หงส์ ที่รู้จักกันแพร่หลายเกือบทั่วโลกมีอยู่ ๒ ชนิด คือหงส์ที่เป็นชื่อนกในสัตว์วิทยาศาสตร์และหงส์ที่เป็นนกในนิยาย หงส์ที่เป็นชื่อนกชนิดหนึ่งนั้นมีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Sarkidiornis melanotos อยู่ในวงศ์ ANATIDAE ตัวโตและหางยาวกว่าห่าน ปทานุกรมฉบับหลวงกล่าวว่า “หงส์อินเดียที่บินไกลมาก เรียกในภาษาสัตวศาสตร์ว่า Anser indicus (Latham) ตัวยาวประมาณ ๓๐ นิ้ว ปีกหางชั้นบนดำ ตัวสีน้ำตาลแก่ บินไปไหนมาไหนเป็นฝูง ฝูงละ ๖-๒๐ ตัว และเคยมีผู้เห็นฝูงละ ๒๐๐ ตัวก็มี หงส์นี้อยู่ป่าหิมพานต์ แถบทะเลสาบลาดัชกับทิเบต ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน พอเข้าหน้าหนาวในเดือนตุลาคมก็ลงมาอยู่ในอินเดียและพม่าจนถึงเดือนมีนาคมจึงกลับเข้าป่าหิมพานต์ไป” ส่วนหงส์ที่เป็นนกในนิยายถือว่าเป็นนกตระกูลสูง มีเสียงไพเราะ ตำนานเก่า ๆ ว่ามีถิ่นทำเลอยู่ทางทิศใต้ของเขาไกรลาส ณ ที่นั้นมีสระอันกว้างใหญ่สวยงามมีนามว่า “มานสะ” เป็นสระที่อุดมด้วยธรรมชาติ ดั่งสรวงสวรรค์ตามวัฒนธรรมฮินดู หงส์เป็นพาหนะของพระพรหม ด้วยเหตุนี้พระพรหมจึงมีนามว่า “พระครรไลหงส์” (ผู้ทรงไปด้วยหงส์) “ขุนหงส์ทอง” (ผู้ทรงหงส์ทอง) และเรียกเทวรูปพระพรหมในศาสนาพราหมณ์ว่า “พระมเหวารีย์บรมหงส์”
หงส์ที่เป็นนกในนิยายปรากฏในวัฒนธรรมไทยภาคใต้หลากหลาย ทั้งในวรรณกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม นาฏกรรม ชื่อบ้านนามเมือง และวัฒนธรรมอื่น ๆ
หงส์ที่เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ในภาคใต้ หนังสือตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช (บ่งว่าเขียนจบ ปีจุลศักราช ๑๐๙๖ หรือ พ.ศ.๒๒๗๗) กล่าวย้อนไปถึงเหตุการณ์เมื่อปีขาล จุลศักราช ๗๑๒ (พ.ศ.๑๘๙๓) คราวสมเด็จพระรามาธิบดีพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยา พระนารายณ์รามาธิราชแห่งเมืองรามราช “มีพระบรมราชโองการให้นายตำรวจรับเอาองค์พระนารายณ์เทวา พระศรีลักษมี พระมเหวารีย์บรมหงส์ ชิงช้าทองแดง เอาลงบรรทุกเภตราแล้ว แลมีพระราชโองการให้จัดเอาชีพ่อเปนภาษา ๕ เหล่า มอบให้แผดงธรรมนารายน์เปนนายให้คุมชีพ่อ ๕ เหล่า รับเอานารายน์เทวารูปเอาไปกรุงนครศรีอยุทธยาไว้สำหรับโพธิสมภารสนองต่างองค์สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี...