ฟืนเผาผี คือ ไม้ฟืนที่ใช้เผาศพ ตามประเพณีไทยแต่เดิมมา เมื่อมีคนตายก็ต้องนำไปเผาหรือฝัง การฝังศพทำกันในกรณีที่มีคนตายพร้อม ๆ กัน หรือตายในเวลาใกล้เคียงกันเป็นจำนวนมาก เช่น ในกรณีเกิดโรคระบาดขึ้นที่เรียกว่า ไข้ห่า หรือห่าลง กรณีนี้ถ้าจะเผาก็ทำได้ไม่สะดวก จึงต้องฝังไว้ก่อน ค่อยเอากระดูกมาทำพิธีเผาในโอกาสหลัง หรืออีกกรณีหนึ่งเป็นศพไร้ญาติหรือถูกฆาตกรรมเป็นคดีอาญา คดียังไม่สิ้นสุด หรือผู้ตายมีญาติอยู่ไกล รอคอยอยู่ไม่ได้ต้องฝังไว้ก่อน จะอย่างไรก็ตามในที่สุดก็ต้องเผาตามประเพณี
ในท้องถิ่นภาคใต้ทั่วไป เมื่อถึงกำหนดวันเผาผี จะเคลื่อนศพไปยังเปรว (ป่าช้า) ญาติหรือคนที่รู้จักคุ้นเคยกันกับผู้ตายจะไปร่วมกันเผา ในอดีตผู้ไปร่วมเผาทุกคนต้องนำไม้ฟืนสำหรับเผาไปด้วย โดยถือหรือแบกให้ปลายไม้ไปข้างหน้า เอาไม้ฟืนกองรวมกัน จะมีคนคอยเลือกไม้ที่ต้องห้ามใช้เป็นฟืนเผาผีออก ไม้ที่ต้องห้ามมีหลายประเภท ได้แก่ ไม้ที่มีเปลือกคัน เช่น ไม้ข้าวเม่า ไม้เต่าร้าง ไม้รังตังหรือลังตังทุกชนิด ไม้พันตัน เป็นต้น ไม้ที่มียางเป็นพิษ เช่น ไม้ตาตุ่ม ไม้หนัดได ไม้รัก เป็นต้น ไม้ที่มอดไฟ และมีควันมาก เช่น ไม้ปอ ไม้แค ไม้โมก เป็นต้น และไม้ที่ต้องห้ามอย่างเด็ดขาดทั้ง ๆ ที่ไม่เป็นพิษใด ๆ ทั้งสิ้น เช่น ไม้ตอหนัก (สะตอ) ไม้ตอเบา (กระถิน) เพราะเชื่อกันว่า ถ้าเอาไม้เหล่านี้เผาผีแล้วจะทำให้เกิดการตายต่อ ๆ กันในระยะเวลาใกล้เคียงกัน
ส่วนไม้ที่เชื่อกันว่าเป็นไม้ที่เป็นมงคลในการเผาผี ได้แก่ ไม้จันทน์หอม ไม้จันทน์ขาว ไม้จันทน์แดง ไม้ชะนูด เป็นไม้เนื้อหอม ในปัจจุบันยังใช้ไม้ชนิดนี้อยู่ทั่วไป แต่ไม่ใช้ทั้งดุ้น หากแต่เลื่อยเป็นชิ้นบาง ๆ ประกอบเข้ากับธูปเทียน เรียกว่า “ดอกไม้จันทน์” นอกจากนั้นยังมีไม้ที่ดอกหอม เช่น ไม้พิกุล ไม้บุนนาค ไม้ประดู่ ไม้จำปี ไม้จำปา เป็นต้น อีกประเภทหนึ่งที่นิยมกันทั่วไป ได้แก่ ไม้เนื้อแข็งทั้งหลาย เช่น ไม้ตะเคียน ไม้เคี่ยม ไม้อินทนิน ไม้ตะแบก ไม้สะแก ไม้สัก ไม้โกงกาง เป็นต้น ส่วนใหญ่จะเอาไม้เนื้อแข็งวางรอบพื้นเชิงตะกอน แล้วเอาโลงศพตั้งบน เอาไม้อื่น ๆ กองสุมเข้าไป ส่วนไม้ทิ่มผี (ไม้สำหรับกะทุ้งหรือเขี่ยศพให้ไฟติดเผาไหม้ศพให้หมดไป) ไม่นิยมใช้ไม้อื่นนอกจากใช้ไม้ไผ่สดทั้งลำ เพราะเชื่อกันว่าไม้ไผ่เมื่อถูกความร้อนจากเปลวไฟจะประทุเสียงดังคล้ายเสียงปืน เป็นการปลุกวิญญาณของผู้ตายให้ฟื้น จะได้ลอยไปสู่สวรรค์กับควันไฟที่พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า
ในปัจจุบันการเผาผีด้วยไม้ฟืนยังมีอยู่ตามชนบทหรือตามป่าช้าที่ยังใช้เผาบนเชิงตะกอนและสามส้าง แต่ที่เผาตามฌาปนสถาน ใช้เผาหลอกด้วยดอกไม้จันทน์ เผาจริงด้วยถ่านไม้โกงกาง ไม้เสม็ด หรือไม้เบญพรรณ (เฉลียว เรืองเดช)