ฮะรอม

ฮะรอม



          ฮะรอม หรือ ฮาแร (มลายูถิ่น) ตามศัพท์ภาษาอาหรับ haram แปลว่า “ห้าม” ในบทบัญญัติของศาสนาอิสลามหมายถึง ข้อกำหนดที่ห้ามมุสลิมทุกคนกระทำหรือปฏิบัติ ถ้ากระทำหรือปฏิบัติจะได้บาป แต่ถ้าละเว้นจะได้บุญ สิ่งที่อิสลามกำหนดว่าเป็นฮะรอมนั้นมีอยู่หลายประเภท เช่น อาหาร เครื่องดื่ม การพนัน สิ่งเสพย์ติดให้โทษ และการละเล่นบางอย่าง เป็นต้น อนึ่ง คำว่า “ฮาเร็ม” ก็มาจาก haram หมายถึงสิ่งที่หวงห้ามหรือห้ามผู้ชายเข้าไปเกี่ยวข้อง อาหารที่ถือว่าเป็นฮะรอม หมายถึงอาหารต้องห้ามสำหรับมุสลิม ได้แก่ อาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์บางชนิด เช่น สุนัข หมู เนื้อสัตว์ที่เชือดโดยมิได้กล่าวนามของอัลลอฮฺ เนื้อสัตว์ที่เชือดเพื่อการบูชายัญ เนื้อสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์ดุร้าย สัตว์มีเขี้ยวและมีพิษ นกบางชนิดที่ใช้อุ้งเล็บสำหรับการล่าเหยื่อ แมลงที่น่าเกลียด เลือดสัตว์ทุกชนิด และสัตว์ที่ตายเอง ยกเว้นสัตว์จำพวกปลา ปู กุ้ง หอย และตั๊กแตน เป็นต้น

ส่วนเครื่องดื่มที่เป็นฮะรอมนั้น ได้แก่ เครื่องดื่มและสิ่งเสพย์ติดประเภทมึนเมา ทำให้ขาดสติสัมปชัญญะ มีนิสัยผิดปกติ เป็นโทษต่อร่างกายอย่างร้ายแรง ได้แก่ เหล้า เบียร์ กะแช่ น้ำเมาชนิดต่าง ๆ เฮโรอีน ฝิ่น และยาเสพย์ติดบางชนิด เป็นต้น สำหรับการละเล่นที่เป็นฮะรอมหมายถึงการละเล่นในด้านบันเทิง การร้องรำทำเพลงมีเพศชายเพศหญิงปะปนกัน และการแสดงที่เป็นไปนอกแนวทางของหลักศาสนาอิสลาม อันรวมถึงมหรสพต่าง ๆ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการเล่นการพนันและการเสี่ยงโชคต่าง ๆ อีกด้วย

ฮะรอมในการประกอบพิธีฮัจญ์  ในการไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะฮฺ มีข้อห้ามหลายอย่าง ได้แก่ ห้ามผู้ชายนุ่งห่มด้วยผ้าที่เย็บติดกัน ห้ามคลุมศีรษะ ห้ามผู้หญิงปิดหน้าหรือสวมถุงเท้า ห้ามหญิงหรือชายทำผม เล็บ หรือขนให้ร่วงหลุด ห้ามใช้ของหอม ห้ามล่าสัตว์ ห้ามร่วมประเวณี ห้ามแต่งงานและห้ามตัดหรือโค่นต้นไม้ในบริเวณที่ประกอบพิธีฮัจญ์ ผู้ใดทำผิดดังกล่าวนอกจากจะเป็นบาปแล้วยังต้องเสียค่าปรับ (พินัยทาน) ด้วยการเชือดอูฐหรือแพะหรือออกเงินซื้ออาหารแจกแก่คนจนเท่าจำนวนราคาอูฐหรือแพะ

ฮะรอมสำหรับผู้ไม่อาบน้ำวายิบ ผู้ไม่อาบน้ำวายิบ (ดู อาบน้ำวายิบ) ถือว่าเป็นบาปอยู่แล้วนอกจากเป็นบาปแล้วยังถูกลงโทษโดยห้ามกระทำในสิ่งต่อไปนี้อีกด้วยคือ ห้ามละหมาด ห้ามเดินเวียนบัยตุลลอฮฺ ห้ามจับต้องและอ่านคัมภีร์อัล-กุรฺอาน ห้ามเข้าในมัสยิด (เว้นแต่เดินผ่านแล้วไม่ย้อนกลับ) ห้ามร่วมประเวณีหรือให้สามีสัมผัสอวัยวะตั้งแต่สะดือลงไปถึงหัวเข่า และห้ามถือศีลอด (มาโนชญ์ บุญญานุวัตร)