แลเกิดอัศจรรย์ลมพายุพัดเป็นหมอกเมฆมืด ๗ วัน ๗ คืน แลมายาพระนารายน์เทวารูปให้นิฤมิตรแต่เจ้าพญาโกษา ว่าเราเสด็จอยู่เมืองนคร... แลเจ้าพญานคร พระหลวงกรมการคิดพร้อมกันแต่งสถานเสร็จแล้ว พระนารายน์เทวารูป พระศรีลักษมี พระมเหวารีย์บรมหงส์ ชิงช้าทองแดง เอาขึ้นไว้ท้ายเมืองตำบลท่าม้า” จากหลักฐานนี้แสดงว่าเทวรูปพระพรหม คติเรื่องพระพรหมทรงหงส์เข้ามาสู่เมืองนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๘๙๓ เป็นต้นมา หนังสือเรื่องเดียวกันได้กล่าวอีกตอนหนึ่งว่า “พระสยมภูวนาถ ซึ่งจะทำการบูชาภิเศกหงษ์ พระกุมภ์นั้นเปนการใหญ่ ผู้อื่นทำไม่ได้ เปนชาติตระกูลพนักงานขุนพรหมสุทธิชาติราชปุโรหิตได้ทำการช้าหงษ์ส่งเสด็จไปศิวาไลยไกรลาส...เมอพยูหัวดำเนินเข้าเมือง จะได้รักษาวัด พระสิ่งหนึ่งสิ่งใดหามิได้ เมื่อจะขึ้นหงษ์ ขุนยศจ่ายผ้าขาว ๔ ผืน เงินวัดจำสองบาท ได้แก่ พระครูพรหมสุทธิชาติ แลขุนยศ ขุนจันปลัดรองรับพระแลกระดานมาไว้ สถานกลางอิกสถานพระนารายน์ผู้เปนเจ้าทำการช้าหงษ์เสมือนกัน”
ที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้พบหงส์สำริดตัวหนึ่งขนาดยาว ๖๘.๕๐ เซนติเมตร หล่อขึ้นอย่างประณีตสวยงาม ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช เข้าใจกันว่าทำขึ้นใช้ต่างหม้อน้ำมนต์ตามคติพราหมณ์ที่เชื่อถือว่าหงส์เป็นสัตว์ที่ศักดิ์สิทธิ์
หงส์ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในภาคใต้ปรากฏในรูปประติมากรรมตามหน้าบันอุโบสถและวิหารทั้งพระอารามหลวงและวัดราษฎร์ ทั้งที่เป็นงานแกะสลักไม้และปูนปั้นเป็นรูปพระพรหมทรงหงส์ อันแสดงถึงความเชื่อมโยงประสานระหว่างคติพราหมณ์กับพุทธ ซึ่งลักษณะเช่นนี้เห็นได้ในวัฒนธรรมทุกสาขา นอกจากนี้ตามวัดในชนบทสมัยก่อนมักมีเสาหงส์ปักอยู่หน้าอุโบสถหรือหน้าวัดเกือบทุกวัด คตินิยมอันนี้มีในภาคอื่น ๆ ของประเทศไทยด้วย บางท่านเชื่อว่าคตินี้น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากมอญและพม่า กล่าวคือ ครั้งกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งแรกในสมัยแผ่นดินพระมหินทราธิราช พม่าตั้งให้พระมหาธรรมราชาเป็นผู้ควบคุมกรุงศรีอยุธยาได้มีท้องตราบังคับแก่ไทย ๓ ประการคือ (๑) ให้พระสงฆ์ที่ห่มคลุมห่มดองและจีบพาดบ่ามีผ้าคาดอก เปลี่ยนเป็นห่มจีวรม้วนซ้ายชายแหวก (๒)ให้หญิงไทยไว้ผมเกล้ามวย และ (๓) ให้วัดหลวงและวัดราษฎร์ปักเสาหงส์ไว้ทุกวัด จนกระทั่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพแล้วจึงรับสั่งให้เลิกล้มท้องตรานั้นเสีย สาเหตุดังกล่าวนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ สำหรับกรณีภาคใต้ เพราะถือปฏิบัติที่มีอย่างไพศาลนั้นต่างถือปฏิบัติกันอย่างชื่นชมยินดีมากกว่าจะจำยอมรับวัฒนธรรมของอริราชศัตรูด้วยอำนาจทางการปกครอง สิ่งที่ประจักษ์ชัดคือมีวัฒนธรรมมอญและพม่าหลายอย่างมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมไทยในภาคใต้ แต่ก็ด้วยโยงใยทางศาสนจักรไม่ใช่อาณาจักร แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เมื่อมีการอ้างว่าการมีเสาหงส์หน้าวัดหรือหน้าอุโบสถเป็นเครื่องหมายของความเป็นทาสพม่า ความชื่นชมศรัทธาที่เคยมีมาก็กลับร่วงโรยแล้วเลิกไปโดยสิ้นเชิง (เมื่อสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี) ถึงกระนั้นยังพบร่องรอยเสาหงส์ร้าง และตัวหงส์ที่ยังเก็บซุกหลงเหลืออยู่บ้าง เพราะบางคนยังอาจอาลัยต่อคุณค่าทางศิลปะของตัวหงส์ บางตัวที่แกะสลักด้วยไม้อย่างประณีตประจง มีรูปทรงระเหิดระหงเพราะผู้ทำมักทุ่มเทฝีมือเป็นพุทธบูชาอย่างสุดความสามารถ
นอกจากนี้ยังพบงานแกะสลักลายไม้ตามบานประตูและหน้าต่างเป็นรูปหงส์ประกอบเครือเถา ทำนองเดียวกับที่นิยมประดิษฐ์เป็นรูปครุฑ กินรี สิงโต ราชสีห์ และสัตว์ในนิยายอื่น ๆ ดังเช่น ที่บานหน้าต่างกุฏิวัดโพธาราม ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้น ที่ทำคันทวยอุโบสถ และคันทวยวิหารเป็นรูปหงส์ก็มาก
ประเพณีบวชนาค นอกจากนิยมทำคานหามสำหรับแห่นาคเป็นรูปม้าตามคติที่ว่าพระพุทธองค์ทรงม้ากัณฐกะออกสู่มหาภิเนษกรมณ์แล้ว พบว่าในภาคใต้ที่นิยมทำเป็นรูปหงส์ก็มีไม่น้อย
วรรณกรรมพุทธศาสนาเรื่องสุทธิกรรมชาดกซึ่งแพร่หลายมากในภาคใต้ ใช้หงส์ทองของพระราชาเป็นตัวสำคัญในการดำเนินเรื่องและนำไปสู่สารัตถะของเรื่อง กล่าวคือ พระโพธิสัตว์ซึ่งเสวยพระชาติเป็นสุทธิกรรมกุมารได้ใช้หงส์ทองเป็นเครื่องพิสูจน์น้ำพระทัยของพระราชา พร้อมกับพิสูจน์น้ำใจของภรรยาและมิตรโดยสุทธิกรรมแกล้งขโมยหงส์ทองของท้าวพรหมทัตไปซ่อนไว้ แล้วหลอกภรรยาว่าตนขโมยหงส์ทองพระราชาฆ่ากินเสีย ให้ภรรยาช่วยปกปิดมิเช่นนั้นก็จะมีโทษถึงประหาร แต่ในที่สุดภรรยาคบคิดกับเพื่อนหักหลังโดยนำความไปกราบทูลเพื่อเอาชีวิตสามีแลกกับรางวัลค่าบอก แต่ในที่สุดเมื่อพระราชาทรงทราบความจริงก็พระราชทานอภัยโทษแก่สุทธิกรรม เรื่องสุทธิกรรมชาดกกล่าวถึงลักษณะของหงส์ทองไว้เพียงสั้น ๆ แต่ก็พอแลเห็นลักษณะของหงส์ในจินตนาการของชาวภาคใต้ได้เด่นชัด ดังคำประพันธ์ว่า “ไปพบหงษ์ทอง ตัวหนึ่งเป็นของ รักแห่งพระยา ขึ้นมาจากสระ กระพือปักขา จับกิ่งพฤกษา ราราแสงสุรี” ละอีกตอนหนึ่งว่า “ถึงอุโมงค์หงส์อยู่ นำเข้ามาสู่ ถวายแด่ทรงธรรม ท่านท้าวเห็นหงส์ ยังอยู่เฉิดฉัน รัศมีพรายพรรณ์ ไม่เศร้าหมองหมาย”
