ฝึกควาย

      ควาย เป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน เป็นต้นว่า ลากซุง นวดข้าว เวียนนา หรือเหยียบนา ไถนา ขี่ในระยะใกล้ ๆ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในปัจจุบันชาวจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และชาวจังหวัดกระบี่ ยังเลี้ยงควายกันมาก มีเป็นฝูงใหญ่ แต่ส่วนมากเลี้ยงเพื่อขาย ชำแหละเนื้อเป็นอาหาร การฝึกไว้ใช้งานเหมือนในอดีตมีน้อย เพราะมีเครื่องทุ่นแรงอย่างอื่นทดแทนใช้ได้สะดวกกว่าและรวดเร็วกว่า การฝึกควายเพื่อใช้งานมีดังนี้

      ฝึกลากซุง จะเลือกฝึกจากควายหนุ่ม เริ่มแต่คัดออกจากฝูง ผูกเชือกพาดคอ ปล่อยปลายเชือกออกไป ๒ ข้างตัวของควาย ปลายทั้ง ๒ ผูกกับไม้ที่มีน้ำหนักเบา ๆ อย่าให้ปลายไม้กระทบเท้าหลัง ฝึกเพียง ๒-๓ วัน ควายก็เชื่อง ต่อไปฝึกเข้าแม่ตังหรือหลวน ประกอบด้วยไม้กลมเนื้อแข็ง ขนาดต้นแขน ๒ อัน ยาวประมาณ ๓ เมตร วางไม้ให้ห่างกันประมาณ ๑ เมตร ถัดมาจากโคนไม้ทั้ง ๒ อัน ประมาณ ๖๐ เซนติเมตร บากประมาณ ๑.๕ นิ้ว ประกบไม้อีกอันหนึ่ง ขนาดเท่าไม้หลวน ยาว ๑.๒๐ เมตร ตีประกบไม้หลวนทั้ง ๒ ผูกเชือกให้แน่นหนา สำหรับเป็นที่รับหัวไม้ซุง ปลายอีก ๒ ข้างบากคอดโดยรอบ สอดเข้าในหูซอง หูซองข้างหนึ่งไขว้เกี่ยวกับปลายทั้ง ๒ ของโกกควาย จูงควายให้เข้าหลวน ยกโกกพาดคอ มีเชือกผูกใต้คออีกเส้นหนึ่ง รึงโกกไม่ให้หลุดจากคอควายจูงควายให้ลากหลวนโดยไม่ผูกซุง ๒-๓ วันต่อไปผูกซุงเบา ๆ กับแม่ตัง จูงควายให้เดิน ๒-๓ วัน ควายจะเกิดความเคยชิน ลากซุงขนาดใหญ่และใช้ระยะทางไกล ๆ ได้ ควายถึกเต็มที่ลากซุงขนาดหน้า ๘ x ๘ นิ้ว ยาว ๖ เมตร ได้อย่างสบาย ควายทนความร้อนไม่ค่อยได้ ให้นอนน้ำแล้ว นำไปลากซุงตอนกลางคืน มักไปรวมกันหลาย ๆ ตัว ควายที่ฝึกลากซุงได้ชำนาญแล้ว ขายได้ราคาดีกว่าควายที่ยังไม่ได้ฝึก ผู้ซื้อนำไปใช้ลากซุงรับจ้างได้เลย

      ถ้าจะใช้ลากเลื่อน เพื่อบรรทุกสิ่งของ เช่น ผลมะพร้าว ข้าวเปลือก นำเลื่อนมาผูกกับแม่ตัง ควายชักลากเหมือนลากไม้

      ฝึกไถนา ไม่นิยมไถควายคู่ ใช้กันอยู่บ้างเฉพาะควายตัวเมีย การฝึกควายคู่ไถนาเหมือนฝึกวัวไถนา มีคำพูดที่แตกต่างกันสั่งให้วัวหยุดว่า “โย หรือ ยู” สั่งให้ควายหยุดว่า “เชียม” เช่น เวลาควายลงหัวงาน สั่งว่า “เชียมลง”