ฮัจญ์

           ฮัจญ์ เป็นภาษาอาหรับตามรูปศัพท์ แปลว่า การมุ่งหรือการไปเยือน พิธีฮัจญ์ เป็นพิธีทางศาสนาอิสลาม หมายถึงการเดินทางไปประกอบศาสนกิจ ณ บัยตุลลฮฺ (หินดำ) ในนครมักกะฮฺ ประเทศซาอุดีอาระเบีย อันเป็นสถานที่ที่ศาสดามุฮัมมัดเกิดและได้รับโองการจากพระเจ้าครั้งแรก พิธีฮัจญ์ เป็นศาสนกิจข้อที่ ๕ ของมุสลิม แต่ให้ปฏิบัติเฉพาะบุคคลที่มีความสามารถเท่านั้น บุคคลที่มีความสามารถในการไปประกอบพิธีฮัจญ์หมายถึง มุสลิมที่มีสุขภาพแข็งแรง มีสติปัญญาสมบูรณ์ มีทรัพย์สินเพียงพอในการใช้จ่ายโดยมิต้องเป็นหนี้สิน และเดือดร้อนบุคคลที่ตนเองต้องรับผิดชอบ และเส้นทางที่จะเดินทางนั้นก็ต้องปลอดภัยด้วย และผู้ที่จะไปประกอบศาสนกิจพิธีอัจญ์นี้จะต้องเป็นผู้ที่ประกอบศาสนกิจข้ออื่น ๆ เช่น การละหมาด การถือศีลอด การบริจาคซะกาตครบสมบูรณ์ก่อน ทั้งนี้เพราะการไปทำฮัจญ์นั้นมิใช่เป็นการไปไถ่บาป แท้จริงการไปทำฮัจญ์นั้นเป็นเครื่องทดสอบความศรัทธา ความอดทนและความเสียสละ เป็นต้น การไปประกอบพิธีฮัจญ์เป็นกิจสำคัญของมุสลิมทุกคน (ตามเงื่อนไขดังกล่าว) ซึ่งสามารถจะมีโอกาส เพราะถ้าได้ไปแล้วถือว่าได้กุศลอย่างมาก การไปทำฮัจญ์นั้นกระทำได้ ณ นครมักกะฮฺแห่งเดียวเท่านั้น จะจำลองหินดำไปไว้ที่อื่นไม่ได้ การไป ณ นครมักกะฮฺจึงเป็นการชุมนุมครั้งสำคัญและยิ่งใหญ่ของโลกมุสลิมในรอบปี มุสลิมจากทั่วโลกไม่เลือกชาติ ภาษา เพศ ผิวพรรณ และชนชั้น เมื่อไปถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นแล้วถือว่าเท่าเทียมกันหมด ทุกคนมีวัตถุประสงค์ตรงกัน คือการไปนมัสการต่อพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกัน การทำพิธีฮัจญ์มี ๒ อย่าง คือ ฮัจญ์เล็ก (อุมเราะฮฺ) และฮัจญ์ใหญ่ การทำอุมเราะฮฺหรือฮัจญ์เล็กนั้น คือการไปทำพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะฮฺ นอกฤดูกาลทำฮัจญ์ใหญ่ คือจะไปทำอุมเราะฮฺวันใดก็ได้ในรอบปี ส่วนฮัจญ์ใหญ่นั้นจะต้องทำในเดือนซุ้ลฮิจญะฮฺ แห่งศักราชอิสลามอันเป็นวันก่อนวันรายอฮัจยี (วันฉลองฮัจญ์)

ความมุ่งหมายของการประกอบพิธีฮัจญ์ อิสลามได้ตั้งความมุ่งหมายสำหรับการประกอบพิธี ฮัจญ์ไว้ ๗ ประการ คือ

๑. เพื่อเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นเหตุผลเหนือสิ่งอื่นใด
๒. เพื่อให้มุสลิมทั่วโลกได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์ เกิดสัมพันธภาพและภราดรภาพ
๓. เพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเอกภาพและเสมอภาคในความเป็นพี่น้องกันตามหลักศาสนา เพราะว่าผู้ที่ไปประกอบพิธีฮัจญ์นั้นแม้จะมีผิวพรรณ ฐานะ และอื่น ๆ แตกต่างกัน แต่เมื่อทุกคนได้ไปสู่สถานชุมนุมแห่งนั้นแล้ว ก็จะอยู่ในสภาพและฐานะเดียวกันหมด
๔. เพื่อเป็นการทดสอบมนุษย์ในด้านการเสียสละสิ่งต่าง ๆ ในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า ตั้งแต่ทรัพย์สินเงินทองในการใช้จ่ายตลอดจนการที่จะต้องละทิ้งบ้านเรือน ครอบครัว ญาติพี่น้อง และอื่น ๆ เป็นต้น
๕. เพื่อเป็นการทดสอบความอดทนทั้งทางร่างกาย จิตใจ ในการที่จะต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ นานา เป็นการชำระล้างอุปนิสัยใจคอ ความประพฤติที่ไม่ดี และกิเลสตัณหาออกไป
๖. เพื่อให้มุสลิมได้รำลึกถึงประวัติศาสตร์ของอิสลาม เป็นการเพิ่มความศรัทธาให้มั่นคงยิ่งขึ้น
๗. เพื่อสร้างเจตคติที่ดีและยึดมั่นในอุดมการณ์ของอิสลามอย่างแน่วแน่และมั่นคง

การบำเพ็ญฮัจญ์เป็นหลักปฏิบัติของชาวมุสลิม เฉพาะผู้ที่มีความสามารถจะไปได้ ดังบทบัญญัติในอัล-กุรอาน ซูเราะฮฺอาลิอิมรอน : ๙๖ ว่า “ณ อัลบัยต์นี้เป็นหน้าที่ของมนุษย์ต่ออัลลอฮฺ ผู้ที่สามารถหาทางไปถึงมันได้” ผู้ที่สามารถจะไปถึงมันได้นั้น ได้แก่ ผู้ที่มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง ทนต่อความยากลำบากในการเดินทาง มีเสบียงหรือเงินทองสำหรับใช้จ่ายทั้งไปและกลับ นอกจากนี้ยังมีพอให้ครอบครัวใช้จ่ายด้วยและต้องมีพาหนะไปมาสะดวกและปลอดภัย

