วัว เป็นสัตว์ที่มีความผูกพันกับชาวนามาเป็นเวลาหลายร้อยปี อย่างน้อยครอบครัวหนึ่งเลี้ยงวัว ๒ ตัว เพื่อใช้ไถนา คนที่มีฐานะดีเลี้ยงวัวเป็นฝูง มีล้อมหญ้าของตนโดยเฉพาะ เลี้ยงเพื่อใช้เองบ้าง จำหน่ายบ้าง ให้คนอื่นเช่าไปไถนาบ้าง วัวที่ให้เช่าต้องชักไถเป็นมาก่อนแล้ว ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ให้เช่าตัวละ ๒ บาท ไถตลอด ช่วงมรสุม เมื่อเสร็จนาแล้วจึงส่งคืน เรามักพูดติดปากกันว่า “ผอมเหมือนวัวให้เช่า”
ชาวนาเริ่มฝึกวัวชักไถ เมื่ออายุวัวได้ ๒ ปีขึ้นไป ถ้าอายุอ่อนกว่านี้ วัวยังมีกำลังไม่แข็งแรงพอ และไม่โตเต็มที่ คนฝึกวัวต้องใจเย็น การให้คำหยาบ ทุบตี จะทำให้วัวพาโล ฉีกแอกฉีกไถ เสียนิสัย ใช้งานไม่ได้ ขายก็ตกราคา วัวพาโลหรือดื้อ เจ้าของมักจะขายเพื่อฆ่ากิน การฝึกวัวชักไถ แยกออกได้เป็น ๒ วิธี
วิธีที่ ๑ ฝึกกับวัวที่ชำนาญการลากไถอยู่แล้ว วัวแต่ละตัวจะชำนาญในการชักไถไม่เหมือนกัน ถ้าฝึกเป็นวัวตัวนอก ก็ทำหน้าที่ชักไถเป็นตัวนอกตลอดไป ถ้าฝึกไว้เป็นวัวตัวในก็ทำหน้าที่ชักไถเป็นวัวตัวในตลอดไป ในการไถนาถือเอาวัวตัวในเป็นสำคัญ ตามธรรมดาจะโตกว่า และแข็งแรงกว่าวัวตัวนอก นิยมใช้วัวตัวผู้เป็นวัวตัวใน วัวตัวเมียเป็นวัวตัวนอก แต่ถ้าได้ขนาดไล่เลี่ยกันยิ่งดี วัวจะใช้แรงชักไถเท่า ๆ กัน ถ้าตัวหนึ่งเล็ก น้ำหนักในการชักไถจะกดลงที่วัวตัวเล็กกว่าเหมือนคนเตี้ยกับคนสูงหามไม้ คนเตี้ยจะรับน้ำหนักมากกว่า เมื่อวัวตัวนอกชำนาญการชักลากไถมาแล้ว วัวที่หัดใหม่ต้องเป็นวัวตัวในและตรงกันข้าม ถ้าวัวตัวในชำนาญการชักลากไถมาแล้ว วัวที่หัดใหม่ต้องวัวเป็นตัวนอก เริ่มแรกให้วัวทั้ง ๒ มีความคุ้นเคยกันก่อน ผูกล่ามใกล้กัน นอนคอกเดียวกัน และวัวตัวฝึกใหม่ต้องเชื่อง เช่น การให้กินน้ำเกลือ เกาใต้คาง ดึงเห็บให้ การฝึกต้องใช้คน ๒ คน ใช้เวลาตอนเช้า วัวยังไม่หิวหญ้า เริ่มแรกคนหน้าจูงวัวให้เดินเคียงกัน คนจูงเดินถอยหลัง เดินเวียนจากขวาไปซ้ายในกะบิ้งนาเล็ก ๆ คนหลังเดินตามหลัง ใช้ไม้หมกตีตะโพกวัวเบา ๆ จูงเช่นนี้ประมาณ ๒ ชั่วโมง เป็นอันใช้ได้ เช้าที่ ๒ ใช้แอกชั่วคราวครอบ แอกชั่วคราวทำด้วยไม้ไผ่ทั้งลำเจาะรูข้างละ ๒ รู ใส่ลูกแอกข้างละ ๒ อัน ให้ลงกับคอวัวพอดีไม่คับไม่หลวม ผูกเชือกเพื่อพยุงไว้กลางตัวแอก คนหน้าจูงเดินถอยหลัง คนตามหลังวัวพยุงเชือกที่ผูกกับแอกไว้เบา ๆ ให้วัวรู้ตัวว่าต้องดึงน้ำหนัก ฝึกเช่นนี้ประมาณ ๒ เช้า เช้าที่ ๓ ใช้ทางมะพร้าวทั้งทาง มีหัวทางที่เรียกหัวทางพร้าวติดอยู่ด้วยเอาใบออก ด้านปลายทางผูกติดกับกลางตัวแอก ตรงหัวทางพร้าวปักไม้เอนไปหลังแทนหางยาม คนหน้าจูงเดินถอยหลัง คนหลังกดไม้ปักหัวทางพร้าว ให้หัวทางพร้าวเรียดดิน เหมือนวัวลากหัวหมู เริ่มบังคับให้วัวเดินเข้าออก ถ้าพูดว่า “ออก” ตีตัวในเบา ๆ ให้ดันตัวนอกออก ถ้าพูดว่า “เข้า” ให้ตีตัวนอก