หงสาราม, วัด

หงสารามวัด



           วัดหงสาราม วัดท่าข้าม หรือ วัดใหม่ ก็เรียก เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในจังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่ในหมู่ที่ ๑ บ้านท่าข้าม ตำบลท่าข้าม อำเภอปานาเระ จังหวัดปัตตานี ห่างจากตัวอำเภอประมาณ ๓ กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๔๒ กิโลเมตร เล่ากันว่า วัดนี้มีอายุประมาณ ๓๐๐ กว่าปี ต่อมาในสมัยพระรัตนธัชมุนี (ม่วง รัตนธโช) จากจังหวัดนครศรีธรรมราช มาจำวัดที่วัดนี้ ได้ทำการตรวจดูแลคณะสงฆ์และได้ถามถึงประวัติของวัด แต่ไม่มีใครทราบ ท่านจึงให้ชื่อวัดเสียใหม่ตามสภาพภูมิประเทศว่า “วัดท่าข้าม” เพราะท้องถิ่นนั้นมีลำคลองขวางกั้นอยู่ ต่อมาภายหลัง หลวงพ่อแดง อินทวังโส ได้เปลี่ยนชื่อวัดอีกครั้งหนึ่งเป็น “วัดหงสาราม” ด้วยเหตุที่พื้นที่บริเวณนี้มีลักษณะคล้ายตัวหงส์ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก หมู่บ้านบางแห่งในบริเวณนี้ก็เรียกชื่อตามลักษณะที่เห็น เช่น บ้านตาหงส์ บ้านน่องหงส์ เป็นต้น ในวัดนี้ปรากฏหลักฐานอยู่คือ มีการสลักรูปหงส์ไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่น ที่เสาธง ที่ป้ายหน้าวัด ชาวบ้านเล่าว่ารูปที่สลักเหล่านี้มีอายุประมาณ ๑๐๐ ปี ปัจจุบันคงเหลือซากอยู่บ้าง วัดหงสารามยังมีกุฏิและศาลาทรงไทยซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่มีอายุเกือบ ๑๐๐ ปีมาแล้วเหลืออยู่บ้าง ที่ได้มีการบูรณะและสร้างขึ้นใหม่บ้าง เช่น มีการสร้างอุโบสถใหม่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าเมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๐ ในวัดนี้มีกุฏิทรงไทยเก่าเป็นเรือนแฝดยาวไปทิศเหนือและใต้ และมีเรือนขวางด้านตะวันตกอีกหลังหนึ่ง ตามริมกรอบประตู ช่องลม และฝาบางส่วนมีภาพแกะสลักเป็นลายทรงเรขาคณิตลายดอกไม้และรูปสัตว์ เช่น มังกรจีน ลิง เป็นต้น และที่คอสองเพดานระเบียง และตามฝาผนังบางส่วนมีภาพจิตรกรรมพุทธประวัติและชาดก ฝีมือช่างพื้นเมือง ซึ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นบางประการ เช่น ในเรื่องพุทธประวัติตอนพระอินทร์ดีดพิณ ๓ สายถวาย เครื่องดนตรีที่ปรากฏในภาพมีลักษณะคล้ายรือบับ ดังนี้เป็นต้น ส่วนลักษณะทางด้านสถาปัตยกรรมของกุฏิหลังนี้ รวมทั้งศิลปะการตกแต่งภาพเขียนและงานแกะสลักคล้ายคลึงกันกับที่วัดควนใน อำเภอปะนาเระ อายุก็ใกล้เคียงกัน มีข้อความเขียนบอกประวัติการสร้างกุฏิ ๓ หลังนี้ใส่กรอบติดไว้ที่กุฏินี้ ดังนี้

              กุฏินี้ ครั้งปลัดหนูเปนเจ้าอธิการได้จัดแจง เครื่องไม้ปลูกขึ้นใน ณ วัน ๓ เดือน ๑๑ ขึ้น๑๓ ค่ำ ปีฉลู แล้วเรียบพื้นเสร็จก็ค้างคาแต่เพียงนั้น ปลัดหนูถึงแก่อนิจกรรมเสียใน ณ วัน ๒ เดือน ๑๑ ปีเถาะ ลำดับแต่นั้นข้าพเจ้า พระปลัดสู ผู้ว่าการคณะเมืองยิริง ก็ได้คิดจัดแจงพรอมพระสง ลูกวัด ญาติโยม เชาบ้านอนุกูนโดยมาก จัดหาเครื่องก็จัดทำเพิ่มขึ้นใหม่ แลได้ปลูกเพิ่มหลังขวางข้างตวันตกอีกด้วยกับทั้งพื้นอัทจันนอกชาน แลได้สละมูลค่าซื้อเครื่องทาทั้งอิฐแลปูน ของทุกอย่างในการทำรวมทั้งมูลค่ากระเบื้องจากครั้งปลัดหนูด้วย รวมเงิ้น ๙๕เรียน ก็เป็นการเสร็จ แต่ ณ วัน ๕ฯ๘ ค่ำ ตั้งงานฉลองฉลองขึ้นพร้อมใน ณ วันนั้นด้วย พุทธสิกราชล่วง ๒๔๓๗ พรรษา ๕ฯ๘ ค่ำ ปีมะเมีย เบญศก" 

จากคำจารึกนี้แสดงว่ากุฏิ ๒ หลังแฝดเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๓๑ ปีฉลู ครั้นถึง พ.ศ.๒๔๓๓ ได้ทำเพิ่มเติมขึ้นอีก ๑ หลัง คือหลังที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตก และสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ จึงแสดงว่างานตกแต่งด้วยการแกะสลักไม้ก็ดี จิตรกรรมก็ดี คงทำในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๓๓-๒๔๓๗ ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นที่น่าสังเกตว่าศิลปะการตกแต่งกุฏิทั้ง ๓ หลังเป็นศิลปะผสมกันทั้งที่เป็นไปตามคตินิยมของจีน ไทยพุทธและไทยมุสลิม เช่น มีไม้แกะสลักเป็นรูปมังกร มีลายไม้ที่ช่องลม และข้างบานประตูหลายลายที่นิยมใช้กันตามบ้านชาวไทยมุสลิม มีจิตรกรรมเกี่ยวกับชาดกในพุทธศาสนา เป็นต้น


ชื่อคำ : หงสาราม, วัด
หมวดหมู่หลัก : ศิลปกรรม
หมวดหมู่ย่อย : สถาปัตยกรรมเกี่ยวกับศาสนา
ชื่อผู้แต่ง : สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์
เล่มที่ : ๑๗
หน้าที่ : ๘๒๔๙