           ฉะนั้นบุคคลที่จะไปทำฮัจญ์ จะต้องได้รับการยินยอมหรือการอนุญาตจากบุคคลต่าง ๆ ในครอบครัว (ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้คนอยู่ข้างหลังต้องเดือดร้อน) และผู้ที่จะไปประกอบศาสนกิจข้อนี้ จะต้องเป็นผู้ที่ประกอบศาสนกิจข้ออื่น ๆ เช่น การละหมาด การถือศีลอด การจ่ายซะกาตครบบริบูรณ์ก่อน ทั้งนี้เพราะการไปทำฮัจญ์มิใช่การไปไถ่บาปดั่งที่บางคนเข้าใจ และไม่ใช่ศาสนกิจที่จะเป็นเครื่องโอ้อวดแสดงถึงความมั่งมี แต่แท้จริงการไปฮัจญ์เป็นเครื่องทดสอบความศรัทธาความอดทน ฯลฯ ฉะนั้นการนำที่ดินทรัพย์สินไปจำนองจำนำหรือขาย เพื่อนำไปประกอบพิธีฮัจญ์ เมื่อกลับมาแล้วไม่มีที่ทำกินหรือเป็นเหตุที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ลูกหลาน จึงเป็นการกระทำที่ผิดศาสนบัญญัติ เช่นเดียวกันกับคนที่มีความสามารถพร้อมแต่ไม่ยอมไป เพราะเสียดายทรัพย์สินจะพร่องไป ส่วนการประกอบพิธีฮัจญ์ให้คนตาย (อูเปาะฮัจญี) คือ การมอบเงินให้คนเป็นไปทำให้คนตายและการไปประกอบพิธีฮัจญ์แทนกัน คือ ยังมีชีวิตอยู่แต่ไม่สามารถไปเองได้จึงให้บุคคลหนึ่งเดินทางไปทำแทน ทั้งสองประเด็นนี้มีทำกันอยู่แต่ไม่ปรากฎในหลักฐานจากอัล-กุรอานและซุนนะห์ว่าให้กระทำ

กำหนดเวลาของการไปทำฮัจญ์

ในปีหนึ่ง ๆ มุสลิมจากทั่วโลกจะเดินทางไปประกอบพิธีพร้อมกันหนึ่งครั้ง พิธีจะทำในเดือนซุ้ลฮิจญะฮฺ ของแต่ละปี โดยใช้เวลาประมาณ ๒ อาทิตย์

สถานที่ในการประกอบพิธีฮัจญ์

          สถานที่ในการประกอบพิธีฮัจญ์ มีเพียงแห่งเดียวในโลก มุสลิมไม่สามารถจะไปประกอบพิธีที่ใดตามใจชอบ เช่น การไปเที่ยวสถานที่ของการประกอบพิธีฮัจญ์อยู่ที่บัยตุลลอฮฺในนครมักกะฮฺ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่มุสลิมถือเป็นทิศทางการหันไปสู่ในการละหมาดหรือทำละหมาด ที่เรียกว่าทิศกิบละฮฺ บัยตุลลอฮฺ แปลว่า บ้านของอัลลอฮฺ ซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กะอฺบะฮฺ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในใจความของคัมภีร์อัล-กุรฺอานหลายตอน เช่น ซูเราะฮฺอาลิอิมรอน : ๖๙ “แท้จริงบ้านหลังแรกที่ถูกตั้งขึ้น (เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมแห่งการเคารพ ภักดี) สำหรับมนุษยชาตินั้นแน่นอน (ณ หว่างเขา) ที่มักกะฮฺ โดยเป็นที่จำเริญและทางนำสำหรับสำหรับ ประชาชาติทั้งหลาย”

“อัลลอฮฺได้ทรงทำอัลกะอฺบะฮฺ เป็นบ้านต้องห้าม (อันจะละเมิดมิได้) ที่อุปการะ (เจือ) สำหรับ มนุษย์”

“บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย พวกตั้งภาคี (เช่น บูชาเจว็ด) นั้นโสมมแท้ ๆ ดังนั้นจงอย่าให้พวกเขาเข้าใกล้มัสยิดอัลหะรอม หลังจากปีนี้ของพวกเขา (ฮิจญ์เราะห์ที่ ๙) และถ้าสูเจ้ากลัวความยากจน (เพราะไม่ได้ค้าขายกับพวกเขา ดังนั้นไม่ช้าอัลลอฮฺจะทรงให้สูเจ้ามั่งคั่ง (จากทรัพยากรธรรมชาติและอื่น ๆ) ด้วยความโปรดปรานของพระองค์ มาตรพระองค์ทรงประสงค์ แท้จริงอัลลอฮฺทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณจากใจความคัมภีร์อัล-กุรฺอานนี้ทำให้ทราบว่าอัลบัยต์ เป็นเคหะหลังแรกที่ถูกสร้างขึ้นไว้ใช้เป็นศูนย์รวมแห่งความเคารพภักดีต่อพระเจ้า ซึ่งสถานที่นั้นมีชื่อเรียกต่าง ๆ อาทิ อัลบัยตุลหะรอม อัลมัสยิดดุลหะรอม อัลกะอฺบะฮฺ ฯลฯ และเป็นดินแดนต้องห้าม คือ ห้ามผู้ที่มิใช่มุสลิมเข้าไปในบริเวณนี้ บัยตุลลอฮฺนี้ สร้างขึ้นในสมัยของท่านนบีอิบรอฮีม ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลฯ ดังอัล-กุรฺอานระบุไว้ว่า

“พระองค์ได้ทรงเลือกสูเจ้า (ให้เด่นกว่าประชาชาติอื่น ๆ) และมิได้ทรงวางภาระ (ขัดข้องหรือยุ่งยาก) ใด ๆ แก่สูเจ้าในเรื่องศาสนา ซึ่งเป็นหลักธรรมของบรรพบุรุษของสูเจ้า คือ (ของ) อิบรอฮีม พระองค์ได้ทรงเรียกชื่อสูเจ้าว่า มุสลิม”