เพื่อดันตัวในให้เข้าใน บางท้องถิ่นคำว่า ออก ใช้คำว่า “แจง” แทนทั้งพูดซ้ำ ๆ เพื่อให้วัวเกิดความเคยชิน เช่น “แจง แจง แจง” หรือ “เข้า เข้า เข้า” บางคนพูดว่าแจงออกไป ออกไป เข้ามาเข้ามา ใช้ไม้หมกบังคับ วัวก็จะรู้การเดินเข้าเดินออก ตอนลงวัวงานให้พูดว่า “ยู ลง” คนจูงหน้าพาวัวเลี้ยว ฝึกอยู่เช่นนี้ประมาณ ๒ เช้า (ครั้ง) ครั้งต่อไป ใช้ไถจริง ดึงสายทาบให้สั้น เพื่อให้กินดินแต่น้อยก่อน ต้องมีคนจูงนำหน้าเหมือนเดินดินที่ไถต้องพอดี ไม่เปียกไม่แข็ง ฝึกอยู่เช่นนี้ ประมาณ ๒ เช้า ครั้งต่อไป ให้ผูกเชือกที่ร้อยจมูกวัวตัวนอก มาผูกกับหวินวัวตัวใน เชือกวัวตัวใน พาดข้ามแอก ไปผูกกับหางยาม เพื่อไว้พยุงเวลาลงหัวงาน และเวลาไถหมดไส้งาน พับเชือกวัวตัวนอก ผูกไว้กับงอนคันไถ ต้องมีคนเดินนำหน้าห่าง เพื่อให้วัวเดินตาม ฝึกอยู่เช่นนี้ประมาณ ๒ เช้า ครั้งต่อไปไถจริง จับเป็นงานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กะบิ้งหนึ่ง ๆ นิยมจับเป็น ๒ งาน เมื่อใกล้หมดไส้งาน (หมดแปลง) ต้องมีคนจูงวัวตัวใหม่ยังทำไม่ได้ คนไถบอกว่า “ลง ลง” คนไถยกหัวหมู ให้วัวเลี้ยวลง กะให้ตรงกับไส้งานพอดี ตอนลงไส้งานให้คนจูงประมาณ ๒ เช้า วัวตอนที่ชำนาญการชักไถแล้ว จะช่วยสอนวัวที่ฝึกใหม่ได้ดีกว่าวัวเหลิง (วัวที่คึกคะนอง) วัวเหลิงมักจะดื้อ เอาเปรียบวัวตัวที่ฝึกใหม่ ชาวนาสมัยก่อนจึงนิยมตอนวัวตัวผู้ที่เริ่มเป็นหนุ่มไว้ใช้งาน
วิธีที่ ๒ เป็นการฝึกใหม่ทั้งคู่ ต้องใช้เวลามากกว่าการฝึกอย่างแรกเป็น ๒ เท่า การเริ่มต้นคล้ายกัน คือฝึกให้วัวเชื่องและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี วัวเมื่อมาอยู่รวมกันจะเชื่อง ถ้าแยกห่างกันมันพล่าน ส่งเสียงร้อง ไม่ยอมกินหญ้า ไม่ยอมนอน ถ้าเชื่อง จะฝึกได้ง่ายขึ้น การฝึกขั้น ๑ ถึงขั้น ๖ เหมือนวิธีที่ ๑ ทุกอย่าง แต่ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น ถ้ายังไม่เป็นที่พอใจ คือวัวยังไม่รู้งาน ต้องใช้เวลาฝึกเพิ่มขึ้นอีก จนทำตามคำสั่งของคนไถได้ เมื่อฝึกจนชำนาญแล้ว วัวจะรู้งาน คนฝึกดี ๆ วัวจะทำงานเอง แทบไม่ต้องออกเสียง เมื่อวัวไถสุมหนึ่ง (ช่วงมรสุม) ถึงปีต่อไป พอเริ่มใหม่ วัวอาจลืมไปบ้าง ต้องมีคนจูงนำหน้าก่อน ๒-๓ ครั้งก็ใช้ได้ วัวที่ใช้ลากเกวียน เขาจะไม่นำมาไถนา พวกเลี้ยงวัวชนมักประณามวัวที่ชนแพ้ว่า วัวเกวียน คือชนแพ้แล้วตอนเพื่อใช้ลากเกวียน วัวสีดำ สีขาวสีโหนด สีลางสาด เป็นวัวมงคล ใช้ไถนา ข้าวจะงอกงาม ได้ผลิตผลมาก แม้อายุมากก็ไม่ยอมขายเลี้ยงไว้จนตายตามวัย อาจเก็บหัวกับเขาไว้ ส่วนตัวนำไปฝัง ส่วนเขาวัวที่มีลักษณะพิเศษคล้ายการผลัดเปลี่ยนเขา ชาวนาจะเก็บวางไว้กลางลอมข้าว ที่เรียกว่าข้าวชุมหัว ทุกปีจะมีการไหว้พระภูมิเจ้าที่คอกวัว เพื่อให้คุ้มครองวัวให้ปราศจากโรคภัย คนที่มีฐานะดี จะเชิญหมอมาทำขวัญวัวด้วย (พ่วง บุษรารัตน์)