้นมีแผ่นปูนขนาดใหญ่ก่อไว้ มีตัวอักษรจีนสีทองขนาดใหญ่สองแถวพาดอยู่ ถ้าใครที่อ่านหนังสือจีนออกก็จะจับความได้ว่า “ลิ่ม ยี่ช้วน-ภริยา-บุตร-ธิดา สร้างรำลึก” ส่วนด้านบนสุดที่เป็นลานเรียบหน้าเก๋งจีนหลังสวยงามนั้น มีเสาแขวนป้ายจารึกอักษรสีทองเช่นกันว่า “สุสานชวน ลิ่มพาณิชย์-ภริยา-บุตร-ธิดา น้อมสร้างรำลึก”
“ตัวฮวงซุ้ยขนาดใหญ่นั้นตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับเก๋งจีน หันด้านหน้าออกไปทางแม่น้ำซึ่งเป็นด้านที่พระอาทิตย์ขึ้น หันหลังให้ทิวเขา มีรูปปั้นสิงโตจีนสองตัวหมอบเฝ้าอยู่สองฟากฐานฮวงซุ้ยนั้น”
ฮวงซุ้ย นับเป็นวรรณกรรมสมัยใหม่ที่มีคุณค่าทั้งทางด้านวรรณศิลป์ และมีเนื้อหาที่ให้ภาพเกี่ยวกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวภาคใต้ริมฝั่งทะเลตะวันตกเรื่องหนึ่ง (อมรา ศรีสัจจัง)