“แท้จริง อิบรอฮีมเป็นแบบอย่าง (หรือหัวหน้าแห่งคุณธรรม) เป็นผู้ภักดีต่ออัลลอฮฺ เป็นผู้เที่ยงธรรม และเขาไม่ได้เป็นยิว และไม่เป็นคริสต์”

ฉะนั้นการฮัจญ์จึงมิได้เพิ่งมีในสมัยท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลฯ หากแต่มีมาในสมัยท่านนบีอิบรอฮีม ซึ่งในสมัยต่อจากท่าน ประชากรอาหรับได้หลงทางติดอยู่กับการบูชาเจว็ดหรือเทวรูป

กะอฺบะฮฺหรือบัยตุลลอฮฺ คืออาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งอยู่ตรงกลางมัสยิดดุลหะรอม (บริเวณรอบบัยตุลลอฮฺ) ผนังทั้ง ๔ ด้านตั้งเฉียงกับทิศ และมุมทั้ง ๔ จะมีชื่อเรียกต่างกัน เช่น

“มุมทางตะวันออกเรียกว่า อัล-ฮุกนุลอัสวัด เพราะที่ตรงนั้นมีหินดำติดไว้อยู่”

           ผนังทั้ง ๔ ด้านของอัลกะอฺบะฮฺ มีผ้าคลุมไว้เรียกว่ากิสวะฮฺ แปลว่าผ้า เปิดช่องไม่คลุมตรงที่ประตู และที่รางน้ำ ประตูของอัลกะอฺบะฮฺ อยู่ที่ผนังทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ สูงจากนั้นราว ๗ ฟุต ประตูนี้ไม่ได้อยู่ตรงตอนกลางของผนังด้านนี้ แต่ค่อนไปทางที่ตั้งหินดำ เมื่อเปิดก็จะมีบันไดทอดเพื่อให้คนปีนเข้าไปได้ เลยด้านนี้ไปทางขวาของผู้ที่หันหน้าเข้าประตู มีที่ว่างเรียกว่า อัล-หิจญ์รุ-ที่หวงห้าม มีกำแพงเตี้ย ๆ สูงราว ๓ ฟุต เป็นรูปครึ่งวงกลมก่อล้อมไว้ตรงมุมหนึ่งของกำแพงรูปครึ่งวงกลมนี้ ซึ่งอยู่ตรงริมของผนังที่ตรงข้ามกับผนังที่มีประตู มีทางให้เข้าไปในบริเวณนั้นได้ เรียกที่นั้นว่า หะฎีม ในการเฏาะวาฟนั้นให้เดินรอบหะฎีมนี้ด้วย รางทองซึ่งให้น้ำฝนไหลลงที่หะฎีมนี้ เป็นของตุรกีส่งมาจากนครอิสตันบุลเมื่อ ฮ.ศ.๘๓๑ ตรงมุม ตะวันออกนั้นมีหินดำเรียกว่า หัจญรุลอัสวัดติดไว้อยู่ในผนังสูงจากพื้นราว ๕ ฟุต เป็นหินดำออกแดงมีเส้นผ่านศูนย์กลางราว ๘ นิ้ว แต่ที่มีอยู่ขณะนี้แตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้ว มีลวดเงินรัดไว้ บนลานกว้างของกะอฺบะฮฺ นั้น มีที่ยืนของท่านนบีอิบรอฮีม (อะลัยอิสลาม) เรียกว่ามะกอมอิบรอฮีม แสดงว่าท่านนบีอิบรอฮีมมีส่วน เกี่ยวข้องกับอัลกะอฺบะฮฺ นับแต่โบราณกาล ถัดไปทางซ้ายมือเมื่อเราหันหน้าไปทางประตูของอัลกะอฺบะฮฺ มีบ่อน้ำซัมซัม

บ่อน้ำซัมซัม

          นบีอิบรอฮีม (อ.ล.) ได้รับคำสั่งจากพระผู้เป็นเจ้าให้พานางฮาญัรฺ ผู้เป็นภรรยาออกจากดินแดน ปาเลสไตน์ ไปสู่ดินแดนทะเลทรายในแคว้นอัล-หิญาซ ซึ่งท่านได้รับพระบัญชาโดยนอบน้อมและศรัทธา นบีอิบรอฮีมได้ให้นางฮาญัรฺพักอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง ในที่สุดนางฮาญัรฺได้คลอดนบีอิสมาแอล นางจึงออกไปหาน้ำ นางวิ่งไปวิ่งมา ทางนี้และทางโน้นเพื่อหาน้ำแต่ไม่มีร่องรอยของน้ำเลย ในที่สุดนางก็วิ่งมาหาลูกน้อยของนางด้วยความทุกข์และเป็นห่วงอย่างยิ่ง แต่เมื่อนางกลับมาถึงแล้ว จึงรู้ว่าอัลลอฮฺไม่ได้ทรงทอดทิ้งชีวิตทั้งสองนี้ เพราะว่าใกล้ ๆ ตรงที่อิสมาแอลอยู่นั้น นางเห็นน้ำพุออกมาจากตาน้ำ นางจึงรีบป้องน้ำไว้แล้ววักให้ลูกดื่ม ตัวนางเองก็ดื่มด้วยตั้งแต่บัดนั้นมา นางฮาญัรฺและอิสมาแอลก็พำนักอยู่ใกล้ ๆ ตาน้ำน้ำ นางเรียกมันว่า ซัมซัม กองคาราวานอูฐที่บรรทุกสินค้าผ่านไปมา ก็จะแวะที่ซัมซัม เพื่อเอาน้ำดื่มให้อูฐดื่มน้ำและเพื่อพักผ่อน ในตอนแรกซัมซัมได้กลายเป็นบ่อน้ำเล็ก ๆ มีต้นอินผลัมขึ้นเรียงราย แต่ต่อมาก็ขยายกว้างขวางขึ้น จนเป็นศูนย์การค้าของคาบสมุทรอาหรับ ที่ตรงนั้นได้ชื่อว่า นครมักกะฮฺ