ลักษณะของหงส์ในสุทธิกรรมชาดก รู้ได้เพียงว่าเป็นสัตว์ที่ชอบเล่นน้ำในสระ บินเก่งอย่างนก ชอบเกาะบนต้นไม้ มีสีขนงามระยับ มีรัศมีราวแสงอาทิตย์ เป็นสัตว์ตระกูลสูง เป็นสมบัติแห่งราชาธิบดี (สุทธิกรรมชาดก)
วรรณกรรมเรื่องสุวรรณหงส์ ฉบับหลวงพุทธราชศักดา บ้านลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง กล่าวถึงการจำลองหงส์เป็นหงส์ยนต์ทองคำที่พระอินทร์เนรมิตให้มาตลีเทพบุตรนำมาประทานแก่ท้าวสุธรรม์ธิบดีเป็นของขวัญแก่พระราชโอรส ลักษณะของหงส์ยนต์ซึ่งเป็นรูปหงส์จำลองนั้น มีว่า “ยอดเพชรประดับจะนับคณนา แต่ละยอดท่านว่า ค่าแสนตำลึงทองฯ เพชรประดับสองตา ทั้งซ้ายทั้งขวา ค่าเมืองเรืองรอง” และหงส์ยนต์ตัวนี้เป็นเหตุให้ท้าวสุธรรม์ธิบดีพระราชทานนามพระราชโอรสว่า “สุวรรณหงส์” ดังคำประพันธ์ว่า “เราจักถวายนาม ลูกรักโฉมงาม ตามหงส์ทองยนต์ ชื่อสุวรรณหงส์ทอง เราปองมงคล” ตัวนี้ก็กลายเป็นพาหนะวิเศษของพระสุวรรณหงส์ (ดู สุวรรณหงส์) เรื่องสุวรรณหงส์นี้น่าจะมีส่วนสัมพันธ์กับศิลปะการประดิษฐ์รูปหงส์ที่เคยมีอยู่ก่อนและที่ส่งผลต่องานช่างฝีมือในภาคใต้ในกาลต่อมา
หงส์ที่ปรากฏในนาฏกรรมของภาคใต้ที่พบมากคือในขนบนิยมของโนรา ปรากฏหลายลักษณะ เช่น การแต่งกายของตัวโนราต้องมีหางหงส์เป็นส่วนสำคัญ (ดู หางหงส์) ทำรำแม่บทของโนราหลายท่าจินตนาการตามลักษณะของหงส์ทองในนิยาย เช่น ท่า “หงส์ลินลา” หรือ “หงส์ลีลา” (หงส์เดิน) “หงส์ทองล่องลอย” (หงส์เล่นน้ำ) ดังบทร้องที่ว่า “ท่านพระยาหงส์ทอง ลงลอยล่องลำน้ำไหล ลอยตรงลงไปยังปากน้ำพระคงคา” หรือ “หงส์ทองลอยล่องในคงคา เหมราเล่นน้ำสำราญนัก” เฉพาะบทร้องบทหลังนี้ นายโรงโนราหลายคณะอธิบายว่า “เหมราเล่นน้ำ” ก็คือ “หงส์เหมราเล่นน้ำ” หมายถึงหงส์ทองเล่นน้ำนั้นเอง แต่โนราหลายคณะแปลงบทร้องตอนนี้ว่า “หงส์ทองลอยล่องว่ายน้ำมา พวกเหราเล่นน้ำสำราญนัก” เหราในที่นี้หมายถึงจระเข้ จึงทำให้มีท่ารำท่าจระเข้เล่นน้ำเสริมขึ้นเป็นอีกท่าหนึ่งต่างหาก แต่ท่าจระเข้เล่นน้ำนี้โนราหลายคณะไม่ได้แสดงท่ารำพิเศษออกไป ที่ปรากฏชัดก็คือท่ารำแบบของขุนอุปถัมภ์นรากร ซึ่งเป็นท่าที่ท่านคิดเสริมขึ้นเมื่อครั้งสอนศิษย์ที่เป็นนักศึกษาจากโรงเรียนสตรีฝึกหัดครูสงขลา แล้วท่านี้ก็นิยมต่อกันมาในกลุ่มของโนราที่เป็นของสถานศึกษา ไม่ใช่โนราอาชีพหรือโนราที่เป็นศิลปินพื้นเมืองอย่างแท้จริง