      ที่นิยมกันทั่วไป ใช้ควายตัวเดียวไถนา และเป็นควายถึกเต็มที่ เขาจะฝึกจากควายที่เคยเข็นซุงหรือลากซุงมาแล้วใช้ไถสั้น คันไถปลายโน้มลงเรี่ยพื้น ที่ปลายไถเจาะฝังเดือยไม้ ๒ อัน เป็นรูปโค้งงอเข้าหากัน สำหรับวางไม้ที่ผูกเชือกพวย หัวหมู หางยามทำเหมือนไถทั่วไป เชือกพวยมี ๒ เส้น ขนาบตัวควาย ปลายเชือกพวยคล้องกับปลาย ๒ ข้างของโกกควาย มีเชือกรัดใต้คอควายไม่ให้โกกหลุด เมื่อควายเดินจะดึงเชือกพวย ๒ ข้าง เชือกพวยจะดึงไม้ ที่สอดไว้กับเดือยหรือสลักของงอนไถ ไถลากหัวหมูและหางยาม ซึ่งมีคนจับปลายไว้ ให้หัวหมูกินดินตามต้องการ เมื่อฝึกติดโกก สายพวย เครื่องไถ จนความเชื่องแล้ว มีคนจูงนำ หน้าไม่เกิน ๓ เช้า ควายลากไถได้เลย เชือกที่ร้อยจมูกควาย พาดเขาควายมาทางซ้าย ผูกกับหางยามเพื่อ ดึงควายให้หยุดหรือลงหัวงาน คนไถถือไม้หมก ตีควายเบา ๆ เวลาสั่งว่าแจงหรือเข้า ไถควายต้องไถนาลึก มีโคลนลึก วัวลงไถไม่ได้ แต่ควายแข็งแรงมีกำลังมาก ชักไถไปได้

      การคราดควายตัวเดียว ใช้คราดคันสั้น ตรึงติดกับไม้ผูกสายพวย การหัดควายคราดนาง่ายกว่าหัดไถ ใช้วิธีการเดียวกัน

      การฝึกควายเวียนนา หรือเวียนควาย หรือเหยียบนา ต้องใช้ควายทั้งฝูง คัดควายรุ่นหนุ่มกับลูกควายออก ควายตัวเมียหรือแม่ควายเวียนนาได้ผลดี เป็นการต้อนควายให้เข้ากลุ่ม และเดินไปตามทิศทางที่ต้องการ ใช้คน ๓ คน ขนาบทั้ง ๒ ตามหลังหนึ่ง ถือไม้หมกยาวคนละอัน ต้องเวียนถึง ๓ ครั้ง จึงจะได้เทือกปักดำต้นกล้าได้ การฝึกควายเวียนนาไม่ยาก อยู่ที่การควบคุมของคนทั้ง ๓ ต้องเดินลุยโคลนตลอดเวลา เหนื่อยมากใช้เวลาเวียนเช้าละไม่เกิน ๓ ชั่วโมง

      การฝึกควายเพื่อใช้งานที่จำเป็นมี ๓ อย่างคือ ลากซุง ลากเกวียน และไถนา ฝึกควายได้ง่ายและเร็วกว่าฝึก บางแห่งใช้ควายลากเกวียนกันมากกว่าวัว เช่น เกาะสมุย

      ควายมีบทบาทกับการทำนาในภาคใต้ตอนบนมากกว่าวัว เช่น ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ไชยา พุนพิน ท่าฉาง) ชุมพร และนครศรีธรรมราชบางแห่ง (ท่าศาลา สิชล ขนอม) ล้วนแต่ใช้ควายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นไถนา เหยียบนา นวดข้าว เป็นต้น (พ่วง บุษรารัตน์)

ชื่อคำ : ฝึกควาย
หมวดหมู่หลัก : เศรษฐกิจ และวิทยาการ
หมวดหมู่ย่อย : เกษตรกรรม การเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ การชลประทาน
ชื่อผู้แต่ง : พ่วง บุษรารัตน์
เล่มที่ : ๑๐