ครั้งหนึ่ง ท่านนบีอิบรอฮีม (อะลัยอิสลาม) ได้เดินทางมาเยี่ยมนางฮาญัรฺและอิสมาแอล อัลลอฮฺได้ทรงบัญชาให้ท่านและบุตรชายของท่านสร้างอัลกะอฺบะฮฺ อันเป็นอาคารหลังแรกที่ได้ถูกสร้างขึ้น สำหรับ ปฏิบัติการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺด้วยความนอบน้อม ทั้งสองได้ช่วยกันสร้างอัลกะอฺบะฮฺ อันถือว่าเป็นอาคารของอัลลอฮฺ มัสยิดทุกแห่งก็ได้ชื่อว่าเป็นอาคารของอัลลอฮฺเช่นกัน

การแต่งกายในพิธีฮัจญ์

ทุกคนจะแต่งกายด้วยผ้าสีขาว ๒ ผืน สำหรับชายและหญิงในชุดที่ปิดมิดชิดเว้นแต่ใบหน้าและฝ่ามือ ผ้าโสร่ง กางเกง หมวก ถุงเท้า ถุงมือ และเครื่องประดับต่าง ๆ ทุกคนต้องไม่ใช้ ฉะนั้นไม่ว่าราชาหรือยาจก ผิวขาว ผิวดำ นาย บ่าว ทุกคนจะแต่งกายเหมือนกัน เรียกว่าครองเอี๊ยะห์รอม ซึ่งในระหว่างนี้มีข้อห้ามต่าง ๆ หลายประการ

ความมุ่งหมายและข้อคิดจากการประกอบการฮัจญ์

๑. เพื่อให้มุสลิมจากทั่วทุกมุมโลกมีโอกาสได้มาพบปะสังสรรค์ เกิดสัมพันธภาพและภราดรภาพดังวจนะที่ว่า “มุสลิมทุกคนเป็นพี่น้องกัน” ซึ่งกล่าวได้ว่าพิธีฮัจญ์เป็นการประชุมสมัชชาแห่งโลกที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งยังไม่มีประชาชาติใดทำได้เหมือน นอกจากมุสลิมที่มีความศรัทธาและความสามารถพอจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกปีละเป็นแสน ๆ คน
๒. เพื่อให้เกิดความเสมอภาค เพราะผู้ที่มาประกอบพิธีฮัจญ์ในปีหนึ่ง ๆ จะมีเชื้อชาติ ผิวพรรณ ฐานะ ฯลฯ แตกต่างกัน แต่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นราชาหรือยาจก ผิวขาวหรือดำ ฯลฯ ต่างอยู่ในเครื่องแต่งกายด้วยผ้าขาว ๒ ชิ้น (ชุดเอี๊ยะห์รอม) โดยปราศจากเครื่องประดับใด ๆ ทั้งสิ้น เหมือนกันหมด และต้องทำพิธีเหมือนกัน โดยไม่มีใครได้อภิสิทธิ์ใด ๆ
๓. เป็นการทดสอบมนุษย์ในการเสียสละสิ่งต่าง ๆ ในหนทางของพระองค์ ตั้งแต่ทรัพย์สินเงินทอง ในการใช้จ่าย การต้องละทิ้งบ้านเรือน ครอบครัวและญาติพี่น้อง
๔. เพื่อฝึกฝนและทดสอบความอดทน ทั้งร่างกายและจิตใจ ในการต้องไปเผชิญอุปสรรคทั้งปวง เพราะการเดินทางก็ตาม หรือการต้องไปอยู่ต่างแดนก็ตาม ฯลฯ คงไม่สบายเหมือนการนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่กับบ้านตนเองที่มีสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันไป นอกจากนั้นกิจกรรมบางอย่างจะเป็นการทดสอบความอดทน อย่างดี
๕. ฝึกการสำรวมตน ละทิ้งอภิสิทธิ์ต่าง ๆ เพราะทุกคนต้องปฏิบัติตนตามวินัยบัญญัติของพิธีฮัจญ์ เช่น การล่าสัตว์ ตัดต้นไม้ การพูดและปฏิบัติในสิ่งที่ดีงาม การร่วมประเวณี เป็นต้น
๖. เพื่อให้มุสลิมได้รำลึกถึงประวัติศาสตร์ของอิสลาม เป็นการเพิ่มศรัทธาให้มั่นคงยิ่งขึ้น

คุณสมบัติของผู้จะไปประกอบพิธีฮัจญ์

๑. เป็นมุสลิม
๒. บรรลุศาสนภาวะ
๓. เป็นอิสระ
๔. เป็นผู้ที่มีความสามารถทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์
๕. มีเสบียงที่เป็นอาหารและน้ำตลอดเวลาการเดินทางทั้งไปและกลับ
๖. มีพาหนะสำหรับการเดินทาง เช่น เรือ เครื่องบิน เป็นต้น
๗. เส้นทางปลอดภัย
๘. ในกรณีที่เป็นสุภาพสตรีจะต้องมีสามีหรือญาติที่แต่งงานด้วยกันไม่ได้ตามทัศนะอิสลามร่วมเดินทางไปด้วย

หลักการของการประกอบพิธีฮัจญ์ (รุกน)