ขนบนิยมที่เป็นของโนราโบราณที่เป็นศิลปะการรำชุดพิเศษเกี่ยวกับพญาหงส์ก็คือ “การรำคล้องหงส์” ซึ่งมีบทช้าพญาหงส์ด้วย (ดู คล้องหงส์)
จดหมายเหตุเรื่องเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ พ.ศ.๒๔๕๘ เป็นบันทึกเหตุการณ์ประจำวันเกี่ยวกับพระราชภารกิจในพระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินตรวจราชการและทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรในท้องที่จังหวัดปัตตานี เฉพาะเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๘ นั้น ทรงบันทึกถึงขบวนแห่รับเสด็จที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และราษฎรในจังหวัดปัตตานีจัดมาถวาย ทอดพระเนตรเฉลิมพระเกียรติยศและแสดงความจงรักภักดี ปรากฏว่าขบวนดังกล่าวได้ตกแต่งเป็นรูปสัตว์ชนิดต่าง ๆ มากมาย ในจำนวนนี้มีที่ตกแต่งเป็นรูปหงส์รวมอยู่ด้วย ๓ ขบวน คือ ขบวนของนายบุศ กำนันตำบลตุยง ขบวนของนายนิกุโน กำนันตำบลเกาะเปาะ และขบวนของนายเจ๊ะมูซอ กำนันตำบลคลองตันหยง ทรงพรรณนาลักษณะขบวนแต่ละขบวนไว้ว่า มีธงบอกชื่อตำบลที่เป็นเจ้าของขบวนแห่ทุกตำบล มี หญิงทูนบายศรีเหนือศีรษะ ๒ แถว เดินนำหน้าขบวนรูปสัตว์ต่าง ๆ ที่ประดิษฐ์ตกแต่งไว้บนคานหาม มีคน หามตั้งแต่ ๕๐-๖๐ คน และมีคนถือพานโปรยข้าวตอกดอกไม้ตามหลังขบวน มีปี่ชวา ฆ้อง กลอง เครื่อง ดนตรีประโคมเสียงกึกก้อง มีคนติดตามแต่ละขบวนตั้งแต่ ๓๐๐-๔๐๐ คน เนืองแน่นท้องสนาม
วัฒนธรรมการแห่นกของเมืองปัตตานี ซึ่งมีมาช้านานและเป็นประเพณีสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง (ดู แห่นก : ประเพณี) มีขนบนิยมบางประการที่น่าสนใจ เช่น การประดิษฐ์นกแต่ละชนิด (รวมทั้งหงส์) จะแยกทำเป็น ๒ ส่วน คือ หัวนกและตัวนก อนันต์ วัฒนานิกร ได้อธิบายถึงการทำหัวนกว่า หัวนกรุ่นเก่าที่นิยมทำกันในอำเภอยะรัง อำเภอหนองจิก และอำเภอเมืองปัตตานี นิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ตะเคียน ไม้กายี เนื้อไม้เหล่านี้ไม่แข็งเปราะจนเกินไป สะดวกในการแกะของช่าง และทนทานใช้ได้นานปี ช่างที่มีฝีมือและชำนาญการแกะสลักต้องใช้เวลาแกะสลักหัวนกแต่ละหัวนานประมาณ ๑-๒ เดือน ส่วนตัวนกนิยมใช้ไม้ไผ่ผูกเป็นโครงติดคานหาม แล้วนำกระดานมาติดรองพื้น ต่อจากนั้นก็ตัดกระดานสีทำเป็นขนประดับส่วนต่าง ๆ สีที่นิยม ได้แก่ สีเขียว สีทอง สีนอกนั้นจะนำมาสอดเสริมเพื่อให้ตัดกันแลดูเด่นขึ้น ที่สำคัญจะต้องมีพิธีสวมหัวนก ซึ่งนายกูเป้ง บ้านตลาดปรีกี อำเภอยะรัง และคณะผู้ประกอบพิธีในการจัดขบวนแห่นกของอำเภอยะรังเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ อธิบายว่า อุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีมีผ้าเพดานสำหรับขึ้นตรงหัวนก ๑ ผืน ขนาด ๑ x ๑ เมตร ข้าวเหนียวสมางัด (ข้าวเหนียว ๓ สี คือ เหลือง แดง ขาว) ๑ พาน ขนมดาดาหรือฆานม ๑ จาน ข้าวสาร (ย้อมสีเหลือง) ๑ จาน แป้ง น้ำหอม กำยาน เทียน ทอง เงิน เงินค่าบูชาครู ๑๒ บาท และใบอ่อนของมะพร้าว ๒-๓ ใบ นำของเหล่านี้ไปวางเซ่นบวงสรวงเบื้องหน้าหัวนก ผู้ประกอบพิธีจุดเทียน เผากำยานแล้วกล่าวคาถาบูชา บทกล่าวบูชาเอ่ยชื่อนกที่เป็นหลัก ๔ ชื่อ คือ ลักษมานอ กากสุระ แลกาปอ (นกเหยี่ยว) และซีงอ (นกสิงห์หรือหัสดีลิงค์) เป็นที่น่าสังเกตว่าคาถาบูชากล่าวถึงพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะด้วยเป็นทำนองอัญเชิญมาปกป้องภัยและขจัดจัญไร
หงส์ที่ปรากฏเป็นชื่อบ้านนามเมืองในภาคใต้ที่สำคัญ เช่น “เขานางหงส์” ในเขตจังหวัดพังงา (ดู ตำนานเขานางหงส์) “คอหงส์” ตำบลขึ้นอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา “หนองหงส์” ตำบลขึ้นอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช “ตำบลควนหนองหงส์” อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช “พังนางหงส์” พังเก็บน้ำอยู่ตำบลคลองรี อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
ข้าวพันธุ์พื้นเมืองภาคใต้บางชนิดมีคำหงส์ประกอบชื่อ เช่น ข้าวนางหงส์ นางหงส์ดอกแฝก เป็นต้น
ด้วยเหตุที่ชาวภาคใต้เชื่อถือว่าหงส์เป็นสัตว์มีตระกูลสูงและเป็นมงคล จึงนิยมประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้เป็นรูปหงส์กันอย่างกว้างขวาง เช่น ทำรูปของกรรไกรลิดและผ่าหมากเป็นรูปหัวหงส์ (ดู ไตรหัวหงส์) ประดิษฐ์ด้ามอาวุธด้ามเครื่องมือเครื่องใช้เป็นรูปหงส์ เช่น ด้ามกระจ่า ทอลายผ้าและประดิษฐ์ลายจักสาน (เช่น เสื่อกระจูด) เป็นรูปหงส์ แม้เรือกอและของชาวไทยมุสลิมบางลำก็นิยมเขียนลายหรือแกะสลักไม้ตรงส่วนที่เรียกว่า “บางา” สำหรับใช้เป็นที่วางไม้ค้ำถ่อหรือวางใบเรือเป็นรูปหงส์ (ดู กอและ : เรือ) สรุปว่า คตินิยมเรื่องหงส์ปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมภาคใต้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานศิลปะและช่างฝีมือ (สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์)