การประกอบพิธีฮัจญ์ มีหลักการ ๕ ประการดังนี้

๑. ทำการเอี๊ยะห์รอม โดยการรำลึกเจตนาว่า ข้าพเจ้าตั้งใจบำเพ็ญฮัจญ์ และครองเอี๊ยะห์รอมเพื่ออัลลอฮฺ และนุ่งขาวห่มขาว
๒. วูกุฟ คือการหยุดพักหรือค้างแรมที่ทุ่งอัรฟะฮฺ ในวันที่ ๙ เดือนซุ้ลฮิจญะฮฺ โดยเริ่มตั้งแต่บ่ายวันที่ ๙ ถึงแสงอรุณขึ้นวันที่ ๑๐
๓. ฎอวาฟ หมายถึงการเดินเวียนรอบบัยตุลลอฮฺ (กะอฺบะฮฺ) ตามหลักเกณฑ์ เวียนจากซ้ายไปขวา ๗ รอบ
๔. สะแอ คือการเดินทางไปมาระหว่างภูเขาซอฟากับมัรวะฮฺ ๗ เที่ยว (นับไปหนึ่งมาสอง) โดยเริ่มต้นจากซอฟา ไปสิ้นสุดที่เขามัรวะฮฺ ภายหลังการฏอวาฟ
๕. การโกนผมหรือตัดผมอย่างน้อย ๓ เส้น ในการออกเอี๊ยะห์รอม (ตาฮัลโล้ล)

สิ่งที่ต้องปฏิบัติในการทำฮัจญ์

สิ่งที่ต้องปฏิบัติในการประกอบพิธีฮัจญ์ มี ๖ ประการ ถ้าผู้ปฏิบัติขาดข้อใดข้อหนึ่ง เขาต้องเสียดัมคือ การฆ่าแพะ และแจกเนื้อแพะแก่คนยากจน ได้แก่

๑. เอี๊ยะห์รอม คือการสวมชุดขาวและมีการรำลึกเจตนาที่มีคอตฺ (เขตที่กำหนดเอาไว้)
๒. การขว้างเสาหินทั้ง ๓ ต้น ๆ ละ ๗ เม็ด โดยขว้างครั้งละ ๑ เม็ด ที่มีนา
๓. การค้างแรมที่ทุ่งมุซดาลีฟะฮฺ
๔. การค้างแรมที่ทุ่งมีนาในเวลากลางคืนของวันตัซริก (วันที่ ๑๑, ๑๒, ๑๓ เดือนซุ้ลฮิจญะฮฺ)
๕. การฏอวาฟวีดะฮฺ (ฏอวาฟอำลา) ๗ รอบ เป็นการฏอวาฟอำลานครมักกะฮฺ
๖. ไม่กระทำสิ่งต้องห้ามของการเอี๊ยะห์รอม

หลักการฏอวาฟ

๑. ปิดอวัยวะส่วนที่บังคับให้มิด
๒. ปราศจากหะดัษเล็กและหะดัษใหญ่
๓. ปราศจากสิ่งโสโครกสกปรก
๔. ให้บัยตุลลอฮฺอยู่ทางด้านซ้ายตลอดเวลา
๕. เริ่มฏอวาฟที่หินดำ
๖. ต้องให้หินดำอยู่ตรงกับร่างกายขณะเริ่มฏอวาฟ
๗. ปฏิบัติให้ครบ ๗ รอบ
๘. ให้ฏอวาฟในมัสยิดอัล-หะรอม
๙. อยู่ภายนอกหินโค้งอิสมาแอล
๑๐.ไม่หันเหออกภายนอก

 หลักการสะแอ

๑. เริ่มต้นที่เขาซอฟา
๒. สิ้นสุดเที่ยวที่เจ็ดที่มัรวะฮฺ
๓. ปฏิบัติให้ครบ ๗ เที่ยว
๔. กระทำภายหลังการฏอวาฟ

หลักการวูกุฟ

หลักการวูกุฟ คือครองชุดเอี๊ยะห์รอมต้องปรากฏตัวที่ทุ่งอัรฟะฮฺแม้เพียงชั่วครู่ก็ตาม

สิ่งที่ต้องห้ามในการประกอบพิธีฮัจญ์

๑. ห้ามผู้ชายนุ่งห่มด้วยผ้าที่เย็บติดกัน
๒. ห้ามผู้ชายคลุมศีรษะ
๓. ห้ามผู้หญิงปิดหน้าหรือสวมถุงเท้า
๔. ห้ามทั้งหญิง-ชาย ทำให้เล็บ ผมร่วงหลุด
๕. ห้ามใช้ของหอม เช่น ครีม น้ำหอม เป็นต้น
๖. ห้ามล่าสัตว์
๗. ห้ามร่วมประเวณี
๘. ห้ามแต่งงาน
๙. ห้ามตัดโค่น หรือทำลายต้นไม้ ในแผ่นดินหะรอม ถ้าหากว่ากระทำในสิ่งที่ต้องห้ามดังกล่าว จะต้องเสียค่าปรับเป็นพินัยทาน (ฟิดยะฮฺ)

สาเหตุที่ทำให้ฮัจญ์เป็นโมฆะ

สิ่งที่ทำให้ฮัจญ์เป็นโมฆะ ได้แก่ การร่วมประเวณีอย่างเจตนา ทั้งนี้ก่อนการออกจากเอี๊ยะห์รอม(ตะฮัลโล้ล ครั้งที่ ๑) เขาจำเป็นต้องปฏิบัติที่สิ่งค้างอยู่ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ และจำเป็นต้องชดใช้การทำฮัจญ์ใหม่ในปีต่อไป พร้อมกับต้องเสียค่าปรับสถานหนักอีกด้วย ถ้าร่วมประเวณีก่อนตะฮัลโล้ล ครั้งที่ ๒ ฮัจญ์ไม่เป็นโมฆะแต่ต้องเสียค่าปรับสถานหนักเช่นกัน ค่าปรับทั้ง ๒ กรณี เสียเฉพาะผู้เป็นสามีเท่านั้น

การเสียค่าปรับสถานหนัก ปฏิบัติดังนี้

๑. เชือดอูฐ ๑ ตัว แล้วแจกเนื้อเป็นทานแก่คนจน
๒. ถ้าไม่มีอูฐ หรือเงินไม่พอสำหรับซื้ออูฐ ให้ใช้วัวแทน
๓. ถ้าไม่มีวัว ให้ใช้แพะ ๗ ตัวแทน
๔. ถ้าไม่มีแพะ ให้คิดราคาอูฐแล้วซื้ออาหาร เช่น ข้าวสารแจกจ่ายคนยากจน
๕. ถ้าไม่มีเงิน ให้คิดราคาอาหารเป็นลิตร แล้วถือศีลอดแทนลิตรละ ๑ วัน

สรุปพิธีการทำฮัจญ์

          วันที่ ๘ เดือนซุ้ลฮิจญะฮฺ เวลาประมาณ ๓-๔ โมงเย็น บรรดาผู้คนจะทยอยออกไปสู่ทุ่งอัรฟะฮฺเพื่อไปวูกุฟในวันรุ่งขึ้น คืนนั้นจะนอนพักแรมอยู่ที่ทุ่งอัรฟะฮฺ วันรุ่งขึ้นหลังละหมาดบ่ายแล้ว จะเข้าเวลาของการวูกุฟ พอจะถึงเที่ยงคืนก็เตรียมตัวเพื่อจะเดินทางต่อไปยังมุซดาลีฟะฮฺ หลังเที่ยงคืนแล้ว ก็ได้เวลามาบิดที่มุซดาลีฟะฮฺสุนัตให้ทุกคนเก็บก้อนหิน ๗ เม็ด แล้วก็มุ่งตรงไปสู่ตำบลมีนา พอถึงมีนาก็จะข้างเสาหินก่อนที่จะเข้าไปยังเต็นท์ที่พัก พักแรมที่มีนา ๓ คืน แล้วก็จะโกนผมหรือตัดผมอย่างน้อย ๓ เส้น ก็เป็นอันเสร็จพิธีฮัจญ์

การประกอบพิธีฮัจญ์ทั้งในแง่คติธรรม (Spiritual) และวัตถุธรรม (Material) ต่างก็นำไปสู่ความสมบูรณ์ของมนุษย์ กล่าวคือในด้านคติธรรม เป็นการชำระจิตใจ เมตตาและเสียสละ เพื่อองค์อัลลอฮฺ สร้างความสามัคคีระหว่างมุสลิมเป็นการตัดกิเลส ความโลภ ความหลง และเตือนสติให้ระลึกถึงบทบัญญัติของอัลลอฮฺส่วนในด้านวัตถุธรรมนั้น การทำฮัจญ์เป็นสันนิบาตมุสลิมโลก เปิดโอกาสแก่บรรดามุสลิมที่จะสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า ระลึกถึงหลักภราดรภาพระหว่างกัน ดังอัล-กุรฺอานที่ระบุว่า “โดยแน่แท้ภราดรภาพ ของสูเจ้าคือ ภราดรภาพเดียวกัน”

ผลบุญของการประกอบพิธีฮัจญ์

          การไปประกอบพิธีฮัจญ์นั้น เป็นการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ เพราะผู้ไปต้องกระทำความบริสุทธิ์ใจครบถ้วนทุกประการ และไม่กระทำสิ่งที่ชั่วร้าย เมื่อเขากลับถึงบ้านเปรียบเสมือนทารกแรกเกิด ดังปรากฏในหะดีษความว่า “ผู้หนึ่งผู้ใดทำฮัจญ์และไม่กระทำในสิ่งชั่วร้ายและเป็นบาป เขากลับมาบ้านเสมือนกับทารกแรกเกิด” เขาจะได้รับการตอบแทนจากอัลลอฮฺด้วยสวรรค์ ดังหะดีษอีกบทหนึ่งความว่า “คนที่ไปทำฮัจญ์ที่ได้ฮัจ-ยีมับรูรฺนั้น ไม่มีสิ่งอื่นตอบแทนนอกจากสวรรค์” และอัลลอฮฺตอบแทนด้วยทรัพย์สินอีกด้วย ดังหะดีษ ความว่า “ทรัพย์สมบัติที่ใช้เพื่อการฮัจญ์นั้น เปรียบเสมือนกับทรัพย์สินที่ใช้ในวิถีทางแห่งอัลลอฮฺ”

ค่านิยมของชาวไทยมุสลิมภาคใต้ต่อการทำพิธีฮัจญ์ สำหรับมุสลิมในภาคใต้ของประเทศไทย อันได้แก่ ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณ ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล ก็มีความ รู้สึกไม่แตกต่างไปจากมุสลิมในท้องถิ่นอื่น กล่าวคือมีความปรารถนาจะไปประกอบพิธีฮัจญ์ให้ได้อย่างน้อย ๑ ครั้งในชีวิต ผู้ที่ไปประกอบพิธีฮัจญ์มาแล้วจะได้รับการยอมรับนับถือจากคนทั่วไป ด้วยถือว่าเป็นผู้ บริสุทธิ์ และมักได้รับสิทธิพิเศษบางอย่างจากสังคม ชาวบ้านจะเรียกผู้ชายที่ไปประกอบพิธีฮัจญ์มาแล้วว่า “หะยี” “ฮะยี” หรือ “ฮัจยี” สำหรับผู้หญิงเรียกว่า “หะยะ” เมื่อได้เป็น “หะยี” หรือ “หะยะ” แล้วก็ต้องวางตัวให้เหมาะสม ทั้งการแต่งกาย การพูดจา และการกระทำหรือการปฏิบัติต่าง ๆ มุสลิมหลายคนหรือทุกคนในอดีตจะใช้คำนำหน้าชื่อตนเองว่า “หะยี” เช่น หะยีอุสมาน หะยีนิมุ เป็นต้น หะยีมีโอกาสที่จะมีภรรยาได้หลายคน (แต่ไม่เกิน ๔ คนตามหลักอิสลาม) แท้จริงแล้วในหลักของอิสลามไม่ถือว่าผู้ไปประกอบพิธีฮัจญ์เมื่อกลับมาแล้วมีสิทธิพิเศษเหนือบุคคลอื่นแต่อย่างใด ไม่ถือว่าเป็นนักบวชเพราะอิสลามไม่มีนักบวช ไม่มีตำแหน่งใด ๆ ไม่ต้องเรียกว่า “หะยี” หรือ “หะยะ” ผู้ที่ไปประกอบพิธีฮัจญ์มิใช่ไปเพื่อล้างบาปแต่อย่างใด

ค่านิยมดังกล่าวส่งผลให้มุสลิมในภาคใต้พยายามอย่างมากที่จะไปทำฮัจญ์ให้ได้ ในอดีตมุสลิมบางคนถึงกับยอมขายหรือจำนองบ้านและที่ดิน บางรายก็จัดงาน “กินเหนียว” (งานเลี้ยงหาเงิน) เพื่อรวบรวมเงินก้อนใหญ่เตรียมตัวเดินทางไปมักกะฮฺ เมื่อกลับมาแล้วก็ต้องเป็นหนี้เป็นสินสร้างความเดือดร้อนให้แก่ครอบครัว ระหว่างการเตรียมตัวเดินทางก็ดี ในการเดินทางไปและกลับก็ดี ยังถูกเอาเปรียบจากคนอื่นในเรื่องค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นธรรม เสียค่าธรรมเนียมแพงกว่าปกติ บางรายก็ไปตกทุกข์หรือเจ็บป่วยในระหว่างเดินทาง กระนั้นทุกคนก็มิได้ท้อถอย แต่ปัจจุบันค่านิยมในการหาเงินด้วยวิธีที่ไม่ธรรมกำลังจะหมดไป

          เนื่องจากถือกันว่าการไปทำพิธีฮัจญ์เป็นเรื่องใหญ่โตดังกล่าวแล้ว เวลามุสลิมคนใดเดินทางไปหรือกลับมักกะฮฺ บรรดาญาติมิตรจะพากันไปส่งกันอย่างคับคั่ง ในอดีตผู้จะเดินทางและผู้มาส่งจะมานอนรอรับส่งญาติตามสถานีรถไฟ ท่าเรือเต็มไปหมดเป็นเวลาล่วงหน้า ๑-๒ คืน ก่อนไปก็เลี้ยงส่งกัน จัดงานหาเงินให้ผู้ไป กลับมาแล้วก็เลี้ยงรับขวัญและได้รับการต้อนรับจากญาติมิตรเป็นกรณีพิเศษ เป็นการมา รับส่วนบุญจากผู้ไปแสวงบุญกลับมา

          สมัยก่อนการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ของมุสลิมภาคใต้ลำบากมาก ส่วนมากเดินทางโดยเรือ ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางนานวันอยู่ในเรือด้วยความแออัด เพราะผู้จัดต้องการคนมากในเรือของตน บางคนต้องล้มเจ็บระหว่างการเดินทาง ในขณะเดินทางไปก็ไม่มีผู้ดูแลรับผิดชอบ ก่อให้เกิดปัญหาบ่อย ๆ โดยเฉพาะการฉีดยาป้องกันโรค และการทำหนังสือเดินทาง ผู้เดินทางจะต้องเสียงเงินทองและเวลามาก แม้แต่ค่าพาหนะเดินทางก็เสียแพงกว่าปกติ

            ปัจจุบันทางราชการได้เป็นธุระดูแลจนได้รับความสะดวกในทุกเรื่อง นับตั้งแต่การทำหนังสือเดินทาง สามารถยื่นเรื่องราวได้โดยตรงที่อำเภอภูมิลำเนาของตน และได้รับหนังสือเดินทางในเวลารวดเร็ว โดยเสียเพียงแต่ค่าธรรมเนียมของทางราชการจริง ๆ เท่านั้น ในเรื่องพาหนะก็เปลี่ยนจากการเดินทางโดยทางเรือมาเป็นการเดินทางโดยเครื่องบินซึ่งสะดวกและรวดเร็ว นอกจากนี้ทางราชการยังได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผู้ไปประกอบพิธีทั้งไปและกลับด้วย สำหรับข้าราชการที่เป็นมุสลิมที่ประสงค์จะไปทำพิธีฮัจญ์ก็อนุญาตให้ลาได้เช่นเดียวกับการลาอุปสมบท 


ชื่อคำ : ฮะรอม
หมวดหมู่หลัก : ศาสนา และความเชื่อ
หมวดหมู่ย่อย : ศาสนาอิสลาม
ชื่อผู้แต่ง : มาโนชญ์ บุญญานุวัตร, ดลมนรรจน์ บากา
เล่มที่ : ๑๘
หน้าที่ : ๙๐๕๐